ประเทศไทยไม่ใช่ถังขยะโลก

ถังขยะ

จากกรณีกวาดล้างโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ตลอดเดือนมิถุนายน จนนำไปสู่การยื่นหนังสือถึงหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมานำมาสู่ประเด็นเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘ไทยแลนด์แดนขยะโลก?’ เพื่อสะสางความเข้าใจของสังคมในประเด็นหลักๆ ตั้งแต่การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ผ่านด่านศุลกากรมาได้อย่างไร ผลกระทบของขยะอิเล็กทรอนิกส์มีอะไรบ้าง รวมไปถึงการอยู่ร่วมกันของโรงงานและชุมชน ธุรกิจกับสิ่งแวดล้อม

ถังขยะ

ข้อตกลงทางการค้ากับสุขภาพของประชาชน

ในเบื้องต้น กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นนายด่านของจุดแรกที่ขยะเข้ามา และเป็นด่านสุดท้ายก่อนส่งออกไป ทางกรมศุลกากรทำอะไรกับตรงนี้ รวมถึงเหตุผลว่าทำไมจึงปล่อยให้ขยะเหล่านี้เข้าประเทศได้ในจำนวนมากขนาดนั้น กุลิศอธิบายว่า การนำเข้าขยะ ไม่ว่าจะเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ดี หรือขยะพลาสติกที่เป็นข่าวกันในเดือนที่แล้ว จริงๆ เป็นการนำเข้ามาตามอนุสัญญาบาเซิล* (Basel Convention)

“โดยในปี 2532 หรือในปี 1989 ทางประชาคมโลกได้มีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องของการควบคุมการเคลื่อนย้ายและกำจัดขยะ ของเสียมิพิษ โดยจัดทำเป็นอนุสัญญาเรียกว่าอนุสัญญาบาเซิล เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะควบคุมการนำเข้าส่งออกและการผ่านแดนของของเสียอันตรายให้เกิดความปลอดภัย ไม่กระทบกับสุขภาพชีวิตอนามัยของประชาชน รวมถึงป้องกันการขนส่งขยะ ของเสียที่ผิดกฎหมาย แล้วก็ช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการของเสียอันตรายโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม”

อนุสัญญาบาเซิล

นอกจากนี้กุลิศยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีการทำสัตยาบันอนุสัญญาภาคีบาเซิลเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2541 มีกรมโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการออกใบอนุญาตเพื่อควบคุมการนำเข้า-ส่งออก และนำผ่านของเสียอันตรายซึ่งเป็นสินค้าประเภทเศษเหล็ก ทองแดง ชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์ เซรามิก พลาสติก กระดาษ ของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้มีการเคลื่อนย้ายที่ถูกต้อง ให้มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ และมีการทำลายที่ถูกต้อง

ซึ่งตามกฎหมายและอนุสัญญาบาเซิล ผู้ที่ประสงค์จะนำเข้าเศษพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนนำเข้าขยะเหล่านี้ โดยยื่นเอกสารขออนุญาตนำเข้าเช่น คำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ขออนุญาตนำเข้าโดยยื่นหลักฐานการเป็นผู้รับอนุญาตประกอบกิจกรรมโรงงานที่มีขีดความสามารถการผลิตสอดคล้องกับปริมาณนำเข้า แล้วก็เอกสารแสดงแหล่งกำเนิดของเสียอันตรายเข้ามาที่กรมศุลกากร กรมศุลกากรยังไม่ปล่อยของออกไป คุณจะต้องยื่นเอกสารเหล่านี้ก่อน ถึงจะนำออกไปได้

“เพราะฉะนั้นใบที่จะมาก็จะเป็นใบ วอ.4 แล้วก็ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ก็คือ วอ.6 เมื่อได้ทั้งสองใบนี้แล้วถึงมายื่นที่กรมศุลกากร กรมศุลกากรดูเอกสารเสร็จเรียบร้อย ควบคู่กับใบขนสินค้า คุณมีใบอนุญาตจากกรมโรงงาน เราปล่อยออกไป เพราะว่าแน่ใจว่า คุณทำลายตรงนี้ได้ อันนี้เป็นสถานการณ์ว่า ทำอย่างไรที่จะเป็นอนุสัญญาบาเซิล”

