ซาอุดีอาระเบีย: กำจัดคนเห็นต่าง ขังนักกิจกรรม ตั้ง IO ประชาสัมพันธ์สร้างความนิยม

  • แม้ทางนิตินัย กษัตริย์ Salman bin Abdulaziz Al Saud หรือ ‘King Salman’ จะมีอำนาจสูงสุด แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เจ้าชาย Mohammed bin Salman หรือ ‘MBS’ เจ้าของตำแหน่งมกุฎราชกุมาร คือผู้มีอำนาจปกครองตัวจริง 
  • MBS ได้รับขนานนามว่าเป็นเจ้าชายหัวก้าวหน้า ผู้ปฏิรูปราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ Vision 2030 ทว่าการปฏิรูปครั้งนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลัง 
  • ขณะเดียวกัน MBS ก็ขึ้นชื่อเรื่องความเหี้ยมโหด ใครก็ตามที่ขวางเส้นทางอำนาจของเขาจะต้องถูกกำจัด กรณีโด่งดังที่สุดคือ การเสียชีวิตของ Jamal Khashoggi นักข่าวผู้เขียนวิจารณ์การปกครองของเขา

บนโลกปัจจุบันที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีแนวโน้มสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ ประเทศที่เป็นสาธารณรัฐพยายามปรับทิศทางให้เป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ยังมีกษัตริย์ก็พยายามปรับให้เป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (ซึ่งก็เป็นเส้นทางเดียวกับการเป็นประชาธิปไตย) ภายใต้แนวโน้มนี้ ราชอาณาจักร ‘ซาอุดีอาระเบีย’ กลับเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังยืนหยัดปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างต่อเนื่องยาวนาน

แต่หากนิยามให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หมายถึงระบอบที่กษัตริย์มีอำนาจปกครองสูงสุด การปกครองของซาอุดีอาระเบียอาจไม่ตรงตามนิยามนี้โดยสมบูรณ์ เพราะแม้ ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัล ซะอูด (Salman bin Abdulaziz Al Saud) หรือ ‘King Salman’ จะมีสถานะเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ด้วยความชราในวัย 86 ปี ที่พ่วงมากับสุขภาพที่เสื่อมถอย ทำให้เขาเป็นกษัตริย์แค่ทางนิตินัย (de jure) ผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองและเป็นกษัตริย์ตามความเป็นจริง (de facto) กลับเป็น เจ้าชายมูฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) หรือที่มักเรียกกันด้วยชื่อย่อว่า ‘MBS’ ลูกชายคนโปรดวัย 36 ปี ที่เขาแต่งตั้งเป็นมกุฎราชกุมาร (ด้วยอายุเพียงเท่านี้ หาก King Salman ตาย MBS จะเป็นกษัตริย์ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ซาอุฯ นั่นหมายความว่า เขามีโอกาสที่จะครองราชบัลลังก์เป็นระยะเวลายาวนานมาก) 

Mohammed bin Salman: เจ้าชายนักปฏิรูป กษัตริย์ไร้มงกุฎ 

ซาอุดีอาระเบียไม่ต่างอะไรกับรัฐอื่นๆ บริเวณรอบอ่าวเปอร์เซีย (Arab States of the Persian Gulf) อำนาจและความร่ำรวยของประเทศแถบนี้ล้วนเกิดจากการหากินกับทรัพยากรน้ำมัน กระนั้น ด้วยแนวโน้มทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับวิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำมันเป็นทรัพยากรที่จะต้องหมดไปในสักวันหนึ่ง การพึ่งน้ำมันเป็นรายได้หลักจึงไม่ใช่เรื่องฉลาดนัก ประเทศเจ้าน้ำมันเหล่านี้ต่างมีแผนที่จะลดการพึ่งน้ำมันเป็นรายได้หลัก และกระจายความเสี่ยงด้วยการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (economic diversity) ให้มากขึ้น

นั่นคือสิ่งที่ซาอุดีอาระเบียพยายามทำมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 60 แต่เป้าหมายดังกล่าวก็ห่างไกลความเป็นจริงมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2016 จึงเกิดโครงการ ‘Vision 2030’

Vision 2030 เป็นแผนพัฒนาประเทศตามวิสัยทัศน์ของ MBS ที่พยายามปฏิรูปซาอุดีอาระเบียโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เป้าหมายสูงสุดของแผนนี้คือ ลดการพึ่งพิงน้ำมันเป็นรายได้หลัก และกระจายระบบเศรษฐกิจให้มีรายได้จากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน กิจกรรมสันทนาการ และการท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ซาอุฯ ปรารถนาจะบรรลุให้ได้ภายในปี 2030

