‘แคชเมียร์ 101’ ว่าด้วยวิกฤติความขัดแย้งในดินแดนเอเชียใต้

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ไม่มีอินเดีย ไม่มีปากีสถานก่อนปี 1947

เอเชียใต้ ดินแดนแห่งอารยธรรมอันยิ่งใหญ่กว่า 5,000 ปี เป็นแหล่งกำเนิดของศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการ รวมถึงเป็นบ้านของหลายพันกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเชื่อ ศรัทธา ภาษา และศาสนาอันหลากหลาย อนุทวีปแห่งนี้เป็นที่ตั้งของอาณาจักรน้อยใหญ่และรัฐโบราณเป็นจำนวนมากที่เจ้าผู้ปกครองนครล้วนแต่มีอำนาจเหนือพื้นที่ของตน

จนกระทั่งการเข้ามาของลัทธิจักรวรรดินิยมโดยมหาอำนาจตะวันตก ‘เอเชียใต้’ หรือที่รู้จักกันในนามอนุทวีปอินเดียถูกทำให้เป็นหน่วยทางการเมือง (political unit) ในฐานะ ‘อาณานิคม’ ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

แม้ในห้วงเวลาดังกล่าวจักรวรรดิอังกฤษจะนำความเจริญมาสู่อนุทวีป เช่น การพัฒนาการศึกษา การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ การยกเลิกพิธีทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน การปรับปรุงโครงสร้างขั้นพื้นฐาน การยกระดับเส้นทางคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะทางราง การบังคับใช้กฎหมาย รวมไปถึงเผยแผ่รูปแบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่ในทางกลับกันการผูกขาดทางการค้าและเศรษฐกิจ การเอารัดเอาเปรียบและการใช้ความรุนแรง การไม่เคารพในวัฒนธรรมและความเชื่อท้องถิ่น กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เอเชียใต้เกิดความเป็นปึกแผ่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อที่จะได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองตนเอง

ในที่สุด จักรวรรดินิยมอังกฤษก็มิอาจทัดทานกระแสสายธารแห่งความต้องการเป็นเอกราชของเอเชียใต้ได้อีกต่อไป อังกฤษจำใจต้องให้อิสรภาพให้กับอนุทวีปแห่งนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เอเชียใต้เองนั้น ก็ไม่สามารถกลับไปเป็นรัฐแบบโบราณที่มีเจ้าผู้ปกครองนครกว่า 600 แห่งได้เช่นเดิม การจากไปของอังกฤษและการสิ้นสุดของยุคอาณานิคมในปี 1947 ทำให้อนุทวีปถูกขีดคั่นและควบรวมเขตแดน ออกเป็นหลายรัฐชาติ (nation-state)

การเกิดขึ้นของรัฐชาติต่างๆ ในเอเชียใต้ คือผลพวงของความไม่ลงรอยระหว่างชนชั้นนำแห่งอนุทวีป ในขณะที่กลุ่มคองเกรสแห่งอินเดีย (Indian National Congress) นำโดย มหาตมาคานธี และ ยาวหะราล เนห์รู ประสงค์อยากให้ ‘อินเดีย’ เป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) ที่ไม่นำศาสนาเข้ามาเกี่ยวพันกับการเมือง แต่ในขณะเดียวกันสันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดีย (All India Muslim League) นำโดย จินนาห์ อาลี เรียกร้องให้เกิด ‘ปากีสถาน’ เพื่อจัดการปกครองให้เกิดความยุติธรรมสำหรับประชากรมุสลิม ข้อขัดแย้งดังกล่าวทำให้อังกฤษตัดสินใจให้เอกราชแก่อินเดียและปากีสถาน ในปี 1947 การแบ่งประเทศ (partition) เช่นนี้ จึงได้สร้างบาดแผลให้กับผู้คนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

แคชเมียร์: ดินแดนแห่งความขัดแย้งระหว่างปากีสถานและอินเดีย

หลังจากอินเดียและปากีสถานได้รับเอกราช ผู้นำของทั้งสองประเทศจำต้องเจรจา ต่อรอง รวมไปถึงบีบบังคับให้เจ้าผู้ปกครองนครรัฐน้อยใหญ่ต่างๆ ยินยอมที่จะผนวกดินแดนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตน

