เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
เรานัดเขาช่วงเย็นของพิธีสวดวันสุดท้ายที่เชียงใหม่…
เพียงแต่ว่าพวกเรานั่งอยู่ในกรุงเทพฯ
สุรชัย จันทิมาธร เพิ่งเดินทางลงมาจากพิธีศพของ ‘เพื่อนหนุ่ม’ – ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนไทยคนเดียวที่น่าจะตายอย่างยิ่งใหญ่และมีผู้คนสนใจมากที่สุดแล้ว…อย่างน้อยก็ในชั่วโมงนี้
เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งลูกพี่ เพียงแต่ว่าเขาไม่ใช่ลูกน้อง สุรชัยย้ำอย่างนั้นตั้งแต่ต้น
ทองเสน เจนจัด เป็นนามปากกายุคที่ หงา สุรชัย ยังไม่ได้เป็น หงา คาราวาน…ไม่รู้เป็นไง เรารู้สึกว่านามปากกานี้สอดคล้องและกลมกลืนอย่างยิ่ง หากปรากฏในฐานะตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในงานเขียนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์
แต่สุรชัยก็เป็นสุรชัย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ก็เป็น ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ต่อให้ใครมองจากระยะไกลๆ แล้วอาจรู้สึกว่าทั้งสองคนมีอะไรหลายอย่างคล้ายคลึงกันเหลือเกิน
เหมือนกับเงาและแดด ดำรงอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน ผู้คนจดจำเป็นภาพเดียวกัน มองดูคล้ายๆ เป็นภาพหนึ่งเดียวกัน…คล้ายๆ แต่ไม่ใช่
สุรชัยและเพื่อนเคยอาศัยบ้านบางซ่อนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นทั้งที่พัก ที่เมา ที่บ่มเพาะอนุบาลความคิด ในยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ข้อมูลนี้ถูกเล่าปากต่อปาก ก่อนได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ ‘หงา คาราวาน เงา – – สีสันของแดด’ ผู้เขียนคือเจ้าของบ้าน ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อปี 2542
ระยะห่างของความทรงจำทอดไกลราว 30 ปี
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สุรชัยรักใคร่ใกล้ชิดกับ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์มากเพียงใด แต่ก็เหมือนกับเงาและแดด สุรชัยบอกว่าเขาอ่านงานของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์น้อยมาก กระทั่งหนังสือเล่มที่ ‘ลูกพี่’ เขียนถึงเขาเป็นวาระพิเศษเฉพาะ สุรชัยก็ยังไม่เคยอ่าน
โดยคำบอกเล่าและประสบการณ์ เรารู้ดีว่าการจะพูดคุยกับสุรชัย จันทิมาธร โดยคาดหวังความเป็นเรื่องเป็นราวเอาประเด็นจริงจังนั้น ถือว่าเป็นงานยากถึงยากมาก
คำนินทามีอยู่ว่า ถามช้างแล้วตอบม้า…นั่นแหละพี่หงาของแท้
เย็นวันนั้น way จึงเอ่ยปากเชิญบรรดาช้างๆ ทั้งหลาย มาช่วยกันตั้งคำถามกับ สุรชัย จันทิมาธร อันประกอบไปด้วย พิสิฐ ภูศรี นักเขียน (ผู้เคย) หนุ่ม ซึ่งประกาศตัวกลางวงดื่มนมอย่างสม่ำเสมอว่านับถือ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ราวกับเป็นเทพเจ้า ทินกร หุตางกูร ภูติประจำตัวของบรรณาธิการ และ เวียง วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน ผู้ดูแลงานเขียนของสุรชัย จันทิมาธร
การณ์กลับเป็นว่า สุรชัยตอบทุกคำถามอย่างมีสมาธิ เพราะเรื่องส่วนใหญ่ที่เขาพูด เป็นเรื่องของ ‘ลูกพี่’ ผ่านมุมมองของแดดและเงาตามสายตาน้องคนหนึ่ง
ระหว่างเว้นวรรคช่องไฟคำถาม เขาพลิกหนังสือ ‘หงา คาราวาน เงา – – สีสันของแดด’ เปิดดูฆ่าเวลา มองภาพประกอบ ทั้งภาพถ่าย ภาพเขียน ลายมือต้นฉบับ แล้วชวนคนนั้นคนนี้คุยถึงเบื้องหลังภาพเหล่านั้น
ถ้าไม่ใช่สุรชัย จันทิมาธร เราอาจรู้สึกว่า นี่คือแววตาของชายวัย 61 ที่กำลังนึกถึงเพื่อนหนุ่มวัย 77 ที่เพิ่งจากไป
…แววตานั้นมีร่องรอยของความคิดถึง
……………………………………..
พี่หงาพบกับอาปุ๊ครั้งแรกเมื่อไหร่ครับ
ผมก็เจอพร้อมๆ กับใครหลายคนในตอนนั้น คือพี่ปุ๊แกไปอยู่อเมริกานาน ช่วงที่พี่ปุ๊เป็นหนุ่มเราก็ไม่ได้เจอ มีแต่ตำนานมีแต่เรื่องราว มีแต่ตัวหนังสือของเขา เพราะเขาไปอยู่อเมริกา แต่ไปอยู่กี่ปีผมก็ไม่ทราบ
วันที่เราเห็นหน้าพี่ปุ๊ครั้งแรก ทุกคนตื่นเต้นมาก (ยิ้ม) พี่ปุ๊มาจากอเมริกา แล้วมาพูดที่สมาคมนักข่าวตรงราชดำเนิน กลุ่มพวกเราที่ทำหนังสือกันอยู่ก็แห่กันไป เหมือนเด็กหนุ่มทั้งหลาย จำได้เลย ตอนนั้นพี่ปุ๊เท่มาก รู้สึกน่าจะ 40 กว่าๆ เดาๆ เอานะ พี่ปุ๊ 40 กว่า พวกเราก็ 20 กว่าๆ
ตอนนั้นกลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวก็มีตัวตนอยู่แล้ว?
