พีเตอร์ โครพอทคิน เจ้าชายนักปฏิวัติผู้อยากเห็นความเป็นธรรมในสังคม

นักปฏิวัติคือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างแบบถอนรากถอนโคน พวกเขาเห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น และตระหนักได้ว่าสิ่งต่างๆ สามารถดีขึ้นได้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบากของคนในสังคม ความไม่เท่าเทียม อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ดังนั้นนักปฏิวัติจึงไม่นิ่งเฉยกับสิ่งเหล่านี้ และพยายามลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะด้วยปัญญาหรือกำลังก็ตาม

เพียงแต่ว่าคนที่จะเห็นความยากลำบากของผู้อื่นได้นั้น จำเป็นหรือไม่ที่เขาจะต้องประสบสิ่งเดียวกันมาก่อน? พีเตอร์ โครพอทคิน (Peter Kropotkin, 1842-1921) คือตัวอย่างของผู้ที่กล่าวได้ว่าเกิดมาบนความสุขสบาย เต็มไปด้วยเกียรติยศและเงินทอง แต่ชีวิตของเขากลับผันตัวมาเป็นนักปฏิวัติที่หวังจะเห็นสังคมที่เป็นธรรม และเพื่อนมนุษย์คนอื่นจะไม่ต้องเจอกับความทุกข์ยากอีกต่อไป

จุดเริ่มต้นของเจ้าชายนักอนาธิปไตย

โครพอทคินเกิดในตระกูลสูงศักดิ์ของประเทศรัสเซีย เชื้อสายของเขาสามารถสืบกลับไปได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์รูริค อาจจะกล่าวได้ว่าเขามีศักดิ์เป็นเจ้าชาย อยู่ในสถานะที่มีโอกาสขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครองระดับสูงของรัสเซียได้ ชีวิตในวัยเด็กของโครพอทคินนั้นเหมือนกับเจ้าชายคนอื่นๆ คือได้รับการศึกษาอย่างดี เพื่อที่จะเติบโตไปเป็นนักปกครองที่สมบูรณ์แบบ แต่การที่พี่เลี้ยงของเขาเป็นชาวฝรั่งเศส จึงทำให้โครพอทคินได้ซึมซับเอาความคิดแบบตะวันตกมาเต็มที่ โดยเฉพาะความคิดทางการเมือง และแนวคิดแบบฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส

นั่นจึงเป็นเหตุให้โครพอทคินเริ่มสนใจลัทธิอนาธิปไตย (Anarchism) และความคิดฝ่ายซ้ายอื่นๆ ที่มีบทบาทอย่างมากในยุโรปขณะนั้น เขาเริ่มปฏิเสธลำดับขั้นทางสังคม และไม่ชอบใจนักหากเพื่อนร่วมชั้นจะเรียกเขาว่าเจ้าชาย เพราะไม่อยากรู้สึกว่าตนเองอยู่เหนือผู้อื่น เมื่อถึงช่วงวัยรุ่น โครพอทคินก็เข้าเรียนในโรงเรียนทหารองครักษ์ ที่จะเติบโตเป็นข้าราชการต่อไปในอนาคต แม้ว่าเขาจะเป็นนักเรียนที่ดีและไม่เคยมีปัญหากับใคร แต่เขาก็มักจะนั่งอ่านหนังสืออยู่คนเดียว และเริ่มจริงจังกับการศึกษาแนวคิดทางการเมืองมากขึ้น เขาได้รู้จักนักคิดอย่าง พรูดอง และ บาคูนิน ทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่อยากจะรับราชการอีกต่อไป

ดังนั้นเมื่อเรียนจบจากโรงเรียนทหาร โครพอทคินจึงเลือกไปประจำการที่ไซบีเรีย ดินแดนทางตอนเหนืออันหนาวเหน็บและห่างไกลความเจริญ เขาคิดว่าตนเองจะได้ไม่ต้องยุ่งวุ่นวายกับกิจการของรัฐมากนัก และเอาเวลาไปอ่านหนังสือพัฒนาความคิดแทน

ด้วยสภาพแวดล้อมของไซบีเรียที่อากาศหนาวอย่างโหดร้าย โครพอทคินจึงได้สังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตในไซบีเรียที่คอยช่วยเหลือกันเพื่อต่อสู้กับธรรมชาติ นั่นทำให้เขาเริ่มพัฒนาแนวคิดหนึ่งที่มีความสำคัญมากในภายหลัง นั่นก็คือแนวคิดว่าด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (mutual aid) โดยเขามองว่าการที่สิ่งมีชีวิตจะเอาชนะธรรมชาติและวิวัฒนาการไปข้างหน้าได้นั้น เป็นผลมาจากการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสิ่งมีชีวิตในการเอาชนะธรรมชาติ แนวคิดนี้คือขั้วตรงข้ามกับลัทธิดาร์วิน (Darwinism) ที่มองว่าชัยชนะระหว่างสปีชีส์คือสาเหตุของวิวัฒนาการ (Survival of the Fittest)

เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า โครพอทคินไม่ได้ต่อต้านแนวคิดของดาร์วินโดยตรง แต่เขาไม่เห็นด้วยกับเหล่าลูกศิษย์ของดาร์วินที่เน้นย้ำว่าวิวัฒนาการคือการแข่งขันตามธรรมชาติ เพราะโครพอทคินก็เห็นด้วยกับทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน เพียงแต่เขามองว่าปัจจัยสำคัญคือการช่วยเหลือกัน ไม่ใช่การฆ่าฟันแข่งขันกัน

โครพอทคินใช้เวลาในไซบีเรียศึกษาลัทธิอนาธิปไตยอย่างเข้มข้น จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นนักอนาธิปไตยเต็มตัว อีกทั้งยังมีความสนใจในด้านภูมิศาสตร์ และเป็นสมาชิกของกลุ่มนักสำรวจเชิงภูมิศาสตร์ในไซบีเรีย (ภายหลังเขากลายมาเป็นนักภูมิศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง) หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นราว 5 ปี เขาก็ตัดสินใจออกจากราชการทหารและเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ นั่นทำให้พ่อของเขาไม่ชอบใจนักและไม่อยากจะส่งเสียเลี้ยงดูอีกต่อไป

ในระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัย โครพอทคินก็จัดตั้งขบวนการลับๆ เพื่อทำงานกับกลุ่มชาวนา แต่เรื่องราวต่างๆ ก็ลอยไปเข้าหูทางการรัสเซียอยู่ดี นั่นทำให้เขาถูกจำคุกในปี 1872 แต่ด้วยตำแหน่งในสมาคมภูมิศาสตร์จึงทำให้เขามีความเป็นอยู่ในคุกที่ไม่ยากลำบาก และหลบหนีออกมาได้ในที่สุดจากการช่วยเหลือของมิตรสหายในขบวนการ เป็นผลให้เขาถูกตัดออกจากกองมรดกทันที

ชีวิตช่วงลี้ภัย และการพัฒนาแนวคิดอนาธิปไตยแบบคอมมิวนิสต์

โครพอทคินลี้ภัยไปที่อังกฤษเป็นที่แรก ต่อด้วยสวิตเซอร์แลนด์ และต้องหลบหนีไปเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลรัฐเซียกดดันประเทศต่างๆ ที่เป็นที่พำนักของเขา ระหว่างที่ย้ายถิ่นฐานไปยังที่ต่างๆ เขาก็ได้พัฒนาแนวคิดทางการเมืองและลัทธิอนาธิปไตยตามไปด้วย โดยเฉพาะช่วงที่อยู่ปารีส ที่ได้พบเจอกับนักอนาธิปไตยมากหน้าหลายตา และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนักสังคมนิยมที่นั่นด้วย

แนวคิดเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นแนวคิดสำคัญของโครพอทคินที่พัฒนาขึ้นอย่างมากในระหว่างลี้ภัย อิทธิพลของลัทธิดาร์วินในช่วงนั้นทำให้โครพอทคินเริ่มตอบโต้กับลูกศิษย์ของดาร์วินอย่างรุนแรง เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับการแข่งขันเพื่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ รวมทั้งในสังคมมนุษย์ ประสบการณ์ในไซบีเรียทำให้เขาเห็นถึงการพึ่งพากันของเหล่าสัตว์ป่า มากกว่าการฆ่าหรือทำร้ายเพื่อเอาชีวิตรอด ทั้งสองฝ่ายโต้ตอบกันไปมาผ่านงานเขียนในวารสาร หนึ่งในนั้นคือลูกศิษย์ของดาร์วินที่ชื่อว่า โธมัส ฮักซ์ลีย์ (Thomas Huxley) ที่เขียนหนังสือออกมาเพื่อสนับสนุนแนวคิดวิวัฒนาการแบบผู้แข็งแกร่ง ทำให้โครพอทคินวิพากษ์วิจารณ์งานชิ้นนี้อย่างหนัก

