สันเขาขุนห้วยแม่นิง มันอะลู กับเถียงไร่ลุงดีแคะ

เรื่องและภาพ : หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง

ผมรอวันไปสันเขาขุนห้วยแม่นิงอยู่หลายเดือน  ด้วยคำบอกเล่าจากโถ่เรบอ

ถึงจังหวะเวลาเหมาะสมที่สุด  ต้องเป็นปลายฝนต้นหนาว  ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นกำลังขุดมันอะลู  หรืออะลูตี  บ้างเรียก หัวลู  ก็คือมันฝรั่งนี่เอง  ผมอยากไปดูให้เห็นกับตาสักครั้ง  หัวลูกับหัวมันสำปะหลัง มันเทศ  มันคล้ายหรือต่างกันอย่างไร

สุดถนนรถโดยสารหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม  โถ่เรบอควบมอเตอร์ไซค์มารับ  เราแวะซื้อเสบียงติดตัวไปบ้าง  แล้วสองล้อเครื่องก็ห้อตะบึงไปตามทางภูเขา  ลมเย็นเฉียบพัดมาแรงๆ  ทำเอาผมคางสั่น  หยุดตากแดดกันข้างทางเป็นระยะๆ

ผมคุ้นเคยกับทางดอยเส้นนี้  ที่ทอดไปหาบ้านพ้อเลป่า – ผู้เฒ่ากวีนักเขียนปกากะญอแห่งบ้านแม่แฮคี้ และทางลัดไปออกอำเภอแม่ลาน้อยจังหวัดแม่ฮ่องสอน  จะดูแปลกตาก็คงเป็นถนนปูคอนกรีตราบเรียบ  แทนที่ถนนดินลูกรังขรุขระ

แยกบ้านปางปะโอ อันเป็นเสมือนสถานีพักระหว่างทาง  มีร้านค้าขายของสองสามร้าน  ขายก๋วยเตี๋ยว  เครื่องดื่ม  อาหารสด อาหารแห้ง  ผัก  เรียกว่าครบเครื่องของกินที่พอหาซื้อได้  รถผ่านมาก็หยุดแวะพัก  ผมเห็นคนงานนั่งจับกลุ่มอยู่กลางแดด

โถ่เรบอบอกว่า เป็นแรงงานไทใหญ่ทั้งนั้น  รับจ้างทำงานไปเรื่อยในแถบนี้  ผมถึงกับอึ้งในปริศนาเส้นทางแลกเปลี่ยนแรงงานตามถิ่นภูเขา

แยกไปทางซ้ายเป็นถนนดิน  สู่บ้านพุย  เห็นบ้านแม่ศึกอยู่ในหุบเหวไกลๆ  อย่างกับบ้านจำลองที่จัดวางกันในแผนภูมินิทรรศการ  ปรากฏร่องรอยดินถล่มเป็นทางยาวจากยอดเขาลงสู่ตีนเขา  ดินหินถล่มลงทุกทิศทาง  ราวกับภูเขาชราภาพ เปื่อยผุไปตามกาล  บ้านแม่ศึก 60 หลังคาเรือนพลอยรับลูกหลงภูเขาพังตามไปด้วย  บ้านพังไปหลายหลัง

ถนนดินยังทอดคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา  ผ่านบ้านสันปูเลย  แม่หงานน้อย

แม่หงานหลวง  ผ่านทุ่งข้าวโพด  ไร่ข้าว  สวน  เป็นแปลงเพาะปลูกรูปตาหมากรุกปูอยู่บนไหล่เขา  ต่อเนื่องกันไปจนถึงสันเขาขุนห้วยแม่นิง

ถนนดินขอดเล็กลงเรื่อยๆ ไปจนถึงสันเขา   สภาพถนนแยกไม่ออกระหว่างทางเกวียนกับทางรถ  ดูร้างๆ ปล่อยเลยตามเลยจนเห็นความงาม   เมื่อส่วนประกอบรายรอบเป็นทุ่งหญ้ากับป่าแพะไม้พุ่มเตี้ยๆ  โอบล้อมถนนไว้

ฉากหนึ่งของไหล่เขาทุ่งดอกบัวตอง

เกือบ 3 ชั่วโมงถึงสันเขาขุนห้วยแม่นิง  บางช่วง — รถวิ่งด้วยความเร็วเดินเท้า  ต้องกระโดดลงจากเบาะซ้อนท้ายแล้วเดินตาม

ความหมายของสันเขาขุนห้วยแม่นิง  คือที่ราบสั้นๆ สลับกับลอนคลื่นสูงต่ำลดหลั่นไปบนยอดเขา  และลมพัดแรงอยู่ตลอดเวลา   เป็นความกว้างสัณฐานรูปหลังช้างหมอบทะมึน  กับความยาวทอดไปไกลเป็นระยะราว 3 กิโลเมตร

