ทัศนะวิพากษ์ในยุคสมัยที่เสรีภาพของศิลปินไทยถูกกดต่ำ

“ความซื่อตรงคือความจริง ความจริงคือความซื่อตรง…ความจริงเป็นหัวใจของบ่อเกิดแห่งนิติธรรมต่างๆ เป็นหัวใจของความบริสุทธิ์และเป็นอิสระ”

ศรีบูรพา จากเรื่อง แลไปข้างหน้า

ประโยคก่อนเปิดการเสวนาถึงประเด็นที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการกระทำที่มีนัยการใช้อำนาจของภาครัฐซ่อนอยู่เบื้องหลังวงการศิลปะและศิลปินไทย จากกรณีการถอดถอนศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 – สุชาติ สวัสดิ์ศรี 

เนื้อความในเอกสาร เรื่อง ‘การยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ ที่คณะกรรมการกระทรวงวัฒนธรรมมีมติถอดถอน สุชาติ สวัสดิ์ศรี จากการเป็นศิลปินแห่งชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้ทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมในสื่อเฟซบุ๊กอยู่เป็นประจำ โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักที่คนไทยทั้งชาติให้ความเคารพเทิดทูน โดยไม่สมควรและไม่เหมาะสม ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เรื่องนี้ถือเป็นวัฒนธรรมในสังคมไทยที่สำคัญ ซึ่งศิลปินแห่งชาติต้องเคารพในหลักวัฒนธรรมธรรมไทย และต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ประพฤติปฏิบัติโดยแสดงออกทางกาย วาจา และจิตใจ ที่ไม่ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และมีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ดังนั้น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นพฤติกรรมที่มีความประพฤติที่เสื่อมเสียต่อการเป็นศิลปินแห่งชาติ ตามข้อ 10 วรรคสอง ของกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2555 และแก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ข้อ 2”

กรณีข้างต้นจึงนำมาสู่วงเสวนาหัวข้อ ‘เสรีภาพของศิลปินไทยในยุคขยับเพดาน’ ผ่านรายการ WAY Conversation วันที่ 5 ตุลาคม 2564 โดยผู้ร่วมสนทนา ได้แก่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.อานนท์ มาเม้า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club และตัวแทนสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (Thai Media for Democracy Alliance: DemAll)

เพื่อร่วมหาคำอธิบายให้กับเหตุการณ์การถอดถอน สุชาติ สวัสดิ์ศรี บทเสวนาในครั้งนี้ยังรวมไปถึงการคาดคะเนทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างวงการศิลปะ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอำนาจรัฐ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของสังคมไทยอีกด้วย

สถานการณ์เสรีภาพของศิลปินไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ธิดา: จากกรณีคุณสุชาติ สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อปี 2563 ได้มีการแก้ไขกฎกระทรวงเพิ่มเติม เรื่อง คุณสมบัติของผู้ที่จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติว่า หากผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว ปรากฏว่ามีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคดีความ สามารถถูกพิจารณาถอดถอนการเป็นศิลปินแห่งชาติได้ จนในปี 2564 ก็เกิดกรณีขึ้น โดยคุณสุชาติเป็นศิลปินแห่งชาติคนแรกที่ถูกถอดถอน 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมจึงมีการแก้ไขกฎกระทรวงเพิ่มเติม โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมไทยมีกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตย และแสดงความเห็นต่างกันอย่างหลากหลาย การแก้กฎกระทรวงนี้เหตุผลคืออะไร และคุณสุชาติมีพฤติกรรมอะไรที่เสื่อมเสียถึงขนาดถูกถอดถอนจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ

การจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เบื้องต้นจะพิจารณาจากผลงานและคุณูปการที่สร้างให้กับวงการศิลปวัฒนธรรมไทย แต่เมื่อถูกถอดถอน ถูกถอดถอนด้วยเหตุผลอะไร จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะสงสัยว่า การถอดถอนครั้งนี้เป็นเพราะคุณสุชาติแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่พูดได้อย่างรวบรัดว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐ และแสดงท่าทีที่ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการอย่างชัดเจน เป็นเพราะเหตุผลนี้ใช่หรือไม่

กรณีนี้ยังสะท้อนให้เห็นภาพรวมของวงการศิลปะบ้านเราว่าอยู่ภายใต้สถานการณ์นี้มาโดยตลอด คนที่ทำงานศิลปะในไทยมักถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ไว้ใจและหวาดระแวงจากภาครัฐอยู่เสมอ โดยเหตุผลที่รัฐเอามาทำลายหรือทำร้ายก็คือ พฤติกรรมเสื่อมเสีย กระทบความมั่นคงรัฐ และศีลธรรมอันดีของสังคม 

ตัวอย่าง วงการภาพยนตร์หากเท้าความย้อนหลังคือ ภาพยนตร์เข้ามาในประเทศไทยร้อยกว่าปี และเข้ามาในลักษณะหนังข่าว คือทำให้คนดูเห็นว่า พื้นที่นอกราชอาณาจักรเกิดสถานการณ์สำคัญอะไรขึ้นบ้าง เมื่อภาพยนตร์ทำหน้าที่เช่นนี้ รัฐไทยก็จะมองด้วยความหวาดกลัวและไม่ไว้ใจ สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ฉบับแรกปี 2473 โดยมีข้อความปรากฏใน พ.ร.บ. ว่า ห้ามมิให้ทำหรือฉายหรือแสดง ณ สถานที่มหรสพซึ่งภาพยนตร์หรือประกาศประกอบด้วยลักษณะฝ่าฝืนหรืออาจฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี”

นี่คือชุดความคิดหลักที่รัฐมีต่อภาพยนตร์ไทย โดยอำนาจที่อยู่ใน พ.ร.บ. ให้มีการตั้งกองเซ็นเซอร์ หรือให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสามารถสั่งตัด แบน อนุญาตหรือไม่อนุญาต เรื่องไหนก็ได้หากรู้สึกว่าฝ่าฝืนตาม พ.ร.บ. กำหนด 

สิ่งที่น่าสลดคือ อำนาจนี้อยู่ในมือเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ตัวแทนกรมการศาสนา หรือคณะกรรมการที่มีอำนาจตัดสินภาพยนตร์ โดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องรู้หรือเข้าใจศิลปะภาพยนตร์เลย เพียงแค่อยู่บนฐานความคิดของรัฐเท่านั้น

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ไม่เคยเปลี่ยนเลยถึง 78 ปี จนคนในวงการหนังเรียกร้องให้มีสิทธิเสรีภาพ และให้อำนาจคนดูได้เลือกตามวิจารณญาณของตัวเองมากขึ้น และปี 2551 จึงได้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับใหม่ โดยนัยสำคัญของฉบับนี้คือ เปลี่ยนระบบเซ็นเซอร์ เป็นการจัดระบบเรตติ้งตามสากล และตั้งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หรือคณะกรรมการเรตภาพยนตร์ขึ้นมา ประกอบด้วยรัฐและเอกชนที่มีความรู้เรื่องภาพยนตร์ ซึ่งการจัดเรตมาจากฐานความคิดที่ว่า จำเป็นต้องควบคุมเนื้อหาภาพยนตร์ให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน 

พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 นี้ มีความลักลั่นมากคือ แม้จะมีเรตอายุกำหนดไว้ แต่ก็ยังมีซากเผด็จการติดมาด้วย นั่นคือ เรต ‘ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร’ โดยคณะกรรมการสามารถสั่งแบนได้หากกระทบต่อความมั่นคงหรือศีลธรรมอันดี เหมือน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ 2473 ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า ต่อให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายแค่ไหน ชุดความคิดของรัฐก็ยังไม่เปลี่ยน กรณีคุณสุชาติก็เป็นตัวอย่างว่า รัฐไทยมองว่า เสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งที่น่ากลัวและรัฐมีอำนาจที่จะปิดกั้นได้ ต่อให้ไม่ถูกบัญญัติในกฎหมาย ก็สามารถแก้กฎหมายจนปิดกั้นการแสดงออกศิลปินได้อยู่ดี

จากการถอดถอนตำแหน่งศิลปินแห่งชาติของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี คณะกรรมการกระทรวงวัฒนธรรมให้เหตุผลว่า “นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้ทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมในสื่อเฟซบุ๊คอยู่เป็นประจำ โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” กรณีนี้อาจารย์ด้านกฎหมายเห็นว่าอย่างไร

อานนท์: แนวคิดพื้นฐานเรื่องเสรีภาพของศิลปิน ต้องเข้าใจก่อนว่าศิลปินเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งย่อมมีเสรีภาพเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น 

