ธีรภาพ โลหิตกุล เดินทางในหัวใจครอบครัว

 

เรื่อง : พรเทพ เฮง
ภาพ : อนุช ยนตมุติ

 

โต๊ะ-เก้าอี้หินอ่อนที่วางอยู่ใต้เงาร่มไม้หน้าห้องทำงานช่างดูธรรมดา มองเผินๆ ก็คล้ายกับหลายบ้านที่ใช้วิธีจัดวางหน้าบ้านตัวเองแบบนี้ แต่เมื่อสำรวจดำดิ่งลึกลงไป สถานที่เรียบง่ายสามัญอย่างนี้ ธำรงอยู่ด้วยไออุ่นของพ่อแม่ลูก ซึ่งครอบครัวแต่ละครอบครัวมีลักษณะพิเศษของตนเอง ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยหลายๆ อย่างอันยากที่จะเลียนแบบ

“สมัยก่อนแต่งงานผมเดินทางเยอะ พอแต่งงานแล้วก็ยังเดินทางอยู่ เพียงแต่ทริปจะสั้นลง จากแต่ก่อนไปทีละครึ่งเดือนถึงเดือนหนึ่ง ตอนนี้ก็อาจจะเหลือสัก 5-7 วันเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นในเดือนหนึ่ง ผมจะมีเวลาอยู่กับครอบครัวเยอะหน่อย เวลาที่เหลือก็อยู่บ้านนั่งทำงาน”

ธีรภาพ โลหิตกุล เจ้าของบ้าน ผู้ใช้ชีวิตวัยหนุ่มไปกับการเดินทาง เริ่มต้นเล่าถึงมุมพิเศษในบ้านหลังนี้ในซอยอินทามระ 49 เสียงนกร้องจากบนต้นไม้ ลมพัดโชยบางเบา ทำให้การสนทนาที่โต๊ะม้านั่งหินดูลื่นไหล บริเวณข้างๆ มีเด็กหญิงหน้าตาน่ารักวัยไล่เลี่ยกันปูเสื่ออ่านหนังสือนิทานและเล่นเกมต่อภาพอยู่เงียบๆ

“พื้นที่ที่เห็นโต๊ะม้าหินใต้ต้นไม้ ห้องทำงานห้องนี้เกิดขึ้นมาหลังจากมาทำงานที่บ้าน ตั้งแต่ปี 2537 ที่ผมลาออกมาจากงานประจำ เดิมตรงนี้จะเป็นสวน มีสนามหญ้า มีต้นไม้ มีบ่อปลา ก็ถมเพื่อขยับขยายทำเป็นลานนั่งใต้ต้นไม้สำหรับครอบครัว

เป็นมุมที่ผมได้ผ่อนคลายตัวเองหลังจากทำงานอุดอู้อยู่ในห้องทำงาน โชคดีหน่อยที่รอบบ้านผมยังมีสีเขียวๆ อยู่เยอะ ที่พักผ่อนหย่อนใจและเวลาทองของครอบครัวจะอยู่ที่นี่ รวมทั้งเป็นที่พบปะสำหรับเพื่อนฝูงมานั่งพูดคุยสนทนาตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระจนไปถึงเรื่องการบ้านการเมือง”

วงจรชีวิตของครอบครัวโลหิตกุล ซึ่งประกอบด้วย ศิริพร ภรรยาของธีรภาพ และลูกสาว 2 คน น้องสายน้ำวัย 8 ขวบ และน้องขวัญข้าววัย 6 ขวบ เรียนอยู่ ป.3 และ ป.1 ก็ไม่ผิดแผกจากครอบครัวอื่นในเมืองกรุง

“ช่วงเช้าทุกคนก็จะยุ่ง ผมจะเป็นคนตื่นสาย เพราะนั่งเขียนหนังสือดึก นอนสักตีสอง(มีเสียงจากน้องขวัญข้าว ลูกสาวคนเล็กว่า “ตีสามไม่ใช่เหรอพ่อ” พร้อมหัวเราะชอบใจ)

“ผมเป็นคนบอกเขาเองว่านอนตีเท่าไหร่” หนุ่มใหญ่รีบอธิบาย

“เขาจะนอนหลับกันตั้งแต่ 3-4 ทุ่ม…หนอย…รู้ด้วยนะว่า พ่อนอนตีสาม” ธีรภาพหันไปค้อนลูกสาว

หน้าที่ส่งลูกๆ ไปโรงเรียนนั้นเป็นของแม่ ขับรถไปส่งที่โรงเรียนอนุบาลสามเสนใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็ไปทำงาน ช่วงเวลาเดียวกัน ธีรภาพก็ตื่นขึ้นมาทำงาน หลังจากนั้นพอถึงเวลาโรงเรียนเลิกประมาณบ่าย 3 โมงก็เป็น ‘เวลาทอง’ ของครอบครัว

“ถ้าลูกๆ ไม่เรียนพิเศษ พอเขากลับมาถึงบ้าน ผมก็จะปิดคอมพิวเตอร์หยุดงานทันที มาเล่นกับเขา ก็มีตั้งแต่การเล่านิทาน ลูกผมสองคนนี้โตมากับนิทาน ตอนนี้โตแล้วเขาจะเริ่มอ่านเอง การเล่านิทานก็จะน้อยลงไปหน่อย แต่ตอนเขาเด็กๆ จะมานั่งเล่านิทานกันที่โต๊ะม้าหินอ่อนใต้ต้นไม้นี้บ่อยมาก เรียกว่าทุกเย็นเลย บางทีก็นั่งกินข้าวกันตรงนี้แล้วเล่านิทานให้ฟัง ส่วนก่อนนอนแม่เขาจะเป็นคนเล่า

