การกลับมาอีกครั้งของ PM2.5 ความรู้มี ข้อมูลมี แต่ไม่มีมาตรการรับมือ

ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า PM2.5 ไม่ใช่เรื่องใหม่

“ผมมีตัวเลขย้อนกลับไปถึงปี 2015-16 เขามาแบบนี้ทุกปี โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ถ้าถามว่ามันมีอยู่แล้วไหม…มี แล้วปีหน้ามาอีกไหม…มา เป็นแบบนี้แน่นอนครับ”

ในฐานะ หัวหน้าโครงการติดตามลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศสำหรับประเทศไทย คำตอบของเขามีนัยยะสำคัญว่า กิจกรรมในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครเดินทางมาบรรจบกับช่วงเวลาที่สภาพอากาศมีลักษณะปิด ยังไม่นับรวมถึงฝุ่นที่เดินทางมาเติมจากแหล่งอื่นตามทิศทางลม ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 จึงหนาหนัก ไปไหนไม่ได้ นิ่งค้างอยู่เหนือศีรษะชาวมหานคร

WAY พูดคุยกับ ผศ.ดร.สุรัตน์ เพื่อทำความเข้าใจกับ ‘มลสาร’ ชนิดที่เรียกว่า PM2.5/ความแตกต่างระหว่างค่ามาตรฐานของประเทศไทยกับสากลโลก/งานวิจัยที่ให้คำตอบถึงอัตราความเร็วขณะรถยนต์วิ่งซึ่งมีความสัมพันธ์กับการปลดปล่อยมลสาร PM2.5 และเราจะขจัดความกลัวและหาแนวทางแก้ไขอย่างไร

“จำปี 2554 ได้ไหม ปลากระป๋องยังมีค่ามีความหมาย ผมคิดว่า ทุกความพยายามในการแก้ปัญหามีค่ามีความหมายเสมอ ถ้าเข้าใจและจริงใจในการแก้ไข” คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรฯ กล่าว


 

ฝุ่น PM2.5 คืออะไร มาจากไหน

ฝุ่นโดยรวมเกิดจากกระบวนการสองอย่าง อย่างแรกคือกระบวนการทาง mechanic เช่น การขัด การตอก การระเบิด พวกนี้ทำให้เกิดฝุ่น แต่เป็นฝุ่นขนาดใหญ่ คำว่า ‘ขนาดใหญ่’ หมายถึงขนาดที่เรียกว่า aerodynamic diameter ซึ่งเป็นขนาดที่เขาจะประพฤติตัวในลักษณะของกลศาสตร์ทางอากาศ ฝุ่นขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการ mechanic แบบนี้ส่วนใหญ่เกิดและก็ตกลงในที่ใกล้ๆ บริเวณแหล่งกำเนิด เช่น แถวเหมืองหินเมื่อมันระเบิด ฝุ่นมันก็จะกองอยู่ใกล้ๆ แถวนั้น ไม่ไปไหน นั่นคือฝุ่นขนาดใหญ่ พวกนี้จะอยู่กับที่ และมีเวลาอยู่ในอากาศได้น้อย

ฝุ่นอีกแบบคือฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้และกระบวนการอื่น ซึ่งพวกนี้มีขนาดเล็กลง พอขนาดเล็กลงจะอยู่ในบรรยากาศได้นาน ก็จะลอยไปได้เรื่อยๆ ซึ่งฝุ่นในกลุ่มนี้ที่เราพูดกันในเชิงของสิ่งเเวดล้อม เราจะใช้ศัพท์อยู่สองตัว คือ PM2.5 และ PM10

PM10 คือต่ำกว่า 10 ไมครอนลงมา และ PM2.5 คือต่ำกว่า 2.5 ไมครอนลงมา เพราะฉะนั้นพวกนี้มันจะอยู่ได้นานเเละก็มีปัญหา