มีอยู่แล้ว ตอนที่ผมเริ่มเขียนหนังสือจริงก็คือปี 2509 ถึง 2512 อะไรทำนองนี้ พี่ปุ๊แกน่าจะมาระยะนั้น ผมก็จำไม่ค่อยได้
ตอนนั้นภาพลักษณ์อาปุ๊ก็คือมีลักษณะความเป็นดาราพอสมควร ?
ใช่ (หัวเราะ) เขาก็เป็นนักเขียนหนุ่ม…เป็นดารา…แบบ…เท่น่ะ (หัวเราะ) ตอนนั้นแกยังหนวดดำ หัวยังไม่ล้านมาก หล่อแล้วก็ดูดีน่ะ เปรียบเสมือนว่าเราได้มาต้อนรับเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์อะไรทำนองนั้นเลยนะ มาดเขาจะเป็นอย่างนั้น มาดเขาจะเป็นแบบเฮมิงเวย์ ทั้งปรัชญาชีวิต ความเป็นนักเขียนหนุ่ม ครั้งแรกที่เจอเรายังไม่ได้คุยกับแกด้วยซ้ำ ยังไม่ได้เข้าใกล้ว่างั้นเถอะ
แล้วได้มาเข้าใกล้ในช่วงไหนครับ
ช่วงที่แกกลับมาทำงานอยู่ที่สยามรัฐ ซึ่งพวกเราก็ทำงานหนังสือช่อฟ้าอยู่แถวๆ นั้น ขรรค์ชัย บุนปาน เขาทำช่อฟ้า เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ก็ทำกลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย ช่วงนั้นพี่ปุ๊อยู่สยามรัฐ แกก็น่าจะเขียนรำพึงรำพัน โดยลำพูอยู่ ซึ่งเราก็อ่านทุกสัปดาห์ แล้วเราก็ไปส่งเรื่องสั้น…แต่งชุดนักเรียนขึ้นไปเลย (ยิ้ม)
ตอนนั้นคุณมูล (ประมูล อุณหธูป บรรณาธิการคัดเรื่องสั้น) ก็คล้ายๆ ว่าเมตตาเราน่ะนะ ก็ให้เขียนเรื่อง 2 เรื่องลงในฉบับเดียวกัน แกให้เหตุผลว่าเรื่องของคุณสั้นมาก (หัวเราะ) เป็นเรื่องสั้นมาก…ขออีกสักเรื่องได้มั้ย ตอนนั้นพี่ปุ๊ก็นั่งอยู่ข้างๆ คุณมูลนั่นแหละ มีอะไรเขาก็คงจะคุยกันเกี่ยวกับตัวเรา หรืองานของเราก็แล้วแต่ ก็คงจะเริ่มสัมผัสใกล้ชิดตั้งแต่ตอนนั้น เพราะพี่ชายเราก็นั่งอยู่ที่นั่น เพื่อนๆ ที่รู้จักกันหลายคนก็ทำงานอยู่ อีกคนที่เป็นไอดอลของพี่ปุ๊คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คือท่านคล้ายๆ เป็นอาจารย์ของที่นั่น
ในกลุ่มนั้นก็ต้องถือว่าคึกฤทธิ์เป็นเทพเจ้า ?
(ยิ้ม) ใช่ เป็นพระเจ้าของกองนั้น พี่ปุ๊ก็เป็นรุ่นถัดมา ส่วนพวกเราก็เป็นรุ่นต๊อกต๋อยน่ะนะ รุ่นขึ้นไปหางานว่างั้นเถอะ…ขึ้นไปเขียนหนังสือ มันก็เป็น 3 เจนเนอเรชั่นที่ได้พบ
จนกระทั่งต่อมาก็ได้มีความสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่ม หนุ่มเหน้าสาวสวย กับ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่ม คือ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์และเพื่อนหนุ่มน่ะเป็นกลุ่มใหญ่ ใครบ้างก็ไม่รู้น่ะตอนนั้น เพื่อนหนุ่มเยอะเหลือเกิน โดยมากก็เป็นพวกศิลปิน…คนที่เป็นตัวเชื่อม 2 กลุ่มนี้ก็คือคุณสุวรรณี สุคนธา เขาเป็นเพื่อนของพี่ปุ๊นั่นแหละ วัยไล่ๆ กันทันกัน หลังจากนั้นพี่ปุ๊ก็ขยับจากสยามรัฐมาทำเดือนต่างๆ เช่น ตุลาคมรำไพอะไรอย่างนี้ แต่ละเดือนก็จะมีนามสกุล เป็นหนังสือที่เท่มากอีกเล่มหนึ่ง
เวียง วชิระ : พี่หงาก็เริ่มเขียนงานส่งจริงจังตั้งแต่ตอนนั้น ?
ผมก็เขียน…คือช่วงนั้นถือว่าอยู่ในกลุ่มแล้ว เป็นตัวที่ถูกสั่งให้เขียน…แบบ..เฮ้ย มึงเขียนเรื่องนี้มาให้กูหน่อย…สั่งงานกันแล้วล่ะ
ในช่วงนั้นคนที่รู้จักพี่ปุ๊ก็มีการไปบ้านแกในนามของเพื่อนหนุ่ม แวะเวียนกันไป ตัวเชื่อมสำคัญอีกคนหนึ่งคือเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ หรือปั๋ง ซึ่งไม่ใช่ปั๋งคนปัจจุบันนะ (หัวเราะ) ปั๋งสมัยโน้นน่ะ โอ้โห…เมาจริงๆ เลย ไม่น่าเชื่อว่าชีวิตจะฟื้นขึ้นมาได้ขนาดนี้ แบบเมาหนัก กลุ่มเราก็มีประเสริฐ จันดำ มีเรา ภาคศิลปินก็มีศรีศักดิ์ นพรัตน์ 4-5 คน ซึ่งเขาไม่นับรวมกลุ่มเท่าไหร่ เพราะเป็นกลุ่มเมาอย่างเดียวเลย (หัวเราะทั้งวง) เมากันทั้งกัญชาทั้งเหล้า รู้สึกจะก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา
นั่นคือที่บ้านบางซ่อน ?
