โอลิมปิก 2024: ความกำกวมของเพศสภาพและสรีรวิทยา ข้อถกเถียงที่อาจนำไปสู่การกีดกันทางเพศ

หากว่ากันด้วยเรื่องเพศกับการแบ่งประเภทกีฬา แน่นอนว่าทุกวันนี้เราพูดคุยด้วยข้อเท็จจริงเดียวกันว่าการแบ่งประเภทชาย-หญิงในการแข่งขันกีฬา คือการแบ่งด้วยข้อจำกัดทางสรีรวิทยา เพราะต้องใช้ความสามารถของร่างกายในการแข่งขัน เมื่อเงื่อนไขเป็นแบบนี้ การที่นักกีฬาคนหนึ่งมีสถานะเป็น ‘นักกีฬาข้ามเพศ’ และ ‘นักกีฬาที่มีภาวะพัฒนาการทางเพศที่แตกต่าง’ (Disoder of Sex Development: DSD) โดยอาจมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (หรือฮอร์โมนเพศชาย) สูงกว่าปกติ หรืออาจมีผลทดสอบทางการแพทย์ว่ามีโครโมโซมเพศเป็น XY 

ไม่ว่าจะนักกีฬาข้ามเพศหรือนักกีฬาที่มีภาวะ DSD ล้วนตกเป็นศูนย์กลางของข้อถกเถียงในวงการกีฬาเสมอ 
ดังเช่นข่าวล่าสุดที่นักมวยชาวแอลจีเลียอย่าง ไอมาน เคลิฟ (Imane Khelif) ที่เคยถูกปรับแพ้ในการแข่งขันมวยสากลชิงแชมป์โลก 2023 เนื่องจากฮอร์โมนเพศไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งเธอเป็นนักกีฬาที่มีภาวะ DSD เป็นผู้หญิงตั้งแต่กำเนิด ไม่เคยเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ

เคลิฟ กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก หลังจากเอาชนะ อันเจลา การีนี (Angela Carini) นักชกสาวชาวอิตาลี ภายในเวลา 46 วินาที ยิ่งทำให้ประเด็นเรื่องการตรวจเพศสภาพของเธอร้อนระอุยิ่งกว่าเดิม โดยที่ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ยืนยันว่าเธอมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ของโอลิมปิกทุกอย่าง และทาง IOC ได้ยกเลิกการตรวจวัดระดับฮอร์โมนหรือการตรวจดูโครโมโซมเพศไปแล้ว

ไอมาน เคลิฟ (Imane Khelif) | photo: Sky Sports

กรณีของเคลิฟถูกนำไปเชื่อมโยงถึงความได้เปรียบจากสรีระของนักกีฬาข้ามเพศ และถูกพูดซ้ำไปซ้ำมาโดยมีปัจจัยร่วมคือ ‘ฮอร์โมนเพศชาย’ เกินกว่าค่าปกติ และร่างกายหรือสรีระที่ดูกำยำทำให้ได้เปรียบ ไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิง

บทความนี้จึงอยากจะชวนค่อยๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการแยกเพศในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก การขยายโอกาสทางเพศ รวมถึงข้อถกเถียงเรื่องความได้เปรียบของนักกีฬาข้ามเพศและนักกีฬาที่มีภาวะ DSD ซึ่งเกิดจากการตั้งคำถามว่า การโต้แย้งกันด้วยเรื่องฮอร์โมนเพศ จะนำไปสู่ความยุติธรรมในการแข่งขันกีฬาจริงหรือไม่ หรือท้ายที่สุดจะกลับกลายเป็นการกีดกันทางเพศ

แรกเริ่มของการแยกเพศในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

แท้จริงแล้วการแบ่งประเภทการแข่งขันกีฬาสำหรับชาย-หญิง มีจุดเริ่มต้นมาจากความไม่เท่าเทียมและอคติทางเพศ สิ่งที่จะเล่าต่อจากนี้ไม่ใช่เอะอะก็จะตะโกนว่าไม่เท่าเทียมดังๆ แต่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะค่อยๆ มีพลวัตของความก้าวหน้าเรื่อยมา กระทั่งวัตถุประสงค์ของการแยกเพศใช้เหตุผลในการอธิบายต่อสังคมยุคใหม่ว่าเป็นไปเพื่อความเป็นธรรมของการแข่งขันที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งของร่างกาย 

