เยี่ยมเยือนเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ส่องมาตรการ COVID-19

บอกลาตั๋วเครื่องบิน เก็บกระเป๋าเข้าตู้ ปิดหน้าหนังสือเดินทาง เพราะการระบาดระลอกใหม่ของไวรัส COVID-19 กำลังทำลายทุกทริปในทุกวันหยุดยาวทั่วโลกแบบไม่มีวันลาพักพอๆ กับพนักงานออฟฟิศที่ยังนั่งทำงาน work from home จนบรรดาโรงแรม รีสอร์ท ตั้งแต่ชายหาดยันขุนเขาที่เคยหนาแน่นไปด้วยคนหลากเชื้อชาติต้องเงียบเหงา ขาดรายได้ ร้างราทั้งลาทีและลาก่อน จนเศรษฐกิจของหลายประเทศดำดิ่งประหนึ่งราคาเหรียญสกุลเงินดิจิทัลขาลง

ในสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้ ประเทศที่ตกที่นั่งลำบากคงหนีไม่พ้นบรรดาประเทศที่ต้องพึ่งพาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจภาคบริการเป็นหนึ่งในขาหลักค้ำยันชาติมาตลอด เมื่อผู้คนไม่กล้าออกจากบ้านไปเดินทางท่องเที่ยว บรรดาประเทศที่เป็น ‘Tourist-Centric’ ทั้งหลายก็พยายามหาทางออกทุกวิถีทาง หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจคือประเทศเหล่านี้กำลังให้บทเรียนบางอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ที่กำลังประสบสภาพปัญหาเดียวกัน โดยหากไม่เป็นตัวอย่างในการดำเนินรอยตามความสำเร็จที่น่าชื่นชม ก็คงเป็นความผิดพลาดที่รัฐบาลอื่นควรหลีกเลี่ยง

ขอให้ทุกท่านรัดเข็มขัดให้ดี เนื่องจากเรากำลังพาผู้อ่านทุกท่านขึ้นเที่ยวบินสำรวจบทเรียนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแต่ละประเทศในหลากหลายมุมของโลก ที่อาจจะมีทิวทัศน์ริมหน้าต่างที่น่าสนใจ ไปจนถึงหลุมอากาศที่คงทำให้ผู้โดยสารหลายท่านเกิดความคลื่นเหียนได้เล็กน้อยถึงปานกลาง จากท่าอากาศยานในนิวซีแลนด์สู่สนามบินแห่งชาติในมอนเตเนโกร ลัดเลาะหมู่เกาะสวรรค์มัลดีฟส์ก่อนที่จะกลับสู่น่านฟ้าที่คุ้นเคยของบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

นิวซีแลนด์

เมื่อรัฐบาลเห็นความสำคัญของการเงินและรัฐสวัสดิการ 

ในปี ค.ศ. 2019 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในนิวซีแลนด์ตั้งแต่ต้นปียันปลายปีจำนวนถึง 3.8 ล้านชีวิต ขณะที่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เลวร้ายลงในช่วงปี 2020 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหดหายไปเหลือเพียง 996,000 คนเท่านั้น หรือหายไปถึงร้อยละ 74.4 จากปีก่อนหน้าเลยทีเดียว แน่นอนว่าการลดลงของทริปท่องเที่ยวในสเกลระดับนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของนิวซีแลนด์เป็นแน่ โดยเฉพาะเมื่อประเทศนิวซีแลนด์มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นกำลังหลักที่ใหญ่ที่สุดก่อนการระบาดของ COVID-19 ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศถึง 40.9 พันล้านดอลลาร์ และมีตัวเลขรายรับทางตรงเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศถึงร้อยละ 5.5 ที่กำลังค่อยๆ ลดลงจากการระบาดในระดับโลก

มาตรการควบคุมโรคในระดับกว้างย่อมส่งผลกระทบทางตรงต่อจำนวนแรงงานถึง 225,384 ชีวิต ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของนิวซีแลนด์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ถึงประมาณร้อยละ 8 ของจำนวนลูกจ้างในประเทศทั้งหมดที่กำลังเริ่มถูกให้ออกจากงาน ปิดกิจการ ไปจนถึงการขาดรายได้และความเสี่ยงต่อความมั่นคงในชีวิต

