เมื่อ ‘ฮุน เซน’ ล้อมประเทศไว้หมดแล้ว ‘สม รังสี’ จะกลับมาเปลี่ยนแปลงอะไรในกัมพูชา (ได้?)

“ผมหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย เพื่อหยุดยั้งระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการที่โหดร้ายในขณะนี้”

 

กลับมาได้รึเปล่า?

ประโยคข้างต้น คือถ้อยแถลงจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมของ สม รังสี อดีตผู้นำพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party: CNRP) ระหว่างเดินทางมาหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภายุโรป เพื่อได้รับการสนับสนุนให้ยุติการครองอำนาจเผด็จการอันยาวนานของ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน

หลังจากการเลือกตั้งในปี 2013 มีการชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งที่ไม่ชอบมาพากล มีการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง กระทั่ง สม รังสี และพรรค CNRP ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง จนต้องลี้ภัยมายังประเทศฝรั่งเศส และบรรดาสมาชิกพรรคคนสำคัญรายอื่น ต่างกระจัดกระจายขอลี้ภัยไปตามประเทศต่างๆ

แกม สุขะ เป็นผู้ก้าวขึ้นมานั้งเก้าอี้หัวหน้าพรรค CNRP คนใหม่แทน สม รังสี แต่ในที่สุดก็ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2017 เขาถูกตั้งข้อหาว่า ‘ทรยศชาติ’ (ถูกจองจำ 1 ปี) ก่อนที่พรรคจะถูกยุบในปีเดียวกัน

และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2019  สม รังสี ประกาศผ่านทางเพจ Sam Rainsy ว่า จะเดินทางกลับประเทศกัมพูชาในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งตรงกับวันฉลองเอกราชของชาวกัมพูชา

“ผมจะหาทางกลับสู่กัมพูชาไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

 

สำนักข่าว Pheng Vannak News รายงานเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ว่า ที่พรมแดนไทย-กัมพูชา บริเวณช่องอานม้า จังหวัดพระวิหาร ตรงข้าม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ทหารกัมพูชาปิดหมายจับ นายสม รังสี อดีตผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชา อายุ 70 ปี และอดีต สส. กัมพูชา 8 คน

“เราต้องลองเสี่ยง ผมประเมินความเสี่ยงเหล่านั้น และมันคุ้มค่าที่จะลอง เพราะชาวกัมพูชาต้องทนทุกข์มากนาน ดังนั้นเราจะต้องลองหยุดยั้งความทุกข์ของพวกเขา”

สม รังสี กล่าวที่กรุงบรัสเซลลส์

อดีตผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชา ได้ส่งจดหมายผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเรียกร้องขอเดินทางมายังประเทศไทยโดยสายการบินไทย เที่ยวบิน TG931 ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 8 พฤศจิกายน และจะเดินทางไป อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เพื่อข้ามพรมแดนเข้าสู่ปอยเปตในวันถัดไป

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า เราดำเนินการตามมติของอาเซียน จะไม่ยุ่งกิจการภายในซึ่งกันและกัน และจะไม่ยอมให้ผู้ต่อต้านรัฐบาลมาใช้พื้นที่ไทยเป็นพื้นที่ในการเคลื่อนไหว

ปิดประตูไม่ให้ สม รังสี ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2019 มู ซกฮัว อดีตรองประธานพรรค CNRP และอดีต สส. ฝ่ายค้านกัมพูชา เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ถูกกักตัวไว้นานหลายชั่วโมง จนในที่สุดถูกปฏิเสธให้เข้าประเทศ ทำให้เธอต้องเดินทางกลับไปยังสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศต้นทาง ก่อนหน้านี้ในปี 2017 เธอได้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อขอลี้ภัยในต่างแดน ภายหลัง แกม สุขะ หัวหน้าพรรคถูกจับตัวที่บ้านพักและเผชิญข้อหากบฏ

“กัมพูชาไม่สามารถปล่อยให้กลุ่มคนทรยศชาติ ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ มาสร้างความวุ่นวายเพื่อขัดขวางความก้าวหน้าของกัมพูชาอีกต่อไปได้” สมเด็จฮุน เซน กล่าวถึงกรณีที่ สม รังสี จะเดินทางกลับประเทศกัมพูชา กองทัพกัมพูชาเตรียมการบังคับใช้กฎหมายตามคำสั่งศาลต่อ สม รังสี และอดีตผู้นำพรรค CNRP รวมถึงสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่พวกเขามองว่าเป็น ‘กลุ่มกบฏ’

พรรค CNRP มีฐานกำลังสนับสนุนจากผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มปัญญาชนคนชั้นกลาง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานเขมรที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ พวกเขาสนับสนุน สม รังสี และต้องการโค่นระบอบฮุน เซน

