แล้วต้นไม้ในเมืองจะไม่โดนตัดเรื่อยเปื่อยอีกต่อไป!

072916 enviเรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: Shhhh

 

“ทำไมต้นไม้ในกรุงเทพฯ ถึงตัดกันโหดร้ายแบบนี้ ตัดทีหนึ่งเหลือแต่กิ่งกุดๆ?”

“ตัดแบบนี้ เหมือนใช้ไม้บรรทัดมาวัดแล้วตัดเอา? บ้าที่สุด”

“เดี๋ยวก่อนนะ ประเทศที่ศิวิไลซ์ เขาเอาสายไฟลงดินกันหมดแล้วไหมเธอ จะได้เลิกตัดต้นไม้เพราะกิ่งไปพันสายไฟ (สายสื่อสาร) เสียที”

“เห็นใจรุกขกรบ้าง ต้นไม้ในกรุงเทพฯ มีตั้งกี่หมื่นกี่แสนต้นกัน จะให้เลียบๆ เคียงๆ ตัด เมื่อไรจะเสร็จ แล้วรถมันก็ติดด้วยน่ะ รู้ไหม เชอะ”

คำถามเหล่านี้อาจผุดขึ้นในหัวใจของมนุษย์กรุงเทพฯ หากวันดีคืนดีเราตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ถนนที่เคยใช้สัญจรไปมามีบางสิ่งบางอย่างผิดตาไป… เมื่อมองไปเห็นต้นไม้ข้างทางถูกตัดจนหมดรูป ดูแล้วน่าห่อเหี่ยวเหลือเกิน

เพราะเห็นว่าเป็นอีกปัญหาของเมืองที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขและมักจะเวียนรอบกลับมาทุกๆ ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเปิดระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ในงานเสวนา ‘เปิดประตูบูรณาการงานรุกขกรไทย’ ชวนขบคิดและร่วมสรุปแนวทางแก้ปัญหาเชิงนโยบายสำหรับการดูแลต้นไม้ในเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

file2-way

มีปัญหาในชั้นใต้ดิน

“เราอยากได้ต้นไม้ที่มีทรงแบบไหน รูปแบบของใบเป็นอย่างไร ใบอย่างไหนเก็บกวาดได้ง่าย พันธุ์ไหนที่จะรองรับการปะทะของขนาดเม็ดฝน หรือแม้กระทั่งอยากจะวางแผนว่า อยากจะให้ถนนทั้งเส้นนั้น สะพรั่งด้วยดอกไม้ชนิดอะไร ในช่วงเวลาใด ทั้งหมดนี้เราออกแบบได้ ด้วยการใช้ Biotechnology หรือการคัดเลือกออกแบบพันธุกรรมเข้าช่วย”

ผศ.ดร.ดำรง พิพัฒนวัฒนากุล อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอว่า แนวทางการจัดการต้นไม้ด้วยการคัดเลือกพันธุ์ หรือการกลับไปวิจัยค้นคว้าออกแบบพันธุกรรมให้เหมาะกับพื้นที่ที่จะนำไปปลูก อาจเป็นคำตอบของการดูแลจัดการต้นไม้ เพื่อต่อรองกับข้อจำกัดของการจัดการต้นไม้ในเขตเมืองได้

“ปัญหาเรื่องต้นไม้ในเขตเมือง มันไม่ได้มีแค่ปัญหาเรื่องการตัดลิดกิ่ง จนทำให้เกิดปัญหา ‘ทัศนอุจาด’ เท่านั้น แต่รวมไปถึงความไม่แข็งแรงของต้นไม้ ที่เป็นปัญหาตั้งแต่ระดับชั้นดิน ราก การเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งหักคดงอ แล้วพอแทงขึ้นมาจากดิน ก็เจอปัญหาการตัดแต่งกิ่งที่ไม่เหมาะสม มลภาวะ ทำให้ต้นไม้ไม่เจริญเติบโตได้สวยงามอย่างที่ควรจะเป็น”

ความเป็นมหานคร การเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล คือปัญหาที่ลึกลงไประดับใต้ดิน เป็นอีกสาเหตุทำให้ต้นไม้เข้าสู่ภาวะป่วยไข้

