โปลิโอ VS วัคซีน Sabin ชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ในสงครามโรคระบาด

ความน่ากลัวของโควิด-19 อาจเป็นความรู้สึกใหม่สำหรับคนยุคปัจจุบัน แต่ที่จริงเหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรอบศตวรรษที่ผ่านมา จากการระบาดของโรคโปลิโอที่เต็มไปด้วยบรรยากาศความน่าหดหู่และมีการล็อคดาวน์คล้ายกับในยุคนี้ ทั้งสระว่ายน้ำ โรงภาพยนตร์ สนามเด็กเล่น ล้วนปิดให้บริการในช่วงฤดูกาลโปลิโอระบาด บรรดาผู้ปกครองต่างหวาดกลัวว่าลูกหลานจะติดเชื้อ 

ในบรรดาโรคทั้งหมดที่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มีเพียงโรคเดียวที่ถูกกำจัดให้หมดไปในมนุษย์จนถึงขณะนี้คือ ไข้ทรพิษ ส่วนโรคโปลิโอที่เคยเลวร้ายเอามากๆ ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจนเกือบจะไม่มีใครนึกถึงความน่ากลัวที่มันเคยเป็น แต่ก็ใช่ว่าโรคนี้จะหมดไปเสียทีเดียว โปลิโอเข้าขั้นเลวร้ายที่สุดในช่วงปลายทศวรรษ 1940 โดยมีผู้ติดเชื้อหลายแสนคนทั่วโลก และเป็นอัมพาตมากกว่า 35,000 คนต่อปี 

ปี 1952 จำนวนผู้ป่วยโรคโปลิโอในสหรัฐเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 57,879 ราย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3,145 ราย ส่วนผู้ที่รอดชีวิตจากโรคติดต่อร้ายแรงนี้อาจจบลงด้วยอาการอัมพาต พวกเขาต้องอาศัยไม้ค้ำ รถเข็น หรือใส่ปอดเหล็ก 

ส่วนที่ไนจีเรียจำนวนผู้ป่วยโปลิโอได้บรรลุถึงศูนย์อย่างเป็นทางการในปี 2020 ในปัจจุบันยังมีไวรัสโปลิโอชนิดพันธุ์ป่าเพียงชนิดเดียวที่ยังคงหมุนเวียนอยู่ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน

สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันระหว่างวิกฤติโปลิโอและวิกฤติโควิด คือกระบวนการฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมาก (mass vaccination) ซึ่งเป็นวิธีการที่ทั่วโลกใช้ในการต่อสู้กับโควิด หากแต่คนหนุ่มสาวที่เพิ่งเคยเจอกับโรคระบาดที่สาหัสขนาดนี้อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า mass vaccination ที่ใช้กันวันนี้เป็นวิธีการที่ได้รับมรดกมาจากชัยชนะจากสงครามโปลิโอในอดีต แม้ว่าการฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมากโดยรัฐจะดูเป็นเรื่องปกติที่เราเจอในปัจจุบัน แต่ในช่วงสงครามเย็นแนวทางนี้เรียกได้ว่า revolutionary ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก 

บทเรียนหนึ่งจากโรคโปลิโอที่เราต้องคำนึงถึงคือ การแยกความแตกต่างระหว่างวัคซีนป้องกันโรคกับวัคซีนที่ป้องกันการแพร่เชื้อ การต่อสู้เพื่อขจัดโรคโปลิโอทำให้พบความจริงที่ว่า การใช้วัคซีนที่แตกต่างกันจะมีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ต่างกัน ซึ่งแต่ละชนิดก็มีนัยสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน เมื่อหันมาดูวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยุคปัจจุบันอย่าง Moderna และ Pfizer จะเห็นว่าช่วยลความเจ็บป่วยร้ายแรงและการเสียชีวิตได้ ซึ่งเห็นได้จากความสำเร็จมหาศาลในการทดลองทางคลินิก แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะหยุดการแพร่เชื้อได้หรือไม่ 

ความแตกต่างระหว่างการป้องกันโรคกับการป้องกันการแพร่เชื้อเป็นเรื่องสำคัญมาก วัคซีนโปลิโอที่เป็นวัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine) ที่สร้างโดย Jonas Salk ในปี 1953 สามารถป้องกันโรคได้ กล่าวคือ การป้องกันการเริ่มมีอาการที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เช่น อัมพาต และกระตุ้นการตอบสนองของแอนติบอดีที่คงอยู่ยาวนานซึ่งยังคงมีผลเป็นเวลาหลายปี แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายทางจมูก ปาก หรือลำไส้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถกำจัดไวรัสโปลิโอได้ทั้งหมด ผู้ที่ได้รับวัคซีนยังสามารถแพร่เชื้อไวรัสได้ ท้ายที่สุดวัคซีน Salk ถูกใช้ในสหรัฐอย่างแพร่หลายในช่วงสงครามเย็น ทำให้สหรัฐสามารถลดอัตราการตายและอัมพาตจากโปลิโอได้ 

