รุสลาน มูซอ สำนักสื่อวาร์ตานี พิราบเทาในพื้นที่สีแดงชายแดนใต้

มันเป็นเช้าที่พระอาทิตย์ยังไม่โผล่จากขอบฟ้าดี ฝนก็เทลงมาห่าใหญ่ก่อนซาไปเหลือเพียงปรอยโปรย เสียงเปาะแปะ และกลิ่นละออง เรานัดใครคนหนึ่งเพื่อสนทนาแถวร้านน้ำชากลางเมืองยะลา เขามาถึง เราพบกัน ระหว่างมวนยาสูบด้วยใบจาก น้ำชากาแรกก็ถูกวางบนโต๊ะ ฝนเช้าทำให้อากาศเย็น ชาอุ่นๆ จึงมีค่ามากกว่าเครื่องดื่มธรรมดา

เบื้องหน้าเราคือ เช-รุสลาน มูซอ หนุ่มลูกครึ่งอีสาน-ชายแดนใต้ ผู้เป็นบรรณาธิการบริหารสำนักสื่อวาร์ตานี (WARTANI) หากเราติดตามแฟนเพจ wartani และเว็บไซต์ wartani.org จะพบว่านี่คือสำนักข่าวที่ติดตามประเด็นชายแดนใต้อย่างใกล้ชิด แน่นอนว่าบทบาทเหล่านั้นย่อมพาไปสัมผัสกับคราบน้ำตา กลิ่นคาวเลือด และเขม่าปืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระนั้นอาจมีคำถามว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สื่อมวลชนกระแสหลักก็รายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์นั้นๆ สำคัญเพียงใด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเนื้อหาจากวาร์ตานีกลับมีน้ำเสียงอีกแบบ ที่มากกว่านั้นคือเจ้าของถ้อยคำมักมาจากประชาชนในแนวราบมากกว่าฝ่ายรัฐ

เราและเขาแนะนำตัวเพียงเล็กน้อย น้ำชาถูกรินจากกาลงแก้ว หลังจากนั้นบทสนทนาระหว่างเรากับ เช-รุสลาน มูซอ ก็เริ่มขึ้น

รุสลัน มูซอ

อายุเท่าไหร่

เอาแค่ 30 ต้นๆ แล้วกัน (หัวเราะ) ผมอยู่อย่างนี้นานแล้ว ตอนอยู่กรุงเทพฯ เพื่อนๆ สายอีสานก็ถามว่าผมอายุเท่าไร ผมก็บอกว่า อย่าเอาเรื่องอายุมาเป็นกำแพงกีดกั้นเลย เราคือสหายร่วมกัน

เริ่มต้นทำอะไรมาก่อน

ผมเป็นนักศึกษาที่เคยถูกควบคุมตัวเมื่อปี 2550 และถูกกระทำไม่ดี หลังจากคุมตัวได้ 17 วันก็ปล่อยตัว หลังจากนั้นเริ่มสนใจกฎหมาย เลขขึ้นไปเรียนต่อนิติศาสตร์ที่กรุงเทพฯ และเรียนรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เรียนคู่กันไป อยู่ดีๆ มันก็จบทั้งสองคณะ

ตอนถูกควบคุมตัว โดนคดีอะไร เราไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร

คดีความมั่นคง เขามองว่าเราเหมือนผู้ต้องสงสัย หน้าแบบ… แบบเนี้ยะ เขาว่าหน้าเหมือนโจร เลยถูกคุมตัวไป เพราะตอนนั้นมันมีอคติเยอะ แค่เป็นคนมลายู เขาก็จับแล้ว แต่เขามารู้ทีหลังว่าผมเกิดที่กรุงเทพฯ แม่เป็นคนอีสาน พ่อผมเป็นคนที่นี่

เขามาจับได้อย่างไร

กลับมาเยี่ยมญาติ ญาติไม่สบายอยู่โรงพยาบาล ตอนนั้นเราอยู่กรุงเทพฯ เราก็ลงมาเยี่ยม แล้วก็ถูกคุมตัว ตอนนั้นผมยาวรุงรัง เด็กรามคำแหงฯ

เรียนอยู่ปี?