‘แคชเมียร์’ คือหนึ่งในดินแดนที่ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างต้องการครอบครอง

แคชเมียร์ตั้งอยู่เหนือสุดของอนุทวีป บนจุดยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญระหว่างอินเดีย ปากีสถาน และจีน ในระยะแรก แคชเมียร์ต้องการเป็นรัฐเอกราชและไม่ประสงค์จะอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐอื่นๆ ความน่าสนใจคือ ดินแดนแห่งนี้มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ในขณะที่มหาราชาผู้มีอำนาจในการปกครองนับถือศาสนาฮินดู ในช่วงเวลาแห่งความสับสนดังกล่าว กองกำลังปากีสถานได้รุกล้ำเข้ามาในดินแดนแคชเมียร์ สร้างความวิตกกังวลใจแก่มหาราชา จึงทำให้ผู้นำของแคชเมียร์จำต้องตัดสินใจขอรับความช่วยเหลือและนำแคชเมียร์ผนวกเข้ามาเป็นดินแดนในสหภาพอินเดีย

ด้วยเหตุนี้ แคชเมียร์จึงกลายเป็น ‘รัฐจัมมูและแคชเมียร์’ (State of Jammu and Kashmir) ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐอินเดีย โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ศรีนาการ์ (Srinagar) ประกอบด้วยดินแดนหลักสามแคว้นคือ จัมมู แคชเมียร์ และลาดัคห์

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นหลักประกันและมอบสถานะพิเศษให้กับแคชเมียร์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม รัฐธรรมนูญแห่งอินเดียได้กำหนดให้มีมาตรา 370 และ มาตรา 35A เพื่อให้แคชเมียร์สามารถออกกฎหมายในทุกระดับ มีรัฐธรรมนูญ ธงชาติ รวมถึงสิทธิเฉพาะในการคุ้มครองอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน มาตราดังกล่าวทำให้แคชเมียร์มีอำนาจอธิปไตยและมีอิสระในการปกครองตนเอง ยกเว้นเพียงในประเด็นความมั่นคง การสื่อสาร และการต่างประเทศ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง

อย่างไรก็ตาม การตกลงใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย สร้างความไม่พอใจให้กับชาวแคชเมียร์ส่วนใหญ่ที่เลือกยืนอยู่ข้างปากีสถาน ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้มีการประท้วง การปะทะ และเกิดความรุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 1947 เกิดการต่อสู้ระหว่างกองกำลังของอินเดียและปากีสถานเนื่องมาจากการรุกล้ำเขตแดน (Line of Control) ทำให้องค์การสหประชาชาติต้องเข้ามามีบทบาทในการแบ่งพื้นที่และเจรจาการหยุดยิงในปี 1949

เหตุการณ์ปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 1965 เกิดปฏิบัติการยิบรอลตาร์เพื่อต่อต้านอินเดีย ในครั้งนั้นมีการแทรกแซงทางการทูตโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต  บาดแผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นในปี 1971 อินเดียได้ให้การสนับสนุนการแยกปากีสถานตะวันออก เพื่อตั้งเป็นประเทศเอกราชในชื่อ ‘บังคลาเทศ’ การสนับสนุนดังกล่าวสร้างความไม่พอใจ และนับเป็นการสูญเสียดินแดนอย่างสูงของปากีสถาน ต่อมาในปี 1999 เกิดการสู้รบกันที่เมืองคาร์กิล (Kargil) ซี่งเป็นผลมาจากการสั่งสมขีปนาวุธและการทดลองหัวระเบิดนิวเคลียร์

ล่าสุดเมื่อต้นปี 2019 ความขัดแย้งในแคชเมียร์เริ่มปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐของอินเดียเสียชีวิตจากเหตุการณ์คาร์บอมบ์ รัฐบาลอินเดียจึงส่งกองกำลังเข้าไปในดินแดนปากีสถาน เพื่อโจมตีกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว นำมาสู่การยิงเครื่องบินตอบโต้โดยกองทัพปากีสถาน เหตุการณ์ดังกล่าวทวีความรุนแรงนำมาสู่การกดดันทางการค้า การตัดสัมพันธ์ทางการค้า และการปิดน่านฟ้า แม้จะมีความพยายามในการสร้างสันติภาพในแคชเมียร์ แต่ความสงบก็ไม่เกิดขึ้นอย่างถาวร และส่งผลกระทบจนถึงปัจจุบัน