“สม รังสี เชื่อว่าเขามีฐานเสียงเยอะ แต่อำนาจของฮุนเซนกดไว้อยู่ นโยบายของพรรคกู้ชาติซื้อใจแรงงานกัมพูชา ขณะที่นโยบายของพรรคฮุนเซนมีลักษณะกดค่าแรงของแรงงาน” ทรงฤทธิ์ โพนเงิน วิเคราะห์ไว้กับ ThaiPBS

แต่ท่าทีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้ สม รังสี ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อกลับบ้านไปเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยในกัมพูชา

 

ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของระบอบฮุนเซน

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 ดิท มุนที หัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2017 ให้ยุบพรรค CNRP และห้ามแกนนำพรรค 118 คนข้องเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่มีคำตัดสิน

เป็นเรื่องชวนฉงนเมื่อ ดิท มุนที เป็นสมาชิกพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในประเทศกัมพูชาภายใต้อำนาจอันยาวนานของฮุนเซน

 

กลุ่ม Human Rights Watch ระบุว่า คำตัดสินยุบพรรค CNRP ในครั้งนั้น ถือเป็นจุดจบประชาธิปไตยของกัมพูชา จึงเรียกร้องให้ต่างประเทศระงับการให้ความช่วยเหลือกัมพูชาเรื่องจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018 เมื่อผู้พิพากษาเป็นผู้ภักดีต่อนายกรัฐมนตรีและยังนั่งอยู่ในคณะกรรมการกลางพรรค CPP แต่ฮุนเซนก็ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง

การเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2018 พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของสมเด็จฮุน เซน ได้คะแนนเสียง 77.5 เปอร์เซ็นต์ กวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปได้ทั้งหมด 125 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งดังกล่าวจะทำให้กัมพูชาเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียวอย่างแท้จริง หลังจากพรรคคู่แข่งอย่างพรรค CNRP  ถูกศาลสูงสุดสั่งยุบพรรคไม่นานก่อนการเลือกตั้ง

ก่อนการเลือกตั้งในปี 2018 ฮุนเซนประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 10 หลังจากที่มีอำนาจมายาวนานกว่า 30 ปี ฮุนเซนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1985 ขณะมีอายุ 33 ปี

Global Witness องค์กรอิสระจากอังกฤษ เคยเผยแพร่รายงานว่า ตระกูลของ ฮุน เซน และเครือญาติกว่า 27 ราย ถือหุ้นบริษัทในประเทศอย่างน้อย 114 แห่ง รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดกว่า 200 ล้านดอลลาร์

ในระหว่างการเลือกตั้งในปี 2018 รายงานของศูนย์สื่ออิสระแห่งกัมพูชา (The Cambodian Center for Independent Media) ระบุว่า รัฐบาลกัมพูชามีคำสั่งให้ปิดกั้นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) จากการเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ข่าวอิสระอย่างน้อย 17 เว็บไซต์ เช่น วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia) วิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America) และวิทยุเสียงประชาธิปไตย (Voice of Democracy) นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษหลายแห่งถูกปิดกั้นอีกด้วย

แน่นอนว่า รัฐบาลกัมพูชายังยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม

“การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนความต้องการและพลังของชาวกัมพูชา ที่ต้องการรักษาความสงบและเสถียรภาพ” พาย สีพัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชากล่าวภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2018

เดือนมีนาคม 2019 สมาชิกพรรค CNRP 6 รายได้ทำเรื่องขอลี้ภัยในต่างประเทศ หลังจากตกเป็นเป้าหมายการจับกุมของรัฐบาลพรรค CPP พวกเขาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นหลังจากปราศรัยต่อหน้าสาธารณชนในช่วงปลายปี 2018 สนับสนุนให้ สม รังสี ที่กำลังลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในกรุงปารีส กลับมาต่อสู้กับการยึดกุมอำนาจของพรรค CPP ที่เป็นรัฐบาล

ศาลสูงสุดของกัมพูชายังมีสายสัมพันธ์กับพรรครัฐบาล CPP ของฮุนเซน ที่เคยสั่งยุบพรรค CNRP ก่อนการเลือกตั้งปี 2018  รวมถึงมีการกวาดต้อนจับกุมสมาชิกพรรคทำให้สมาชิกพรรคอย่างน้อย 75 ราย รวมถึงนักกิจกรรมต้องหนีออกจากกัมพูชาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกจับกุม

เมื่อทุกอย่างอยู่การควบคุมของพรรคฝ่ายรัฐบาล การประกาศเดินทางกลับกัมพูชาของ สม รังสี ย่อมมีความเสี่ยง แต่ก็อย่างที่เขากล่าว “มันคุ้มค่าที่จะลอง” เพราะเขามองว่า “ชาวกัมพูชาต้องทนทุกข์มากนาน ดังนั้นเราจะต้องลองหยุดยั้งความทุกข์ของพวกเขา นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณจะเห็นผมมีชีวิตอยู่หรือเป็นอิสระ เพราะอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผมอาจตายหรือติดคุก ดังนั้นเมื่อผมยังมีอิสระ ผมต้องการแสดงความเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยยังคงอยู่”

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า