ถ้าถามว่า PM2.5 เกิดจากอะไร ผมบอกแบบนี้ก่อนว่า เกิดจากการเผาไหม้ แต่อยู่ที่ไหนมันไม่เหมือนกัน เช่น อยู่ในกรุงเทพฯ แหล่งสำคัญของเขาก็คือจะเกิดจากการเผาไหม้ของกิจกรรมหลักที่มีการเผาไหม้ ในกรุงเทพฯ ก็เกิดจากการเผาไหม้จากรถยนต์ พอไปอยู่สุพรรณบุรี ไปอยู่กาญจนบุรี ทางนั้นรถไม่ค่อยหนาแน่นเท่ากรุงเทพฯ แต่อะไรที่มีการเผาไหม้ก็จะให้ฝุ่นละอองเหล่านี้ออกมา บางคนไปพูดคล้ายๆ กับว่า ฝุ่นที่นี่ส่วนใหญ่มันเกิดจากการเผาไหม้ในที่กลางแจ้ง มันก็จริงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะฝุ่นที่อยู่ในอากาศมันไม่ได้แปะป้ายบอกว่ามันมาจากไหน แต่ถ้าเราจะหาว่ามันมาจากกิจกรรมอะไร เป็นสัดส่วนเท่าไร วิธีที่จะตอบคำถามได้ชัดเจนที่สุดก็คือเทคนิคทางอากาศที่เรียกว่า source apportionment วิธีนี้จะบอกเลยว่ากิจกรรมอะไรที่ผลิตฝุ่นกี่เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลของกรมมลพิษบอกว่า PM2.5 มาจากเครื่องยนต์ดีเซล 60 เปอร์เซ็นต์ มาจากการเผาไหม้กลางแจ้ง 35 เปอร์เซ็นต์ โรงงานอุตสาหกรรม 5 เปอร์เซ็นต์ เราสามารถเชื่อได้ไหม

ผมจำได้ว่ากรมควบคุมมลพิษมีโครงการศึกษาวิจัยซึ่งเป็น source apportionment เหมือนที่ผมพูด โครงการที่เขาทำเขาทำเมื่อปีที่แล้ว เเต่ ณ เวลานั้นมันไม่ได้เกิดเหตุการณ์แบบวันนี้ เพราะฉะนั้นตอนที่เขาทำเมื่อปีที่แล้ว อาจจะเก็บข้อมูลในฤดูร้อน เพราะฤดูร้อนลมพัดจากทางหนึ่งมา ฝุ่นก็มาอีกทิศหนึ่ง มาจากแหล่งหนึ่ง แต่ ณ วันนี้ที่เกิดปัญหา ลมพัดมาจากทางทิศตะวันออก มันเป็นลมอีกทิศหนึ่ง สภาพอากาศที่เกิดเวลานี้เป็นอากาศที่ปิด ก็จะเป็นลักษณะอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นถามว่าจะเหมือนกับที่กรมควบคุมมลพิษพูดทั้งหมดไหม อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมันมีจากแหล่งอื่นที่เข้ามาเติม มีทิศทางลมที่เปลี่ยนไป

แต่ในกรุงเทพฯ ยังพูดได้ว่าฝุ่นมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์เป็นหลัก เพราะนี่คือกิจกรรมหลักที่อยู่ในเมือง แหล่งที่มาไม่หนีจากตรงนี้ไปเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าก็อาจจะมีจากแหล่งอื่นเข้ามาเติมหรือไม่ ในสัดส่วนเท่าไหร่

ผมอยากเปรียบเรื่องฝุ่นเหมือนแก้วน้ำ แก้วคืออากาศของกรุงเทพฯ น้ำที่อยู่ข้างในคือฝุ่น ถ้าแก้วน้ำมีน้ำอยู่แล้ว แต่น้ำยังไม่ล้นแก้ว การมีน้ำจากที่อื่นเข้ามาเติมอีกหน่อยก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าในแก้วน้ำของเราปริ่มๆ จะล้น เมื่อมีน้ำจากที่อื่นเข้ามาเติม น้ำก็ล้นแก้ว นั่นคือสภาพจริงๆ ของกรุงเทพฯ

ตอนนี้สังคมไทยต้องการรู้ว่าใครผลิตฝุ่น อาจารย์บอกว่ากิจกรรมหลักๆ ที่ปล่อยฝุ่นคือรถยนต์ แล้วโรงงานอุตสาหกรรมมีส่วนไหมครับ บางคนพูดว่าเราไม่มีค่ามาตรฐาน PM2.5 ที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม จริงไหมครับ