ใช่ๆ เป็นบ้านแม่ของพี่ปุ๊ แล้วบ้านบางซ่อนยุคแรกคือติดกับสระน้ำ เป็นบ่อ แล้วก็มีชานยื่นออกมา เราก็เมากันอยู่ตรงนั้นแหละ พี่ปุ๊ห้องอยู่ไหนยังไม่รู้เลย ไม่รู้จักห้องแกด้วยซ้ำไป คือไปมั่วสุมกันอยู่นั่น ทำอะไรกินกัน เมากัน
ที่พี่หงาเข้าไปอยู่ในวงโคจรนี้ คือหมายถึงว่ามีอาปุ๊เป็นศูนย์กลางจุดสนใจ?
คือเป็นลูกพี่…เป็นพี่ใหญ่ แต่เราไม่ใช่ลูกน้อง เราจะย้ำคำนี้บ่อย
ทินกร : แล้วงานของแกมีอิทธิพลกับรุ่นน้องเยอะมั้ย
วันนี้ขอไม่พูดเรื่องงานนะ…เราอยากพูดเรื่องชีวิต
ถามว่าเราชอบชื่นชมงานของแกมั้ย เราก็ติดตามอ่านประเภทปกิณกะของแกน่ะ รำพึงรำพัน โดยลำพู เป็นงานที่มีเสน่ห์มาก ส่วนนิยายสนิมสร้อยอะไรนั่น เราไม่เคยได้อ่านหรอก ความที่ได้คุยกันก็เลยไม่ต้องอ่าน รู้แต่ว่าสำนวนเขา…มันก็อย่างที่เป็นเขานั่นแหละ มีคนที่น่าจะรับอิทธิพลทางนี้โดยตรง นักเขียนหลายคน ประภัสสร เสวิกุล อย่างนี้สายตรงเลย ต้อ-บินหลา (บินหลา สันกาลาคีรี) พวกนี้ถือว่าเป็นพวกศึกษางาน มีอิทธิพลกับงานอะไรอย่างนั้น แต่แบบเรามันเป็นเรื่องชีวิต
ทำไมพี่หงาจึงเลือกอาปุ๊เป็นลูกพี่
ก็เขาอายุมากกว่า… เป็นพี่น่ะ แล้วกลุ่มที่ไปก็ง่ายๆ เป็นกันเอง แบบเฮ้ยมีเหล้ากินเหล้ากัน ไม่มีใครคิดตังค์น่ะ จะเป็นแบบหุงหากินง่ายๆ นอนตรงไหนก็ได้ เราก็ต้องการที่แบบนี้สักแห่ง สมัยนั้นไม่มีร้านเหล้า ไม่มีผับ
เวียง วชิระ : ช่วงนั้นไปอยู่ประจำ ?
อยู่บ้างไม่อยู่บ้าง
อาปุ๊แกเป็นคนที่เข้าถึงง่ายมั้ยครับ คือมีลักษณะไว้ตัวกับเด็กๆ บ้างมั้ย
ไม่มี คือแกก็อยากคบอยู่แล้วถึงมีกลุ่มเพื่อนหนุ่มไง ตอนนั้นเขาบอกว่าจะหยุดตัวเองไว้ที่ 28 เขาไม่อยากแก่ ไม่อยากเป็นคนแก่ เพื่อนหนุ่มที่ว่าก็ไม่ใช่นักเขียนอย่างเดียว สารพัดเลย นักเลงก็มี นักเรียนเก่าอเมริกาก็มี พวกที่เคยอยู่กับเขาคบกัน 4-5 ปี เขาคบกันแบบไม่มีเจนเนอเรชั่นไง เด็กๆ อย่างพวกเรานี่ยังกู-มึงกับพี่ปุ๊เลย
แล้วแกไม่ถือ ?
ก็เป็นเพื่อนหนุ่มเขาไง เพื่อนที่อยู่อเมริกา พวกนี้ลูกคนมีเงินทั้งนั้นเลย แต่ตอนหลังก็ไม่ค่อยได้มาแล้ว เวลามาที่บ้านมากินเหล้ากันก็จะมีกลุ่มอย่างนี้อยู่ แล้วก็จะมีกลุ่มศิลปินพวกอดุลย์พันธ์ (อดุลย์พันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา) นี่ขาประจำนะ ตอนนี้อดุลย์พันธ์ก็ 70 แล้วนะ แล้วก็จะมีที่เป็นนายแบบ บอกไม่ถูกน่ะ…พวกที่เป็นเพลย์บอยทั้งหลาย เพลย์บอยรุ่นนั้นน่ะ ส่วนใหญ่จะมากันแบบเท่ๆ ทั้งนั้น…ยกเว้นพวกเรา (หัวเราะ)
สมัยนั้นถือว่าอาปุ๊เป็นนักเขียนที่มีตังค์ล่ะ ?
น่าจะมีตังค์นะ รายได้ประจำเขามี เรียกว่ามีเหล้ากินก็เรื่อยๆ คืออย่างน้อยก็น่าจะมีลูกพี่ดูแลอยู่คือหม่อม (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) เรื่องเงินไม่ขาดหรอก แล้วสมัยนู้นมีเงินไม่มากก็อยู่ได้
ตอนนั้นบ้านของอาปุ๊มีใครอยู่ด้วยมั้ยครับ
เขาอยู่อีกหลังหนึ่ง ไม่ค่อยมายุ่งกับพวกเราหรอก พ่อ แม่ พี่ น้องชายของแกอยู่อีกหลังหนึ่ง ส่วนพวกเราก็นอนเละเทะอยู่แถวใต้ถุนบ้านแก เสื้อผ้าส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ซัก เพราะไม่มีใครซักให้ มีบางคนเป็นหนองในเป็นซิฟิลิส สมัยนู้นยังไม่มีเอดส์ อันนี้เราไม่บอกชื่อนะ (ยิ้ม) หนองในมันก็ระบมมันก็เอาผ้ามาห่อไว้ เอาสำลีมาห่อไว้ เหม็นฉิบหาย ก็รักษากันไปอย่างนั้นน่ะคิดดู น่าเกลียดมาก จะไปฉีดยาก็ไม่ไป (หัวเราะ)
ตอนนั้นลักษณะงานของงานเขียนหรือว่าการทำงานในทางตัวหนังสือมันไม่มีความขัดแย้งกันหรือครับ เพราะงานอาปุ๊ก็ไม่น่าจะตรงกับทิศทางความสนใจของหนุ่มเหน้าสาวสวยหรือพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งค่อนข้างซีเรียสกับประเด็นทางสังคมและการเมือง
คือกลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวยก็เป็นหนุ่มเหน้าสาวสวย กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวก็เป็นพระจันทร์เสี้ยว แต่สองกลุ่มนี้เมื่อมาสัมพันธ์กับพี่ปุ๊ก็คือมาส่งงานกันแค่นั้นเอง ส่งงานในนามกลุ่มแล้วก็พยายามจอยกลุ่มกัน แต่ก็มีกลุ่มสามระดับ คือกลุ่มพี่ปุ๊กับเพื่อนหนุ่ม กลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวยซึ่งยังคาอยู่ ซึ่งมีพวกนักเขียนเรื่องสั้นทั้งหลาย แล้วก็มีกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว กลุ่มนี้ก็มีพวกสุชาติ สวัสดิ์ศรี วิทยากร เชียงกูล นี่เป็น 3 กลุ่มนักเขียนที่เราพัวพันกันด้วย
เวียง วชิระ : พี่หงาก็คือไปได้กับทุกกลุ่ม เพราะเห็นพระจันทร์เสี้ยว หนุ่มเหน้าสาวสวยก็อ้างว่ามีพี่หงาเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ?
