ปีแห่งความตายของชาวนา

คอลัมน์: ประชาชนเกี่ยวอะไร
เรื่อง: ประภาส ปิ่นตบแต่ง

prapart-online-01

การปลูกข้าวและผลผลิตข้าวจำนวนมากในปัจจุบันคือราว 38.24 ล้านตัน (ตัวเลขมักไม่ค่อยตรงกัน ช่วงจำนำข้าวระบุว่า มีข้าวเปลือกราว 33 ล้านตันต่อปี) คิดเป็นข้าวสารจำนวน 24.86 ล้านตัน เราจึงพึ่งตลาดส่งออก เนื่องจากปริมาณการบริโภคข้าวภายในประเทศมีเพียง 10.66 ล้านตันข้าวสาร[1] ในขณะที่เราส่งออกได้เพียงปีละ ราว 7-10 ล้านตันข้าวสารในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

นั่นหมายความว่า ต้องเหลือปริมาณข้าวค้างในประเทศเป็นจำนวนมาก ใครๆ ที่ชอบบอกว่าให้เราอยู่อย่างพอเพียง ปลูกเอาไว้กินก่อน เหลือค่อยขาย ก็ต้องทำให้ผู้คนและตนเองกินข้าววันละเก้ามื้อ แต่ปัญหาก็คือ เราเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวสำหรับการส่งออก ข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพต่ำ ข้าวอายุสั้น ข้าวแข็ง หุงแล้วหมายังไม่กิน เราปลูกข้าวเหมือนปลูกยางพารามานานแล้ว โดยเฉพาะการผลิตในภาคกลางและเขตชลประทาน

วิกฤติด้านราคาข้าวและรายได้

ปัจจุบันการทำนาชาวนาสามารถจ้างได้ทั้งหมดเกือบทุกขั้นตอน กล่าวคือ มีระบบการรับจ้างรองรับ ตั้งแต่ขั้นทำเทือกหรือเตรียมดิน การหว่านเมล็ดพันธุ์ การพ่นยา/สารเคมีและหว่านปุ๋ย การจ้างรถเกี่ยว ฯลฯต้นทุนการทำนาในกรณีที่ใช้วิธีการจ้างทั้งหมด (โดยไม่รวมค่าแรงเจ้าของนา) ประมาณการได้ว่าราวๆ ไร่ละ 5,500-6,000บาท[2] สำหรับนาที่ต้องจ่ายค่าเช่าก็อยู่ในอัตราขั้นต่ำคือ ไร่ละ 1,000 บาท (ส่วนกรณีที่ลงมือทำเองทั้งหมดต้องลงทุนเครื่องมือการทำนาราวๆ 200,000-250,000 บาท[3])

อย่างไรก็ดี ชาวนามักจะใช้วิธีผสมระหว่างการจ้างและการทำเองบางส่วน เช่น จ้างตีดินแต่ทำเทือกเอง พ่นยาและหว่านปุ๋ยเอง โดยปัจจุบันยังมีกลุ่มลงแขกช่วยกันพ่นยาและหว่านปุ๋ยเป็นกลุ่มๆ จำนวนมาก แต่สำหรับการเกี่ยวข้าวไม่มีใครเกี่ยวเองแล้ว จะจ้างรถเกี่ยวทั้งหมด กรณีการทำเองผสมผสานกันด้วย จะทำให้ต้นทุนการทำนาลดลงไป

ซึ่งพบว่า หลังวิกฤติการรับจำนำข้าว ชาวนาหันมาทำนากันเองมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน เช่น ไม่จ้างรถตีดิน แต่ไถและคราดทำเทือกเอง เก็บข้าวปลูกไว้ใช้เอง ซึ่งช่วงเร่งรีบผลิตทำไม่ได้ เพราะว่าการเก็บข้าวปลูกต้องตากให้แห้ง และให้ข้าวพักตัวไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน

เมื่อพิจารณาในเชิงรายได้-รายจ่ายจากการทำนาก็จะพบว่า ในช่วงที่มีโครงการประกันรายได้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกันราคาข้าวเปลือกความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ ตันละ 12,000 บาท (ราคาข้าวในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ราคาข้าวในตลาดตันละราว 9,000-11,000 บาท) ในภาคกลาง ผลผลิตจากการทำนาเฉลี่ยราวไร่ละ 80-100 ถัง หรือราวไร่ละ 1 ตัน