ก่อนโอลิมปิกจะโอ่อ่าอลังการอย่างทุกวันนี้ ก่อนหน้านี้เป็นเพียงการแข่งขันกีฬาที่มีผู้เข้าร่วมเพียง 14 ประเทศเท่านั้น แถมนักกีฬาก็เป็นผู้ชายทั้งหมด เพราะสังคมมองว่าเพศหญิงไม่แข็งแกร่ง ไม่มีทางที่จะเล่นกีฬาได้เก่งได้เท่าเพศชาย ทำให้ผู้หญิงถูกกีดกันจากวงการกีฬา แม้ว่าจะมีผู้หญิงชนชั้นสูงหลายคนเล่นกีฬา แต่ก็ถูกมองว่าสำหรับผู้หญิงจะเล่นกีฬาเพื่อฟิตหุ่นเท่านั้น ไม่ได้เล่นเอาจริงเอาจังเพื่อแข่งขันแบบผู้ชาย

การแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อปี 1896 ม่านหมอกเรื่องเพศถูกกระทุ้งโดย สตามาตา เรวิติ (Stamata Revithi) นักวิ่งมาราธอนหญิง ที่ถูกกีดกันจากการแข่งขันจากกฎที่ห้ามให้ผู้หญิงเข้าร่วมเกม ทั้งที่เธอมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าเธอสามารถทำได้ดีไม่แพ้นักวิ่งผู้ชาย จึงได้ออกวิ่งตามหลังกลุ่มนักวิ่งที่ลงแข่งจริง เพื่อป่าวประกาศศักยภาพของเพศหญิงที่ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน

สตามาตา เรวิติ (Stamata Revithi) | photo: Olympedia

ต่อมาโอลิมปิกปี 1900 ที่จัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส ได้อนุญาตให้เพศหญิงได้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก และบอกกับสังคมโลกว่ากำลังทำให้ความเท่าเทียมทางเพศบังเกิด 

อีกด้านหนึ่งว่ากันว่าโอลิมปิกในปีนั้นถูกใช้เป็นมหกรรมเอนเตอร์เทนมากกว่าการเฟ้นหานักกีฬาที่แข็งแกร่งที่สุดเหมือนที่ผ่านมา เพราะเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลใหญ่ในกรุงปารีส คณะผู้จัดงานจึงต้องการสร้างจุดเด่น ดึงดูดความสนใจ ซึ่งการอนุญาตให้ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ดี โดยที่ในรายละเอียดก็ไม่ได้ถูกให้ความสลักสำคัญอะไรมากนัก โฟกัสหลักยังคงอยู่ที่การแข่งขันของผู้ชาย

สามารถอธิบายด้วยศัพท์สมัยนี้ง่ายๆ สั้นๆ ว่า ‘เม็ดเยอะ’ 

ก่อนที่ภายหลังการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาของผู้หญิงถูกทำให้เป็นปกติเรื่อยมา พอเป็นที่ยอมรับแล้ว บ้างก็ว่าช่องโหว่บางอย่างทำให้เกิดความพยายามนำนักกีฬาชายปลอมตัวเป็นหญิงเพื่อมาแข่งชิงชัย จนทำให้เกิดการพูดคุยว่าจะต้องมีการ ‘พิสูจน์’ เพศก่อนการแข่งขัน และนำไปสู่การใช้ระดับฮอร์โมนเพศเพื่อระบุเพศนักกีฬา