การจัดการขยะในจีน

ประเด็นต่อมา จากการที่ทางการจีนได้ประกาศห้ามนำเข้าขยะอันตราย 24 รายการเพิ่มเติมกับที่มีอยู่แล้ว 69 รายการ เป็นเศษพลาสติกครัวเรือน เศษกระดาษ ต่อมามีประกาศเพิ่มอีก 32 รายการในปี 2560 ที่ผ่านมาเนื่องจากปัญหาหมอกควันในเซี่ยงไฮ้ จีนจึงประกาศห้ามนำเข้าขยะอันตราย เช่น กากของเสีย เศษเหล็ก ชิ้นส่วนยานยนต์ใช้แล้ว หลังจาก 31 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กุลิศกล่าวว่า เมื่อจีนไม่ให้นำเข้าแล้ว ประเทศที่เคยส่งออกขยะไปจีนก็ต้องหาทางทำลายกำจัดขยะในประเทศ หรือส่งไปเขตเศรษฐกิจพิเศษของเขาเอง ขณะที่ประเทศรองลงมาอย่างสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป กลายเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้จีนปิดประเทศ เมื่อทำลายไม่ได้แล้วจึงจำเป็นต้องส่งออกหาประเทศที่รัดกุมมากที่สุด

คราวนี้ก็มาถึงประเด็นครับ ประเทศไทยเอง ของเสียอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์พวกจอภาพอะไรต่างๆ เหล่านี้ เครื่องไฟฟ้าใช้แล้วหลายประเภท จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในพิกัดศุลกากรที่ 84 ประเภทเครื่องจักร เครื่องกล คอมพิวเตอร์ แล้วก็ 85 เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมีการกำหนดรหัสย่อยเป็น 800 ของใช้แล้ว และ 899 ของใช้แล้วตามอนุสัญญาบาเซิล เพื่อควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตตรงนี้ว่า คุณต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานก่อน กรมศุลกากรจึงจะปล่อยตรงนี้ออกไปได้

“เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา เวลาเราจะดูใบ ก็คือใบขนสินค้า เขามี วอ.4 วอ.6 จากกรมโรงงานเซ็นมา เราก็ปล่อยออกไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราปล่อยออกไปแล้ว บางคนตั้งข้อสงสัยว่าปริมาณมันเริ่มที่จะสูงขึ้นอย่างไร”

กุลิศอธิบายว่า ปริมาณนำเข้าสินค้าดังกล่าวมีปริมาณรวม 52,131 ตัน ทว่านับตั้งแต่ 1 มกราคมจนถึง 31 พฤษภาคม เพียงห้าเดือนมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้ 8,634 ตัน และมากขึ้นตามลำดับ ส่วนมากจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จอภาพโทรทัศน์เก่า จอมอนิเตอร์ ขณะที่อีกส่วนคือกลุ่มเศษพลาสติก โดย ในปี 2558-2559 มีจำนวน 56,000-69,000 ตัน ทว่าในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 69,000 ตัน เป็น 166,800 ตัน

“ตรงนี้เราก็เริ่มดูแล้ว เอ๊ะ แบบนี้เราเก็บภาษีได้ แต่ว่าในการเก็บภาษีได้ของเรา เราเริ่มกังวลแล้วว่า ทำไมมันขึ้นมาเยอะขนาดนี้ เราก็สร้างรางวัล สั่งให้ทางท่าต่างๆ ที่มีการนำเข้าตรงนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม 61 จนถึง 31 พฤษภาคม 61 ปริมาณนำเข้า 313,000 ตันแล้ว มากกว่าปี 60 ทั้งปี ผมก็ให้เข้าติดตาม”