การแสดงความคิดเห็น พูด หรือสื่อสาร เป็นความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ ศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารเช่นกัน เพราะการสื่อสารไปได้ไกลถึงเรื่องจินตนาการ อุดมการณ์ ความคาดหวัง และการสื่อสารแบ่งได้เป็นแบบภาษาและไม่ใช่ภาษา ซึ่งศิลปะไม่ว่าจะเป็นภาพวาด รูปปั้น การร้องรำ และอื่นๆ เป็นการสื่อสารแบบไม่ใช่ภาษา ดังนั้น เรื่องเสรีภาพในศิลปะจึงถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่คำถามคือ ทำไมศิลปะและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงมีความสำคัญ 

ขอยกคำกล่าวในตำราของอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี ศ.ดร.อันดรีอัส โฟสคูห์เล่อ (Prof. Dr.Andreas Voßkuhle) ที่เขียนร่วมกับ ศ.ดร.คริสเตียน บุมเคอ (Prof. Dr.Christian Bumke) เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นว่า “สังคมประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับความเป็นอิสระของปัจเจกบุคคลที่จะแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลโดยปราศจากอุปสรรคในการเลือกตัดสินใจ”  

เช่นเดียวกับ ศ.เฟรเดอริค ชาวเออร์ (Frederick Schauer) นักวิชาการด้านกฎหมายชาวอเมริกัน ได้อธิบายในงานเขียนไว้ว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีความสำคัญเชิงปรัชญา 3 ประการ หนึ่ง – เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีเพื่อสนับสนุนความจริง สอง – เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งนี้กับอัตตาณัติความเป็นมนุษย์หรืออิสระความเป็นมนุษย์ (Human Autonomy) และสาม – เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะถูกขับเน้นอย่างยิ่ง ถ้าสังคมในรัฐนั้นๆ สมาทานหลักการประชาธิปไตย กล่าวคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดมีขึ้นเพื่อสนับสนุนระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” 

เหล่านี้คือปรัชญาแนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 

อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า เรื่องศิลปะหรือการสื่อสารของศิลปิน ถือเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากสำรวจรัฐธรรมนูญทั่วโลกจะพบว่า มีการรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเอาไว้ ทั้งนี้ ตัวบทรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศอาจใช้คำที่หลากหลาย เช่น รัฐธรรมนูญอเมริกา ใช้คำว่า ‘freedom of speech’  รัฐธรรมนูญอินเดียก็พูดถึงโดยใช้คำว่า ‘freedom of speech and expression’ ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ก็กล่าวถึง ‘freedom of expression’ เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากจะบอกคือ การที่หลายประเทศพูดถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แสดงให้เห็นว่า บรรทัดฐานโลกเห็นตรงกันว่าเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องสำคัญ 

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ บางประเทศได้กล่าวถึงเสรีภาพในศิลปะ (artistic freedom) เอาไว้อย่างชัดเจน เช่น รัฐธรรมนูญแอฟริกาใต้ฉบับปัจจุบันที่ร่างในปี 1966 และรัฐธรรมนูญเยอรมัน (German Basic Law) ฉบับปัจจุบัน ที่ประกาศใช้เมื่อปี 1949 มาตรา 5 ก็บัญญัติถึงเสรีภาพในศิลปะไว้

เยอรมนีเป็นประเทศแรกๆ ที่พูดถึงเสรีภาพศิลปะอย่างชัดเจน เหตุผลเพราะได้รับบทเรียนจากยุคนาซี ซึ่งปรากฏการณ์ในไทยจากกรณีคุณสุชาติ ทำให้ชวนนึกถึงการเกิดขึ้นของเสรีภาพศิลปะในรัฐธรรมนูญเยอรมนี เพราะยุคนาซีมีการกวาดล้างศิลปะและศิลปินจำนวนมากที่ต่อต้าน เป็นปฏิปักษ์ ไม่อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกันกับผู้นำและระบอบนาซี

ศิลปินคนสำคัญคนหนึ่งที่เป็นผู้ประสบภัยจากระบอบนาซี คือ อ็อทโท ดิกซ์ (Otto dix) ศิลปินชาวเยอรมัน ที่เป็นศิลปินมาต้ังแต่ยุคสาธารณรัฐไวมาร์ ศิลปินท่านนี้สร้างงานจิตรกรรมแนวสัจนิยมสมัยใหม่ (New Objectivity, Neue Sachlichkeit) ที่เน้นความจริง ความดุดัน และความดิบ อันสะท้อนให้เห็นอารมณ์ที่พลุ่งพล่านโหดร้ายของสภาวะสงคราม ทั้งนี้ อ็อทโท ดิกซ์ เคยถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เผชิญกับสงคราม จึงมีฝันร้ายและรังเกียจสงคราม

ผลงานเขาหลายชิ้นสะท้อนความโหดร้ายของสังคมและต่อต้านอำนาจทหาร จนเมื่อยุคนาซีปกครองประเทศเยอรมนี งานศิลปะของเขาและเพื่อนฝูงถูกวิจารณ์ว่าเป็น ‘ศิลปะโสมม’ (degenerate art, Entartete Kunst) ในสายตานาซี เขาถูกกดดันให้ออกจากการเป็นอาจารย์สอนในสถาบันศิลปะชื่อดังที่เมืองเดรสเดน (Dresden) เขาเคยถูกจับข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบนาซี และเคยถูกจับไปสาบานตนว่า ต่อแต่นี้ไปต้องวาดภาพหรือสร้างผลงานศิลปะเชิงทิวทัศน์อันงดงามเท่านั้น 

การคุกคามศิลปินเชิงปัจเจกเกิดขึ้นเยอะมากในยุคนาซี เช่นเดียวกับการคุกคามในเชิงสถาบัน กล่าวคือ สถาบันศิลปะชื่อดังบางแห่งถูกสั่งปิด เช่น เบาเฮาส์ (Bauhaus) เพราะไม่ถูกจริตกับระบอบนาซี และมีการสร้างสถาบันศิลปะของรัฐขึ้นมาเองชื่อว่า ‘สภาวิจิตรศิลป์แห่งอาณาจักรไรช์’ โดยอยู่ภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการ (Propagandaministerium) 

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุให้เยอรมนีในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องบัญญัติเรื่องเสรีภาพในศิลปะไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 5 โดยมีข้อพิจารณา 2 ประเด็น 

หนึ่ง – เรื่องขอบเขต (scope) การคุ้มครอง แบ่งเป็น 3 ประเด็นย่อยคือ

1) ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการเป็นศิลปะอันได้รับการคุ้มครองในระดับรัฐธรรมนูญ ต่อประเด็นนี้ ในแนวเยอรมันให้พิจารณาว่าอะไรเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะ เช่น การจัดแสดงที่มีลักษณะลามกอนาจาร (ponography) เช่น ภาพลามกหรือการจัดแสดงการร่วมเพศในที่สาธารณะ ไม่ใช่ศิลปะในสายตาของรัฐธรรมนูญเยอรมัน 

2) การคุ้มครองศิลปะที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองทั้งการทำงานศิลปะและการเผยแพร่ศิลปะ

และ 3) การตีความศิลปะว่าจะได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ต้องมีการตีความที่เหมาะสม ซึ่งประเด็นนี้เชื่อมโยงกับไทยได้เช่นกันว่า ใครเป็นคนตีความ คนตีความมีความเข้าใจงานศิลปะดีพอหรือไม่ ซึ่งในเยอรมนี เวลาตีความจะนำคนที่เข้าใจงานศิลปะและเข้าใจเจตนาศิลปินมาร่วมด้วย

สอง – เรื่องข้อจำกัดเสรีภาพในงานศิลปะ (the reservation of rights)  กล่าวคือ เสรีภาพในศิลปะเป็นการแสดงความคิดเห็น เมื่อมีการแสดงออกมาสู่สังคมย่อมถูกกำกับด้วยบรรทัดฐานของสังคม ซึ่งเสรีภาพในศิลปะไม่ใช่เสรีภาพโดยสมบูรณ์ เพราะอาจปะทะกับคุณค่าบางอย่าง เช่นเดียวกับที่คุณธิดาพูดถึง นั่นก็คือ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตัวอย่างเช่น การไปลอกงานผู้อื่นหรือละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นโดยอ้างว่านี่คือเสรีภาพในการทำศิลปะ จะกระทำไม่ได้ เพราะกระทบกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ดังนั้นเสรีภาพศิลปะจึงมีข้อจำกัดอยู่ในตัว

หลักการพื้นฐานในเสรีภาพของศิลปินไทย รัฐธรรมนูญไทยเองก็บัญญัติรับรองในมาตรา 34 วรรคหนึ่ง เอาไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

ศิลปะก็อยู่ในมาตรานี้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นและการสื่อความหมาย แต่ก็มีข้อยกเว้นของเสรีภาพ เช่น เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งให้ข้อสังเกตว่า ข้อจำกัดดังกล่าวมีลักษณะเป็นถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งนำไปสู่การตีความ

