เรื่อง : อารยา คงแป้น
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
ผลการเลือกตั้งพ่อเมืองกรุงเทพฯ หมาดๆ หักปากกาเซียนโพลไปหลายสำนัก
ย้อนไปก่อนหน้านี้ มานิจ สุขสมจิตร ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยให้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งมาจากสวนดุสิตโพล ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่ามีการรับเงินใต้โต๊ะ โดยเขาย้ำว่า “การทำโพล ต้องมีจริยธรรม ถ้าทำตรงไปตรงมา ไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ได้”
ทั้งความไม่แน่นอน ความไม่โปร่งใส ไปจนถึงคำถามที่ว่า โพลมีขึ้นเพื่อประโยชน์โภชน์ทรัพย์ใดๆ รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ยังคงยืนหยัดกับเก้าอี้ประธานดำเนินงาน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มายาวนาน มีคำตอบให้ทุกเรื่อง รวมถึงผลโพลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนล่าสุด
การทำโพลมีหลักการอย่างไร
การทำโพลมีจุดมุ่งหมายให้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและสะท้อนสิ่งต่างๆ ออกมาเพื่อหาทางแก้ปัญหา เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเราต้องพิจารณาว่าปัญหานั้นมีทางออกหรือประชาชนคิดแตกต่างกันอย่างไร โพลคือส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนกลุ่มตัวอย่างแสดงความเห็นว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไรในหลากหลายมิติ เมื่อมีหลายมิติคนทำโพลต้องจับในแต่ละมิติว่ามีวิธีการจัดลำดับและมีแนวทางการแก้ปัญหาหรือหาจุดสุดท้ายของเรื่องนั้นอย่างไร
แต่โพลก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการตัดสินใจเท่านั้น ไม่ใช่ว่าผลโพลออกมาแบบนี้แล้วจะทำให้ประชาชนปฏิบัติตามกันทุกคนเพราะยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับผลโพล พูดง่ายๆ โพลคือคำตอบแต่ไม่ใช่ที่สุดของปัญหานั้นๆ
ถ้าเช่นนั้นโพลก็เป็นเพียงการหยั่งเสียงให้เห็นปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้นใช่ไหม
โพลมีหน้าที่ทำให้เห็นแนวทางและสภาพจริงๆ ของปัญหา ให้เห็นสภาพจริงของคนหรือกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนของคนในแต่ละอาชีพแต่ละวัย ซึ่งเราเรียกว่า “ตัวแปร” ได้สะท้อนความคิดเห็นออกมา บางครั้งบริบทของประเทศไทยไม่เหมือนในต่างประเทศคนที่มีการศึกษาสูงระดับปริญญาเอกเขาคิดแบบหนึ่ง แต่ในประเทศไทยเราคนที่จบระดับประถมนั้นมีจำนวนมากหรือบางคนไม่ได้เรียนพวกเขาคิดเห็นกันอย่างไรโพลก็จะเป็นตัวสรุปได้มากขึ้น
จะมีวิธีการหาค่ากลางของผลโพลได้อย่างไร
ค่ากลางของผลโพลทั้งหมดทางสถิติเรียกว่าค่ามีน(mean) หรือค่ามัธยฐาน X-BAR จะมีการเกลี่ยน้ำหนักหรือความคิดเห็นของสองฝ่ายทั้งฝ่ายสุดโต่งและอีกฝ่ายหนึ่ง ค่าเหล่านี้จะถูกเฉลี่ยลงมาตามหลักสถิติ แต่ในบางครั้งกลุ่มที่เห็นด้วยคิดเชิงบวกมากกว่าคิดเชิงลบน้อยกว่า ถ้าเอาแต่ความเห็นของคนที่คิดเชิงบวกฝ่ายเดียวก็ไม่เป็นธรรมกับสังคมเพราะยังมีคนที่คิดเชิงลบร่วมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องเกลี่ยให้เกิดความพอดี
แต่หลักการดังกล่าวใช้ไม่ได้กับทุกกรณีเพราะในสังคมปัจจุบันมีความแตกแยกแบ่งสีกันชัดเจนจนไม่สามารถหาจุดตรงกลางได้เพราะทุกคนค่อนข้างสุดโต่ง ถึงแม้ว่าโพลจะตั้งอยู่ในหลักของความเป็นกลางไม่ใช้คำถามชี้นำแต่พอผลออกมาบางครั้งความรู้สึกของคนที่แตกแยกกันจะส่งผลให้โพลไปครอบงำคนๆ นั้น
เช่นนั้นการหาค่ามีนก็คือการหาข้อมูลเชิงสถิติที่เรียกว่าเป็นสมมติฐาน ?
