ชีวิตในป่าพรุ 7 วันก่อนถูกเผาผลาญ

ปี 2562 เกิดไฟไหม้ที่ป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราชไปแล้ว 87 ครั้ง โดยรวมสูญเสียพื้นที่ไปกว่า 5,000 ไร่ ล่าสุดเกิดไฟป่ากำลังเผาผลาญป่าพรุ ภาพของควันสีขาวลอยคลุ้งตลบผืนป่าพรุกลับมาบนจอทีวีในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ก่อนเหตุไฟป่าเรามีโอกาสเข้าไปสำรวจ 1 วันในชีวิตของชาวป่าพรุควนเคร็งที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับตัวป่าอย่างแยกออกไม่ได้ตั้งแต่เกิดจนตาย

เมื่อแสงแรกฉายลงสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวตำบลเคร็งจะแล่นเรือยาวแหวกแม่น้ำสายเล็กสายน้อยมุ่งสู่ป่าพรุควนเคร็งเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพตนและครอบครัว ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นทุกวัน เกิดขึ้นมาแต่กาลก่อน และคงจะดำเนินไปอีกกาลนาน

ป่าพรุควนเคร็งตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยในเขตรอยต่อระหว่างลุ่มน้ำปากพนังและลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ป่าพรุครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ เป็นป่าพรุที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูง ในขณะเดียวกันมันเป็นแก่นวิถีชีวิตของชาวตำบลเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“พื้นที่ป่าพรุควนเคร็งเป็นเหมือนตู้เย็น เหมือนกระเป๋าเงินของพี่น้องประชาชนคนเคร็ง วันไหนไม่มีเงินก็เข้าไปในป่าพรุ 4-5 ชั่วโมงก็มีเงินติดกระเป๋า และเป็นตู้เย็นในบ้านเพราะป่าพรุเป็นเหมือนตู้อาหาร คนนึกจะกินปลาน้ำจืดก็ได้กิน น้ำผึ้งก็ได้กิน อยากกินตัวต่อก็ได้กิน อยากจะกินก็ได้กินหมด”

สุทัศน์ สงขาว รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเคร็ง

ทรัพยากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนรอบป่าพรุควนเคร็งมากที่สุดคือ ‘กระจูด’ กระจูดเป็นพันธุ์ไม้ลักษณะคล้ายกก มีรูปร่างเป็นทรงกลมยาว สูงได้ประมาณ 1-2 เมตร ซึ่งชาวบ้านบริเวณโดยรอบป่าพรุได้นำกระจูดมาใช้ประโยชน์ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นนำกระจูดมาสานเป็นกระเป๋า และสาด(เสื่อ) แม้แต่ สนั่น คงแก้ว ผู้ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านใสขนุน ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด ก็เล่าอย่างเพลิดเพลินว่า “เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน จะบอกว่าเป็นใครเราก็ไม่รู้ มันก็ต่อๆ กันมา”

กลุ่มกระจูดที่ขึ้นประปรายริมแม่น้ำถูกคลื่นของเรือยาวซัดกระเพื่อมไปมา ระลอกแล้ว ระลอกเล่า กระจูดที่ขึ้นตามริมน้ำเหล่านี้ชาวบ้านจะเรียกว่ากระจูดหนู เป็นกระจูดกลุ่มที่มีขนาดยาวไม่พอให้ตัดมาใช้ประโยชน์ได้ น้ำในแม่น้ำค่อนข้างใสแต่เต็มไปด้วยโคลน ชาวบ้านเล่าว่าเป็นน้ำเปรี้ยวเนื่องจากดินของป่าพรุเป็นดินกรด หากลงไปว่ายน้ำจะมีกลิ่นโคลนติดตัว ทิวทัศน์สองข้างทางเปลี่ยนไปเมื่อเรือยาวแล่นลึกเข้าตามทางน้ำ ภาพของสวนยางค่อยๆ เปลี่ยนเป็นดงกระจูดสีเขียวปนด้วยน้ำตาลอ่อนขึ้นเรียงราย

