ทุบบ้าน ไล่รื้อ เพื่อชาติ: ชุมชนคลองเงิน เชียงใหม่ เมื่อความจนบดบังทัศนียภาพ

เย็นวันอาทิตย์ที่ฝนพรำไปทั่วเชียงใหม่ เสียงกลองและเสียงเชียร์ฟุตบอลสนุกสนานของคนในสนามหญ้าเทียมดังแข่งกับเสียงฝนที่ลอดผ่านรูรั่วของหลังคาสังกะสีมากระทบกับกะละมังเก่า บริเวณชานบ้านของป้านุชในชุมชนคลองเงิน

ด้านหลังกำแพงของสนามฟุตบอลหญ้าเทียมแห่งนี้คือชุมชนคลองเงิน ชุมชนแออัดในเขตเมืองของเชียงใหม่ หลังการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในไทยเริ่มอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ การไล่รื้อชุมชนคลองเงินระลอก 2 ก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง รถแมคโครสีเหลืองขนาดใหญ่ถูกนำมาจอดเขย่าขวัญชาวบ้านที่ยังไม่มีหนทางโยกย้ายออกไปจากพื้นที่ตามคำสั่งศาลได้

สนามฟุตบอลหญ้าเทียม ชุมชนคลองเงิน

เราตาม พี่เอ็น-นันทชาติ หนูศรีแก้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พี่โต้ง คนไร้บ้านจากบ้านเตื่อมฝัน (ศูนย์คนไร้บ้านเชียงใหม่) และ แม่ปัง แม่เอ๋ แกนนำที่ต่อสู้เรื่องการไล่รื้อชุมชนแออัดในเขตเมืองของเชียงใหม่มากว่าครึ่งชีวิตไปบ้านป้านุชในชุมชนคลองเงิน หลังจากได้รับแจ้งว่าเทศบาลนำรถแมคโครเข้ามาขุดลอกคลองและปรับพื้นที่เมื่อไม่กี่วันก่อน มีการขุดดินลึกเข้าไปบริเวณบ้านที่ถูกรื้อ ส่งผลให้เป็นการเปลี่ยนทางน้ำในชุมชนจนชาวบ้านกลัวว่าบ้านหลังที่เหลืออยู่จะทรุด ป้านุชซึ่งเป็น 1 ในชาวบ้าน 4 หลังสุดท้ายของชุมชนคลองเงินที่รอดจากการไล่รื้อครั้งก่อนหวั่นใจในชะตากรรมของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด

ป้านุช ชาวชุมชนคลองเงินยืนอยู่ใต้รถแบ็คโฮ
ป้านุช
สภาพบ้านป้านุชหลังเพื่อนบ้านข้างๆ ถูกไล่รื้อไปก่อนหน้านี้

คลองเงินเป็นชุมชนที่ชาวบ้านเริ่มเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะบริเวณลำเหมืองเล็กๆ สร้างเป็นที่อยู่อาศัยตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เดิมทีที่ดินแถวนั้นเป็นป่ารกไม่มีใครอยู่อาศัย จนพ่อของป้านุชที่ชอบมานั่งตกปลาเห็นว่าที่ดินตรงนี้ไม่มีการใช้ประโยชน์จากภาครัฐน่าจะมาขอสร้างบ้านอยู่ได้ จึงไปปรึกษาคนรู้จักที่ทำงานอยู่ฝ่ายทะเบียนราษฎร์ขอมาปลูกบ้านอยู่บริเวณคลองเงิน เนื่องจากตอนนั้นครอบครัวป้านุชก็ยังไม่มีบ้านอยู่เป็นหลักแหล่งในเมือง พ่อแม่ต้องพาลูก 10 คนเช่าบ้านอยู่ไปเรื่อยๆ จนต้องไปขออาศัยอยู่กับญาตินานเกือบ 5 ปี ก่อนที่คนรู้จักของพ่อป้านุชจะอนุญาตให้มาสร้างบ้านอยู่ที่บริเวณคลองเงินได้ แม้เป็นการอนุญาตกันเองอย่างไม่เป็นทางการตามประสาคนรู้จัก แต่ก็ได้มีการออกบ้านเลขที่ให้ ครอบครัวของป้านุชจึงได้เป็นกระต๊อบหลังแรกที่มาสร้างอยู่ริมคลองเงินตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ก่อนจะมีคนจนเมืองอีกหลายคนที่ไม่รู้จะแทรกตัวอยู่ส่วนไหนของเมืองที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีที่ทางให้พวกเขามาสร้างบ้านอยู่ตาม 