Jonas Salk / photo: March of Dimes Foundation

ที่จริงแล้ววัคซีนที่นำไปสู่การกำจัดโปลิโออย่างได้ผลในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ใช่วัคซีนของสหรัฐ แต่เป็นวัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่ผ่านการทดลองและนำไปใช้อย่างแพร่หลายในประเทศยุโรปตะวันออก นั่นคือ วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในช่องปากที่เป็นวัคซีนเชื้อลดฤทธิ์ (attenuated vaccine) เป็นผลงานคิดค้นของ Albert Sabin ที่ใช้เป็นครั้งแรกในปี 1961 ซึ่งมีคุณูปการต่อสุขภาพเยาวชนทั่วโลก ไม่เพียงเพราะมันถูกและง่ายกว่าในการจัดการ แต่เพราะประสิทธิภาพอันน่าทึ่งของวัคซีนตัวนี้ด้วย 

ความรู้ในพัฒนาการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน Sabin เป็นสิ่งที่อัศจรรย์ทั้งในวงการทางการแพทย์สมัยใหม่และวิทยาศาสตร์ แต่อีกหนึ่งความน่าสนใจของประวัติศาสตร์การต่อสู้กับโปลิโอและวัคซีน Sabin นั้นอยู่นอกเหนือศาสตร์เหล่านี้ มันถูกเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์เล็กๆ ในบริบทของอุดมการณ์ทางการเมืองและการเมืองโลกในช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญที่ทำให้การต่อสู้กับโปลิโอและการแพร่ขยายของวัคซีน Sabin ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ การทดลองวัคซีนและการดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมากของประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก 

‘โปลิโอ’ ภัยต่ออุดมการณ์แห่งคอมมิวนิสต์ 

สำหรับประเทศเสรีประชาธิปไตยในยุโรปช่วงสงครามเย็น โรคโปลิโออาจเป็นเพียงแค่โรคระบาดหนึ่งที่คุกคามสุขภาพของประชาชน แม้เป็นภัย แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่าภัยความมั่นคงจากบรรยากาศทางการเมืองและการทหารที่ตึงเครียดในยุคสมัยของสงครามเย็น แต่สำหรับประเทศคอมมิวนิสต์ในอีกฟากหนึ่งนั้น โปลิโอไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนเพียงอย่างเดียว มันยังเป็นอันตรายต่อภาพลักษณ์ของระบอบและอุดมการณ์แห่งคอมมิวนิสต์ทั้งหมด เพราะถ้าหากรัฐที่ประกาศกร้าวว่าระบอบการปกครองของตนที่ดีที่สุดต่อชีววิตของผู้คนไม่สามารถเอาชนะโรคระบาดนี้ได้ ผลลัพธ์อาจหมายถึงการพ่ายแพ้สงครามตั้งแต่ยังไม่ได้ปะทะกับใครเลยก็เป็นได้ 

Albert Sabin

ปรากฏว่าการจัดการกับโรคระบาดโปลิโอของประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก ถึงขนาดที่ประเทศฝั่งประชาธิปไตยที่ไม่เคยชื่นชมศัตรูยังต้องสดุดี ทั้งการทดลองใช้วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสเชื้อเป็น และการฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนมากของประเทศคอมมิวนิสต์ นำโดยสหภาพโซเวียต เชโกสโลวาเกีย และฮังการี ที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโรคโปลิโอและเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ ทั่วยุโรป 

สงครามโปลิโอยังก่อให้เกิดความมือร่วมกันระหว่างประเทศจากสองขั้วอุดมการณ์ที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้น เรียกได้ว่านี่คือไม่กี่ครั้งที่ม่านเหล็กแห่งสงครามเย็นไม่สามารถปิดกั้นยุโรปได้ 

โครงสร้างแบบบนลงล่างในการจัดการโรคระบาดในสมัยนั้นถูกมองว่าเป็นอะไรที่คอมมิวนิสต์เอามากๆ ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นวิธีการที่ถูกยอมรับว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการกับโรคโปลิโอในระดับโลก 

การทดลองวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับชาติของประเทศคอมมิวนิสต์ได้ถูกถกเถียงอย่างกว้างขวางในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งนำวัคซีน Sabin มาใช้ และยุทธศาสตร์การสู้กับโรคระบาดโปลิโอของประเทศฮังการี คิวบา และบราซิล ในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นโมเดลให้กับโครงการของ WHO ในการต่อสู้กับโปลิโอ แม้รัฐสังคมนิยมจะพ่ายแพ้ในสงครามเย็น และไม่ได้โดดเด่นในสงครามโควิด แต่พวกเขามีชัยเหนือสงครามโปลิโอ ที่จนถึงวันนี้ยังคงเป็นต้นแบบการจัดการโรคระบาดให้รัฐทั่วโลก 

