The Reading Room ของ เกี๊ยว

02

เรื่อง : ตุ่น บางพรม

ภาพ : อนุช ยนตมุติ

 

 

มันอาจเริ่มต้นในมุมหนึ่งของห้องเล็กๆ ไม่มีหน้าต่าง บนอาคารสักหลัง กลางกรุงนิวยอร์ก ข้างในบรรจุลมหายใจลำพัง แม้ภายนอกคนมากมายเคลื่อนไหววุ่นวาย ทว่าบรรยากาศโดดเดี่ยวยังวนเวียน

ความสัมพันธ์เชิง Space – ‘พื้นที่’ ระหว่างข้างในกับข้างนอก บางครั้งมันก็น่าอึดอัดตามบรรทัดข้างต้น

เกี๊ยว-นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน ผู้ก่อตั้งห้องสมุดศิลปะ The Reading Room เคยมีชีวิตอยู่ในห้องที่ว่า

“ช่วงเวลาอย่างนั้นมันให้อะไรกับเรา ท้าทายตัวตนเยอะเหมือนกัน เพราะจริงๆ เป็นเด็กไม่ขยัน แต่เรียนได้ ไม่ต้องพยายามมาก พอไปเจอแล้วก็แบบ…เราจะทำยังไง มันทำให้เราต้องตั้งคำถาม แล้วก็เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองเยอะ ได้เรียนรู้การตัดสินใจ ทัศนคติของเรา ก็เลยตัดสินใจกลับเมืองไทยก่อน ไม่งั้นคงโดดตึกตาย”

โชคดี จากปากคำที่เธอบอกไว้ – ห้องพักที่นิวยอร์ก ไม่มีหน้าต่าง

 

1.

การไปเผชิญหน้ากับตัวเองที่อเมริกาครั้งแรก หลังจบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกวรรณคดีอังกฤษ เพียง 2 สัปดาห์ ไม่ได้สิ้นสุดลงที่การทอดร่างสู่อากาศ

“กลับมาครั้งนั้นทำงานก็ทำไม่ได้ เลยสมัครเรียนใหม่ ก็ได้ทุนกลับไปเรียนต่อที่เดิม แต่เป็นคนละคณะ ครั้งหลังนี่อยู่ 6 ปี เรียนจบแล้วก็ทำงานต่ออีก 4 ปี”

กับสาขาวิชา Nonprofit Art and Culture Management ที่ Pratt Institute ชื่อยากๆ ยาวๆ นั้นแปลว่า การบริหารจัดการองค์กรไม่มีผลกำไรทางด้านศิลปะวัฒนธรรม วิชาที่เธอบ่นว่าเอามาใช้กับการบริหาร The Reading Room ได้ไม่มากเท่าที่ควร อาจเพราะมันเป็นศาสตร์ของนิวยอร์ก เพื่อคนนิวยอร์ก โดยคนนิวยอร์ก – เฮ้ย…ดูเหมือนมีบางคำ บางประโยค และบางสิ่งผิดที่ผิดทาง

“ที่นั่นมันแทบจะอยู่คนเดียวจริงๆ แล้วมันทำให้เรารู้ว่า ต้องรู้จักตัวเอง เหมือนเข้าใจความเป็นแก่นของตัวเอง ว่าเราเป็นแบบไหน ข้อดีข้อเสีย ข้อจำกัดของเราคืออะไร เราพยายามใช้ชีวิตตามลักษณะที่เราทำได้” ประโยคห้าวห้วนหล่นลึกลงสู่เครื่องอัดเสียงดิจิตอล “ถ้ามึงเงินหมด มึงก็ต้องไปขอเขาแดก”

ย้อนเวลากลับไป กรณี ‘Stranger in Strange Land’ ความแปลกแยกแตกต่างดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และประสบการณ์โดดเดี่ยวลำพังก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก

“ตอนเด็กๆ พ่อแม่จะเอาเราไปปล่อยตามร้านหนังสือ เขาเห็นเราชอบ ถ้าเราไม่อ่านหนังสืออยู่บ้าน ก็ไปห้าง ไปร้านหนังสือ นั่งๆ นอนๆ ยืนๆ อยู่ตรงนั้นแหละ แล้วตอนเย็นเขาก็จะมารับ”

การมองโลกภายนอกเคลื่อนไปอย่างผู้สังเกตการณ์อาจดูวังเวง เด็กผู้หญิงคนหนึ่งชอบอ่านสารานุกรม และหนังสือดาราศาสตร์ ด้วยเหตุผลว่าการมองออกดูสรรพสิ่งไกลตัวมันสะท้อนถึงการกำเนิด ดับสูญ ‘อะไร’ คือเหตุผลของการดำรงอันเล็กจ้อยของเราอยู่ท่ามกลางจักรวาลที่ไม่มีขอบเขต

“เราว่ามนุษย์เรามันตัวเล็กแค่นี้จักรวาลมันมีอะไรเยอะ คนมันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น มันทำให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเยอะมาก ว่าสิ่งนี้มันถูกเหรอ อะไรคือความจริง แล้วก็ความจริงมันมีหลายชุด”

ความช่างสงสัยเป็นพื้นฐานของความรู้ แต่นักตั้งคำถามกับนักท่องจำคำตอบก็เป็นคนละประเภท แน่ล่ะ หนังสือเป็นสี่เหลี่ยมแค่สัณฐาน ความคิดอ่านไม่ควรถูกตีกรอบกั้นในรูปทรงนั้น ปัจจัยเหล่านี้สร้างให้เธอสนิทสนมกับการอ่านตั้งแต่เด็ก

 

2.

ชีวิตในโรงเรียนหญิงล้วน เกี๊ยวพบรักกับ 2 สิ่ง…ไม่สิ อาจเป็นบางชิ้นส่วนที่เธอเปิดประตูเชื้อเชิญเข้ามาสู่ ‘พื้นที่’ ข้างใน ทำให้ชีวิตยังคงมีชีวิต – หนังสือและฟุตบอล “เป็นเด็กประหลาด ดูบอลกับอยู่ห้องสมุด จะไปมีเพื่อนได้ยังไง” เธอบอก

“ช่วงประถมปลาย มัธยมต้น เริ่มบ้าฟุตบอล ซื้อหนังสือฟุตบอลเต็มไปหมด หนังสือที่แพงที่สุดตอนนั้นยังจำได้ ชีวประวัติไรอัน กิกส์ สมัยนั้นเล่มละ 300 มั้ง แพงชิบหาย เก็บเงินเป็นเดือน”

ผมพยายามหาคำอธิบายว่า การสร้าง ‘พื้นที่’ ส่วนตัวขึ้นมาอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง ก็คงเหมือนวิ่งหนีอะไรสักอย่าง แล้วสุดท้ายเราและ ‘มัน’ ก็ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน แน่ล่ะ ‘มัน’ ต้องพยศบ้าง แต่ถ้าพ้นการควบคุม ‘หนีไปพัก’ ดูจะเป็นช่องทางที่ดีกว่าโดดตึก

“ตอนนี้สิ่งที่อยู่ในชีวิตก็เป็นสิ่งที่มันช่วยให้เราหนีได้แป๊บๆ นะ หนังสือ กีฬา กินเหล้า แต่ไม่ได้กินเพื่อหนี ไม่ชอบกินแล้วเมา มันเป็นตัวช่วยให้รีแล็กซ์ เพราะเป็นคนเครียด ก็มีอยู่ 3 อย่าง ขาดไม่ได้”

ชีวิตมันก็แบบนี้ วิ่งๆ หยุดๆ แววตาของผู้หญิงผมยาวดูชาชินกับวัฏจักรนี้ ในพื้นที่ส่วนตัวของเธอ จึงต้องมี 3 สิ่งนี้อยู่ด้วยตลอด