อีกปัญหาหนึ่งที่ล้อกันเป็นวงจร คือการที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เพิ่งสร้าง เราขุดดิน ถมทราย ราดซีเมนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างของเมือง เวลาเดียวกัน รถราก็วิ่งอยู่บนถนนตลอดเวลา ทำให้เกิดภาวะ compaction ของดิน หรือการที่ดินถูกบดอัด อนุภาคดินไม่เคยหยุดนิ่ง มีการสั่นสะเทือนชั้นใต้ดินตลอดเวลา การบดอัดทำให้ดินชั้นล่างไม่มีอากาศ ดินไม่ใช่ดิน

“ไม่ได้บอกว่ากรุงเทพฯ ไม่ควรมีต้นไม้ แต่ผมจะชี้ว่า การวางแผนเรื่องพันธุ์ไม้นั้นสำคัญ ในสภาวะที่สภาพแวดล้อมชั้นดินในเมืองมีความเครียดเค้น (Stress and Strain) จากการเป็นเมืองมหานครนี้”

ดำรงอธิบายว่า ปัญหาเรื่องต้นไม้อาจไม่ใช่ปัญหาที่เห็นและจับต้องได้ จากการตัดต้นไม้จนไม่เหลือใบเท่านั้น หากเป็นความป่วยไข้มาตั้งแต่ชั้นใต้ดิน ราก ลำต้น ที่อาจเป็นเหตุเป็นผลมาตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนสร้างเมือง

“การแก้ปัญหาในชั้นแรก อาจเริ่มจากการมองว่า ต้นไม้ในทุกเขตพื้นที่ ต้องไม่ใช่ต้นไม้พันธุ์เดียวกัน แต่ต้องแตกต่างหลากหลายไปในแต่ละพื้นที่”

ในซอกซอย ใต้สะพานหรือแนวรถไฟฟ้า ต้นไม้ตามถนน ใต้แนวสายไฟฟ้า ไล่เรื่อยไปยังต้นไม้ในสวนสาธารณะ ทั้งหมดนี้ต้องไม่ใช้ต้นไม้ชนิดเดียวกัน หากต้องแตกต่างตามบริบทแต่ละพื้นที่ รวมทั้งชีวิตทางวัฒนธรรมของพื้นที่และชุมชนนั้นๆ ด้วย

“ถ้าให้มองในมุมมองของนักวิชาการเรื่องพันธุกรรมของต้นไม้ เราอาจบอกได้ว่า ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการวิจัยทดลอง เพื่อให้ได้ต้นไม้ที่เหมาะสบกับแต่ละท้องที่ ใต้แนวสายไฟอาจต้องการต้นไม้ที่ไม่สูงเกินแนวสายไฟและอยู่ในระดับปลอดภัยได้ เราอาจวิจัยหาพันธุ์ไม้ที่เหมาะกับฝน แดด การเก็บเกี่ยว หรือกระทั่งเลือกดูความสวยงาม ในฐานะของการเป็น street furniture อย่างหนึ่งได้ด้วย

“แต่ปัญหาของมันคือค่าใช้จ่าย ก็ต้องยอมรับว่าการวิจัยต้องใช้งบประมาณจำนวนหนึ่ง และในคำถามที่ว่า หากเพิ่มงบประมาณเรื่องการวิจัยพันธุ์ จะไปลดต้นทุนการดูแลต้นไม้ในระยะยาวไหม ผมอาจจะให้คำตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของนโยบายการจัดการ แต่ในทางวิชาการ ผมคิดว่ามันมีแนวทางทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหานี้ได้”

file8-way

งบดูแลต้นไม้จะลดลง ถ้าประณีตมากขึ้น

หากจะพูดถึงแนวทางการดูแลต้นไม้ให้สวยนิ้ง อาจจะต้องกลับไปทำความเข้าใจในแผนผังองค์กร หรือหน่วยงานผู้ดูแลต้นไม้ในเมืองเสียก่อน

“การดูแลต้นไม้ในเมือง จะแบ่งการดูแลออกเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ ได้แก่ ต้นไม้ในสวนสาธารณะ ต้นไม้ตามแนวถนน และสุดท้ายคือต้นไม้ใต้แนวสายไฟฟ้า

“ถ้าเป็นต้นไม้ในสวนสาธารณะ สำนักงานสิ่งแวดล้อม กทม. จะเป็นคนดูแล ถ้าเป็นต้นไม้ตามริมถนน เป็นหน้าที่ของสำนักงานเขต กทม. ทั้ง 50 เขต แต่ต้นไม้ใต้แนวสายไฟ การไฟฟ้าจะเป็นผู้ดูแล แต่ผู้ที่มีหน้าที่เลือกพันธุ์ และปลูกต้นไม้ กรมทางหลวงจะเป็นผู้ดูแลจัดการ”