ปี 1

ตอนที่ถูกคุมตัวไป เขาทำอะไร กระบวนการเป็นยังไง

ซักถามแบบฮาร์ดคอร์นิดนึง ใช้ความรุนแรงสักนิ้ดดดด (หัวเราะ)

รุสลัน มูซอ

สนใจประเด็นในพื้นที่ 3 จังหวัดหรือยัง

เป็นนักกิจกรรมในพื้นที่ ลงอาสาสอนตาดีกา เพราะตอนนั้นเริ่มมีแล้ว

เป็นนักกิจกรรมแต่โดนกระทำเสียเอง เรารู้สึกอย่างไร

ถ้าบอกความรู้สึก มันก็… นี่ขนาดเป็นนักกิจกรรม แล้วประชาชนล่ะ? เรายังถูกกระทำได้ ประชาชนก็น่าจะถูก (กระทำ) เยอะกว่านี้

หลัง 17 วัน เขาก็ปล่อย?

ปล่อย ไม่มีพยานหลักฐาน ศาลบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะก่อเหตุในพื้นที่ ช่วงที่เขาบอกว่าผมมีคดีนี้ๆ อยู่ในพื้นที่วันนี้ๆ แต่ในความเป็นจริงผมอยู่กรุงเทพฯ ศาลเลยบอกว่าหลักฐานของเจ้าหน้าที่ไม่พอ ศาลจึงสั่งไม่ฟ้อง ก็หลุด

หลังจากนั้นก็หันมาทางนี้ ตอนแรกเรียนรัฐศาสตร์ แต่กลับมาเราเลือกเรียนนิติฯ เลย เพราะเราตอบโต้ (เจ้าหน้าที่) ด้วยกฎหมายไม่ได้ เราไม่รู้เลยว่ากฎหมายเป็นอย่างไร พ.ร.ก.กฎอัยการศึก เป็นยังไง จะคุยกับเขาไม่ได้ คิดอย่างเดียวว่า ทำอย่างไรให้กลับมาคุยเรื่องกฎหมายได้ เรียนกฎหมายแม่งเลย เรียนเสร็จ… มาๆ ถูกจับครั้งที่สองเลย (หัวเราะ)

ถูกจับตอนไหนอีก

ปี 2553 เข้า 2554 โดนที่สงขลา ไปเปิดร้านอาหาร ร้านเปิดครบ 40 วันพอดีเขาก็มาล้อมเลย แต่คราวนี้เรารู้กฎหมาย เรารู้สิทธิ์ คุณกระทำเราไม่ได้นะ ถ้าจะทำต้องทำให้เป็นรอยนะ ผมจะฟ้องคุณได้ง่าย ผมจำชื่อพี่ได้ ท้าให้ตบเลยทีนี้

เรียนจบแล้ว?

ใกล้จบแล้ว ตอนนั้นเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ยังไม่เป็นเปอร์มัส (PerMAS) พอคุมตัวเราได้สามวัน น้องๆ นักศึกษาประมาณ 200 กว่าคน เริ่มเคลื่อนไหว ประท้วงที่หน้าภูธร 9 (ตำรวจภูธรภาค 9 – อำเภอเมือง จังหวัดยะลา) เรียกร้องให้ปล่อยตัว เจ้าหน้าที่กดดันก็เลยปล่อย

ถูกจับไปกี่วัน

3 วัน

ถูกควบคุมตัวครั้งแรก กับครั้งที่ 2 สติสตังต่างกันเยอะไหม

ต่างกันเยอะ (เสียงสูง) ครั้งแรกมาแบบฮาร์ดคอร์อย่างเดียว ปุบปับๆ ครั้งที่สองเรามีสติเยอะมาก เรารู้กฎหมาย เขาทำอะไรเขาต้องเกรงใจเราแล้ว เพราะฉะนั้นกฎหมายสำคัญในพื้นที่นี้มาก ได้โต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ บางทีเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้รู้กฎหมาย เขาก็ทำไปเพราะรู้สึกว่ามีอำนาจ แต่พอเราคุยด้วยกฎหมาย เขาก็นั่งนิ่งละ

