‘พาราเซตามอล’ ยาสามัญที่ไม่ธรรมดา

pain-killer-1

 

ก่อนส่งท้ายสิ้นปี กรมอุตุฯ รายงานสภาพภูมิอากาศที่ลดฮวบอย่างกะทันหันในพื้นที่ประเทศไทยตอนบน ทั้งภาคเหนือ อีสาน ไล่มาจนถึงภาคกลาง พร้อมกันนี้ก็มีเสียงเตือนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขให้ประชาชนหมั่นดูแลรักษาสุขภาพจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงนี้ เพราะไข้หวัดอาจถามหาได้

เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคือ ‘ยาพาราเซตามอล’ ยาสามัญที่มีกันทุกบ้าน เพราะซื้อง่าย ใช้คล่อง เป็นไข้ตัวร้อนก็แวะซื้อหามารับประทานเองได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป จะซื้อเก็บไว้กี่แผงก็ไม่ผิดกติกา แต่ยาสามัญธรรมดาๆ อย่างนี้ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป เพราะขึ้นชื่อว่า ‘ยา’ ย่อมต้องใช้อย่างระมัดระวัง มิเช่นนั้นอาจส่งผลร้ายกลายเป็นโทษได้

สรรพคุณทั่วไปของยาพาราเซตามอลคือ ลดไข้และบรรเทาปวด ไม่ว่าจะเป็นปวดข้อ ปวดขา ปวดฟัน ปวดประจำเดือน แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าเป็นยาบรรเทาเท่านั้น ไม่ใช่ยารักษาโรค ฉะนั้นจึงไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป หรือหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วันสำหรับโรคทั่วไป ควรหยุดยาแล้วรีบไปปรึกษาแพทย์จะเป็นการดีที่สุด หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาเป็นเวลานานก็ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า กฎสำคัญของการใช้ยาพาราเซตามอลที่ควรจดจำไว้ให้แม่นคือ ห้ามใช้ยาเกินขนาด หากใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสม ยานี้จัดว่าเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลดีทีเดียว ดังนั้นก่อนใช้ยาทุกชนิดและทุกครั้งไม่ควรลืมกฎเหล็กนี้ ข้อที่ 1 คือ อย่าถามเพียงว่ายานี้ให้ประโยชน์อะไรกับเรา แต่ต้องถามข้อที่ 2 เสมอว่า หากใช้ยานี้แล้วจะมีอันตรายอย่างไรบ้าง

“เราต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับกับอันตรายที่จะเกิดขึ้น โดยพิจารณาจากกฎทั้ง 2 ข้อนี้ควบคู่กันไป อย่าคิดว่ายาเป็นขนม อย่าคิดว่ายาเป็นสิ่งที่เรารู้จักมันดี เพราะจริงๆ แล้วเราอาจไม่รู้จักมันเลย แม้จะเป็นยาที่ใช้บ่อยก็ตาม”

อีกข้อหนึ่งที่ควรคำนึงคือ ในเเมื่อเรายังไม่รู้จักยาชนิดนั้นจริง ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะแนะนำยาชนิดนั้นให้คนอื่นใช้ด้วย เพราะเท่ากับเป็นการแนะนำในสิ่งที่ตนเองก็ยังไม่รู้จริง

 

paracetamol-3

‘ขนาด’ ใครว่าไม่สำคัญ

สำหรับคนส่วนใหญ่อาจพอทราบกันว่า การรับประทานยาพาราเซตามอลสำหรับผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ตามที่ฉลากยาระบุไว้ แต่ข้อห้ามที่พึงทราบไว้ด้วยก็คือ 1.ห้ามรับประทานเกินกว่า 4,000 มิลลิกรัม (8 เม็ด) ต่อวัน ซึ่งยาพาราเซตามอลชนิดเม็ดส่วนใหญ่จะมีขนาด 500 มิลลิกรัม 2.ในแต่ละครั้ง ห้ามรับประทานเกิน 1,000 มิลลิกรัม (2 เม็ด) โดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว กลับเป็นการเพิ่มอันตรายด้วย และ 3.อย่ารับประทานบ่อย ภายในช่วงเวลาที่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง

ผลเสียของการใช้ยาเกินขนาดคืออะไร แน่นอนว่าอวัยวะที่ต้องรับบทหนักย่อมหนีไม่พ้น ‘ตับ’ หากใช้ยาในปริมาณสูงอาจเกิดภาวะเป็นพิษต่อตับ เช่น รับประทานยาต่อเนื่องทุก 2-3 ชั่วโมง หรือใน 1 วันรวมแล้วเกิน 8 เม็ด ซึ่งเกินกว่าความจำเป็นที่ร่างกายต้องการ แล้วในที่สุดตับก็จะถูกทำลาย

ข้อควรคำนึงอีกประการหนึ่งสำหรับการคำนวณปริมาณการใช้ยา นพ.พิสนธิ์ ระบุว่า เรื่องของน้ำหนักตัวของแต่ละคนก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการบริโภคยาโดยตรง กฎเบื้องต้นของยาทุกชนิดคือ หากน้ำหนักตัวน้อยไม่ควรใช้ยามาก ดังเห็นได้ว่าการสั่งจ่ายยาให้เด็กเล็กจะต้องมีการชั่งน้ำหนักก่อนเพื่อคำนวณปริมาณที่เหมาะสม โดยมีหลักการว่า พาราเซตามอล 10-15 มิลลิกรัม จะเหมาะสำหรับน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม ต่อการใช้ยา 1 ครั้ง ฉะนั้นเด็กที่มีน้ำหนักตัว 12 กิโลกรัม จึงคำนวณออกมาได้ว่าต้องใช้ยาประมาณ 1 ช้อนชา เป็นต้น

“เรื่องของภาชนะที่ใช้รับประทานยาก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะบางครั้งยา 1 ช้อนชาในแต่ละยี่ห้อก็มีขนาดไม่เท่ากัน ข้อนี้ประชาชนต้องสังเกตให้ดี ดูได้จากฉลากข้างกล่องและขวด บางยี่ห้อมี 125 กรัม บางยี่ห้อก็มี 250 กรัม หากป้อนยาไปโดยไม่ดูฉลากก็อาจผิดขนาดได้”

เช่นเดียวกัน แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ต้องให้ความสำคัญต่อขนาดการใช้ยา เช่น ผู้หญิงไทยโดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 50 กิโลกรัม เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่า ต้องรับประทานยาพาราเซตามอลได้ครั้งละ 500 มิลลิกรัม หรือ 1 เม็ด หรือ 1 เม็ดครึ่งเท่านั้น ส่วนผู้ที่จะรับประทานได้ถึง 2 เม็ด จะต้องมีน้ำหนักตัวมากกว่า 67 กิโลกรัมขึ้นไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาการของโรคว่ารุนแรงแค่ไหน

“ประชาชนที่รับประทานยาแล้วไม่ใส่ใจเรื่องขนาดยา จนทำให้บริโภคยามากเกินไปจะเกิดผลต่อตับ ซึ่งไม่ควรรอให้เกิดอาการ เพราะถ้าเกิดอาการแล้ว แปลว่าตับถูกทำลายไปมากแล้ว การแก้ไขแทบจะทำไม่ได้เลย เมื่อตับถูกทำลายจะเหมือนว่าเป็นโรคตับอักเสบที่เรารู้จักกันดี เช่น ไวรัสตับอักเสบ ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเปลี่ยนสี ออกเหลืองๆ เข้มๆ อ่อนเพลีย เป็นไข้ และในที่สุดอาจเสียชีวิตได้”