มาตรการในอนาคต

ทั้งนี้ ในมุมมองของอธิบดีกรมศุลกากร กุลิศมองไปถึงมาตรต่างๆ ที่จะมาจัดการไว้ว่า

“ถ้าเขาไม่มานำออกภายใน 30 วัน เราแจ้งไปในสายเรือภายใน 15 วัน เขาไม่มาดำเนินการตรงนี้ เป็นอำนาจของอธิบดีศุลกากรที่จะให้ของเหล่านั้นตกเป็นของแผ่นดิน พอของตกค้างเหล่านี้ตกเป็นของแผ่นดิน เราจะทำอะไรได้ อธิบดีก็คือ หนึ่ง-ทำลาย สอง-เปิดประมูลให้กับผู้รับใบอนุญาต คราวนี้เราก็ไม่แน่ใจอีกว่าผู้รับใบอนุญาตเหล่านี้ถูกหรือไม่ถูก เราก็ต้องกำหนดว่า ต้องเป็นผู้รับใบอนุญาตที่ประมูลขยะเหล่านี้ได้แล้ว ต้องส่งออกไปในทันที ส่งออกไปประเทศไหนก็ได้ หรือ สาม-ที่พยายามทำอยู่คือการประสานกับสายเดินเรือที่ขนของเข้ามา ให้เขาเอากลับไปยังประเทศต้นทาง”

ถังขยะ

ใดๆ ในไทยล้วนขยะอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ในส่วนของ สนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อปี 2559 ระบุว่าประเทศไทยมีของเสียอันตรายจากชุมชนประมาณ 600,000 ตัน ทว่าถ้าไปดูของเสียที่เป็นอันตรายของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นถ่านไฟฉาย หลอดนีออน แบตเตอรี กระป๋องสเปรย์ ล้วนเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

โดยข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม บนโลกมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าในปี 60 มากกว่าประมาณ 60,000 ตัน แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ที่เอาไปเข้าโรงงานทั้งหลายประมาณสัก 7,400 ตัน แล้วก็นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 13,000 ตัน ซึ่งจำนวนที่เพิ่มขึ้นก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีจุดอ่อนที่ทำให้ต่างประเทศเห็นว่าสามารถนำขยะเข้ามาทิ้งในประเทศไทยได้

“ขณะเดียวกันทางกฎหมายเองก็บอกว่า โรงงานที่คัดแยกขยะทั้งหลาย ที่เราเรียกว่าโรงงาน 105 เป็นโรงงานคัดแยกและฝังกลบ, โรงงาน 106 คือโรงงานที่เอาขยะที่เป็นกากของเสียอันตรายทั้งหลายเปลี่ยนมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งจะมีเรื่องของน้ำเสียเพราะมีชิ้นส่วนของอิเล็กทรอนิกส์ 148 แห่ง ที่เป็นข้อมูลปัจจุบัน”

สนธิยังกล่าวอีกว่า ข้อมูลจากศูนย์กสิกรไทยระบุว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์หนึ่งตันให้มูลค่า 67,000 บาท มีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนเข้ามารีไซเคิลเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีมากอยู่แล้ว

ถ้าเราติดตามที่เมืองจีน เราจะเห็นว่ามีเมืองกุ้ยหยู อยู่มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน เป็นเมืองที่มีขยะในประชาชนประมาณพันกว่าครอบครัว รับแกะขยะ เอาขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแกะ แล้วก็มารีไซเคิล ทำโดยชาวบ้าน ก็มีการตรวจสุขภาพก็พบว่าเป็นโรคแพ้เม็ดตะกั่ว โรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง อะไรเยอะแยะไปหมด ดังนั้นเมื่อจีนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จีนจึงปฏิเสธการรับขยะจากต่างประเทศ

“แต่ประเทศยินยอมให้เอาเข้าเพื่อการคัดแยกหรือแปลสภาพได้ ต้องมีประโยชน์ตามอนุสัญญาบาเซิล ถ้าเราไปดูมันประกาศกระทรวงฉบับที่ 3/2550 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมบอกว่า ยอมให้นำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาได้ เพื่อแปรสภาพ โดยต้องเป็นไปตามอนุสัญญาบาเซิล หมายความว่าประเทศต้นทางที่ส่งออก พ่อค้าชาวจีนหรือฮ่องกง ต้องแจ้งรายละเอียดขอความยินยอมจากกรมโรงงานก่อน ซึ่งโรงงาน 105-106 ก็ต้องทำการตรวจสภาพ เมื่อพบว่าส่ามารถทำได้ จึงจะนำเข้ามาได้”