มาตรานี้บอกไว้อย่างนี้นะ ตอนนั้นเราคุยเรื่องกฎหมายอย่างเดียว เขาเลยให้ทีมสืบสวนแนวซอฟต์เข้ามา ทีมนี้รู้กฎหมายหน่อย เขาเลยให้เอาทีมนี้เข้ามา

ใช้ความรู้ด้านกฎหมายมายันได้จริงๆ ใช่ไหม

ยันได้ๆ ได้ส่วนหนึ่ง แล้วเราเป็นนักศึกษา เป็นนักกิจกรรมด้วย ฐานะเราเริ่มมี รัฐเริ่มเกรงใจเพราะภาวะกดดันที่เรารู้จักคนเยอะ เครือข่ายเยอะ

ตอนนั้นสื่อใน 3 จังหวัดยังไม่มีนะ สื่อปี 2553 ยังไม่มีเลย คิดกับเพื่อน กับทีม Insouth ว่าจะทำยังไงดีกับสื่อ เลยเริ่มศึกษามาเรื่อยๆ ไม่เคยจับกล้อง ไม่เคยเขียนข่าว ไม่เคยเลย แต่ก็เริ่มอบรม เรียนรู้เรื่องการสื่อสาร ทีมชุดแรกของวาร์ตานีก็เลยเริ่มก่อตั้ง แต่ก็ยังไม่เป็น ยังหลวมๆ กันอยู่

ช่วงนั้นผมกลับไปบ้านที่บันนังสตา พื้นที่สีแดง ก็ทำงาน ไปจัดตั้งองค์กรเยาวชน ไปช่วยชาวบ้านเรื่องการร่างกฎหมายชุมชน ให้กำหนดกันเองว่าเขาจะจัดการบริหารยังไง เราเอาองค์ความรู้นี้เข้าไป ต่อมาวาร์ตานีก็เปิดอบรมการทำสื่อ ผมในฐานะรุ่นแรก ซึ่งลืมหมดแล้วไง (หัวเราะ) ก็ออกมาเรียนใหม่ ศึกษาใหม่ อบรมกับวาร์ตานีอยู่สองปีก็เริ่มทำงานในพื้นที่ ทำไปทำมา ปีที่สามกับวาร์ตานี เขาเปลี่ยน ผอ. ใหม่ ผอ. คนนั้นเลือกผมขึ้นมาเป็นบรรณาธิการบริหาร

รุสลัน มูซอ

วาร์ตานีแปลว่าอะไร

วาร์ตานี (กระดกลิ้นคำว่า วา-ระ) วาร์ตา (warta) เป็นภาษามลายู แปลว่า ข่าว ส่วน ‘นี’ คือ ปาตานี

เริ่มต้นปีไหน

เริ่มเปิดหลวมๆ ปี 2551-2552 เริ่มมีแล้วแต่ยังไม่ได้ชื่อวาร์ตานี คือเริ่มสร้างทีมนักข่าวในพื้นที่ มี Southern Peace Media มีกลุ่มบุหงารายา และกลุ่ม Insouth Media แต่วาร์ตานีที่เป็นรูปธรรมจริงๆ ก็ 5-6 ปีแล้ว

ตอนนี้มีสตาฟกี่คน

ทั้งหมด 18 คน แต่ถ้าแหล่งข่าวในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 300 กว่าคน เพราะเราทำงานเป็นเครือข่าย เป็นกลุ่ม ลงทำสารคดีครั้งหนึ่งก็สอนให้ชาวบ้านนำเสนอสื่อ เขียนข่าวได้ ถ่ายวิดีโอได้ แล้วส่งมาให้เรา เขาก็ได้เป็นแหล่งข่าวไปโดยปริยาย เพราะบางทีพื้นที่ลึกๆ เราเข้าไม่ได้ เสี่ยง ในพื้นที่แบบนี้ ถ้าไม่ใช่นักข่าวสายทหารหรือรัฐ เข้ายาก