ช่วงแรกของการฉีดวัคซีนโปลิโอในยุโรปตะวันออก

การฉีดวัคซีนโปลิโอกลายเป็นกิจการที่ใหญ่โต เนื่องจากมีการติดเชื้อปรากฏบ่อยขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาวัคซีนจึงกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่ง และได้ดึงดูดการสนับสนุนจากแหล่งทุนในการทำวิจัยอย่างมาก วัคซีนชนิดแรกที่ผลิตและจำหน่ายอย่างแพร่หลายคือวัคซีน Salk ที่ผลิตจากไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว ซึ่งพัฒนาโดย Jonas Salk แพทย์ชาวอเมริกัน

ในปี 1955 ที่สหรัฐอเมริกา การคิดค้นและพัฒนาวัคซีนคือขั้นตอนที่สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการสถาปนาประสิทธิภาพของมัน วัคซีน Salk ได้รับการอนุมัติจากสหรัฐอย่างรวดเร็ว และบางคนอาจบอกว่ามันเร็วเกินไปด้วยซ้ำ

ประสิทธิภาพของวัคซีน Salk สวนทางกับผลลัพธ์ที่ปรากฏ ตัวอย่างเช่น วันที่ 25 เมษายน 1955 เด็กคนหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ฉีดวัคซีน Salk ต้องถูกส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการของโรคโปลิโอ วันรุ่งขึ้นมีรายงานผู้ป่วยที่คล้ายคลึงกัน 5 ราย ผู้ป่วยทั้งหมดเหล่านี้ได้รับวัคซีน Salk ที่ผลิตโดย Cutter Laboratories และในวันที่ 27 เมษายน บรรดาแพทย์ได้ขอให้ Cutter เรียกคืนวัคซีน Salk ทั้งหมด

และในช่วง 2 เดือนถัดมา พบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีน Salk 94 ราย มีผู้ติดเชื้อภายในครอบครัว 126 ราย และผู้ติดเชื้อในชุมชน 40 ราย ทุกรายล้วนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโปลิโอไมเอลิติส 

สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง มันสั่นคลอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อวัคซีน Salk ที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียว สิ่งนี้ปูทางไปสู่การเร่งพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ของยุโรปตะวันออกที่จะเอาชนะโปลิโอได้จริงๆ และนั่นก็คือวัคซีน Sabin 

ก่อนวัคซีน Sabin จะถูกพัฒนาสำเร็จ การถกเถียงในวงการแพทย์ตะวันตกว่าด้วยประสิทธิภาพของวัคซีน Salk ดำเนินไปอย่างเสรีและกว้างขวาง ในขณะที่ยุโรปตะวันออกกำลังนำเข้าวัคซีน Salk โดยปราศจากการถกเถียงทางวิชาการการแพทย์ใดๆ การดำเนินควบคุมโรคโปลิโอในยุโรปตะวันออกดำเนินไปอย่างไม่แข็งขันอะไรมากนัก หากเปรียบเทียบกับในสหรัฐ เพราะรัฐบาลของประเทศคอมมิวนิสต์เหล่านี้มองว่าโปลิโอที่ระบาดในประเทศของตนยังไม่ใช่ภัยอันตรายมากนัก เพราะยังพบได้ไม่มาก โปลิโอมักจะระบาดแค่ในช่วงฤดูร้อน แถมยังไม่ได้ระบาดทุกปี ผนวกกับเหตุผลทางการเงินที่การนำเข้าวัคซีนนั้นมีต้นทุนสูง และถ้าหากจะผลิตภายในประเทศก็มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ยุโรปตะวันออกจึงเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าอยู่มากในระยะแรกๆ 

เชโกสโลวาเกียเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในยุโรปตะวันออกที่มีแผนนำวัคซีน Salk มาใช้ ในขณะที่กำลังวางแผนเตรียมการผลิตวัคซีนในประเทศในปี 1956 เชโกสโลวาเกียต้องเจอกับคลื่นการระบาดที่พุ่งสูงผิดปกติ ทำให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนแผนการควบคุมโรค โดยจำเป็นต้องเริ่มการฉีดวัคซีนที่ยังไม่สามารถผลิตได้เองตั้งแต่ปลายปี 1957 เชโกสโลวาเกียได้รับวัคซีนจาก Connaught Laboratories ในแคนนาดา และเริ่มกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันในฤดูใบไม้ผลิปี 1957 ก่อนเริ่มฤดูกาลแพร่ระบาด พวกเขาเลือกใช้วิธีที่เรียกว่า ‘วิธีแบบเดนมาร์ก’ นั่นก็คือ การฉีดวัคซีนปริมาณน้อยเข้าทางผิวหนัง โดยใช้วัคซีน 0.1 และ 0.15 มิลลิกรัม ใน 2 โดส 

นักสุขอนามัยของเชโกสโลวาเกียให้เหตุผลกับการใช้วิธีแบบนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า พวกเขาจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้เด็กให้ได้มากที่สุดจากวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัด 

