ผลกระทบ COVID-19 ต่ออุตสาหกรรมไทย: บาดแผลจากระลอกเก่า กราฟแนวดิ่ง เจ็บหนัก ฟื้นช้า ล้มทั้งยืน

หลังจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดจนนำไปสู่มาตรการล็อคดาวน์ในช่วงต้นปี 2563 ไม่เพียงสุขภาพหรือระบบทางเดินหายใจเท่านั้นที่ถูกคุกคามโดยไวรัสชนิดนี้ หากแต่เพื่อที่จะจำกัดขอบเขตของมัน ปากท้องของหลายชีวิตต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยเช่นเดียวกัน

ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานที่ ‘การระบาดระลอกใหม่’ ที่ไม่ใช่ระลอกสอง ปรากฏตัวเลขในคืนเดียวกว่าห้าร้อยผู้ติดเชื้อ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมถอดบทเรียนถึงผลกระทบจาก ‘การระบาดระลอกเก่า’ รวมถึงมาตรการล็อคดาวน์ที่รัฐบาลหยิบมาใช้ต่อกร ต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในช่วงเกือบขวบปีที่ผ่านมา

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาหัวข้อ ‘ผลกระทบของ COVID-19 ต่ออุตสาหกรรมไทย’ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยทีมวิจัยทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 จนถึงช่วงกลางเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ทั้งข้อมูลที่เป็นทุติยภูมิ ข้อมูลรายผู้ประกอบการ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก สำรวจโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire Survey) กว่า 200 โรงงาน รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการอีกกว่า 70 โรงงาน นอกจากภาพรวมผลกระทบและมาตรการของรัฐต่อผู้ประกอบการโดยเปรียบเทียบกับมาตรการเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีการนำเสนอข้อมูลและวิเคราะห์ลงลึกในอุตสาหกรรมสำคัญ 5 ภาคส่วน ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมโรงแรม

ภาพรวมผลกระทบของ COVID-19 เจ็บหนักและฟื้นช้า

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ นำเสนอภาพรวมของอุตสาหกรรมไทย โดยดัชนีการผลิตในช่วงล็อคดาวน์ลดลงหนักกว่าเพื่อนบ้านเกือบทุกประเทศ หลังจากคลายล็อคดาวน์ในเดือนมิถุนายน เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวยังช้า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรวม นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งทำให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ พร้อมกันนั้นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องหนังยังคงติดลบอย่างหนักหน่วง

หลังคลายมาตรการล็อคดาวน์ มูลค่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ทว่าประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีการฟื้นตัวที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและเวียดนาม และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ในไตรมาสที่ 3 แม้จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 (ประมาณ – 6.4 และ – 12.1 ตามลำดับ) แต่ก็ยังคงกระเตื้องขึ้นน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มีเพียงสิงคโปร์ที่ยังคงใกล้เคียงกันที่ประมาณ – 7

สำหรับสถานการณ์แรงงาน พบว่าตัวเลขการว่างงานพุ่งสูงถึงกว่า 8 แสนคนในเดือนตุลาคม จากประมาณ 7 แสนคนในเดือนก่อนหน้า การบรรจุงานยังคงติดลบโดยตัวเลขในเดือนกันยายนถึงตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ – 27.48 และ – 25.63 ตามลำดับ และจำนวนผู้ใช้สิทธิประกันตนตามมาตรา 33 กรณีว่างงานในเดือนกันยายนอยู่ที่เกือบ 5 แสนคน จากปกติราวแสนกว่าคน (เพิ่มขึ้นกว่า 113.96 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562) ตัวเลขทั้งดัชนีการผลิต มูลค่าการส่งออกและที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงล็อคดาวน์นั้น เศรษฐกิจโดยภาพรวมหดตัวอย่างหนักและฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศ

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ วิเคราะห์ว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐมีมาตรการช่วยเหลือในช่วงล็อคดาวน์น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางด้านภาษี ที่มีเพียงการยืดภาษี, เร่งคืนภาษี VAT, หักภาษี ณ ที่จ่าย นอกจากนี้ยังไม่มีการสนับสนุนการจ้างงานอย่างชัดเจน รวมถึงการปล่อยสินเชื่อพิเศษผ่าน soft loan (มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย) เข้าถึงได้ยาก และรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือพิเศษที่ชัดเจนในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ถูกกระทบหนัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง

หลังผ่อนคลายมาตรการปิดพื้นที่ในเดือนมิถุนายน 2563 รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการมากขึ้น และให้ความสำคัญมากขึ้นกับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่

  1. การขยายเวลาการพักชำระและปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งมีการจัดแบ่งกลุ่มลูกหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวจะได้รับการพักชำระหนี้เป็นกรณีพิเศษ
  2. มีโครงการเกี่ยวกับสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น เช่น ธนาคารออมสินกำหนดวงเงิน 5 พันล้านบาท สำหรับให้สินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) แม้ว่าสินเชื่อก้อนใหญ่อย่าง soft loan จะยังปล่อยได้เพียง 24 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณเท่านั้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากวงเงินค้ำประกันที่ยังไม่สูงพอ
  3. มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานมากขึ้น เช่น งาน Job Expo หรือ โครงการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ (Co-payment) อย่างไรก็ดี รศ.ดร.จุฑาทิพย์ มองว่ายังไม่มีมาตรการสำหรับการคงการจ้างงานเดิมไว้ นอกจากนี้ โครงการ ‘ไทยมีงานทำ’ มียอดการสมัครงานเพียงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเมื่อเทียบกับตำแหน่งงานทั้งหมดที่เปิดรับกว่า 7 แสนตำแหน่ง ทั้งที่จำนวนการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นปัญหาการจับคู่ระหว่างแรงงานกับผู้ประกอบการ

“เวลาเราดูต่างประเทศเขาทำในส่วนของแรงงาน เขาทำทั้ง chain เลย อย่างเช่นสิงคโปร์ หนึ่ง เขาพยายาม maintain แรงงานให้อยู่ในสถานประกอบการให้ได้มากที่สุด จ่าย Co-payment เข้าไป 25-75 เปอร์เซ็นต์ ตามแต่ผลกระทบที่ได้รับในอุตสาหกรรมนั้น สอง ถ้าไม่ไหว ตกงาน เขาเข้าไปฝึกอบรมให้ โดยก่อนจะฝึกอบรมถาม demand (ความต้องการ) ก่อนว่าผู้ประกอบการต้องการทักษะอะไร หลังจากอบรมก็ตั้งศูนย์ matcing (จับคู่) ขึ้นมา โดยกระจายทั่วในหลายแห่งในสิงคโปร์ ฉะนั้นเขา match ความต้องการตรงนี้เข้ากับสถานประกอบการ แล้วเขาให้ incentive (แรงจูงใจ) กับผู้ประกอบการในการที่จะจ้างแรงงานกลับเข้าไปทำงาน โดยเฉพาะในส่วนของการที่จะนำมาหักภาษีได้ ฉะนั้นจากข้อมูลตรงนี้ที่เห็น ที่ดิฉันบอกว่าแรงงานน่าเป็นห่วง แต่ว่าความน่าเป็นห่วงตรงนี้ คิดว่าทางการน่าจะทำอะไรให้ดีขึ้นได้ เพราะเหมือนมันมี demand อยู่ แต่มัน match กันไม่ได้”

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ ชี้ให้เห็นปัญหาการ mismatching ระหว่างตำแหน่งงานกับผู้ว่างงาน

มีมาตรการเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบมากขึ้น ทั้งการลดค่าใช้จ่ายอย่างมาตรการภาษีสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม และลดภาษีน้ำมันเครื่องบินภายในประเทศ 0.2 บาทต่อลิตร การพักชำระหนี้ให้กับอุตสาหกรรมโรงแรมจนสิ้นปี 2563 การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 15,000 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงการพยายามสร้างอุปสงค์ เพิ่มการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น โครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ซึ่งคล้ายคลึงกับที่ประเทศเพื่อนบ้านใช้ อย่างไรก็ดีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสายการบิน ที่มีการตั้งกองทุนช่วยเหลือในหลายประเทศ ยังไม่ปรากฏชัดเจนในประเทศไทย

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ มองว่า การประคองเศรษฐกิจยังคงต้องดำเนินการต่อไป แต่หลังจากที่วัคซีนป้องกันโรคเริ่มมีความชัดเจน มาตรการระยะปานกลางถึงยาวควรถูกให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการที่จะช่วยสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการเอกชน เพื่อเพิ่มการลงทุนในภาคเอกชนซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนใน GDP ต่ำที่สุดนับจากปี 2546

