จากการตามศึกษาวาฬเพชฌฆาต 600 ตัวตั้งแต่ปี 1970-2010 พบว่า วาฬเพชฌฆาตที่มีแม่คอยว่ายอยู่ใกล้ๆ จะมีโอกาสมีชีวิตรอดมากกว่าปกติ และอยู่รวมกันแบบครอบครัวใหญ่เต็มไปด้วยลูกๆหลานๆ คล้ายกับมนุษย์
การศึกษาวาฬเพชฌฆาตมานาน 30 ปี ของทีมจาก the University of Exeter ประเทศอังกฤษ พบอีกว่า ไม่ใช่แค่ลูกๆ เท่านั้น วาฬรุ่นหลานที่มีวาฬแม่และวาฬยายคอยว่ายอยู่ใกล้ๆ ยังมีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้นด้วย
โดยธรรมชาติแล้ววาฬเพชฌฆาตมีอายุขัยสูงสุดราว 90 ปี และตัวเมียพอพ้นวัยเจริญพันธุ์คือประมาณ 40 ปี ก็จะไม่สามารถมีลูกได้อีก ซึ่งในโลกนี้ (นอกจากมนุษย์) มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2 ชนิดเท่านั้นที่มีช่วงวัยหมดประจำเดือน คือวาฬเพชรฆาตกับวาฬหัวกลม
โรเบิร์ต พิตแมน นักนิเวศวิทยาทางทะเล ที่ the National Marine Fisheries Serviceในซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย ให้ข้อมูลว่า วาฬทั้งสองพันธุ์นี้ ยังเหมือนกับมนุษย์อีกเรื่อง ตรงการอยู่รวมเป็นกลุ่มเป็นครอบครัวใหญ่ ที่แวดล้อมไปด้วยลูกและหลาน ซึ่งวาฬสูงวัยก็ทำหน้าที่ช่วยเหลือสมาชิกในทุกๆ เรื่อง
การศึกษาของ the University of Exeter ยังแยกสำรวจวาฬ่เพชฌฆาตตัวผู้ที่กำพร้ากับกับตัวที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ พบว่าชนิดแรกมีโอกาสตายสูงถึง 3 เท่าหลังจากแม่ตายไป 1 ปี แต่ก็พบอีกว่าวาฬลูกตัวเมียกลับปรับตัวได้ดีกว่าหลังจากสูญเสียแม่ไป
จนถึงทุกวันนี้ นักวิจัยก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้แน่ชัดว่า ทำไมการมีแม่อยู่ใกล้ๆ ถึงเป็นผลดีต่อตัวผู้มากกว่าตัวเมีย อาจเป็นเพราะว่า วาฬแม่อาจจะทำหน้าที่เป็นผู้ล่าหรือต่อสู้อย่างดุร้ายเข้มแข็งเยี่ยงตัวผู้ จึงทำให้ลูก(ชาย) รู้สึกปลอดภัย
ที่มา : www.wired.com