ดังนั้น เมื่อจีนยกเลิกการนำเข้า ขยะทั้งหมดจึงไหลเข้าไทย ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันขึ้นว่าทำไมการค้าเสรีจึงไม่รับขยะเข้าไป โดยทางการจีนยืนยันไม่รับ เนื่องจากประเทศจีนมีมลพิษสูง ขณะที่ประเทศไทยทำการค้าเสรี กากอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาโดยไม่เสียภาษี ไทยจึงยังไม่มีกฎหมายในการจัดการ การนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ของคนไทย

“ที่นี้เรามาดูประกาศของกรมโรงงานฉบับที่ 3/2550 ในการกำหนดเงื่อนไขการขายเครื่องไฟฟ้า 32 รายการและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว 31 รายการ เป็นวัตถุอันตรายเข้าอาณาจักร ประเทศไทยได้สี่กรณี

  1. การนำเข้าเพื่อการใช้ทรัพย์
  2. การนำเข้าเพื่อการซ่อมแซม
  3. นำเข้าเพื่อการปรับแปลงหรือปรับปรุง อายุไม่เกิน 3 ปีจากวันที่ผลิต
  4. นำเข้าเพื่อการคัดแยกหรือแปรสภาพ ซึ่งต้องนำเข้าตามอนุสัญญาบาเซิล”

กล่าวคือ ประเทศต้นทางต้องรู้ ปลายทางผ่านต้องรู้ และประเทศปลายทางต้องรับทราบด้วย โดยตามอนุสัญญาบาเซลที่มีผลบังคับใช้ 22 กุมภาพันธ์ 2541 ทุกวันนี้ใน 180 ประเทศ ต่างกังวลการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์สองประเภท คือ list A กับ  list B  โดย list Aคือของเสียที่เป็นอันตรายโดยธรรมชาติ มีโลหะหนัก มีปรอทแคดเมียม สารหนู ซึ่งห้ามเคลื่อนย้าย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีอันตราย ขณะที่ list B คือของเสียที่ไม่เป็นอันตราย สามารถนำมาแปรรูปใหม่ได้อาจจะมีองค์ประกอบของสารอันตราย เช่นตะกั่ว, แก้วจากหลอดแก้วที่ใช้ในการทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายได้ในประเทศหมู่สมาชิก ของอนุสัญญาบาเซิล แม้จะสามารถเคลื่อนย้ายได้แต่ก็ไม่สามารถนำไปกำจัดหรือรีไซเคิลได้

ซึ่งการตั้งโรงงานประเภท 105 เป็นการตั้งโรงงานที่ง่ายมากในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมนานาประเทศจึงขนขยะมาเมืองไทย ซึ่งจุดอ่อนดังกล่าวมีเช่นกันในประเทศอินเดีย และแอฟริกา เนื่องจากโรงงาน 106 ทั้งหลายไม่ต้องทำรายงาน EIA ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในส่วนของ ดาวัลย์ จันทรหัสดี จากมูลนิธิบูรณนิเวศ กล่าวว่าที่ผ่านมามีการพูดคุยกันมาเยอะแล้วในส่วนของโรงงานประเภท 101 105 แต่ที่ตนอยากจะเสริมในเชิงเห็นด้วยต่อสิ่งที่อธิบดีกรมศุลกากรได้กล่าวไปคือประเด็นเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศนั้นได้รับอนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมเพื่อนำมาใช้ในโรงงานรีไซเคิลต่างๆ แต่ดาวัลย์มองว่าจะมองแค่ลำดับที่ 101, 105, 106 ไม่ได้ เพราะยังมีโรงงานอีกหลายประเภทที่สาสามารถรับวัตถุดิบเหล่านี้เข้าไปสู่กระบวนการผลิตของเขาได้ ยกตัวอย่างเช่นพลาสติกที่นำเข้ามาในพิกัด 3915 ซึ่งสามารถแยกย่อยลงไปได้หลายประเภททั้งพลาสติกนิ่ม พลาสติกแข็ง พลาสติกอ่อน เป็นจำนวนกว่า 1600,000 ตัน/ปี ณ ปี 2560 ที่ผ่านมา ขณะที่ก่อนหน้านั้น การนำเข้ามายังไม่สูงขนาดนี้

