“เป็นตาซ่วง เป็นตาซื่นบ่น้อ” ชีวิตผู้คนในเพลงของ มนต์แคน แก่นคูน 

ธันวาคมที่ผ่านมา Chart Master ได้เปิดเผยยอดเข้าชม YouTube ประจำปี 2020 ในกรณีของประเทศไทยพบสถิติที่น่าสนใจว่า ศิลปินท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกทุ่งอีสาน และศิลปินเกาหลี พุ่งทะยานขึ้นมาได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในรอบปีที่ผ่านมา 

มนต์แคน แก่นคูน คือชื่อที่ปรากฏขึ้นมาครองแชมป์เป็นอันดับ 1 โดยกวาดยอดเข้าชมเฉียด 1,000 ล้านวิว อยู่ที่ 976 ล้านวิว ตามมาด้วย วง BLACKPINK เกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติเกาหลี ซึ่งมียอดเข้าชมอยู่ที่ 749 ล้านวิว 

อันดับ 3 เป็นศิลปินแร็ปไทยอย่าง YOUNGOHM อยู่ที่ 663 ล้านวิว อันดับ 4 คือ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ อยู่ที่ 587 ล้านวิว และอันดับ 5 คือวงแร็ปไทย ILLSLICK อยู่ที่ 579 ล้านวิว นอกจากนั้นศิลปินเพลงลูกทุ่งอีสานยังอยู่ในชาร์ตท็อป 10 สลับกับศิลปินเกาหลี เช่น ไผ่ พงศธร (อันดับ 6) จินตหรา พูนลาภ อยู่ที่ 444 ล้านวิว (อันดับ 8) และอันดับ 10 ลำเพลิน วงศกร อยู่ที่ 355 ล้านวิว (อันดับ 10)

อะไรทำให้ มนต์แคน แก่นคูน และเพลงลูกทุ่งอีสานได้รับความนิยมอย่างสูง ปรากฏการณ์นี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเราพิจารณาจากความหมายในเพลงของมนต์แคนโดยวางไว้ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา 

เติบโตจากหมอลำกลอน สู่อุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่ง

มนต์แคน แก่นคูน หรือชื่อจริงคือ กิตติคุณ บุญค้ำจุน เกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2516 ภูมิลำเนาอยู่บ้านม่วงกาซัง ตำบลสวาท อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร จังหวัดที่มีรายได้ต่อจำนวนประชากรลำดับท้ายๆ ของประเทศ เขาเติบโตในครอบครัวชาวนา แต่ซึมซับการร้องเพลงจากบิดา ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอลำกลอน – ทองคำ บุญค้ำจุน 

มนต์แคนเริ่มทำอัลบั้มแรกชื่อ เสียศูนย์เมื่อบุญผะเวช คู่กับ พรศักดิ์ ส่องแสง (อดีตนักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังในทศวรรษที่ 2530) ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นได้สร้างให้มีกลุ่มคนใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมความบันเทิงที่ขยายตัวอย่างมาก เช่น ค็อกเทลเลานจ์ คาราโอเกะ คาเฟ่ วิดีโอ สถานีวิทยุ ฯลฯ

เมื่อมีโอกาสทำเพลงคู่กับไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร หรือ พรศักดิ์ ส่องแสง เส้นทางศิลปินชื่อดังของมนต์แคนก็แจ่มชัดขึ้น เขาเริ่มออกเดินสายร่วมกับวงดนตรีของ วิฑูรย์ วงษ์ไกร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยโสธร จนกระทั่งวิฑูรย์ได้พาเขาไปทดสอบเสียงที่บริษัท เสียงสยาม และสามารถสอบผ่านได้ทำอัลบั้มกับบริษัท เสียงสยาม 