ในปีต่อมา หน่วยงานสาธารณสุขของเชโกสโลวาเกียได้คำนวณประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเบื้องต้นและพบว่ามีประสิทธิภาพถึงร้อยละ 66 ในภูมิภาคเช็ก และร้อยละ 72 ในสโลวาเกียสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี พวกเขาพอใจกับผลที่ได้ และตัดสินใจฉีดวัคซีน Salk ที่ผลิตในประเทศต่อไปในปี 1958 

ในส่วนของรัฐบาลฮังการีเลือกที่จะนำเข้าวัคซีน Salk ของแคนาดาและสหรัฐ โดยนำมาในปี 1957 แม้ว่าจะมีการเตรียมการสำหรับการผลิตวัคซีนในประเทศ แต่กระบวนการนี้ก็ล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการปฏิวัติที่กำลังดำเนินไปในฤดูใบไม้ร่วงปี 1956 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฮังการีไม่สามารถรอเวลาได้ เนื่องจากการระบาดของโรคโปลิโอที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮังการีกำลังขยายตัวในฤดูร้อนปี 1957 ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงต้องเริ่มต้นด้วยวัคซีน Salk ที่นำเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตโดย Connaught Laboratories บริษัท Eli Lilly and Co. และ Parke-Davis and Co. ในความพยายามที่จะกระจายวัคซีนให้ไกลที่สุด กระทรวงสาธารณสุขของฮังการีจึงเลือก ‘วิธีแบบเดนมาร์ก’ เหมือนกัน แต่โรคระบาดที่กำลังรุนแรงขึ้นในปี 1959 ด้วยอัตรา 18.3 ต่อ 100,000 จึงทำให้ในปีนั้นรัฐบาลฮังการีต้องตัดสินใจทดสอบวัคซีนแบบใหม่ที่ผลิตจากเชื้อไวรัสเชื้อเป็นของ Sabin แทน และประเทศยุโรปตะวันออกก็ปฏิบัติตามรูปแบบที่คล้ายๆ กันเหล่านี้ โดยบ้างก็นำเข้าวัคซีน Salk บ้างก็ผลิตเองภายในประเทศ แต่ทั้งหมดนี้ยังดำเนินไปอย่างไร้ซึ่งชัยชนะที่เห็นได้ชัด ก่อนที่วัคซีน Sabin จะประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

วัคซีน Sabin ผลลัพธ์ความสำเร็จระหว่างความร่วมมือข้ามม่านเหล็ก

แม้นโยบายหลักสหภาพโซเวียต พี่ใหญ่แห่งค่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น คือการสงวนการมีส่วนร่วมกับประเทศฝั่งประชาธิปไตยในยุโรปตะวันตก แต่ก็มีสองอย่างที่ทำให้นโยบายนี้ต้องผ่อนปรนลง นั่นคือ การตายของสตาลิน และโรคระบาดที่ไม่เคยรู้อิโหน่อิเหน่กับเรื่องของพรมแดนและการเมือง 

เรื่องราวของการกำจัดโปลิโอในยุโรปตะวันออก เริ่มต้นขึ้นจริงๆ ในต้นปี 1956 ในภารกิจของทีมแพทย์แห่งสหภาพโซเวียต นำโดยนักไวรัสวิทยา Milikail Chumakov ผู้ที่ศึกษาการผลิตวัคซีน Salk และการวิจัยด้านระบาดวิทยาในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง และได้เดินทางไปศึกษางาน ณ ห้องทดลองของ Albert Sabin นักวิจัยทางการแพทย์ชาวโปแลนด์-อเมริกัน ในเมืองซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ การมาเยือนครั้งนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนความร่วมมือที่ยาวนานระหว่างนักวิจัยวัคซีน Sabin และโซเวียต

Milikail Chumakov

ความแปลกใหม่ของวัคซีน Sabin คือแทนที่จะใช้เชื้อไวรัสที่ตายแล้ว วัคซีนนี้กลับมุ่งหวังที่จะสร้างภูมิคุ้มกันด้วยไวรัสที่มีฤทธิ์อ่อน แต่ยังมีชีวิตอยู่ วัคซีนไวรัสเชื้อเป็นของ Sabin ยังแตกต่างจากวัคซีนของ Salk ในลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ สามารถรับประทานได้แทนที่จะฉีดเข้าผิวหนัง 

วัคซีนโปลิโอเชื้อเป็นไม่เคยได้รับการทดสอบในปริมาณมากในสหรัฐอเมริกาเลย ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ความนิยมของวัคซีน Salk ในฐานะวัคซีนหนึ่งเดียวของสหรัฐ และเป็นเพราะหน่วยงานต่างๆ และแหล่งทุนในสหรัฐไม่ต้องการที่จะสูญเสียเงินลงทุนมหาศาลไปกับการวิจัยวัคซีนอีก ดังนั้น การทดลองไวรัสโปลิโอที่มีชีวิตส่วนใหญ่จึงดำเนินการนอกสหรัฐอเมริกา