ทั้งนี้ ควรทดไว้ตัวโตๆ ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการปฏิรูปสังคมและวัฒนธรรม เพราะด้วยข้อจำกัดทางศาสนา (ในแบบซาอุดีอาระเบีย) กิจกรรมสันทนาการเพื่อความบันเทิงเป็นสิ่งต้องห้าม และยังไม่ต้องพูดไปถึงว่าประชากรซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะ ‘ผู้หญิง’ ถูกจำกัดสิทธิมากเพียงใด ตัวอย่างที่เด่นและโด่งดังที่สุด คือการที่ผู้หญิงซาอุดีอาระเบียไม่มีสิทธิที่จะขับรถ

นั่นทำให้หลัง MBS ขึ้นมามีอำนาจและถูกแต่งตั้งให้เป็นมกุฎราชกุมาร ก็เริ่มปฏิบัติทำลายปทัสถานทางศาสนา เพื่อแยกความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจศาสนาออกจากอำนาจการปกครอง ผ่านการทำลายสายใยอันเหนียวแน่นระหว่างอำนาจรัฐของราชวงศ์ซะอูด (House of Saud) กับกลุ่มผู้นำศาสนาที่รู้จักกันในชื่อ วะฮาบีย์ (Wahhabism)

อาจเล่าให้เข้าใจคร่าวๆ ได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ซะอูดกับวะฮาบีย์อยู่ในรูปแบบสมประโยชน์กัน ราชวงศ์ซะอูดจะได้รับความชอบธรรมทางศาสนาเพื่อเสริมอำนาจการปกครองราชอาณาจักรจากวะฮาบีย์ ส่วนวะฮาบีย์ก็ได้รับอำนาจในการออกและบังคับใช้กฎอันแสนเคร่งครัดภายในราชอาณาจักรจากราชวงศ์ซะอูด ตัวอย่างสำคัญของอำนาจที่วะฮาบีย์ได้รับ คือการมีกองกำลัง ‘ตำรวจศาสนา’ คอยจับกุมคนที่พวกเขามองว่าละเมิดต่อกฎศาสนาได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการใด[1]

การมีตำรวจศาสนานี้เอง คือสิ่งที่ MBS ทำลายไปพร้อมกับความสัมพันธ์ที่พวกวะฮาบีย์มีต่อรัฐและราชวงศ์ อะไรที่เคยเป็นข้อห้าม กลายเป็นสิ่งที่ ‘ได้รับอนุญาต’ ให้กระทำได้โดยไม่มีความผิด ผู้คนสามารถออกมาร้องเล่นเต้นรำได้ในรอบหลายสิบปี ภาพยนตร์สัญชาติซาอุฯ กำลังจะทยอยปล่อยมาให้ชาวโลกได้รับชม[2] ส่วนผู้หญิงก็สามารถออกมาใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีตำรวจศาสนามาจับหรือถูกกล่าวหาว่าละเมิดศีลธรรมสาธารณะ (public morality) อีกต่อไป และที่ฮือฮาที่สุด MBS อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้

MBS กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นการ “กลับไปยังจุดที่พวกเราเคยเป็นมาก่อน คือเป็นประเทศอิสลามอย่างพอเหมาะพอควร (moderate Islam) ที่เปิดรับทุกๆ ศาสนา และโลกทั้งใบ”[3]

เราอาจเรียกความพยายามปฏิรูปภายใต้แผนพัฒนาประเทศของ MBS นี้ว่า การทำให้เป็นตะวันตก (westernization) และการทำให้ทันสมัย (modernization) มันเป็นความพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์แบบใหม่ให้กับซาอุดีอาระเบีย เป็นการจัดรูปร่างโครงสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งก็คือการปฏิรูปตามความหมายตัวอักษรโดยตรง เพราะรากศัพท์ของ reform คือ re (อีกครั้ง) formare (ก่อรูปร่าง) การปฏิรูปจึงหมายถึงการ ‘กลับไป’ ก่อรูปร่าง/รูปลักษณ์ใหม่อีกครั้ง

แต่มันเป็นการปฏิรูปเพื่อใครกันแน่?

วีรกรรมและเหตุผลเบื้องหลังความคิดก้าวหน้า 

หากพูดถึงวีรกรรมของ MBS หลังจากขึ้นมามีอำนาจ วะฮาบีย์ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ถูกทำลายอำนาจ บรรดาราชวงศ์และนักธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในรัชสมัยของกษัตริย์คนก่อนๆ เช่น สองอดีตมกุฎราชกุมาร ก็ถูก ‘เก็บ’ ไปด้วย

การเก็บในที่นี้คือ การนำตัวไปขังไว้ในคุก (ที่เดิมเป็นโรงแรมหรู) ชื่อ ริตซ์-คาร์ลตัน (Ritz‑Carlton) แต่การเก็บนี้ก็ไม่ได้หมายความเพียงแค่การนำตัวหรือร่างกายไปเก็บเท่านั้น มันยังหมายถึงการเก็บ/ยึดทรัพย์สินเงินทองของบุคคลเหล่านั้นมาด้วย ปฏิบัติการเก็บคู่แข่งทางอำนาจนี้กระทำไปในนามของการต่อต้านการคอร์รัปชัน