 

ความสำคัญของแคชเมียร์ต่อความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียใต้

นอกเหนือจากปัญหาความขัดแย้งเพราะความต่างทางศาสนาและการผนวกดินแดนดังเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป ภูมิรัฐศาสตร์ของแคชเมียร์ยังมีความสำคัญต่อความมั่นคงและเป็นที่ต้องการของทั้งอินเดียและปากีสถาน โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ประเด็นที่สำคัญ กล่าวคือ

ประเด็นแรก แคชเมียร์คือแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของทั้งอินเดียและปากีสถาน น้ำที่ไหลจากแคชเมียร์นั้นสำคัญต่อการอุปโภค บริโภคและการทำเกษตรกรรมของคนทั้งสองชาติ แต่เมื่อต้นน้ำดังกล่าวอยู่ในแคชเมียร์ที่อินเดียครอบครอง ทำให้ปากีสถานเกิดความไม่มั่นคงด้านทรัพยากร จึงเรียกร้องให้เกิดการเจรจาเพื่อจัดสรรแหล่งน้ำดังกล่าว ทำให้ธนาคารโลกเข้ามามีบทบาทในการจัดทำข้อตกลงด้านการจัดการน้ำภายใต้สนธิสัญญาลุ่มน้ำสินธุ (Indus Water Treaty) ในปี 1960 โดยมีมติให้แบ่งแม่น้ำสำหรับ 2 ประเทศอย่างเท่าเทียมกัน กล่าวคือ อินเดียได้ 3 แม่น้ำ และปากีสถานได้ 3 แม่น้ำเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กติกานี้อาจไม่เป็นธรรมต่อปากีสถาน เพราะการควบคุมระดับน้ำและต้นน้ำทั้งหมดนั้นไหลจากแคชเมียร์ที่ซึ่งอินเดียมีอำนาจครอบครอง อีกทั้งในปัจจุบันอินเดียได้สร้างระบบบริหารจัดการน้ำและเขื่อนในพื้นที่ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระแสน้ำที่ไหลไปหล่อเลี้ยงผู้คนในปากีสถานนั่นเอง

ประเด็นที่ 2 แคชเมียร์บางส่วนนอกจากจะอยู่ภายใต้การบริหารอินเดียแล้ว ยังอยู่ภายใต้การจัดการของปากีสถานและจีน เมื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดภูมิศาสตร์ที่ตั้งของแคชเมียร์จึงมีความสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในมุมของอินเดีย การครอบครองแคชเมียร์ทั้งหมดจะทำให้อินเดียมีเส้นทางสำหรับการเชื่อมต่อไปยังอัฟกานิสถานซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญในการเชื่อมโยงการขนส่งด้านพลังงานไปยังตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และยุโรปในอนาคต

ในขณะที่ปากีสถานหากมีอิทธิพลเหนือแคชเมียร์ จะสามารถตัดช่องทางการเชื่อมต่อของอินเดียดังกล่าว และยังสอดรับกับการร่วมเป็นพันธมิตรของจีนในการเชื่อมเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล (Belt Road Initiative) รวมถึงสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจจีนปากีสถาน (China Pakistan Economic Corridor) อีกด้วย ดังนั้น การมีอิทธิพลเหนือแคชเมียร์จึงมีประโยชน์มหาศาลต่อทั้งอินเดียและปากีสถาน

ประเด็นที่ 3 การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลชาตินิยมฮินดู (Hindu Nationalism) ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีของอินเดีย นเรนทรา โมดิ แห่งพรรคภารติยะชนตะ (Bharatiya Janata Party) เน้นการสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่อินเดีย ทั้งในเชิงการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการสร้างอินเดียที่ยิ่งใหญ่ ประธานาธิบดีแห่งอินเดียจึงได้ประกาศยกเลิกมาตรา 370 แห่งรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิพิเศษแก่แคชเมียร์ ทำให้รัฐทุกรัฐและดินแดนสหภาพทุกแห่งมีสถานะเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์