นอกเหนือจากการใช้ยาพาราเซตามอลที่เรารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว ยังมียาอีกชนิดที่ออกฤทธิ์ใกล้เคียงกันคือ ‘ยาแอสไพริน’ ซึ่งสามารถช่วยลดไข้บรรเทาปวดได้เช่นเดียวกัน แต่จะมีสรรพคุณที่เพิ่มขึ้นมาคือ ช่วยลดการอักเสบซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของไข้และอาการปวด ด้วยสรรพคุณที่มากกว่า สิ่งที่ต้องยอมรับตามมาก็คือ ยาแอสไพรินนั้นมีความ ‘เสี่ยง’ สูงกว่าพาราเซตามอล ความเสี่ยงที่ว่านั้น ได้แก่ การเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร การเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ปัญหาเลือดหยุดไหลยากเมื่อเกิดแผล ดังนั้นในภาวะปกติจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และผู้ใช้ยานี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

 

label-1

อย่ามองข้ามข้อมูลบนซองยา

แม้วันนี้ยาพาราเซตามอลจะเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใครๆ ก็ใช้กัน เพราะผลข้างเคียงของพาราเซตามอลมีไม่มาก โดยมากมักไม่รุนแรง อาจเพียงแค่มีอาการระคาย ไม่สบายท้อง แต่ไม่รุนแรงเท่าแอสไพริน จึงถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงพอสมควร แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐ อังกฤษ ยุโรป กำลังพยายามรณรงค์ที่จะลดอัตราการใช้ยาพาราเซตามอล โดยเฉพาะการใช้ยาเกินขนาด

ปัจจุบันคนไทยใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือยและใช้ผิดประเภท กลายเป็นปัญหาในวงการสาธารณสุข ทั้งเรื่องยอดค่าใช้จ่าย ยาขาด ยาเกิน ยาล้น และสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกจุดหนึ่งคือ ประชาชนจำนวนไม่น้อยมักไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลบน ‘ซองยา’ สาเหตุหนึ่งเพราะไว้ใจแพทย์หรือเภสัชกรมากเกินไป

ซองยาที่คนไข้ได้รับจากแพทย์เป็นสิ่งที่แรกที่ต้องอ่านก่อนรับประทาน แต่ที่ผ่านมาเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2556 วงการสาธารณสุขไทยก็เคยได้รับบทเรียนจากระบบการบรรจุ ‘ยาผิดซอง’ มาแล้ว

ความบกพร่องครั้งนั้นเนื่องจากมีการบรรจุยารักษาโรคหัวใจ ปะปนลงในซองยาสำหรับรักษาโรคความดันโลหิต เป็นเหตุให้ต้องมีการเรียกยาคืน 2,565 เม็ด จากการผลิตทั้งหมด 660,000 เม็ด โดยคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้มีมติปิดปรับปรุงระบบการผลิตยาทั้งหมด 240 รายการ เป็นเวลา 6 วัน ส่งผลให้องค์การเภสัชกรรมเสียหายมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

ความผิดพลาดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ป่วยควรทำเพื่อป้องกันตัวเองก่อนที่จะกลืนยาเข้าปากก็คือ ต้องอ่านข้อมูลบนซองยาให้รอบคอบถี่ถ้วน

ภก.เด่นชัย ดอกพอง เครือข่ายเภสัช-ทันตบุคลากร เพื่อพัฒนาสุขภาพชุมชน ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปแล้วข้อมูลบนซองยาจะเป็นหลักประกันในการใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งจะประกอบไปด้วยรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

ส่วนแรกคือ ชื่อสถานบริการ ไม่ว่าจะเป็นคลินิก โรงพยาบาล หรือร้านขายยา

ส่วนที่สอง ชื่อยา ซึ่งจะเป็นชื่อสามัญทางยา ไม่ใช่ชื่อทางการค้า เพราะตัวยาชนิดเดียวกันสามารถมีชื่อทางการค้าได้หลายชื่อ

