WAY to READ: Franchise/Isaac Asimov วันที่การเลือกตั้งไม่ใช่อำนาจตัดสินใจของเรา

…เมื่อวันเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลง พวกเขาก็จะนับคะแนนกันว่ามีกี่คนเลือกพรรคเดโมแครต และมีกี่คนเลือกพรรครีพับลิกัน ใครก็ตามที่ได้รับเสียงมากกว่าก็คือผู้ถูกเลือก…

แล้วทุกคนรู้ได้อย่างไรคะ ว่าจะเลือกใคร มัลติแวคบอกพวกเขาเหรอคะ

พวกเขาเพียงแค่ใช้ดุลยพินิจของตัวเองยังไงล่ะ สาวน้อย

– หน้า 16-17

 

เรื่องราวในรวมเรื่องสั้น วันเลือกตั้งและเรื่องสั้นอื่นๆ หรือ Franchise ของ ไอแซค อาซิมอฟ (Issac Asimov) หนึ่งในนักเขียนแนวไซไฟที่สำคัญคนหนึ่งของโลกวรรณกรรมบอกเล่าเรื่องราวรอบๆ ตัวของ นอร์แมน มุลเลอร์ เสมียนบัญชีประจำห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งผู้ปรารถนาเพียงชีวิตสงบสุข เรียบง่าย กระทั่งวันหนึ่ง ปัญญาประดิษฐ์อีเลคตูโฮรนิคที่มีขนาดมโหฬาร รู้จักกันในชื่อ  ‘มัลติแวค’ ได้คัดเลือกชื่อเขาจากจำนวนประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาเพื่อให้เขาตอบคำถามที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีผ่านการประมวลผลของมัลติแวค ประจำปี 2018

ครอบครัวของนอร์แมนประกอบไปด้วยซาราห์ ภรรยาผู้พยายามผลักดัน กระทั่งโน้มน้าวให้เขาโอบรับโอกาสในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เพราะมองเห็นถึงโอกาสที่จะนำมาซึ่งการเลื่อนขั้นและเงินทอง นอกจากซาราห์ ในบ้านของนอร์แมนยังมี ลินดา ลูกสาวตัวน้อยช่างซักช่างถามของเขา กับ แมทธิว ฮอร์เตนเวลเลอน์ พ่อตาของเขา
แมทธิวเป็นคนรุ่นเก่าที่ยังทันการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่การปล่อยให้ปัญญาประดิษฐ์เลือกสุ่มสักคนให้มาเป็นตัวแทนของพวกตน ดังนั้น เราจะเห็นร่องรอยความเห็นของแมทธิวที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเลือกตั้งผ่านคนคนเดียวของมัลติแวค ดังที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้น

นอกไปจากนี้ สิ่งที่ปรากฏในวันเลือกตั้ง ล้วนเต็มไปด้วยจารึกของคำถามที่อาซิมอฟขีดเขียนไว้ผ่านบทสนทนาระหว่างแมทธิวและลินดา ผู้เป็นหลานสาว ระหว่างนอร์แมนกับการต่อสู้ทางความคิดในตัวเขาเอง ระหว่างเรา ในฐานะผู้อ่านต่อบริบทในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ทำให้หวนกลับมาทบทวนยังปัจจุบันในปี 2017 (พ.ศ. 2560) ที่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่กันแน่การเลือกจะมาถึง และจะได้เลือกผู้แทนของเราจริงๆ หรือไม่?

ความแหลมคมของประเด็นที่อาซิมอฟเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1955 ในนิตยสารที่ชื่อ If: World of Science Fiction คือ การตั้งคำถามที่แทบจะเป็นคำถามคลาสสิกในโลกวรรณกรรมไซไฟที่มีเรื่องราวของปัญญาประดิษฐ์เป็นแกนหลักของเรื่องว่า มนุษย์มีเจตจำนงเสรีจริงไหม?