เพื่อเป็นการป้องกันกลุ่มประชาชนผู้เสียภาษีดังกล่าว รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศให้งบอุดหนุนเศรษฐกิจถึง 12.1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันการตกงานของแรงงานในประเทศ โดยงบประมาณจำนวนนี้จะถูกจัดสรรออกเป็น 4 ก้อนใหญ่ๆ ด้วยกัน โดยเงินจำนวน 5.1 พันล้านดอลลาร์ ถูกนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือ (subsidies) กลุ่มธุรกิจทุกภาคส่วนและทุกภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส อีก 126 ล้านดอลลาร์ ถูกใช้ไปเพื่อเยียวยากลุ่มผู้สูญเสียงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกักตัว และจำนวนเงินถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์ ถูกใช้จ่ายเป็นรายรับให้แก่ประชาชนในกลุ่มเปราะบางของประเทศอย่างเด็กเล็ก คนชรา ผู้พิการ ไปจนถึงกลุ่มผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ รวมไปถึงใช้งบอีกจำนวน 2.8 พันล้านดอลลาร์ ในการเปลี่ยนแปลงมาตรการทางภาษีเพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชนอีกด้วย

ดูเหมือนว่ารัฐบาลนิวซีแลนด์จะรู้ดีว่าบทบาทของการบริหารงบประมาณช่วงวิกฤตินั้นควรจะต้องกู้อะไรมาใช้เพื่อสิ่งใด ปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่าเกือบทุกภาคส่วนที่ได้รับปัญหาจากการระบาดของไวรัส COVID-19 นี้ในนิวซีแลนด์กำลังถูกเยียวยาโดยรัฐบาลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากหากประชาชนลำบาก รัฐในฐานะที่ใช้จ่ายจากเงินภาษีของประชาชนก็คงอยู่ไม่ได้ ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันนี้จึงยิ่งมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นอีกในสภาวะวิกฤติที่คอยย้ำเตือนว่ารัฐมีหน้าที่ที่ควรดูแลใคร อย่างไร เท่าไหร่ ได้หนักแน่นยิ่งขึ้น

มอนเตเนโกร

การแพทย์ว่องไว ตัดสินใจเฉียบขาด จัดหาวัคซีนทันใจ

ลัดฟ้าจากมหาสมุทรแปซิฟิกมาสู่ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้อย่างมอนเตเนโกร ด้วยบ้านเมืองอันสวยงามวิจิตรตระการตาตามสไตล์ยุโรปอันน่าหลงใหล จึงทำให้มอนเตเนโกรกลายเป็นจุดท่องเที่ยวใหญ่จุดหนึ่งของภูมิภาค หากนักเดินทางต้องการรสชาติบรรยากาศที่แปลกใหม่กว่าการไปเดินในปารีสหรือลอนดอน แน่นอนว่า ด้วยการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นอันดับต้นๆ เช่นนี้ของมอนเตเนโกร ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและการเดินทางที่เคยครอบครองพื้นที่ของ GDP ประเทศอยู่เกือบร้อยละ 25 นั้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประหนึ่งการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 คือหายนะทางการเงินครั้งยิ่งใหญ่ของมอนเตเนโกรก็ว่าได้ 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมอนเตเนโกรก็ไม่ได้นิ่งดูดายหรือบอกให้ประชาชนในชาติช่วยกันใช้วัคซีนใจในการป้องกันโรคและผลกระทบทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด เนื่องจากการแก้ไขปัญหาโรคระบาดที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมไปสู่การชะงักงันของเศรษฐกิจนั้น แพทย์ทั่วโลกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) เพื่อเร่งให้ภาคเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติที่สุดในเร็ววัน และความใส่ใจในเรื่องดังกล่าวของรัฐบาลมอนเตเนโกรก็ทำให้มอนเตเนโกรได้รับวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อฉีดให้แก่ประชากรที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพก่อนเป็นหลัก และจะค่อยๆ ขยายผลจำนวนการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมต่อไปยังประชากรกลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้ ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลมอนเตเนโกรและคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ที่ทำให้มอนเตเนโกรได้รับความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนถึง 70 ล้านยูโร 

อีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า รัฐบาลมอนเตเนโกรมีศักยภาพมากเพียงพอที่จะบริหารประเทศในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่สามารถจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการบริหารจัดการกระบวนการฉีดวัคซีนหลังจากได้รับมาแล้วไม่ให้เกิดความวุ่นวายอีกด้วย โดยมีการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนทั่วประเทศอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะจุดสำคัญของเมืองอย่างย่านศูนย์การค้าและย่านชุมชน รวมไปถึงประชาชนยังสามารถโทรนัดหมายสายด่วนสำหรับการฉีดวัคซีนได้ที่เบอร์ 1717 และสามารถติดตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐแบบ real-time ได้ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ Covidodgover.me ที่เป็นเว็บไซต์ทางการของรัฐบาลมอนเตเนโกรและคณะกรรมาธิการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 (Council for the Fight against Coronavirus) โดยไม่ต้องกลัวว่าระบบจะล่ม ค้าง หรือจ่ายข้อมูลมั่วแต่อย่างใด

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการและสายด่วนวัคซีนของมอนเตเนโกร

ทีนี้ลองมาดูตัวเลขการฉีดวัคซีนกันบ้าง ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขมอนเตเนโกร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2021 ได้ระบุเอาไว้ว่าประชาชนชาวมอนเตเนโกรเกือบ 2,500 คน ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นที่เรียบร้อยแล้วในระหว่างวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยจำนวน 2,062 คนแรกนั้นเพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรก และอีก 423 คนนั้นเป็นโดสที่สอง และในขณะนี้ประชากรจำนวนกว่า 1 ใน 4 ของประชากรผู้ใหญ่ชาวมอนเตเนโกรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรก และประชากรวัยผู้ใหญ่อีกเกือบร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ใหญ่ทั้งหมดในประเทศได้รับการฉีดครบทั้งสองโดสแล้วด้วย 

ดูเหมือนว่าอนาคตของมอนเตเนโกรจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงความหลากหลายของวัคซีนที่เริ่มจะมีมากขึ้น โดยนอกจากการรับวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาแล้ว ยังมีการติดต่อไปยังสปุตนิก วี ของรัสเซีย และซิโนฟาร์มของจีน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของทางเลือกให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ในไม่ช้าหากรัฐบาลมอนเตเนโกรยังสามารถคงความถี่ของการฉีดวัคซีนไว้ที่อัตราเดิมได้ การสร้างภูมิคุ้มกันร่วมของคนในสังคมจะสามารถนำพาสังคมและภาคธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศกลับสู่วิถีชีวิตที่ใกล้เคียงรูปแบบเดิมได้ในเร็ววัน

มัลดีฟส์

ไม่ใช่เพราะอำนาจรัฐ แต่คือชัยชนะของสหภาพแรงงาน

รัฐบาลช่วยเหลือเศรษฐกิจก็พูดถึงไปแล้ว รัฐบาลหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนได้ยอดเยี่ยมก็พูดถึงไปแล้ว คราวนี้ขอนำพาผู้อ่านทุกท่านเดินทางสู่หาดสวรรค์ราคาแพงกับสาธารณรัฐมัลดีฟส์กันบ้าง 

ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ผู้คนอยากไปใช้เวลาวันหยุดพักผ่อนมากที่สุดนั้นก็ทำให้ประเทศแห่งนี้มีประชากรที่ทำงานอยู่ในภาคการท่องเที่ยวและโรมแรมอยู่ถึง 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ทำให้การท่องเที่ยวของประเทศแกว่งไปอยู่ริมปากเหวของหายนะทันที แต่คราวนี้พระเอกของสังคมกลับไม่ใช่การเริ่มต้นของรัฐบาลเหมือนอย่างสองประเทศก่อนหน้า แต่เป็นการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานภายในมัลดีฟส์ที่เรียกร้องให้ภาครัฐต้องจัดการบริหารความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ 