“มันเป็นจุดพักน่ะ คุณวิ่งไปตลอดไม่ได้หรอก คือโคตรรักการทำงานเลย แต่ก็รู้ตัวเองว่า ถ้าทำงานหนัก ต้องมีเวลาที่จะหยุด อะไรพวกนั้นมันคงอยู่กับเราตลอดชีวิตอยู่แล้วล่ะ คือ เบื่อการอ่าน เบื่อกีฬา เบื่อเหล้า มันเป็นไปไม่ได้ว่ะ ไม่มีทาง มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนะ”

ผมไม่ได้หิ้วเครื่องดื่มมาฝาก มีเพียงความสงสัย หากว่าด้วยเรื่องน้ำสีอำพัน สายตระกูลใดจะต้องใจตามรสนิยมของเธอ

“ถ้าเลือกได้ ชอบกินสก็อตช์ ถ้าไม่มีเงินก็หงส์ทอง”

 

01

 

3.

Space – มีขอบเขตมองเห็นชัดเจนหรือไม่ก็ได้ ในบางกรณีแม้เป็นขอบเขตสมมุติ กำแพงเสมือนก็สามารถสร้างให้เกิด ‘พื้นที่’ ขึ้นเช่นกัน – สมัยเรียนท่องจำมางูๆ ปลาๆ ประมาณนี้ จึงเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่กั้นระหว่างเธอ (เจ้าของพื้นที่) และ ผม (คนนอก) มีมากกว่าระยะห่าง 1.50 เมตร และแว่นสายตากรอบแดง

 

4.

ชีวิต ยิ่งเดินไกลยิ่งทำให้คนแกร่งกร้าน คนหนังบางต้องมีริ้วรอย ผู้แข็งขืนฝืนสวนทางจำต้องถูกเฆี่ยนตีบ้าง แต่ทุกบาดแผลล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นพัฒนาการความหนาของผิวเพื่อให้ทนทานต่อการกระทบกระทั่ง บางครั้งเราก็เลือกอยู่รอดบนโลก ‘แบบนี้’ ด้วยวิธี ‘แบบนี้’

“คนเรามันต้องมีร่องรอยทั้งนั้นแหละ โดยเฉพาะคนที่ไม่ยอมไปตามสังคมน่ะ จะร่องรอยทางกายหรือทางจิตก็ตาม มันต้องมีทุกคน”

คนหนึ่งอาจจะเอาแต่นั่งมองบาดแผลเบื้องหน้าแล้วฟูมฟายปาดน้ำตา พร่ำเพ้อถึงแต่ชีวิตที่เติมไม่เต็ม แต่กับ ‘ร่องรอย’ ของเกี๊ยว เธอแปร ‘มัน’ – ‘Dark Power’ เป็นแรงผลักดัน และพยายามบริหารจัดการพลังด้านมืดของตัวเองบ่มมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในทางสร้างสรรค์

“มันเป็นเรื่องของการเอาพลังด้านลบตรงนี้ไปอยู่ในทางที่ถูก ตั้งคำถามสำหรับเรื่องที่ควรถูกตั้ง เอาความไม่พอใจไปทำในสิ่งที่มันสร้างสรรค์กว่านั้น คือไม่ใช่คนโลกสวยนะ เป็นคนดาร์ค แต่ก็นำความดาร์คไปใช้ในทางที่มันสร้างสรรค์ ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันเป็นทางที่เวิร์คสำหรับเรา”

 

5.

ประมาณ 3 ปีก่อน The Reading Room เกิดขึ้นในบ้านเก่าย่านเจริญกรุง และได้ย้ายมาอยู่ที่ชั้น 4 บนอาคารพาณิชย์ในสีลมซอย 19 – เกี๊ยวคือผู้เลือก ว่าจะมีความสุขอยู่กับความโดดเดี่ยว หรือจะผลักประตูที่เชื่อมข้างในกับข้างนอกออก และอนุญาตให้บางผู้คนจากโลก ‘แบบนี้’ ได้เข้ามาสู่พื้นที่ของเธอบ้าง