เป้าหมายต่อไปคือความเท่าเทียมที่มากขึ้น

ในสังคมสมัยใหม่เรื่องความเท่าเทียมทางเพศถือเป็น ‘Global Issues’ ในทุกวงการต่างหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ทั้งสิ้น เช่นเดียวกันกับวงการกีฬา เมื่อบทบาทของผู้หญิงเริ่มทัดเทียมกับเพศชาย เป็นที่ยอมรับในการแข่งขันอย่างเป็นสากล จึงเดินหน้าสู่การตอบสนองต่อความหลากหลายทางเพศและการเคารพสิทธิในสิทธิมนุษยชน เกิดการพูดคุยเรื่องนักกีฬาข้ามเพศอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ประวัติศาสตร์เรื่องราวของนักกีฬาข้ามเพศมีมาอย่างยาวนาน แต่สำหรับการแข่งขันมหกรรมกีฬาเลื่องชื่ออย่างโอลิมปิก ได้กำหนดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นกิจจะลักษณะเมื่อปี 2004 โดย IOC อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศเข้าร่วมแข่งขันกีฬาได้ตามเพศสภาพ คือ ทรานส์แมน (transman) สามารถลงแข่งในทีมนักกีฬาชาย และทรานส์วูแมน (transwoman) สามารถลงแข่งในทีมนักกีฬาหญิงได้ แต่ต้องระบุตัวตนเป็นคนข้ามเพศมากกว่า 4 ปี และมีค่าฮอร์โมนเพศตามเกณฑ์ที่ IOC กำหนด

ต่อมาในปี 2015 ได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพิ่มเติม คืออนุญาตให้ทรานส์สามารถลงแข่งขันได้โดยไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศ แต่ยังคงเงื่อนไขเดิมไว้ว่าจะต้องระบุตัวตนว่าเป็นคนข้ามเพศไม่น้อยกว่า 4 ปี และต้องรักษาระดับฮอร์โมนเพศชายให้ไม่เกิน 10 นาโนโมลต่อลิตร
ทำให้ลอเรล ฮับบาร์ด (Laurel Hubbard) นักกีฬาข้ามเพศชาวนิวซีแลนด์ลงแข่งขันในกีฬายกน้ำหนักหญิง จนสร้างเสียงฮือฮาไปทั่วทั้งโลก โดยมีเบื้องหลังเป็นการใช้ยาระงับฮอร์โมนเพื่อลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนไม่ให้เกินตามข้อกำหนดของ IOC

ลอเรล ฮับบาร์ด (Laurel Hubbard) | photo: Sky Sports

อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบข้อนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ควรตั้งต้นด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่า ‘ผู้หญิงข้ามเพศได้เปรียบอย่างมากเมื่อต้องแข่งขันกับผู้มีเพศกำเนิดหญิง’ เพราะดูราวกับเป็นการทึกทักเอาเอง

อีกทั้งการกำหนดระดับฮอร์โมนเพศยังเป็นการกีดกันผู้ที่มีเพศกำกวม (intersex) และเพศกำเนิดหญิงบางคนที่มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูงมาตั้งแต่เกิดอีกด้วย

IOC พาวงการกีฬาก้าวสู่ความก้าวหน้าทางเพศอีกครั้งช่วงสิ้นปี 2022 ด้วยการออกมาประกาศว่าจะแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับนักกีฬาข้ามเพศที่ใช้มาเกือบ 20 ปี ทั้งยังระบุด้วยว่าการปรับปรุงครั้งสำคัญนี้คำนึงถึงการไม่กีดกันคนข้ามเพศ และความเที่ยงธรรมของการแข่งขันกีฬา ซึ่งได้ขอความร่วมมือเพื่อปรับปรุงเกณฑ์เหล่านี้จากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสิทธิมนุษยชน 