แต่สำหรับชาวบ้าน ถ้าพูดถึงวาร์ตานี เขาให้เข้าตลอด มีปัญหาอะไรเขามาถึงเราก่อน เวลาพี่น้องถูกซ้อมทรมาน เขาจะไม่บอกคนอื่น แต่บอกกับเรา แล้วเราค่อยกระจายไปที่ศูนย์ทนายความมุสลิมบ้าง องค์กรสิทธิบ้าง

เป้าหมายของวาร์ตานีคืออะไร

การนำเสนอเสียงจากรากหญ้าไปสู่ข้างบน เสียงสันติภาพที่แท้จริง ไม่ใช่เสียงที่ fake ขึ้นมาว่า คนต้องการแบบนี้ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ เราอยู่ในวงวิชาการมากเกินไป นักวิชาการหรือฝ่ายนักการเมืองบอกตลอดว่าประชาชนต้องทำอย่างนี้ๆ แต่ความเป็นจริง ประชาชนต้องการอะไร?

หลักคิดของผมคือ จะสะท้อนเสียงของรากหญ้าขึ้นมาอย่างไร นี่คือเสียงจริงๆ นี่เรียกว่าสามัญชน

วิธีการทำงาน โครงสร้างองค์กรเป็นอย่างไร

มันจะมีบอร์ดบริหาร 4-5 คน ที่คอยบริหารทั้งหมด มีบรรณาธิการ กองข่าว คุยเรื่องข่าวในพื้นที่ ต้องวิเคราะห์ทุกวัน ทีมนี้ส่วนมากจะคุยกันออนไลน์ เพราะเราไม่ได้ประจำที่สำนักงานวาร์ตานีตลอดเวลา แต่ละคนมีงานในพื้นที่ ต้องเลี้ยงลูก เลี้ยงอะไรนะ ต้องคุยออนไลน์ตลอด มอนิเตอร์ นี่คือกองข่าวรายวัน

และจะมีฝ่ายการตลาด เราถอดบทเรียนว่า เราเคยได้รับโครงการจากแหล่งทุน แต่วันที่แหล่งทุนไม่ให้มันก็มี แล้วถ้าไม่ให้เราก็เดินไปไม่ได้ เราเลยถอดบทเรียนว่า เราต้องเดินด้วยขาของเราให้ได้ เลยต้องมีทีมการตลาดที่ทำงานในชุมชน ไปสร้างงานในชุมชน ให้ประชาชนปลูกแตงกวา โดยแบ่งรายได้ 30 เปอร์เซ็นต์เข้าวาร์ตานี อีก 70 เปอร์เซ็นต์เป็นของคนปลูก เงินลงทุนเราเอาให้ คุยกันแบบแฟร์ๆ เลย

ประชาชนอยากทำอะไร? เยาวชนบันนังสตาบอกอยากเลี้ยงไก่ไข่ เราก็ซื้อไก่ไข่ให้เลย เขามาพรีเซนต์ให้เราฟัง (เพื่อขอทุน) ตกลงกันว่า โอเค… ผมสนับสนุน ผมเอา 30 เปอร์เซ็นต์ได้ไหม ชาวบ้านบอกได้ ก็วิน-วิน คุยกันแบบสหายนะ ทางเบตงเราก็มีสวนยางด้วยนะ

ท่อน้ำเลี้ยงมาจากสวนยาง เล้าไก่? โมเดลแบบนี้เอามาจากไหน

ตอนทำกิจกรรมสมัยก่อน เราไม่มีงบ สนน.จชต. ก็ทำกันอย่างนี้ และในสมัชชาคนจน เรื่องสหกรณ์คนจน การเคลื่อนของเขา แล้วก็ถอดบทเรียนจากตรงนั้นมาแล้วมาสร้างโมเดลใหม่หมดเลย