อีกพิกัดที่น่าสนใจคือพิกัด 84 85 ซึ่งเป็นพิกัดเกี่ยวกับการนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถใช้ได้แล้ว แต่ในใบ ว.อ.4 และ 6 กลับไม่บอกพิกัด ระบุเพียงสินค้าว่าเป็นอะไรบ้างที่นำเข้ามา เมื่อไม่บอกพิกัด ดาวัลย์จึงมองว่ามันกว้างมาก และแน่นอนว่าอาจเป็นช่องทางในหลบเลี่ยงเข้ามาได้ เนื่องจากผู้อนุญาตให้นำเข้าไม่อาจตรวจสอบได้เลยว่ามีอะไรบ้าง

“ประเด็นก็คือว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ พ.ร.บ.สองฉบับ คือ พ.ร.บ.โรงงาน กับ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่ง พ.ร.บ.โรงงานคือ พ.ร.บ. ที่เขาสามารถอนุญาตให้โรงงานไหนเปิดได้ เปิดไม่ได้ แต่ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายเป็น พ.ร.บ. ที่กำกับควบคุมให้ทราบว่ามีอะไรบ้างที่เป็นวัตถุอันตราย และวัตถุอันตรายเหล่านั้นเข้าไปสู่โรงงานไหนบ้าง ประเด็นอยู่ตรงนี้แหละค่ะ กรมโรงงานฯ ประกาศระเบียบของตัวเองขึ้นมา ให้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ทีนี้ประกาศที่ยกเว้นมีอะไรบ้าง?”

ถังขยะ
ดาวัลย์ จันทรหัสดี

อันตรายที่ถูกยกเว้น

ดาวัลย์กล่าวว่าประกาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้การยกเว้นนั้น มีตั้งแต่ หนึ่ง-เคมีคอลเวสต์ ที่เคยประกาศว่ามีทั้งสิ้น 16 ชนิดไม่ให้นำเข้าในอนาคต แต่จากประกาศนี้ทำให้วัตถุทั้ง 16 ชนิดเหล่านี้ได้รับการยกเว้นไปแล้ว สอง-วัตถุประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว ซึ่งได้รับการยกเว้นจาก พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ทำให้การนำเข้าวัตถุเหล่านี้ ซึ่งจากเดิมที่คิดว่าเป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้ในโรงงานประเภท 106 เท่านั้น แต่อันที่จริงกลับตรงกันข้าม

ดาวัลย์พบว่ามีโรงงานในลำดับที่ 69 71 72 และ 73 ซึ่งโรงงานทั้งหมดนี้สามารถนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเพื่อทำการปรับปรุงได้ ไม่นับว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดถึงโรงงานในลำดับที่ 53 ซึ่งเป็นโรงงานที่ทำการหล่อหลอมพลาสติก คำถามสำคัญของดาวัลย์คือในเวลานี้ที่มีการนำเข้าพลาสติกเข้ามาเป็นจำนวนมาก ปลายทางคือโรงงานประเภท 53 ใช่หรือไม่?

“สิ่งที่ดิฉันอยากจะบอก คือโรงงานที่กรมโรงงานฯ ออกใบอนุญาตนะคะ คือโรงงานประเภท 101 105 106 ส่วนโรงงานอื่นนอกเหนือจากสามโรงงานนี้ ผู้ออกใบอนุญาตคืออุตสาหกรรมจังหวัด เห็นไหมคะว่าโรงงานอื่นๆ ทั้งหมดนี้ออกใบอนุญาตโดยอุตสาหกรรมจังหวัด ถ้าโรงงานอื่นที่ไม่ใช่โรงงานทั้งสามประเภทที่ว่ามา มีกำลังการผลิตเกิน 500 กรมโรงงานฯ ถึงเป็นผู้ออกใบอนุญาต ดิฉันก็ไปสืบค้นโรงงานที่พัฒนาตัวอย่างเร็วมากในช่วงสี่ปีครึ่งที่ผ่านมานี้ ทั้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี และนครปฐม กำลังการผลิตของโรงงานเหล่านี้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดิฉันต้องนำมาบอกเพราะอยากให้เห็นว่ามันสูงขึ้นยังไงนะคะ”