การแตกหักกับราชวงศ์ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่า เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียสามารถคืนความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยได้ เพราะตลอด 30 ปีที่ผ่านมา รอยร้าวระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย มีผลทางความรู้สึกต่อคนรุ่นใหม่ในซาอุดีอาระเบียน้อยมาก และต้องไม่ลืมว่า ช่วงที่เกิดปัญหานั้น MBS ยังอยู่ในวัยที่เด็กมากๆ จึงย่อมไม่มีความรู้สึกรุนแรงฝังแน่นเท่ากลุ่มอำนาจเก่า[4] ส่วนอีกปัจจัยหนึ่ง คือความต้องการนำเข้าแรงงานไทยจำนวนมากเพื่อสนับสนุนโครงการ Vision 2030 ของ MBS[5]

ไม่ว่าการนำคู่แข่งทางอำนาจไปคุมขังดังกล่าวจะมาจากเหตุผลเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันจริงๆ หรือเป็นเพียงการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง ทว่าการจับกุมคุมขังในหลายกรณีภายใต้การปกครองของ MBS ก็มีเรื่องน่าสงสัย เพราะบุคคลที่ถูกนำไปคุมขังไม่ได้มีเฉพาะนักการเมืองหรือนักธุรกิจเท่านั้น กระทั่งนักกิจกรรม โดยเฉพาะนักกิจกรรมหญิง ก็ถูกจับขัง (และซ้อมทรมาน) ด้วย หนึ่งในนั้นคือ ซามาร์ บาดาวี (Samar Badawi) นักกิจกรรมผู้เรียกร้องให้มีการยกเลิกระบบที่จำกัดสิทธิผู้หญิงอย่างรุนแรง อย่างระบบการคุ้มครองโดยผู้ชาย ที่จะมอบสิทธิให้ผู้ชายในการกักขังลูกสาว หากเธอตัดสินใจแต่งงาน เข้ารับการศึกษา หรือเดินทาง โดยปราศจากความยินยอมจากชายผู้ได้สิทธิคุ้มครอง 

การคุมขังบาดาวีนี้เอง เป็นเหตุให้ซาอุดีอาระเบียเกิดปัญหาทั้งทางการทูตและการค้ากับแคนาดา โดยหลังแคนาดามีท่าทีวิจารณ์การกระทำดังกล่าว ซาอุดีอาระเบียถึงขั้นขายทรัพย์สินทุกอย่างที่กำลังถือครองอยู่ของแคนาดาทิ้ง[6] ไล่นักการทูตแคนาดาออกนอกประเทศ[7] สั่งให้นักเรียนชาวซาอุฯ ทั้งหมดที่กำลังศึกษาอยู่ในแคนาดาให้ย้ายไปศึกษาต่อประเทศอื่น[8] และออกข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ซาอุฯ ว่า แคนาดาเป็นประเทศที่แย่ที่สุดสำหรับผู้หญิง[9]

ทั้งนี้ ยังมีกรณีที่น่าแปลกใจที่สุดคือ การจับขังนักกิจกรรมหญิงอย่าง ลูเจน อัล แฮธลูล (Loujain al-Hathloul) ผู้โด่งดังจากการรณรงค์เรียกร้องให้ผู้หญิงในซาอุดีอาระเบียมีสิทธิขับรถได้ (อนึ่ง บาดาวี และ แฮธลูล ถูกคุมขังตั้งแต่ปี 2018 และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา[10])

การจับนักกิจกรรมหญิงที่เรียกร้องสิทธิในการขับรถ ทั้งๆ ที่การขับรถเป็นสิ่งที่เขาได้อนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธินี้แล้ว (การจับนี้เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าที่เขาจะประกาศให้ผู้หญิงขับรถได้) สะท้อนว่า หัวใจสำคัญของเรื่องไม่ใช่การขับรถ แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิต่างหาก ดังที่มีผู้ประเมินไว้ว่า สาเหตุของการจับกุมนักกิจกรรมหญิงเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่การเรียกร้องการขับรถ แต่เป็นเพราะการเรียกร้องที่จะมี ‘สิทธิ’ นี้ อาจเป็นการเปิดประตูไปสู่ ‘สิทธิอื่นๆ’ ต่างหาก[11] ทั้งนี้ เหตุผลที่ทางการซาอุดีอาระเบียชี้แจงต่อกรณีการจับกุมนักกิจกรรมเหล่านี้ คือการตั้งข้อสงสัยว่ามีความเกี่ยวโยงกับองค์กรต่างประเทศและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากศัตรูนอกราชอาณาจักร[12]