แต่ทันใดนั้นมีต้นไม้ลำต้นสีขาวชี้ทะยานขึ้นสู่ฟ้า มันมีใบเพียงน้อยนิด ชาวบ้านเรียกมันว่าต้นเสม็ด มันคือต้นไม้ประจำป่าพรุควนเคร็งใหม่ที่มาแทนไม้ท้องถิ่นดั้งเดิมที่ถูกพายุตะลุมพุกพัดทำลายไปเมื่อปี 2505 สีขาวของมันโผล่ขึ้นมาตรงนู้นทีตรงนั้นทีราวกับฝูงปลาที่กระโดดขึ้นมาเหนือน้ำทะเล เรือของชาวบ้านค่อยๆ มุ่งหน้าสู่พื้นที่ที่แม้แต่ถนนที่ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้

“ก่อนหน้านี้กรีดยางอยู่ในอำเภอชะอวด มาทำอันนี้รายได้ดีกว่า ไม่ต้องลงทุนอะไร ปุ๋ยก็ไม่ต้องจ่าย พวกนี้ถ้าให้ไปแลกกับมีสวนยาง 5 ไร่ก็ไม่เอาหรอก ยอมอยู่แบบไม่มีที่ดินแต่หารายได้จากป่าพรุได้” ณรงค์ มีทอง ชายที่เลี้ยงชีพโดยการเก็บกระจูดกล่าว เขาเล่าต่อว่าที่ดินผืนที่เขามาตัดกระจูดเป็นประจำนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะ ชาวบ้านต่างช่วยกันดูแลรักษาเพราะมันเป็นแหล่งรายได้ของคนทั้งหมู่บ้าน แต่ละวันที่เข้าป่าพรุชาวบ้านจะมีรายได้ติดตัวกลับไปเสมอ “เยอะ วันละเป็นพัน ลงตอน 6 โมงเช้า ถึง 10 โมงก็ได้ 500 บาทแล้ว” ณรงค์เสริม

การเก็บกระจูดมีข้อดีที่ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องลงทุนมากนัก เนื่องจากกระจูดสามารถขึ้นเองในป่าพรุได้ตามธรรมชาติชาวบ้านจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดินทำกินใดๆ ตัวณรงค์เสริมว่าไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งกับชาวบ้านคนอื่นเพราะ “เข้าไปก็มีอีกเยอะมากเลย ใครจะตัดตรงไหนก็ได้” เขาพูดขณะนำทางเข้าไปในดงกระจูด กลุ่มกระจูดแหวกออกเป็นสองฝากเกิดเป็นทางพอเหมาะสำหรับคนเดินเรียงหนึ่งซึ่งณรงค์อธิบายว่าเกิดขึ้นเพราะชาวบ้านเดินเหยียบซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดเป็นเส้นทางธรรมชาติขึ้นมาเอง

ณรงค์หยุดเดินเมื่อถึงที่โล่งขนาดเล็กซึ่งรายล้อมไปด้วยดงกระจูดที่สูงเหนือหัวเหมาะแก่การเก็บเกี่ยว เขาเริ่มใช้เคียวสีดำสนิททั้งเล่มตัดกระจูด เสียงเคียวตัดฉับลงไปที่เนื้อกระจูดดังขนานไปกับเสียงจักจั่น โดยรอบบริเวณมีเพียงเสียงเงียบของธรรมชาติที่ไม่มีท่าทีว่าจะถูกรบกวน

“ทำมา 14 ปีแล้ว ไม่ได้ไปไหนเลย อยู่กับธรรมชาติแบบนี้ ไม่เบื่อ เพลินดี วันไหนไม่มีสิเบื่อ ทำไปเรื่อยๆ มันเป็นงานของเราเอง ถ้าเราทำงานแล้วมีคนควบคุมเรามันก็จะไม่สนุกเลยนะ ‘น้องต้องยังงู้น น้องต้องยังงี้’ แต่อันนี้งานของเราเอง เหนื่อยก็นั่งพักได้” สมหวัง มะลิวง ชาวบ้านอีกคนเล่าถึงความสุขในงานของตน ตัวเขาเองก็รู้สึกดีที่ได้ทำงานใกล้บ้าน เขาเคยเป็นคนศรีสระเกษแต่มาตั้งรกรากอยู่กับคนรักที่นครศรีธรรมราช ถึงแม้ว่าตัวเขาเองไม่ได้เก็บกระจูดมาตั้งแต่เด็กสมัยที่มาใหม่ๆ ก็ได้ผู้สูงอายุมาสอนวิธีการต่างๆ “มันตกทอดมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำมาตั้งแต่ไม่รู้กี่ชั่วคนแล้ว ลูกผมก็ทำ มาดูมาทำ เวลาว่าง เราเอาเคียวตั้งไว้เขาก็จัดการเอง ไม่บ่นว่าเบื่อ” เขาเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ห่างออกไปไม่ไกลแฟนของณรงค์ ยุพา คงเทพก็กำลังตัดกระจูดอยู่เช่นกัน เธอเล่าว่าเธอตัดกระจูดมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ สมัยเด็กเธอตามพ่อแม่ของเธอเข้ามาในป่าพรุเสมอ ปัจจุบันเบื้องหลังของเธอคือลูกชายตัวน้อยที่คอยจัดกระจูดให้เป็นมัด เขาค่อยคัดกระจูดที่มีสีน้ำตาลจนเกินไปออกอย่างตั้งใจ ปกติเขาคอยตามแม่ของตนมาทุกวันที่ว่างจากการเรียนที่โรงเรียน เมื่อเด็กชายเมื่อยเขาจะนั่งลงกับพื้น ตัวของเขาแทบจะจมหายไปกับมหาสมุทรของกระจูดที่อยู่สูงเหนือหัว