แต่ข้าวที่เกี่ยวสดจากนาจะมีความชื้นราว 25-28 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อย นั่นหมายความว่า  ชาวนาจะขายข้าวได้ราวตันละ 10,500-11,000 บาท (ความชื้นจะถูกหัก 1 เปอร์เซ็นต์ = 100-120 บาท อาจจะถูกหักสิ่งเจือปนอีก และค่าขนข้าวไปโรงสีอีกตันละ 200 บาท) อย่างไรก็ดี อาจจะพอประมาณการได้ว่า ชาวนาน่าจะยังพอได้กำไรไร่ละราวๆ 3,000 บาท

ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งประกาศโครงการจำนำข้าว โดยรัฐบาลรับซื้อตันละ 15,000 บาท จึงสามารถประมาณได้ว่า ชาวนาจะมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นราวไร่ละ 5,000 บาท ซึ่งถือเป็นยุคทองของชาวนาอย่างแท้จริง

นับตั้งแต่การยกเลิกโครงการจำนำข้าว จะพบได้ว่า ราคาข้าวเปลือกได้ตกต่ำลงไปอย่างมาก ข้อมูลรายงานสถานการณ์ข้าว ของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์[4] พบว่า ราคาข้าวเปลือกได้ตกลงไปอย่างมาก กล่าวคือ ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 อยู่ระหว่างตันละ 7,000-8,500 บาทเท่านั้น และในช่วงตรงกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ราคาข้าวเปลือกจะอยู่ระหว่าง 7,200-7,600 บาท เท่านั้น ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ปี 2557/2558 ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 อยู่ระหว่าง 11,500–12,700 บาทต่อตัน[5] 

ตารางแสดงราคาข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์) หลังการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว

ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. (พ.ศ)
7,900 7,900 7,900 7,900 7,600 7,600 7,600 7,600 7,600 7,900 7,900 2558
7,750 8,000 7,500 7,200 7,200 7,100 8,350 8,550 8,000 7,800 7,800 8,000 2557

 

หมายเหตุ: ใช้ฐานข้อมูลจากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ณ วันสิ้นเดือนของทุกเดือน)

ในแง่รายได้ของชาวนาในภาคกลาง ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า ชาวนาเกี่ยวข้าวสดจากในนาซึ่งมีความชื้นโดยปกติราว 25-28 เปอร์เซ็นต์ ราคาข้าวต่อตันที่ชาวนาขายได้จึงอยู่ที่ราวๆ 6,000 บาทเท่านั้น (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวนา 2-3 ราย ในตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ก็ได้รับการยืนยันว่า ขายข้าวได้ตันละ 6,000 บาท ในสองฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา และในปี 2558 ฤดูกาลการผลิตแรกยังประสบปัญหาแล้งจัดความร้อนทำให้ข้าวไม่ผสมเกสร ผลผลิตจึงลดลงเหลือราว 70 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตรวมที่เคยได้ในการทำนาปกติ

เราจึงพอสรุปได้ว่า หลังการยกเลิกนโยบายสนับสนุนราคา นับแต่การประกันราคาข้าวและโครงการรับจำนำเป็นต้นมาตั้งแต่ปี 2557 รายได้ของชาวนาอยู่ในสภาวะเท่าทุนหรือขาดทุน ชาวนาอยู่ในสภาพทำนาไม่มีกำไร ไม่มีรายได้จากการทำนามาราวสองปีแล้ว

นับแต่การยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชาวนาจึงอยู่ในสภาพวิกฤติด้านรายได้จากการทำนา มีนโยบายและมาตรการช่วยเหลือชาวนาน้อยมากและเป็นระยะสั้นๆ ในทางตรงกันข้าม เมื่อเกิดวิกฤติเรื่องภัยแล้ง รัฐบาลยังมีนโยบายห้ามชาวนาทำนาปรังถึงสองฤดูกาล ส่วนนโยบายการปลูกพืชทดแทนและการสร้างรายได้ทดแทนก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเข้ามาทดแทนรายได้ที่มาจากการทำนาได้อย่างไร

