ตรวจเลือด-วัดรอบเอว-ชั่งน้ำหนัก: คนไทยตายสูงสุดด้วยโรคไม่ติดต่อ

ด้วยระดับความร้ายแรงของกลุ่ม โรคไม่ติดต่อ (Noncommunicable diseases: NCDs) โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคเบาหวาน กินสัดส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเกินครึ่งของประชากรทั้งโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ในปี 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนด 9 เป้าหมายการดำเนินงานเพื่อป้องกันควบคุมสถานการณ์โรคไม่ติดต่อ และกำหนดให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในปี 2568

 

ก่อนจะไปถึงเวลานั้นการสํารวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5’ เมื่อปี 2557 ของ ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยข้อมูลสำคัญจากการลงสำรวจสุขภาพในพื้นที่ ละเอียดขนาดตรวจเลือด วัดรอบเอว ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และถามด้วยคำถามง่ายๆ ว่า ออกกำลังกายบ่อยแค่ไหน

“เรากำลังเตรียมตัวลงภาคสนามเพื่อทำสำรวจอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ ข้อมูลจะได้อัพเดทมากขึ้น” ศ.นพ.วิชัย เผย “แต่ยอดรวมคงยังไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง และบรรยากาศการสร้างความรับรู้ที่ยังไม่มากพออยู่ดี”

 

สถานการณ์กลุ่มโรคไม่ติดต่อล่าสุดเป็นอย่างไรบ้าง

สาเหตุการตายจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อยังอยู่ที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ตัวที่นำมาเลยก็มีโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจ ซึ่งสัดส่วนการเสียชีวิตในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะน้อยกว่าประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตเมื่อ 20-30 ปีก่อน

สมัยก่อนส่วนใหญ่ตายกันจากโรคติดต่อเรื้อรัง นิวมอเนีย ปอดบวม ติดเชื้อ แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงด้านความเป็นอยู่ มีคนอ้วนมากก็เลยตายด้วยโรคไม่ติดต่อมากขึ้น ส่วนที่กลุ่มประเทศพัฒนาซึ่งมีกำลังทรัพย์มากก็มีอัตราการตายน้อยกว่าด้วยวิธีการรักษาและป้องกัน

เพราะปัจจัยโรคเปลี่ยนแปลงไปด้วย?

สาเหตุก็ยังคงเป็นไปตามงานวิจัยที่เคยศึกษาและพูดกันมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งเรื่องการกินอาหารและการออกกำลังกาย ปัจจัยโดยรวมก็มีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น อายุ พันธุกรรม และปัจจัยที่ป้องกันได้ คือ วิถีชีวิต การกินอาหาร ออกกำลังกาย โดยที่โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองยังมาเป็นอันดับหนึ่งจากปัจจัยของการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่

นอกจากนี้คุณภาพและราคาของอาหารที่กินก็มีส่วน อย่างที่เราเห็นกันคืออาหารที่ไม่ดีราคาถูก อาหารดีราคาแพง บางคนที่มีรายได้น้อยก็ไม่ค่อยเลือกซื้ออาหารจากคุณภาพแต่จะเลือกจากราคาถูกมากกว่า

มีสาเหตุอื่นอีกหรือเปล่าที่ทำให้สถิติการอุบัติโรคดูแล้วไม่มีทีท่าจะลดลงเลย

ภาวะอ้วนที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อหลักๆ ก็เกิดจากสาเหตุง่ายๆ คือการรับพลังงานเข้าไปและการใช้พลังงานไม่สมดุล เป็นเรื่องของชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงจากอดีต ตอนนี้แม้แต่ชาวนาชาวไร่ยังใช้แรงงานน้อยลงเพราะมีเครื่องทุ่นแรงมากขึ้น

จากการสำรวจหลายๆ ครั้งจะเห็นว่า เกิดภาวะอ้วนในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงเป็นแม่บ้านส่วนผู้ชายใช้แรงงานมากกว่า แต่ช่วงหลังๆ ผมวิเคราะห์แล้วพบว่าอัตราความอ้วนในผู้ชายเริ่มไล่ทันผู้หญิงแล้ว เพราะหลายความเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิด วิถีชีวิต และระดับการศึกษาของคนในปัจจุบันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้หญิงเกิดความกังวลในสุขภาพ ขณะที่ผู้ชายยังไม่ยอมหยุด ต่างจากรูปแบบทั่วไปของประเทศกำลังพัฒนาที่ผู้หญิงจะอ้วนกว่าผู้ชาย ตอนนี้ประเทศไทยจึงกำลังขยับไปเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (High middle income country) แนวโน้มก็เลยเริ่มไปทางประเทศรายได้สูงที่ผู้ชายจะอ้วนกว่าผู้หญิง