“คนเคร็งอยู่กับกระจูดตั้งแต่เกิดจนตาย คนตำบลเคร็ง 80% ที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง บางคนมีที่อยู่อาศัยเล็กน้อยหน่อย การทำมาหากินต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด” สุทัศน์เล่าถึงความสัมพันธ์ของคนเคร็งกับกระจูด

กระจูดถูกมัดเป็นมัดเพรียบพร้อมสำหรับการลำเลียงลงเรือยาว ชาวบ้านทั้งสามทยอยแบกมัดกระจูดลงเรือโดยมีเด็กชายแบกกระจูดมัดเล็กกว่าเพื่อนเดินตามหลังอย่างกระฉับกระเฉง เมื่อกระจูดถูกขนลงเรือเรียบร้อยดีแล้วเด็กชายรีบกระโดดลงเล่นน้ำราวกับว่าตนอดกลั้นความอยากมานาน เขาลอยบนน้ำเงยหน้าหงาย ตามองฟ้า ครอบครัวของเขากำลังจะกลับบ้าน บางทีเขาอาจจะกำลังคิดว่าตอนบ่ายของวันนั้นจะเล่นอะไรดี งานของวันนี้ได้จบลงแล้ว

ความสุขของเด็กชายมีลักษณะคล้ายกับความสุขในวัยเด็กของ วาสนา เพชรแดง “ทำมาตั้งแต่เล็กๆ แม่ทำแล้วเราก็ตามไปดู ตามไปเล่นน้ำอะ สมัยนั้นเขาใช้มือถอนไม่ได้ใช้เคียวด้วย เราเกิดที่นี่ พอรู้เรื่องก็ตามแม่มาเลย” เธอหวนคิดถึงวัยเด็กตอนนี้เธอในวัย 57 กำลังยกมัดกระจูดราวกับมันเป็นเพียงก้อนสำลี เธอกำลังจะนำกระจูดไปคลุกโคลน การคลุกโคลนเป็นขั้นตอนของชาวบ้านในการรักษาตัวกระจูด

“โดยธรรมชาติของมันพอแห้งแล้วมันจะผุ คลุกโคลนแล้วตากเก็บไว้ได้หลายปี เพราะว่ากระจูดใช้เวลาแค่เดือนเดียวก็ผุหมด การคลุกโคลนเป็นภูมิปัญญาของคนเมื่อก่อนต่อๆ กันมา” สนั่น คงแก้ว อธิบาย

ชาวบ้านจะนำกระจูดไปคลุกในบ่อโคลนที่เตรียมไว้ จากนั้นจะนำมาตากแห้งด้วยการคลี่กระจูดออกเป็นกระโจมและวางทิ้งไว้ให้ลมธรรมชาติค่อยๆ พัดให้แห้ง เมื่อแห้งดีแล้วชาวบ้านจะนำกระจูดไปบดให้กลายเป็นแผ่นเรียบ ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เพียงไม่กี่เครื่องในการบดกระจูดให้เป็นแผ่นเรียบ แต่ละหมู่บ้านจะผลัดกันใช้เครื่องจักรโดยแบ่งเป็นกะ กระจูดจะถูกบดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่ามันจะแบนพอที่จะนำไปสานเป็นผลิตภัณฑ์โดยมือของชาวบ้าน กระบวนการนั่งสานกระจูดเป็นกิจวัตรสุดท้ายของชาวป่าพรุควนเคร็งก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกลับไปผักผ่อนเพื่อรอวันใหม่