อุตสาหกรรมอาหาร โควิดซ้ำ ภัยแล้งซ้อน

เมื่อพิจารณาดัชนีการผลิตแล้วพบว่าอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบน้อย เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น อย่างไรก็ตามกลับฟื้นตัวช้ากว่าในช่วงหลังผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และแต่ละกลุ่มสินค้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แตกต่างกัน โดยกลุ่มอาหารกระป๋อง นม และอาหารสัตว์ มีผลกระทบเชิงบวก ในขณะที่น้ำตาลมีดัชนีการผลิตลดลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขการส่งออกที่ตกต่ำและภาวะภัยแล้งในประเทศ นอกจากนี้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับโรงแรมและสายการบินจัดเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

สำหรับการส่งออก รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวว่าตัวเลขการนำเข้าและส่งออกอาหารของไทยมีการกระจุกตัวเพิ่มมากขึ้น อาจนำไปสู่การเชื่อมต่อเศรษฐกิจเข้ากับประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนเกินไป ในระยะยาวอาจเป็นอุปสรรคต่อความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทย โดยมีการส่งออกกระจุกตัวในสหรัฐอเมริกาและจีน ส่วนการนำเข้ากระจุกตัวอยู่กับจีนและกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม)

สำหรับมาตรการช่วยเหลือนั้น EXIM Bank (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย) กำหนดวงเงินสินเชื่อพิเศษให้โดยตรงกับอุตสาหกรรมอาหาร วงเงินกู้สูงสุดรายละ 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 ต่อปี มีโครงการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น โครงการคนละครึ่ง รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้วยแผนปฏิบัติการด้านการแปรรูปอาหาร โดยมีจุดประสงค์สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทย

จากการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามและสัมภาษณ์ความเห็นของผู้ประกอบการ พบว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารได้รับสินเชื่อไม่เพียงพอ รัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยลดต้นทุน หรือมาตรการกระตุ้นการใช้เทคโนโลยีอย่างจริงจัง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามช่วยหาตลาดใหม่ผ่านการจัดงานแสดงสินค้า (road show) แต่มีค่าธรรมเนียมสำหรับการเข้าร่วมอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้การเข้าทดสอบการปนเปื้อนของอาหารมีต้นทุนสูงและยุ่งยาก รวมไปถึงต้องการให้ขั้นตอนทางราชการสามารถดำเนินการได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government)

“ถ้าเราไปดู พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้าน ตอนนี้โครงการทั้งหมดในภาคการเกษตรนี่มีประมาณ 102 โครงการ งบประมาณที่อนุมัติตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งตรงนี้ใกล้เคียงหรือน้อยกว่าโครงการคนละครึ่งด้วยซ้ำไป แล้วสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราไปดูตัวโครงการ จะเห็นว่ามันจะไปกระจุกอยู่ที่การผลิตและแปรรูป ส่วนของพันธุ์พืชมีโครงการเดียว ส่วนของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งในอุตสาหกรรมอาหารจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มีอยู่ 2 โครงการ จัดจำหน่ายมีอยู่ 5 โครงการเอง ฉะนั้น ความสำคัญที่ให้กับอุตสาหกรรมอาหารมันไม่ได้ให้ทั้ง supply chain (ห่วงโซ่อุปทาน)”

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ พูดถึงเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไปในอนาคต 3 เรื่องหลัก คือ

  1. ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ไม่น่ากังวลนักในบริบทของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ก็ควรเดินหน้าพัฒนาต่อไปในทุกจุดของห่วงโซ่อุปทาน เริ่มตั้งแต่การสร้างพันธุ์ที่ดีไปจนถึงการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน รวมถึงการกระจายตัวของสินค้านำเข้า – ส่งออกผ่านการเปิดตลาดใหม่ เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเสริมความมั่นคงทางอาหารได้
  2. ความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) จากข้อมูลสินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป มีจำนวนสินค้าที่ถูกกักกันลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดีเมื่อดูสาเหตุของการถูกกักกัน พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพราะมีการปนเปื้อนในอาหาร นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากผู้ประกอบการ SMEs ว่าไม่สามารถเข้าถึงการตรวจสอบคุณภาพอาหารได้ เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่มีราคาสูง
  3. เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติจากโรคระบาด เป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลจะกระตุ้นให้มีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมอาหาร

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิกฤติมาพร้อมโอกาส

รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ นำเสนอการวิจัยในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยดัชนีผลผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นล็อคดาวน์ และดีดตัวกลับอย่างรุนแรงเช่นกัน พร้อมอธิบายว่าเป็นเพราะในช่วงล็อคดาวน์นั้น มีการหยุดคนไม่ให้แพร่เชื้อ แต่ไม่ได้หยุดการผลิต

ตัวเลขมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แสดงให้เห็นว่าภายใต้การระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้เกิดโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากคนต้องใช้เวลาอยู่ในเคหสถานมากขึ้นจากมาตรการล็อคดาวน์ รวมถึงการ work from home ทำให้อุปสงค์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ระบบกรองอากาศสำหรับห้องความดันลบ (Truly Negative Pressure) สำหรับใช้ในทางการแพทย์ที่ออกแบบโดยบริษัทซัยโจ เดนกิ จำกัด เป็นตัวอย่างนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไม่ได้จำกัดตัวเองแค่การประกอบชิ้นส่วน หากแต่สามารถทำในสิ่งที่ซับซ้อนหรือสร้างนวัตกรรมได้เช่นเดียวกัน

รศ.ดร.อาชนัน วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการติดตามชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นหนึ่งๆ ว่าชิ้นส่วนเหล่านั้นถูกนำเข้าจากประเทศใดบ้างและมีการเปลี่ยนประเทศที่นำเข้ามากน้อยเพียงใด ผลปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วงต้นของมาตรการล็อคดาวน์ และกลับมาอยู่ในสภาวะปกติใน 1-2 เดือนถัดมา

ความชัดเจนของวัคซีนต่อต้านเชื้อโควิด-19 ทำให้บริษัทข้ามชาติหลายแห่งเริ่มทบทวนการจัดการกับห่วงโซ่อุปทานใหม่ รศ.ดร.อาชนันชี้ให้เห็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องจัดการสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 3 ประการ ได้แก่

  1. การใช้ประโยชน์จากภาพลักษณ์ความสามารถในการระงับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
  2. การหาประโยชน์จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี อย่างโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (EEC)
  3. ภายใต้ระเบียบโลกที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา การพุ่งขึ้นของประเทศในทวีปเอเชีย (rising Asia) ประเทศไทยจะแสวงโอกาสหรือวางจุดยืนจากความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

ข้อเสนอแนะทางนโยบาย คือการให้ความช่วยเหลือเรื่องการยกระดับความพร้อมทางด้านสาธารณสุขให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้สถานการณ์โรคระบาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติให้ได้โดยเร็ว โดยใช้สินค้าจากไทย เช่น ห้องความดันลบ อุปกรณ์ทางการแพทย์และยา เป็นทั้งการสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศ และสินค้าจากไทย นอกจากนี้การวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ บูรณาการกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เกิดความมั่นคงจากการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเอง รวมถึงการติดตามและปรับนโยบายรับการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ

อุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยีที่ต้องรอดู

เพ็ชรธรินทร์ วงศ์เจริญ กล่าวถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วภูมิภาค ซึ่งเผชิญกับปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2555 การเข้ามาของโควิด-19 ทำให้ดัชนีการผลิตรถยนต์ลดลงอย่างหนัก กระจายตัวไปทั่วห่วงโซ่อุปทาน ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งแต่ละยี่ห้อรถยนต์ได้รับผลกระทบในรูปแบบการลดลงของยอดสั่งซื้ออย่างฉับพลัน สิ่งนี้กระทบโดยตรงต่อกระแสเงินสดของผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ปรับตัวด้วยการลดกำลังการผลิต ลดการจ้างงานลง อย่างไรก็ดีระบบอัตโนมัติ (automation) ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์โควิด-19 เพ็ชรธรินทร์ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะผู้ผลิตมีการสะสมระบบอัตโนมัติมาก่อนอยู่แล้ว

จากการสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม มาตรการที่ตรงใจผู้ประกอบการมากที่สุดคือมาตรการที่ช่วยเพิ่มกระแสเงินสดในมือ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) หรือมาตรการทางภาษี

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงผลิตภายใต้ห่วงโซ่อุปทานลักษณะเดิม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างจำกัดเพียงในช่วงระยะแรกของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเท่านั้น ในเรื่องของการปรับตัวนั้น ผู้ผลิตอุปกรณ์ตามแบบฐาน (Original Equipment Manufacturer: OEM) ปรับตัวได้อย่างจำกัด ได้รับผลกระทบโดยตรงเมื่อยอดการสั่งซื้อลดลง มีแนวโน้มที่จะปลดคนงานเพื่อลดกำลังการผลิต และพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมกับการผลิตชิ้นส่วนให้กลุ่มธุรกิจรถยนต์อื่นๆ ที่กว้างออกไป ในขณะที่ผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อการทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing: REM) บางส่วนที่ผันตัวเป็นอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ สามารถปรับตัวเข้าตลาดออนไลน์ได้มากขึ้น