อีกด้านหนึ่ง เดเร็ค เดวิสัน (Derek Davison)[13] ผู้เชี่ยวชาญนโยบายระหว่างประเทศระหว่างอเมริกากับตะวันออกกลาง เห็นว่า การยกเลิกข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขับรถยังสามารถอธิบายเหตุผลเบื้องหลังในเชิงการเมืองได้ด้วยว่า เป็นเพียงการ ‘ตบตา’ พวกเสรีนิยมตะวันตก (bamboozle western liberals) ให้มองข้ามปัญหาการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมในซาอุดีอาระเบีย สิ่งที่ ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) นักการเมืองหญิงเสรีนิยมชื่อดัง ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว[14] เป็นตัวอย่างที่เดวิสันใช้สนับสนุนการวิเคราะห์ข้างต้น

การจับคนไปขังไม่ได้จำกัดเพียงแค่กลุ่มการเมืองหรือนักกิจกรรมเท่านั้น มันยังบานปลายไปถึงบุคคลที่ดูมีความนิยมเกินหน้าเกินตา MBS อย่าง ซัลมาน อัล โอดะห์ (Salman al-Odah) นักเทศน์ที่มีผู้ติดตามบนทวิตเตอร์กว่า 14 ล้านคน

ว่าถึงแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ ซาอุดีอาระเบียนับเป็นประเทศที่ผู้คนนิยมใช้ทวิตเตอร์กันอย่างมาก ประชากรซาอุฯ ใช้ทวิตเตอร์กว่าร้อยละ 38 และคิดเป็นอย่างน้อยจำนวน 10 ล้านบัญชี[15] สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่หรือคนที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี เป็นคนส่วนมากของประชากร คิดเป็นอย่างน้อยร้อยละ 58.5 จากประชากรทั้งหมด[16]

การที่ประชากรส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในทวิตเตอร์ ทำให้ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations) หรือเรียกกันตามภาษาปากว่า ‘ปฏิบัติการ IO’ เป็นกิจกรรมที่มีความเคลื่อนไหวอย่างแข็งขัน หน้าที่หลักๆ ของ IO ในซาอุดีอาระเบียก็ไม่ต่างอะไรกับ IO ในประเทศอื่นๆ นัก คือมีหน้าที่หลัก 2 ประการ 1) โจมตีหรือ ‘แขวน’ ผู้เห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ 2) โฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความนิยมในตัวผู้นำ ซึ่งผู้นำในที่นี้ก็เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก MBS โดย ซะอูด อัล กาห์ทานี (Saud al-Qahtani) ที่ปรึกษาคนสนิทของ MBS เป็นหัวหน้าซึ่งกุมบังเหียนกองทัพไซเบอร์ของซาอุดีอาระเบีย (อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน อัล กาห์ทานี หายไปจากหน้าสาธารณะได้สักพักหนึ่งแล้ว) 

Saud al-Qahtani

ปฏิบัติการ IO ดังกล่าว ไม่ใช่ข้อกล่าวหาลมๆ แล้งๆ โดยในปี 2019 ทวิตเตอร์เปิดเผยว่า มีบัญชีผู้ใช้กว่า 5,929 บัญชี ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย (คำเตือนลักษณะเดียวกับที่นักกิจกรรมในไทยเคยได้รับการแจ้งเตือน) และยังมีบัญชีผู้ใช้ที่เชื่อมโยงกับบัญชีดังกล่าวอีกอย่างน้อย 88,000 บัญชี[17]

ปฏิบัติการ IO นี้ ดำเนินไปพร้อมกับกระบวนการสอดส่องประชาชนภายในราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบียถึงกับซื้อซอฟต์แวร์จากองค์กรแฮคเกอร์สัญชาติอิตาเลียนเพื่อนำมาใช้สังเกตการณ์กิจกรรมบนโลกไซเบอร์ของประชาชน กระทั่งสปายแวร์ (spyware) ที่ขึ้นชื่อเรื่องความยากลำบากในการตรวจจับอย่าง Pegasus ซาอุดีอาระเบียก็เป็นประเทศแรกๆ ที่ซื้อมาใช้สอดส่องประชาชน

การเฝ้าระวังและโจมตีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์และ MBS คือเป้าหมายหลักๆ ของปฏิบัติการเหล่านี้ และโดยธรรมชาติคนที่ถูกเฝ้าระวังและโจมตีเป็นพิเศษย่อมเป็นคนที่สามารถส่งเสียงได้ดังและไกลกว่าคนธรรมดา บุคคลที่มีศักยภาพเช่นนี้มีอยู่ไม่กี่สถานะ หนึ่งในสถานะนั้นคือ พวกที่ทำงาน ‘สื่อสารมวลชน’