ทันทีที่ Sabin เลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการสร้างวัคซีน เขาก็ส่งตัวอย่างไปที่ Anatol Smorodintsev เพื่อนร่วมงานของ Chumakov ในเมือง Leningrad การทดลองภาคสนามเริ่มต้นในปี 1957 ในระดับที่เล็กมาก โดยมีเด็ก 67 คน ได้รับวัคซีน ในจำนวนนี้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 150 คน จากนั้นเป็น 2,010 คน และสุดท้ายเป็น 20,000 คน ในปี 1958 ขนานไปกับการทดลองของ Smorodintsev ซึ่งเป็นการทดลองภาคสนามอีกครั้งหนึ่ง ริเริ่มโดย Chumakov ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโรคโปลิโอไมเอลิติสในกรุงมอสโก Chumakov ขอให้ Sabin ส่งวัคซีนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้กับเขาสำหรับการทดสอบและการผลิต Sabin ส่งวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอสำหรับเด็ก 300,000 คน และหลังจากประสบความสำเร็จในขั้นต้น ก็สามารถดำเนินการทดลองภาคสนามครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของวัคซีนโปลิโอได้

ในปี 1959 ความร่วมมือของ Chumakov และ Sabin นำไปสู่การทดลองภาคสนามครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การกำจัดโปลิโอ ด้วยการทดลองในคนกว่า 16.5 ล้านคนทั่วสหภาพโซเวียต โดยมี WHO ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบผลการทดลอง ในขณะที่การทดลองของสหภาพโซเวียตเป็นการทดลองที่ใหญ่ที่สุด การทดลองอื่นๆ ในยุโรปตะวันออกก็มีความสำคัญเท่าเทียมกันในการสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาประสิทธิภาพของวัคซีน เช่น เชโกสโลวาเกียและฮังการี

ภายในสิ้นปี 1959 ผู้คนกว่า 15 ล้านคน จาก 14 สาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตได้รับการฉีดวัคซีนในการดูแลของ Smorodintsev ส่วนที่เหลือได้รับวัคซีนจากห้องปฏิบัติการของ Chumakov ในสถาบันวิจัยโปลิโอไมเอลิติสในมอสโก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหภาพโซเวียตได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1959 ให้ฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั้งหมดที่มีอายุระหว่าง 2 เดือน ถึง 20 ปี ภายในเดือนกรกฎาคม 1960 ซึ่งหมายถึงการฉีดวัคซีนแก่ผู้คน 77 ล้านคน ในเวลาไม่กี่เดือน The British Medical Journal เคยระบุไว้ว่า แคมเปญนี้เป็น ‘Blitzkrieg against poliomyelitis’ หรือ ‘การทำสงครามโปลิโอแบบสายฟ้าแลบ’

จาดซ้ายไปขวา: Marina K. Voroshilova, Albert B. Sabin, Mikhail P. Chumakov, Anatolii A. Smorodintsev.

จากโซเวียตสู่ค่ายคอมมิวนิสต์ทั่วยุโรปตะวันออก

Sabin ได้ติดต่อกับนักวิทยาศาสตร์ชาวฮังการีและเชโกสโลวาเกียตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา โดยแลกเปลี่ยนมุมมอง ข้อมูล และวิธีการ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการผลิตวัคซีนและประสิทธิภาพ การติดต่อสื่อสารอย่างกว้างขวางของ Sabin แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายวิชาชีพที่กว้างขวาง ซึ่งครอบคลุมทวีปต่างๆ ที่ข้ามผ่านเส้นแบ่งทางการเมือง และขยายไปไกลกว่าม่านเหล็ก Sabin กลายเป็นศูนย์กลางให้กับนักไวรัสวิทยาทั่วยุโรป ความร่วมมือระหว่างนักไวรัสวิทยาในตะวันออกและตะวันตกได้สร้างให้เกิดเครือข่ายทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นฐานความร่วมมือในยุคสงครามเย็น และสืบเนื่องมาหลังสงครามจบลง งานวิจัยของ Sabin เองได้ประโยชน์จากความร่วมมือนี้อย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากเขาสามารถเข้าถึงงานที่ดำเนินการในห้องปฏิบัติการทั่วยุโรปโดยตรงและทันที 

ความร่วมมือภายในค่ายคอมมิวนิสต์ในเรื่องสุขภาพ การแพทย์ และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เกิดเป็นการสร้างระบบสุขภาพระหว่างประเทศ ไม่เพียงแต่ได้แรงสนับสนุนมาจากความจริงที่ว่าประเทศเหล่านี้อยู่ติดกันเท่านั้น แต่ยังเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่นอกเหนือ WHO ในช่วงทศวรรษ 1950 และเป็นปัจจัยที่ผลักให้ประเทศเหล่านี้มีความต้องการที่จะสร้างระบบสาธารณสุขระดับโลกของตัวเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของลัทธิสังคมนิยมสากลด้านสาธารณสุข 