เมื่อหมดสัญญากับเสียงสยาม มนต์แคนจึงได้มาทำอัลบั้มใหม่กับ อาร์เอส โปรโมชั่น โดยใช้ชื่อว่า ‘มานพ วงศ์เพชร’ ออกอัลบั้ม 2 ชุด แต่เมื่อเข้าสู่วัยฉกรรจ์ เขาต้องกลับมาเกณฑ์ทหารที่บ้านเกิด จังหวัดยโสธร ในปี 2537 ก่อนจะเข้ารับราชการทหารอีก 2 ปี 

หลังจากพ้นจากทหารเกณฑ์ เขาสามารถสอบรับราชการในตำแหน่งนายสิบทหารบก พร้อมๆ กับการได้ทำงานกับ ครูสลา คุณวุฒิ ครูเพลงชื่อดังแห่งยุคอีสานร่วมสมัย จนกระทั่งได้เป็นนักร้องในสังกัดของแกรมมี่โกลด์ ค่ายเพลงที่สามารถแปรศิลปะพื้นบ้านอีสานให้กลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงได้อย่างมีชีวิตชีวา ซึ่งก่อตั้งในปี 2538 และเฟื่องฟูอย่างยิ่งหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540  

ที่นี่เอง ผลงานชุดแรกของเขาภายใต้สังกัดปัจจุบันก็มาถึงในชื่อ ยังคอยที่ซอยเดิม (2548)  นับจากนั้น มนต์แคน แก่นคูน ก็มีผลงานอัลบั้มสังกัดค่าย แกรมมี่โกลด์ ในเครือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ต่อเนื่องเรื่อยมา และยังคงรับราชการทหารประจำอยู่ในสังกัดของกรมการขนส่งทหารบก สะพานแดง บางซื่อ กรุงเทพฯ ตำแหน่งเสมียน โดยได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ดูแลกิจกรรมด้านสันทนาการ

ท้องนา รถบรรทุก โรงงาน และร้านลาบ: ร้อยเรียงชีวิตของคนจากวิถีชีวิตประจำวัน

เช่นเดียวกับนักร้องเพลงลูกทุ่งอีสานที่มีชื่อเสียง เช่น ไมค์ ภิรมย์พร, ตั๊กแตน ชลดา, ไผ่ พงศธร ฯลฯ เพลงของมนต์แคนไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงแค่สื่อบันเทิงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นพื้นที่ในการแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนอีสาน โดยเฉพาะคนอีสานพลัดถิ่น ที่นานมาแล้วหนุ่มสาวส่วนใหญ่ต้องเดินทางไกลออกไปขายแรงงานในดินแดนอื่นที่ไม่คุ้นเคย

การเลือกใช้ภาษาอีสาน เป็นลักษณะหนึ่งเพื่อกำหนดอัตลักษณ์ในเพลงของมนต์แคน ซึ่งภาษาอีสานในเพลงของมนต์แคน จะประกาศความชัดเจนบ่งบอกว่าเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไรในเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีพลวัตตอบโต้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมมวลชน (pop culture) มาโดยตลอด 

หมายความว่า แม้ว่าภาคอีสานจะมีตระกูลภาษาหลากหลายเผ่าพันธุ์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะสื่อสารต่อคนในวงกว้าง มนต์แคนจะใช้ภาษาชาติพันธุ์ไทยลาวเพื่อสื่อสารเป็นหลัก ผสมกับถ้อยคำร่วมสมัยอย่างไทยกลางและภาษาอังกฤษ 

สำหรับทำนองเพลง แน่นอนว่า เพลงของมนต์แคนส่วนใหญ่ ยังคงใช้เครื่องดนตรีอีสานเป็นหลัก เช่น แคน ซุง พิณ โหวด โปงลาง ฯลฯ ผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังมีการปรับทำนองให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ภายใต้ไวยากรณ์ทางดนตรีใหม่ๆ ในแง่นี้ทำให้เพลงลูกทุ่งอีสานในแบบฉบับของมนต์แคนไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ผลลัพธ์ที่อาจไม่ได้ตั้งใจ คืออาจจะทำให้หลายคนลืมภาพของหมอลำกลอนแบบที่คุณพ่อของมนต์แคนเคยร้องรำมาอยู่บ้าง  