จริง…โดยปกติกรณีโรงงานอุตสาหกรรม เราจะไม่วัดเจาะจงไปที่ PM2.5 แต่เราจะวัดฝุ่นในภาพรวม ถามว่าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำเลยหรือเปล่า ผมมองว่าเขาไม่ใช่ ส่วนใหญ่เเล้วอุตสาหกรรมในเขตนี้ปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงกันหมดเเล้ว ไม่มีใครเอาเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพต่ำและราคาเเพงมาใช้เเล้ว อีกอย่างพวกโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะปลดปล่อยมลสารคงที่ ไม่เหมือนรถยนต์ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสภาพของรถ ซึ่งดูเเลยากกว่ามาก เพราะฉะนั้นถ้าเอาเรื่องของอุตสาหกรรมเข้ามาจับ ผมมองว่าใช่ ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่

เมื่อสภาพอากาศหรือสภาพของแก้วน้ำถูกบีบให้เล็กลง นี่คือปัญหาที่เรากำลังเผชิญ ผมมองว่าสังคมไทยไม่ควรมานั่งโทษกันว่าเป็นเฉพาะคนนั้นหรือคนนี้ หลักใหญ่ใจความคือทุกคนต้องลด ลดลงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะ หรือจะเป็นภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ ต้องลดลงหมด เพราะมันเหมือนแก้วน้ำที่น้ำมันกำลังจะล้นอยู่เเล้ว

ตอนนี้สภาพแก้วน้ำกรุงเทพฯ ล้นแล้ว?

ล้นเเล้ว ช่วงมกราคมที่ผ่านมา แก้วน้ำถูกอัดจนเหลือปริมาตรเพียงนิดเดียวเเล้ว ถามว่าผมรู้จากอะไร จากข้อมูลที่ผมทำมา เฉพาะเดือนมกราคมเราพบว่า 88 เปอร์เซ็นต์ของชั่วโมงมีค่าความเข้มข้นเกินมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เราอยู่ในสภาวะอากาศที่ปิด มวลอากาศไม่เคลื่อนที่ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ก่อและเกิดฝุ่นอยู่ในนี้ มันออกไปไหนไม่ได้ และก็ทำให้เรารับความเข้มข้นที่สูงเกิน มันเป็นเเบบนั้นครับ

ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เราเจออะไรบ้าง

ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เอาตั้งเเต่ 1-28 มกราคม เราพบว่าประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ค่าความเข้มข้นของฝุ่นเกินมาตรฐาน จากนั้นเราวิเคราะห์สาเหตุข้างใน พบว่า 88 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของอากาศปิด รายละเอียดไปดูในเฟซบุ๊คผม ผมจะเขียนตัวเลขไว้

ด้วยสภาพอากาศปิดของช่วงฤดูกาลแบบนี้ หมายความว่า มกราคมปี 61 เราก็เจอสภาพแบบนี้?

ในอดีตเราก็เจอ เนื่องจากปีที่เเล้วข้อมูลผมเสียหายไปบางส่วน แต่ย้อนกลับไป 2 ปี ในปี 2559 และปี 2560 เราก็เจอเเบบนี้เหมือนกัน แต่ไม่หนักและไม่นานเท่าปีนี้ เพราะฉะนั้น PM2.5 ไม่ใช่ของใหม่นะ มันมีอยู่เเล้ว เราเจอกันมาก่อนเเล้ว เพียงแต่ในอดีตจุดตรวจวัดเราน้อย โซเชียลมีเดียสนใจกันน้อย ปีนี้ในกรุงเทพฯ มีจุดตรวจวัดเพิ่มประมาณ 40-50 จุด นี่ไม่รวมจากข้อมูลอื่น จากกลุ่มอื่นที่ส่งเข้ามาก็ทำให้ภาพของการเห็นตัวเลขชัดขึ้น แต่เอาเฉพาะที่คณะสิ่งแวดล้อมผมวัดมาอย่างน้อยสี่ปี เราพบอย่างนี้ มกราคมยังไงก็มา เพียงแต่ว่าไม่หนักเเละไม่นานเท่าปีนี้

ทำไมปีนี้มันหนักและนาน

ผมกำลังวิเคราะห์หาข้อมูลเพิ่มเติม มีบางส่วนที่อาจจะเกี่ยวข้องกับ Climate Change มันมีปรากฏการณ์หนึ่งที่เราเรียกว่า Polar Vortex ลักษณะคือมีการดันเอาความเย็นลงมาด้านล่างค่อนข้างลึกกว่าในอดีต เเถวสหรัฐปีนี้เย็นมาก และเย็นลงมาด้านล่างเยอะกว่าในอดีต หมายความว่ามวลอากาศเย็นลงมาจากพื้นที่เดิมค่อนข้างเยอะ ซึ่งลักษณะนี้เองก็ทำให้อากาศมันจมตัวลงและหนาตัวมากขึ้น เมื่ออากาศมีการเปลี่ยนแปลง ตัวลักษณะอากาศหรือลมที่ควรจะหมุนวนได้ดีกลับไม่เป็นแบบนั้น