เกณฑ์ใหม่ระบุว่าผู้หญิงข้ามเพศและผู้ที่มีเพศกำกวมไม่จำเป็นต้องลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเพื่อแข่งขันในกีฬาประเภทหญิงอีกต่อไป เพราะได้ลบข้อบังคับเรื่องระดับฮอร์โมนเพศสำหรับนักกีฬาข้ามเพศและผู้ที่มีเพศกำกวมออกไปจากระเบียบ และปล่อยให้หน่วยงานหลักที่เป็นผู้จัดกีฬาแต่ละชนิดกำหนดกฎระเบียบของตัวเองตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ในแถลงการณ์กรอบการทำงานใหม่ของ IOC ยังกล่าวไว้ด้วยว่า แม้จะมีการให้อิสระกับแต่ละหน่วยงานกำหนดเกณฑ์ด้วยตัวเอง แต่ยังจะต้องยึดหลักสำคัญ 10 ประการ ได้แก่ 1) การไม่แบ่งแยก 2) การป้องกันอันตราย 3) การไม่เลือกปฏิบัติ 4) ความยุติธรรม 5) การไม่สันนิษฐานถึงความได้เปรียบ 6) อิงตามหลักฐาน 7) ให้ความสำคัญกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย 8) คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 9) สิทธิความเป็นส่วนตัว และ 10) หมั่นทบทวนกฎเกณฑ์เป็นระยะ

เน้นย้ำว่าเป้าหมายของการเสนอหลักสำคัญ 10 ประการ ต่อหน่วยงานกีฬาเป็นไปเพื่อช่วยให้หน่วยงานใช้หลักการสำคัญเหล่านี้พิจารณาร่วมกับบริบทต่างๆ ของกีฬานั้นๆ เพื่อพัฒนาเกณฑ์ที่เหมาะสมกับนักกีฬาของตัวเอง 

ฮอร์โมนเพศทำให้ได้เปรียบจริงหรือ?

“สุดท้ายกีฬามันคือสรีระ”

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

แม้จะมีหลักที่กล่าวไว้ว่าไม่ควรสันนิษฐานไว้ก่อนว่านักกีฬาข้ามเพศจะ ‘ได้เปรียบ’ แต่ข้อกังขาเรื่องของพละกำลังยังเป็นเหตุผลหลักที่ยังถกเถียงกันอยู่ในประเด็นนี้ รวมถึงนักกีฬาที่มีภาวะ DSD เช่นกัน หลากหลายความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า การแข่งขันกีฬาคือการวัดความแข็งแรงของร่างกาย และสรีระแบบเพศหญิงตามบรรทัดฐานทั่วไปเสียเปรียบที่สุดในสมการนี้ 

ข้อมูลจากคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นการใช้ฮอร์โมนเพศในการระบุเพศเพื่อเข้าแข่งขันของนักกีฬาที่เป็นทรานส์ว่าอาจจะยังไม่สมเหตุสมผล โดยระบุเอาไว้ว่า นักกีฬาข้ามเพศหญิงอาจยังมีข้อได้เปรียบจากการเคยใช้ชีวิตเป็นเพศชายมาก่อนในทางสรีรวิทยาอีกหลายส่วน และได้เสนอให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบในการระบุเพศเพื่อเข้าแข่งขันกีฬา

เช่นเดียวกันกับที่องค์กรกรีฑาโลก (World Athletics หรือ WA) ประกาศห้ามนักกีฬาหญิงข้ามเพศไม่ให้ลงแข่งขัน โดยอ้างถึงข้อได้เปรียบจากการเคยผ่านช่วงวัยรุ่นด้วยสรีระที่เป็นชาย (male puberty) ซึ่งทางองค์กรกล่าวว่าพวกเขาพิจารณาโดยอาศัย ‘วิทยาศาสตร์เรื่องสมรรถนะทางร่างกายของเพศกำเนิดชาย’ ที่ดูยังไงก็ได้เปรียบ ไม่ยุติธรรมกับผู้หญิง

การเคยผ่านช่วงวัยรุ่นด้วยสรีระที่เป็นชาย (male puberty) เคยถูกนำมาใช้งานแล้วก่อนหน้านี้ในกรณีที่เป็นข่าวดังอย่างการห้ามนักกีฬาข้ามเพศแข่งว่ายน้ำประเภทหญิง ที่ประกาศโดยสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (FINA) ซึ่งได้ออกนโยบายยาวกว่า 34 หน้า เพื่อบอกว่านักกีฬาที่ข้ามเพศจากชายมาเป็นหญิงไม่มีสิทธิลงแข่งว่ายน้ำประเภทหญิงอีกต่อไป ยกเว้นจะพิสูจน์ได้ว่าเริ่มระงับการผลิตฮอร์โมนเพศชายก่อนอายุ 12 ปี 