บ้างอาจแย้งว่า นี่มันคำถามคร่ำครึเชยแหลก ยุคสมัยนี้แล้วยังต้องมาทบทวนผ่านวรรณกรรมจากยุค 50 อีกเหรอ

ประเด็นคือ ในเรื่องสั้นชิ้นนี้ของอาซิมอฟไม่ได้เป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่เสียบต่อตัวเองเข้ากับจักรกลอย่างไม่เคยรู้มาก่อนว่าความจริงที่พบเห็นนั้นมีความจริงอื่นที่ซ้อนทับอยู่ แต่อาซิมอฟตั้งคำถามลึกกว่านั้น ว่าสิ่งใดกันที่นำพาเรามาสู่ประวัติศาสตร์ของการยอมให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้เลือกหนึ่งในประชากรนับล้านเพียงหนึ่งเพื่อเป็นตัวแทนประชาชนทั้งหมดในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

เป็นไปได้ไหมที่อาซิมอฟกำลังจะบอกเราผ่านเรื่องสั้นในยุคสมัยของความสับสนอลหม่าน และการปะทะทางความคิดอุดมการณ์ที่แตกต่างสุดขั้วระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ว่าเมื่อใดที่เราหวาดกลัวและยอมให้บางสิ่ง บางคน บางกลุ่ม สถาปนาตัวเองเป็นผู้คัดเลือกแทนเราในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ แล้ว เราก็ไม่ใช่มนุษย์ที่มีเจตจำนงเสรีใดๆ เลย แต่เราแค่กลัว

มากกว่านั้น ประเด็นสำคัญที่อาซิมอฟทวงถามต่อไปในแง่ของการแสดงออกในฐานะพลเมืองของประเทศ คือ เรายอมแลกตัวเองกับความรักชาติจนยอมสูญเสียสิ่งที่เคยเป็นเราเลยกระนั้นหรือ?

‘ชาติ’ สำคัญมากกว่าความเป็นมนุษย์ขนาดนั้นเลยหรือไร?

ความคิดรักชาติถูกกวนแทรกเข้ามา หลังจากทุกสิ่งทุกอย่างนี้ เขาเป็นตัวแทนการเลือกตั้งทั้งหมด เขากลายเป็นจุดโฟกัสสำหรับทุกผู้ทุกคน เขาเคยเป็นแค่เพียงตัวของเขาเอง แต่สำหรับวันหนึ่งวันนี้เขาเป็นทั้งหมดของอเมริกา!

– หน้า 42

 

หากคำตอบคือใช่, เรากับปัญญาประดิษฐ์ในฐานะของเครื่องจักรชนิดหนึ่ง แทบไม่แตกต่างกันสักนิดเดียว

วันเลือกตั้งและเรื่องสั้นอื่นๆ เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดยกลุ่มคลับไซไฟไทย ผ่านเฟซบุ๊คเพจในชื่อ ‘จักรวาลไซไฟ’ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและเผยแพร่งานเขียนทางด้านนิยายวิทยาศาสตร์ทั้งต่างประเทศและของไทยเองให้พอได้รู้จัก โดยมิได้มุ่งหวังผลกำไรจากการเผยแพร่ผลงานทั้งสิ้น ดังนั้น จึงไม่มีราคาหนังสือ แต่หากสนใจ สามารถสนับสนุนค่าจัดพิมพ์ได้ที่ จักรวาลไซไฟ


หลังสิ้นบัลลังก์มังกร

เส้าหย่ง-หวังไห่เผิง
กำพล ปิยะศิริกุล: แปล
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์: อ่าน

ในช่วงวัยที่ค้นหาตัวตน ผมมักถามพ่อแม่และตาว่า พวกเรามาจากไหน ฝั่งแม่นั้น ตาเดินทางมาจากซัวเถา มาพบรักกับผู้หญิงลาวเมืองมหาสารคาม (ด้วยข้อมูลกระท่อนกระแท่นผมจึงสงสัยว่า ซัวเถานั้นคือบ้านเกิดบรรพบุรุษจริง หรือเป็นเมืองท่าสำคัญของผู้ต้องการอพยพไปยังแผ่นดินอื่น) ส่วนฝั่งพ่อนั้นคือความลึกลับดำมืดจนวันนี้ รู้เพียงว่าบรรพบุรุษฝั่งพ่อนั้นมาจากเมืองจีน คนรุ่นเสื่อผืนหมอนใบเหมือนกับครอบครัวฝั่งแม่