เราก็ไปหมด (หัวเราะ) หนักไปทางเมา
ทินกร : กลุ่มไหนเมาสนุกที่สุดครับ
นั่นแน่ะ…(หัวเราะทั้งวง) กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวสนุกสุด เพราะว่าวัยเดียวกัน ส่วนกลุ่มพี่ปุ๊เราก็ไม่มีอะไร…เป็นน้องน้อยเลยล่ะ
พูดได้ไหมว่าอาปุ๊นี่ถือเป็นผู้นำเข้าวัฒนธรรมฮิปปี้ในประเทศไทย หรืออย่างน้อยก็ในแวดวงนักเขียน?
จะว่าอย่างนั้นก็ได้ คำว่าบุปผาชนนั้นน่าจะเกิดจากแกนะ คำว่าบุปผาชน หรือป่าคอนกรีตอะไรอย่างนี้ ซึ่งต่อมามันเพี้ยนมาเป็นป่าปูน (หัวเราะ) ป่าปูนก็เป็นลูกทุ่ง ก็เอามาจากป่าคอนกรีตนี่แหละ คำมันพัฒนามา
ทินกร : แต่ก่อนเจอพี่ปุ๊นั้น พี่หงาก็รู้จักบ๊อบ ดีแลนมาอยู่ก่อนแล้ว?
ใช่ครับ ผมรู้จักแล้วครับ ผมอยู่กับพี่ชาย (เสถียร จันทิมาธร) คือไม่ได้ไปอยู่กับพี่ปุ๊ตลอด ส่วนหนึ่งก็มานอนบ้านพี่เถียร
ทินกร : ตอนอยู่บ้านพี่ปุ๊แกเปิดเพลงแจ๊สให้ฟังบ้างมั้ยครับ ?
ไม่เคย (หัวเราะ) ส่วนใหญ่จะคุยกันเป็นหลัก แต่แกน่าจะชอบอยู่นะ เห็นพูดถึงไมล์ส เดวิส บ่อย เราก็รู้แค่นั้น ส่วนตัวเราฟังอีกซีกหนึ่ง ซึ่งไม่เคยแลกเปลี่ยนกับพี่ปุ๊เรื่องนี้ เพราะยุคนั้นมันมีเพลงฮิปปี้เยอะ แต่ก็ไม่ได้มาจากพี่ปุ๊
คุยกันเรื่องอะไรบ้างครับ
สัพเพเหระ…ปรัชญาก็มี เรื่องนักเขียน แกจะเล่าเรื่องเฮมิงเวย์บ้าง คนนั้นคนนี้บ้าง เราก็เออ…ได้รู้เยอะ คือเราไม่รู้อะไรเลย ก็ได้รู้จากแกแทนการอ่านหนังสือ
พิสิฐ : โดยเนื้อแท้แล้วพี่ปุ๊แกเป็นฮิปปี้มั้ย
ผมว่าแกไม่ได้เป็นอะไรหรอก แกจะเป็นคล้ายๆ (ทำท่านึก) คือฮิปปี้จริงๆ มันก็ไม่ใช่อย่างนั้น
ทินกร : แต่เวลาเขียนแกก็ชอบใช้ศัพท์ฮิปปี้เยอะ ?
ก็คงเป็นอิทธิพล แต่พูดจริงๆ แล้วต้องถือว่ารุ่นพี่ปุ๊เป็นรุ่นก่อนฮิปปี้ แกไปอยู่อเมริกาในยุคฮิปปี้รุ่งเรือง แต่รุ่นที่รับอิทธิพลฮิปปี้ตรงๆ เลยน่าจะเป็นรุ่นพวกเรานี่แหละ รุ่นเสนีย์ ด้ายมงคล รุ่นพวกพันธุ์หมาบ้า
เวียง วชิระ : ถ้าพูดถึงแนวคิดทางการเมืองพี่ปุ๊จัดเป็นพวกซ้ายหรือขวา
เสรีชน ไม่ซ้าย…แล้วก็น่าจะเป็นเสรีแบบประชาธิปไตย น่าจะไม่พ้นจากเงาของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เท่าไหร่
พิสิฐ : แนวคิดของแกบางทีค่อนข้างโปรอเมริกาด้วยซ้ำ ?
ก็ไม่แน่นะ บางทีก็ด่าเหมือนกัน แกก็ด่าซีไอเออยู่ คือแกก็พยายามจะไปซ้ายนั่นแหละ แต่เราว่าแกก็ไม่ใช่ซ้ายไม่ใช่ขวาอะไรทั้งนั้น แกเป็นคนรักความเป็นธรรมน่ะ เอาอย่างนั้นแล้วกัน
พิสิฐ : แต่กับพี่ปุ๊จะไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนเรื่องการเมือง ?