เราพบว่าลมที่มาจากทางตะวันออกวิ่งมาทางตะวันตกเข้าหาประเทศไทยมันมาช้า มันมาเอื่อยอยู่ตรงบ้านเรานานกว่าปกติ ผมวัดข้อมูลลมจากเสาสูงของเรา โดยปกติลมข้างกับลมข้างบนมันต้องมีความแตกต่างของลมพอสมควร อาจจะมากกว่า 2 เมตรต่อวินาที แต่บางช่วงเวลาที่ระดับความสูง 10 เมตร กับ 110 เมตร มันต่างกันนิดเดียวเอง มันทำให้อากาศข้างบนข้างล่างไม่เคลื่อนตัว มันก็เลยทำให้มลสารอยู่ค้างเเละสะสม อากาศกรุงเทพฯ จะดีก็ต่อเมื่อมีแสงมีลม เมื่อไม่มีเเสงไม่มีลม ประกอบกับกิจกรรมที่เราปล่อยกันเยอะจริงๆ เราปล่อยเยอะมากๆ นั่นคือสาเหตุที่มันสะสมมากขึ้น

เราควรดูตัวเลขค่าความเข้มข้นของ PM2.5 อย่างไร

มันมีตัวเลขอยู่สองแบบที่ต้องเข้าใจ อันแรกก็คือค่าความเข้มข้นของ PM2.5 มีหน่วยเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กับ AQI Index สองอันนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิงนะ PM2.5 มีวัดเป็นหน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ AQI Index จะเป็นการคำนวณซึ่งมาจาก 6 พารามิเตอร์ของมลสารร่วมกัน

ณ วันนี้นะ สิ่งที่เราพบคือปรากฏการณ์ PM2.5 เราก็ดูค่าความเข้มข้นของ PM2.5 มันขึ้นเท่าไหร่ แล้วก็ดูหน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มาตรฐานของบ้านเราก็คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าเกิดผ่านพ้นวิกฤติฝุ่นครั้งนี้ไป ถ้าเราจะพูดถึงอากาศโดยทั่วไป ซึ่งมีมลสารตัวอื่นด้วย มีก๊าซตัวอื่นด้วย ถ้าเราจะดูภาพรวมของอากาศ ให้ดู AQI INDEXT เพราะมันเป็นภาพรวมที่นำเอาก๊าซและฝุ่นมาคิดรวมกัน และจะบอกสภาพอากาศได้ว่าเป็นอย่างไร

ซึ่งค่าความเข้มข้นมาตรฐาน PM2.5 ของไทยคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ของ WHO คือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำไมค่ามาตรฐานของเรากับของเขาไม่เท่ากัน หรือว่าปอดของเรากับของเขาไม่เหมือนกัน

อย่าไปคิดแบบนั้น เรื่องของค่ามาตรฐานต้องดูมิติอื่นควบคู่ไปด้วย ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่ค่อยกังวลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะพัฒนาไปจนสุดเพดานแล้ว แต่ของเราต้องบาลานซ์กัน ไม่ใช่เทไปในด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้การพัฒนาเดินหน้าไปได้ ขณะเดียวกันเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็ต้องมีคุณภาพ ถามว่าค่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็นสิ่งที่เลวร้ายไหม มันเป็นสิ่งที่เลวร้ายแน่นอนเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับของคนอื่น

แต่ในบ้านเรา…ตรงนี้ ฟังดีๆ นะครับ ค่าความเข้มข้นที่ลอยเข้ามาจากแหล่งอื่นนอกประเทศ มันปาเข้าไป 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรแล้ว ถ้าเราไม่ปล่อยช่องว่างหรือขยับเพดานค่ามาตรฐาน เราจะขยับอะไรไม่ได้เลย พัฒนาประเทศลำบาก แต่เราก็ต้องบาลานซ์ให้ได้นะ ว่าจุดไหนเราควรพอได้แล้ว และหันกลับมามองเรื่องสุขภาพมากขึ้น ถ้าเราเข้มงวดมากเกินไป ต่อไปนี้โครงการพัฒนาจะเกิดขึ้นลำบาก