จุดเริ่มต้นมาจากมาตรการการล็อคดาวน์ของรัฐบาลอย่างไม่มีกำหนดเหมือนต่ออายุไปเรื่อยๆ เพื่อรอประเมินสถานการณ์แบบรายวันนั้น ทำให้หลายรีสอร์ทและโรงแรมต้องปิดตัวลง จนนำมาสู่การเลิกจ้างและบังคับให้ลูกจ้างหลายคนต้องออกจากการทำงานแบบไม่มีค่าตอบแทน จำนวนที่น่าตกใจของสถานการณ์ดังกล่าวสามารถตีคร่าวๆ ออกมาได้เกือบร้อยละ 90 ที่เกิดการบังคับออกจากงานเช่นนี้ภายในมัลดีฟส์ หรือหากคิดเป็นหัวแล้วจะมีถึงประมาณ 11,000 คน ที่ถูกบังคับให้ออกจากงานโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ

สหภาพแรงงานในมัลดีฟส์จึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม โดยข้อเรียกร้องใหญ่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงจำนวนทั้งสิ้น 3 ประการ ข้อแรกคือห้ามมีการบังคับให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ห้ามมิให้มีการลดขนาดองค์กรหรือการเลิกจ้าง และการสร้างมาตรการที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือไม่มีงานทำ

แน่นอนว่าข้อเรียกร้อง 3 ประการดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามออกนโยบายช่วยเหลือและกระตุ้นทางเศรษฐกิจต่างๆ ออกมามากมาย แต่สุดท้ายในสายตาประชาชนนั้น นโยบายหลายอย่างของรัฐบาลดูจะมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการรีสอร์ทและโรงแรม มากกว่าที่กลุ่มแรงงานโดยตรงอันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

การต่อรองระหว่างสหภาพแรงงาน กลุ่มผู้ประกอบการรีสอร์ทและโรงแรม ไปจนถึงรัฐบาล จึงเกิดขึ้น โดยสหภาพแรงงานระบุว่า ขณะนี้ได้ทำให้หลายรีสอร์ทยอมรับข้อตกลงที่จะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นระยะเวลา 3-6 เดือน ด้วยเงินเดือนพื้นฐานล่วงหน้า และถ้าหากว่ากิจการสามารถกลับมาเปิดได้ตามปกตินั้น ลูกจ้างก็สามารถที่จะกลับมาทำงานต่อในส่วนของเงินเดือนที่ได้รับไปอีกด้วย

สหภาพแรงงานมัลดีฟส์เองก็ไม่ได้นิ่งดูดายกีดกันประชาชนกลุ่มอื่นออกไป เนื่องจากมัลดีฟส์นั้นมีแรงงานข้ามชาติที่มาจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมากที่กำลังเผชิญปัญหาการถูกเลิกจ้างไม่ต่างจากแรงงานท้องถิ่น จำนวนแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีจำนวนถึง 10,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของแรงงานทั้งหมดในมัลดีฟส์ที่ทั้งกำลังไม่มีงานทำและไม่มีที่อยู่ มิหนำซ้ำแรงงานในกลุ่มดังกล่าวยังไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตตามมาตรการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ได้มากนัก เนื่องจากสภาพงานและความเป็นอยู่ จึงทำให้พวกเขามีความเสี่ยงในชีวิตเป็นอย่างมากจากการติดเชื้อ สหภาพแรงงานจึงได้ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐออกนโยบายช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่างๆ เพิ่มเติมอีกด้วย 

ภาพ: สำนักข่าว Arab New (https://www.arabnews.com/node/1709796/world

ความเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในมัลดีฟส์ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในหมู่แรงงานเท่านั้น แต่จากการรายงานของสำนักข่าว DW Akademis เมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา พบว่าเริ่มมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ใช้โอกาสจากสถานการณ์นี้ในการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลมัลดีฟส์กระจายความเสมอภาคทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่มัลดีฟส์กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวราคาแพงที่ผ่านมานั้น ผลกำไรไม่ได้ตกถึงมือของคนในพื้นที่เท่าที่ควร สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในสาธารณรัฐมัลดีฟส์จึงยังคงเป็นที่น่าจับตามองว่าเกาะสวรรค์แห่งนี้จะเอาตัวรอดไปต่ออย่างไรท่ามกลางคลื่นลมที่โหมแรงทั้งจากการแพร่ระบาดของไวรัส สภาวะย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ไม่เป็นธรรม

