‘เที่ยวทิพย์ ย้ายทิพย์’ แต่การย้ายประเทศทำได้จริง ถ้าตั้งใจจริง

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

กระแสย้ายประเทศทำให้หลายคนแปลกใจ ทำไมอยากย้าย และทำได้จริงหรือ

เรื่องทำไมอยากย้ายเป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ ส่วนเรื่องทำได้จริงหรือคำตอบคือทำได้ ย่อมไม่ง่ายแน่ๆ แต่ถ้าตั้งใจจริง มีแรงจูงใจแข็งกล้า มีความมุ่งมั่นมากล้น ไปได้แน่นอน

ข้อไม่ดีของต่างประเทศข้อหนึ่งคือเรื่องเหยียดผิว (racists) จะยุโรปหรืออเมริกามีกรณีเหยียดผิวทั้งนั้น

แต่ว่าบ้านเราเองไม่มีหรือ?

วันนี้จะเล่าเรื่องข้อดีของต่างประเทศเฉพาะที่เห็นด้วยตา และเห็นด้วยสายตานักท่องเที่ยวด้วย อย่างมากที่สุดก็รอบละ 7-10 วัน บางประเทศรอบเดียว บางประเทศหลายรอบ จะเล่าเฉพาะเรื่องส่วนตัวล้วนๆ แบบไม่เกรงใจใคร และไม่อายท่านที่เที่ยวมารอบโลกแล้วมากกว่ามาก

แบบว่าชาตินี้ดีใจที่ได้ออกจากกะลาไง อยากเล่าให้คนที่ไม่มีเงินหรือไม่มีเวลาจะออกว่าไปได้ไปเถอะครับ มันดีมาก ดีที่สุดคือไปประเทศพัฒนาแล้ว ออมเงินกัดฟันจ่ายไปก่อน อนาคตมีเงินเหลือค่อยมาเก็บตกพวกประเทศด้อยพัฒนาหรือที่หน้าตาเหมือนบ้านเราทีหลัง

ไป ปารีส ประทับใจปารีสหลายเรื่องมาก เรื่องแรกคือรถไฟใต้ดิน มันสุดยอดมากๆ ไปไหนมาไหนได้เร็วปรื๋อดั่งใจนึก ไม่มีคำว่ารถติด ไปได้ถึงชานเมืองทุกทิศทาง บางทิศเลยออกจากขอบปารีสไปไกล เพียงเท่านี้สำหรับคนที่โหนรถเมล์กรุงเทพฯ เป็นเวลายี่สิบปีก่อนจะได้ย้ายออกไปต่างจังหวัดก็ดีใจตายแล้ว เจ็บใจจนทุกวันนี้ว่าตอนนั้นทำไมไม่ย้ายประเทศเสียเลย

อย่างไรก็ตามควรบันทึกไว้ว่ามองใบหน้าคนปารีสบนรถไฟใต้ดินทุกวันๆ พวกเขาก็ดูหน้าตาเบื่อๆ เหมือนคนกรุงเทพฯ ขึ้นบีทีเอสทุกวัน แล้วก็เมื่อเดินออกจากสถานีรถไฟใต้ดิน (ซึ่งที่นี่เขาเรียกว่าเมโทร) ขึ้นมาบนท้องถนนในกรุงปารีส รถก็ติดพินาศเช่นกัน

ปารีสมีข้อดีอีกข้อคือมีแม่น้ำสายยาวเหยียดให้เดินเล่นรับลม มีพิพิธภัณฑ์นับพันให้เดินเล่นแก้บ้า และมีสวนสาธารณะหรือลานคนเมืองมากมายก่ายกองให้นอนกอดก่ายกันไปมา โหย มันน่าอยู่มากๆ เลยนะ เขาว่าถ้าอยู่เลยจะไม่ถูกล้วงกระเป๋า ถ้าไปเที่ยวนี่ต้องโดนแน่ๆ สักวัน

ไป ญี่ปุ่น ของไม่เคยหาย ไม่เคยถูกจี้ปล้น และรถไฟดีที่สุด ที่ว่าดีที่สุดมิใช่เรื่องตรงเวลาแต่คือเรื่องรถไฟญี่ปุ่นแยกย่อยเป็นสายเล็กๆ ไปถึงระดับเมืองเล็กๆ และหมู่บ้านบางแห่ง ขึ้นรถไฟบ่อยๆ จะเห็นคนแก่ๆ เดินขึ้นลงรถไฟได้เอง หิ้วกระเป๋าไปไหนมาไหนได้เอง ไม่เหมือนบ้านเราตัดถนนสี่เลนผ่ากลางหมู่บ้าน คนเฒ่าคนแก่ข้ามถนนมิได้อีกเลยตลอดชาติ   

