เรื่อง : อภิรดา มีเดช
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
พูดเรื่องวิทยุกับความรัก เมื่อก่อน ใครมีปัญหาเรื่องความรัก อกหัก รักคุด ฉัน+เธอ และเขาคนอื่น หากไม่นั่งทำมิวสิควิดีโอริมหน้าต่างลำพัง ก็คงต้องหันหน้าจับเข่าคุยกับเพื่อนสนิท แต่เดี๋ยวนี้ ไม่รู้ทำไมมีแต่คนแนะนำว่าให้รอคืนวันศุกร์ แล้วรีบโทรไปปรึกษาคลับฟรายเดย์สิ!
พ้นจากยุคศิราณี และศาลาคนเศร้า ที่ปรึกษาด้านความรัก นาทีนี้คงต้องยกตำแหน่งให้กับสองดีเจ ฉอด – สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา และ อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล กับรายการ ‘คลับฟรายเดย์’ เรียลลิตี้โชว์ชีวิตรักจากทางบ้าน ที่ยืนระยะออกอากาศมาแล้ว 5 ปีเต็ม ฝ่ามรสุมมาแล้วหลายคลื่น จนมาลงเอยที่ช่องสถานีเพลงฟังสบาย กรีนเวฟ FM106.5
หลายคนตั้งตารอคืนวันศุกร์ แม้ไม่ได้เป็นผู้ประสบอุบัติเหตุหัวใจ ก็ยังต้องคอยติดตามทุกครั้งเมื่อเรื่องราวรักใคร่ออนแอร์ นับเป็นหนึ่งในรายการที่มีลูกศิษย์ลูกหาขาประจำ แฟนรายการ-โดยเฉพาะสาวๆ หนาแน่นและเหนียวแน่นที่สุดของคลื่นวิทยุเมืองไทย
ใครที่ยังไม่เคยหมุนคลื่นหรือคลิกเมาส์ไปฟังทางอินเทอร์เน็ต ระวังจะพลาดอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะคุณผู้ชาย ที่มักตกเป็นจำเลยของเหตุการณ์เหล่านี้อยู่บ่อยๆ
ไม่ใช่กูรู แต่เป็น…
หากต้องการกูรูมาฟันธงให้กับชีวิตรักของคุณ ลำพังสองดีเจคงจะชี้ชัดตัดสินใจแทนทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ แต่ถ้าคุณแค่อยากเล่า มีอารมณ์อยากระบายให้ใครสักคนฟัง พวกเธอก็พร้อมอ้าแขนและหยิบยื่นทิชชูแผ่นบางให้เสมอ
“เอ๊ะ…คนที่โทรมาปรึกษาส่วนใหญ่ ต้องการคนรับฟัง หรือคนช่วยตัดสินกันแน่?” นั่นคือคำถามที่บางครั้งเราก็เหมือนจะรู้อยู่แล้ว แต่ยังอยากได้ยินคำตอบชัดๆ จากพวกเธอ
“จริงๆ เขาต้องการที่พึ่งมากกว่า” สายทิพย์ว่า “คนเราก็ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกขนาดไม่มีคนฟัง อย่างน้อยทุกคนก็มีพ่อแม่เพื่อนฝูง ในชีวิตจริงเขาต้องมีคนฟังอยู่แล้ว”
บางครั้ง ผู้สวมบทที่พึ่งทางใจ ไม่ใช่คนที่ลุกขึ้นมาตัดสินอะไรให้ แต่เป็นใครสักคนซึ่งอยู่ในตำแหน่งพอดิบพอดี ที่เขาอยากจะระบายความรู้สึกด้วย ฟังความคิดเห็น แม้ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็เพื่อจะได้กลับไปตัดสินใจอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง
“หลายครั้งที่ตอบอะไรไป รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ตอบอะไรที่มันมหัศจรรย์ อย่างถ้าเขาทำอย่างนี้กับหนู หนูก็อย่าอยู่กับเขาสิคะ คือมันเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ไง แต่บางที ไม่รู้ทำไมคนถึงเชื่อเราจังเลย”
มันเป็นเรื่องของความเชื่อใจ ไว้วางใจกัน
“จนบางครั้งเราก็ตกใจกันว่า ทำไมน้องไว้ใจพี่มากขนาดนี้”
ที่พึ่งทางใจ ในระยะกำลังดี
ไม่น่าเชื่อว่า เดี๋ยวนี้คนเราไว้ใจดีเจมากกว่าเพื่อนสนิทตัวเองแล้ว น่าสงสัยในเรื่องเหตุผล ทำไมคนถึงโทรมาปรึกษาคลับฟรายเดย์ถล่มทลายขนาดนั้นกันล่ะ?
