เรื่อง: ศุทธวีร์ ตันติวงศ์ชัย
ภาพ: Sahamongkolfilm International
ตำรวจหนุ่มย่างกรายอย่างเงียบเชียบฝ่าสภาพแวดล้อมมืดสนิท เขาค่อยๆ แหวกพุ่มไม้ตรงหน้าและใช้สายตาแข็งกร้าวพินิจพิจารณาศัตรูเบื้องหน้า ปืนคู่ใจกระชับแน่นอยู่ในมือ
เคยมีคนกล่าวว่า “การชักปืนแต่ละครั้งย่อมมีคนตาย”
ตำรวจหนุ่มใช้ตาข้างถนัดปรับองศาปากกระบอกปืนไปยังศัตรู นิ้วชี้เกี่ยวเข้ากับไกปืนและกดลงช้าๆ
ปัง!
กระสุนปืนแหวกอากาศเกิดเสียงแหลมเสียดประสาทคล้ายเสียงมัจจุราช ศัตรูร้ายได้สิ้นชีพลง เขาได้ปฏิบัติตามสิ่งที่เรียกว่า ‘ยุติธรรม’ เพื่อยุติเรื่องราวเลวร้าย แต่เหตุใดกันเล่าคราบเขม่าปืนในครั้งนั้นกลับไม่เคยจางไป
หมาบ้า
สิ่งที่เรียกว่า ‘หมาบ้า’ หาใช่โรคร้ายอย่างพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ แต่เป็นอุปนิสัยที่ได้ชื่อว่าไล่ ดุ ฟัด กัดไม่เลี้ยง ไม่เกี่ยงวิธีการ เปรียบดังอาการเริ่มต้นของสุนัขเมื่อติดเชื้อร้ายดังกล่าว
วสันต์ (สมชาย เข็มกลัด) นายตำรวจผู้เป็นตัวแทนของคำว่า ‘หมาบ้า’ พฤติกรรมโผงผาง การแสดงออกที่หยาบกระด้างไร้ซึ่งความละเอียดอ่อน ยินดีที่จะทำทุกวิธีการเพียงเพื่อพิชิตเป้าหมายที่ได้รับมา แต่กระนั้นสิ่งที่เรียกว่า ‘หมาบ้า’ ก็ไม่ได้ไร้หัวใจ มันยังคงมีใจที่ใฝ่ยุติธรรม ดิ้นรนเพื่อคนข้างหลังแม้ว่าจะทำให้ตัวเองเต็มไปด้วยรอยแผลที่ไม่อาจลบได้
วสันต์ถูกบีบบังคับให้กระโจนเข้าร่วมโต๊ะปัญหา แม้จะถูกจับตามอง แต่เขายังคงเลือกใช้วิธีการเยี่ยง ‘หมาบ้า’ ในการฝ่าฟันปัญหา เขาเร่งรีบที่จะยุติเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยไม่สนใจว่ามันจะฝากรอยแผลไว้กับใครบ้าง
หากเพียงแต่มียารักษาก็อาจรอดได้ แต่ในวันใดที่ไร้สิ่งนั้น ‘หมาบ้า’ จะอยู่ได้อย่างไร
ติดโรค
ภาวะ ‘หมาบ้า’ นั้นไม่ใช่อยู่เฉยๆ ก็เป็นได้ มันต้องมีการ ‘ติดโรค’ บทภาพยนตร์ที่ผ่านการขัดเกลามาแล้วเล่าถึงมูลเหตุแห่งความคลั่งและปณิธานที่กล้าแข็งของวสันต์ การกระทำที่โผงผางรีบร้อนทั้งหมดล้วนมีที่มา แต่เหตุผลที่แท้จริงนั้นย่อมเปิดเผยแต่กับคนสนิทเท่านั้น
การเล่าเรื่องที่มีมิติซับซ้อนค่อยๆ เผยปมปริศนาแห่งความบ้า หลอกล่อ ชักนำให้ไขว้เขว และตบหน้าเราดังฉาดด้วยความคิดของเราเองที่ถูกตัวภาพยนตร์หลอกและปลูกฝังมาตั้งแต่ต้น เป็นผลสำเร็จของบทภาพยนตร์ที่ทำให้เราหลงและติดโรค ‘หมาบ้า’ มาอย่างเงียบๆ
โลกสีเทาของหมาบ้า
ตำรวจเป็นองค์กรที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างสีขาวและสีดำ จะว่าไปพวกเขาคงไม่ต่างจากสีเทา… ความยุติธรรมสำหรับใครบางคนอาจไม่ใช่ความยุติธรรมสำหรับใครอีกคน ความยุติธรรมของครอบครัวเหยื่อและครอบครัวคนร้าย ในความถูกต้องที่ต้องปฏิบัติกลับมีสิ่งย้อนแย้งทิ่มแทงใจ
บทภาพยนตร์ได้ชักเชิดเราเข้าสู่โลกสีเทา สังคมที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเราไม่ได้อยู่ในสังคมแบบนี้ ไม่มีใครดีพร้อม ไม่มีใครเลวบริสุทธิ์ ทุกอย่างล้วนมีเหตุมีผล ในหลายๆ ครั้งแม้แต่ตัวเรายังไม่สามารถตัดสินใจกระทำอะไรได้อย่างถูกต้อง เราพลาดพลั้งและพลั้งเผลอ ผู้อื่นก็เช่นกัน และสิ่งที่เกิดทั้งหมดอาจคงกล่าวได้ว่า…
“ก็ถือว่าเราแชร์กรรมด้วยกันมา”
คราบเขม่าที่ล้างไม่ออก
“แรงกิริยาเท่ากับแรงปฏิกิริยา” เซอร์ไอแซค นิวตัน กล่าวไว้
หากมีการกระทำหนึ่งเกิดขึ้นย่อมมีแรงปฏิกิริยาจากการกระทำหนึ่งตอบสนองกลับมา เพราะฉะนั้นการกระทำสิ่งหนึ่งต่อใครบางคน เขาย่อมกระทำบางสิ่งตอบแทนกลับมา แต่การกระทำไม่ใช่วัตถุที่สามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ การกระทำบางสิ่งที่คิดว่าดีของใครบางคนอาจเป็นสิ่งตรงกันข้ามสำหรับใครอีกคน หากเป็นเช่นนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การกระทำของเราในบางครั้งอาจเผลอฝาก ’ริ้วรอย’ ไม่พึงประสงค์ไว้กับผู้อื่น
เราไม่อาจลบล้างรอยแผลในใจได้ง่ายดายเหมือนเช่นการล้างมือ
นี่คือบทเรียนสำคัญยิ่งที่ต้องระลึกไว้
แด่ วสันต์ สารวัตรหมาบ้า ชายผู้ไม่คดในข้องอในกระดูก
****************************
ภาพยนตร์: สารวัตรหมาบ้า
เข้าฉาย: 4 กรกฎาคม 2556