เพียงพอทำให้สันเขาธรรมดาๆ  กลับดูลี้ลับน่าค้นหาขึ้นมาทันที  ไกลกว่านั้น  ดูเหมือนทุกอย่างถูกโยนลงไปกองสุมไว้ในเหวลึก  พร่ามัวทึมทึบอยู่ใต้เงาแดดเย็น

ผมเดินพินิจไม้พุ่มเตี้ย ใบหนา  ท่ามกลางลมพัดแรง  เหมือนใบไม้ทั้งสันเขาไม่เคยผ่านช่วงเวลาผลัดใบ  มันจึงปรับตัวอยู่ร่วมกับลมแรง  เพิ่มจำนวนใบหนา ลมเย็นเยือกพัดมาเป็นระลอกคลื่นกระเพื่อมไล่กันไม่รู้จบสิ้น  มองไปทางไหนเห็นแต่พุ่มไม้ใบไม้สั่นไหว  อย่างกับท้องทะเลลอยมาอยู่เหนือสันเขา  เพียงแต่ไม่มีฝูงปลาตามมาด้วย  เห็นแต่นกเหยี่ยวกางปีกเล่นลมอยู่เหนือหน้าผา

ผมเหยียดสันหลังให้ขนานกับสันเขา  เป็นความรู้สึกแปลกๆ  ในความแปรปรวนของลม  ผมเห็นต้นไม้ใหญ่ยืนนิ่งต้านลมใต้ฟ้ากว้างๆ  ตามลำต้นก้านกิ่งล้วนห่อหุ้มด้วยพืชจำพวกตะไคร่น้ำ กล้วยไม้  เฟิร์น  มอส  อย่างกับต้นไม้ใส่เสื้อ  ยืนต้นอยู่ตามลำพัง

โถ่เรบอ  ผมน่าจะแนะนำเขาบนบรรทัดนี้  นักเขียนหนุ่มปกากะญอที่ปลุกปล้ำเรื่องสั้นไปโผล่ตามนิตยสารต่างๆ (เพิ่งมีงานรวมเรื่องสั้นเล่มแรกชื่อ เชวาตัวสุดท้าย)  วันนี้เขาเป็นครูในสังกัดการศึกษานอกโรงเรียน  คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านตามป่าเขา  เขาควบมอเตอร์ไซค์ขึ้นเขาลงห้วย  เดือนหนึ่งๆ หลายร้อยกิโลเมตร

เขานำทางสู่ทางเล็กๆ  แต่ตัดชันแหวกทุ่งดอกบัวตองไปตามไหล่เขา  เหมือนลงหลุม  ผมไม่รู้อะไรเป็นอะไร  มองไปรอบตัวพบแต่ความเงียบกับลม  ไม่เห็นสิ่งใดเคลื่อนไหว   ต่อเมื่อเห็นเถียงไร่ดูเหมือนเพิงร้างอยู่ไกลๆ  จึงเห็นคนเคลื่อนไปมาเหมือนมด

เถียงไร่แต่ละหลังมุงใบตองสาด  ลักษณะคล้ายใบกล้วย  หยิบจับมาผูกร้อยกันเป็นตับวางซ้อนเป็นหลังคากับฝากั้นลม  มันเป็นเถียงไร่ที่ดูเหมือนเพิงพักชั่วข้ามคืนมากกว่า  สร้างขึ้นจากวัสดุที่หยิบหาได้ง่ายๆ  โผล่สูงขึ้นมาจากพงหญ้า  ห้อมล้อมด้วยทุ่งดอกบัวตองเหลืองสว่างไปทั่งอาณาบริเวณ

เป็นที่พักหลบแดด หลบลมหนาวของชาวบ้านที่มาพักแรมเก็บมันอะลู  พักค้างคืนยื้อวันกันจนกว่าจะเก็บเสร็จสิ้น  การงานที่เป็นเสมือนแขนขาของมันฝรั่งบรรจุซอง  มันฝรั่งทอดกรอบตามห้างศูนย์การค้ากลางเมืองใหญ่นั่นเอง  มันต่อท่อน้ำเลี้ยงมาโผล่ถึงกลางภูลึก

แยกมันอะลู หัวเล็กหัวใหญ่

ลุงดีแคะเพิ่งกลับมาจากขุดมัน  กำลังง่วนอยู่กับกองไฟใต้หลังคาตองสาด

“ทำอะไรกิน พะตี” ผมถาม

แล้วมือพะตีก็ชูบางอย่างขึ้นให้ดู  หน้าตาเหมือนหนูมีปีกเป็นพังผืด

“เคยกินมั้ย บ่างเบี้ย”   แกถามแล้วยิ้มกว้างขวาง

ผมบอกไม่เคยกิน  ลุงดีแคะจึงชวนกินข้าวเย็น

ลุงดีแคะเฝ้าขุดมันอะลูกับลูกเกือบ 1 อาทิตย์มาแล้ว  เหมือนคนอื่นๆ ที่พักกันอยู่ตามเถียงไร่ถัดๆ กันไป  ผมนึกไม่ออกว่าขุดมันอะลูต้องทำกันยังไง  กระทั่งตอนสายวันต่อมา  ลุงดีแดะชวนไปดูถึงไร่

