‘กินของเน่า’ ที่มิวเซียมสยาม

นิทรรศการ 'กินของเน่า'

 

ได้ยินแค่ชื่อ ‘กินของเน่า’ นิทรรศการที่มิวเซียมสยาม ไม่ว่าใครฟังเป็นต้องหูผึ่ง แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะมันเป็นสิ่งที่เรากินกันอยู่เป็นประจำ บางคนอาจจะตักเข้าปากทุกวันด้วยซ้ำ

ด้วยพื้นที่จัดแสดงหลัก 2 ห้อง ในห้องแรก เป็นการจำลองร้านอาหารสุดหรู มีเมนูบุฟเฟต์เป็นของเน่าหลากชนิดแทรกตัวอย่างแนบเนียน เช่น แกงเขียวหวาน แกงฮังเล แกงเลียง น้ำยาป่า น้ำพริกอ่อง ฯลฯ

นอกจากอาหารละลานตา บนโต๊ะบุฟเฟต์ยังติดตั้งจอฉายแอนิเมชั่น แสดงขั้นตอนการทำของเน่ายอดนิยมอย่าง ปลาร้า และปลาส้ม ให้เข้าใจง่ายๆ ส่วนห้องที่สอง เรียกว่ายกตลาดสดมาไว้ในอาคารจะดีกว่า เพราะเหมือนจริงมากๆ โดยเฉพาะกลิ่นที่ตลบอบอวลไปทั่ว

ทั้งสองห้องนี้เชื่อมต่อด้วยเส้นทางตู้แช่จำลอง ในยุคที่เรามีตู้เย็นใช้กันทุกบ้าน และการถนอมอาหารเหล่านั้นค่อยคลายความสำคัญลงเรื่อยๆ

ปิดท้ายนิทรรศการด้วยคำถามชวนคิด ถ้าต่อไปไม่มีของเน่าเหล่านี้ อาหารที่เรากินจะมีรสชาติและหน้าตาอย่างไร?

 

'กินของเน่า' มิวเซียมสยาม

 

ประชาคมอาเซียน ประชาคมของ(เน่า)อร่อย

พม่า เรียกกะปิและปลาร้าว่า กะปี๊ (Ngapi) เมื่อนำไปปรุงเป็นน้ำพริก เรียก กะปี๊เย (Ngapi Yay) ถั่วหมักแบบถั่วเน่าทางภาคเหนือ เรียก เป๊ะกะปี๊ (Pè Ngapi)

เวียดนาม เด่นเรื่องน้ำปลากลิ่นเฉพาะตัว เรียก หง็อกมาม (Nuoc Mam)

ลาว เรียกปลาร้าว่า ปาแดก (Pa Daek) น้ำปลาก็เรียก น้ำปา (Nam Pa)

กัมพูชา ปลาร้าเขมร หรือ ปราฮ็อก (Prahok) มีลักษณะเด่นตรงที่จะออกจากไหมาเป็นตัวๆ หรือเป็น ต่อนๆ เพราะเมื่อได้ปลามา จะนำมาคลุกเกลือแล้วตากให้พอแห้ง อย่าแห้งมาก ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นปลาเค็มก่อน แล้วค่อยอัดลงไห

มาเลเซีย เปกาซัม (Pekasam) วิธีทำคล้ายปลาส้ม แต่ใส่ข้าวคั่วแทนข้าวสวยในท้องปลา หมักไว้ 2 สัปดาห์ค่อยนำมาทำให้สุก เบลาชันหรือบลาชัง (Belacan) เป็นคำเรียกกะปิทำจากกุ้ง ส่วนบูดู (Budu) ทำคล้ายน้ำปลาแต่จะผสมกากที่หมักลงไปด้วย ซึ่งก็คือน้ำบูดูที่กินกับข้าวยำนั่นเอง

อินโดนีเซีย กะปิเรียกว่า แทรสซีหรือเทราซี (Terasi) ส่วนปลาร้าเรียก บากาแซ็ง (Bakasang)

บรูไน กับ สิงคโปร์ มีวัฒนธรรมอาหารแบบผสมผสาน โดยบรูไน ได้รับอิทธิพลจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ส่วนสิงคโปร์ก็มีอาหารหลายอย่างใกล้เคียงกับทางมาเลเซีย

ฟิลิปปินส์ กะปิคือ บากุง อะลามัง (Bagoong Alamang) ส่วนปลาร้าเรียก บากุง อิสดา  (Bagoong Isda) น้ำปลาเรียก ปาตีส (Patis)

 

'กินของเน่า' นิทรรศการชั่วคราว

 

นิทรรศการ ‘กินของเน่า’ จัดแสดงถึงวันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ณ มิวเซียมสยาม

เวลา 10.00 – 18.00 น. เข้าชมฟรี

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า