อย่างไรก็ตาม ในการตีความ ต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในระบอบใดหรืออยากให้สังคมเป็นแบบไหน รัฐธรรมนูญไทยชูเรื่องระบอบประชาธิปไตยในมาตรา 3 วรรคแรก ที่พูดถึง ‘หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน’ ส่วนวรรคสอง คำสำคัญคือ ‘หลักนิติธรรม’ ซึ่งทั้งสองเป็นหลักที่ต้องตีความในระบอบการปกครองของไทยที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 2 บัญญัติไว้ว่า “ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไทยพูดถึง 2 เรื่องพร้อมกัน นั่นคือ ระบอบการปกครองและระบบประมุขของรัฐ

ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการถ่ายทอดงานศิลปะ จึงมีประเด็นเรื่องการตีความถึงข้อจำกัดของศิลปินตามคำต่างๆ ในมาตรา 34 ซึ่งต้องคำนึงถึงหลักการในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคหนึ่งด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หลักนิติธรรม รวมถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรัฐธรรมนูญมาตรา 2

จากกรณีของคุณสุชาติ หากถามว่าการถอดถอนตำแหน่งศิลปินแห่งชาติในครั้งนี้เป็นการละเมิด ‘เสรีภาพในศิลปะ’ หรือละเมิด ‘การแสดงความคิดเห็นทั่วไป’ หรือไม่ ผมคิดว่ากรณีนี้ไม่ใช่การที่ภาครัฐเข้ามาละเมิดเสรีภาพในศิลปะ เพราะไม่มีข้อมูลเลยว่างานวรรณกรรมชิ้นไหนของคุณสุชาติถูกห้าม แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นของคุณสุชาติในฐานะคนคนหนึ่งที่ถูกอำนาจมากระทบ ทว่าที่สำคัญขึ้นมา เพราะเขาเป็นศิลปินแห่งชาติที่ชาติถือตำแหน่งให้เขาอยู่

ตรงนี้เรื่องใหญ่ในแง่ที่ว่า การแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคน และสิ่งที่รัฐกระทำต่อคุณสุชาติ ผมมองว่าเป็นการจัดการคล้ายๆ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่รัฐได้กำหนดตำแหน่งให้ การที่รัฐกระทำเช่นนี้จึงเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 

นอกจากนี้ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ ศิลปิน และอำนาจรัฐ จะเห็นว่า ศิลปะและศิลปินไทยถูกอุ้มชูด้วยอำนาจรัฐมาโดยตลอด ไม่ว่าจะในรูปของยศ เกียรติ และทรัพยากรในการแสดงศิลปกรรมต่างๆ

รูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อรัฐไทยไม่อุ้มศิลปินอีกต่อไปนั้นเป็นอย่างไร เห็นได้จากการยุบกรมมหรสพที่ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 6 โดยวิกฤติเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัชกาลที่ 7 ทรงยุบกรมนี้ และข้อสังเกตคือ ขุนนางไทยที่เป็นศิลปินที่รัฐไม่ให้เงินเดือนแล้ว จะเจอความลำบากในการใช้ชีวิต หากไม่อยู่ในบริเวณเมืองหลวง หรือย่านที่มีเจ้านายอุปถัมภ์ หรืออยู่ในพื้นที่ที่รับงานได้อย่างชุมชนเมือง 

นักดนตรีสังกัดกรมมหรสพที่ถูกยุบ บ้างยังคงทำมาหากินได้ด้วยการเปิดสำนักดนตรี แต่พวกขุนนางกรมมหรสพที่เป็นนักรำหรือโขน ต้องประสบปัญหา เพราะนักรำต้องแสดงบนเวทีหรือวงปี่พาทย์ ไม่สามารถแสดงโดยไม่มีดนตรีประกอบได้ จนต้องไปประกอบอาชีพอื่น ต่อมาเมื่อรัฐบาลคณะราษฎรปกครอง ได้มีการตั้งโรงเรียนนาฏศิลป์ ทำให้บางคนได้เข้าไปเป็นครูสอนนาฏศิลป์ เป็นต้น นี่คือตัวอย่างว่า ศิลปะและศิลปินไทยถูกอุ้มชูด้วยรัฐมาโดยตลอด โดยไทยไม่มีตลาดที่เป็นของเอกชน หรือกลุ่มกระฎุมพีที่อุปถัมภ์ค้ำจุนศิลปินเลย อาจเนื่องจากว่าระบบตลาดและระบบกระฎุมพีของไทยไปพัวพันกับอำนาจรัฐโดยไม่สามารถแยกขาดจากอำนาจรัฐได้

กรณีของต่างประเทศที่กระฎุมพีแข็งแรงและทำให้ศิลปะสามารถปลดแอกหรือเป็นขบถ ต่อการตกอยู่ใต้อาณัติรัฐ คือ กรณีการเกิดขึ้นของศิลปะแขนง Impressionism ในช่วงศตวรรษที่ 19 ของฝรั่งเศส กล่าวคือ ศิลปะที่รัฐจะค้ำจุนและเชิดชูคือแนว Romanticism หรือ Neoclassicism ที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งปารีส (Academie des Beaux-Arts) คอยควบคุมว่า ศิลปะใดๆ ที่จะจัดแสดงต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานแบบ Romanticism หรือ Neoclassicism เท่านั้น 

จนศิลปินกลุ่มหนึ่งที่ขบถ อยากแสดงงานรูปแบบอื่น แต่ก็ถูกปฏิเสธการแสดงผลงานในงาน Paris Salon หรือ นิทรรศการศิลปะที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำ ศิลปินกลุ่มนี้จึงรวมตัวกันที่คาเฟ่ และร่วมกันจัดแสดงศิลปะแนว Impressionism ขึ้นมา ซึ่งบริบททางสังคมของฝรั่งเศสในยุคนั้นมีกลุ่มกระฎุมพีที่สนับสนุนศิลปินกลุ่มนี้ด้วย นี่จึงปรากฏการณ์แรกๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ศิลปินควรมีเสรีภาพที่จะแสดงงานของตนได้อย่างอิสระ 

หากพูดถึงศิลปินไทยกับยุคขยับเพดาน เสรีภาพในการแสดงความเห็นผ่านศิลปะแม้จะถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องเผชิญกับการปะทะกันในคุณค่าอื่นๆ อย่างศิลปะที่ไปแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ 

นักกฎหมายไทยหรือสังคมไทยไม่เคยมองว่า เมื่อมีการปะทะกันเชิงคุณค่า เราจะทำอย่างไรให้คุณค่าทั้งสองไปด้วยกันได้ ในขณะที่นักนิติศาสตร์ทั่วโลก และตำราหลายเล่มเขียนถึงหลักการประนอมคุณค่าเข้าหากัน หรือที่เรียกว่า ‘concordance’ สิ่งนี้คือสิ่งที่สังคมไทยต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นเชิงศิลปะ กับคุณค่าเชิงสถาบันฯ ไปด้วยกันได้

ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ซึ่งมาตรา 112 คือมาตราที่เราเห็นได้ชัดว่า เป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินการทางกฎหมาย ที่นำไปสู่การดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการแสดงศิลปะด้วย

ข้อสังเกตที่อยากให้ตระหนักคือ ข้อความที่มีลักษณะเข้าข่าย 112 ต้องเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ขอให้ตีความเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 พูดถึงว่า มาตรา 112 เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งของหลักในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญว่า “พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” 

แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ หลักการตีความกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ไปกระทบกับเนื้อตัวร่างกายและชีวิตของผู้คน จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดและจำกัดอย่างมาก จำกัดอย่างมากคือ ขอให้พิจารณาคำว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายให้ดี 

สิ่งที่ผมจะเสนอประเด็นต่อไปคือ การที่ศิลปะชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อวิจารณ์ต่อสถาบัน ไม่ได้หมายความว่า ข้อวิจารณ์ต่อสถาบันจะทำไม่ได้อย่างสิ้นเชิง เพราะการวิจารณ์กับหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นนั้นต่างกัน การวิจารณ์เป็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านก็เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่า การวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ 

ในกรณีคุณสุชาติที่ถูกปลดจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ เนื่องมาจากข้อความในกฎกระทรวงปี 2563 ที่ใช้ข้อความว่า “หากปรากฏว่าศิลปินแห่งชาติมีความประพฤติเสื่อมเสีย” ตรงนี้ปัญหาที่เกิดคือ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติไม่ได้ให้โอกาสคุณสุชาติได้โต้แย้งหรือรับรู้ได้เลยว่า การกระทำใดหรือข้อความไหน ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหามาก (ย้ำ) จากมติของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีปลัดกระทรวงหลายกระทรวง ผมคิดว่าผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ควรรู้ดีว่าการที่จะลงมติเป็นผลร้ายแก่ใครก็ตาม ควรต้องมีการรับฟังก่อน อันนี้น่าจะเป็นสำนึกที่คิดได้ตามปกติของคนที่ทำงานอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่คุ้นชินกับระบบราชการ หนำซ้ำประธานคณะกรรมการชุดนี้ก็เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายด้วย ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าเหตุใดจึงหลุดในประเด็นนี้ไป