ภายหลังประกาศดังกล่าว รัฐบาลอินเดียได้ส่งกองกำลังเข้าไปรักษาความสงบเพิ่มขึ้น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดการสื่อสารทุกชนิด จับกุมและทำร้ายผู้นำทางการเมือง รวมถึงปิดกั้นการเดินทางของผู้สังเกตการณ์เข้าสู่พื้นที่ นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังมีแผนที่จะสลายรัฐจัมมูและแคชเมียร์ โดยแปลี่ยนรูปแบบไปสู่ดินแดนสหภาพ 2 แห่งคือ ดินแดนสหภาพจัมมูและแคชเมียร์ และดินแดนสหภาพลาดัคห์ ซี่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 31 ตุลาคม 2019 การประกาศดินแดนสหภาพดังกล่าวยังมีผลครอบคลุมพื้นที่ซี่งยังอยู่ในการพิพาทของอินเดีย ปากีสถาน และ จีน

ทางด้านปากีสถาน ผู้นำและประชาชนต่างประท้วงและเรียกร้องให้อินเดียคืนความสงบให้กับแคชเมียร์ คว่ำบาตรสินค้า บริการ และภาพยนตร์ของอินเดีย รวมถึงจะนำกรณีดังกล่าวเข้าสู่การตัดสินของศาลโลก เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตึงเครียดในความสัมพันธ์ของอินเดียและปากีสถาน นำมาสู่การลดระดับความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างกัน นอกจากนี้ ปฏิบัติการของอินเดียยังสร้างความวิตกกังวลแก่ประชาคมโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป รวมถึงองค์การสหประชาชาติ

การเปลี่ยนผ่านไปสู่อินเดียที่แข็งกร้าวมากขึ้น จากเดิมอินเดียจะเน้นในเรื่องของสันติภาพมาโดยตลอด แต่การปฏิบัติและการควบคุมแคชเมียร์ ทำให้อินเดียกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อหลักการและหลักปฏิบัติของตนเองด้านการไม่ใช้ความรุนแรง

บทสรุป เอเชียใต้: ดินแดนแห่งไฟความรุนแรงที่ไม่มอดดับ…แต่ไม่ลุกโชน

ความขัดแย้งข้างต้นในแคชเมียร์ ทำให้ภูมิภาคเอเชียใต้กลายเป็นพื้นที่แห่งความรุนแรงและความขัดแย้งที่รอวันปะทุ ดังจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ปี 1971 อินเดียและปากีสถานต่างสั่งสมขีดความสามารถทางการทหาร เพิ่มค่าใช้จ่ายของกองทัพ ยกระดับทั้งจำนวนทหาร เครื่องบิน รถถัง กองทัพเรือ และขีปนาวุธ โดยเฉพาะหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งหากทั้งสองชาติตัดสินใจที่จะเข้าสู่สงครามอย่างเต็มรูปแบบ ขีดความสามารถทางการทหารดังกล่าวย่อมมีอานุภาพรุนแรงและส่งผลกระทบต่อภูมิภาคใกล้เคียง รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเหนือดินแดนแคชเมียร์ ยังเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพและความร่วมมือในภูมิภาค โดยเฉพาะความก้าวหน้าของสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation: SAARC)

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวิกฤตการณ์แห่งเอเชียใต้จะไม่ขยายความรุนแรงในวงกว้าง เนื่องจากปทัสถานของประชาคมโลกเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่า ความขัดแย้งในรูปแบบดั้งเดิมหรือการใช้ขีดความสามารถทางการทหาร (traditional security) มีค่าใช้จ่ายและผลกระทบสูง แม้ทั้งสองประเทศจะมีการปะทะและการสะสมอาวุธ ย่อมเป็นเพียงการป้องปรามของแต่ละฝ่ายเพื่อแสดงแสนยานุภาพด้านความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานอาจจะเป็นสงครามในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสวงหาความร่วมมือกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ นั่นเอง

Author

ปิยณัฐ สร้อยคำ
ปิยณัฐ สร้อยคำ ศิษย์เก่าจากดินแดนมหาภารตะ ทำการศึกษาและคลุกคลีอยู่กับ ‘ความเป็นอินเดีย’ นานนับสิบปี จนเป็นผู้เชี่ยวชาญและรู้จักอินเดียมากที่สุดคนหนึ่งในไทย ปัจจุบันปิยณัฐเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ​ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า