เชโกสโลวาเกีย ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจาก Sabin ได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนที่ขยายไปทั่วประเทศในปี 1960 โดยใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศจากการพัฒนาของ Sabin และวัคซีนที่นำเข้าจากสหภาพโซเวียต นำไปสู่การฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรเด็กของเชโกสโลวาเกียถึง 93 เปอร์เซ็นต์ คือ เด็กประมาณ 3.5 ล้านคนที่มีอายุระหว่าง 2 เดือน ถึง 14 ปี ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในทันที และทำให้เชกโกสโลวาเกียปลอดภัยจากโปลิโอในช่วง 2 ฤดูกาลแรกของการแพร่ระบาด 

ทางด้านฮังการี แม้จะเป็นที่รู้จักน้อยกว่าการทดลองภาคสนามและโครงการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในระยะแรกในสหภาพโซเวียตและเชโกสโลวาเกีย แต่ฮังการีก็เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวัคซีนของ Sabin ด้วยเช่นกัน โดยเป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน Sabin ในระดับชาติในช่วงต้นเดือนธันวาคม 1959 นักไวรัสวิทยาชาวฮังการีและหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ติดตามการทดลองฉีดวัคซีน Sabin ในช่องปากอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งปี และบางคนได้ติดต่อกับ Sabin เป็นการส่วนตัว 

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 1959 การฉีดวัคซีนทั่วประเทศในฮังการีได้เริ่มขึ้น และภายในปี 1960 ฮังการีฉีดวัคซีนให้กับคน 2.5 ล้านคน มากกว่าจำนวนทั้งหมดใน 2 ปีของการฉีดวัคซีน Salk 

การรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมากด้วยวัคซีนโปลิโอไวรัสเชื้อเป็น เกิดขึ้นตามมาในประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ในไม่ช้า เช่น บัลแกเรีย ในปี 1960 กำหนดเป้าหมายเด็กประมาณ 2 ล้านคนที่มีอายุระหว่าง 2 เดือน ถึง 14 ปี ในโรมาเนีย ปี 1961 และอีกหลายประเทศ ที่ฉีดให้กับประชากรทั้งหมดที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งมีอยู่ราวๆ 10 ล้านคน ความสำเร็จที่น่าทึ่งเหล่านี้ทำให้รัฐบาลยุโรปตะวันออก ตะวันตก และนักวิจัยจากที่ต่างๆ ล้วนก็มองว่าการทดลองภาคสนามและการฉีดวัคซีนจำนวนมหาศาลนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับรัฐคอมมิวนิสต์ ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของความเหนือกว่าของระบบอุดมการณ์และการเมืองของพวกเขา อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องของการบังคับใช้นโยบายและปฏิบัติการของรัฐแบบคอมมิวนิสต์ที่เด็ดขาด

การสื่อสารถึงความสำเร็จของค่ายสังคมนิยมในการเอาชนะโปลิโอเป็นไปอย่างโอ่อ่า ในช่วงที่ยังมีการใช้วัคซีน Salk ประเทศยุโรปตะวันออกมักแสดงภาพลักษณ์ออกไปว่า รัฐบาลเป็นวีรบุรุษ ซึ่งแม้จะต้องลำบากและต้องเผชิญกับหนี้สินมากแค่ไหนก็ตาม ก็จะไปเอาวัคซีนมาให้เด็กๆ ให้ได้ พอมาถึงช่วงการใช้วัคซีน Sabin รัฐบาลก็อ้างถึงความช่วยเหลือ ความร่วมมือที่สหายมีให้กัน รวมถึงความจริงใจที่จะประสานงานข้ามม่านเหล็กกับโลกฝั่งตะวันตก เหมือนที่หนังสือพิมพ์รายวัน Népszava เคยทำข่าวไว้ว่า รัฐบาลฮังการี ‘ขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและมันได้ผล’ ฮังการีรับวัคซีน 2.5 ล้านโดส โดยไม่มีการกล่าวถึงค่าใช้จ่ายใดๆ ต่อมา เจ้าหน้าในพรรคคอมมิวนิสต์ได้เปรียบเทียบโลกที่ปลอดโปลิโอของยุโรปตะวันออกกับประเทศตะวันตกที่กำลังดิ้นรน เพราะต้องยึดถือหลักการการค้าเสรีและคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลในยุโรปตะวันตกไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนไปใช้วัคซีน Sabin และด้วยเหตุนี้จึงยังคงประสบกับโรคระบาดโปลิโออยู่ในเวลานั้น 

Vilém Škovránek หัวหน้ากรมสุขอนามัยของเชโกสโลวาเกีย ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ความสำเร็จของกลยุทธ์การป้องกันโปลิโอของเชโกสโลวาเกียนั้นเป็นหลักฐานของสามารถในการจัดระเบียบสังคมที่เคร่งครัด ซึ่งได้การตอบรับที่ดีจากประชากรโดยทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากมากที่จะค้นพบว่าประชากรยุโรปตะวันออกมีความสมัครใจในการปฏิบัติตามนโยบายจริงเพียงใด การสื่อสารอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนแทบไม่ได้ประสบปัญหาหรือความท้าทายใดๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจในรัฐเผด็จการ 