การไม่ให้โอกาสคุณสุชาติในการอธิบาย ผมมองว่าลักษณะการใช้อำนาจแบบนี้ไม่ได้แตกต่างกับยุคจารีตนครบาล คือเอาผิดไว้ก่อน โดยไม่ได้ถือว่าบริสุทธิ์มาแต่ต้นหรือไม่ได้ให้โอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์แต่ต้น กลไกการพิสูจน์ความบริสุทธิ์บางทีเป็นเพียงแค่ต้องการให้ผู้ถูกกล่าวหายอมรับสารภาพตามที่ผู้มีอำนาจได้ตัดสินใจไปแล้วเท่านั้น 

อีกสองเรื่องที่ผมอยากจะเปิดประเด็นให้ขบคิดกันในสังคมไทยคือ หนึ่ง – ศิลปะที่ไม่สะท้อนการยินดียินร้ายต่อสถาบัน คิดว่าทำได้หรือไม่ สอง – ศิลปะการแสดงที่กล่าวถึงสถาบัน หรือแสดงเป็นสถาบัน ทำได้หรือไม่ 

ข้อสังเกตคือ ในประเทศอังกฤษซึ่งสถาบันกษัตริย์ของเขาดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน ก็มีภาพยนตร์เรื่อง The Crown ซึ่งฉายทาง Netflix ได้นำเรื่องในราชสำนักมาแสดง และมีการเล่นเป็นประมุขที่ทรงครองราชย์อยู่ด้วยในปัจจุบัน ที่นั่นทำได้ แล้วในไทยจะทำได้บ้างหรือไม่

ส่วนข้อเสนอแนะ ผมคิดว่า เราต้องตั้งหลักว่า ศิลปินย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านศิลปะ อย่างไรก็ดี การแสดงความคิดเห็นก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ผมก็อยากจะขอให้ตระหนักว่า การตีความกฎหมายควรต้องคำนึงถึงระบอบการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

และการที่มีคณะกรรมการที่ไม่แน่ใจว่าเป็นบุคคลที่เข้าใจในศิลปะอย่างแท้จริงหรือไม่ เข้ามาวินิจฉัยผลงานศิลปะหรือภาพยนตร์ต่างๆ ตรงนี้อาจแก้ด้วยการสังคายนา เรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการผู้มีอำนาจวินิจฉัยศิลปะกันใหม่ และกรณีคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติผู้สถาปนาตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ และถอดถอนศิลปินแห่งชาติ ควรมีคนที่เข้าใจศิลปะและศิลปินมากกว่านี้ รวมถึงคนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานรัฐมากกว่านี้ด้วย

การที่คุณสุชาติถูกปลดจากศิลปินแห่งชาติ เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้สังคมไทยได้หันมาขบคิดในแง่เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของศิลปิน โดยเฉพาะการกล่าวถึงสถาบัน 

จากกรณีคุณสุชาติ ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการใช้อำนาจของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่ไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานเลยว่า จุดไหนที่คุณสุชาติได้แสดงความคิดเห็นไปนั้น ขัดต่อกฎหมายและขัดอย่างไร จนถึงขั้นเป็นพฤติกรรมเสื่อมเสีย

ทำไมภาครัฐถึงกลัวศิลปะและศิลปิน

นิธิ: ผมเห็นด้วยกับคุณธิดาที่กล่าวไปก่อนหน้าว่า กรณีการถอดถอนคุณสุชาติออกจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการจำกัดและควบคุมศิลปินในประเทศของภาครัฐอย่างชัดเจน ซึ่งผมก็จะพูดถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน แต่เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญ คือ แง่มุมของการควบคุมผ่านการจัดการองค์กรทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งยากที่จะบอกได้ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เรารู้แค่ว่าพ่อแม่เราบอกว่าอย่าทำ เราเลยไม่กล้าทำกันมาตั้งแต่ต้น

จริงๆ แล้วประเทศไทยไม่เคยมีคำว่า ‘ตลาดศิลปะ’ เลย หรือถึงจะมีก็เป็นตลาดที่ขนาดเล็กมากและไม่มีความหลากหลาย ทั้งๆ ที่ตลาดสำคัญมากกับการสร้างและเสพสื่อศิลปะเสียด้วยซ้ำ พอไม่มีตลาดแบบนี้ การที่จะถูกกำกับควบคุมจึงทำได้ง่าย สังเกตดูได้ว่าศิลปินที่เรายกย่องทั้งหลายก็มีแต่คนในราชสำนักทั้งสิ้น หากจะถามว่าแล้วชาวบ้านไม่มีศิลปินเป็นของตัวเองบ้างเลยหรือ ก็อาจจะบอกได้ว่า เริ่มมีตลาดเล็กๆ ของศิลปินชาวบ้านบ้าง แต่ก็ขอให้สังเกตดูกันว่า ผู้ที่เป็นพ่อเพลงหรือแม่เพลงสืบมาจนถึงก่อนปัจจุบันไม่นานนี้นั้นต่างก็มีอาชีพอื่น เช่น ทำไร่ทำนา แทบทั้งสิ้น หลายคนอาจจะรับงานขับร้องต่างๆ เฉพาะนอกฤดูทำนาเท่านั้น 

ถัดมาในช่วงรัตนโกสินทร์ ตลาดศิลปะของศิลปินนอกราชสำนักก็เริ่มขยายตัวขึ้นบ้าง แต่ตลาดหลักๆ ก็ยังคงตกอยู่กับสังคมในราชสำนัก และผ่านการสนับสนุนโดยชนชั้นสูงเช่นเดิม ส่วนตลาดเล็กภายนอก ต่อให้จะมีอยู่บ้าง ศิลปินส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าราชการที่ต้องอิงแอบกับอำนาจรัฐ แล้วถามว่าหลังจากสร้างผลงานศิลปะเสร็จแล้วเขาจะให้ใครเสพนั้น ก็ต้องเป็นราชสำนักและชนชั้นสูงที่เป็นผู้เสพอยู่ดี ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปแม้จะเกิดศิลปินนอกราชสำนัก อย่างลิเก นักร้องอาชีพ ขับฉ่อย มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจแบบตลาดที่กำลังเติบโต ตลาดศิลปะก็ยังไม่สามารถมีความเป็นตัวของตัวเองได้

ข้อจำกัดนี้เองจะมองให้เห็นภาพมากขึ้นเมื่อเราเอาไปเปรียบเทียบกับที่อื่น อย่างชนชั้นกระฎุมพีในยุโรปหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นรวยขึ้นมาก รวยจนสามารถสร้างตลาดของตนเองที่ต่อมาได้กลายเป็นตัวกำหนดศิลปะจนชนชั้นสูงต้องหันมาเสพศิลปะแบบเดียวกันกับกระฎุมพี เช่น เพลงคลาสสิกที่สมัยก่อนเราแทบจะต้องปีนบันไดฟัง เดี๋ยวนี้ก็เป็นเพียงเพลงชนิดหนึ่งเท่านั้น วิธีคิดแบบนี้ทำให้ไม่ว่าจะร็อคหรือคลาสสิกก็แทบจะมีคุณค่าเท่ากันแล้ว ไม่มีความสูงต่ำอะไรกว่ากันเหมือนสมัยก่อน 

กระฎุมพียุโรปจึงสามารถกำหนดสถานภาพของงานศิลปะได้ด้วยตนเอง แต่กระฎุมพีไทยนั้น แม้จะเกิดขึ้นก็จริง แต่กลับไม่มีพลังกำหนดตัวศิลปะได้มากเท่า ซึ่งก็เป็นเพราะตลาดยังมีลักษณะเหมือนเดิม คือมีขนาดเล็ก เล็กจนไม่สามารถสู้กับแรงอุปถัมภ์ของชนชั้นสูงได้ ตลาดแบบนี้ทำให้มีความจำเป็นต้องพึ่งพิงอำนาจรัฐค่อนข้างมาก และไม่ได้หลุดแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศจากอำนาจรัฐแบบเดียวกับตลาดศิลปะของกระฎุมพีในยุโรป

