มายาคติของสบู่

มายาคติของสบู่

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ไม่ใช่ประเด็นที่พูดคุยกันแค่หลังครัวหรือลานซักล้างในบ้าน เพราะขนาด โรลองด์ บาร์ตส์ นักปรัชญาฝรั่งเศสสมัยต้นศตวรรษที่ 20 ยังเคยยก ‘มายาคติ’ (Mythology) เรื่องความต่างของ ‘สบู่’ กับ ‘ผงซักฟอก’ มาเขียนอรรถาธิบายได้หลายหน้ากระดาษ จนปัจจุบัน เอาแค่เพียงสบู่ ก็ไม่ได้มีแต่สบู่ธรรมดา ที่ใช้ทำความสะอาด เพราะต้องมีคุณสมบัติไม่ทำลายผิว มีสารเสริมบำรุง และสิ่งสำคัญที่แทบจะกลายเป็นฟังก์ชั่นหลักของการ ‘ทำความสะอาด’ ไปแล้ว คือ ต้องฆ่าเชื้อโรคได้

แล้วสบู่ที่ ‘เป็นยิ่งกว่าสบู่’ นั้น มีความสามารถในการความสะอาดได้มากกว่าสบู่ๆ แบบเดิมๆ จริงหรือ

 

อะไรคือสบู่ฆ่าเชื้อ

สบู่ฆ่าเชื้อโรค มีส่วนผสมของสารกำจัดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อจุลินทรีย์บนผิวหนัง แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการกำจัดไวรัสมากไปกว่าสบู่หรือสารทำความสะอาดทั่วๆ ไป

สบู่เหลวฆ่าเชื้อโรคที่ใช้สำหรับล้างมือและอาบน้ำ มักมีส่วนผสมของ ไตรโคลซาน (Triclosan) ไตรโคลคาร์บาน (Triclocarban) คลอโรไซลีนอล (Chloroxylenol) เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ Antibacterial บ้าง Antiseptic หรือไม่ก็ Deodorant (เพราะกำจัดแบคทีเรียอันทำให้เกิดกลิ่นเหม็น – เมื่อไม่เหม็น จึงหอม?)

องค์การอาหารและยาของสหรัฐ หรือ FDA (The Food and Drug Administration) เริ่มตั้งข้อสงสัยในความปลอดภัยของบรรดาผลิตภัณฑ์ ‘ที่อ้างว่า’ กำจัดเชื้อโรคได้เหล่านั้น

 

Microbe หรือ จุลินทรีย์ เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาจเป็นสาเหตุของโรคภัยหรือไม่ก็ได้

Germ หรือ เชื้อโรค เป็นจุลินทรีย์ประเภทที่สามารถก่อให้เกิดโรคภัยในมนุษย์ได้

อะไรคือไตรโคลซาน

ไตรโคลซาน (Triclosan) คือ สารเคมีที่ผสมอยู่ในเครื่องอุปโภคบริโภคหลายชนิด เพื่อป้องกันการเกิดและแพร่กระจายของเชื้อจุลินทรีย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น และอุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น สบู่ ยาสีฟัน และเครื่องสำอางบางชนิด – ในทางความเชื่อ ไตรโคลซานจึงเป็นเหมือน ‘ยาชุด’ ที่รักษาได้สารพัดโรค

แม้ว่ายังไม่มีหน่วยงานใดออกมาฟันธงเด็ดขาดว่า ไตรโคลซานเป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างไร แต่ผลจากการทดลองกับสัตว์หลายๆ ครั้งส่งผลไปในทางลบ จนสรุปได้ในเบื้องต้นว่า ไตรโคลซานมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรคจริง แต่ก็ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน การใช้สารกำจัดเชื้อโรคเป็นประจำยิ่งเป็นการสร้างภูมิต้านทานและทำให้เชื้อโรคเหล่านั้น ‘ดื้อยา’ มากขึ้นกว่าเดิม

มายาคติไตรโคลซาน

ในปี 1997 FDA ได้ยืนยันผลของไตรโคลซานในยาสีฟันยี่ห้อหนึ่ง ว่าสามารถป้องกันอาการเหงือกอักเสบได้จริง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ในกรณีนั้น ไตรโคลซานให้คุณมากกว่าโทษ

ส่วนสินค้าอื่นๆ FDA ยังไม่สามารถการันตีได้ว่า การผสมไตรโคลซานเข้าไปจะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมี ‘คุณสมบัติพิเศษ’ ในการกำจัดเชื้อโรคนานาชนิดได้จริงหรือเปล่า

ปัจจุบัน บรรดาสบู่ต่างๆ ที่โฆษณาตัวเองว่าเป็นสบู่ฆ่าเชื้อโรค ทำลายแบคทีเรีย กำจัดจุลินทรีย์ ต่างก็มีส่วนผสมของไตรโคลซานด้วยกันทั้งสิ้น และในหลายๆ ประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานและได้รับอนุญาตให้วางขายได้ จะต้องบอกอัตราส่วนผสมของไตรโคลซานไว้บนฉลากด้วย

แต่…ก็มีคำถามขึ้นมาว่า แม้สบู่ดังกล่าวใช้ป้องกันและกำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับร่างกายในชีวิตประจำวันได้จริง แต่ก็ยังไม่มีใครยืนยันว่า มันช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและช่วยให้ร่างกายสะอาดเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่?

และการเพิ่มปริมาณหรือการผสมไตรโคลซานลงไปในผลิตภัณฑ์จำพวกสบู่ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดแตกต่างจากสบู่ปกติธรรมดาหรือการล้างมือด้วยน้ำเปล่าได้อย่างไร?