มีคนเสนอว่า โรงงานอุตสาหกรรมควรใช้เทคโนโลยีสะอาด การกำหนดค่ามาตรฐานจะได้ลดลงเท่าเทียมที่อื่น

ผมว่าเรื่องนี้มันอยู่ที่นโยบาย นโยบายให้น้ำหนักกับทางไหน ถามว่าผู้ประกอบการยินดีไหม ถ้ามันเป็นทิศทางของประเทศ ทุกคนยอมรับกติกา มันจูงใจไปได้หมดแหละครับ ถ้าทุกคนใช้กติกาเหมือนกันหมด ทุกคนไปด้วยกันแน่นอน เช่น ทุกคนใช้เทคโนโลยีสะอาดให้เหมือนกัน แต่บางครั้งมันมีข้อยกเว้นให้คนนั้นบ้างให้คนนี้บ้าง สุดท้ายก็เกิดช่องว่างทางสังคม ทำให้เกิดความแตกต่างเหลื่อมล้ำ ผมคิดว่านี่คือทิศทางของประเทศนะว่าเราจะตัดสินใจเลือกใช้นโยบายแบบไหน เมื่อเป็นแบบนั้นทุกคนยอมรับกติกา แล้วไปด้วยกัน นั่นคือทางออก

ถ้ามาถามผมเหรอ สมมุติผมบอกว่าต้องเอาเทคโนโลยีสะอาดอย่างเดียว เพราะผมอยู่คณะสิ่งแวดล้อม ถ้าผมยืนยันแบบนี้ก็หมายความว่าผมไม่เหลียวมองเศรษฐกิจของประเทศเลยนะ คนยากคนจนจะทำยังไง สมมุติเราใช้เทคโนโลยีสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ เลิกจ้างงาน คนตกงานกันหมด สิ่งเหล่านี้ใครจะเข้ามาดูแล มันทำได้ในเชิงเทคนิค แต่ภาคเศรษฐกิจภาคสังคมยอมรับได้หรือเปล่า ถามผม ผมก็เชียร์เทคโนโลยีสะอาด แต่เราต้องมองคนอื่นด้วย ว่าเขาไปด้วยกันได้หรือเปล่า

โจทย์คือเราต้องบาลานซ์ให้ได้ ผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือรัฐบาล ต้องให้น้ำหนักที่ชัดเจน ถ้าเรายังให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจมากเกินไปมันก็ไม่ถูก แต่ถ้าเราให้น้ำหนักด้านสุขภาพมากเกินไปประเทศก็ไปต่อไม่ได้ เราต้องหาจุดสมดุล แต่จุดสมดุลมันเป็นจุดสมดุลของใคร เราอาจจะต้องใช้เวลาสักพักเพื่อจะตัดสินใจหาแนวทางต่อไปได้ แต่ถ้าจะลดฮวบลงไป 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ผมว่ามันจะหนักมาก จะไม่มีใครทำอะไรได้เลย เพราะค่า background concentration (ค่าปนเปื้อนดั้งเดิม) ที่มีอยู่ตอนนี้คือสูงมาก มันจะมีค่า background concentration ที่ลอยมาจากข้างนอก ตอนนี้ก็ซัดไป 35 แล้ว ยังไม่ได้รวมค่าความเข้มข้นของพื้นที่ข้างในนะ

เราแยกแยะได้เลยใช่ไหมครับว่าค่าความเข้มข้นเกิดในพื้นที่และมาจากที่อื่น

ผมใช้เทคนิคของการดูข้อมูลที่วัดตามระดับความสูง ถ้าเราเห็นความเข้มข้นจากข้างล่างเยอะ ความเข้มข้นเหล่านี้มีแหล่งที่มาจากพื้นที่ภายในเป็นสำคัญ แต่ถ้าค่าความเข้มข้นข้างบนเยอะแปลว่า ความเข้มข้นมันลอยมาจากข้างนอก มีการลอยเข้ามา มีการปนเปื้อนจากข้างนอก ผมใช้เทคนิคนี้เพื่อดูว่าค่าความเข้มข้นลอยมาจากข้างนอกเท่าไร ค่าความเข้มข้นที่มีอยู่ข้างในมันมีเท่าไร ซึ่งจากข้อมูลที่เราเจอประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ มันลอยเข้ามาเฉลี่ยที่ 34-35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