กำลังผลิตที่สูงขึ้นในช่วงสี่ปี

จากอัตราการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ดาวัลย์พบว่าโรงงานในส่วนของภาคกลางมีจำนวนเพิ่มขึ้น 694 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงงานประเภท 105 มีจำนวน 121 โรงงาน ขณะที่โรงงานประเภท 106 เกิดขึ้นทั้งสิ้น 104 โรงงาน ขณะที่ภาคตะวันออก คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง เกิดโรงงานประเภท 53 ทั้งสิ้น 195 โรงงาน, โรงงานประเภท 105 ทั้งสิ้น 133 โรงงาน และโรงงานประเภท 106 มีจำนวน 105 โรงงาน

ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนว่าในช่วงสี่ปีที่ผ่าน การเพิ่มจำนวนขึ้นของโรงงานใน area ของความสุ่มเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ประเด็นต่อมาที่ดาวัลย์พบ คือ ขยะที่นำเข้ามานั้นมีในส่วนของขยะเทศบาลด้วย โดยขยะเทศบาลนั้นแบ่งแยกออกได้เป็นทั้งขยะจากแหล่งน้ำ สถานพยาบาลจำพวกหลอดฉีดยา เข็มฉีดยา และอีกหลายชนิดจากสถานพยาบาลที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยด้วย

“สิ่งที่ดิฉันอยากจะสำแดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่แค่พลาสติก มันไม่ใช่แค่อิเล็กทรอนิกส์ แต่มันยังมีสิ่งที่นำเข้ามาอีกมากมาย ตามที่เราได้ทำข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีกับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไว้กับต่างประเทศ ทั้งนี้ ในหลายประเทศ ศูนย์เปอร์เซ็นต์หมดแล้วนะคะ ทุกประเทศที่นำเข้าขยะเหล่านี้เข้ามาไม่เสียภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์หมดแล้วนะคะ”

ประเด็นก็คือว่าสิ่งเหล่านี้คนที่อนุญาตให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้คือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งกรมโรงงานฯ จะรับผิดชอบแค่ในส่วนของโรงงานทั้งหมดเท่านั้น แต่ผลกระทบภายนอกโรงงานที่ออกไปสู่ชาวบ้านมากมายหลายพื้นที่มากเลยนะคะ ที่เราทำงานอยู่ศูนย์ชุมชนพบว่ามีทั้งโรงงานประเภท 105 106 รวมทั้งโรงงานหล่อหลอมประเภท 60 ไปเกิดใกล้บ้านเขามาก

ซึ่งจากการที่ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในชุมชน คลุกคลีกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานต่างๆ เหล่านี้ ดาวัลย์ฝากคำถามผ่านสื่อมวลชนไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าจะมีมาตรการเช่นไรบ้างต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วเหล่านี้กับชาวบ้านที่ไม่มีแม้แต่โอกาสให้เลือก และทั้งหมดนี้ล้วนเชื่อมโยงกับการเข้ามาเป็นรัฐบาลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือคสช. อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

“เรายืนยันชัดเจนนะคะว่าขอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 4/2559 เพราะคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 4 นี้แหละค่ะ ปลดล็อคให้โรงงานเหล่านี้สร้างได้ในทุกพื้นที่ คือเมื่อก่อนนี้อาจจะยังไม่ชัด แต่ ณ เวลานี้ชัดเจนแล้วว่าคำสั่ง คสช.ฉบับนี้จำเป็นต้องยกเลิก เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาใหญ่โตมากไปกว่านี้อีกในหลายพื้นที่”

ถังขยะ

ความทุกข์จากผู้ได้รับผลกระทบ

ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากขยะที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จร เนาวโอภาส หนึ่งในชาวบ้านจากอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่าในฐานะที่ตนทำงานเป็นตัวแทนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับในพื้นที่หมู่บ้านของตนเองไม่ต่ำกว่าสิบปีที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งที่จรมองเห็นมาตลอด คือสามปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามปัจจัยที่ว่านี้นั้นเกิดขึ้นจากนโยบาย จากผู้ประกอบการ และจากเจ้าหน้าที่รัฐ