แม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่การควบคุมการแพร่ระบาดที่ทำได้ดีทำให้กำลังซื้อเริ่มกลับมา สถิติยอดการจองรถรวมถึงระดับการผลิต เริ่มกลับไปอยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกับก่อนการล็อคดาวน์

เพ็ชรธรินทร์ กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างน้อย 4 ประการ คือ

  1. ความไม่แน่นอนในการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแหล่งนำเข้ามีต้นทุนที่สูง มีความเป็นไปได้ที่โครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานจะไม่เปลี่ยนแปลงจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้
  2. เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ มีการชะลอตัวลง ผู้ประกอบการให้ความสนใจกับการประคองธุรกิจ รวมถึงแนวโน้มการ work from home และการรักษาสุขภาพยังคงอยู่ อาจส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ เช่น รถยนต์ขนาดเล็กสำหรับเดินทางระยะสั้น อุปกรณ์เสริมที่ช่วยเพิ่มความเป็นมิตรต่อสุขภาพ
  3. บทบาทของเครื่องยนต์สันดาปภายในมีแนวโน้มลดลง อาจถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์รูปแบบอื่นในอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า
  4. ทิศทางของเทคโนโลยีเกิดใหม่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีโอกาส disrupt อุตสาหกรรมยานยนต์ได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อท่าทีการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลนั้น เพ็ชรธรินทร์ให้ความเห็นว่าการมุ่งเป้าไปที่ยานยนต์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปภายใน ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในไทยมาเป็นเวลานาน ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านจึงควรถูกใช้อย่างเหมาะสม การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจากรัฐไม่ควรส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการแข่งขันในตลาด แต่ควรเป็นการเตรียมความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่าน เช่น สถานีชาร์จ หรือปรับระบบไฟฟ้าในบ้านให้เหมาะสม นอกจากนี้การเข้าสู่ e-Government การเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ รวมถึงออกระเบียบพิเศษให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้สามารถเข้ามาทำงานในประเทศได้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจ

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม Downsizing ทั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ภานุพงศ์ ศรีอุดมขจร ฉายภาพให้เห็นห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อันได้แก่ เส้นใย เส้นด้าย ผ้าผืน และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้นสายและปลายสายตามลำดับ โดยผู้ประกอบการส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม วิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้การผลิตสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหดตัวลงอย่างมาก จากประมาณ 2.5 พันล้านบาทในช่วงไตรมาสที่ 1 เหลือเพียง 1.5 พันล้านบาทในเดือนเมษายนของปี 2563 (ลดลงกว่า 43 เปอร์เซ็นต์) ก่อนที่ระดับการผลิตจะเพิ่มจนอยู่ที่ 2 พันล้านบาทโดยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 3 ของปีเดียวกัน กลุ่มสินค้าอื่นที่เป็นต้นสายการผลิตอย่างผ้าผืนและเส้นใย ได้รับผลกระทบในรูปแบบที่ใกล้เคียงกันกับเครื่องนุ่งห่ม

การส่งออกและนำเข้าปรับตัวลดลงในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ก่อนจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 เช่นเดียวกันกับการผลิต สัดส่วนกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบกระจายตัวตลอดห่วงโซ่การผลิต ไม่มีกลุ่มสินค้าใดได้รับผลกระทบมากหรือน้อยกว่ากลุ่มอื่น กลุ่มประเทศที่นำเข้าสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากไทยได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม ญี่ปุ่น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ประเทศที่ส่งสินค้าประเภทนี้คือจีน ก็เช่นกัน รูปแบบและสัดส่วนยังคงใกล้เคียงกับในสภาวะปกติ แม้ว่าปริมาณจะลดลงไปบ้างก็ตาม

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานหนาแน่น (labor intensive) ระหว่างปี 2544 – 2562 มีการจ้างงานเฉลี่ยถึง 1 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตามสัดส่วนการจ้างงานของอุตสาหกรรมนี้ต่อการจ้างงานรวมระดับประเทศ มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 4.2 ในปี 2544 เหลือเพียงร้อยละ 2.3 ในปี 2562

วิกฤตการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม โดยแรงงานลดลงกว่า 1 แสนคน คำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมนี้ถูกยกเลิกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นสินค้าจำเป็นน้อยกว่าสินค้าประเภทอื่น เมื่อรายได้ของผู้บริโภคลดลงจากวิกฤติฯ ก็สามารถชะลอการบริโภคสินค้าชนิดนี้ได้ ผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องจำเป็นต้องปรับลดจำนวนแรงงานลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากลดจำนวนแรงงานแล้ว ภานุพงศ์อธิบายการปรับตัวของผู้ประกอบการหลายรายว่ามีการผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการระยะสั้นอย่างหน้ากากผ้าในปริมาณมาก หลายคนเริ่มเข้าสู่ตลาดการซื้อขายออนไลน์ (E-commerce) นับจากปี 2555 อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจะมีแนวโน้มลงทุนในต่างประเทศอยู่ก่อนแล้ว แนวโน้มนี้อาจลดลงบ้างเนื่องจากความไม่แน่นอนในช่วงต้นของการแพร่ระบาด แต่ก็กลับมาสู่แนวโน้มเดิมเมื่อเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มของการลดขนาดขององค์กร (downsizing) ในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมโรงแรม เลือดที่ไหลไม่หยุด

หลังนำเสนอผลวิจัยในหัวข้ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ กล่าวถึงผลกระทบมหาศาลที่อุตสาหกรรมโรงแรมได้รับจากวิกฤติโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวได้จากมาตรการปิดประเทศ ทำให้กลุ่มโรงแรมสูญเสียรายได้ไปแทบทั้งหมด ในขณะที่ยังคงมีต้นทุนคงที่ (fixed cost) จากสิ่งปลูกสร้างและค่าบำรุงรักษาที่ยังต้องแบกรับ ด้วยเหตุนี้จึงควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นพิเศษ

แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่ก็มักกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ และยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญไป พร้อมกันนั้นความช่วยเหลือทางการเงินไม่มีประสิทธิผลและมุ่งเป้าเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในขณะที่ยิ่งโรงแรมมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีบทบาทในการสร้างงานในระดับสูง เมื่อความช่วยเหลือมาไม่ถึง โรงแรมจำนวนมากจำต้องปิดตัวลง นำมาซึ่งการตกงานที่พุ่งสูงขึ้นเป็นลำดับ

รศ.ดร.อาชนัน สนับสนุนให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ประการแรกเป็นการช่วยเหลือทางด้านการเงิน อย่างการปล่อยกู้เงื่อนไขพิเศษโดยตรงโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ประการถัดมา หลังจากวัคซีนป้องกันโรคระบาดเริ่มมีความคืบหน้า ควรเริ่มมีการวางแผนเตรียมการถึงลำดับถัดไปในช่วงหลังมีวัคซีน

ประการที่ 3 ควรมีหน่วยงานที่ให้ความรู้ถึงขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการล้มละลายหรือฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อให้มีโอกาสกลับมาทำธุรกิจอีกครั้งโดยเร็ว เนื่องจากในสภาวะปัจจุบันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีบางคนล้มละลาย

“สิ่งที่เราเห็นคือโควิด-19 มันกระทบกับทั้ง 5 ภาคการผลิตอย่างหลากหลาย ที่ผ่านมาเราหนักไปที่เยียวยา ไม่ค่อยไปที่ฟื้นฟู วันนี้สถานการณ์มันเปลี่ยน วิกฤติโควิด-19 ทางด้านสาธารณสุขน่าจะใกล้จบถ้าวัคซีนออกมา มันใกล้จะเห็นแสงที่ปลายปล่อง คำถามก็คือว่าถ้าเราเห็นแล้ว คงถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยนเกียร์การขับเคลื่อนนโยบายมาสู่การฟื้นฟูมากขึ้น ไม่ใช่ฟื้นฟูระยะสั้นให้ไปเที่ยวอย่างเดียว แต่มันต้องไปฟื้นฟูระยะยาวเพื่อเพิ่มศักยภาพให้เขามากกว่าเดิมนะครับ และที่สำคัญคือประเทศอื่นเขาช่วย ถ้าเราไม่ช่วย พอเวลาโลกมันเปิด คนไทยก็จะเสียเปรียบคนอื่น นั่นคือประเด็นการท้าทายที่สำคัญ” รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ กล่าวปิดการสัมมนา

Author

ศุภวิชญ์ สันทัดการ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแถบรังสิต เป็นคนหนุ่มที่ฟังเพลงน้อยแต่อ่านมาก โดยเฉพาะการผจญภัยในสวนอักษรของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยคุณงามความดีเช่นนี้จึงมีเสียงชื่นชมบ่อยๆ ว่าเป็นพวกตกยุค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า