ชุมชนคลองเงินเริ่มถูกไล่รื้อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 หลังทางจังหวัดมีแผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ. 2561 – 2565) เข้ามาพัฒนาคลองแม่ข่าและจัดระเบียบชุมชนบริเวณที่น้ำในคลองแม่ข่าไหลผ่านทั้งหมด ชุมชนคลองเงินซึ่งเป็นหนึ่งในเขตทางน้ำของคลองแม่ข่าจึงได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนา ‘คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข’ ไปด้วย ตั้งแต่แผนแม่บทฉบับนี้ออกมาชุมชนคลองเงินก็ไม่มีสุขอีกต่อไป ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำเน่าเสีย คนไม่อาจอยู่กับคลองได้ ใน พ.ศ. 2561 พวกเขาจึงถูกไล่รื้อออกไปกว่า 43 หลังคาเรือน

ทางน้ำที่เต็มไปด้วยผักตบชวาบริเวณด้านหลังชุมชนคลองเงินที่เคยถูกไล้รื้อเมื่อ พ.ศ. 2561

ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงที่เชื้อไวรัส COVID-19 กำลังระบาดหนักเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางการรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 เทศบาลได้นำเจ้าหน้าที่มาไล่รื้อชาวบ้านในพื้นที่อีกครั้ง คราวนี้มีชาวบ้านกว่า 10 ครอบครัวที่ถูกให้ออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่ใช้คำสั่งศาลเป็นข้ออ้างในการทุบทำลายบ้านหลังละไม่กี่ตารางเมตรของชาวบ้านในช่วง COVID-19 โดยไม่สนใจโรคระบาดและไม่มีมาตรการใดรองรับ ทำให้ป้าประยูร หนึ่งในคนที่ถูกไล่รื้อต้องโทรไปหาพี่โต้งซึ่งเป็นคนไร้บ้าน เพื่อขอไปอาศัยอยู่บ้านเตื่อมฝันของคนไร้บ้านชั่วคราว

เศษซากของบ้านที่ถูกไล่รื้อไปเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563

ป้าประยูรและครอบครัวย้ายมาอาศัยอยู่ที่บริเวณชุมชนคลองเงินตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2528 โดยสร้างกระต๊อบเล็กๆ อยู่ ป้านุชและป้าประยูรเล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านทั้งหมดที่มาอาศัยพื้นที่สาธารณะอยู่ริมคลองเงินต่างเป็นคนมีรายได้น้อยที่ทำงานหาเช้ากินค่ำอยู่ในเมือง และเมื่อ พ.ศ. 2551 เจ้าของที่ดินด้านข้างชุมชนต้องการขายที่ดินผืนนั้น ทีแรกเจ้าของจะไล่ออกจากพื้นที่พร้อมกับให้เงินชดเชยตามสภาพบ้าน ก่อนจะเปลี่ยนใจมาเสนอว่าจะร่วมกับเทศบาลสร้างบ้านในลักษณะห้องแถวแบบปูน หลังคามุงกระเบื้องให้อยู่แทนกระต๊อบที่ปลูกกันเอง และแบ่งกั้นตามความยาวของขนาดเนื้อที่เดิมที่ชาวบ้านแต่ละครอบครัวเคยอยู่ ให้จำนวน 10 ห้อง ตามจำนวนครอบครัวที่อาศัยอยู่ขณะนั้น คนที่ไม่มีเงินและไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่มีราคาสูงตามความเจริญของเมืองเชียงใหม่ต่างตอบรับข้อเสนอนั้น โดยมีเงื่อนไขว่าเจ้าของที่จะทำการล้อมรั้วทึบปิดด้านหลัง เพื่อเตรียมขายที่ดินทำสนามฟุตบอลหญ้าเทียมต่อไป

