ถามถึง ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ เธอมีหัวใจบ้างไหม?

ซูเปอร์มาร์เก็ต

เรื่อง: จักรกริช จิรวิวัฒน์เสรี

 

ในโลกปัจจุบันต้องยอมรับว่า ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจการค้าปลีกค้าส่ง เข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้บริโภคอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตและการกินอยู่

ที่ผ่านมาผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจค้าปลีกเหล่านี้ คือผู้กำหนดกติกาหลักให้กับสังคมมาตลอด โดยที่ผู้บริโภคซึ่งอยู่ในระดับปลายน้ำไม่ได้เข้ามามีบทบาทในเกมนี้อย่างที่ควรจะเป็น เมื่ออำนาจต่อรองระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภค ขาดสมดุล จึงเกิดร่องรอยของความไม่เป็นธรรม

“ที่ผ่านมาเราสนใจเพียงแค่ที่มาของอาหาร แต่กลับไม่สนใจคนในกระบวนการที่นำมาซึ่งอาหารเหล่านั้น เราจึงพยายามสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อหาแนวทางพัฒนา สร้างความเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมอย่างทั่วถึงกัน” กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก กล่าว

นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ เพื่อประเมินนโยบายด้านสังคม (Supermarkets Scorecard) ของ 7 ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย โดยความร่วมมือระหว่างเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย

 

ส่วนแบ่งผลประโยชน์ในห่วงโซ่ค้าปลีกอาหาร

ตลาดธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท (2559) คิดเป็นสัดส่วนราว 15 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นอกจากมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่แล้ว ยังมีส่วนสำคัญต่อตลาดแรงงาน โดยมีอัตราจ้างงานร้อยละ 15 ของการจ้างงานในประเทศ และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมา

จากการศึกษาข้อมูล กิ่งกรระบุว่า ขนาดของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ภาคเกษตร ภาคการผลิตอาหาร กลับมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ โดยมีการเติบโตไม่ถึง 9 เปอร์เซ็นต์ ทว่าในความใหญ่โตของธุรกิจค้าปลีกกลับพบว่ามีผู้เล่นเพียงไม่กี่รายที่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากเค้กก้อนนี้

“จากมูลค่าตลาดปีละ 2.2 ล้านล้าน ในจำนวนนี้เป็นห้างใหญ่ 5 แสนล้าน และมีสัดส่วนรายได้จากการค้าปลีกคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าการขายทั้งหมด ซึ่งเรายังไม่สามารถจำแนกได้ชัดว่าเป็นหมวดอาหารจำนวนเท่าไร แต่เมื่อดูจากมูลค่าการใช้จ่ายของคนไทยโดยเฉลี่ย เราพบว่าเงินในกระเป๋า 100 บาท คิดเป็นค่าอาหารประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่าย เมื่อเราซื้อของกินหรือจับจ่ายของกินจากห้างมากขึ้น มูลค่าของตลาดการค้าปลีกในหมวดอาหารก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ”

ตัวแทนจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลกซึ่งดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาโดยตลอด กล่าวต่ออีกว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตมีความสำคัญอย่างมากในการเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค ขณะนี้ประเทศไทยมีเกษตรกร 20 ล้านคน มีผู้บริโภค 65 ล้านคน ตรงกลางคือผู้ประกอบการ ผู้ค้า ผู้แปรรูปอาหาร และพ่อค้าคนกลางทั้งรายเล็กรายใหญ่ ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าผู้บริโภค จะเห็นว่ามีผู้เล่นในกระบวนการค้าอาหารจำนวนไม่มากนัก แต่เชื่อมโยงผู้คนมหาศาลเข้าด้วยกัน ฉะนั้น ผู้บริโภคจึงควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกระบวนการเหล่านี้ด้วย

ซูเปอร์มาร์เก็ต
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา

พลังผู้บริโภคมีอยู่จริง

ข้อมูลของอ็อกแฟมประเทศไทย ได้ทำการศึกษาตัวอย่าง 64 ราย จากประมงพื้นบ้าน พบว่าอยู่ในภาวะที่เรียกว่าไม่มั่นคงทางอาหารค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับผลการศึกษาในต่างประเทศก็พบเช่นเดียวกันว่า ผู้แปรรูปหรือแรงงานในการผลิตอาหารขนาดเล็กกำลังตกอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคงทางอาหารหรืออาหารไม่เพียงพอ ซึ่งหมายความว่าภาคการผลิตกำลังประสบปัญหา เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม

“เราจำเป็นต้องสร้างความตื่นตัวให้กับผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคมีพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราไปห้างเจ้าประจำ แล้วห้างนั้นทำดีมากขึ้น เราก็จะมีความสุข จึงเป็นที่มาในการเรียกร้อง ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ ของเรา ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นเจ้าประจำของเรา ถ้าสามารถปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดหา ปรับปรุงกระบวนการทำงานกับผู้ประกอบการ กระบวนการทำงานกับผู้ผลิตรายย่อยให้มีความเป็นธรรมในห่วงโซ่อาหารมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในมิติทางสังคมของเรา”

สมมุติฐานที่ว่า อำนาจต่อรองของผู้บริโภคสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่งให้กับผู้ประกอบการได้ ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยืนยันว่า พลังของผู้บริโภคนั้นมีอยู่จริง

“เราอาจจะคิดว่าแค่คนหนึ่งคนจะทำอะไรได้บ้าง แต่จริงๆ เราทำได้มาก เพราะสิ่งแรกที่เราปะทะอยู่เสมอคือ เงินที่เราจ่ายไปได้ของมาคุ้มค่าไหม สินค้าได้มาตรฐานบริการไหม และถ้ามองไปไกลว่านั้นจะพบว่า แม้เราจะได้สินค้าที่มีคุณภาพและบริการที่เหมาะสมกับเงินที่จ่ายไปแล้ว แต่สิ่งที่เราทำได้มากกว่าคือเบื้องหลังของบริการเหล่านั้นไปเอาเปรียบใครหรือเปล่า”

ในกระบวนการประเมินความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประประกอบการ ทัศนีย์กล่าวว่า ต้องพิจารณาจากแนวนโยบายของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งนอกจากจะต้องอาศัยข้อมูลเป็นตัวชี้วัด ยังต้องขึ้นอยู่กับความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูล

เราเข้าถึงข้อมูลนั้นได้โดยการที่เขาเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่กับผู้ประกอบการบางรายเราอาจไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะเขาไม่เปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้ตระหนักในมิติเหล่านี้ หรือตระหนักแล้ว แต่เราไม่รู้ เราเข้าไม่ถึง ฉะนั้น สิ่งที่เราอยากเสนอสำหรับเขา ในฐานะที่เป็นผู้จัดซื้อรายใหญ่ของผู้บริโภคก็คือ เราอยากให้เขาขยายมิติในเรื่องการคุ้มครองแรงงาน เรื่องความโปร่งใสในนโยบาย เรื่องเกษตรกรรายย่อย และสิทธิสตรี”

ทัศนีย์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่นิตยสารฉลาดซื้อพยายามนำเสนอมาโดยตลอดคือ การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ทุกคนใช้ข้อมูลนั้นประกอบการตัดสินใจที่จะเลือกบริโภค โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม และส่งผลให้เกิดการยกระดับสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

ซูเปอร์มาร์เก็ต
ทัศนีย์ แน่นอุดร

4 มิติของความยั่งยืน

ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ ตัวแทนจากอ็อกแฟมประเทศไทย กล่าวถึงกรอบการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของบริษัทค้าปลีกไทยเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน มิใช่การพิจารณาเฉพาะเรื่องอาหารและความปลอดภัย แต่เกณฑ์การประเมินจะมุ่งเน้นมิติด้านความยั่งยืนเป็นหลัก โดยอาศัยกรอบการประเมินจากองค์การอ็อกแฟมในต่างประเทศ

นอกจากนี้ การประเมินดังกล่าวยังมีความสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยคำนึงถึง 4 มิติ ได้แก่ 1) มิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ว่ามีการออกนโยบาย การกำกับดูแลประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อาหาร 2) มิติด้านแรงงาน ประกอบไปด้วยประเด็นที่เกี่ยวกับแรงงาน อาทิ แรงงานบังคับหรือแรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง สถานที่ทำงานที่มีความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ รวมถึงการมีนโยบายแรงงานตามมาตรฐานขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ 3) มิติด้านผู้ผลิตรายย่อย มีองค์ประกอบสำคัญของการประเมินคือ การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Right Impact Assessment: HARIAs) ในกิจกรรมห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อผู้ผลิตรายย่อย และ 4) มิติด้านสตรี โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมความเท่าเทียมกันของสิทธิระหว่างชายและหญิง ตลอดจนบทบาทของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน

กรอบการประเมินดังกล่าวได้ถูกพัฒนาอย่างเป็นระบบ จากผู้เชี่ยวชาญของอ็อกแฟมและองค์กรภาคประชาสังคมในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยมีการตรวจสอบให้สอดคล้องและเทียบเคียงกับการประเมินชั้นนำอื่นๆ

“กรอบในการประเมินครั้งนี้ เราดูจากนโยบายสาธารณะหรือข้อมูลสาธารณะที่เราสามารถเข้าถึงได้ หมายความว่าเป็นข้อมูลที่คนทั่วไปหรือผู้บริโภคสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มาจากเว็บไซต์ รายงานประจำปี รายงานด้านความยั่งยืนขององค์กร รวมไปถึงข่าวสารหรือสถานการณ์ต่างๆ” ธีรวิทย์อธิบาย