สยามเมืองยิ้ม

รอยยิ้มอ่อนใต้หน้ากากอนามัย

เครื่องบินของเราลงจอดถึง ณ ท่าอากาศยานอันคุ้นเคยของประเทศไทย พร้อมด้วยข้อเท็จจริงอันขื่นขมว่า ปัจจุบันนี้เรามียอดผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมดเกือบ 140,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 860 ราย และนับตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่ ‘คริสตัลคลับ’ ทองหล่อ เป็นต้นมา สถานการณ์ในสังคมไทยก็ดูจะไม่ได้มีความหวังที่ปลายอุโมงค์แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนช่วยเหลือทุกภาคส่วนแบบนิวซีแลนด์ การจัดหาวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพแบบมอนเตเนโกร หรือการแสดงพลังเรียกร้องของกลุ่มแรงงานที่จะหนักแน่นพอให้ผู้มีอำนาจหันมาสนใจ

จากฐานข้อมูลของ World Travel & Tourism Council ระบุเอาไว้ว่า ในปี 2019 ประเทศไทยมีประชากรที่ทำงานอยู่ในสายอาชีพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางอยู่ถึง 8,054,600 ตำแหน่งงาน จากประชากรทั้งหมด 69,800,000 คน เราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ความย่อยยับของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางในไทยจากสถานการณ์ COVID-19 ย่อมส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชากรหลายสิบล้าน และยังไม่นับถึงจำนวนแรงงานนอกระบบที่กำลังประสบกับความยากลำบากในการเอาชีวิตรอดในแต่ละวันโดยที่พยายามจะไม่ติดหรือนำเชื้อไปแพร่สู่ผู้อื่น

อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ศูนย์ข้อมูล COVID-19)

ขนาดปัญหาที่ยิ่งใหญ่ย่อมควรมาพร้อมกับทักษะในการแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ยิ่ง ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีความสามารถเพียงพอที่จะรับมือเหตุการณ์เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม มาตรการเคอร์ฟิวหลังเวลา 3 ทุ่ม การปิดกิจการหลายแห่งโดยไม่มีเงินเยียวยา หรือมาตรการแจกเงินสนับสนุนแต่ยังคงมีความไม่แน่นอนประหนึ่งแทงหวยว่าใครจะได้บ้างไม่ได้บ้างนั้น ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือในความสามารถของรัฐบาลดูจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และการพยายามลงทะเบียนจองสิทธิการฉีดวัคซีนที่ยังไม่รู้ว่าจะได้จากบริษัทไหน ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร ก็ล่มแล้วล่มอีกจนไม่รู้ว่ากดจองคิวตอนนี้จะได้ฉีดอีกทีเมื่อไหร่ ความไม่แน่ไม่นอนทั้งในส่วนของระบบการบริหารจัดการและมาตรการต่างๆ คงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ชาติอื่นๆ อาจจะได้หันมาดูงาน ขณะเดียวกันคนไทยก็ยังคงต้องพยายามประคับประคองตนเองและคนที่เรารักให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้อย่างปลอดภัย

บางทีวลี ‘สยามเมืองยิ้ม’ ที่ใช้กับการท่องเที่ยวไทยมาอย่างช้านานนั้น ก็ไม่รู้ว่าภายใต้หน้ากากอนามัยปิดหน้าที่อยู่กับเรามาแรมปีนั้นจะเหือดหายไปหมดหรือยังกับความไม่แน่ไม่นอนในสังคมที่อาจจะมองเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเรามองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน ว่าจริงๆ แล้วเรายังควร ‘ยิ้ม’ ออกกันอีกหรือไม่ ในขณะที่ประเทศอื่นกำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้าในทุกๆ วัน 

อ้างอิง:

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า