ทำงานกับเครือข่ายอย่างไร

จุดเริ่มต้นคือเครือข่ายเลย ตอนที่เราลงไปในพื้นที่ ไปทำเรื่องราวในชุมชน เราก็อบรมกับเขาไปเลย สมมุติเราลงเบตง ก็จะมีคนที่สนใจประมาณสิบกว่าคน เราก็สอน พร้อมกับทำเรื่องราวในชุมชน โดยให้เขาเล่าว่า เรื่องราว บ้านของเขาเป็นอย่างไร เขาก็จะเล่า จะผูกพันกับพวกเราแบบนี้ แล้วพวกเขาก็ไปสร้างน้องต่อ เชิญเขาเข้าไป เขาก็คือแหล่งข่าวของเราโดยปริยาย มีอะไรเขาก็ลิงค์กลับมาหาเรา สายก็จะมีอยู่ทั่ว

แต่เครือข่ายนี้ เปิดเผยไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็เคยถาม เพราะข่าวเราเร็วมาก ปิดล้อมปุ๊บ ปุ๊บ ปุ๊บ ชาวบ้านส่งข่าวขึ้นมาเลย เจ้าหน้าที่ถามรู้ได้ไง? เราบอกไม่รู้ได้ไงพี่ ตาสับปะรดผมเยอะ เขาถามทำไมออกข่าวฝั่งเดียว ไม่ออกข่าวฝั่งของรัฐบ้าง เราบอก อ้าว… ก็รัฐไม่ได้บอกอะไรเรานี่ (หัวเราะ)

เราดีลกับเจ้าหน้าที่รัฐแบบนี้เลยเหรอ

เราตรงไปตรงมา รัฐพยายามบอกว่า สำนักสื่อวาร์ตานี ไม่เป็นกลาง ผมบอก ผมเป็นกลางนะ เป็นกลางสำหรับประชาชน ไม่ใช่สำหรับรัฐ เพราะรัฐมีสื่ออยู่แล้ว แต่ประชาชนมีไหม? ผมถามว่าวันนี้เสียงประชาชนที่จะเผยแพร่ในสาธารณะ สื่อของรัฐเคยลงไปทำไหม แต่รัฐกลับบอกสื่อเล็กๆ ไม่เป็นกลาง ก็ไม่เป็นกลางสำหรับคุณอยู่แล้ว ปล่อยให้ผมเป็นกลางสำหรับประชาชน อันนี้ผมชัด เขาเลยอ้างไม่ได้ ผมตรงไปตรงมา ถ้าพี่อยากให้ข่าวกับผม พี่ก็คุยมา แต่พอผมจะขอ (ข้อมูล) พี่ไม่ให้

เจ้าหน้าที่รัฐเรียกไปคุยบ้างไหม

บ่อย โดยเฉพาะช่วงที่ผมขึ้นมา (เป็น บก.บห.) โดนถี่มาก เพราะสถานการณ์ตอนนั้นก็ถี่ ข่าวเราก็ถี่ เพราะตอนนั้นเรายังปรับตัวไม่ทัน ทีมบริหารใหม่หมด พวกทีมโครงสร้างที่ตั้งในยุคผม ใหม่หมด พอใหม่แล้วก็ไฟแรง ทีมกองข่าวก็ไฟแรง เสนอข่าวฮาร์ดคอร์ตลอด พอนำเสนอเรื่องแบบนี้ ก็โหว… โดนเรียกบ่อย บอกว่าเป็นปากเสียงของขบวนการก่อความไม่สงบบ้างละ อ้าว… ซวยละ

