เรื่อง: ลีน่าร์ กาซอ
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
แม้ว่าประเทศไทยจะมีพันธุ์ข้าวจำนวนนับไม่ถ้วน แต่ถามว่าทุกมื้อและทุกวัน จะมีข้าวสักกี่สายพันธุ์กันที่เราได้กิน
ชีวิตที่อยู่บนความรีบเร่งตลอดเวลา กระทั่งการซื้อหาอาหารยังพึ่งห้างสรรพสินค้าที่ขยายตัวตอบสนองความเร็วของผู้คน ไม่เว้นแม้แต่ข้าว
แล้วข้าวกี่พันธุ์กันที่วางขายบนชั้นวางในห้างหรือร้านค้าให้เราได้หยิบซื้อมากิน
“ข้าวที่เห็นวางขายบนห้างจะเป็นพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกแล้วว่ากินง่าย ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่”
จุไลรัตน์ เชิดทิพย์ ผู้จัดการฝ่ายขายวิสาหกิจข้าวฮาง ‘ยอดทิพย์’ พูดเอาไว้ ในฐานะที่เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ผลักดันข้าวฮางให้ขึ้นมาอวดโฉมอยู่บนชั้นวางในห้างสรรพสินค้า the mall เกือบทุกสาขา รวมถึงบนชั้นวางในห้างดังอย่างพารากอน
ข้าวฮางคืออะไร?
ข้าวฮางเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของชาวภูไททางแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากในอดีต คนภูไทที่อพยพมาจะอาศัยอยู่บ้านอิงเขา พื้นที่หน้าบ้านจะปลูกข้าวได้น้อย จึงต้องมีการพัฒนาวิธีที่ทำให้นำข้าวที่ยังไม่แก่มากินได้ และสามารถเก็บข้าวให้ได้นานที่สุด จึงมีการดัดแปลงโดยเอาข้าวเปลือกระยะอ่อนมาแช่น้ำ นึ่ง และตากแดดที่ไม่แรงนักหรือตากลม ให้อุณหภูมิของข้าวนิ่มแล้วจึงไปตำและนำมากิน ก็จะได้ข้าวที่กินก่อนฤดูกาล
เช่นเดียวกับพันธุ์ข้าวอื่นๆ ที่เกิดจากภูมิปัญญาโบราณ เมื่อนำมาผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าในปัจจุบัน จะพบว่าแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีประโยชน์เฉพาะ ข้าวฮางเองก็มีสารไนอะซิน ในตระกูลวิตามินดี สูงกว่าข้าวกล้องทั่วไปถึงร้อยละ 200
ปัจจุบัน มีกลุ่มเกษตรกรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายกลุ่มที่กำลังผลักดันให้มีการปลูกข้าวฮางมากขึ้น รวมถึงการเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
แต่ถึงอย่างนั้น …จะเดินขึ้นมาอยู่บนห้างได้ โดยไม่ต้องทุ่มความเสี่ยงไว้กับพ่อค้าคนกลางมาก คงต้องต่อกรกับปัญหาหลายประการที่นอกเหนือไปจากคุณประโยชน์ของข้าวพื้นถิ่นนั้นๆ
ก่อนที่ข้าวฮาง ‘ยอดทิพย์’ จะขยับตัวเองมาอยู่บนห้างได้ ก็ต้องผ่านกระบวนการรู้สึกถึงความสำคัญจากตัวจุไลรัตน์เอง เพราะได้กิน ได้สัมผัสกับตัวเกษตรกรที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ เพียงถ้อยคำประโยคเดียวที่บอกว่าอยากทำ อยากปลูก แต่ไม่รู้จะเอาไปขายใคร ก็ผลักดันให้ตัวเธอเกิดความคิดจะสร้างที่ยืนอย่างเป็นหลักแหล่งที่กระทั่งคนในเมืองจะได้รู้จักกับข้าวฮาง และเป็นโชคดีที่เธอพอจะรู้จักคนที่สามารถเชื่อมประสานตรงจุดนี้
“แต่ก็ไม่ได้ง่ายเลย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาคุณภาพของข้าวที่ต้องดีจริงๆ ”
โชคดีประการหนึ่งที่เธอได้พบคือ ความต้องการดูแลสุขภาพของคนในปัจจุบันมีมากขึ้น การเปิดตัวสู่สาธารณชนจึงอาจไม่ยากลำบากจนสู้ไม่ไหว
ถึงอย่างนั้น ความเคยชินของผู้คนที่มักรับประทานแต่ข้าวพันธุ์เดิมๆ ก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องตีให้แตก
แรงผลักดันสำคัญจะเกิดขึ้นได้จากการจับกลุ่มที่มีระบบระเบียบของเกษตรกรและการทดลองทำ ทดลองขาย ด้วยความอดทนและใจเย็น
“ข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลายสายพันธุ์กินยาก แต่อีกหลายสายพันธุ์ก็กินง่าย เพียงแต่ผู้คนไม่รู้จักเท่านั้น และถึงรู้จัก ส่วนใหญ่ก็ยังแยกแยะไม่ออกถึงความแตกต่าง”
บนแนวคิดของคนบางกลุ่มที่ยังติดอยู่ว่า การบริโภคข้าวเพื่อสุขภาพ แม้แต่ข้าวพื้นเมืองที่อยู่ต่างถิ่น เป็นเรื่องเฉพาะของคนมีกำลังทรัพย์ หรือเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม สิ่งที่จุไลรัตน์ยังคงเป็นห่วงคือ การให้ความรู้เกี่ยวกับข้าวที่ลึกไปกว่าชื่อสายพันธุ์ และถิ่นที่มา นั่นคือประโยชน์เฉพาะตัวของข้าวแต่ละสายพันธุ์ และความเหมาะสมของผู้รับประทาน เช่น เพศ ช่วงอายุ หรืออาการผิดปกติในร่างกาย ซึ่งเธอบอกว่าสามารถทดแทนการรักษาจากยาที่เป็นสารเคมีได้ในระดับหนึ่ง เพื่อขยายมุมมองการบริโภคข้าวให้กว้างขึ้น
เช่นนี้แล้ว วงของการบริโภคข้าวพื้นถิ่นที่ยังอุดมด้วยคุณประโยชน์ก็จะดำเนินต่อไปได้ไม่ชะงักกลางทาง
แม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ บนชั้นวางในห้างฯใหญ่ อวดสายตาคนเมืองหลวงให้เริ่มรู้จักพันธุ์ข้าวและเบื้องลึกเบื้องหลังของอาหารที่กินกันแทบทุกมื้อ แต่จุไลรัตน์ก็บอกว่ายังจะขยับขยายต่อไปเพราะตระหนักด้วยตัวเองว่าพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ลงแรงผลักดันนั้นดีพอที่จะอวดอ้าง
และเธอยังบอกว่า รวมไปถึงข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน
*****************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ มกราคม 2552)