สำหรับความหมายในเพลงของมนต์แคน แทบทั้งหมดจะเป็นการเล่าถึงชีวิตของคนอีสานตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ในท้องถิ่น การเดินทางมาทำงานเมืองใหญ่ ความฝันของหนุ่มสาว ความกตัญญูต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ไปจนถึงเรื่องความรัก

โรงงาน ร้านลาบ ร้านคาราโอเกะ ร้านนวด ปั๊มน้ำมัน ค่ายทหาร ไซต์งานก่อสร้าง ฯลฯ คือพื้นที่ที่ร้อยเรียงให้ตัวละครต่างๆ มาพานพบกัน บางครั้งให้ความรู้สึกที่ย้อนแย้งกันด้วยเช่นกัน อาทิ เพลง ‘กลิ่นลาบที่สีลม’ (2563) ลาบในฐานะภาพแทนอาหารอีสานปรากฏตัวในย่านที่มั่งคั่งที่สุดของประเทศ เรื่องราวสะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของคนใช้แรงงาน แม้กระทั่งในย่านใจกลางระบบการเงินของไทย 

รวมถึงเพลงที่กำลังโด่งดังในขณะนี้ อย่าง ‘ยังฮักไผอีกได้บ่’ (2563) ซึ่งฉากของเรื่องเกิดขึ้น เมื่อหนุ่มสาวอีสานพลัดถิ่น (สนทนาด้วยภาษาอีสาน) มาพบกันที่ร้านอาหาร มีโต๊ะที่คลุมด้วยเสื่อน้ำมันที่ตีตะปูยึดลงไปกับโต๊ะ หนุ่มสาวนั่งบนเก้าอี้พลาสติกสีน้ำเงิน ท่ามกลางไฟสีสดๆ คลอกับบรรยากาศ

หรือกระทั่งเพลง ‘อ้ายมาส่งทาง’ (2563) ที่กล่าวถึงชีวิตที่ต้องจากกันของคู่รักชาวอีสาน ในขณะที่ชายหนุ่มไรเดอร์ แรงงานแพลตฟอร์มคอยทำหน้าที่ส่งอาหารให้ลูกค้า ต้องพบความจริงที่เจ็บปวดว่าแฟนสาวได้มีชีวิตใหม่ที่ดีกว่ากับหนุ่มนักธุรกิจ (และแน่นอนต้องขับรถยนต์หรู) 

ภาพของตัวละครเช่นนี้ ไม่ต่างกับอีกหลายเพลงของมนต์แคน ในตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ที่มักใช้สัญญะเรื่องมูลค่า เข้ามาอธิบายความสัมพันธ์ของคู่รักอีกหลายเพลง เช่น ‘หลงเบาะซ้าย ลืมท้ายมอไซค์’ (2561) ‘แท็กซี่อยากมีเธอ’ (2553) รวมไปถึง ถ้าหากหนุ่มอีสานจะมีวาสนาขับรถยนต์สักครั้ง ก็ต้องเป็นรถยนต์โดยสารหรือรถบรรทุก อันเป็นภาพสะท้อนของหนุ่มชนบทที่มาทำงานในเมืองใหญ่ เช่นเพลง ‘อยากมีที่จอดใจ’ (2552) หรือเพลง ‘หนุ่มรถบรรทุก’ (2539) 

นักสู้ ขี้เหงา เดินทางไกล แต่ไม่มั่นคง

ด้านหนึ่ง ภาพกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ในต่างประเทศที่เพลงของมนต์แคนเอ่ยถึง ราวจะเป็นภาพแทนของความเจริญ มีรายได้ เป็นที่แสวงโชค แต่เมืองเดียวกันนั้นก็ขาดไร้ซึ่งวิญญาณที่มีชีวิตชีวาด้วย 