เราถาม แบบไหนคือปากเสียงของขบวนการฯ เขาบอก นี่ไง เอาข้อมูลเหล่านี้ออกมา อ้าว ข้อมูลฝั่งประชาชน คุณรู้ได้ยังไงว่าเป็นขบวนการฯ คุณเอาหลักฐานที่ไหนมาว่าประชาชนว่าเขาคือขบวนการฯ แล้วคุณทำจริงไหมละ? พี่น้องเขามาร้องเรียนกับผม ลูกเขาถูกซ้อม ร้องเรียนทั้งน้ำตานะ ผมจะทำอย่างไรในฐานะสื่อ ก็ต้องนำเสนอ เพื่อให้มันรู้ว่า พื้นที่นี้มันเกิดอะไรขึ้น แต่รัฐเคยฟังไหม ชาวบ้านไปร้องทั้งน้ำตารัฐก็ไม่ฟัง ทำว่าเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ถ้าไม่เป็นข่าวก็ไม่สนใจ

แต่ทีนี้ (เรียกคุย) เขาจะไม่เรียกไปปรับทัศนคติแบบเข้าค่ายนะ แต่เรียกไปกินกาแฟ พาไปแอมะซอนบ้าง (หัวเราะ)

เวลาชวนไปกินกาแฟ เขาจัดการยังไง เขาคุยอะไรกัน

คุยเรื่อง สิ่งที่เขาต้องการ เช่น ข้อมูลที่เราได้มา เราเอามาจากไหน เราก็บอกว่า โอ้… แหล่งข่าวเรามี 300 กว่าคน เขาบอก เอาข้อมูลมาได้ไหม ชื่ออะไรบ้าง เราบอก โอ้ยพี่ สำนักข่าวไหนเขาก็ไม่ทำ Reuter, Al jazeera เขาไม่ทำ พี่มีจรรยาบรรณทหาร ผมก็มีจรรยาบรรณนักข่าว พี่เปิดเผยแหล่งข่าวได้ไหม ถ้าพี่เปิดเผยได้ ผมก็เปิดเผยได้ แลกกันมั้ย เขาก็ไม่เอา

มันเป็นข้อมูลจากรากหญ้า และบางสิ่งบางอย่างรัฐรับไม่ได้

รุสลัน มูซอ

มีเจ้าหน้าที่รัฐตาม เพื่อไปดูว่าแหล่งข่าวเราคือใครไหม

ถ้ากับผม ตาม แต่ผมรู้ว่าถูกตาม ผมเลยจะไม่ลิงค์กับชุมชน แต่จะมีสองถึงสามคน (ในกองฯ) ที่ลงลิงก์กับชุมชน ของผมนี่ เอาง่ายๆ ล่อปลา

5 ปีที่ผ่านมา เคสไหนที่เราทำงานกับมันอย่างหนัก และรู้สึกว่าย่ำแย่

เรื่องความไม่เป็นธรรมของชาวบ้าน เช่น ลูกถูกวิสามัญ แต่ในความเป็นจริงลูกเขาไม่ได้เป็นแบบนั้น อย่างที่รัฐพยายามสร้างทุ่งยางแดงโมเดล แต่อยู่ดีๆ ไปวิสามัญเยาวชน ซึ่งเป็นเด็กเรียนด้วย ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการจับอาวุธ เรื่องแบบนี้ในพื้นที่เยอะ ซึ่งเรื่องแบบนี้ ตึงเครียด

การปิดล้อมแค่ละครั้งของรัฐ เขาเรียกว่ายุทธศาสตร์วางแห (หว่านแห) ปิดครั้งหนึ่งเอาไปเลย 40-50 คน เอาไปขัง คัดกรองด้วยวิธีการละเมิดสิทธิขั้นรุนแรง วันนี้ยังมีการร้องเรียน ศูนย์ทนายมุสลิมฟ้อง ไปร้องเรียนกับศาลให้เกิดการซักถามว่าทำจริงไหม พอชาวบ้านออกมา เขาก็ไม่กล้าสู้ ตอนที่พ่อแม่ดูสภาพลูก มันรับไม่ได้จริงๆ