“เมื่อเรามีตัวชี้วัดที่ดี มีวิธีการที่ดี อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือขั้นตอนการทำงาน เราไม่ได้ทำงานแบบเชิงรุกเพียงฝ่ายเดียว หรือการตอบแบบสอบถาม แต่เราเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมกับซูเปอร์มาร์เก็ต มีการส่งจดหมายแจ้งว่าเราจะทำการประเมิน เพื่อเปิดโอกาสให้ห้างเหล่านั้นได้นำเสนอผลงานหรือสื่อสารนโยบายต่อสาธารณะ”

ซูเปอร์มาร์เก็ต
ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ

เปิดผลคะแนน 7 ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่

ในการประเมินครั้งนี้ ธีรวิทย์เล่าว่า ภาคประชาสังคมไม่สามารถที่จะประเมินทุกห้างได้ทั้งหมด จึงเริ่มจากขนาดธุรกิจ มูลค่า หรือรายได้ ยิ่งสเกลใหญ่ยิ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะแบรนด์ที่ผู้บริโภครู้จัก จึงเป็นที่มาของการประเมินซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ Big C, CP Fresh Mart, Foodland, Gourmet Market, Makro, Tesco Lotus และ Vila Market

ผลการประเมินพบว่า ในมิติด้านความโปร่งใสหรือความรับผิดชอบ มี 3 รายที่ได้แต้มนี้คือ CP Fresh Mart, Makro และ Tesco Lotus จากการที่บริษัทได้ออกมาประกาศในรายงานความยั่งยืน สนับสนุนหลักการสิทธิมนุษยชน บริษัทมีการระบุรายชื่อผู้บริหารที่มีความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน

มิติด้านแรงงาน ธีรวิทย์ กล่าวว่า “ผู้เล่นหน้าเดิม รายเดิมก็จะได้แต้ม ได้แก่ CP Fresh Mart, Makro และ Tesco Lotus ถามว่าในหมวดนี้คนที่ได้คะแนนทำอะไรบ้าง อย่างแรกที่เราเห็นชัดคือ บริษัทมีนโยบายด้านสิทธิแรงงานและนำมาปรับใช้กับ Supplier เพื่อเป็นหลักปฏิบัติว่าต้องไม่มีการใช้แรงงานบังคับ ต้องไม่มีการใช้แรงงานเด็ก มีการจ่ายค่าจ้างที่เหมาะสม แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

มิติด้านการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิตรายย่อย นอกจากผู้ประกอบการทั้ง 3 รายแล้ว ยังมีห้าง Big C ที่ได้คะแนนในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

“มิตินี้มีความโดดเด่นมากในซูเปอร์มาร์เก็ตไทย เราจะเห็นข้อมูลของห้างเยอะมาก มีห้างหลายห้างที่ทำงานกับภาครัฐหรือทำงานกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย มีการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกร เช่น นโยบายการรับซื้อที่เป็นธรรม สนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการสนับสนุนในเรื่องความรู้และเทคโนโลยี”

สำหรับมิติด้านสิทธิสตรี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเป็นวาระสำคัญในระดับสากล แต่ในหมวดนี้มีห้างที่ได้คะแนนเพียงรายเดียวคือ Tesco Lotus

ซูเปอร์มาร์เก็ต

จากผลการประเมินทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสามารถขยายมิติของการแสดงความรับผิดชอบ (Corporate Social Responsibility) ครอบคลุมทั้งในด้านแรงงาน ด้านเกษตรกรรายย่อย ด้านสตรี และด้านความโปร่งใสของนโยบายในภาพรวมได้อีกมาก

ทัศนีย์ แน่นอุดร กล่าวเสริมขึ้นว่า หลังจากการประเมินครั้งนี้แล้วผู้บริโภคยังสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการห้างค้าปลีกผ่านทางเว็บไซต์ที่ชื่อ dearssupermarkets.com โดยผู้บริโภคสามารถที่จะแสดงความคิดเห็น เสนอแนวทางการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในมิติอื่นๆ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้บริโภคจะสามารถแสดงพลังได้

“ถ้าผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสินค้านี้มีที่มาที่ไป ไม่ได้เอาเปรียบใคร ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับผู้เกี่ยวข้องในระบบการผลิต เราก็สามารถเลือกได้ เปรียบเทียบได้ ฉะนั้น ขอให้ใช้พลังของท่านให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่าคิดว่าเราเป็นคนเล็กคนน้อยที่ทำอะไรไม่ได้” ทัศนีย์กล่าวทิ้งท้าย


Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า