แม้รัฐบาลจะประกาศห้ามหรือขอความร่วมมือในการทำนาปรังก็ตาม แต่โดยสถานการณ์ในสองปีที่ผ่านมา และในปี 2559 ปริมาณน้ำในเขื่อนและระบบชลประทานมีน้อยไม่พอที่จะใช้ และรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะไม่สนับสนุนการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งชาวนาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ชาวนาในเขตพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะในเขตภาคกลางที่มีการปลูกข้าว 2-3 ครั้งในวิถีการปลูก

นอกจากนี้ การเปิดเสรีการค้าการลงทุนการค้าเสรี และการเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอาเซียน ทำให้อุปสงค์และอุปทานของผลผลิตทางการเกษตรมีพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ผูกโยงให้ชาวนาที่ทำการผลิตในหมู่บ้านเข้าสู่การแข่งขันในตลาดการค้าที่ไร้พรมแดน เกิดการขยายตัวของบรรษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามามีบทบาทในการผลิตอาหารที่สำคัญในภูมิภาค

ข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งความพยายามผลักดันนโยบายอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการผลิต เช่น นโยบาย GMO รวมถึงการผูกขาดทางการค้าอาหาร ทำให้ความพยายามสร้างทางเลือกของชาวนามีช่องทางไม่กว้างมากนัก และเป็นสิ่งท้าทายต่อความอยู่รอดของชาวนา

การปรับตัวและแสวงหาทางรอดของชาวนา

ในสถานการณ์เฉพาะหน้า เราอาจจะพอเห็นการดิ้นรนของชาวนาในหลายแนวทาง

ประการแรก การลดต้นทุนการทำนา จะเห็นว่าชาวนาพยายามลดต้นทุนในหลายรูปแบบ เช่น การเก็บพันธุ์ข้าวปลูกเอง  แต่วิธีการดังกล่าวนี้ก็ยังมีความจำกัด เพราะข้าวในนามักมีข้าวปน ข้าวดีด ฯลฯ ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ยังซื้อพันธุ์ข้าวปลูก

อย่างไรก็ดี อาจจะเป็นช่องทางสำคัญที่หน่วยงานราชการสามารถใช้การรวมกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ ดังที่มีการส่งเสริมศูนย์ข้าวชุมชนให้ทำงานได้จริง นอกจากเรื่องเมล็ดพันธุ์ก็จะพบว่า ชาวนาเริ่มใช้แรงงานของตัวเองทำนามากยิ่งขึ้น บางรายใช้รถไถเดินตามไถนาเองแทนการจ้างรถตีดิน การพ่นยาและใส่ปุ๋ยเอง ฯลฯ

การลดต้นทุนที่นิยมกันมากก็คือ การทำนาแบบล้มตอซัง กล่าวคือ เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาจะย่ำตอซังหรือล้มตอซังโดยใช้วิธีจ้างทีมรถย่ำตอซัง ซึ่งมักจะเป็นทีมเดียวกับทีมรับจ้างพ่นยาและหว่านปุ๋ย โดยราคาค่าจ้างคือ ไร่ละ 100 บาท บางรายก็จ้างรถเกี่ยวข้าวย่ำเลย บางรายใช้วิธีเพิ่มเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยหว่านลงไปในนาก่อนเกี่ยวข้าว เพื่อให้ข้าวขึ้นหนามากพอที่จะให้ผลผลิตมากพอๆ กับการหว่านใหม่

ประการที่สอง การปรับเปลี่ยนการผลิต ข้อมูลจากการสำรวจชาวนาในตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมช่วงหนึ่งปีที่ผ่าน ชาวนาได้ปรับเปลี่ยนอาชีพเป็นทำนากุ้งจำนวน 200 ไร่ หรือราว 20 ราย แต่การเลี้ยงกุ้งสามารถปรับเปลี่ยนได้เฉพาะชาวนาที่มีทุนมากพอเท่านั้น ชาวนาอีกส่วนหนึ่งปรับการผลิตมาเป็นการปลูกพืชที่มีตลาดรองรับ เช่น ทำนาบัว (ซึ่งต้องเป็นชาวนาที่มีรถยนต์และมีช่องทางตลาด) การทำนาผักบุ้ง ซึ่งทั้งนาบัวและผักบุ้งไม่จำเป็นต้องปรับพื้นที่ เพราะสามารถใช้พื้นนาปลูกได้เลย