กิจกรรมการปล่อยมลสารของเราค่อนข้างคงที่และไม่มีแนวโน้มลดลง ก็คือการปล่อยจากรถยนต์บนถนน เพราะรถในกรุงเทพฯ เยอะ เรามีมาตรการอะไรบ้าง หรือเราจะรอเงื่อนไขของสภาพดินฟ้าอากาศ แค่นั้นเองหรือ

อย่างที่ผมบอกไปว่า สาเหตุปัญหามีด้วยกันสองอย่าง สภาพอากาศและตัวปล่อย สภาพอากาศเราทำอะไรกับเขาไม่ได้ เขาอยู่เหนือการควบคุมของเรา เราทำได้แค่การเตือน ช่วงไหนที่รู้ว่าเกิดปัญหา ส่งข้อความส่งข่าวสารไปยังกลุ่มเสี่ยงอย่างรวดเร็ว ส่วนที่เราทำได้คือแหล่งกำเนิด เรารู้ว่าเกิดตรงไหนก็ทำการควบคุมมัน และลดมัน

ผมเห็นบางคนวิจารณ์รัฐบาล ว่าฝุ่นเยอะทำไมต้องสั่งโรงเรียนหยุด จริงๆ แล้วโรงเรียนไม่ได้เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น ประเด็นนี้สำคัญที่เราต้องมองสองเรื่อง คือการเอาเด็กออกจากที่เสี่ยงนี่คือเรื่องสำคัญ อย่างที่สองคือ จำนวนรถยนต์ของผู้ปกครองที่ไปส่งบุตรหลาน ถ้าเราเอาจำนวนรถและเวลาของการปลดปล่อยมลสารบนถนนออกได้ มันก็ช่วยลดการปล่อยได้ เมื่อลดเวลาของรถที่อยู่บนถนน การติดขัดของจราจรก็น้อยลง เพราะรถที่กำลังวิ่งจะปล่อยมลสารน้อยกว่ารถที่จอดนิ่งติดอยู่กับที่ นี่เป็นเหตุผลคือที่มาที่ไปของการสั่งให้เด็กๆ หยุดเรียน บางครั้งข่าวสารก็ไม่ครอบคลุมเนื้อในของการตัดสินใจ

ต้องเข้าใจว่าการทำมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม มันไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น แต่ต้องไปทำจุดหนึ่งเพื่อทำให้ปัญหาของจุดหนึ่งลดลง เราสั่งให้คนหยุดทำงานไม่ได้ แต่ถ้าเราลดจำนวนรถยนต์จากเรื่องไปรับส่งเด็กที่โรงเรียน มันมีความสมเหตุสมผลอยู่นะ เพราะเด็กมีความเสี่ยง

หรือแม้แต่เรื่องการฉีดน้ำที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กัน ถ้าถามถึงประสิทธิภาพของการลดลงของฝุ่น มันไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญเลย…ไม่มีเลย แต่อย่างที่พูดตอนต้นว่าเรากำลังเผชิญปัญหาสองอย่าง คือฝุ่นที่ลอยในอากาศและความกลัวความวิตกกังวลของคนสองอย่างนี้ดำเนินคู่กันเสมอ โดยเฉพาะตัวหลังที่จะลุกลามไปเรื่อย ถ้าไม่มีมาตรการฉีดน้ำความกลัวฝุ่นก็ไม่บรรเทา เพราะอย่างน้อยคนก็เห็นว่าภาครัฐออกมาทำอะไรบ้าง ถ้าเกิดว่าไม่ทำอะไรเลย รออย่างเดียว ทุกคนจะยิ่งวิตกหนักกว่านี้อีก เหมือนปี 2554 ที่เราเจอน้ำท่วม วันนั้นแม้กระทั่งปลากระป๋องก็มีค่ามีความหมาย คนวิตกกันมาก มาตรการบางอย่างมันไปช่วยลดตรงฝุ่น บางอย่างมันไปลดตรงความวิตกกังวล

อาจารย์พูดถึงรถเคลื่อนที่กับรถที่หยุดนี้ อาจารย์เล่าให้ฟังได้ไหมว่ามันต่างกันอย่างไร