ผู้หญิง 7-8 คนนั่งจับกลุ่มสานกระจูดภายใต้ชายคาเดียวกัน พวกเธอมีอายุตั้งแต่ 20-50 ปี เมื่อพวกเธอสานเสร็จก็จะส่งขายทั้งปลีกและส่ง บางคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็เข้าป่าไปเก็บกระจูดด้วยตัวเองเองในตอนเช้า วาสนา เพชรแดงก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอนั่งสานกระจูดอย่างสบายใจราวกับเป็นการละเล่นฆ่าเวลา เมื่อเราถามว่าพวกเธอคุยกันเรื่องอะไรเวลาสานกระจูด วาสนาตอบพร้อมรอยยิ้มซุกซนว่า “ก็หลายเรื่อง…แล้วก็เรื่องเพื่อน” ชาวบ้านทั้งกลุ่มหัวเราะลั่นราวกับพวกเธอเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับคำตอบของวาสนา

ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะเป็นเรื่องเรียบง่ายไปเสียหมดสำหรับชาวตำบลเคร็ง แต่เมื่อเราถอยออกมาและมองทุกอย่างจากมุมสูงของหอคอยประจำหมู่บ้านใสขนุนเรากลับเห็นสิ่งที่ดูแปลกแยกไปจากสิ่งอื่นในหมู่บ้าน ภาพที่เราเห็นคือป่าพรุที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ที่สุดขอบฟ้าเป็นภูเขาเปี่ยมด้วยต้นไม้สีเขียว เสม็ดสีขาวขึ้นแซมกับสีเขียวเป็นจุดเล็กตรงนั้นตรงนี้ ไกลออกไปมีเมฆฝนสีดำครึ้มคอยส่งเม็ดระอองฝนลงสู่ผืนป่า แต่ทางด้านซ้ายผืนป่าสีเขียวพลันเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนดำโดยฉับพลัน

“ตอนนั้นคนที่เฝ้ายามอยู่ที่หอคอยนี้แจ้งผู้ใหญ่ว่าไฟไหม้ ผมก็โทรไปหาไฟป่า ให้เจ้าหน้าที่ไปอยู่เต็มจุด ตรงนั้นกระจูดน้อยก็เลยพยายามเลี้ยงไม่ให้มันไปทางกระจูดเยอะ บ่ายสองถึงหนึ่งทุ่ม ใช้คนประมาณ 300 คน ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่” สนั่น คงแก้วพูดถึงไฟป่าเมื่อต้นปีด้วยน้ำเสียงเคร่งเครียด เขาเล่าต่อว่าไฟไหม้ป่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปีเพราะความประมาท อุบัติเหตุทางธรรมชาติ หรือการบุกรุกป่า แต่ปีนี้เป็นปีที่ไฟป่าเกิดขึ้นได้ง่ายเพราะมีสภาพแล้งกว่าทุกปี

ถึงแม้ไฟป่าครั้งล่าสุดจะมีความเสียหายไม่มากแต่ก็เป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้ สนั่นเล่าว่าทุกวันมีการจัดยามกะละ 2 คนเพื่อเฝ้าระวัง ถึงแม้ไฟป่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถป้องกันได้แต่อย่างน้อยก็สามารถลดความเสียหายได้

โดยในปัจจุบันภาครัฐได้ร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูล และศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อที่จะนำข้อมูลไปพัฒนาต่อยอดแก้ไขปัญหาไฟไหม้ป่าพรุซึ่งคาดว่าจะเห็นผลภายในปี 2563

พื้นที่ป่าพรุที่ถูกไฟไหม้จะไม่สามารถทำรายได้ให้ชาวป่าพรุไปอีกนาน มองดูไปแล้วสีน้ำตาลไร้ชีวิตของมันก็เหมือนกับสีน้ำตาลแห้งของต้นกระจูดที่ชาวบ้านคัดออก ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใดๆ ได้

Author

ทัศ ปริญญาคณิต
นักศึกษาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง ไปเที่ยว นอกจากนั้นยังชอบมีมคอมมิวนิสต์ และเสือกเรื่องดราม่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า