จามาล คาช็อกจี (Jamal Khashoggi) เป็นนักข่าวชาวซาอุฯ ที่ครั้งหนึ่งมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์ ทั้งยังสนับสนุนแผนปฏิรูปของ MBS ในตอนแรก แต่เขากลับปรากฏอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ห้ามพูด ทวีต หรือเขียน เผยแพร่ความคิดเห็นต่อสาธารณะ ต่อมาบุคคลที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับ MBS เริ่มทยอยถูกจับไปขัง ทำให้คาช็อกจีตัดสินใจระหกระเหินออกจากประเทศ จนจับพลัดจับผลูไปเป็นคอลัมนิสต์ให้กับ The Washington Post สำนักข่าวสัญชาติอเมริกัน

Jamal Khashoggi

บทความชิ้นหนึ่งของคาช็อกจี[18] วิจารณ์ MBS อย่างชัดเจน เขาบอกว่า MBS กำลังทำตัวเป็น วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีประเทศรัสเซียที่หลายคนเห็นว่าเป็นพวกคลั่งอำนาจ และมักใช้อำนาจเถื่อนไล่กำจัดบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์ตน ในบทความชิ้นนั้นคาช็อกจีปิดท้ายด้วยการเรียกร้องให้สื่อมวลชนซาอุฯ กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เขาเรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบียเลิกเป็น ‘ราชอาณาจักรแห่งความเงียบสงัด’ (The Kingdom of Silence)

การเรียกร้องให้ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็น คือเหตุผลที่เขาถูกลอบฆ่า

หลังคาช็อกจีเขียนวิจารณ์การปกครองในบ้านเกิดและสถานการณ์ในโลกอาหรับเรื่อยมา จนวันที่ 2 ตุลาคม 2018 คาช็อกจีและคู่หมั้นเดินทางไปสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพื่อขอเอกสารสำหรับแต่งงาน เขาให้คู่หมั้นยืนรออยู่ด้านนอก จากนั้นจึงเดินเข้าไปในสถานกงสุล … และไม่มีโอกาสได้เดินกลับออกมาอีกเลย

ต่อมา ทางการตุรกีแสดงหลักฐานว่าคาช็อกจีถูกฆาตกรรม[19] CIA ประกาศว่า MBS เป็นผู้ออกคำสั่งฆ่าอยู่เบื้องหลัง[20] ทางการซาอุดีอาระเบียปฏิเสธข้อกล่าวหาในตอนแรก ซ้ำยังแสดงหลักฐานว่า มีชายรูปร่างคล้ายคาช็อกจีสวมชุดแต่งกาย แว่นตา และทุกๆ อย่างแบบเดียวกับคาช็อกจี (ยกเว้นรองเท้า) เพื่อบอกว่า เขาเดินออกไปจากสถานกงสุลอย่างมีชีวิต ก่อนที่สื่อต่างพากันทำในสิ่งที่คาช็อกจีเคยเรียกร้องต่อสื่อมวลชนในบ้านเกิดตัวเอง คือการค้นหาความจริง

จริงอยู่ ข้อมูลเกี่ยวกับการฆาตกรรมอาจไม่ได้เกิดจากสื่อโดยตรง แต่สื่อก็ไม่หยุดรายงาน สอบถาม และค้นหาข้อมูลความจริงนั้น[21] จนในที่สุดก็พบว่า ก่อนหน้าวันที่คาช็อกจีจะหายตัวไปในสถานกงสุล ซาอุดีอาระเบียมีการส่งตรงทีมสังหารจากกรุงริยาด จำนวน 15 คน เพื่อเตรียมการอยู่ก่อนหน้าแล้ว สิ่งที่ทำให้ข้อสรุปเกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ชัดเจนขึ้น คือการปรากฏตัวของ มาเฮอร์ มูเตร็บ (Maher Mutreb) ผู้เป็นองครักษ์ใกล้ชิดกับ MBS และเป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการลอบฆ่าครั้งนี้[22] [23]

การสืบค้นอย่างเข้มข้นต่อกรณีการเสียชีวิตของคาช็อกจี ทำให้โลกรู้ข้อเท็จจริงอย่างน้อย 2 ข้อ

ข้อแรก ชายที่เดินออกมาไม่ใช่คาช็อกจี แต่เป็น มุสตาฟา อัล มาดานี (Mustafa al-Madani) วิศวกรซาอุฯ ผู้ทำหน้าที่สวมเสื้อผ้าเพื่อปลอมตัวเป็นคาช็อกจี ชายที่เขาเพิ่งร่วมมือฆ่า เพราะมีสรีระคล้ายกัน