บทเพลงจำนวนไม่น้อยของมนต์แคนทำหน้าที่คืนชีวิตให้กับคนหนุ่มสาวที่เดินทางไปเป็นผู้อยู่ในสถานะรองบนแดนไกล เช่น ‘ยามท้อขอโทรหา’ (2549) ‘มีเจ้าบ่ย่านจน’ (2553)

ขณะที่ชีวิตของ ‘พระเอก’ และ ‘นางเอก’ ในบทเพลงของมนต์แคน ก็เต็มไปด้วยลักษณะของคนใจสู้ เช่น ‘บ่พร้อมแต่บ่แพ้’ (2555) หรือเจียมเนื้อเจียมตัว แต่ไม่มั่นคงในอาชีพ เช่น ‘หนี้ฮัก หนี้ ธ.ก.ส.’ (2555) ‘โรงงานปิดคิดฮอดน้อง’ (2552) ‘รอเธอที่นวนคร’ (2549)

อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อว่า หากเราพิจารณาความหมายของเพลงจากทศวรรษที่ 2530-2560 แม้ว่าบทเพลงของมนต์แคนอาจจะเปลี่ยนหน้าที่ของตัวละครจากพ่อค้าแม่ค้าขายส้มตำไปสู่แรงงานแพลตฟอร์ม แต่ภาพลักษณ์ของคนอีสานพลัดถิ่นยังคงติดแน่นอยู่กับภาพเดิม 

นั่นคือสภาวะที่ไม่มั่นคงในชีวิต การเดินทางจากดินแดนแห้งแล้ง ขาดแคลนทรัพยากร ไปสู่การแสวงโชคในเมืองใหญ่ ที่ยังคงเป็นภาพปกติทั่วไปในความหมายของเพลง

ตลอด 25 ปี ของการก่อตั้งค่ายแกรมมี่โกลด์ ซึ่งเป็นค่ายเพลงลูกทุ่งในเครือแกรมมี่ อันเป็นสังกัดของมนต์แคนในปัจจุบัน อาจจะช่วยตอบโจทย์ข้างต้นได้เป็นอย่างดี แกรมมี่โกลด์แสดงให้เห็นความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของการสร้างสรรค์เพลงลูกทุ่งสู่อุตสาหกรรมเพลงเมืองไทย รวมถึงปีล่าสุดเช่นเดียวกันที่มีศิลปินในค่ายขึ้นชาร์ตยอดชมในยูทูบ หลายต่อหลายคน 

เมื่อย้อนไปยัง 20 กว่าปีก่อน เมื่อเพลง ‘ยาใจคนจน’ ของ ไมค์ ภิรมย์พร ศิลปินที่เสมือน iconic ของค่าย สร้างกระแสความนิยมล้นหลามมาในลักษณะเดียวกันกับมนต์แคน ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 จนสามารถจำหน่ายเป็นเทปคาสเส็ตต์ได้นับล้านตลับสวนทางกับภาวะดิ่งเหวของหลายค่ายเพลง 

ความหมายในเพลงของไมค์ดูจะเป็นแบบฉบับที่ไม่ต่างกันไปจากเพลงของมนต์แคน เพราะเป็นการเล่าชีวิตที่ไม่ต่างจากชีวิตอันเคว้งคว้างของหนุ่มสาวที่เดินทางไกลมาทำงานรับจ้างและเปิดร้านส้มตำด้วยกันในเพลง ‘รักช้ำที่ปั๊มบางจาก’ (2534) มาสู่ชีวิตที่ร่วงหล่นอย่างกะทันหันในเพลง ‘โรงงานปิดคิดถึงน้อง’ (2552) ‘รอเธอที่นวนคร’ (2549) ที่มีเนื้อเพลงบางตอนตัดพ้อแฟนว่า “ได้นั่งหน้าคอม สูงค่า …เจ้าลืมสัญญาที่นวนคร” (คอมพิวเตอร์ ให้ความหมายถึงการเป็นพนักงานออฟฟิศ อันเป็นอาชีพที่มีฐานะดีกว่า) 