สนุกที่สุดคือสถานีรถไฟมีของกินเพียบ อิ่มอร่อยราคาไม่แพง  

เช่นกัน หากนั่งรถไฟใต้ดินในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว นั่งมองหน้าพวกเขาเดินทางทุกเช้าทุกเย็นก็จะพบสีหน้าเบื่อๆ แบบคนเมืองใหญ่คล้ายๆ กัน 

ไป อังกฤษ รถไฟดีมากๆ ไปได้ทุกที่ถึงเมืองเล็กๆ ลงรถไฟต่อรถเมล์หรือเอาจักรยานที่แขวนไว้ออกมาขี่ต่อไปได้เลย รถไฟตรงเวลามากเช่นกัน ของกินอร่อยๆ มีทุกสถานีรถไฟ  

ในลอนดอนช่วงเวลาเร่งด่วนรถไฟใต้ดิน (ซึ่งที่นี่เรียกว่าทิวบ์) จะสาหัสมาก แต่รถไฟไปเมืองต่างๆ ถือว่าสะดวกมากแม้ว่าจะมีการประท้วง การซ่อมแซม หรือเปลี่ยนนั่นนี่บ่อยครั้ง 

ชอบอังกฤษที่สุดตรงซื้อเสื้อผ้าถ้าใส่แล้วไม่ชอบเอาไปเปลี่ยนหรือคืนได้ด้วย พวกเขาไม่ว่าเลย มีเคาน์เตอร์รับเปลี่ยนรับคืนแยกต่างหาก ที่ชอบมากอีกข้อคือมีร้านขายของเก่าเพื่อการกุศลของมูลนิธิต่างๆ เยอะมาก สามารถหาของดีราคาถูกได้มากมายถ้ารู้จักหา

ลอนดอนมีแม่น้ำเทมส์ให้เดินเล่นยาวมากทั้งสองฝั่ง มีพิพิธภัณฑ์มากมายเหมือนหลายๆ เมืองในยุโรป เฉพาะสวนสาธารณะถือว่ามโหฬารมาก ขนาดกว้างใหญ่ผืนต่อผืนต่อผืนต่อผืนไม่มีที่สิ้นสุด เมืองอื่นๆ ของอังกฤษก็มีลักษณะเดียวกัน  

สวนสาธารณะกับรถไฟเป็นของพื้นฐานที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกและมีคุณภาพอย่างง่ายๆ  

ไป อัมสเตอร์ดัม เห็นพวกเขาขี่จักรยานกันฉิวๆ น่าอิจฉา จักรยาน รถยนต์ รถเมล์ รถราง รถไฟ รวมทั้งเรือข้ามฟากประสานเป็นหนึ่งเดียวอย่างน่ามหัศจรรย์ คนคนหนึ่งลากกระเป๋าขึ้นรถลงเรือไปเหนือล่องใต้ได้จริงๆ เมื่อออกไปนอกเมืองอัมสเตอร์ดัมก็จะยิ่งประทับใจความเงียบสงบและสวยงามมากในหลายๆ เมือง ส่วนที่เห็นต่างจากที่อื่นๆ ในยุโรปคือสายน้ำ ดูเหมือนจะมีสายน้ำอยู่ทุกหนแห่งไม่ว่าจะไปที่เมืองไหนก็ตาม ที่แห้งขอดอย่างบ้านเราไม่เคยเห็นเลย

ไป เอสโทเนีย เอสโทเนียหลุดจากโซเวียตไม่นาน ที่เมืองหลวงทอลลินน์มีไวไฟทุกที่ บ้านเมืองเงียบสงบและสะอาดมาก ไปที่เมืองทาร์ทูซึ่งเป็นเมืองมหาวิทยาลัยและใหญ่เป็นอันดับสองของเอสโทเนียก็พบสภาพแวดล้อมที่สวยงาม น้ำ ไฟ ไวไฟ สวนสาธารณะ หงส์ กระรอก พ่อแม่เล่นกับลูกในสวน ว่างมากรึไงไม่ต้องไปปิ้งลูกชิ้นขายหรือ ขนส่งสาธารณะพร้อมมูลไปไหนมาไหนด้วยตนเองได้ไม่ลำบากเลย ไม่ทราบว่าเป็นกฎหมายบังคับหรืออย่างไรรถยนต์เมืองนี้เปิดไฟหน้าทุกคันในเวลากลางวันและจอดให้คนข้ามถนนเสมอ

 ไป สาธารณรัฐเชค หลายเมือง และไปโครเอเชียหลายเมือง ผู้คนเคร่งเครียดซึ่งเข้าใจได้ด้วยเพิ่งเป็นอิสระจากโซเวียต ผ่านสงครามยูโกสลาเวียและวิกฤตการณ์ทางการเมืองมาไม่นาน แต่ดูเหมือนระบอบประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจสู่ส่วนท้องถิ่นช่วยให้พวกเขาฟื้นตัวกันเร็วพอสมควร