ไม่มี ถ้าจะคุยเรื่องการเมืองเราก็จะมาคุยกับพวกธีรยุทธ บุญมี พวกกลุ่ม 13 กบฏ ไปที่อื่นเราก็ไม่ได้คุย พระจันทร์เสี้ยวเราก็ไม่คุยเรื่องการเมือง เราคุยเรื่องศิลปะ เรื่องงานหนัง งานละครอย่างนี้มากกว่า แต่การเคลื่อนไหวในธรรมศาสตร์ปรากฏว่าพวกพระจันทร์เสี้ยวเข้าไปยุ่งอยู่เยอะ ไปทำงานอยู่เบื้องหลัง เป็นหน่วยข่าวกรองบ้าง เป็นคนทำกิจกรรมการเคลื่อนไหว ไปเป็นสมองให้กับม็อบบ้าง
เวียง วชิระ : ตอนนั้นพี่หงาก็อยู่หน่วยข่าวกรองไม่ใช่เหรอ
ฉายาคืออยู่หน่วยข่าวกรอง แต่ไม่ได้ทำเหี้ยอะไรเลย ไม่รู้ต้องทำยังไงด้วย (หัวเราะ) แต่พอเดินออกมาจากห้องประชุมเท่านั้นแหละ คนก็จะพูด นี่…หน่วยข่าวกรองนะโว้ย จริงๆ ไม่ได้สืบอะไรเลย (หัวเราะ) ก็คอยช่วยเขาเท่านั้นแหละ เพราะโดยสถานภาพเราไม่ใช่นักศึกษา
ทินกร : พี่หงาเคยไปโยนคำใส่แกมั้ย ประเภท…มันต้องเปลี่ยนแปลง มันเป็นเผด็จการอะไรอย่างนี้
(ยิ้ม) พี่ปุ๊น่ะเพื่อนแกเป็นนายพลเยอะนะ พวกอำนวยศิลป์น่ะ
พิสิฐ : แล้วช่วงที่สถานการณ์รุนแรงตั้งแต่หลัง 14 ตุลา 2516 – 6 ตุลา 2519 ห่างกันไปมั้ย
ห่างครับ เพราะว่าเราไม่มีเวลา ส่วนมากเรามาเคลื่อนไหวจนกระทั่งเข้าป่า
พิสิฐ : ไม่ใช่ด้วยสาเหตุว่าทัศนคติไม่ตรงกัน?
ไม่ใช่…ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์อะไรหรอก แกไม่เคยมายุ่งกับเรื่องนี้เลย
จำได้ช่วง 14 ตุลาฯ ตอนนั้นเราเดินขบวนอยู่ กำลังจะไปสวนจิตรฯ ก็มีคนมาเรียกเราข้างๆ รั้ว ตรงไหนนะ…ข้างๆ ลานพระบรมรูปฯ (ทำท่านึก)
พิสิฐ : สนามเสือป่า ?
เออๆ ใช่ แกอยู่ในนั้นแหละ อยู่กับคุณติ๋มแฟนแก แกก็กวักมือเรียก เฮ้ย…มึงเป็นไง อะไรอย่างนี้ แล้วแกก็ถ่ายรูป จำได้ว่ายัดเงินใส่มือเราร้อยสองร้อย คล้ายๆ ว่าให้กำลังใจ เป็นห่วงเป็นใยอะไรแบบนั้น แต่เราไม่ได้คุยอะไรมาก เพราะขบวนคนมันเยอะเป็นร้อยเป็นพัน
แกก็จัดวางตัวเองชัดเจนว่าไม่ร่วมขบวนโดยตรง ?
คือโดยขบวน 14 ตุลามันเป็นเรื่องของหนุ่มสาว เป็นเรื่องของนักเรียน นิสิต นักศึกษาจริงๆ ไม่ใช่แบบม็อบทุกวันนี้ สถานะแกเหมือนเป็นนักหนังสือพิมพ์มาให้ความเห็นใจให้กำลังใจพวกเรามากกว่า
เวียง วชิระ : ตอนเล่นดนตรีใหม่ๆ เห็นมีคนบอกว่าพี่ปุ๊เป็นคนเสนอชื่อวงให้พี่หงา ?
ใช่ๆ vagabond แต่ก็ไม่ได้ใช้ ตอนนั้นเห็นรถใครก็ไม่รู้ติดคำว่า vagabond ในงานศพ vagabond ที่แปลว่าพวกร่อนเร่ พวกคนจร พวกคนเดินทาง
อาปุ๊เคยคอมเมนท์เรื่องเพลงที่พี่หงาเล่นมั้ย
แกไม่มีคอมเมนท์หรอก แกชอบฟัง เล่นเพลงอะไรก็ได้ให้แกฟังเวลาอยู่วงเหล้าน่ะ เฮ้ย…เล่นหน่อย บ๊อบ ดีเลนก็ได้ เพลงอะไรก็ได้ แกก็เป็นคนอยากจะฟัง บางเพลงก็แกนี่แหละยุให้แต่ง เพลงเกี่ยวกับอีสาน เพลงกุลาร้องไห้ อะไรอย่างนี้
ตกลงเพลงกุลานี่อาปุ๊เป็นคนยุให้แต่ง ?