“ต้องชั่งน้ำหนักนะ ว่าจะทำสิ่งที่สบายใจ หรือควรจะทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์เพิ่ม เรารู้สึกว่ามันเป็นความรับผิดชอบของมนุษย์คนหนึ่ง มันมีมายาคติเยอะมาก คือ กูไม่ใช่คนดี ไม่ใช่คนประเสริฐ แค่มีจิตสำนึกเล็กน้อย”

เวอร์ชั่นแรกของ The Reading Room เกิดจากตอนทำงานเป็นนักวิจัยให้องค์กร Asia Archive เพื่อรวบรวมข้อมูลทางศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยเก็บไว้ พอทุนรอนขององค์กรนี้เริ่มขาด คนรักศิลปะคงไม่สามารถทนดูข้อมูลสำคัญเหล่านี้แห้งเฉาตายไปต่อหน้า

“เรามองแค่ว่า ถ้าต้องการข้อมูลตรงนี้ คุณรู้ว่ามีเราอยู่ตรงนี้ ประเด็นหลักมันแค่นั้นเอง การที่คนมองว่าที่นี่มันมาแล้วสบายใจ มานั่งทำงานได้ เราว่าเราโคตรแฮปปี้เลย”

เป็นธรรมดาที่พื้นที่นามธรรมของผู้หญิงห้าวคนนี้จะถูกหลอมรวมกับรูปธรรมกำแพง 4 ด้าน พูดง่ายๆ ว่า ดีเอ็นเอของนางสาวนราวัลลภ์กลายมาเป็นชิ้นส่วนของห้องสมุดศิลปะแห่งนี้จนแยกไม่ออก

“The reading room มันก็มีข้อดีและข้อเสียนะ เพราะมันมีความเป็นเราสูง ทำยังไงให้มันลดความเป็นตัวเรา และมีความเป็นองค์กรมากขึ้น อย่างเช่น หนังสือก็เป็นของเราเกือบหมด คนที่ไม่เหมือนเราบางทีเขาก็หาอะไรไม่ได้ เรื่องของการดำเนินงาน เราไม่เก่งเรื่องหาทุน องค์กรก็สะท้อนตัวเรา สะท้อนข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด ซึ่งจริงๆ มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น”

เริ่มต้นจากห้องสมุดเพื่อเก็บหนังสือและข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย แต่เวลาผ่านไป ธรรมชาติก็ได้ทำให้ The Reading Room เติบโตกลายพันธุ์ไปสู่การเป็นศูนย์กลางให้ผู้คนที่มีความคล้ายในรสนิยมใช้จัดกิจกรรมพบปะสังสรรค์เสวนากัน

“สุดท้ายมันก็เติบโตไปเอง ก็ตลกดี ให้ตายยังไงก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นแบบนี้ เพราะว่าตั้งแต่เด็กเราเป็นคนแอนตี้สังคม เกลียดมนุษย์ ไม่ชอบคนเยอะ ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ อึดอัดเวลาอยู่ในที่สาธารณะ เจอคนแปลกหน้าก็ทำตัวไม่ถูก แต่โลกมันก็ ironic สุดท้ายมันก็อยู่ตรงนี้ รู้จักคนเป็นหมื่นเลย”

 

03

 

6.

สำหรับผม มันกระชากอารมณ์มาก กับการหันหน้าออกจากกำแพงเข้าหาโลก – โลกซึ่งอยู่ดีๆ มีใครก็ไม่รู้ก้าวข้ามอาณาเขต กรูกันเข้ามาในพื้นที่ของเราเต็มไปหมด

“มันเป็นห้องสมุดเล็กๆ ที่ทำเรื่องเล็กมากๆ วันหนึ่งมีคนมาไม่กี่คน แต่พอเริ่มแล้วเราก็เห็นว่ามันมีศักยภาพที่จะเป็นได้มากกว่าที่เราคิด เราก็ต้องลดอัตตาตัวเองลง คือสิ่งที่เราทำได้จริงๆ มันเยอะกว่าที่เราจะทำให้ตัวเอง อย่างตอนนี้มันเติบโตไปได้ แล้วจะตัดมันเหรอ”

 

**********************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร way มิถุนายน 2555)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า