ประการต่อมาที่จะมีความสำคัญมาก คือ หากตลาดมันเล็กและมีอยู่จำกัด จนต้องไปพึ่งพาการอุปถัมภ์ของชนชั้นสูงค่อนข้างมากเช่นนี้แล้ว ความนิยมในศิลปะจึงอาจจะถูกกำกับและควบคุมโดยค่านิยมของชนชั้นสูงได้ง่ายมาก เช่น ความคิดเรื่องความหยาบคาย ที่ชนชั้นสูงไปเอาแนวคิดมาจากฝรั่งแล้วแพร่ขยายแนวคิดออกไปยังสังคมอีกทีในฐานะ ‘ศีลธรรมอันดี’ ที่ชนชั้นกลางไม่สามารถปฏิเสธได้เลย ซึ่งความหยาบคายนี้มีความหมายที่ลึกลงไปมากในสังคมไทย และไอ้ความไม่หยาบคายแบบนี้มันดันไปกำกับความคิดและการแสดงออกของเราโดยที่เราไม่รู้สึกอะไรมาก ผมเรียกว่า ‘อำนาจทางวัฒนธรรม’ ที่เราไม่มีอำนาจในการกดดันภาครัฐกลับไปได้เลย ภาครัฐจึงไม่ได้ใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่ยังใช้อำนาจทางวัฒนธรรมในลักษณะนี้อีกด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ ลำตัด ตอนเด็กผมก็ไม่เข้าใจหรอกว่าเขาเล่นอะไร จนโตมาถึงรู้ว่า ลำตัดคือการละเล่นที่ละเมิดประเพณีทั่วไปในชีวิตประจำวัน หากจะไปเล่นลำตัดบนวิทยุ แต่ถูกภาครัฐสั่งว่าควรเล่นแบบใดบ้างและแบบใดไม่ควรเล่นบ้างนั้นมันก็จะไม่ใช่ลำตัด นี่คือสิ่งที่เรากำลังเผชิญกันอยู่

ในยุคปัจจุบันถึงแม้ศิลปะจะดูเหมือนเติบโตมากขึ้นเพราะมีชนชั้นกลางเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์ แต่มีข้อสังเกตอยู่ว่า ศิลปะจำนวนมากที่ถูกชนชั้นนำอุปถัมภ์ไว้มักจะเป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ ความบันเทิงแบบชาวบ้านค่อยๆ หายไป แต่ขณะเดียวกันความบันเทิงแบบใหม่ก็ไม่ได้นำไปสู่สิ่งใดที่ไม่ใช่ความบันเทิงในตัวมันเอง ด้วยเหตุนี้ความบันเทิงสมัยใหม่จึงโอนอ่อนอย่างมากต่อค่านิยมศิลปะที่รัฐนิยามเอาไว้ก่อนหน้า ถึงแม้ปัจจุบันจะมีศิลปะหรือศิลปินที่กบฏขึ้นมาอยู่บ้าง แต่ตลาดเฉพาะทางพวกนี้ก็ยังคงมีขนาดที่เล็กอยู่ดี

‘ความเชื่อง’ ทางศิลปะของชนชั้นกลางไทย เรามองเห็นได้ตั้งแต่วิธีการมองเรื่องความเหมาะสม ความเป็นไทย การมองความหยาบคายต่างๆ ซึ่งก็มองอย่างเป็นไปตามประเพณีเสียหมด หากจะมีเปลี่ยนก็เปลี่ยนไปแค่รูปแบบ (form) ของมันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรืออะไรก็ตามแต่ สุดท้ายเนื้อในของมันก็คือของเก่าแทบทั้งสิ้น และโดยส่วนใหญ่ยังอยู่กับเนื้อหาเดิมๆ ที่พูดอยู่เพียงไม่กี่เรื่อง คือเรื่องเจ้ากับวัด จนเวลาเราพูดถึงน้ำเน่าก็ต้องหมายถึงมันเน่าทั้งวงการศิลปะแล้ว เพราะมันวนซ้ำไปมากันแบบนี้

พอกลับมาดูว่าศิลปะคืออะไร ผมก็คิดว่ามันคือการ ‘สร้างสิ่งใหม่’ ที่ต้องสร้างด้วยแรงสะเทือนใจมากพอที่จะทำให้เกิดแรงกระแทก (impact) ต่อผู้เสพศิลปะชิ้นนั้นด้วย สิ่งใหม่ที่ว่านั้นจะทำให้เราได้ตั้งคำถามใหม่ ได้มองในแนวทางใหม่ หรือประเมินคุณค่าใหม่ให้กับสิ่งที่เรามองข้ามหรือรังเกียจมาตลอด เมื่อเรากลับมาคิดว่าศิลปะที่กระฎุมพีไทยอุ้มชูไว้ทำสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ก็จะพบเลยว่ามีน้อยมาก 

เวลาคนรุ่นใหม่ที่ประท้วงรัฐบาลในขณะนี้ตะโกนคำหยาบคายที่ไม่สามารถไปพูดในที่สาธารณะที่ไหนได้ตามปกตินั้น ผมคิดว่ามันก็มีแรงกระแทกสูงมากไม่ต่างจากศิลปะ เพราะหากโดยปกติแล้วการพูดแบบนี้ออกมาคือจุดจบของสถานะทางชนชั้นต่างๆ ได้เลย เพราะทั้งค่านิยม มารยาท ข้อกำหนด การแต่งกาย อะไรต่างๆ ที่รัฐไทยเคยใช้ควบคุมคนเอาไว้มันหายวับไปเลย ผมไม่ได้สนับสนุนให้คนใช้คำหยาบ แต่จากบริบทที่ผมพูดมา มันเปลี่ยนคนไปเลยจากสถานะต่างๆ เป็นการแสดงออกของมนุษย์คนหนึ่ง ศิลปะมันจึงต้องท้าทายกับสิ่งเก่า ต้องเปลี่ยนโลกเปลี่ยนชีวิตได้เลย

ด้วยเหตุดังนี้ ศิลปินจึงมีอิทธิพลที่ทำให้ศิลปะเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งสำหรับชนชั้นสูงไทย เพราะว่าศิลปะบ่อนทำลายอำนาจตามประเพณีได้ทุกอย่าง หากปล่อยให้ศิลปะมีเสรีภาพแล้ว ประเพณีเองก็อยู่ไม่ได้ แต่ปัญหาของรัฐไทยคือวิธีการในการเข้าไปกำกับศิลปะ คือจะห้ามหมดก็ไม่ได้ จะปล่อยไปอิสระก็ไม่ได้เช่นกัน คุณจะสังเกตได้ว่าบรรดาโรงเรียนศิลปะในไทยถูกผูกขาดไว้กับมหาวิทยาลัยของรัฐ ความคิดว่าจะต้องเอาโรงเรียนศิลปะมาไว้ในที่ใกล้ตัวแบบนี้เพราะว่ามันคือที่เดียวที่รัฐสามารถควบคุมได้ หากให้เปิดทั่วไปหมด รัฐก็ควบคุมศิลปะไม่ได้

ประเด็นต่อมา หากสังเกตรางวัลการยกย่องศิลปะทั้งหลายนั้น จะพบว่าได้มีความพยายามที่จะผูกมันเข้ากับภาครัฐ อย่างรางวัลศิลปินแห่งชาติที่รัฐคือคนชี้ว่าใครควรหรือไม่ควรจะได้ ส่วนของเอกชนก็มี แต่อยากให้ลองสังเกตดูว่าหลายรางวัลของเอกชนนั้นเขาก็เชิญคนใหญ่คนโตของรัฐมาเป็นผู้แจกรางวัล สมมุติผมเป็นสมาคมนักเขียน แทนที่จะให้คุณวีรพร (วีรพร นิติประภา) มาเป็นผู้มอบรางวัลให้แก่คุณใบตองแห้ง (อธึกกิต แสวงสุข) ผมกลับไปเชิญคุณประยุทธ์มาเป็นผู้มอบรางวัลแทน แบบนี้จะเห็นได้เลยว่างานพิธีกรรมเข้ามามีผลอย่างมากในการกำกับควบคุมจิตใจของเราและผลิตศิลปะ ผมคิดว่าโดยตั้งใจด้วยซ้ำไป 

สถานการณ์ของการถูกถอดถอนของพี่สุชาติ ผมว่าในแง่นี้คือ ควรภาคภูมิใจว่าเป็นคนเดียวของศิลปินแห่งชาติที่ถูกถอดถอน แสดงว่าแกกบฏเป็น และแปลว่าคนที่เหลือมันเชื่องไปหมดเลย ผมคิดว่าคุณสุชาติควรภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งว่าได้รับเกียรติครั้งที่ 2 นี้จากพวกกรรมการที่ไม่รู้จักศิลปะอะไรเลย มันอาจจะนำไปสู่ความหลากหลายของตลาดมากขึ้น แม้จะเป็นตลาดทางเลือก แต่ก็จะขยายตัวใหญ่ขึ้นจนอนาคตอาจจะพอเป็นอาชีพเลี้ยงดูศิลปินต่อไปได้ ผมหวังว่าการถอดถอนคุณสุชาตินี้จะทำให้ตลาดทางเลือกขยายตัวและมีศิลปินที่เป็นกบฏต่อไป

ตลาดของศิลปินไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร

ธิดา: อาจารย์นิธิเปิดประเด็นซึ่งตรงกับประเด็นที่อยากจะเล่าต่อคือ เรื่องตลาดศิลปะที่แคบและความจำเป็นที่ต้องเกิดตลาดทางเลือก หากโยงเข้าวงการหนัง จะเห็นว่าตลาดกระแสหลักถูกอุ้มชูโดยชนชั้นกลาง และปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการควบคุมการทำงานของคนสร้างงาน เช่น หากจะทำหนังเพื่อหวังเข้าตลาดกระแสหลักก็ต้องพึ่งทุน และทุนเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ เพราะไม่มีนายทุนหรือโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่รายไหนอยากให้พื้นที่หรือโอกาสกับภาพยนตร์ที่มีท่าทีมีปัญหากับรัฐ 

การคิดอยากทำหนังที่ตั้งคำถามเชิงโครงสร้าง ตั้งคำถามกับการคอร์รัปชัน จึงเป็นเรื่องยาก หรือหากมีนายทุนที่ให้โอกาสทำหนัง แต่โรงหนังจะให้ฉายหรือไม่ เราก็ไม่รู้ ดังนั้นระบบเซ็นเซอร์ตัวเองจึงเกิดขึ้นอย่างมีระดับชั้น เพราะหากต้องจบด้วยการมีปัญหากับรัฐ ก็ไม่มีใครอยากไปสู่ตรงนั้น การมีตลาดทางเลือกจึงสำคัญ เพราะหนังที่กล้าหรือท้าทายด้วยการนำเสนอรูปแบบศิลปะใหม่ๆ มักปรากฏอยู่ในตลาดและหนังทางเลือกทั้งสิ้น 

เมื่อพูดถึงกรณีคุณสุชาติ เรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้อำนาจรัฐคุกคามการแสดงออกของศิลปินหรือคนทำหนัง ต้องย้อนไปตอนที่ตัวเองทำนิตยสาร Bioscope มีช่วงหนึ่งที่เราพยายามเข้าไปจัดจำหน่ายหนังสู่โรงหนัง เรื่องแรกคือ แสงศตวรรษ ของ คุณเจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งตามกระบวนการตอนนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงต้องส่งหนังเข้ากองเซ็นเซอร์ แต่ก็ถูกสั่งแบนไม่ให้ฉาย ด้วยเหตุผลว่ามี 4 ฉาก ที่ไม่ให้เผยแพร่ ประกอบด้วย หนึ่ง – ฉากพระเล่นกีตาร์ สอง – ฉากพระเล่นเครื่องร่อน สาม – ฉากหมอกินเหล้า สี่ – ฉากหมอจูบกันและมีภาพที่แสดงให้เกิดความรู้สึกทางเพศ ตอนนั้นคุณเจ้ยก็ได้แสดงความเป็นศิลปินขบถ ด้วยการประกาศว่า ถ้าต้องตัด 4 ฉากนี้ก็ไม่ฉาย 

เรื่องถัดมาคือ แมลงรักในสวนหลังบ้าน (Insect in the Backyard) ของ คุณกอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ถูกสั่งแบนภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ด้วยฉากที่เห็นอวัยวะเพศ ฉากการร่วมเพศ และเนื้อหาที่พูดถึงการค้าประเวณี เป็นต้น ซึ่งตอนนั้นไม่ได้มีการเปิดเผยเหตุผลในการสั่งแบน เรื่องนี้ต่อสู้นานมาก โดยเอาหนังเข้าไปสู่กระบวนการฟ้องทางศาลปกครอง จนผ่านมา 7 ปี ประเด็นที่น่าสนใจคือ ศาลปกครองบอกว่า ในตอนแรกที่ภาพยนตร์ถูกแบนโดยมีข้อหาว่ากระทบกระเทือนต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้วว่าไม่ได้กระทบ เพียงแต่มีฉากที่ผิดกฎหมายนั่นคือ ตัวละครดูหนังโป๊ เพราะหนังโป๊ผิดกฎหมายไทย ซึ่งก็ให้ตัดและให้ฉายได้

ต่อมาอีก 2 กรณีที่สะท้อนให้เห็นความลักลั่นในการใช้อำนาจรัฐ คือ ภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง ของ คุณอโนชา สุวิชากรพงศ์ ซึ่งมีฉากที่เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาคม 2519 หนังเรื่องนี้เคยฉายและผ่านเรตติ้งแล้ว และประมาณ 4 ปีที่แล้ว เราก็เอามาฉายอีก ซึ่งในวันเดียวกันนั้นก่อนถึงเวลาฉายมีเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่มาเดินวนเวียน และบอกว่าเจ้านายไม่สบายใจ ไม่อยากให้ฉาย สรุปก็ต้องยกเลิกการฉายไป ทั้งๆ ที่ผ่านกระบวนการทางกฎหมายหมดแล้ว แต่ก็มีการคุกคามอย่างนี้เกิดขึ้น

photo: ELECTRIC EEL FILMS

ตัวอย่างสุดท้าย สารคดีเรื่อง The Kingmakers สารคดีฟิลิปปินส์ เล่าถึง อีเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) และพูดถึงการร่วงจากอำนาจของตระกูลมาร์กอส และพยายามเบิกทางทางการเมืองของฟิลิปปินส์ใหม่ ซึ่งตัวเรื่องไม่ได้เป็นประเด็นอะไร แต่ที่เป็นประเด็นคือที่ขอนแก่นและสงขลา เจอปัญหาคล้ายกันว่า ก่อนฉายมีตำรวจมาปรากฏตัวและบอกว่าไม่รู้จักหนัง แต่เห็นโปสเตอร์และชื่อหนังทำให้ไม่สบายใจ ทำให้ที่สงขลาเลิกฉายไป ส่วนที่ขอนแก่นยังฉายได้ แต่ไม่ให้ประชาสัมพันธ์มาก

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ต่อให้กฎหมายเขียนว่าเราต้องปฏิบัติตาม และเมื่อเราปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว ก็ยังสามารถถูกอำนาจรูปแบบอื่นๆ เข้ามาคุกคามได้ตลอดเวลา อันนี้คือปัญหาสำคัญมาก เพราะความรู้สึกที่ว่าเอาแน่เอานอนกับผู้มีอำนาจหรือผู้ใช้กฎหมายไม่ได้ แม้จะปฏิบัติตามระเบียบทุกอย่างแล้ว ก็ไม่สามารถเชื่อใจได้ว่า งานของเราที่มีสิทธิ์เผยแพร่จะถูกคุกคามหรือได้รับความเสียหายหลังจากนั้นหรือไม่ ความรู้สึกเหล่านี้ส่งผลร้ายต่อการทำงานศิลปวัฒนธรรม เพราะนำมาซึ่งวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์ตัวเอง ตั้งแต่ระดับโรงหนัง นายทุน หรือคนสร้างผลงาน เราไม่สามารถรู้ได้ว่า แม้เราผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้ว สุดท้ายก็ไม่ได้ฉายอยู่ดี ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ 

การเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดและร้ายแรงที่สุดในความคิดเห็นของดิฉัน เป็นปัญหาที่ศิลปินไทยทุกแขนงต้องเจอมาอย่างยาวนาน ถ้าไม่สามารถทลายตรงนี้ได้ก็จะไม่มีทางเห็นความเจริญงอกงามของศิลปะและวัฒนธรรม ไม่ต้องพูดถึง soft power เลย ถ้าเรายังเชื่อว่า ศิลปะและวัฒนธรรมที่ถูกต้อง ที่รัฐอยากสนับสนุน ต้องอยู่ภายใต้กรอบแข็งๆ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เป็นกรอบคิดแคบๆ คือเชิดชู ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราก็จะไม่มีวันสร้างงานที่ออกไปสู้กับตลาดโลกได้ ถ้าไม่กลับไปแก้ปัญหาทั้งหมดที่เราพูดกันมา

อะไรคือจุดสังเกตสำคัญระหว่างการถอดถอนคุณสุชาติ กับรัฐธรรมนูญมาตรา 6

สมชาย: ในความเห็นของผมคือ คุณสุชาติทำให้รางวัลศิลปินแห่งชาติมันดูดีขึ้น เราลองนึกดูว่าถ้าไม่มีคุณสุชาติอยู่ในรางวัลนี้สิ ถ้ากลุ่มแรกคือกลุ่มศิลปินพื้นบ้านที่ค่อนข้างอยู่ห่างไกลการเมือง อีกกลุ่มที่เหลือก็คือกลุ่มศิลปินที่ใส่เสื้อสีเดียวกับที่ผมใส่อยู่ตอนนี้นี่แหละครับ (สีเหลือง)