5 อันดับสาเหตุการตายของคนไทย ชาย-หญิง
ชาย
โรคหลอดเลือดสมอง 11.1%
โรคหัวใจขาดเลือด 7.8%
อุบัติเหตุทางถนน 7.4%
โรคมะเร็งตับ 6.5%
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 6.0%
หญิง
โรคหลอดเลือดสมอง 14.6%
โรคเบาหวาน 8.8%
โรคหัวใจขาดเลือด 8.8%
โรคไตอักเสบและไตพิการ 4.0%
โรคมะเร็งตับ 3.7%
ที่มา: การสำรวจสุขภาพประชากรไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557

 

ถ้าตอนนี้ไทยอยู่ในช่วง High middle income แล้วแนวโน้มกราฟของโรคกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามันถึงจุดสูงสุดหรือยัง อาจจะขึ้นไปอีกระยะหนึ่งแล้วค่อยคงที่ก็ได้ อย่างที่ญี่ปุ่น เมื่อไปสุดแล้วก็คงที่ ส่วนของสิงคโปร์ก็คงที่แล้ว ของไทยเราเองเริ่มรับรู้มากขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น ตัวเลขก็คงจะคงที่ได้ในอนาคต

 มีเครื่องมือการตรวจสอบโรคไม่ติดต่อด้วยตัวเองหรือไม่

มีหลายเครื่องมือ เป็นแบบประเมินความเสี่ยงซึ่งเป็นการดูภาพรวม โดยจะประเมินเพื่อนำไปดูผลอีกที เช่น ประเมินภาวะอ้วน น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง แต่สิ่งสำคัญคือเราจะป้องกันปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ได้อย่างไร

จากตัวเลขผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อรวมทั้งประเทศ ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างในแง่ของภาพรวมของประเทศ

ผมคิดว่าบ้านเรายังขาดการศึกษาเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติม ข้อมูลไม่อัพเดท คนทำวิจัยเรื่องนี้มีน้อย ทำให้เราอยู่แต่กับตัวเลขเก่าและคิดว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลง ทำให้การสร้างความตื่นตัวเพื่อนำไปสู่การป้องกันจึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ผมไม่ได้หมายถึงแค่การสำรวจเท่านั้น แต่ยังพูดถึงงานวิจัยที่เป็นเชิงหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงด้วย รัฐบาลน่าจะสนับสนุนให้มีงานวิจัยเหล่านี้ตามสถานการณ์ตลอดเวลา ซึ่งบรรยากาศวิชาการที่ออกมาสู่สาธารณะยังน้อยอยู่ แม้จะมีการเผยแพร่เป็นระยะแต่ไม่มากเท่าที่ควรทำให้คนไม่ตระหนัก

จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย มีวิธีการสำรวจและเก็บข้อมูลอย่างไร

เรายังทำเป็นแบบสอบถามอยู่ โดยเราจะสุ่มตัวแทน ขั้นต้นก็เป็นผู้ใหญ่ราว 20,000 คน กระจายทั่วประเทศ ภาคละ 5 จังหวัด ก่อนจะสุ่มอำเภอ หมู่บ้าน จนถึงพื้นที่เฉพาะ เป็นการตรวจเลือด วัดรอบเอว ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง แล้วก็สัมภาษณ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลและตรวจสุขภาพเบื้องต้น

ข้อมูลชุดนี้เราดูความชุกของโรคที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปคำนวณต่อไป ส่วนหนึ่งถูกใช้เพื่อกระตุ้นให้คนที่เกี่ยวข้องเกิดความตื่นตัวขึ้น เราชี้ให้เห็นปัญหา และนำไปสู่การตื่นตัวต่อเรื่องนี้ อย่างกรณีความดันโลหิตสูง ข้อแนะนำทางการแพทย์คือ เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไปควรวัดความดันทุกปี ซึ่งหากไม่เคยสื่อสารเรื่องนี้ออกไปประชาชนก็ไม่รับรู้ จนอายุ 30 ปีก็ยังไม่เคยวัดความดัน เมื่อเกิดการตื่นตัวขึ้นในหมู่ประชาชน ผู้ให้บริการก็ตามมา ผลการสำรวจเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างโปรแกรมขึ้นมาเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