รั้วของสนามฟุตบอลหญ้าเทียมที่ติดกับหลังบ้านป้านุช

“พวกเราก็ปรึกษากัน ทีแรกพี่ยูรก็บ่ยอมนะ เฮาก็ว่าพี่ยูรเกิดเขาให้เงินเฮาน้อยเดียวแล้วเฮาจะไปซื้อที่ที่ไหนล่ะ ในเมืองนี่แตะบ่ได้เลยนะ แล้วน้อยเดียวจะไปบ้านนอกก็บ่ได้อยู่ดี ถ้าเปิ้นหื้อแบบนี้ เปิ้นบอกเฮาว่าหิ้วกระเป๋าเข้าไปอยู่ได้เลย เจ้ายังแย้งเลยว่าแล้วเทศบาลจะหื้อก่ะ ในเมื่อเป็นที่สาธารณะ เขาก็บอกว่า ผมคุยกับเขาเรียบร้อย ถ้าผมไม่คุยจะสร้างได้ไง”

เจ้าของที่ดินยังพาชาวบ้านทั้ง 10 หลังไปนั่งคุยกับกองช่างของเทศบาลก่อนสร้างห้องแถว หัวหน้ากองช่างยังบอกว่า “ถ้าพี่บ่เอา พี่ก็ง่าว เปิ้นใจดีจะแปลงบ้านหื้ออยู่” ป้านุชยังจำวันที่เจ้าของที่ดินข้างชุมชนกับเทศบาลคุยกันเอง โดยมีชาวบ้านนั่งมองว่าเมื่อไหร่ตัวเองจะได้เข้าไปอยู่บ้านใหม่ได้ ซึ่งการตกลงกันครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากตอนรุ่นพ่อป้านุชที่ทุกอย่างเป็นการตกลงกันแบบปากเปล่า ไม่มีหลักฐานใดๆ จากนั้นก็อยู่บ้านใหม่กันได้ไม่กี่เดือน หลังสร้างเสร็จได้ 4-5 เดือน ก็มีหมายศาลมาแปะที่หน้าบ้าน ชาวบ้านตกเป็นจำเลยฐานสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต

“ต้นปี 51 มันสร้างให้ ปลายปี 51 มันเอาหมายมาแปะ”

ภายในบ้านป้านุชที่เจ้าของที่และเทศบาลเป็นคนสร้างให้

ครั้งแรกทุกคนต่างกลัวถูกไล่ออกจากพื้นที่รีบพากันไปอุทธรณ์คำสั่งศาลทุกหลัง และหลังจากนั้นก็มีหมายศาลมาแปะที่บ้านเป็นระยะๆ จนกระทั่ง พ.ศ. 2553 ชาวบ้านเข้าไปคุยกับเทศบาลอีกครั้ง เจ้าหน้าที่เทศบาลยังบอกให้ชาวบ้าน “อยู่ไปเถอะ เดี๋ยวจะหลับตาข้างหนึ่ง” ป้าประยูรที่เชื่อคำสัญญานี้จึงไม่ได้ไปอุทธรณ์คำสั่งศาลครั้งล่าสุด จนต้องถูกไล่รื้อไปเมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ทุกวันนี้ป้าประยูรกับสามีต้องหอบเสื้อผ้าไปนอนที่ศูนย์คนไร้บ้านมาเกือบ 2 เดือนแล้ว และกลางวันก็ขี่มอเตอร์ไซค์กลับมาทำงานรับซอยขิงส่งตลาดของตัวเองที่บ้านลูกสาวในชุมชนคลองเงินซึ่งยังไม่ถูกรื้อ เนื่องจากการไล่รื้อซ้ำเติมกันในช่วง COVID-19 ครั้งนั้นถูกคนในโซเชียลยับยั้งไว้ได้ทันก่อนจะมีการรื้อถอนเสร็จครบทุกหลัง