ในปี 1892 หนังสือเรื่อง The Conquest of Bread ของโครพอทคินก็ได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรก ทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมาในทันทีจากแนวทางการวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจและทุนนิยม รวมถึงแนะวิธีการออกแบบสังคมที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น โดยพัฒนาความคิดมาจากบาคูนินในเรื่องของความเป็นส่วนรวม โดยสิ่งหนึ่งที่ทำให้ความคิดของโครพอทคินโดดเด่นขึ้นมาในกลุ่มนักอนาธิปไตยก็คือ การที่เขาพยายามนำเอาหลักการวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกับลัทธิอนาธิปไตยอย่างเป็นระบบ ซึ่งยังไม่มีนักอนาธิปไตยรุ่นก่อนหน้านี้เคยทำ

หลังจากที่โครพอทคินเขียนงานโต้ตอบกับลัทธิดาร์วินมาเป็นระยะเวลาพอสมควร ทำให้ความคิดเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีการพัฒนาอย่างมาก เขาจึงนำบทความเหล่านั้นมารวมเล่มในชื่อ Mutual Aid: A Factor of Evolution (1902) และกลายมาเป็นงานชิ้นสำคัญที่สุดของเขา เพราะเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดแบบอนาธิปไตยคอมมิวนิสต์ (Anarcho-communism) และทรงอิทธิพลอย่างมากต่อขบวนการอนาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน

ใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การสำรวจและอธิบายการช่วยเหลือกันและกันของสิ่งมีชีวิต ทั้งในสังคมสัตว์และสังคมมนุษย์ เรื่อยมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าลักษณะการอยู่ร่วมกันเช่นนี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดการวิวัฒนาการ นอกจากนี้โครพอทคินยังวิพากษ์บทบาทของรัฐอย่างรุนแรงว่าเป็นตัวทำลายระบบการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของมนุษย์ ด้วยการสนับสนุนให้มีทรัพย์สมบัติส่วนตัว (private property) และด้วยการที่โครพอทคินเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยสายตาของนักวิทยาศาสตร์ ทำให้มันกลายเป็นงานที่นักวิทยาศาสตร์สายพฤติกรรมสัตว์มักจะอ้างอิงถึงอีกด้วย

กลับสู่รัสเซีย และความขัดแย้งกับเลนิน

โครพอทคินระหกระเหินอยู่ต่างแดนเป็นเวลาถึง 41 ปี สุดท้ายเขาก็ได้กลับสู่มาตุภูมิในปี 1917 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากการปฏิวัติในเดือนกุมภาพันธ์ของเลนิน เขาได้รับคำเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของพรรคบอลเชวิค แต่ข้อตกลงก็ไม่บรรลุผล

สาเหตุก็คือโครพอทคินขอร้องเลนินให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวทางการปกครองของพรรค โดยการกระจายอำนาจของรัฐหรือทำลายมันลงไปเลย แน่นอนว่าคำขอนี้ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของบอลเชวิคที่เดินตามแนวทางของลัทธิมาร์กซ์ ทำให้โครพอทคินผิดหวังกับท่าทีของเลนินเป็นอย่างมาก มิหนำซ้ำเลนินยังดูหมิ่นเขาว่าเป็นพวกหัวโบราณ ไม่ประสีประสาทางการเมือง ซึ่งเป็นคำดูหมิ่นที่ร้ายแรงมาก

บั้นปลายชีวิตของอดีตเจ้าชายคนนี้จึงไม่สวยหรูแต่อย่างใด เขาอาศัยอยู่ในชนบทกับลูกและภรรยา แทบไม่มีทรัพย์สินใดๆ ติดตัว แม้ว่าจะยังมีงานเขียนอยู่บ้าง โดยเขาพยายามที่จะเขียนหนังสือเล่มล่าสุดให้เสร็จ แต่ด้วยสุขภาพที่เริ่มทรุดโทรมทำให้เขาทำอะไรได้ไม่มากนัก ความยากจนของโครพอทคินเป็นข่าวดังไปถึงยุโรปและอเมริกา หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์สถึงกับพาดหัวข่าวว่า ‘โครพอทคินกำลังจะอดตาย!’ และสุดท้ายเขาก็จากโลกนี้ไปด้วยโรคปอดบวม เมื่ออายุ 78 ปี

งานศพของเขามีผู้มาเข้าร่วมมากมาย ทั้งกลุ่มนักอนาธิปไตยในรัสเซีย พวกเขาโบกธงผืนใหญ่ที่เขียนว่า ‘ต่อต้านบอลเชวิค’ แม้ว่าเลนินและคนในพรรคจะมาเข้าร่วมงานศพด้วยก็ตาม