ใช่ครับ แต่ในการหาค่ามีนเราต้องทราบว่าในกลุ่มที่สำรวจส่วนที่เห็นด้วยมีค่าสูงสุดเท่าไร เห็นด้วยเพราะอะไร กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มข้างมากแต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็ยังมีอยู่ และเมื่อเอามารวมกันผลมันต้องเอียงไปทางกลุ่มที่เห็นด้วยอยู่แล้ว ยกตัวอย่างคน 70 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเพราะมีผลประโยชน์แต่อีกเกือบๆ 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยซึ่งเรามักจะทิ้งกลุ่มเสียงข้างน้อยนี้ไป เมื่อไม่เห็นด้วยบางครั้งก็จะเกิดการประท้วงการร้องเรียนแต่ถ้าได้ทำความเข้าใจกันหาจุดตรงกลางและรับฟังเหตุผลว่าเขาไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ถ้าเพราะการสร้างเขื่อนจะต้องตัดไม้จำนวนมากเราก็เสนอแนวทางแก้ปัญหาให้เช่นการปลูกป่าทดแทน ต้องมองทั้งสองฝ่ายอย่ามองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนสุดโต่ง
มีหลักการเลือกกลุ่มตัวอย่างในการแสดงความคิดเห็นอย่างไร เพราะบางครั้งมีคนพูดว่าทำไมโพลไม่มาขอความคิดเห็นเขาบ้างเลย
ยกตัวอย่างง่ายๆ คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนที่จะตอบได้ดีที่สุดคือคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งมีจำนวนประมาณ 4,300,000 คน ในจำนวนทั้งหมดนี้จะกระจายอยู่ตามเขตเลือกตั้งทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ เขตปร้อมปราบฯ เขตพระนคร จะมีผู้มีสิทธิ์ประมาณ 40,000 คน แต่ถ้าเขตรอบนอกอย่าง จตุจักร พระโขนง มีประมาณ 100,000 คน การเลือกขอความเห็นเป็นการสุ่มลงไปในเขตนั้นๆ ทั้ง 50 เขตและต้องดูว่าแต่ละเขตประกอบอาชีพอะไรบ้างต้องเก็บความคิดเห็นมาให้หมด
แต่บางคนแย้งว่ามีการทำโพลมากว่า 20 ปี แต่ไม่เคยได้รับแบบสอบถามเลยเรื่องนี้เราต้องยอมรับว่าประชากรในกรุงเทพฯ มี 4,300,000 คนแต่ประชากรกลุ่มตัวอย่างที่เลือกมามีเพียง 1,000 กว่าคนมากสุด 3,000 คน จำนวนเท่านี้กับประชากรทั้งหมดมันยากที่จะสุ่มมาเจอเราเพราะฉะนั้นคนที่ถูกไม่เลือกจะมีมากกว่าคนที่ถูกเลือกอยู่แล้ว
แต่ถึงอย่างนั้นก็เน้นความหลากหลายในตัวผู้ถูกสุ่มให้มากที่สุดใช่ไหม
ผู้ถูกสุ่มจะต้องสามารถเป็นตัวแทนประชากรได้ อย่างเช่นประเทศไทยมีเกษตกรประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นผู้ใช้แรงงาน ถ้ามีโพลสำรวจความคิดเห็นคนไทยเกี่ยวกับนายกยิ่งลักษณ์ กลุ่มเกษตกรกับผู้ใช้แรงงานจะมีส่วนร่วมมาก ถ้าคะแนนเต็ม 10 กลุ่มนี้จะอยู่ที่ 7 ส่วนแพทย์มีจำนวนน้อยแต่ต้องรับฟังเสียงของเขาแต่จะให้เสียงของแพทย์ดังกว่าเกษตรไม่ได้เพราะเกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ถ้าสุ่มกลุ่มอาชีพอาชีพละ 400 คน ใน 400 คนค่าความเชื่อมั่นจะอยู่ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ บวกลบ 5 ตามสถิติ ถ้าสำรวจความคิดเห็นโดยใช้แพทย์ 200 คนและเกษตกร 600 คน ค่าที่ออกมาจะมีความพอดีตามสัดส่วนของอาชีพประชากร
การถ่วงน้ำหนักความเห็นของประชากรยังทำในรูปแบบเดิมหรือไม่