งานชิ้นนี้ช่วยบ่งชี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและยังเป็นการเฝ้าระวังโรคด้วย ในกลุ่มโรคติดต่อจะมีระบบการรายงานอาการที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ไม่มีสำหรับกลุ่มโรคไม่ติดต่อ เป็นเหตุผลที่ทำให้มันเรื้อรังเพราะคนเป็นไม่รู้ว่าเป็นและไม่รู้ว่าเป็นเมื่อไหร่ เว้นแต่จะทำการสำรวจเท่านั้น

 จาก 9 เป้าหมายระดับโลกในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ดูจากแนวโน้มแล้ว เป้าหมายใดที่เป็นไปได้มากที่สุด

ง่ายที่สุดคงเป็นเรื่องบุหรี่ แต่เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับแบบสำรวจของผมที่สุดคงเป็นกรณีกิจกรรมทางร่างกาย หรือการออกกำลังกาย ปัญหาคือคนส่วนใหญ่มองว่าตัวเองออกกำลังกายมากแล้ว เคลื่อนไหวร่างกายพอแล้ว ซึ่งคำถามหลักๆ ของเราในการสำรวจสุขภาพประชาชนในหัวข้อนี้คือ การทำงานของเขาทุกวันนี้เหนื่อยหรือเปล่า เหนื่อยในระดับใด ทำงานติดต่อกันเป็นเวลากี่นาที ซึ่งผลที่ได้น่าจะเกินความจริงอยู่เหมือนกัน เพราะคนส่วนใหญ่มักตอบแบบเกินความจริง

จริงๆ มันไม่มีอันไหนที่จะได้ตามเป้าเลย ทุกอย่างมันเกินมาแล้ว แต่ผมก็หวังว่าเรื่องอ้วนจะทำได้นะ ส่วนเรื่องการบริโภคเกลือนี่อาจจะยังคงที่ แต่ก็ตอบยากเพราะเรายังมีข้อมูลจากการสำรวจยังไม่พอ

ผมมองว่าปัจจัยเสี่ยงที่น่าห่วงอีกตัวแต่ไม่ได้อยู่ใน 9 เป้าหมายคือเรื่องไขมันที่ดูมีเกณฑ์ว่าลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงของโรคกลุ่มนี้แทบไม่แตกต่างกันในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ประเด็นคือเราไม่ค่อยมีข้อมูลของตัวเองเท่าไหร่จึงยังฟันธงไปเลยไม่ได้ว่าจะทำเป้าหมายใดผ่านได้บ้าง ที่ผ่านมาเรามักพูดถึงเรื่องเบาหวานเสียมาก แต่ไม่ค่อยพูดเรื่องความดันซึ่งจริงๆ ต้องทำทั้งหมดเพราะมันก็มาจากปัจจัยเสี่ยงกลุ่มเดียวกัน

การเผยข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชาชนฯ ว่าส่วนใหญ่มาจากโรคไม่ติดต่อ ส่งผลให้คนหันมาตรวจสุขภาพมากขึ้นใช่ไหม

แน่นอน แต่ก็ต้องนึกถึงคนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ตรวจด้วย เราจึงมักพบคนที่เป็นแล้วไม่รู้ตัว แบบสอบถามของเราจึงถือเป็นข้อดีเพราะเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ได้ ทำให้เราพบคนที่น้ำตาลสูงแต่ยังไม่เป็นเบาหวาน สามารถดึงเขามาปรับพฤติกรรมด้วยกิจกรรมให้ความรู้ เพิ่มทักษะในการปรับเปลี่ยนผ่านคลินิก NCD plus ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้น

อย่างไรก็ตาม คลินิกเหล่านี้ต้องเดินหน้าในเชิงรุกด้วย ไม่ใช่เป็นเชิงรับรอข้อมูลอย่างเดียว เพราะต้องเข้าใจด้วยว่าหลายๆ คนไม่มีแรงจูงใจพอที่จะเข้าไปรับยาสม่ำเสมอ แต่ข่าวดีคือเปอร์เซ็นต์ของคนที่เป็นเบาหวานความดันแล้วเข้ารับการรักษาของบ้านเราถือว่าดีมาก ด้วยระบบการเข้าถึงการรักษา คุณภาพการรักษา และมีประกันสังคม

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีช่องว่างสามจุดที่เราต้องพัฒนาต่อไป คือการวินิจฉัยโรคที่คนบางกลุ่มยังเข้าไม่ถึง การติดตามผลการรักษา และกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับการปรับพฤติกรรม ในส่วนนี้คงต้องอาศัยโปรแกรมการจัดการที่ดี มีบุคลากรที่เพียงพอและมีความรู้ความสามารถ จึงจะสามารถถมช่องว่างทั้งสามนี้ได้

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Photographer

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า