ก่อนที่พ่อตาย ผมถามว่าจำชื่อย่าได้ไหม พ่อส่ายหน้าช้าๆ ส่วนปู่ก็กลายเป็นความทรงจำเลือนรางของพ่อ ในการจะค้นหาที่มาของตัวเอง ผมจึงต้องปะติดปะต่อเอาเอง

ประวัติศาสตร์จีนจึงน่าค้นหาเสมอ อ่านเพื่อจะเลือกจำลองวางชีวิตบรรพบุรุษลงไปในฉากและเหตุการณ์

หลังสิ้นบัลลังก์มังกร เป็นหนังสือประวัติศาสตร์จีนที่โฟกัสช่วงที่จีนกำลังเป็นสมัยใหม่ การเข้ามาของเจ้าอาณานิคม สงครามฝิ่น นโยบายปิดประเทศ การเรียนรู้วิทยาการตะวันตกเพื่อเอาตัวรอดจากประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย ช่วงปลายของราชวงศ์ชิง การปฏิวัติซินไฮ่ การปฏิวัติประชาธิปไตยใหม่ สงครามต่อต้านญี่ปุ่น การปฏิวัติของเหมาเจ๋อตุง

ระหว่างที่เขียนอยู่นี้ ผมเดินทางมาถึงบท ‘วิกฤตชายแดนและสงครามเจี๋ยอู่ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น’ แต่ละบทประกอบด้วย คำอธิบายโดยสังเขป ซึ่งถูดจัดวางบนพื้นที่หลักของการอ่าน ขอบกระดาษถูกเว้นพื้นที่มากพอที่จะใส่ ลำดับเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานั้นๆ แทรกความรู้ทั่วไป เกร็ดความรู้ และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เป็นระยะ

ประวัติศาสตร์จีนจึงน่าค้นหาเสมอ อ่านเพื่อจะเลือกจำลองวางชีวิตบรรพบุรุษลงไปในฉากและเหตุการณ์ กิจกรรมแบบนี้มีความหมายส่วนตัวเท่านั้นเอง

สาปศิลป์

นภ ดารารัตน์
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์: อ่าน

เราเคยเห็นชื่อ นภ ดารารัตน์ ปรากฏบนปก เทคโนโยนี ในฐานะผู้แปล นี่คือผลงานเรื่องสั้นที่พยายามสื่อสาระหรือข้อความของผู้เขียนผ่านงานศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน รูปสลัก พิพิธภัณฑ์ ภาพถ่าย ภาษา และวรรณกรรมคลาสสิก

สัมผัสอักษรในแต่ละเรื่องเจือบรรยากาศสีเทาดำ นับเป็นข้อดีของการคุมโทนมืดหม่น ชนิดแทบไม่ปล่อยให้อารมณ์ของผู้อ่านไขว้เขวไปหาแสงสว่าง ทั้งด้วยตัวภาพจินตนาการ บทสนทนา และตัวละคร

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ผู้เขียนเล่าเรื่องที่เป็นสากล ผ่านตัวละครหลายสัญชาติและฉากที่ไม่คุ้นเคย ความ ‘เป็นอื่น’ พาผู้อ่านออกไปพบสถานที่ใหม่ ซึ่งบางที่ชุดหรือเครื่องแบบไทยๆ ไม่ใคร่อนุญาตให้พาไปได้ อีกประการคือการใช้ภาษา วรรคตอน เครื่องหมาย และวิธีการเขียนแบบอังกฤษ เช่น “เขาเลี้ยงดูเธอจนเติบใหญ่เป็นสาว. เด็กคนนั้นเป็นเด็กดี, เฉลียวฉลาด. เขาภูมิใจในตัวลูกสาวคนนี้มาก” ยอมรับว่าตอนเริ่มอ่านมีอาการติดขัดบ้าง แต่หากข้ามเนินบางแห่งไปได้ ก็นับว่าเป็นอากาศและรสใหม่ๆ ที่น่าสนใจทีเดียว

City Sight: เมืองที่มองไม่เห็น

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ณิชากร ศรีเพชรดี: อ่าน

มันไม่ใช่หนังสือบ่นบ้านบ่นเมืองบ่นหงุมหงิมแล้วก็จบไป แต่คือการบ่นโลกอย่างมีความรู้ ด้วยภาษาที่ละมุนนุ่มลึก อธิบายเรื่องที่เราคิดว่าไม่เป็นเรื่องให้เป็นเรื่องแต่มีชั้นเชิงและเปี่ยมรสนิยม เธอจะจับตาดูทุกความเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต แต่เป็นมุมมองเฉพาะตัวที่มาจากการออกไปเจอโลกกว้างและอย่างอิสระ ทั้งกล้าหาญจะบ่นออกมาดังๆ และเชื่อว่าโลกมันต้องดีขึ้น มันต้องเปลี่ยนได้ดิ!