ไม่ใช่ยุหรอก แกต้องการเพลงหนึ่งไปทำในหนัง เราก็เลยเขียนเพลงกุลา แกอยากให้ดิ อิมพอสซิเบิล เอาไปเล่น คือตอนนั้นแกทำหมดแหละ รับจ้างเขียนนั่นเขียนนี่ แล้วมาเขียนบททำหนังเกี่ยวกับดิ อิมพอสซิเบิล มันก็ต้องไปคลุกคลีกับวงเขา เราเองได้ไปรู้จักกับพวกดิ อิมพอสซิเบิล ก็ตอนนั้น เพราะต้องไปกับแก
แกบอกว่ามึงแต่งเพลงให้สักเพลงสิ คือจะเอาบรรยากาศความแห้งแล้ง หรือว่าบ้านนอก เราก็คิดเพลงกุลา ซึ่งแกก็พอใจ แต่หนังมันถ่ายไม่เสร็จ ถ่ายไปได้ครึ่งเรื่อง ขาดทุนหรืออะไรสักอย่าง เศรษฐกิจไม่ดี ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใดหนังจึงได้ครึ่งเดียว ที่จริงน่าไปค้นดูหนังเรื่องนี้มากเลย แล้วอิมพอสซิเบิลก็ไม่จบ หนังไม่จบ พี่ปุ๊ก็เขียนเรื่องไม่จบ คือมันชะงักไปครึ่งเรื่องเลย แต่ที่เราได้เห็นระหว่างที่เขาถ่ายๆ กันก็คือ คนพวกนี้รวยฉิบหาย เราน่ะไปแบบเป็นเด็ก วงเขาไปกันมีรถบัสคันใหญ่ๆ นั่งกันไม่กี่คนหรอก แล้วเวลาเล่นไพ่ที เอาแบงก์ร้อยมาถืออยู่ในมือ (ยิ้ม) ตอนนั้นเราไม่เคยมีเงินเยอะขนาดนั้น ก็นึกในใจ…โห…พวกห่านี่รวยโว้ย
ทินกร : ตกลงดิ อิมพอสซิเบิลได้ร้องเพลงกุลามั้ยครับ
ยังไม่ถึงคิวเลยหนังเจ๊งก่อน เท่าที่คุยคือแกจะเอาดิ อิมพอสซิเบิลไปถ่ายที่กลางทุ่ง แสดงว่าแกก็มีไอเดียอยู่ในหัวหมดแล้ว
เวียง วชิระ : จะว่าไปแล้วพี่หงากับพี่ปุ๊ก็มีฐานะเป็นทั้งเพื่อนทั้งน้อง ?
ใช่ๆ แกเป็นลูกพี่แต่ก็ไม่เชิงว่าเราเป็นลูกน้อง เพราะว่าเรามีชีวิตอีกส่วนหนึ่งเป็นของเราเอง เราทำงานของเราเอง ตอนมาทำวงเราก็ไม่ได้เกี่ยวกับพี่ปุ๊ เราก็ทำวงของเราไป ตอนช่วงเคลื่อนไหวการเมืองแกก็ไม่ได้มายุ่ง เราก็ไปลำพังของเรา
ระหว่างที่พี่หงาขลุกอยู่บ้านบางซ่อน เห็นอาปุ๊เขียนถึงเรื่องไปเที่ยวด้วยกันบ่อย ส่วนใหญ่แกชอบเที่ยวแบบไหนครับ
อย่างที่แกเขียนนี่แหละ ไปทะเลมั่ง ขับรถไปเรื่อยๆ มั่ง แต่พูดไปแล้วไม่เท่าเราทุกวันนี้หรอก แต่เวลาแกไปไหนทีจะเรื่องใหญ่ แกเป็นนักเขียนมีชื่อเสียงไง สมัยก่อนไปไหนต้องมีเพื่อนรับรอง มีคนมีเงินรองรับ มีคนคอยเทคแคร์ แกต้องไปอย่างนั้น ไปเกาะก็ต้องเป็นเกาะส่วนตัว เจ้าของเกาะเป็นเพื่อนแก… ไปแบบสบาย กินเที่ยว ไม่ต้องอะไรเลย
เวียง วชิระ : ตอนนั้นเวลาไปไหนพี่ปุ๊เขาก็จะพาพี่หงาไปด้วยใช่มั้ย อย่างไปทำสารคดี
ถ้าแกจะไปไหนมาไหนก็จะพาเราไปด้วย ดีตรงนี้แหละ
เวียง วชิระ : เพราะอะไรพี่ปุ๊ถึงชอบชวนพี่
เพราะเราคบง่ายมั้ง
เวียง วชิระ : ตอนนั้นพี่หงาว่างๆ อยู่ด้วย?
เออ ก็ว่างด้วย แกเอาเราไปถ่ายรูปน่ะ แกชอบถ่ายรูป เดี๋ยวก็…เฮ้ย หงามึงไปยืนตรงนั้น กูจะถ่ายรูป เฮ้ย มึงถือกีตาร์อยู่ตรงนั้นหน่อยซิ คือเป็นนายแบบก็ไม่ใช่…เหมือนเป็นอะไรสักอย่าง (ยิ้ม)
วิธีการทำงานของอาปุ๊เวลาออกภาคสนาม แกจริงจังกับการเก็บข้อมูลมั้ยครับ หรือว่านั่งเงียบเก็บบรรยากาศไปเรื่อยๆ
แกก็ออกไปเหมือนไปเที่ยว ไม่ได้ซีเรียส แบบไปทะเลเหมือนไปเที่ยว แต่นั่นล้วนแต่เป็นเรื่องข้อมูลทั้งนั้นนะ แต่แกก็จะมีพิมพ์ดีดไปด้วย คือเวลาแกอยู่ในห้องส่วนตัวจะไม่มีใครไปยุ่ง แกน่าจะทำงานช่วงนั้นแหละ แกอาจจะอยู่กับเมียอยู่กับใครพวกเราไม่เคยไปยุ่งเกี่ยว พูดง่ายๆ ตั้งแต่เจอกัน เราไม่เคยเห็นแกอาบน้ำ มันเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ เจอกันก็เมื่อแกพร้อมที่จะลงมาเจอหรือมาหากัน ทั้งๆ ที่ไปด้วยกัน
เว้นระยะห่างพอสมควร ?
ครับ แกก็มีโลกส่วนตัวของแกอยู่
เวียง วชิระ : งั้นที่แกเขียนเรื่องเหล้าบ่อยๆ นี่ตกลงแกกินเหล้าเก่งจริงมั้ย?
ปรมาจารย์เรื่องเหล้า กินเหล้าเยอะ กินจนนาทีสุดท้าย
ทินกร : กับพี่หงานี่ใครกินเก่งกว่ากัน
โอ๊ย จะไปสู้แกได้ไง (หัวเราะ) แกกินเหล้าดีๆ ทั้งนั้น แกมีรสนิยม ต้องคอนยัค บรั่นดีอะไรอย่างนี้
ทินกร : แบบนี้น้องๆ ก็สบายไปด้วยสิครับ ?