อีกส่วนหนึ่งพบว่า ได้ยกผืนนาเป็นร่องสวนและปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ผักชีฝรั่ง ดอกขจร ผักหวานบ้าน ฯลฯ การปรับการผลิตยังมีอีกหลายแบบ ชาวนาจึงอยู่ในสภาพของการ ‘ด้น’ ชีวิตไปตามลีลา ความถนัด และช่องทางเงื่อนไขและโอกาสของตนอย่างหลากหลาย ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ชาวนาจะไม่ปรับเปลี่ยนโดยทั้งหมดของชีวิต แต่จะแบ่งพื้นที่บางส่วนออกไปทำอย่างอื่น อาจจะเป็นเพราะต้นทุนในเชิงเครื่องมือเกี่ยวกับการทำนามีจำนวนมาก (ผู้ที่มีเครื่องมือทำนาที่จำเป็นครบต้องลงทุนซื้ออย่างน้อย 250,000 บาท)

ประการที่สาม การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวอินทรีย์ในเชิงภาพรวมจะเห็นได้ว่า มีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่นาข้าวอินทรีย์และกลุ่มการผลิตข้าวอินทรีย์ ปัจจุบันมีผลผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์จำนวนมากขึ้น ทั้งข้าว ผัก ผลไม้ สมุนไพร ชา กาแฟ และพืชไร่ แต่สัดส่วนของผลผลิตอินทรีย์โดยส่วนใหญ่จะเป็นข้าวอินทรีย์ และยังมีพื้นที่และผลลิตน้อยมากเมื่อเทียบกับผลผลิตข้าวโดยส่วนใหญ่ กล่าวคือ มีการปลูกข้าวอินทรีย์เพียง 125,000 ไร่เท่านั้น (ตัวเลขโดย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน)

หายนะของชาวนา

เศรษฐกิจฐานรากของผู้คนที่เป็นเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ พังทลาย แม้รัฐบาลจะอ้างถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากดังเงินตำบลละ 5 ล้านบาท แต่ผลของการกระตุ้นดังกล่าว รวมทั้งนโยบายช่วยเหลือต่างๆ เมื่อมองจากสายตาชาวนาดูวังเวงยิ่งนัก

สิ่งที่ชาวนาจดจำและเห็นผลที่เกิดขึ้นชัดเจนมากที่สุดก็คือ การห้ามทำนา การปิดน้ำชลประทานไม่ให้เข้ามายังคลองส่งน้ำและพื้นที่ของพวกเขา

ชาวนาจะเผชิญกับมิติการค้าเสรี การเปิด AEC ที่แม้รัฐบาลจะบอกว่า ข้าวที่เข้ามาจะเป็นข้าวหักและปลายข้าว แต่พ่อค้าข้าวและโรงสีได้เคลื่อนย้ายไปปักหลักการลงทุนในประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่ากันแล้ว ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวในในประเทศกระทบอย่างแน่นอน

ปีหน้าฟ้าใหม่ (2559) จึงน่าจะเป็นปีแห่งความตายของชาวนาอย่างแท้จริง

 


[1](ตัวเลขปี 2555 ข้อมูลจาก นิพนธ์ พัวพงศกร, thairice.org/doc_dl/032013/ppt-b.pdf และการบริโภคในปัจจุบันก็คือตัวเลขประมาณการดังกล่าว)

[2]ข้อมูลจากกลุ่มเสวนา ชาวนาหมู่ 2 ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

[3]ข้อมูลจากกลุ่มเสวนา ชาวนาหมู่ 2 ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

[4]ricethailand.go.th

[5] ricethailand.go.th

Author

ประภาส ปิ่นตบแต่ง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักคิด นักเขียน และติดตามเรื่องการเมืองภาคประชาชนมาอย่างยาวนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า