เวลารถวิ่งกับรถหยุด อัตราการปลดปล่อยของฝุ่นจะไม่เท่ากัน ถ้ารถหยุดนิ่งหรือสตาร์ทเครื่องอยู่กับที่หรือค่อยๆ คลาน รถจะปล่อยมลสารมากกว่าเวลาที่รถเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ยิ่งมากกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะยิ่งปล่อยมลสารลดลง ฉะนั้นถ้าจำไม่ผิดธีสิสเรื่อง ความเร็วและน้ำหนักบรรทุกของรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลต่อการปลดปล่อยและการกระจายตัวของอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก ตอบว่า lower limit ของ speed ไม่ควรจะต่ำกว่า 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ควรต่ำกว่านี้ ถ้าต่ำกว่านี้มันจะปล่อยมลสาร

ยังมีเรื่องของพื้นที่ก่อสร้าง ที่มีการบอกให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว ไม่ได้หมายความว่าไปลดฝุ่นจากการก่อสร้างนะ แต่เพื่อให้รถวิ่งได้คล่องขึ้น ก็จะได้ปล่อยมลสารให้น้อยลง แต่คนไปเข้าใจว่าชะลอการก่อสร้างเพื่อลดฝุ่นจากการก่อสร้าง ซึ่งไม่ใช่ เพราะการก่อสร้างเป็นฝุ่นใหญ่ ขนาดมันใหญ่กว่า 2.5 คนละประเด็นกัน

ผมเข้าประชุมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรานั่งคุยกันว่า จะมีมาตรการอย่างไร มาตรการแต่ละอันมีนัยยะอย่างไร แต่เมื่อมาตรการมันออกไปสู่สังคมสู่ผู้คนบริโภคข่าวสาร ความเข้าใจมันไปคนละทาง

ผมถามในที่ประชุมว่า เราสามารถเอารถออกไปจากถนนให้มากกว่านี้ได้ไหม เขาบอกทำไม่ได้นะอาจารย์ เราไม่มีกฎหมาย เราจะห้ามรถวิ่งไม่ได้ ตอนนี้ที่ทำได้คือจำกัดรถที่มีควันดำ โดย พ.ร.บ. ที่เรามีอยู่ สามารถสั่งห้ามใช้ชั่วคราว 30 วัน หมายความว่าใน 30 วันนี้เอารถกลุ่มนี้ออกจากถนนในกรุงเทพฯ มันก็เป็นการลดจำนวนรถยนต์บนถนนถูกไหม ก็ปล่อยน้อยลง แต่ไม่ใช่แค่ดีเซลเท่านั้นนะที่ปล่อย เบนซินก็ปล่อย แต่เนื่องมาจากตอนนี้มันมีกฎหมายอยู่ตัวเดียวที่เอารถออกจากถนนได้ชั่วคราวคือตัวนี้

ปีหน้า เราจะได้เจอกับปรากฏการณ์ PM2.5 อีกไหม

จริงๆ มันมาทุกปีนะ ผมมีตัวเลขย้อนกลับไปถึงปี 2558-2559 เขามาแบบนี้ทุกปี ขึ้นร้อยกว่าในช่วงธันวาคม-มกราคม เขาจะมาเสมอ แต่เนื่องจากปีนี้เขาอยู่นานกว่าปกติ ปีอื่นอาจจะแตะร้อยสักชั่วโมงสองชั่วโมงก็ลดลง แต่ปีนี้ขึ้นไปแตะ 140 ลงมาเหลือ 80 นิ่งค้างอยู่แบบนี้ ไม่ลง ค้างนาน นี่คือสภาพปีนี้ ปีก่อนหน้านี้ขึ้น-ลง ขึ้น-ลง มันก็เป็นแบบนี้ ถ้าถามว่ามันมีอยู่แล้วไหม…มี แล้วปีหน้ามาอีกไหม…มา เป็นแบบนี้แน่นอนครับ

 

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อเดือนมกราคม 2562

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Author

ชนม์นิภา เชื้อดวงผุย
นักศึกษาฝึกงานสายเลือดอีสานผู้แบกสังขารไปเรียนไกลถึงเมืองเหนือ เรียนเอกหนังสือพิมพ์ โทการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ สนใจสิ่งแวดล้อม มีเพื่อนสนิทเป็นหมอนและที่นอนนุ่มๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า