ตอนผมเห็นคุณสุชาติได้รางวัลนี้ครั้งแรกเมื่อช่วง 10 ปีก่อน ก็รู้สึกว่ารางวัลนี้ดูจะมีเหตุมีผลมากขึ้น ทำให้ผมรู้สึกว่าการมีคุณสุชาติอยู่ในรางวัลนี้แล้ว อาจทำให้เราด่ารางวัลนี้ได้ยากขึ้น เพราะผมมองว่ารางวัลนี้เหมือนมีไว้ให้คนที่อุปถัมภ์ค้ำชูรัฐ แต่ตอนนี้พอมาเกิดการถอดถอนก็ยิ่งทำให้ข้อครหาที่มีต่อองค์กรนี้เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ความจริงแล้วหากเขาไม่ถอดถอนคุณสุชาติ เราก็คงมองเรื่องนี้เบากว่านี้ แต่การถอดถอนมันชี้ให้เราเห็นว่า ปัญหาของเสรีภาพในการแสดงความเห็นยังมีอยู่ในสังคมไทย ไม่ได้หายไปไหน

ผมอยากจะพูดว่า เสรีภาพของศิลปินก็คือเสรีภาพของประชาชน หมายความว่าตอนนี้เราพบการคุกคามกำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้เห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ ในแง่หนึ่งหากเราพิจารณาศิลปินที่กำลังเผชิญการคุกคาม ก็จะพบว่าคือคนกลุ่มเดียวกับคนในสังคมที่ถูกคุกคามจากรัฐเช่นกัน เพราะรัฐกำลังทำให้คนที่พยายามแสดงความเห็นแตกต่างไปจากอำนาจรัฐออกมาพูดไม่ได้ และมันทำให้เราเห็นระดับเสรีภาพในสังคมของรัฐนั้นๆ ด้วย

เวลาเราพูดถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่มากของสังคมไทย เพราะถ้าเรายอมรับแนวความคิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราก็ต้องฟังความเห็นต่างเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันเราก็ต้องรับฟังความเห็นต่างของบรรดาศิลปินให้ได้ด้วย มันจะถูก จะไม่ถูก จะเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมก็ได้ เพราะในประวัติศาสตร์นั้นการเห็นต่างจะทำให้เกิดการงอกงามของปัญญามนุษย์ เช่น การคิดเรื่องโลกหรือพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล หรือถ้าใกล้เข้ามาหน่อยมนุษย์ก็เคยมีความเชื่อว่าคนเรามีเพียงสองเพศคือชายกับหญิงเท่านั้น ซึ่งการลุกขึ้นมาแสดงความเห็นที่แตกต่างก็ทำให้ความเจริญของมนุษย์พัฒนาขึ้นไปอีกระดับ 

แน่นอนว่าความเห็นต่าง ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องไปทั้งหมด แต่มันทำให้เกิดการถกเถียงและใช้เหตุผล การจำกัดความคิดเห็นทำได้ แต่ก็ไม่ใช่โดยง่าย เพราะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าความคิดเห็นนั้นสามารถทำลายสังคมหรือนำไปสู่ความรุนแรงได้เท่านั้น ไม่ใช่แค่ความคิดเห็นที่ทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจเฉยๆ 

ในสังคมไทยเมื่อเราพูดถึงการขยับเพดานก็มักจะพบความคิดเห็นที่ทำให้เราหงุดหงิดมากยิ่งขึ้น ทุกคนเจอหมด แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยเองก็เช่นกัน บางทีนักศึกษาไม่ได้มานั่งฟังคุณอย่างเดียว เขามานั่งถามกลับว่า “จริงเหรอจารย์” ซึ่งอาจารย์ไม่ใช่ผู้ผูกขาดทั้งจักรวาลไว้หน้าห้องเรียนคนเดียวอีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกับสังคมไทยซึ่งก็ทำให้มีคนบางส่วนไม่พอใจ

ปัญหาที่ทำให้เกิดการควบคุมการแสดงความคิดเห็น ผมมองว่าคืออุดมการณ์ที่เชิดชูชาติ ศาสนา และเจ้า แบบคับแคบ จนมีผลทำให้สังคมเราเผชิญกับสภาวะทนการแสดงออกบางอย่างไม่ได้ เช่น ทนเห็นพระหัวเราะไม่ได้ หรือทนภาพวาดพระอุลตร้าแมนไม่ได้ การเชิดชู 3 สถาบันหลักของชาติแบบคับแคบ ก็คือการห้ามแตะต้องและห้ามพูดถึง เน้นแต่จารีตและรูปแบบ ซึ่งสิ่งนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา เช่น การไม่ยืนตรงเคารพธงชาติ การห้ามจำหน่ายหนังสือ หรือการห้ามฉายภาพยนตร์ เป็นต้น 

เคยมีหนังเรื่อง The King and I ที่ โจดี ฟอสเตอร์ (Jodie Foster) และ โจว เหวินฟะ (Chow Yun-fat) แสดง ซึ่ง โจว เหวินฟะ แสดงเป็นพระมหากษัตริย์ไทย ผลปรากฏว่าหนังถูกห้ามฉาย จนหนังเรื่องนี้ดัง เอาเข้าจริงหนังก็ไม่ได้สนุกเท่าไหร่นัก แต่คนเราอยากไปดูเพราะหนังมันดันไปต่อต้านกับอำนาจรัฐที่ออกคำสั่งเหล่านี้ขึ้นมา ผมรู้สึกว่าทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เกิดพื้นที่ของการถกเถียง สังคมไทยจึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยึดอุดมการณ์แบบคับแค้นและโหนอุดมการณ์ที่ไม่ว่าตนจะมีผลประโยชน์ร่วมด้วยหรือไม่ก็ตามเสมอ พวกเขาเกิดภาวะกระหยิ่มยิ้มย่อง เมื่อเห็นศิลปินแห่งชาติไม่อยู่ในศีลธรรมอันดี และจัดการเพื่อให้เป็นบทเรียนว่า คนอื่นอย่าไปทำตัวแบบนี้อีก

กรณีนี้คงทำให้ศิลปินหรือประชาชนบางส่วนรู้สึกหงอ การแสดงออกแบบนี้ของรัฐ คือการเตือนว่าต่อไปหากใครอยากได้รางวัลนี้ก็ต้องไม่เอาอย่างคุณสุชาติ แต่ผมก็คิดว่าใครที่ไม่หงอและที่พร้อมไปสัมผัสกับรางวัลระดับนานาชาติคงจะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็คงเป็นอุดมการณ์ในแบบที่รัฐไทยรับไม่ได้ สมมุติว่าคุณสุชาติสู้ทางกฎหมายแล้วชนะขึ้นมา ผมก็อยากจะเสนอให้คุณสุชาติว่า วันที่ชนะคดีก็ประกาศสละรางวัลไปเลย คือต้องสู้คดีนะ เพราะเหตุผลในการถอดถอนไม่ชอบธรรม และในอีกแง่หนึ่งรางวัลนี้ก็ไม่ได้คู่ควรกับคุณสุชาติ

ส่วนเรื่องความเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่ามีปัญหา 2 เรื่อง คือ ข้อถกเถียงที่ว่าด้วยหลักคุณค่าในรัฐธรรมนูญก็ดูเหมือนว่าจะไม่สอดคล้องกัน เช่น การอ้างหลักคุณค่าหนึ่งอาจจะทำให้หลักคุณค่าอีกอันหนึ่งกระทบได้ ตัวอย่างในลักษณะนี้คือ สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมาหลายปีแล้วว่าล่วงละเมิดไม่ได้ แต่ก็ยังพบว่ามีการใช้กฎหมายมาตรา 112 โดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหลากหลาย ซึ่งมาตรา 112 เองก็มีผู้บอกว่าขัดกับหลักการในรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็น ขณะเดียวกัน คนอีกกลุ่มก็บอกว่ารัฐธรรมนูญคุ้มครองความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการอ้างหลักใดหลักหนึ่งก็อาจจะไปกระทบหรือลบล้างอีกหลักหนึ่ง

ความยุ่งยากอันดับแรกคือ การจัดว่าหลักคุณค่าหรือพรมแดนของสิ่งนี้อยู่ที่ไหน ผมคิดว่าควรเป็นการตีความเพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย เพราะเรายังอยู่ในระบอบนี้ สิ่งที่เรียกว่าหลักคุณค่าพื้นฐานคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นมาตรา 6 จะมีอยู่ได้ แต่หลักในการแสดงความคิดเห็นก็ต้องเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน การตีความจะต้องไม่ตีความให้คุณค่าใดคุณค่าหนึ่งไปทำลายอีกคุณค่าอย่างสิ้นเชิง แต่ต้องทำให้ทั้งสองคุณค่านี้อยู่เคียงคู่กันไปได้ และหากจะถามผม การแสดงความคิดเห็นของประชาชนหากไม่ได้เป็นการทำลายสถานะหรือสั่นคลอนพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน ผมคิดว่าก็เป็นสิ่งทำได้ 