“เราฟังกันมาหลายท่านว่ามันเกิดจากคำสั่งของ คสช. เกิดจากนโยบายที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ทั้งหลายทั้งมวล ผมยกตัวอย่างจากคำสั่งที่ 4/2559 ลำดับกิจการที่ 105 และ 106 ในคำสั่ง คสช. เขาจะอนุญาตให้สร้างในพื้นที่สีเขียวได้ และในปัจจุบันที่มีโรงงานเพิ่มขึ้นสองร้อยกว่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นว่าปัญหาตรงนี้มันมีแต่จะเพิ่มขึ้นทวีคูณขึ้นทุกวัน และก็ก้าวกระโดดด้วย”

จรกล่าวต่ออีกว่า อันที่จริงการจะสร้างโรงงานในลำดับที่ 105 และ 106 ได้นั้นจำเป็นที่โรงงานจะต้องรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการรับฟังเสียงของประชาชนมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบแรก เปิดเวทีรับฟัง แบบที่สอง การติดประกาศ ซึ่งโรงงานเลือกเอาการติดประกาศ 15 วันเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ พอหลังจาก 15 วันแล้ว การขอใบอนุญาตก็ดำเนินการต่อไปได้ หากไม่มีผู้ทักท้วง หรือคัดค้าน และการติดประกาศนี้เองที่จรมองว่าเป็นช่องว่างให้เกิดโรงงานขึ้นมาได้

เราไปติดตามดู ไม่มีโรงงานไหนที่จะเปิดเวทีรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ มีแต่การติดประกาศทั้งสิ้น

ปัจจัยข้อต่อมาคือในส่วนของกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอัตรากำลังน้อย มีเจ้าหน้าที่ทำงานในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพียง 2-3 คนเท่านั้น แต่ต้องดูแลโรงงานทั้งจังหวัดกว่าสองพันโรงงาน ส่งผลให้เกิดการออกใบอนุญาตที่ล่าช้าตามมาเพราะกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ

“ผมเคยเข้าไปในสำนักงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บนโต๊ะของเจ้าหน้าที่มีกองเอกสารขอใบอนุญาตสูงเป็นตั้ง เอาแค่ออกใบอนุญาตอย่างเดียวก็ทำไม่ทันแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการออกไปดูโรงงานจริง เพราะฉะนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีตั้งแต่นโยบายของรัฐและการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ไม่ทั่วถึง ทีนี้ มามองถึงผู้ประกอบ เอาแค่ผู้ประกอบการในจังหวัดฉะเชิงเทรา”

ผลกระทบไร้ขอบเขต

ด้วยความที่ลำดับประเภทของโรงงานที่ 105 และ 106 นั้นกว้างมากตามที่ดาวัลย์ได้ชี้แจงไปบางส่วน จรมองว่าด้วยขอบเขตที่แทบไม่มีขอบเขตจำกัดใดๆ ของโรงงานในสองลำดับที่ว่ามา ทั้งการฝังกลบ การรีไซเคิล การนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ มันครอบคลุมจักรวาลมาก เพราะฉะนั้นในลำดับที่ 105 และ 106 จึงสามารถประกอบกิจการได้หลากหลาย และกว้างมาก

“เพราะฉะนั้นเมื่อมีการติดประกาศโดยไม่มีการรับฟังความเห็น แล้วก็การตรวจสอบติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐมีไม่เพียงพอมันก็ก่อให้เกิดผู้ประกอบการที่ทำไม่ถูกตามกระบวนการ ไม่ทำตามเกณฑ์ หรือข้อกำหนดของกระทรวงต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น บ่อฝังกลบขยะ มันจะต้องรายงานผลกระทบต่อแหล่งน้ำทุกๆ หกเดือนให้กรมอุตสาหกรรมทราบ แต่ที่ผ่านมาไม่มีหรอกครับ ถามว่าละเว้นไหม มันก็มองแบบนั้นได้ แต่เขาก็มีเงื่อนไขว่าเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ อันนี้ ผมยกตัวอย่างว่าไอ้ข้อกำหนดหรือกระบวนการบำบัดก็ดี กระบวนการฝังกลบก็ดี การรีไซเคิลก็ดี มันข้ามขั้นตอน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่แปลกที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน ไม่ว่าจะในเรื่องของดิน มันจำกัดไม่ได้ในเรื่องของขยะยังไงก็เหม็นถ้าจัดการไม่ดี”