ข้อสอง คาช็อกจีถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เขาถูกทำให้ขาดอากาศหายใจจากการคลุมศีรษะด้วยถุง จากนั้น ซาลาห์ มูฮัมเหม็ด ทูไบจี (Salah Mohammed Tubaigy) เจ้าหน้าที่นิติเวชระดับสูงและมือผ่าศพของซาอุดีอาระเบีย จะเป็นผู้แยกร่างของคาช็อกจีออกเป็นชิ้นๆ ความอำมหิตยิ่งรุนแรงมากขึ้นไปอีก เมื่อพบหลักฐานว่า ขณะกำลังตัดชิ้นเนื้อนี้ ทูไบจีเปิดเพลงฟังคลอไปด้วย[24]

ด้าน MBS ให้การปฏิเสธว่า เขาไม่ได้เป็นคนสั่งฆ่าคาช็อกจี ถึงอย่างนั้นเขาก็ยอมรับความรับผิดชอบทั้งหมด เนื่องจากมันเกิดขึ้นภายใต้การปกครองของเขา[25]

Vision 2030 แผนพัฒนาสุดก้าวหน้า หรือแค่ฝันที่ยังห่างไกลความจริง

ข่าวฉาวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การกำจัดและสังหารคนเห็นต่าง ประกอบกับการทำสงครามจนทำให้พลเรือนตายไปมหาศาลในเยเมน[26] และที่สำคัญที่สุด ข่าวการลอบสังหาร จามาล คาช็อกจี ทำให้เงินทุนต่างประเทศจำนวนมหาศาลไหลออกจากซาอุดีอาระเบีย

เมื่อปราศจากเงินลงทุนจากต่างประเทศ ความฝันตามแผนพัฒนา Vision 2030 ก็ดูจะห่างไกลความจริง โดยปี 2021 The Guardian[27] รายงานว่า งบประมาณกว่าร้อยละ 75 ของรัฐบาลยังคงมาจากการส่งออกน้ำมัน ชัดเจนว่า เป้าหมายที่จะลดการพึ่งพิงน้ำมันเป็นรายได้หลัก และกระจายระบบเศรษฐกิจให้มีรายได้จากหลายทาง ยังคงห่างไกลความจริงนัก

แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะพยายามปรับภาพลักษณ์ใหม่ และ MBS พยายามเปลี่ยนท่าทีทางการทูต[28] เพื่อดึงดูดเงินทุนต่างชาติ แต่ด้านมืดในพฤติกรรมของ MBS[29] ยังคงตามหลอกหลอนให้ไม่มีเงินลงทุนมาปฏิรูปเศรษฐกิจตามที่หวัง ส่วนด้านการปกครอง ดัชนีประชาธิปไตยปี 2020 (Democracy Index 2020) จัดทำโดย The Economist Intelligence Unit รายงานว่า แม้คะแนนความเป็นประชาธิปไตยของซาอุดีอาระเบียจะเพิ่มสูงขึ้น (จาก 1.93 คะแนน เป็น 2.08 คะแนน เต็ม 10 คะแนน) แต่ก็ยังถูกจัดให้มีสถานะเป็นระบอบอำนาจนิยม (autoritarian) และให้ความเห็นต่อว่า “ราชอาณาจักรยังคงเป็นรัฐที่ใช้อำนาจกดขี่อย่างฝังลึก ทั้งยังปฏิเสธเสรีภาพและสิทธิทางการเมืองเกือบสิ้นเชิง ตลอดยังมีระบบที่กีดกันผู้หญิงและศาสนิกชนกลุ่มน้อยอีกด้วย”[30]

กระทั่งล่าสุดที่ซาอุดีอาระเบียทำการซื้อสโมสรฟุตบอลชื่อดังในอังกฤษอย่าง นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด (การซื้อสโมสรฟุตบอลเป็นกิจกรรมยอดฮิตของรัฐอำนาจนิยม) ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการทำไปเพื่อใช้เป็น soft power สร้างการยอมรับจากสังคม โดยเฉพาะสังคมบ้าฟุตบอลอย่างอังกฤษ[31] ส่วนองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ฯ มีคำพูดรุนแรงและชัดเจนกว่านั้น โดยระบุว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้อาจทำไปเพื่อปกปิดความผิดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น 1) ความไร้ศีลธรรมอย่างฝังราก 2) การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ 3) บทบาทของมกุฎราชกุมาร (ก็คือ MBS) ที่มีต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน[32]