“ชีวิต บ่มีสิทธิ์ถอย คือจอกแหนลอยไปตามน้ำ” จากเพลง ‘ทิ้งนามาสร้างฝัน’ (2549) 

ดูจะจับท่วงทำนองชีวิตของมนต์แคนได้เป็นอย่างดี ในความอดทนต่ออุปสรรคและเป็นภาพแทนของคนชั้นล่างที่เดินทางมาทำงานไกลในเมืองใหญ่ จอกและแหน ซึ่งเป็นพืชที่ไม่มีลำต้นลอยอยู่บนผิวน้ำ ดังนั้นจึงมักจะถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ หรือกระทั่งเพลง ‘สู้ช่วยกันเด้อ..แม่บักคิดฮอด’ (2559) และเพลง ‘รถไฟรางคู่’ (2561) ที่ฉายให้เห็นชีวิตที่ไม่สามารถกำหนดชะตาของตัวเองได้ 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ชีวิตของตัวเอกในเพลงของมนต์แคนยังคงทำหน้าที่เป็นเสียงแทนหนุ่มสาวอีสานพลัดถิ่นจำนวนมาก ที่ยังคงเดินทางไกลไม่หยุดพัก และใช้ชีวิตบนเส้นทางที่ไร้หลักประกันมั่นคง 

และแน่นอนว่า ในช่วงที่โควิด-19 กลายเป็นโรคระบาดร้ายแรงส่งผลกระทบต่อชีวิตแรงงานอีสานพลัดถิ่น มนต์แคนและแกรมมี่โกลด์ ยังคงผลิตเพลงออกมาดูดซับความเจ็บช้ำของคนชั้นล่าง แต่เราก็ไม่สามารถมองเห็นเนื้อหาของเพลงที่วิพากษ์ไปยังการกำหนดนโยบายอันผิดพลาดของชนชั้นนำ และเทคโนแครตไทย ยังไม่เห็นการตั้งคำถามว่านอกจากผืนดินแห้งแล้งแล้ว ทำไมคนหนุ่มสาวต้องพลัดที่นาคาที่อยู่มาแสวงโชคแดนไกล ทำไมค่าแรงของตัวเอกในเพลง ‘รักช้ำที่ปั๊มบางจาก’ (2534) จึงไม่แตกต่างไปจาก หนุ่มไรเดอร์ในเพลง ‘อ้ายมาส่งทาง’ (2563) หรือในวัยฉกรรจ์ที่สุดของชีวิต ทำไมต้องจากคนรัก จากครอบครัวที่ยากจนไปอยู่ค่ายทหาร ในเพลง ‘ชีวิตเพื่อชาติ หัวใจเพื่อเธอ’ (2553)

ทางออกของสภาพชีวิต เศรษฐกิจ การเมืองที่บีบคั้นเช่นนี้ จึงไปปรากฏอย่างเจียมตัวในเนื้อหาอื่นของมนต์แคน เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังเพลงที่การันตีชื่อเสียงของมนต์แคนได้มากที่สุดในปี 2563 ซึ่งเขียนโดย สลา คุณวุฒิ เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมียอดสตรีมมิ่งกว่า 186,370,458 views (ข้อมูลวันที่ 6 มกราคม 2564) 

หอบใจโซๆ มาวัดตะโกกราบหลวงพ่อรวย

การเงินมันติดชีวิตมันป่วยตัวช่วยไม่มีเลยพ่อ

ลูกมันคนจน ขาดคนจริงใจความหมายไม่พอ

ฐานะคือจนแท้หนอ ขอพรหลวงพ่อช่วยที

ถึงที่สุดเพลงของ มนต์แคน แก่นคูน นอกจากจะสามารถซับน้ำตาจากความทุกข์ยากของผู้คนได้ แต่อีกด้านก็ไม่อาจปิดบังความยากไร้ของชีวิตผู้คนอีกหลายล้านคนในบ้านเมืองนี้ ที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่วันใดวันหนึ่งต้องได้รับการแก้ไข  

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า