ทั้งนี้จรยังกล่าวอีกว่าเนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการสุ่มตรวจแหล่งน้ำในรอบๆ ปริมณฑลของโรงงานทั้งประเภท 105 และ 106 ทำให้มีการปนเปื้อนเข้าสู่ในพื้นที่ของชาวบ้านบ้างแล้วในที่สุด ทว่าขั้นตอนนี้ยังต้องการการพิสูจน์เพื่อตรวจย้อนกลับไปยังแหล่งต้นทางว่ามาจากโรงงานทั้งสองลำดับจริงหรือไม่ตามข้อกำหนดของกฎหมาย

คำถามคือว่าชุมชนได้รับผลกระทบแล้วมุ่งหวังยังไง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานกำจัดขยะ โรงงานบำบัด โรงงานรีไซเคิล หรือโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ ชุมชนเขาบอกอย่างเดียว ขอให้เลิก ขอให้หยุด ขอให้ปิด แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ในพื้นที่ของพนมสารคามของผมเอง ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ท่านอภิสิทธิ์ ท่านยิ่งลักษณ์ ประยุทธ์นี่ก็ยื่น มันก็ไม่สามารถที่จะจัดการได้

ทั้งนี้ จรยังมองอีกว่าแม้จะมีศูนย์ดำรงธรรมในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเพื่อสั่งการลงไปให้ทำการระงับหรือหยุดกิจการโรงงานก็ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งจรมองว่าจะส่งผลอย่างแน่นอนต่ออนาคตของการจัดการในเรื่องการประกอบกิจการโรงงานร่วมกันของสมาคมอาเซียน ไปจนถึงเรื่องของบุคลากรของรัฐที่มีไม่เพียงพอ สวนทางกับนโยบายที่เร่งรัดให้มีการเกิดขึ้นใหม่ของโรงงานอุตสาหกรรมดั่งที่ดาวัลย์ได้ชี้แจงไปแล้ว

“ฉะนั้น ผมมีข้อเสนอสามส่วน ส่วนแรก ขอให้กิจการโรงงานประเภทลำดับที่ 105-106 ให้ไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมได้ไหม? เพราะว่านิคมอุตสาหกรรมเขามีการกำกับดูแลของเขา มีความเข้มงวดอยู่แล้ว ดีกว่าไปอยู่ในพื้นที่ของชุมชน พื้นที่เกษตร พื้นที่ชนบท ส่วนที่สอง ส่วนของบ่อฝังกลบควรไปอยู่ในที่รัฐได้ไหม? เช่นพื้นที่ทหาร สปก. ที่เสื่อมโทรม ซึ่งมันมีพื้นที่เยอะแล้วมันมีกำบัง มันสามารถที่จะทำบ่อฝังกลบได้ เคยได้ยินเจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าบ่อฝังกลบถ้าทำถูกต้องมันไม่มีอะไร แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้หรอกครับ แต่ถ้ามันไปอยู่ในพื้นที่ที่มันค่อนข้างจะรัดกุม พื้นที่ที่มันกว้าง การจัดการมันก็จะดีขึ้น ผลกระทบมันก็ไม่เกิดขึ้นกับชุมชน ส่วนที่สาม อยากให้มีการกระจายอำนาจของกรมโรงงานอุตสาหกรรม อย่าแบกรับภาระไว้ ทั้งอนุมัติ อนุญาต ควบคุม กำกับ ดูแล ทั้งหมดเลย ลองดูว่าจะให้หน่วยงานไหนเข้ามาแบ่งเบาได้ไหม? พอจะมีหน่วยงานไหนเข้ามาควบคุมได้บ้าง ควรแบ่งภาระบทบาทหน้าที่กันไป”


อนุสัญญาบาเซิล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย (Basel Convention หรือชื่อเต็ม Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal) เป็นสนธิสัญญาระดับนานาชาติ ว่าด้วยการจำกัดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศด้อยพัฒนา (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า