ส่วนป้านุชที่รอดจากการไล่รื้อเมื่อวันที่ 27 เมษายน มาได้ เพราะไม่เชื่อในการหลับตาข้างเดียวของเจ้าหน้าที่เทศบาลและไปอุทธรณ์คำสั่งให้รื้อถอนบ้านตัวเองต่อศาลปกครอง ทำให้มีคดีที่รอการตัดสินคาอยู่ที่ศาลปกครอง เจ้าหน้าที่จึงยังไม่ลงมือรื้อถอนบ้าน แต่รถแมคโครคันใหญ่ที่นำมาจอดกลางชุมชนก็ทำให้ป้านุชและชาวบ้านคนอื่นที่ยังไม่ถูกรื้อหวั่นใจว่าจะมีการไล่รื้อระลอกสอง เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มสงบลง ความเห็นอกเห็นใจคนที่ไม่มีบ้านให้หลบหนีเชื้อไวรัส ไม่อาจใช้เป็นเหตุผลได้อีกต่อไป ป้านุชและชาวบ้านที่เหลือต่างตระหนักดีว่าที่ดินทุกตารางนิ้วในเมืองมีราคา และเป็นราคาที่คนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาทำงานเก็บเงินทั้งชีวิตก็ไม่อาจซื้อได้

ตอนนี้ชะตากรรมของชาวบ้าน 4 หลังสุดท้ายในชุมชนคลองเงินที่รอดจากการไล่รื้อครั้งที่แล้วมาได้ยังแขวนอยู่บนเส้นด้ายบางๆ ที่พร้อมถูกรถแมคโครทุบทำลายบ้านพวกเขาให้กลายเป็นเศษหินเศษปูนได้ตลอดเวลา ถ้าการไล่รื้อครั้งนี้สำเร็จ (ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสำเร็จ) ทัศนียภาพริมคลองเงินที่ปราศจากคนจนคงเป็นที่งามตาของผู้ไล่ แต่จะมีใครมารับผิดชอบชีวิตหลังจากไม่มีบ้านให้ซุกหัวนอนของชาวบ้านเหล่านี้ได้บ้าง ทุกวันนี้ป้าประยูรและสามีก็ยังต้องใช้ศูนย์คนไร้บ้านเป็นที่นอนชั่วคราวโดยไม่รู้จะขยับขยายไปทางไหน

หากวันนั้นหลังจากการรื้อถอนบ้านป้าประยูร เทศบาลจะได้ยินข้อเรียกร้องของแม่ปัง หญิงชราวัย 67 ปี ที่ต่อสู้กับปัญหาการไล่รื้อชุมชนแออัดในเขตเมืองของเชียงใหม่มากว่า 40 ปีสักนิด ปัญหาของชุมชนคลองเงินและปัญหาสิทธิในที่อยู่อาศัยของคนจนในเมือง คงได้รับการพูดคุยหรือแก้ไขมากกว่าไล่รื้อถอนให้หมดไป

“ขอให้นางประยูรเป็นคนสุดท้ายของเชียงใหม่ที่ถูกไล่เหมือนหมูเหมือนหมาแบบนี้”

Author

วรรณา แต้มทอง
อดีตนักเรียนกฎหมายที่เลือกทำความเข้าใจความยุติธรรมผ่านวรรณกรรม จึงล้มลุกคลุกคลานกับเปาบุ้นจิ้นอยู่หลายปีกว่าจะเรียนจบปริญญาโท หวั่นไหวกับหนังสือ วรรณกรรม
สารคดี จนอยากเป็นนักเขียน ชอบฟังเพลงที่แปลไม่ออก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า