ยังเป็นรูปแบบเดิมแต่อาจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง ซึ่งปัจจัยด้านอาชีพซึ่งมีความลื่นไหลอยู่ตลอด แต่อาชีพราชการอย่างอาชีพครูเป็นอาชีพอยู่ตัวมีจำนวนประมาณ 400,000 คน ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขหลักที่สามารถถ่วงน้ำหนักได้โดยใช้ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติไว้เป็นตัวยืน
การเลือกประเด็นทำโพลมีการหารือกับโพลสำนักอื่นบ้างไหมว่าจะทำประเด็นเดียวกัน
ส่วนมากไม่คุยกันเพราะถ้าโพลทุกสำนักทำออกมาในรูปแบบเดียวกันจะเป็นการฮั้วกัน แต่จะมีโพลรายวันคือทำตามสถานการณ์เช่นเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือกรณีความไม่สงบในภาคใต้ โพลเช่นนี้ทำเพื่อตรวจสอบกระแสของประชาชนซึ่งเป็นโพลที่สำนักต่างๆ เลือกที่จะทำ
ถ้าเป็นโพลกระแสแต่ละสำนักจะมีการฉีกประเด็นออกไปทำไม่ทำซ้ำกันหรือถ้าบังเอิญทำเรื่องเดียวกันประชาชนเป็นผู้ได้กำไรเพราะสามารถใช้ผลโพลมาเปรียบเทียบกันได้ทำให้ได้มุมมองในหลากมิติ แต่หากโพลหลายสำนักทำเรื่องเดียวกันคำถามเหมือนกันแต่คำตอบที่ออกมาต่างกันก็ต้องมาคุยกันว่าข้อมูลใครถูกใครผิด
ปัจจุบันประเทศไทยมีโพลกี่สำนัก
มีเยอะมาก ทั้งสวนดุสิตโพล เอแบคโพล นิด้าโพล รามคำแหงโพล มศว.โพล และอื่นๆ การที่มีโพลเกิดใหม่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะนี่คือยุคของข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นโพลเกิดใหม่จึงต้องนำเสนอข้อมูลที่ไม่ใช่แค่ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและทำให้เกิดการเรียนรู้
การโหวตกับโพลแตกต่างกันไหม
มีลักษณะคล้ายๆ กันคือให้คนมีส่วนร่วม แต่ต่างกันที่การโหวตไม่มีการจำกัด สามารถโหวตกี่ครั้งก็ได้หรืออาจมีหน้าม้าปนเข้ามาด้วยซึ่งมันตรวจสอบไม่ได้ พูดง่ายๆ การโหวตคือการเชียร์ แต่โพลนั้นสำรวจความคิดเห็นคนเพียงครั้งเดียว คนเดียว ออกความเห็นได้ครั้งเดียว โพลมีการกำหนดเป็นขั้นเป็นตอนมากกว่า
ใครเป็นคนลงพื้นที่ในการแจกแบบสอบถาม
นักวิจัยของเรามีอยู่ 27 คนด้วยกัน และในจำนวน 27 คนจะมีเครือข่ายของตัวเองคนละ 20 คนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ละคนก็จะมีลูกข่ายย่อยลงไปอีก เมื่อเครือข่ายลงสำรวจเสร็จจะส่งข้อมูลเข้ามาให้ทางเราดำเนินการคำนวนต่อไป เพราะฉะนั้นเครือข่ายถือว่าสำคัญมากต่อการทำโพลในแต่ละครั้ง ซึ่งแต่ละเครือข่ายจะต้องทำการอบรมเรื่องหลักการทำโพลทุกครั้ง เนื่องจากโพลแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน เช่น เรื่องที่ล่อแหลมต่อความมั่นคง การได้เปรียบเสียเปรียบของแต่ละพรรคการเมืองเพราะฉะนั้นจึงต้องอบรมการตั้งคำถามในการถามกลุ่มตัวอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและชี้นำโพล
สวนดุสิตโพลมีการทำโพลสองลักษณะคือโพลสาธารณะทำเรื่องที่กำลังเป็นกระแสกับโพลที่มีหน่วยงานมาว่าจ้างให้ทำเช่นโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผู้ทำโพลจะรู้ว่าทำโพลนี้มีกำไร กำไรที่ได้ก็เอาไปใช้จ่ายกับโพลสาธารณะ
ถ้าอย่างนั้นสำนักโพลก็ทำงานสองขาคือทำโพลรับจ้างและทำโพลสาธารณะด้วย?