คำศัพท์หนึ่งที่ใช้เรียกสถานการณ์แบบนี้ คือ Sportswashing

สุดท้าย แม้ MBS จะยังได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวในประเทศอยู่ แต่ความนิยมนี้ก็มีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคตได้ หาก MBS ไม่สามารถสร้างงานมารองรับคนหนุ่มสาวเหล่านี้ที่เป็นประชากรส่วนมากในประเทศ นี่ยังไม่นับว่ากลุ่มอำนาจเก่าอย่างพวกนักธุรกิจและสมาชิกราชวงศ์ที่ถูก MBS จับไปขัง หรือฝ่ายศาสนาที่ถูกเขาบั่นทอนอำนาจทิ้ง ย่อมมีท่าทีไม่พอใจอย่างรุนแรง บางคนถึงขนาดพูดเชิงขู่ให้ MBS ระลึกถึงกรณี King Faisal อดีตกษัตริย์ผู้ถูกลอบสังหาร[33] ในธรรมเนียมที่ MBS ประกาศยกเลิกไปอย่าง Majlis[34] ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ผู้ชายโตเต็มวัยมีสิทธิร้องทุกข์ไปยังกษัตริย์โดยตรงได้

King Faisal

บางที MBS อาจรู้ตัวว่า หากปล่อยให้มีธรรมเนียม Majlis ต่อไป เหตุการณ์ทำนองเดียวกับ King Faisal อาจเกิดกับตัวเขา และ King Salman กษัตริย์ผู้เป็นพ่อของเขาได้ ทั้งนี้ เบอร์นาร์ด เฮย์เคล (Bernard Haykel) ผู้เชี่ยวชาญการเมืองซาอุฯ แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เห็นว่า ตราบใดที่ King Salman ยังมีชีวิตอยู่ MBS ก็ยังมีที่คุ้มกะลาหัว[35]

อันที่จริง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ MBS นำพาซาอุดีอาระเบียมาอยู่ในจุดนี้ได้[36] อาจเกิดจากการที่รอบตัวเขามีแต่มนุษย์ประเภท “ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน” หรือก็คือมีแต่พวก ‘yes-men’ และไม่มีใครกล้าที่จะแสดงความเห็นอย่างสมเหตุสมผลตรงไปตรงมา 

นั่นจึงชวนให้นึกย้อนไปถึงชายร่างท้วมผู้แสดงความปรารถนาดีต่อประเทศชาติด้วยการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา แต่โชคร้ายที่เขาถูกสั่งฆ่าไปแล้ว เขาคนนั้นคือ จามาล คาช็อกจี 

ครั้งหนึ่งสถานีโทรทัศน์ Al Jazeera (สำนักข่าวที่ซาอุดีอาระเบียสั่งระงับการเผยแพร่ในประเทศ) เคยชวนคาช็อกจีมาดีเบทในรายการ UpFront หัวข้อ ‘MBS แห่งซาอุดีอาระเบีย เป็นนักปฏิรูปจริงหรือ?’ (Is Saudi Arabia’s MBS really a reformer?)[37] เขาออกตัวอย่างชัดเจนว่า เขาสนับสนุนการปฏิรูปของ MBS ส่วนสิ่งที่เขาเรียกร้องนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยด้วยซ้ำ (การเรียกร้องประชาธิปไตยในซาอุดีอาระเบียมีความหมายเท่ากับการล้มล้างการปกครอง) สิ่งที่เขาเรียกร้องเป็นเพียงการขอให้คนสามารถพูดแสดงความคิดเห็นได้เท่านั้น

“ผมไม่ได้เรียกร้องที่จะมีประชาธิปไตย ผมเรียกร้องให้ผู้คนได้รับการอนุญาตที่จะพูดต่างหาก ผมเรียกร้องสิ่งที่เป็นขั้นต่ำที่สุด”

ข้อความและน้ำเสียงในทำนองเดียวกันนี้ ปรากฏบนบทความสุดท้ายที่เขาส่งให้บรรณาธิการ Wasington Post ก่อนตาย บทความนั้นมีชื่อว่า ‘สิ่งที่โลกอาหรับต้องการมากที่สุดคือ การแสดงออกได้อย่างเสรี’[38]

เชิงอรรถ

[1] How this young prince seized power in Saudi Arabia

[2] After banning cinema for decades, Saudi Arabia is making movies | The Economist และ MBC Studios teams up with US counterparts for ‘Desert Warrior’ | Arab News

[3] Saudi crown prince promises ‘return to moderate Islam’ | Mohammed bin Salman News | Al Jazeera

[4] เป็นการวิเคราะห์ของ ดร.รุสตั้ม หวันสู ใน เสวนาวิชาการออนไลน์ ฟื้นความสัมพันธ์ ซาอุฯ-ไทย: นัยยะทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ที่ร่วมสนทนากับ ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์ https://www.facebook.com/ARMUKEM/videos/1442417286154918/

[5] https://www.aljazeera.com/news/2022/1/26/saudi-restores-full-ties-with-thailand-after-gem-theft-dispute?fbclid=IwAR2ofIp9VHcTCS0Ny_olSO2x2Inuvu8m7N_HP_sOvPMdetX3fT3xKMOZwEI