เราต้องยอมรับว่าความรุนแรงแบบนี้ มันมีจริงๆ ในพื้นที่ การซ้อม การใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน แต่ภาพที่ออกไปมันสวย มีการแต่งหน้าของหลายสื่อ หลายสำนักลงมาก็พยายามแต่งเรื่องในพื้นที่ใหม่ แต่ในความเป็นจริงมันมีจุดซ่อนเร้น ชาวบ้านถูกกดทับ เสียงถูกปิด เลือดชาวบ้านยังถูกล้างไม่หมด เพราะความยุติธรรมไม่มี ลูกถูกวิสามัญ ผิดอะไร บอกว่าเป็นโจร โจรแบบไหน? พิสูจน์สิ บางทีปืนไม่มี แต่ถูกวิสามัญ ถ้ามีปืนนี่ สู้ไปเลย ไม่ได้ว่า แต่นี่ไม่มีอะไร ชาวบ้านถูกยิง โต๊ะอิหม่ามถูกยิง ครูตาดีกาถูกยิง ผู้นำสังคมถูกเก็บ ถูกสังหาร แล้วพื้นที่มันธรรมดาแบบนี้ พื้นที่ที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รัฐต้องบริสุทธิ์ใจ

เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าใครคือผู้ก่อการจริงๆ

ข้อมูลแต่ละคนทั้งหมด รัฐมีหมดอยู่แล้ว เพราะรัฐทำสำรวจ ทำอะไรอยู่แล้ว ตั้งแต่ออกจากโรงเรียนออกมาเลย รัฐมีหมดว่าเด็กคนนี้เป็นอย่างไร การติดตามพฤติกรรมรัฐก็มี มีมือเท้าเยอะกว่า แหล่งข่าวเยอะมาก ผู้ใหญ่บ้านก็อยู่กับเขา ข้อมูล การพิสูจน์ทราบ

โอเค เจ้าหน้าที่บอกว่าเขาไม่ได้ทำ แต่ทำไมชาวบ้านเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำ ตรงนี้ต้องเกิดการพิสูจน์ให้ได้ รัฐต้องบริสุทธิ์ใจก่อน การทำงานในพื้นที่ ถ้าใส่อคติลงไป ปัญหาก็ไม่จบ กลุ่มขบวนการใต้ดินก็เคลมตัวเองว่าเป็นขบวนการกอบกู้เอกราช อย่างนี้มันสงครามหรือยัง รัฐก็ไม่ได้บอกว่านี่คือพื้นที่สงคราม ถ้าจะใช้กฎหมายสงครามใช้ยังไง รัฐก็ต้องจริงใจด้วย ไม่ใช่สร้างภาพในการทำงาน ปราบปรามๆ เสร็จแล้วก็แจกเงิน เงียบ ทำอีก ตบอีก แจกเงิน ง่ายมาก กระบวนการเหล่านี้ ชาวบ้านก็เก็บไว้เยอะ เหมือนพ่อถูกวิสามัญ ถ้าผมเป็นลูก เห็นพ่อถูกวิสามัญโดยใคร โดยรัฐ แบบนี้ก็เก็บมาตลอด รัฐก็ตีหน้าละ ลูกโจร โดยปริยาย… เขาเข้าสู่ขบวนการ ฝังใจเจ็บ

ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านที่ตายเพราะขบวนการ

มีๆ เราต้องดูด้วยว่าการเสียชีวิตของชาวบ้าน… ผมเพิ่งรู้ทีหลังว่าเป็นสายข่าว เป็นแหล่งข่าวของรัฐ รัฐก็ไม่ยอมเปิดเผย พอผมอยู่กับข้อมูลนักข่าว มันได้ข้อมูลแปลกๆ มาตลอด พอคนนี้เสียชีวิต ชื่อเป็นนายอย่างเดียว ไม่ได้เป็นอะไร แต่มารู้ทีหลังว่าเป็นแหล่งข่าวของรัฐ เพราะการเสียชีวิตของชาวบ้านส่วนมาก หลังจาก (คนใน) ขบวนการเสียชีวิต  จะมีการเก็บสายข่าวทันที ตอบโต้กัน ขบวนการเองก็รู้ว่าใครคือสายข่าว

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า