ส่วนที่สาม ข้อบ่งใช้ เพื่อระบุว่ายาชนิดนั้นมีสรรพคุณในการรักษาอย่างไร

ส่วนที่สี่ ขนาดและวิธีใช้ เพื่อบอกปริมาณการใช้ยาอย่างมีประสิทธิผล

ส่วนที่ห้า ผลข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยา

ส่วนที่หก ข้อควรระมัดระวังของผู้ใช้ยา หรือระหว่างการใช้ยานั้นควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น

paracetamol-2

การอ่านข้อมูลบนซองยาก่อนรับประทาน จึงเป็นหลักปฏิบัติเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของตัวผู้ป่วยเอง ภก.เด่นชัย ระบุว่า นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถสังเกตลักษณะของภาชนะบรรจุยาที่มีทั้งแบบขวดแก้ว ขวดใส ขวดสีชา หรือซองขุ่น  ซึ่งจะช่วยบ่งบอกประเภทของยานั้นๆ ได้ เช่น ขวดทึบ ขวดสีชา หรือซองยาสีน้ำตาลเข้ม จะเป็นภาชนะสำหรับป้องกันแสงแดดเพื่อไม่ให้ยาเสื่อมสภาพ ฉะนั้นถ้ารู้จักสังเกตลักษณะของภาชนะก็จะช่วยให้เราสามารถใช้ยาและดูแลรักษายาได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญคือ การสังเกตวันหมดอายุของยา ตัวอย่างเช่น หากเป็นกระปุกยาพาราเซตามอลที่ปิดสนิท จะต้องมีการระบุวันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ ซึ่งยาเม็ดโดยทั่วไปจะมีอายุ 5 ปีนับจากวันผลิต แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่มีการแบ่งออกมาบรรจุในซองยา โดยทั่วไปแล้วจะกำหนดวันหมออายุไม่เกิน 1 ปี เพราะจะมีผลต่อการเสื่อมสภาพหรือการออกฤทธิ์ของยา

อย่างไรก็ดี บางครั้งเราอาจพบว่า ข้อมูลบนซองยาที่ได้รับนั้นว่างเปล่า เพราะคลินิกหรือร้านขายยาไม่ได้เขียนชื่อยากำกับไว้ให้ ภก.เด่นชัย ชี้ว่า จากงานวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า สาเหตุที่คลินิกและร้านขายยาทั่วไปไม่เขียนชื่อยาบนซองยา มีข้อสรุปและเหตุผลดังนี

  1. กลัวคนไข้จะไปซื้อยากินเองหรือไปรับบริการที่อื่น
  2. เป็นเรื่องของผลประโยชน์ โดยคลินิกและร้านขายยามักจะจ่ายพ่วงยาบางชนิดที่ไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อการรักษามากนัก เพื่อเพิ่มรายได้และยอดขาย เช่น การจ่ายวิตามินเพิ่มเติม ทำให้ยามีหลายรายการมากขึ้น และคิดค่ายาได้เพิ่มขึ้น
  3. คลินิกหรือร้านขายยาไม่มั่นใจว่าจ่ายยาถูกต้องหรือเหมาะสมกับโรคหรือไม่ และหวั่นเกรงว่าหากจ่ายยาไม่ถูกต้องจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ
  4. บุคลากรที่ไม่ใช่เภสัชกรตัวจริงเป็นผู้จ่ายยาให้กับคนไข้ ทำให้ไม่มีความรู้ที่จะให้ข้อมูลชื่อยา คำแนะนำ และข้อควรระวังแก่คนไข้

ดังนั้นการที่คลินิกหรือร้านขายยาไม่ระบุชื่อยาบนซองก็เพื่อตัดปัญหาไม่ให้คนไข้นำข้อมูลไปสอบถามโรงพยาบาลหรือสถานบริการอื่น

“การไม่ให้ข้อมูลยาที่เพียงพอ โดยเฉพาะชื่อยาซึ่งเป็นตัวหลัก เป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยที่สภาวิชาชีพได้ทำการรับรองตามกฎหมาย ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ”

สำหรับผู้บริโภคเองหากพบเห็นพฤติกรรมเช่นนี้สามารถแจ้งไปยังแพทยสภาหรือสภาเภสัชกรรมได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงคลินิกหรือร้านขายยาประเภทนี้ และที่สำคัญที่สุด พึงอ่านฉลากบนซองยาด้วยความระมัดระวังเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อตนเอง

 

สนับสนุนโดย

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า