ความขัดแย้งของโครพอทคินกับเลนินยังติดตราอยู่ในใจของเจ้าหญิงอเล็กซานดรา ทายาทเพียงคนเดียวของโครพอทคิน เธอโกรธแค้นในสิ่งที่เลนินทำกับพ่อของเธอ ทั้งการเหยียดหยาม การพยายามกำจัดนักอนาธิปไตยในรัสเซีย อีกทั้งเธอยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า มีเพียงคนเดียวที่โครพอทคินไม่คิดจะพบเจอหรือคบค้าสมาคมด้วย ก็คือเลนินนั่นเอง

มรดกของโครพอทคิน

เมื่อใครสักคนสนใจลัทธิอนาธิปไตย เขาไม่มีทางที่จะมองข้ามแนวคิดของโครพอทคินไปได้ แม้ว่างานของเขาจะอยู่ในยุคคลาสสิก แต่มันเป็นรากฐานที่สำคัญของนักอนาธิปไตย เขาเป็นคนแรกๆ ที่อธิบายลัทธิอนาธิปไตยด้วยหลักวิทยาศาสตร์ และการหลอมรวมแนวคิดคอมมิวนิสต์ให้เข้ามาเป็นหัวใจหลักอย่างแยกกันไม่ออก เขาเป็นผู้ที่เห็นใจเพื่อนมนุษย์ และต้องการขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคมให้หมดสิ้นไป แม้ว่าจะเกิดในตระกูลผู้สูงศักดิ์ก็ตาม เหมือนกับคำพูดของเขาที่ว่า “ความกินดีอยู่ดีของมนุษย์ทุกคนไม่ใช่แค่เพียงความฝัน”

ถ้าคุณเป็นนักภูมิศาสตร์ คุณก็จะต้องจดจำโครพอทคินในฐานะนักภูมิศาสตร์ที่อุทิศตนให้กับสาขาวิชานี้ คุณูปการของเขาต่อวงการภูมิศาสตร์นั้นไม่ด้อยไปกว่าเรื่องการเมืองเลย การสำรวจเทือกเขาในไซบีเรีย และธารน้ำแข็งในสแกนดิเนเวีย ล้วนแต่เป็นผลงานสำคัญที่นักภูมิศาสตร์ทั่วโลกให้การยอมรับ

หรือถ้าคุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ คุณก็จะจดจำโครพอทคินในฐานะนักธรรมชาติวิทยา ผู้มีความสนใจต่อพฤติกรรมของสัตว์ และลงมือศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนเป็นรากฐานสำหรับคนรุ่นหลังในการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติและพฤติกรรมสัตว์

โครพอทคินแสดงให้เราเห็นแล้วว่า ต่อให้คุณจะเกิดมาในครอบครัวร่ำรวย มีเกียรติยศ ไม่ต้องพบเจอกับความลำบาก แต่คุณก็สามารถมองเห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ได้ คุณสามารถใฝ่ฝันที่จะเห็นสังคมที่เป็นธรรม สังคมที่ไร้การกดขี่ เป็นสังคมที่มนุษย์ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และไม่มีใครต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ทน

มรดกของโครพอทคินก็คือความหวังที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นผู้ลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นเสียเอง เขาแสดงให้เห็นว่า ชีวิตเราไม่ควรมีความสุขถ้าคนอื่นนั้นยังต้องทุกข์ทรมาน สอนให้เราไม่เห็นแก่ตัวเอง และหยิบยื่นเสรีภาพกับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเพื่อนมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ปัจจัยการผลิตคือสิ่งที่เกิดจากความเป็นส่วนรวมของมนุษย์ ผลผลิตก็ควรที่จะเป็นของส่วนรวมเช่นกัน การยึดถือทรัพย์สินเอาไว้แต่เพียงผู้เดียวนั้นช่างไม่ยุติธรรม และไม่มีประโยชน์อันใด สรรพสิ่งควรเป็นสมบัติส่วนรวมของคนทุกคน

The Conquest of Bread (1892) – Peter Kropotkin
อ้างอิง

Lee Alan Dugatkin. 2011. The Prince of Evolution: Peter Kropotkin’s Adventures in Science and Politics.

Author

การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์
ประกอบอาชีพขายหนังสือ มีความสนใจหลากหลาย แต่วนเวียนอยู่กับทฤษฎีการเมือง วรรณกรรม เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และการต่อต้านเชิงวัฒนธรรม เป็นคนที่เขียนได้ดีกว่าพูด เพราะได้ใช้เวลาในการคิดมากกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า