ไม่นะ เหล้าคนละขวด ไม่ได้กินด้วยกันนะ ไม่เกี่ยว เหล้าแกก็เหล้าแกนะจะบอกให้(หัวเราะ) ของเราก็แม่โขงสิ นั่งวงเดียวกันแต่เหล้าคนละขวด (หัวเราะ)
แล้วอย่างนี้พี่หงาไม่เคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจบ้างเหรอ
ไม่ๆ ๆ ๆ อย่างเรามาจากง่ายๆ ไง…โอย…แม่โขงขวดเดียวก็บุญแล้วตอนนั้น พวกเรากินเหล้าพื้นๆ ทั่วไป
เวียง วชิระ : พี่หงาคิดว่าเป็นเพราะอะไรเวลาที่พี่ปุ๊มีเหล้าดีๆ แกถึงได้กินส่วนตัว ไม่ได้แบ่งให้เพื่อนให้น้อง
มันคงมีน้อยมั้ง มันเป็นของหายาก มันไม่ได้กลาดเกลื่อนแบบปัจจุบันนี้ สมัยโน้นเหล้านอกมันไม่ใช่เรื่องหาง่ายๆ เท่าไหร่นะ แพงด้วย สมัยนี้มันง่ายไง
พี่หงาเคยกินกับข้าวที่อาปุ๊ทำมั้ย
แกไม่ได้ทำนี่
แต่แกเขียนเรื่องทำกับข้าวเยอะมากนะ ?
ก็น่าจะเป็นสูตรของแก แต่สั่งให้เมียทำ ไม่เคยเห็นแกทำเลย แต่เราอาจจะผิดก็ได้นะเรื่องนี้ เท่าที่จำได้ไม่เคยเห็นแกเข้าครัว
เวียง วชิระ : แต่แกจะรู้ว่าควรปรุงด้วยอะไร?
อืม…ใช่ แกจะมีสูตร แต่คนลงมือทำน่าจะเป็นเมียนี่แหละ คุณติ๋มเมียนี่รับใช้มากๆ เลย ต้องคุยกับคุณติ๋มจะรู้ลึก
รวมๆ แล้วคือแกเป็นคนประณีตพิถีพิถันเรื่องกินอยู่ ?
อืม…ข้าวต้องร้อนไม่ร้อนไม่กิน อะไรอย่างนี้ การกินของแกไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ ใครไปเขียนว่าแกกินอยู่ง่ายๆ ไม่ใช่เลย…ยากมาก ข้าวไม่ร้อนไม่กินน่ะ อาหารต้องเข้าปากเข้าคำถึงจะกินได้ ไม่ใช่ว่าหิวก็พุ้ยส่งเดช มีระเบียบมากเรื่องแบบนี้
อันนั้นอาจจะเป็นเรื่องของรสนิยมเรื่องความรู้ส่วนตัว แกจะเป็นคนที่มีความรู้ค่อนข้างแจ่มชัด ก็ไม่รู้ว่าแกรู้มาจากไหนนะ แกอาจจะอ่าน…ความที่เป็นตรงนี้รู้ตรงนี้ มันจึงทำให้แกมีลักษณะเฉพาะทั้งในแง่ชีวิตและการทำงาน รวมถึงความสามารถในการถ่ายทอด
ทินกร : ยุคนั้นพี่ปุ๊แกแต่งตัวแฟชั่นมั้ยครับ
แกก็แฟชั่นตลอดแหละ ผมก็ต้องทรงนี้ เสื้อต้องเปิดหน้าอกหน่อย มีสร้อยสั้นๆ ห้อยอะไรก็จำไม่ได้แล้ว ห้อยพระหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่คงไม่ใช่พระหรอก แล้วก็ไว้หนวด ใส่แหวน ใส่กำไล
เป็นคนที่ดูแลตัวเองตลอดเวลา ?
เป็นลักษณะส่วนตัวเลย ห้องแต่งตัว ห้องอาบน้ำ ห้องนอนไม่มีใครได้เห็นหรอก มีแต่เมียเท่านั้นที่ดูแล ไม่มีใครไปยุ่งหรอก ไม่ใช่ใส่กางเกงในตัวเดียวเดินในบ้าน…ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเป็นเรากับน้องๆ เราก็จะแก้ผ้าให้เห็นหมดแหละ (หัวเราะ)
ช่วงที่อยู่บ้านบางซ่อนพี่หงาก็ไม่เคยเห็นห้องทำงานของแกเลย?
ไม่เคยเห็น ได้ยินแต่เสียงพิมพ์ดีด เช้ามาก็ทำงานแล้ว ต๊อกแต๊กๆ แกทำงานเยอะ แต่ว่าไม่มีใครไปนั่งดู ไม่มีใครไปยุ่ง เรานอนอยู่ใต้ถุน เพิ่งสร่างเมาบ้าง อะไรบ้าง
ความจริงแกเป็นคนดุนะ เจ้าระเบียบ อย่างเรื่องเขียนหนังสือ กระดาษที่ใช้ก็ต้องเป็นกระดาษเฉพาะ ต้องมีคนคอยดูแลจัดการให้
ทำไมพี่หงาจึงไม่ค่อยอ่านงานของพี่ปุ๊ กลัวติดสำนวนหรือยังไง?
ไม่กลัวติด แต่เราจะเหนื่อยกับเรื่องสำนวน เราไม่ค่อยเอาสำนวน
พิสิฐ : ไม่ชอบทางของพี่ปุ๊?
ไม่ใช่ไม่ชอบ ชอบแกอยู่…แต่เราว่ามันรุงรัง นี่ต้องพูดตรงๆ น่ะนะ รสนิยมเราชอบงานแบบเฮมิงเวย์อะไรอย่างนี้ คือเราชอบน้อยๆ แต่งานของพี่ปุ๊อ่านมากๆ แล้วจะติดนะจะบอกให้ มันสนุกไง แต่ตอนหลังเราไม่ได้อ่านแกเท่าไหร่ อย่างในมติชนเราอ่านแล้วปวดหัว (หัวเราะ)
ย้อนกลับมาช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคม ดูเหมือนตั้งแต่นั้นมาพี่หงากับอาปุ๊ก็ห่างกันไป ?