“เทสโทสเทอโรนในช่วงแตกเนื้อหนุ่มจะเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางสรีรวิทยาของสมรรถภาพมนุษย์ และเป็นตัวอธิบายความแตกต่างระหว่างเพศในด้านสมรรถภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะในอายุ 12 ปีที่จะเริ่มเห็นได้ชัด ต่อให้ระงับเทสโทสเตอโรนไว้ก็ตาม แต่ผลการเพิ่มสมรรถภาพจากฮอร์โมนดังกล่าวก็ยังคงอยู่”

ไมเคิล จอยเนอร์ (Michael Joyner) แพทย์ทางสรีรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสมรรถภาพของมนุษย์ได้กล่าวเอาไว้

คำกล่าวลักษณะนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งโดยตรงกับเหตุผลที่เรามักใช้เพื่ออธิบายถึงนักกีฬาข้ามเพศว่าเขาได้มีการเทคฮอร์โมนอยู่แล้ว แต่คงเป็นเรื่องยากหากต้องมาหาพิสูจน์ว่ามีการเทคฮอร์โมนก่อนช่วงวัยรุ่นหรือไม่ 

ข้อมูลอีกด้านจาก โจอันนา ฮาร์เปอร์ (Joanna Harper) นักฟิสิกส์การกีฬา ที่ปรึกษาคณะกรรมการโอลิมปิกและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลัฟบรา (Loughborough University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในด้านการวิจัยกีฬา ประเทศอังกฤษ กล่าวว่าหลังจากหญิงข้ามเพศเทคฮอร์โมนแล้ว ระดับเทสโทสเตอโรนของพวกเธอจะลดมาอยู่ในระดับเดียวกับผู้หญิงตามเพศกำเนิด 

“ผู้หญิงข้ามเพศจะสูญเสียความแข็งแรงจากการเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์ ข้อได้เปรียบด้านนี้จะลดลงอยู่แล้ว มีแต่ข้อได้เปรียบด้านความสูงที่จะไม่หายไป”

นอกจากนี้ฮาร์เปอร์ยังบอกอีกว่า แม้ผู้หญิงข้ามเพศจะมีโครงร่างที่ใหญ่กว่า แต่สภาวะร่างกายมีมวลกล้ามเนื้อลดลง และความสามารถในการหายใจเพื่อรับออกซิเจนก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อเสียเปรียบในเรื่องต่างๆ เช่น ความว่องไว ความอดทนในการฟื้นตัว เป็นต้น

“ข้อดีใดๆ ที่ผู้คนกังวลในตัวฉันแทบจะหมดไปหลังจากใช้ฮอร์โมนเป็นเวลาหนึ่งปี”

โคลอี แอนเดอร์สัน (Chloe Anderson) นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงข้ามเพศ ได้เล่าถึงประสบการณ์เปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลังจากที่เธอเทคฮอร์โมน ที่ในช่วงแรกเห็นได้ชัดจากการซ้อมว่าร่างกายเธอเชื่องช้าลงกว่าเดิมทีละน้อย และความสามารถในการกระโดดเทคตัวของเธอก็เหือดหายไปด้วยเช่นกัน

โคลอี แอนเดอร์สัน (Chloe Anderson) | photo: The Orange County Register

นอกจากนี้ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมแนช มีเนื้อหาระบุว่าสมรรถภาพบางอย่างที่จำเป็นในทางกีฬา เช่น การสร้างมวลกล้ามเนื้อ หรือการใช้พละกำลังได้ถึงขีดสุด ไม่ได้มาจากเทสโทสเทอโรน หรือฮอร์โมนเพศชายเป็นหลัก แต่มาจากฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) บวกกับฮอร์โมนที่ชื่อว่า IGF-1