สาเหตุของเรื่องนี้ น่าจะมาจาก ‘ระยะห่าง’ เป็นสำคัญ
“ดีเจไม่ใช่คนไกลมากเกินไป และก็ไม่ใกล้มากจนเกินไป คือมีระยะห่างกำลังพอดี ก็เลยรู้สึกว่าจังหวะตรงนี้ทำให้เรากลายเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจ” สายทิพย์ว่าไว้อย่างนี้
ดีเจ-อาชีพนี้ดูจะอยู่ในจุดพอเหมาะพอดี กับการที่คนฟังรู้สึกว่ามีอะไรแล้วอยากพูดด้วย เพราะดีเจไม่ใช่คนที่ใกล้มากเกินไป อย่างพ่อแม่พี่น้องพูดอะไรไปก็ไม่ค่อยเชื่อ หรือถ้าเป็นคนไม่รู้จักกันเลย ยิ่งไม่น่าเชื่ออีก เพราะไม่รู้เป็นใครมาจากไหน
เสียงเจื้อยแจ้วจากลำโพง แน่ละ ไม่เห็นหน้าค่าตา แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้คนฟังรับรู้ว่าดีเจมีตัวตน พอได้โทรศัพท์ไปคุย ก็ยิ่งเข้าใกล้คนรู้จัก
นภาพรเสริมว่า ในเมื่อคนโทรมาเลือกที่จะไว้วางใจพวกเธอแล้ว สิ่งที่ตอบไปต้องมั่นใจมากพอสมควร ว่าจะไม่กระทบหรือสร้างความเดือดร้อนต่อคนอื่นๆ เธอยอมรับว่าคนที่โทรเข้ามาแต่ละครั้ง ต้องเอ่ยถึงบุคคลที่สาม ก็เหมือนฟังความข้างเดียว
“ไม่เคยไปนั่งนับว่าที่เขาไว้ใจเราขนาดนี้เพราะอะไร แต่จะคิดว่า ก่อนจะตอบอะไร คิดแล้วคิดอีก ให้ความเป็นธรรมกับบุคคลที่สามที่เขาไม่ได้โทรเข้ามา แต่มีเรื่องราวของเขาออกอากาศอยู่”
ลัทธิเอาอย่าง
ยิ่งสังคมเปลี่ยนแปลงไปเท่าไร ความสัมพันธ์ของคนก็ทวีความซับซ้อนย้อนแย้งตามไปด้วย เห็นได้จากกรณีเพลง ‘เจ็บแต่จบ’ ที่มาจากเรื่องจริงของพลอย-หญิงสาวคนหนึ่งที่โทรเข้ามาเล่าเรื่องราวในคลับฟรายเดย์ ซึ่งเธอมารู้ความจริงว่า ‘เขา’ ของเธอยังมีใครอีกคน ในวันที่ใครคนนั้นกำลังจะเสียชีวิต ทำให้เธอจำต้องกระทำการตามชื่อเพลง แม้จะรักเขามากเท่าไหร่ก็ตาม
ชีวิตจริงของใครหลายคนจากรายการนี้ กลายเป็นตำราเรียนทางวิทยุสู่คนฟัง แต่เนื้อหาที่ว่า ก็ไม่ได้เหมาะสมกับคนฟังไปเสียทุกอย่าง
เช่น เดี๋ยวนี้ได้ยินคนพูดถึง ‘กิ๊ก’ เป็นเรื่องปกติ รักซ้อน ประเภทมากกว่าสามเส้าขึ้นไป ก็ยังธรรมดา แทบไม่เหลือรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ๆ ให้เราตกอกตกใจกันอีกแล้ว แต่นภาพรก็ยังคิดถึงคนที่ฟังรายการอยู่เป็นอันดับต้นๆ
เธอเล่าว่า สายที่ออกอากาศหน้าไมค์ มักจะมีอาการคล้ายๆ กันเยอะมาก สมมุติฝ่ายหญิงโทรเข้ามาเล่าว่า ตอนนี้คบกับแฟนมาได้ 3 เดือน แต่หลังๆ ฝ่ายชายเริ่มไม่กลับบ้าน
“ถามว่าเข้าใจไหม…เข้าใจ แต่ต้องพูด เพราะมีคนอีกมากมายฟังอยู่ ลูกสาวบ้านไหนก็นั่งฟังอยู่ น้องขา 3 เดือนไปอยู่บ้านเขาแล้ว เร็วไปหรือเปล่า อย่างน้อยสักนิดหนึ่ง ต้องมีการกระตุ้นเตือนด้วย เพราะนี่คือข้อมูลจากรายการเรา เป็นข้อมูลที่เราไม่ได้เตรียมเอง และเราคาดไม่ถึงด้วยซ้ำไป