เล่าให้ฟังเฉพาะประเทศที่เคยไปมากกว่าหนึ่งครั้งและไปในสถานะนักท่องเที่ยว เห็นอะไรต่อมิอะไรโดยผิวเผินจึงเห็นแต่เรื่องดีๆ เรื่องไม่ดีแทบไม่พบเลยยกเว้นเรื่องเดียวคือเรื่องล้วงกระเป๋า

ภายใต้ภาพสวยงามที่เห็นอย่างฉาบฉวยและไม่รู้จริงเพราะมิได้ไปอยู่ เชื่อได้ว่าทุกที่มีผู้ร้าย มีโจร ปล้นจี้ และมีฆาตกร บางที่มีฆาตกรต่อเนื่องด้วย มีนักการเมืองมือไม่สะอาดและมีข้าราชการโกงกิน มีตำรวจไม่ดี มีความไม่เท่าเทียม มีคนยากจนและมีคนไร้บ้าน มีขอทาน มีคนชายขอบและมีการเหยียดผิว มีความขัดแย้งทางการเมืองและอุดมการณ์อยู่ช้านานและยังคงอยู่

ดูหนังก็มีการอุ้มหายและลอบสังหาร  

ในหนัง ประเทศเหล่านี้มีสื่อมวลชนระดับพระกาฬคอยเฝ้ารัฐบาลและข้าราชการ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าในความเป็นจริงสื่อมวลชนบ้านเขาเก่งจริงแบบในหนังหรือเปล่า กระชากหน้ากากผู้ร้ายทางการเมืองออกมาได้เรื่อยๆ

ในหนัง ประเทศเหล่านี้มีมาเฟีย มาเฟียส่งลูกหลานเล่นการเมืองเหมือนๆ กัน ในตอนแรกๆ ของทุกประเทศทุกตระกูลเปิดบ่อน เก็บค่าคุ้มครอง ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยโหด เปิดซ่อง บ้างค้ามนุษย์และขายยาเสพติด แต่แล้วทุกตระกูลก็ต้องเข้าสู่กติกาการเมืองแบบประชาธิปไตยซึ่งก็คุมได้บ้างไม่ได้บ้าง

จะอย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้มีประชาธิปไตย มีการกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นจัดการตนเอง มีการประกันคุณภาพชีวิตตั้งแต่แรกเกิดในหลายๆ ด้าน เช่น การตั้งครรภ์และคลอด การศึกษาปฐมวัยและตลอดชีวิต การสาธารณสุขและประกันสุขภาพ รวมทั้งประกันสังคมและสวัสดิการหลังเกษียณ เหล่านี้แลกมากับการจ่ายภาษีจำนวนมากดังที่ทราบกันดี

เราได้ยินคำท้าทายเสมอว่าถ้าอยากได้แบบนั้นก็ต้องจ่ายภาษีเท่ากับครึ่งหนึ่งของรายได้ ซึ่งก็จะถูกเถียงกลับว่าจ่ายมากทำไมในเมื่อจ่ายหาย จ่ายหาย ไม่เห็นคืนมาสร้างทางรถไฟ ปรับปรุงทางเท้า หรือสวัสดิการสับปะรดอะไรไม่มีสักเรื่อง ยกเว้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งวันนี้ไม่คุ้มครองค่าวัคซีนที่มีคุณภาพ

ข้อเขียนวันนี้ได้จากการไปเที่ยวและดูหนังจริงๆ ไม่ได้รู้จริงสักประเทศเลย ซึ่งก็น่าจะไม่ต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ของบ้านเราที่ได้ไปเที่ยว เมื่อมีกลุ่มคน 1 ล้านคนที่ต้องการย้ายประเทศ แล้วก็มีผู้รู้จริงย้ายจริงมาเล่าประสบการณ์ตรงให้ฟังก็ยอมรับว่าน่าสนใจ น่าตื่นเต้น และน่าชื่นชมยินดี

“เพราะเด็กวันนี้เรียนหนังสือเพื่อจะได้ทำอาชีพที่ไม่มีในปัจจุบัน จะได้ใช้ความรู้ที่ยังไม่มีใครรู้ และใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่ถูกค้นพบ เผชิญปัญหาที่คนรุ่นเก่าแก้ไม่ได้ และอยู่ในสังคมที่มีการย้ายถิ่นฐานทั่วโลกขนานใหญ่” ดัดแปลงจากข้อความในหนังสือ Empowered Educators เขียนโดย ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ (Linda Darling-Hammond) แปลโดย ชลิดา หนูหล้า สำนักพิมพ์ Bookscape พ.ศ. 2564

รามคำแหง 24 คืนวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 photo: facebok page เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์

การย้ายประเทศเป็นปรากฏการณ์ที่เลี่ยงมิได้

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า