หรือการแปะป้าย ‘ฆ่าเชื้อ’ นั้นจะส่งผลในแง่จิตวิทยาทางการค้าเท่านั้น? อันนี้ FDA ไม่ยืนยัน

ผลกระทบด้านลบของไตรโคลซาน

ศูนย์คุ้มครองโรคระบาด (The Centers for Disease Control) ประมาณการว่า ประชากรร้อยละ 75 ของอเมริกามีไตรโคลซานสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในปัสสาวะ เลือด และน้ำนม สมาคมการพทย์แห่งอเมริกา (The American Medical Association) จึงแนะนำว่า ผู้บริโภคควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไตรโคลซานอย่างรอบคอบ เพราะข้อสมมุติฐานที่ว่า ไตรโคลซานอาจเป็นสาเหตุของโรคภัยและปัญหาสุขภาพได้ เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น

จากการทดลองกับสัตว์ ไตรโคลซาน ส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกายไม่ต่างจาก Bisphenol-A (BPA) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศ (หรือเปลี่ยนเป็นเพศตรงข้าม) รวมไปถึงเป็นปัจจัยที่อาจสะสมจนกลายเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง

แพทย์หญิง เจเน็ต วูดค็อก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและประเมินคุณภาพยา (Center for Drug Evaluation and Research) ของ FDA บอกว่า “เราต้องจัดการทำการทดสอบเรื่องนี้ให้กระจ่าง ว่าสบู่ฆ่าเชื้อมีผลดีหรือเพิ่มความเสียงให้สุขภาพกันแน่”

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลได้ให้การรับรองกฎหมายที่ยื่นโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร Natural Resources Defense Council เป็นที่มาของการกดดันให้ FDA ต้องออกโรงมาทำการตรวสอบผลกระทบต่อสุขภาพจากผลิตภัณฑ์ที่มีไตรโคลซานเป็นส่วนประกอบ

คำท้วงติงดังกล่าวของ FDA ไม่ได้บังคับให้บรรดาผู้ผลิตสบู่ฆ่าเชื้อหยิบผลิตภัณฑ์ของตัวเองออกจากชั้นวางสินค้าตอนนี้ แต่เมื่อการออกกฎทดสอบทั้งหมดเสร็จสิ้น ผู้ผลิตต้องแจกแจงข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์นั้นฆ่าเชื้อโรคได้จริงหรือไม่ อย่างไร ถ้าไม่ได้จริง ก็ต้องปรับเปลี่ยนสูตร โดยเอาส่วนผสมที่ ‘อ้างว่า’ กำจัดเชื้อโรคได้ เช่น ไตรโคลซาน ออกไป จึงจะได้รับอนุญาติให้วางขายในท้องตลาด ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงการสอบถามความเห็นสาธารณะ 180 วัน ขณะเดียวกัน ก็ให้เวลาผู้ผลิตส่งข้อมูลของผลิตภัณฑ์เข้ามาทดสอบ และรอผลตอบกลับอีก 60 วัน ซึ่ง FDA คาดว่า แผนการนี้จะสิ้นสุดในปี 2016

 

ผลกระทบต่อฮอร์โมน

จากการยื่นยันของนักจุลชีววิทยาจาก FDA คอลลีน โรเจอร์ส ระบุว่า มีการค้นคว้าที่ทำให้น่าเชื่อได้ว่า เมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปเรื่อยๆ ทุกวัน สบู่ฆ่าเชื้อจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อร่างกายในด้านลบมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ

ส่วนผสม เช่น ไตรโคลซาน ในสบู่เหลว และ ไตรโคลคาร์บาน (Triclocarban) ในสบู่ก้อน ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวแบคทีเรียมากขึ้น รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนของร่างกาย ซึ่งนั่นเป็นผลจากการทดลองในสัตว์ แต่การทดลองดังกล่าวยังไม่อาจสรุปผลพิษภัยของไตรโคลซานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังไม่ได้มีการทำการทดสอบกับมนุษย์โดยตรง

วิธีการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ธรรมดา

– ล้างมือด้วยน้ำเปล่าที่ไหลผ่านก๊อก เทสบู่ใส่มือ

– ถูมือทั้งสองไปมา ทั้งฝ่ามือ หลังมือ โดยเฉพาะตามง่ามนิ้วทุกนิ้ว และซอกเล็บ

– ขัดถูอย่างนั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที

– ล้างสบู่ออกจากมือด้วยน้ำเปล่าที่ไหลผ่านก๊อกจนสะอาด

– เช็ดมือให้สะอาดด้วยผ้าแห้ง เท่านี้มือก็สะอาด

การล้างมือด้วยสบู่ธรรมดาและน้ำเปล่าคือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับทำความสะอาด เพราะเชื้อโรคส่วนใหญ่ก็จะถูกกำจัดไปแล้ว เพราะ ‘ความลื่น’ จะเป็นตัวทำให้เชื้อโรคหลุดออกจากผิวหนัง และการขัดถูก็จะยิ่งช่วยกำจัดสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ไม่พึงประสงค์นี้ออกไปได้ง่ายขึ้นอยู่แล้วโดยไม่ต้องพึ่งสารฆ่าเชื้อใดๆ ทั้งสิ้น เสมือนเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรคให้ตัวเองทางอ้อม

แพทย์หญิงแซนดรา เควเดอร์ ตัวแทนจากสำนักงานยา (Office of New Drugs at CDER) กล่าวว่า “การล้างมือด้วยสบู่ธรรมดาและผล่อยให้น้ำไหลผ่าน เป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญมากที่ผู้บริโภคจะหลีกเลี่ยงอาการเจ็บป่วยและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้จริง”

แต่ถ้าจะให้สะอาดสะอ้านและมีอนามัยจัดมากกว่านั้น ให้ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะช่วยลดจำนวนเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็วทันใจ

อ้างอิงข้อมูลจาก :

fda.gov

cdc.gov

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า