ช่างไม่ต่างไปจากขุดมันสำปะหลัง  ต่างไปตรงที่มันอะลูเหมือนไข่ยักษ์  จอบขุดระวังอย่างกับกลัวมันแตก  มันเติบโตข้ามหน้าฝน  และเก็บหัวกันหน้าหนาว  ลุงดีแคะเล่าให้ฟังย่อๆ ว่า พื้นที่แถบนี้เมื่อก่อนเป็นไร่ฝิ่น  จากนั้นมิชชันนารีก็เอาเมล็ดบัวตองมาหว่าน  เกิดเป็นทุ่งบัวตองไปทั้งหุบ  แต่ด้วยสภาพดินร่วนสีแดงบนไหล่เขา  อากาศเย็น  เหมาะกับการปลูกมันอะลู

มันอะลูจึงเข้ามาเมื่อ 5 ปีก่อน  เริ่มต้นด้วยซื้อหัวเชื้อกิโลละ 100 บาท  ปีนี้ ลุงดีแคะต้องใช้ 25 กิโล  จ่ายเงินไป 3,000 บาท  จากนั้นก็เลี้ยงหัวเชื้อให้งอก  ก่อนเอาไปปลูก  ซึ่งต้องเตรียมดิน  ใส่ปุ๋ยเร่งหัวสูตร 13-13-21 ในราคากระสอบละ 600 กว่าบาท

จากนั้นก็ต้องจัดการกับระบบน้ำด้วยสายยาง  ประคบประหงมอย่างใกล้ชิด  กว่าจะได้หัวมันอะลูงามๆ  ขายกันในราคาคัดเกรดชั่งกิโล

เกรด O(โอ) เป็นเกรดดีที่สุด  หัวใหญ่ ไม่มีหนอนแมงไช ไม่มีตำหนิ  ราคากิโลกรัมละ 10 บาท  ยังไม่คิดค่าขนส่ง  เกรดรองลงมาเป็นเกรด B หัวเล็กลง ไม่มีรอยตำหนิ  ขายกันกิโลกรัมละ 5 บาท  ไม่รวมค่าขนส่ง  ส่วนเกรดที่เหลือเป็นเกรด C เกรดต่ำสุด  หัวเล็กสุดและไม่มีรอยตำหนิ  ราคากิโลกรัมละ 3  บาท  หากต้องขนด้วยมอเตอร์ไซค์จากไร่ถึงรถกระบะ  ต้องจ้างขนกันเที่ยวละ 10 บาท  และค่าขนส่งด้วยรถกระบะไปส่งขายกลางเมืองเชียงใหม่  กิโลกรัมละ 2 บาท

หักลบคูณหาร  ผลลัพธ์ออกมาพอคุ้มกับต้นทุนแบบไม่คิดค่าแรง

ผมตระเวนดูการเก็บมันอะลู  อย่างกับเดินตากอากาศยังถิ่นแรงงานที่เป็นทั้งผู้ผลิต และผู้ขาย  การกินอยู่อันจำกัดจำเขี่ย  นอนเย็นกันข้างกองไฟคืนแล้วคืนเล่า  จอบแล้วจอบเล่าขุดลงไปหาไข่ยักษ์   เดินทางไปถึงกลางเมืองเมื่อไหร่  ราคาสูงเทียบกับไข่เงินไข่ทองเลยทีเดียว  เพียงคนปลูกไม่เคยได้ลิ้มรสไข่เงินหรือไข่ทอง

ผมถามถึงความหมายชื่อดีแคะ  ลุงยิ้มมุมปาก  ก่อนจะบอกว่าเมื่อตอนเป็นเด็กชอบร้องไห้ดังแคะๆๆ ก็เลยได้ชื่อดีแคะ “ชื่อความหมายดีเขาไม่อยากเลือก”

เหมือนจะบอกว่า  รอยตำหนิเท่านั้น  ทำให้คนอื่นจดจำร่องรอยไปชั่วชีวิต

มื้อข้าวเป็นบ่างเบี้ย  กองไฟอุ่นๆ  พร้อมพาเที่ยวชมไร่มันอะลู  สู่สันเขาห้วยแม่คะนิงต้นน้ำสาขาน้ำแม่แจ่ม  แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับการดั้นด้นไปสู่ที่เย็นที่ยาก

ถึงอย่างไรการมีชีวิตอยู่ที่นั่น  ยังต้องดิ้นรน หนักยากกันไม่รู้สิ้น  เพราะแทบไม่อาจหวังได้เลยว่า  สักวันหนึ่งไข่มันอะลูจะเปลี่ยนเป็นไข่ทองคำจริงๆ

********************

(หมายเหตุ : ตีัิิพิมพ์ มกราคม 2551)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า