“เวลาจัดรายการต้องใช้วิจารณญาณเยอะมาก คือต้องห่วงไปหมดทุกอย่าง”
เรื่องเขาแก้ง่าย เรื่องเราแก้ยาก
กับรายการสดรูปแบบนี้ คนจัดเองคงกดดันอยู่ไม่น้อย สายทิพย์ยอมรับว่า บางครั้งจัดคลับฟรายเดย์ 2 ชั่วโมง เหนื่อยกว่าจัดรายการธรรมดาทั้งวันเสียอีก เพราะต้องควบคุมอะไรหลายๆ อย่างให้อยู่มือ แต่เมื่อจัดเสร็จก็คือจบ เรื่องราวทั้งหลายไม่เคยตามออกมาหลอกหลอนถึงในชีวิตจริง
“เราจะพูดในรายการเสมอว่า เราก็แค่คนคนหนึ่งเท่านั้น มีสิทธิ์ที่จะมีปัญหา มีสิทธิ์ที่จะคิดไม่ออกในเรื่องของตัวเอง
“พอเป็นเรื่องของคนอื่นพูดง่าย ตราบใดที่มันไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะเราไม่ได้รักคนคนนั้นเท่ากับที่เขารัก พูดอะไรก็พูดได้” สายทิพย์กล่าว
นภาพรก็ยืนยันว่าการเป็นดีเจประจำหน้าไมค์คลับฟรายเดย์ ไม่เคยบีบคั้นให้ชีวิตส่วนตัวนั้นต้องเพอร์เฟ็คท์ สวยงาม หรือสมบูรณ์จนเป็นตัวอย่างที่ดีงามแก่เยาวชนแต่อย่างใด
“ไม่กดดัน เพราะคำปรึกษาของเราไม่ใช่คำชี้ชัด แค่ปรับวิธีคิดเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้แปลว่าวิธีคิดแบบนี้จะทำให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย มีความรักที่ดี เหมือนที่เราชอบคิดว่า ทำไมทำดี แต่ไม่ได้ดี
“คือถ้าเกิดเรื่องร้าย ก็เกิดเรื่องร้ายกับคนดีนั่นแหละ เพียงแต่ถ้าเกิดเรื่องร้ายขึ้น แล้วคนดีมีสติ คนดีก็จะรอด เช่นเดียวกัน ก็คิดแค่ว่า ถ้าอะไรเกิดขึ้นกับเรา ก็แค่กลับไปปรับวิธีคิดภายใต้เงื่อนไขของเรา”
น้องๆ มีปัญหา ปรึกษาคลับฟรายเดย์ แล้วถ้าพี่ๆ มีปัญหา ปรึกษาใครคะ? แม้จะเป็นที่พึ่งให้น้องๆ ได้ดีแค่ไหน แต่พอเจอปัญหาเข้ากับตัว ก็ตกม้าตายได้เหมือนกัน
“ปัญหามีสองอย่างค่ะ หนึ่ง แก้ได้ ก็รีบแก้ สอง แก้ไม่ได้ ช่างมัน คือสิ่งเดียวที่ต้องทำให้ได้ เพราะบางที ยิ่งแก้ ยิ่งร้อนรน เราจะยิ่งสร้างปัญหาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ฉะนั้น จะนั่งคิดก่อน จนเริ่มรู้สึกว่า เรารับมืออยู่ถึงค่อยกระจาย มากกว่าจะมานั่งขอคำปรึกษา ณ วินาทีที่มีปัญหา” นภาพรกล่าว
ขณะที่สายทิพย์บอกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ทำรายการนี้ เพราะบ่อยครั้งที่มีปัญหาส่วนตัว แต่พอมานั่งจัดรายการ ก็เหมือนได้เรียนรู้อะไรบางอย่างกลับมา