คอมมิวนิวสต์พิชิตไวรัส

โครงสร้างทางการเมืองและสังคมของกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์มีผลอย่างมากต่อโครงการกำจัดโปลิโอทั่วโลกในปลายศตวรรษที่ 20 และต่อมาในศตวรรษที่ 21 

การทดลองวัคซีนและการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกได้รับการยอมรับจากชุมนุมนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก 

การศึกษาทางซีรัมวิทยาของฮังการีและการศึกษาวัคซีนที่สร้างจากโปลิโอไมเอลิติสในช่วงหลายทศวรรษหลังการสิ้นสุดของโรคโปลิโอในฮังการี มีส่วนทำให้เกิดความเข้าใจในความเสี่ยงของวัคซีนและการปรับแต่งองค์ประกอบของวัคซีนอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ หลายๆ แคมเปญการฉีดวัคซีน Sabin เช่น แคมเปญในคิวบาในทศวรรษ 1960 ได้กลายเป็นต้นแบบสำหรับโครงการกำจัดโปลิโอทั่วโลกในปัจจุบัน 

โมเดลการฉีดวัคซีน Sabin ถูกนำมาใช้ในคิวบาในปี 1962 โดยมีแนวคิดที่สนับสนุนระบบการดูแลสุขภาพของรัฐบาลปฏิวัติและทัศนคติต่อการป้องกันโรคที่สอดคล้องกับแนวความคิดด้านสาธารณสุขของสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก การสร้างระบบ Cuban Sistema Nacional de Salud หรือระบบสวัสดิการด้านสุขภาพของคิวบานั้นยังมีพื้นฐานมาจากโมเดลการวางแผนสุขภาพของเชโกสโลวาเกียและทีมแพทย์ของสหภาพโซเวียต ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากโซเวียตและประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ หมุนเวียนมาสนับสนุนคิวบาเพื่อชดเชยการขาดแคลนแพทย์ของคิวบาอีกด้วย นั่นเป็นเพราะคิวบาสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไปมากหลังการปฏิวัติ 

หนึ่งในกำลังเสริมสำคัญที่คิวบาได้รับในการรณรงค์ฉีดวัคซีน มาจาก Karel Zacek ผู้เชี่ยวชาญด้านโปลิโอของเชโกสโลวาเกีย Zacek ใช้ผลจากการศึกษาทางซีรัมวิทยาในการจัดตั้งระบบเฝ้าระวัง และผลกระทบของโรคและวัคซีน เขาได้สร้างแบบประเมินอาการในประชากรโดยแบ่งตามกลุ่มอายุต่างๆ และศึกษาฤดูกาลของโรค โครงการการฉีดวัคซีนได้ดำเนินไปตามคำแนะนำ Zacek เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรที่มีอายุระหว่าง 1 เดือน ถึง 15 ปี Sabin Zacek เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดบรรยายระดับชาติและระดับภูมิภาคเกี่ยวกับโรคโปลิโอและวัคซีนโปลิโอในช่องปากให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและผู้อำนวยการเขตต่างๆ ซึ่งได้รับการฝึกฝนเป็นผู้ฉีดวัคซีนจากกลุ่มองค์กรทางสังคมต่างๆ ทั่วยุโรป 

คิวบากลายเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นประเทศแรกที่กำจัดไวรัสโปลิโอสายพันธุ์ป่าได้สำเร็จในซีกโลกตะวันตก 

จากนั้นแนวทางกาารฉีดวัคซีนกำจัดโปลิโอแบบคอมมิวนิสต์จึงค่อยๆ เดินทางจากยุโรปตะวันออกไปยังละตินอเมริกา ประสบการณ์ของคิวบากลายเป็นพื้นฐานของการจัด ‘วันสร้างภูมิคุ้มกันแห่งชาติ’ ในละตินอเมริกาในทศวรรษต่อมา กรณีที่น่าสังเกตกรณีหนึ่งในการขจัดโปลิโอในละตินอเมริกาที่ใช้แบบจำลองของคิวบาคือ วันสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ (NIDs) ในบราซิล ซึ่งส่งผลต่อกลยุทธ์ระดับโลกอย่างมีนัยสำคัญ ในไม่ช้าแนวทางแบบ NIDs ก็แพร่กระจายไปยังนิการากัว สาธารณรัฐโดมินิกัน และส่วนอื่นๆ ของละตินอเมริกา วิธีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนมากด้วยวัคซีน Sabin ถูกนำไปใช้โดยจีนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 และจากความสำเร็จของจีน จึงตามมาด้วยการขยายต่อไปยังภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกของที่ดำเนินการโดย WHO