[6] Saudi Arabia sells off Canadian assets as dispute escalates: FT | Reuters

[7] Saudi Arabia expels Canadian ambassador over criticism of arrests | Human Rights News | Al Jazeera

[8] Saudi Arabia orders all of its foreign university students to leave Canada | Venture

[9] Here’s the fake news Saudi Arabia is playing about Canada – National | Globalnews.ca

[10] Saudi activist Loujain al-Hathloul released from prison และ Saudi Arabia releases two prominent women’s rights activists | Human Rights News | Al Jazeera

[11] ข้างต้นเป็นการวิเคราะห์ของ Madawi al-Rasheed อาจารย์สาขามานุษยวิทยาสังคม ผู้เขียนหนังสือ Salman’s Legacy: The Dilemmas of a New Era in Saudi Arabia และเป็นผู้สืบสายเลือดราชวงศ์ Rasheed https://youtu.be/5IBa88VkM6g?t=4458

[12] Saudi Arabia ‘arrests two women’s rights activists’

[13] Monarchists and Automobiles

[14] https://twitter.com/HillaryClinton/status/913068407133736961

[15] How Twitter Usage in the Middle East is evolving | by Damian Radcliffe

[16] อ้างอิงคำพูดของ ดร.รุสตั้ม หวันสู ใน เสวนาวิชาการออนไลน์ “ฟื้นความสัมพันธ์ ซาอุฯ-ไทย: นัยยะทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ” นาที 29.55 https://www.facebook.com/ARMUKEM/videos/1442417286154918/ หรือหากยึดตามข้อมูลของ CIA World Factbook ซาอุดีอาระเบียมีประชากรที่อายุต่ำกว่า 20 ปี อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนประชากรวัย 20-35 ก็มีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอัตราประชากรเช่นนี้ ทำให้ปัญหาของซาอุดีอาระเบียคือความจำเป็นต้องสร้างงานเพื่อรองรับประชากรเหล่านี้ให้ได้ ในแง่นี้ จึงไม่แปลกที่ Vision 2030 จะได้รับการผลักดันอย่างเข้มข้นจริงจัง

[17] New disclosures to our archive of state-backed information operations และ Twitter suspends accounts linked to Saudi spying case | Reuters

[18] Opinion: Saudi Arabia’s crown prince is acting like Putin

[19] Turkish prosecutors ‘find evidence of Jamal Khashoggi killing’

[20] The CIA blames MBS for the murder of Jamal Khashoggi | The Economist 

[21] https://youtu.be/4DVah3bZlV8?t=1320

[22] https://www.youtube.com/watch?v=uJ44spUo8Uk

[23] https://www.youtube.com/watch?v=xaeYMysnuvY

[24] Jamal Khashoggi Dismembered Alive, Saudi Killer Listened To Music During Murder, ‘Middle East Eye’ Reports – Inquisitr

[25] https://www.youtube.com/watch?v=jNIysBbhSYA

[26] The Economist ประเมินว่า สงครามเยเมนเป็นสงครามที่ซาอุดีอาระเบียไม่สามารถหาทางถอนตัวออกมาได้โดยง่าย Saudi Arabia is struggling to end its war in Yemen | The Economist และ Saudi Arabia cannot find a way out of Yemen | The Economist

[27] ‘Apocalypse soon’: reluctant Middle East forced to open eyes to climate crisis | Climate crisis | The Guardian 

[28] Muhammad bin Salman of Saudi Arabia plays the diplomat | The Economist

[29] Mohammed bin Salman: The dark side of Saudi Arabia’s crown prince หรือชมเป็นวิดีโอ The dark side of Saudi Arabia’s crown prince

[30] Economist Intelligence Unit. “Democracy Index 2020: In sickness and in health?”. P. 42. ส่วนปี 2021 ซาอุดีอาระเบียยังคงได้คะแนนเท่าเดิม ทาง EIU รายงานว่า “All six Gulf states—Saudi Arabia, the UAE, Oman, Qatar, Kuwait and Bahrain—have absolute monarchies and are classed by EIU as “authoritarian”. They have some of the lowest scores in the world for electoral process and pluralism and civil liberties.” ดู Economist Intelligence Unit. “Democracy Index 2021: The China challenge”. P. 54

[31] Why do authoritarian regimes like to buy English football clubs? | The Economist

[32] Saudi Arabia-led consortium completes Newcastle United takeover | Football News | Al Jazeera

[33] Many Saudis are seething at Muhammad bin Salman’s reforms | The Economist

[34] Majlis – Wikipedia

[35] How MBS Becomes Saudi King When Father Salman Dies, Royal Transition

[36] The reinvention of the Saudi economy is going slower than planned | The Economist

[37] Is Saudi Arabia’s MBS really a reformer? | UpFront

[38] Opinion | Jamal Khashoggi: What the Arab world needs most is free expression – The Washington Post 

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า