“เราก็ไม่ได้วิ่งไปปรึกษาใคร เพราะบางทีสิ่งเหล่านี้มันก็คิดได้ด้วยตัวเอง และโชคดีมากๆ ที่ทำคลับฟรายเดย์ เพราะบ่อยครั้งที่เราอาจจะมีเรื่องอะไรอยู่ บางทีการฟังเขา แม้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่มันจะได้บางมุม ที่เรารู้สึกว่า จริงๆ แล้วเรากำลังอยู่ตรงนี้แหละ เหมือนกันเลย”
ใช่…เพราะคงไม่มีใครเป็นผู้รู้ไปเสียทุกเรื่อง
“บางทีน้องๆ คิดว่าโทรมาแล้วเขาได้อะไรจากเรา เราก็ได้อะไรจากพวกเขาเหมือนกัน มันเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากกว่า ซึ่งอาจจะได้มากกว่าการที่เราจะมีใครสักคนให้ปรึกษา เพราะมันไม่มีถูกมีผิด หรือเป็นผู้รู้ตอบปัญหาเราได้ทั้งหมด”
ดูหน้าก็รู้ใจ
ใครว่ารู้หน้าไม่รู้ใจ สองดีเจเผยความลับการดูคนอย่างถึงกึ๋น จากความชอบสังเกตพฤติกรรมผู้คนเป็นทุนเดิม
“มีสองอย่างในโลกที่ปิดกันยาก คือ แววตา กับ น้ำเสียง” นภาพรเล่า
อาจเพราะทำงานกับเสียงมาตลอดก็เป็นได้ ทำให้ฟังออกว่า ในคำพูดนั้น ใครสนุกจริง หรือกำลังพยายามทำตัวให้สนุกอยู่
“เพียงแต่ไม่รู้หรอกว่า คนคนนั้นกำลังมีปัญหาเรื่องการงานอยู่แน่ๆ ก็ไม่ขนาดนั้น เพราะเราไม่ใช่หมอดู เพียงแต่แค่รู้สึกว่ามันมีอาการ”
แต่สายทิพย์แย้งว่า คนเราดูกันแค่ภายนอกไม่ได้ อย่างตัวเธอเองจะโดนน้องๆ ทักบ่อย เพราะเวลาไปดูคอนเสิร์ตทีไร แทนที่จะกระโดดโลดเต้น เธอกลับเลือกนั่งดูอยู่เฉยๆ
“นึกถึงฉันบ้างสิ ฉันมีความสุขโดยไม่ต้องกรี๊ดไง นักร้องจะชอบให้คนดูกรี๊ด เพราะคิดว่าคนดูมีความสุข แต่มันมีคนอีกเยอะมาก ที่มีความสุขกับการนั่งอยู่เฉยๆ คือแค่ฉันได้ดูเธอ ฉันก็มีความสุขแล้ว”
รักคนโสด
สำหรับคนโสดที่ปกติมักรับบทศิราณี ไขปัญหารักๆ เลิกๆ ของเพื่อนๆ ในกลุ่มอยู่เสมอ เพราะใครหลายคนเชื่อว่า ความรักไม่มีสูตรตายตัว ย้อนกลับไปสิบปีก่อน นภาพรเห็นว่าโสดเป็นอาการหนักอกของสาวๆ อยู่ไม่น้อย แต่ตอนนี้ ทุกอย่างสวิงกลับไปอีกทางด้วยซ้ำ
“พ.ศ. นี้ หลายคนเลือกจะโสด เพราะถ้าโสดให้สุข จะมีคนมาขอแบ่งความสุขใกล้ๆ”
สายทิพย์ก็มีคำแนะนำฉบับคนโสดที่แก้อาการเหงาได้ชะงัด
“อย่างแรกคือ อย่าคิดถึงตัวเองเยอะ เวลาที่เหงา เพราะบางทีเรานึกถึงแต่เรื่องตัวเอง จมปลักอยู่กับเรื่องตัวเอง
“เดินออกไปนอกบ้านสิคะ อยุธยาจมน้ำทั้งจังหวัด พอเราเห็นคนอื่นปุ๊บจะเริ่มรู้สึกว่า อ๋อ…ความจริงแล้ว มันไม่ใช่แค่เราคนเดียว ดังนั้น ต้องหยุดมองตัวเอง หันไปมองคนอื่น หยุดทำอะไรเพื่อตัวเอง หันไปทำเพื่อคนอื่น แล้วเราจะไม่เหงาเลย จะมีอะไรทำเยอะไปหมด เราเองก็จะมีความสุข”
****************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Face of entertainment พฤศจิกายน 2554)