ในหนังสือ ลัทธิสากลนิยมโซเวียตหลังสตาลิน ของ Tobias Rupprecht มีข้อถกเถียงว่า การปฏิสัมพันธ์กับรัฐในละตินอเมริกาเป็นผลผลิตของบรรยากาศการส่งออกแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ และมันสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐแบบโซเวียตและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกอย่างมาก ซึ่งความสัมพันธ์นี้ถูกยึดครองโดยปัญญาชน นักการเมือง และพลเมืองธรรมดาๆ 

อีกหนึ่งโครงการขยายแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ในวิกฤติโรคระบาดโปลิโอ คือการกระจายข่าวสารและโฆษณาชวนเชื่อ ในขณะที่การกระจายข่าวเหล่านี้พยายามโปรโมทลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีพื้นหลังมาจากการมีส่วนร่วมของประเทศคอมมิวนิสต์หลายประเทศ แต่ดูเหมือนว่าโซเวียตจะได้รับเครดิตมากกว่าใครเป็นพิเศษ ข่าวที่มักพบเห็นได้ตามหนังสือพิมพ์คือ การเน้นย้ำว่าวัคซีนถูกผลิตและแจกจ่ายโดยโซเวียต รวมถึงรายชื่อของประเทศปลายทางที่ได้รับวัคซีน เช่น แอลเบเนีย บัลแกเรีย เวียดนาม เกาหลี และจีน ในปี 1961 มีการมอบวัคซีนกว่า 10 ล้านโดส ให้ญี่ปุ่น และกว่า 100,000 โดส ให้อินเดีย กรุงไคโร และเม็กซิโก เหล่านี้ล้วนมีต้นทางมาจากสหภาพโซเวียตทั้งสิ้น 

ความรับผิดชอบของรัฐต่อความเป็นความตายของพลเมือง

องค์ประกอบหนึ่งที่โดดเด่นในโครงการ Global Polio Eradication Initiative ในศตวรรษที่ 21 คือ การปรับใช้จากแบบอย่างที่เกิดขึ้นในระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของระบอบการปกครองที่มีประสิทธิภาพต่อการป้องกันหรือรักษาโรคระบาด อย่างที่ โดโรธี ฮอร์สท์มันน์ นักไวรัสวิทยา เสนอไว้ว่า ระบบการเมืองแบบเผด็จการและองค์กรสุขภาพแบบทหารจากบนลงล่างเป็นเครื่องรับประกันความสามารถของรัฐโซเวียตในการดำเนินการการรักษาผู้คนนับหลายล้านได้อยู่หมัด ระบบนี้อนุญาตให้มีการสอดส่อง การแทรกแซง และการควบคุมในระดับที่สาธารณสุขตะวันตกทำได้แค่ฝันถึง

แม้แต่เจ้าหน้าที่ของ WHO ในปัจจุบัน เช่น Leonard Jan Bruce- Chwatt จากคณะผู้เชี่ยวชาญเรื่องมาลาเรีย ยังต้องสดุดีให้กับองค์กรรณรงค์ต่อต้านโรคมาลาเรียของสหภาพโซเวียตและระบบศูนย์การแพทย์ของโซเวียต 

ในการประเมินแคมเปญวัคซีน Sabin นักไวรัสวิทยาชาวฮังการี เชโกสโลวาเกีย และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวความคิดทางสังคมนิยม โดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบของรัฐต่อสุขภาพของประเทศ นักประวัติศาสตร์อย่าง Enrique Beldarraín ได้เคยชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เขามองว่าเป็นขั้นตอนสำคัญในความสำเร็จของการควบคุมโรคโปลิโอในคิวบาว่า การปฏิวัติแนวคิดเรื่องสุขภาพในทางกฏหมายให้เป็นสิทธิพลเมืองและความรับผิดชอบของรัฐอย่างเคร่งครัดคือกุญแจที่สำคัญมาก 

ความเป็นเผด็จการของประเทศคอมมิวนิสต์และนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้เป็นเพียงองค์ประกอบเดียวที่มีบทบาทสำคัญต่อยุโรปตะวันออกและคิวบาในการกำจัดโรคโปลิโอในระยะแรก ดังที่เห็นว่าองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาวัคซีน Sabin และวิธีการฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมาก คือ การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษที่พวกเขายังไม่ได้เข้าร่วมกับ WHO การสร้างเครือข่ายสหายที่ดูแลกันเอง ในระดับภูมิภาค และการสร้างเครือข่ายใหม่ทั่วโลก ภายใต้เป้าหมายของปกป้องคุ้มครองพลเมืองให้รอดพ้นจากภัยคุกคาม

อ้างอิง

โอมาร์ หนุนอนันต์
นักศึกษาสาขาการเมืองระหว่างประเทศผู้สนใจในความคิด อุดมการณ์ และอำนาจการครอบงำที่อยู่ในสิ่งสามัญรอบตัว หลงใหลในภาษาและการสื่อสาร ที่มักซ่อนเร้นความจริงบางอย่างที่มนุษย์ผู้ใช้ภาษาไม่เคยควบคุมมันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า