กรณีข้อเรียกร้องของคณะราษฎรตั้งแต่ปี 2563 เรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะการปฏิรูปคือการเรียกร้องให้ปรับแก้บางสิ่งบางอย่างที่อาจจะไม่สอดคล้องหรือเหมาะสมให้ดียิ่งขึ้น ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคณะราษฎร จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองไว้ หากมีบางคนรู้สึกไม่สบายใจว่าเป็นการจาบจ้วงหรือไม่นั้นก็ต้องลากมาสู่การถกเถียง การพยายามจะปิดปากด้วยการใช้กฎหมายเข้าจัดการหรือใช้กองทัพมินเนียนต่างๆ นั้น ก็จะทำให้ทุกอย่างมาถึงจุดที่คุณไม่สามารถปิดให้เกิดการตั้งคำถามเช่นนี้ได้อีกต่อไป 

ลองคิดดูว่าตั้งแต่ปี 2563 ถึงทุกวันนี้อำนาจรัฐก็ยังหยุดการแสดงออกของประชาชนไม่ได้ ผมคิดว่ายิ่งปิดกั้นมากขึ้นก็จะยิ่งทำให้คนมองความเป็นไปได้ของการปฏิรูปน้อยลง และถ้าคนรุ่นใหม่มองการปฏิรูปและการแสดงออกทางความคิดเห็นต่างๆ ว่าเป็นไปได้ยากมากขึ้นแล้ว ผมคิดว่าสังคมนั้นในอนาคตมีปัญหาแน่ๆ 

มีคำถามเพิ่มเติม 2 ข้อคือ 1) อยากให้เสนอทางออกให้กระทรวงวัฒนธรรมและคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในการถอยอย่างเสียหน้าให้น้อยที่สุด และ 2) ขอบเขตการแสดงออกทางการเมืองของศิลปินที่จะไม่กระทบความมั่นคงของชาติ หรือก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมอยู่ตรงไหน และตำแหน่งศิลปินแห่งชาติสำคัญอย่างไร

นิธิ: ผมมองการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร (2563) มาสักระยะ คือ เขาไม่ได้บอกว่าให้เอานายกรัฐมนตรีคนนี้ออกไป หรือให้แก้กฎหมายฉบับนี้สิ หรือให้ปล่อยใครจากการจับกุมเพียงอย่างเดียวแล้วทุกอย่างจะดีเอง แต่เขาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมด ผมเองก็ไม่เชื่อว่าแค่ให้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติถอยแล้วจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น การสลับคนเข้าออกตำแหน่งใหญ่ๆ มันไม่ได้แก้ไขอะไรได้อีกแล้ว นอกจากการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคมทั้งหมด คุณคิดเหรอว่าใครก็ตามแต่ที่เป็นใหญ่ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย จะทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของคุณสุชาติหรือใครก็ตามต่อจากนี้ต่อไปได้ ไม่ได้หรอก 

คุณต้องเปลี่ยนให้ศิลปะและศิลปินให้เป็นของประชาชน ผมเลยมองว่าไอ้ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติที่มีคนมามอบรางวัลให้นี่ ไม่ต้องมีดีกว่าครับ เป็นศิลปินแห่งชาติที่อยู่ในใจคนดีกว่า อยู่แล้วอยู่นาน ไม่มีใครมาถอดถอนคุณได้ด้วย เพราะตราบใดที่มีคณะกรรมการมามอบรางวัลให้คุณ ไม่ว่าจะเอกชนหรือรัฐ ถึงตอนนั้นคุณก็จะถูกควบคุม ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ประเด็นเรื่องเส้นแบ่งในการแสดงออกของศิลปิน ถ้าประเทศชาติมันมั่นคงจริง การที่คนมีเสรีภาพก็คงไม่กระทบหรอก แต่รัฐไทยเต็มไปด้วยสถาบันที่อ่อนแอมากมายเสียจนต้องมีกฎหมายมาควบคุมไม่ให้คนไปกระทบมัน จึงคิดว่าไม่ต้องมีเส้นแบ่งเรื่องเสรีภาพมากนัก เพราะเสรีภาพมันถูกใช้ท่ามกลางมนุษย์ที่มีความรับผิดชอบ มันมีข้อจำกัดเยอะแยะไปหมดอยู่แล้วในตัวมันเอง โดยไม่ต้องมีรัฐเข้ามาควบคุมตลอดเวลา ถ้าต้องแก้ปัญหาเพราะกลัวเสียหน้าก็ไม่ต้องแก้ ปัญหารัฐไทยมันยิ่งกว่าเสียหน้าอีก แก้กฎหมายไม่กี่ฉบับมันแก้อะไรไม่ได้ คุณต้องแก้ทั้งสังคม

สมชาย: ผมคิดว่าเราไม่ควรไปห่วงหน้าตาของอำนาจรัฐมากนัก แต่เราควรห่วงราษฎรมากกว่า ภาครัฐเขากินเงินเดือนจากเรา ถ้าเขาทำผิดหรือทำอะไรไม่เข้าท่า เขาก็ควรต้องรับผิดชอบ ดังนั้นเราไม่ต้องไปรักษาหน้าตารัฐ แต่เราควรรักษาหน้าตา ศักดิ์ศรี และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ว่ากันตามตรง ผมไม่เคยนึกถึงหน้าตาของผู้มีอำนาจเลย

ธิดา: โฟกัสที่เรื่องหนังอีกครั้งคือ ปัญหาการจัดเรต เราจะเห็นว่ารัฐเอาระบบเหล่านี้มาใช้ แต่ก็ไม่พ้นแนวคิดในการควบคุมคนทำงานอยู่ดี 

นัยสำคัญของการมีเรต คือการโยนอำนาจในการใช้วิจารณญาณกลับมาเป็นอำนาจของผู้บริโภค มาเป็นอำนาจของประชาชน เพราะการมีเรตกำกับ คุณจะทำตามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับวงการศิลปวัฒนธรรม และสำคัญกับทุกๆ อย่างของการเป็นชาติ เพราะสุดท้ายชาติที่แข็งแรงจำเป็นต้องให้ประชาชนเรียนรู้การใช้อำนาจของตัวเอง ในการดูแลวิถีชีวิตของตัวเองให้มีความเข้มแข็ง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งรัฐให้มาเซ็นเซอร์หนังเรื่องหนึ่งๆ เพราะหากประชาชนเสพงานศิลปะมากพอ ก็จะมีวิจารณญาณในแบบของตัวเอง ว่าสิ่งไหนที่สามารถเสพได้ หรือสิ่งที่ทำให้รู้สึกหวั่นไหว สะเทือนใจ ไม่สบายใจ ก็ต้องหาวิธีที่จะจัดการสภาพความรู้สึก ความคิดนั้น และเติบโตไปกับมัน 

ประเทศที่เปิดให้ผู้เสพงานศิลปะมีเสรีภาพที่จะเสพและคัดเลือกด้วยตัวเอง และศิลปินก็มีเสรีภาพในการแสดงออก คือสังคมที่มีความเจริญงอกงามในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรื่องการแลกเปลี่ยน และในที่สุดประชาชนก็จะเข้าใจการใช้อำนาจของตัวเองในการเป็นผู้เลือก นั่นคือสังคมที่ควรจะเป็น ฉะนั้น เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ด้วยการเปลี่ยนตัวบุคคลผู้มีอำนาจหรือเปลี่ยนกฎหมายบางฉบับ แต่ต้องรื้อวิธีคิดทั้งหมด ต้องเปลี่ยนสังคมทั้งหมดไปสู่จุดนั้นให้ได้

อานนท์: ผมอยากฝากประเด็นให้สังคมขบคิดว่า เราอยากไปสู่ 3 จุดนี้หรือไม่

หนึ่ง – อยากรู้ความจริงหรือไม่ สอง – อยากเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์หรือไม่ และสาม – อยากอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่เราเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองตัวเองหรือไม่ ถ้าอยากเป็นเช่นนั้น เราควรต้องถือหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงศิลปะ เป็นหลักหรือเป็นหัวใจของการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม

WAY Conversation: เสรีภาพของศิลปินไทยในยุคขยับเพดาน
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30-16.00 น.

ร่วมเสวนาโดย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์
สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อานนท์ มาเม้า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club และตัวแทนกลุ่ม DemAll

ดำเนินรายการโดย อิทธิพล โคตะมี กองบรรณาธิการ WAY

สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง https://youtu.be/K83Mx-0A9jg

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า