หลงรักคนเขียนเป็นบ้า

คำนิยมโดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล กล่าวไว้ว่า ผู้เขียนเป็นผู้ที่มี ‘สายตาพิเศษ’ คือมักมองสิ่งที่เรารู้ เห็น ใช้ชีวิตอยู่ด้วยแบบชินๆ ชวนกลับไปมองใหม่อีกครั้งด้วยมุมมองใหม่ มุมมองที่เหมือนจะเล็กน้อยแต่สั่นสะเทือนมหาศาล อ่านไปเกือบจบเล่มแล้วก็พบว่า โอ้ยยย… ยืนยันคำเดิม หลงรักคนเขียนเป็นบ้า

คิดดูว่าผู้เขียนชวนมองตั้งแต่โฆษณาบนรถไฟฟ้า บอกว่าเสียงของมันทิ่มแทงและบีบบังคับให้เราต้องสนใจมันแค่ไหน ไม่ใช่หรือว่าเราควรมีสิทธิ์ปกครองความเงียบ และในบางเช้าหรือช่วงก่อนหมดวันเราอยากชาร์จพลังด้วยความสงบบ้าง แต่มันไม่มีจริง!

เห็นไหมว่าย่อหน้าข้างบนคือตัวอย่างร้ายๆ ในการอธิบายว่า ‘เสียง’ หรือการถูกบังคับให้เสพโฆษณาในที่สาธารณะมันบั่นทอนเราเล็กๆ น้อยๆ แต่เรื่อยไปอย่างไร แต่ตัวอักษรของสรณรัชฎ์ แม้จะพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม ฟังก์ชั่นของเมือง และความไม่มีทางเลือกของเรา ประเด็นเดิมๆ ให้คนเมือง (ที่เชื่อว่าไม่มีทางเลือกจึงต้องปิดตาข้างหนึ่ง และทำเป็นยอมๆ มันไป) เหม็นเบื่อ ทำหน้ายี้ และปฏิเสธไม่ยอมฟัง กลับคล้อยตามและพยักหน้าหงึกๆ ตบเข่าฉาดแล้วบอกว่า เออจริง (ว่ะ)! แล้วอุทานต่อว่า ‘ไอบ้าเอ๊ย’ ไปด้วยได้

ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเมือง ที่เห็นตำตาว่ามันผูกโยงกับชีวิต แต่ผู้เขียนชวนมองตั้งแต่มลพิษทางสมอง การออกแบบบ้านและอาคาร พระจันทร์ในบ้านเราหันเสี้ยวไปทางไหน ไดโนเสาร์ ศาสตร์แห่งการอบขนมปัง เรื่อยไปกระทั่งการภาวนา!!!

ถ้านักวิชาการด้านผังเมืองเคยกล่าวไว้ว่า ‘เมืองทำให้เราจน อ้วน โสด’ อันทำยิ้มเจื่อนพร้อมแอบปาดน้ำตาเพราะถูกความจริงฮุกจนจุก City Sight จะกางความจริง วางแผนที่ ซูมเข้าซูมออกไปยังกิจวัตรประจำวันของเราแล้วพาเดินสำรวจไปทีละจุด และชี้ว่า ทุกๆ ก้าวที่เดินเราพบอะไร มีปัญหาที่ตรงไหน ทำให้เราเป็นอะไรได้บ้าง ทางเลือกคืออะไร และวิธีการแก้ปัญหาง่ายๆ จะเป็นอะไรได้บ้าง

อ่านจนเกือบจบแล้วลืมไปเลยว่า กรอบของหนังสือเล่มนี้ตั้งใจจะพูดแค่เรื่องเมือง

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า