“เรื่องการรับส่งลูกไปโรงเรียน เอาลูกเข้านอนจะเป็นเรื่องของแม่เขา แต่พอกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านก็ส่งไม้ต่อให้ผม แม่จะเข้าครัวทำกับข้าว ผมก็เล่านิทาน ทำการบ้าน เล่นกีฬา เล่นเกม ทำงานศิลปะกับลูกๆ อยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นพื้นที่นี้จึงมีความหมายในชีวิตครอบครัวของผม”

คำว่า ‘ครอบครัวขยาย’ ยังใช้ได้กับครอบครัวนี้ ธีรภาพบอกว่า โชคดีที่บ้านของเขามีคนหลายๆ รุ่นอยู่รวมกัน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อลูกๆ

“ลูกๆ ก็รู้จักเกรงอกเกรงใจและรู้จักลำดับอาวุโสของบุคคลในบ้าน ทำให้เขาได้เห็นคนหลายรุ่น ได้เจอผู้หลักผู้ใหญ่”

โต๊ะม้าหินอ่อนมุมใต้ต้นไม้ตรงนี้ ยังสอนเรื่อง ‘ความตาย’ ให้กับลูกทั้งสองคนของธีรภาพด้วย นั่นก็คือ การตายของ น้ำตาล, สำลี และ น้ำว้า กระต่าย 3 ตัวที่เลี้ยงไว้บริเวณนี้    

“พื้นที่ตรงนี้ก็มีเรื่องเศร้า ผมก็พยายามอธิบายและให้ประสบ-การณ์ตรงเกี่ยวกับความตายให้กับลูกสาวทั้งสองว่า หนูอยากเลี้ยงมัน แต่ในความเป็นจริงเราเลี้ยงไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเอาเขามาเลี้ยงแล้วให้อยู่แต่ในกรงก็ทรมาน พอเปิดกรงให้กระต่ายวิ่งเล่นที่ลานโต๊ะม้าหิน ก็มีช่องให้แมวจรจัดเข้ามางาบไปกิน เด็กๆ ก็เศร้า ลูกผมทั้งสองเขาก็เลยยอมรับเหตุผลว่า เรายังเลี้ยงสัตว์ไม่ได้ เขาเข้าใจจากประสบการณ์ตรง ตอนนี้ก็เลยเลี้ยงปลาหางนกยูง กว่าลูกจะเข้าใจก็ต้องเสียน้ำตาไปหลายหยด”

 

ความน่ารักของลูกสาวทั้งสองคนที่ธีรภาพเรียกว่า ‘ลิงทโมนสองตัว’ ก็คือยอมรับกฎที่พ่อตั้งขึ้นมาคือ กินอาหารฟาสต์ฟู้ดได้เดือนละครั้งถ้าอยากกิน  โดยพาไปกินที่ศูนย์การค้าไม่สั่งมากินที่บ้าน ห้ามดูทีวีติดต่อกันเกิน 1 เรื่อง น้องขวัญข้าวตัวดีก็แทรกกลางโพล่งขึ้นมาว่า “พ่อไม่ให้ดูละครทีวีกลางคืน บอกว่า น้ำเน่า ให้ดูได้เพียง 2 ตอน”

ซึ่งธีรภาพบอกถึงจุดนี้ว่า “การอยู่กับลูกและคลุกคลีกับเขานั้นจำเป็นมาก เพราะกระแสสังคมบริโภคมันรุนแรงมาก ผมไม่เคยคาดหวังกับลูก รู้แต่ว่าตอนนี้เขามาเกาะเรามากอดเราอย่างนี้ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด พอวันที่เขาโตขึ้น เขามีโลกของเขาเองแล้วเราก็ไม่เสียใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องให้เวลาเขาเต็มที่ ให้ทิศทางที่ถูกต้องกับเขา สอนไม่ให้ไปหลงกับกระแสของสังคมที่ฟุ้งเฟ้อจนเกินไป แล้ววันหน้าเขาจะเป็นอย่างไรเราก็ไม่เสียใจ เพราะวันที่เขาอยู่กับเรา เราคิดว่า เราทำดีที่สุดแล้ว”

น้องสายน้ำและขวัญข้าวมีโอกาสได้ตระเวนตามพ่อแม่ไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ มากมาย ที่หนึ่งซึ่งต้องไปเสมอก็คือ ไปดูชีวิตชนบทที่เชียงราย บ้านตากอากาศของคุณตาคุณยายในช่วงปิดเทอมของทุกปี ซึ่งธีรภาพมองว่า ชีวิตครอบครัวคือ การวางสมดุลให้กับทุกฝ่าย

“จากประสบการณ์แต่งงานมา 9 ปี หลักที่สำคัญที่พูดง่ายแต่ปฏิบัติโคตรยากเลยก็คือ ต้องลดความเป็นตัวเองลงไปครึ่งหนึ่ง อยากก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าวก็ต้องลดลงมาเหลือครึ่งก้าว อีกครึ่งก้าวก็ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งบ้าง”

 

“นั่นคือบางสิ่งที่เปลี่ยนไป ถ้าเรามีครอบครัวแล้วยังใช้ชีวิตแบบเดิม ผมถือว่าไม่ค่อยยุติธรรมกับครอบครัว” หนุ่มใหญ่พูดเสียงเข้ม ก่อนหันไปยิ้มอ่อนโยนกับผู้คุมกฎความยุติธรรมตัวน้อยๆ ทั้ง 2 คน…

 

******************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ ธันวาคม 2549)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า