อืม…เราไม่มีเวลาเลยช่วงนั้น แล้วแกก็อยู่กับลูกกับเมีย ช่วงที่ลูกของแกสองคนเกิดน่ะ เราไม่ได้ไปยุ่งเลย หลานสองคนที่เกิดมาก็ไม่เคยรู้เลยว่ามีกลุ่มอย่างพวกเรา เขาจะมีอีกกลุ่มหนึ่งไป สองคนนี้โตอยู่ทางเหนือ คือแกไปอยู่เชียงรายแล้วก็มาอยู่เชียงใหม่ ช่วงนั้นคือ นานๆ… ไปเยี่ยมที เห็นกันก็กินเหล้ากัน
พิสิฐ : พี่หงาออกจากป่ามา พี่ปุ๊ก็ไปภาคเหนือแล้ว ?
แกก็อยู่กับเมียแก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องไปยุ่งแล้ว
แล้วไม่คิดถึงกันเลย ?
ก็…คิดถึง (เสียงสูง)
พ้นจากช่วงนั้นมา มีโอกาสได้ใกล้ชิดกันอีกครั้งเมื่อไหร่ครับ
ช่วงตอนที่แกเริ่มป่วย เราก็แวะไปหาที่บ้านแก ตอนนั้นแกก็มาอยู่ทูนอินไง เราก็ไปเขียนกลอนทิ้งไว้บทหนึ่ง แล้วแกก็อยากให้ไปหา ไปนั่งเล่นกีตาร์เหมือนเดิมอะไรอย่างนี้ แต่เราเองก็ไม่ค่อยมีเวลาแล้ว เราก็มีวงมีอะไร… แกต้องการให้ไปนั่งกินเหล้า นั่งเล่นกีตาร์ แกต้องการแค่นั้นแหละ แกเหงาน่ะ
ทินกร : พอเจอพี่หงาไปแล้วแกอยากกินเหล้ามั้ย
คนเหงา…ใครก็ได้ไป ขอให้มีคนไปเยี่ยมเถอะ แกกินได้วันละนิด…ก็อย่ากินเลยดีกว่า ไม่อยากให้แกกินน่ะ แกว่า…กูกินได้วันละแค่นี้นะ…หมอบอก เป็นเราเราก็ไม่กินดีกว่า
(พูดเหมือนรำพึงรำพันคนเดียว) เวลามันเร็วนะ หวนคิดไปมันก็เหมือนไม่นานนี้เอง สมัยแกมาจากอเมริกาใหม่ๆ แล้วไปเจอแก ช่วงนั้นสนุกมาก ไปเที่ยวไปไหนต่อไหนด้วยกัน
พี่หงาเคยเจอพี่ปุ๊ตอนช่วงที่แกอารมณ์ไม่ดีบ้างมั้ยครับ
ก็มีบ้าง เพราะว่าอยู่ด้วยกันเยอะ
มีเรื่องอะไรบ้างที่จะทำให้แกอารมณ์ไม่ดี
จำไม่ได้
คนแบบไหนที่อาปุ๊จะไม่คบเลย
ไม่เคยเจอนะ ไม่เคยเจอร้ายๆ แต่ถามเคยเจอแกตอนดุมั้ย ก็เคยเจออยู่ ยามดุ ยามตะคอกคนรู้สึกเคยเห็นอยู่ พวกลูกน้องที่เป็นลูกน้องจริงๆ ที่แกเอาไปเลี้ยงดู ก็เห็นกลัวแกอยู่ แต่กับพวกเราแกไม่เคยมาด่าหรอก ไม่ยุ่ง มีอะไรแกก็ทน
เวียง วชิระ : พี่หงาเคยเห็นพี่ปุ๊ตีรันฟันแทง มีเรื่องมีราวกับคนมั้ย
อันนี้ไม่รู้นะ แต่ว่าสมัยหนุ่มเขาก็สะท้อนออกมาหลายๆ เรื่อง ก็เคยคุยๆ กันอยู่ ที่จริงชีวิตแกก็มีหลายชั้นนะ
ช่วงที่อาปุ๊ทำบ้านที่สวนทูนอินพี่หงาก็ไม่ค่อยได้ไปเยี่ยม ?
ก็ไปบ้าง ไปเห็นก็กำลังทำบันไดอยู่บ้าง ทำโน่นทำนี่อะไรบ้าง คือบ้านแกจะทำทีละนิดทีละหน่อย ได้เงินมาก็ทำ แล้วแกก็ขับรถขึ้นลง จนรถไปคว่ำจากนั้นแกก็เลยไม่ขับแล้ว สายตาไม่ดี รถคว่ำแถวลำปาง
ตอนนี้บ้านแกก็เสร็จแล้ว แต่พอแกไม่อยู่แล้ว เหลือแต่บ้านไว้ เมียแกก็จะอยู่ต่อ เราถาม…อยู่ได้มั้ย แกก็บอกจะอยู่ ทำไมไม่ไปอยู่อเมริกากับลูกล่ะ ลูกก็ทำงานดีแล้ว มีเงินมีทองเทคแคร์แม่ได้…คุณติ๋มบอกไม่ไป ไม่มีเพื่อน แกจะอยู่ที่ทูนอิน แล้วลูกจะกลับมาอยู่ด้วย
พิสิฐ : ครั้งสุดท้ายในชีวิตที่เจอพี่ปุ๊คือตอนไหน
ก็นานนะ…ตั้งแต่วันเกิดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไปกันหลายคน ไปเล่นดนตรีให้ที่บ้านแกนั่นแหละ ตอนนั้นแกก็นั่งรถเข็นแล้ว
พิสิฐ : หลังจากครั้งนั้นก็ไม่ได้เจอกันอีก ?
ก็เป็นปี ระหว่างนั้นก็ได้ยินข่าวแต่ว่าแกป่วย ป่วย ป่วย พอได้ยินแบบนี้เราก็ไม่อยากไป…คือไม่อยากไปเห็นตอนป่วยเท่าไหร่ เห็นแล้วมันยังไงล่ะ…ไม่รู้สิ…เรารู้สึกว่านั่นไม่ใช่พี่ปุ๊ที่เราเคยรู้จัก
………………………………………………………
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ มีนาคม 2552)