ประกอบกับยังมีหลักฐานที่พบว่า ผู้ที่มีเพศกำเนิดหญิงในช่วงก่อนหมดประจำเดือนที่มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนน้อยกว่าผู้ชายเกือบ 10 เท่า ยังสามารถเพิ่มมวลกล้ามเนื้อในระดับใกล้เคียงกับผู้ชายได้ด้วยวิธีการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน และยืนยันว่าระดับฮอร์โมนไม่ได้ส่งผลต่อความแตกต่างของสมรรถภาพระหว่างนักกีฬาชาย-หญิงมากนัก

“อย่างที่เราได้เห็นกับนักกีฬาอย่างลีอา โธมัส (Lia Thomas) และลอเรล ฮับบาร์ด (Laurel Hubbard) ซึ่งต่างก็เคยพ่ายแพ้ให้กับนักกีฬาหญิงแท้ในกีฬาประเภทต่างๆ ของตนเอง การเป็นคนข้ามเพศไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะชนะ” องค์กรเมอร์เมด (Mermaids) องค์กรสนับสนุนเยาวชนข้ามเพศ ของอังกฤษ กล่าวกับสื่อ Pink News

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของ คริสติน มโบมา (Christine Mboma) และเบียทริซ มาซิลิงกิ (Beatrice Masilingi) สองนักวิ่งหญิงชาวนามิเบีย ที่ถูกห้ามไม่ให้ลงแข่งขันกรีฑาระยะ 400 เมตรหญิง ในโตเกียวโอลิมปิก 2020 เพราะพบระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูงกว่าผู้หญิงทั่วไป ซึ่งทั้งสองคนมีเพศหญิงกำเนิดหญิง แต่มีฮอร์โมนฮอร์โมนเพศชายสูงมาตั้งแต่เกิด
หรือเคสเขย่าวงการกีฬาอย่าง แคสเตอร์ เซเมนยา (Caster Semenya) นักกรีฑาชาวแอฟริกาใต้ ผู้ถูกครหาจากการมีร่างกายกำยำ และถูกห้ามไม่ให้ลงแข่งขันเพราะมีฮอร์โมนเพศชายเกินขนาด ประกอบกับเมื่อตรวจร่างกายพบว่าเธอไม่มีมดลูก จึงโดนแปะป้ายว่าแปลงเพศมาแข่งขัน ทั้งที่ในทางการแพทย์ยืนยันว่าเธอเป็นผู้หญิงตั้งแต่กำเนิด เพียงแต่เซเมนยามีภาวะไฮเปอร์แอนดรอจีนิสซึม ทำให้อวัยวะเพศหญิงไม่เติบโต

แคสเตอร์ เซเมนยา (Caster Semenya) | photo: Yann Caradec

แน่นอนว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีที่หนักแน่นพอจะปฏิเสธเรื่องที่ว่า ‘แม้จะระงับเทสโทสเตอโรนไว้ แต่ผลการเพิ่มสมรรถภาพช่วงเข้าสู่วัยรุ่นจากฮอร์โมนเพศชายก็ยังคงอยู่’ แต่สิ่งที่โต้แย้งได้คือปริมาณฮอร์โมนเพศไม่ได้การันตีว่าจะได้เปรียบเสมอไป หนำซ้ำบางครั้งการพูดเรื่องความเป็นธรรมในการแข่งขันกีฬาด้วยการใช้ฮอร์โมนเพศเป็นเกณฑ์เพียงอย่างเดียว อาจยิ่งเป็นการกีดกันใครอีกหลายคน กลายเป็นการหยิบยื่นความไม่เป็นธรรมให้คนอื่นเสียเองโดยไม่รู้ตัว 

สุดท้ายแล้วองค์กรที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนวงการกีฬาควรวางกฎเกณฑ์โดยคำนึงถึงความหลากหลายและความซับซ้อนทางด้านสรีรวิทยาในทุกรูปแบบ เพื่อความเป็นธรรมกับนักกีฬาทุกคน และการไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศใดๆ ก็ตาม

อ้างอิง

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า