ใช่ครับ แต่โพลที่เกิดขึ้นใหม่ๆ จะได้รับเงินสนับสนุนจากทางสถาบันหรือมหาวิทยาลัย เพราะถือว่างานนี้เป็นงานทางวิชาการของสังคม
โพลที่มีค่าจ้าง มีเกณฑ์เืลือกรับอย่างไร
เรามองถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากผลสำรวจนี้ และอีกหนึ่งปัจจัยคือหน่วยงานที่มาจ้างต้องไม่นำผลโพลไปใช้ในการโฆษณาหาเสียง และเมื่อทำแล้วผลสำรวจออกมาอย่างไรต้องว่าไปตามนั้น จะเพิ่มเติมไม่ได้ถือว่าผิดจรรณยาบรรณ และอีกอย่างคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันรับทำไม่ได้เด็ดขาด
รายได้ของโพลมีจากส่วนอื่นอีกหรือไม่
โพลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจะไม่มีรายได้ แต่เราจะขอรางวัลเกียรติยศเพื่อเป็นการประกันคุณภาพเพราะฉะนั้นในช่วงแรกๆ รายได้จะมาจากการฝากโพลสาธารณะไปกับโพลรับจ้าง แต่ที่มีรายได้มากขึ้นเพราะว่าการทำโพลถือเป็นการวิจัยเชิงสำรวจดังนั้นเราสามารถนำไปต่อยอดทำงานวิจัยได้อีก
โพลผู้ว่าฯ กทม. เป็นโพลรับจ้างหรือเปล่า
ไม่ใช่โพลรับจ้าง เพราะพรรคการเมืองว่าจ้างไม่ได้เพราะหากว่าจ้างจะก่อให้เกิดความเอนเอียงหรืออาจมีการชี้นำซึ่งทำให้พรรคการเมืองถูกยุบทันทีเพราะมี พระราชบัญญัติเรื่องการเลือกตั้งกำหนดอยู่ โพลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทุกสำนักต้องทำเพราะเป็นความสนใจและความอยากรู้ของคนในสังคม การสนองตอบความต้องการเหล่านี้ถือว่าเป็นการบริการทางสังคมให้ประชาชน
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้สมัครอิสระผู้ว่าฯ กทม. ออกมาวิจารณ์ว่ามีความเอนเอียงของผลโพล
นั่นเป็นเรื่องธรรมดาครับ เพราะการเลือกตั้งมีผู้ชนะเพียงคนเดียว คนที่ไม่ได้เขาก็ต้องคิดว่าโพลชี้นำประชาชนหรืออาจเพราะเขาหาเสียงไม่พอ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า ความรู้สึกของคนที่มีผลประโยชน์ในตัวเองมันห้ามยาก แต่ข้อวิจารณ์ที่ได้รับมาว่ามีการชี้นำ มีการเชียร์ ก็ทำให้โพลต้องกลับมาคิดและระวังมากขึ้น
มีวิธีการพิสูจน์อย่างไรว่าคนที่แสดงความคิดเห็นกับโพลจะตอบคำตอบจริงๆ ออกมา
ต้องทำให้เขาไว้ใจโพลก่อนเป็นอันดับแรก อย่างที่สองคือการสุ่มในพื้นที่ต่างๆ ต้องถามคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับเรื่องนั้น และเรื่องของแบบสอบถามก็สำคัญเพราะแบบสอบถามต้องมีการเช็คในตัวของมันเอง เช่น ถามว่าอาชีพอะไร ถ้าตอบว่าข้าราชการแต่บอกว่าอายุต่ำกว่า 18 ปี มันก็ไม่ถูก ดังนั้นจึงต้องมีการล็อกให้ได้คำตอบจริงๆ และถ้าคำตอบมีความขัดแย้งกันเช่นถามว่าอยากได้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ผู้ให้ความเห็นบอกว่าอยากได้ผู้หญิงแต่ในคำถามอีกข้อกลับเลือกผู้สมัครผู้ชาย ผลที่ขัดแย้งกันจะทำให้เวลาประมวลผลระบบจะดีดข้อมูลที่ขัดแย้งทิ้งทันที วิธีแบบนี้จะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด
คิดว่าผลโพลมีอิทธิพลในการตัดสินใจของประชาชนมากน้อยแค่ไหน
ตอบได้ว่ามีส่วนเพราะผลโพลเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ ถ้าคิดง่ายๆ คือประชาชนไม่อยากเลือกคนแพ้อยู่แล้ว แต่มองอีกมุมหนึ่งประชาชนอาจคิดว่าผู้สมัครคนนี้กำลังจะแพ้จึงรีบไปเลือกจะได้ไม่แพ้ หรืออีกมุมหนึ่งคนที่เชื่อว่าผู้สมัครที่คะแนนนำจะชนะก็คิดว่าไม่ต้องไปเลือกก็ได้เพราะเสียงเดียวคงไม่มีผลอะไร
โพลมีผลในการชี้นำบ้างแต่ไม่มากโดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่ยังไม่เลือกใคร แต่พอผลโพลออกไปว่าผู้สมัครคนนี้คะแนนนำ เขาอาจกลับไปคิดว่าผู้สมัครคนนี้ต้องมีอะไรดีอาจจะเลือกตามผลโพล
อาจารย์บอกว่าโพลไม่ได้มีส่วนในการชี้นำ แต่การแปลงถ้อยคำต่างหากที่เป็นการชี้นำ ?