มณฑาทิพย์ โสมมีชัย อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาเรื่องการป่าไม้ในเมืองและการจัดการพื้นที่สีเขียว อธิบายเรื่องการจัดการต้นไม้ในเมืองว่า ปัญหาการตัดต้นไม้ในเขตเมือง ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาในระบบการจัดการ

“ถ้าเป็นการตัดต้นไม้ เฉพาะใต้แนวสายไฟ ผู้ที่ดูแลจัดการ คือการไฟฟ้า ซึ่งเขาจะมีผู้รับเหมาหรือผู้ที่ว่าจ้างเข้ามาดูแลงานอีกทีหนึ่ง ประเด็นก็คือ การไฟฟ้าก็จะตัดต้นไม้ตามหลักการของเขา คือตัดตามหลัก safety หรือแนวทางความปลอดภัย

“เช่น ปกติแนวสายไฟ ไม่รวมกับสายไวไฟ หรือสายโทรศัพท์ ส่วนใหญ่จะสูงราว 9 เมตร ระดับความปลอดภัยของแนวไม้ก็จะต้องต่ำลงมากว่านั้น 2 เมตร การตัดทั่วไปที่เราเห็นกัน ก็เลยเหมือนเขาเอาไม้บรรทัดมาวัดระดับ แล้วตัดทิ้งให้เสมอกันไปเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ ผู้ที่ตัดต้นไม้ หรือรุกขกร ก็ต้องตัดตามหน้าที่และมีข้อจำกัดขณะปฏิบัติงานด้วย ฉะนั้นการแก้ปัญหาเบื้องต้น คือการสร้างมาตรฐานของผู้ที่จะไปควบคุมการตัดต้นไม้”

หากจะโทษรุกขกรเสียทีเดียวคงไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร มณฑาทิพย์เสนอว่า การจัดการต้นไม้ตามหลักคิดทางวิชาการต่างหาก ที่จะแก้ปัญหาทั้งเรื่องความสวยงาม และช่วยลดงบประมาณได้ในระยะยาว

“งบประมาณการตัดต้นไม้ของ กทม. ขณะนี้ อยู่ที่ประมาณต้นละ 60 บาท ตัดสองครั้งต่อปี ใช้งบประมาณปีละ 600 ล้านบาท ขณะที่เรทราคาปกติของการตัดต้นไม้ เพื่อให้สวยงามและมีผู้ควบคุมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว จะตกอยู่ที่ราว 200-500 บาทต่อต้น ขึ้นกับอยู่ลักษณะและขนาดของต้นไม้

“หมายความว่าถ้ามองระยะสั้น จากต้นละ 60 บาท ไปสู่ต้นละ 200-500 บาท เท่ากับต้องเพิ่มงบประมาณขึ้นเกือบ 10 เท่า ยังไม่รวมกับระยะเวลาที่จะต้องใช้เพื่อการประณีตตัดต้นไม้อีกด้วย แต่ถ้าบอกว่า หากเราเลือกลงทุนตัดต้นไม้ต้นละ 200 บาท จะสามารถลดงบประมาณได้ปีละ 50 ล้านบาท จะน่าสนใจไหม”

เพราะการตัดต้นไม้ด้วยงบประมาณต้นละ 60 บาท คือการตัดชนิด ‘ใช้ไม้บรรทัดทาบ’ การตัดในลักษณะนี้จะต้องตัดปีละ 2 ครั้ง หมายความว่า ต่อปีต้องใช้งบประมาณปีละ 120-150 บาทต่อต้น (เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ด้วย) และจากวิถีปฏิบัติที่เคยผ่านมา จำเป็นจะต้องตัดแบบนี้เรื่อยไปทุกปี

แต่หากเราเลือกตัดด้วยการใช้งบประมาณ 200-500 ต่อต้น และใช้ระยะเวลา ความประณีต และได้รับการควบคุมจากรุกขกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ จะทำให้ไม่ต้องตัดต้นไม้ทุกปี เพียงแต่คอยดูแลให้มันสมบูรณ์แข็งแรงไปเรื่อยๆ เท่านั้น เมื่อคิดงบประมาณกันจริงๆ แล้ว จะสามารถลดงบประมาณได้ราว 50 ล้านบาทต่อปี

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า