แน่นอนการเพราะการใช้คำถามต้องมีความระมัดระวังเช่นเดียวกับการสัมภาษณ์ที่ต้องกำหนดหัวข้อที่จะสัมภาษณ์ไว้ก่อนว่าจะสัมภาษณ์แบบไหน ส่วนในแบบสอบถามเราจะใช้ภาษาพูด เวลาลงไปเก็บความคิดเห็นเพราะมันเข้าใจได้ง่ายกว่า เช่นต้องการผู้ว่าฯ กทม. แบบไหน ก็ถามออกไปตรงๆ เลย แต่ในอีกด้าน ถ้าคำถามคืออยากให้ผู้ว่าฯ กทม.วางตัวแบบไหน แต่เวลาลงไปเก็บข้อมูลกับถามว่าอยากให้ผู้ว่าฯคนใหม่มีคุณธรรมจริยธรรมอย่างไรถ้าเป็นภาษาพูดแบบนี้ใช้ไม่ได้
แต่ถ้าถามว่าอยากให้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไม่เป็นการชี้นำหรือ
ไม่ครับ เพราะเขามีโอกาสที่จะเลือกทั้ง 25 เบอร์ แต่ถ้าไปถามว่าระหว่างเบอร์ 1 กับเบอร์ 16 ใครจะชนะแบบนี้เป็นเรื่องเลยหรือถ้าไปถามว่าทำไมเลือกเบอร์ 16 ทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้เลือก แบบนี้ก็ไม่ได้เพราะฉะนั้นเวลาลงไปขอความเห็นเรื่องผู้สมัครผู้ว่าฯ เราจึงต้องมีรูปผู้สมัครไปประกอบด้วยเพราะบางคนเคยเห็นหน้าแต่ไม่รู้ว่าชื่ออะไร
บ่อยครั้งหรือไม่ที่ผลโพลขัดต่อความเป็นจริงหรือผลที่เกิดขึ้น ?
มีครับ อย่างเช่นการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ครั้งที่ผ่านมา ผลโพลของทุกสำนักออกมาบอกว่าตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยจะชนะตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ปรากฏว่าตัวแทนจากประชาธิปัตย์ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พอจบเลือกตั้งจึงมีการวิเคราะห์กันต่างๆ นานาว่าคนกรุงเทพฯ โกหกโพลซึ่ก็มีความเป็นไปได้ เพราะในการทำโพลพื้นที่ที่ยากที่สุดคือกรุงเทพฯ กับภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะการตอบคล้ายๆ กัน คือตอบในลักษณะประชดประชันบ้าง ตามกระแสบ้างหรือการกระจายกลุ่มตัวอย่างไม่ทั่วถึงบ้าง ดังนั้นถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ผลโพลบอกว่าพงศ์พัฒน์ พงษ์เจริญจะได้แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นคนอื่นได้แทน ตอนนั้นทุกสำนักโพลต้องมาคุยกันแล้วว่ามันเกิดข้อผิดพลาดอะไร เพื่อที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น
หลังจากโดนวิพากษ์วิจารณ์อาจารย์ออกมาแถลงว่าจะยังคงทำตามหลักการทำโพลแบบเดิมต่อไป หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่าจะตั้งใจ ยึดตามหลักการทำโพลตามเดิม สำหรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ที่เราได้รับมาคงต้องนำมาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นแน่นอน