เรื่อง : รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
ตัวอย่างหนัง รักจัดหนัก ถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ ในช่องทางโซเชียลมีเดีย คลิปสั้นๆ ประกอบด้วยชิ้นส่วนเล็กๆ แต่รส (โคตร) จัดของหนังสั้น 3 เรื่อง ถูกประเคนผ่านจอแอลซีดี และลำโพง ถ้อยคำประกอบหลุดหล่นออกมาจากริมฝีปากบางของสาวหน้าใส
“มึงอ่ะแหละ…ถุงหมดยังเสือกเอาอีก ไหนบอกว่าแตกนอกทันไง ไอ้เหี้ย!”
อีกด้านนึงไม่ไกล ภาพหญิงรุ่นหุ่นระหงอีกคนชูนิ้วกลางหรา
คำโปรยปลอบประโลมคนใจสั่นกับชื่อภาคอังกฤษ LOVE, NOT YET “ภาพยนตร์เรื่องนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีควรให้คำแนะนำผู้ปกครองดูขณะรับชม” ตีแสกใส่หน้าสังคมที่บางคนปรามาสว่า “พวกมัน…ดัดจริต”
“เหี้ย-แตกนอก” ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์ เพียงเพราะไม่ได้เป็นผลิตผลจากมดลูกของค่ายใหญ่ เจ้าของทุนไม่ใช่ระดับเสี่ย แต่การพบชื่อของ หมู-สุภาพ หริมเทพาธิป อดีตบรรณาธิการนิตยสารหนังสายคุณภาพ ไบโอสโคป ในเครดิตตำแหน่ง-ผู้อำนวยการสร้าง และมันสมองของโปรเจ็คท์เสียวเล่าเรื่องที่ทั้งจริงและหนัก (มาก) นับเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา
เล็ก สั้น…Who Cares?
ผลงานชิ้นแรกของสตูดิโอ ออกไปเดิน ซอยเป็นหนังสั้น 3 เรื่อง ไปเสม็ด + เป็นแม่เป็นเมีย + ทอมแฮ้ง จาก 5 ผู้กำกับเลือดใหม่ ที่บ่มเพาะวิชาการทำหนังมาจากค่ายไบโอสโคป ผ่านไป 7-8 ปี พวกเขาพร้อมจะปล่อยของใส่จอเงิน
“จริงๆ ก็ห่วงธรรมชาติคนทำหนังสั้น ส่วนใหญ่ 20 นาทีนี่เยอะแล้ว กลัวว่าจะเอาไม่อยู่ด้วย เราทำหนังเรื่องแรก ก็ไม่อยากไปอยู่ในโลกที่เราไม่คุ้นเคยขนาดนั้น
“เรารู้สึกว่า สิ่งที่พยายามสื่อมาโดยตลอดตั้งแต่ทำไบโอฯ คือทุกคนทำหนังได้ ก็เป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน ว่าทำแล้วไม่รู้จะโผล่ตรงไหน ไม่มีรูออก เหมือนกับสมัยหนึ่งระบบมันบล็อกไม่ให้เราทำหนังได้ แต่เราก็สื่อสารมา 10 ปี ก็ เฮ้ย…มันเปิดแล้วนะ แต่ก็ไปเจอบล็อกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเราก็ต้องทำให้เห็นว่าเราต้องคลี่คลายมันให้ได้”
แน่นอนว่าคนทำหนังหลายคนย่อมมีคำ ‘ติสต์ (แดก)’ แปะอยู่บนหน้าผาก พร้อมๆ กับพลังออร่าแห่ง ‘อีโก้’ กูเจ๋ง…พร้อมปล่อยของตลอดเวลา ทำให้เป็นปัญหาว่า พวกชอบทำงานอาร์ตเพียวๆ จะสื่อสารกับคนดูธรรมดาๆ ในตลาดได้อย่างไร เพราะสมรภูมิ ติสต์ VS ตลาด ยังคงคุกรุ่นอยู่ เพราะวงการหนังบ้านเรา เสือ 2 ตัวนี้ ไม่ยินดีร่วมสังฆกรรมกัน และที่สำคัญ ยังไม่มีใครริเริ่มโครงการปรองดอง
“ผมรู้สึกว่าตอนทำหนังสั้นที่เป็นงานของตัวเอง มันเป็นการปล่อยของเต็มที่ แต่พอถึงจุดหนึ่ง เราต้องบอกกับทุกคนเลยว่า นี่เป็นงานที่คุณต้องคุยกับคนทั่วไป ไม่ใช่งานที่เราปล่อยของ มันคนละอย่าง อันนั้นคือคนทั่วไปอยากคุยกับเราเพราะเราปล่อยของ มันเจ๋ง แหกกรอบ เป็นอาร์ตนั่นแหละ แต่นี่เป็นงานสื่อสาร คุณต้องปรับอาร์ตที่มีอยู่ไปสู่การสื่อสารให้ได้”
หรือจริงๆ ซ่อนรูป
ดูจากดารา ก็สวยหล่อ…มิวสิค เอเอฟ 4 ชะเอม สตรอเบอร์รี่ชีสเค้ก อืม…ก็คล้ายๆ หนังวัยรุ่นธรรมดาๆ นี่ หรือจริงๆ หนังไม่ได้เล็ก นอกกระแส มีอะไรเบ้อเริ่มเทิ่มซ่อนอยู่ในนั้นหรือเปล่า
“ในเชิงตลาดมันคงยาก ถ้าเราจะทำหนังกับคนหน้าตาแบบที่เราไม่อยากดู ไม่ได้จำเป็นต้องหล่อสวยนะ แต่จำเป็นต้องมีเสน่ห์ คือดาราบางคนผมก็ไม่ได้มองว่าหน้าตาดีแบบชนชั้นกลางนะ ออกไปทางล่างหน่อยๆ ด้วย แต่เราก็มองว่ามีเสน่ห์ในแบบของเขา อันนั้นคือข้อแรก
“อันที่ 2 คือ เวลาเราจะพูดคุยกับคนทั่วไป ตอนเขาไปดูหนัง ต่อให้ตัวเองหน้าเหียกแค่ไหน เราก็ชอบเอาตัวเองไปแทนที่ตัวละครหน้าตาดีนะ เรารู้สึกว่ามันไม่แปลก เพราะหนังคือสิ่งทดแทนสิ่งที่คนดูไม่มี”
เพราะภาพยนตร์ คือการสื่อสารที่เข้าถึงผู้รับได้ตรงที่สุด ครอบคลุมทั้งภาพ เสียง และเรื่องราวระหว่างร่องฟิล์มที่ทิ้งสาระของเนื้อหาไว้ในรอยหยักสมอง หากจะเอาเนื้อหานอกกรอบ ไปถ่ายทอดในระบบตลาด ‘แมสๆ’ บ้าง คงไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร
“ความตั้งใจคืออยากให้หนังมันอยู่ในกระแสเลยล่ะ เพราะว่าเมื่อประเด็นมันเป็นประเด็นสาธารณะก็ต้องให้สาธารณะรับได้ ส่วนไอ้ตรงที่ว่าเป็นแมส เราก็หาดาราวัยรุ่นทั่วๆ ไป คนเห็นหน้าแล้วรู้จัก ติดต่อไป พอรู้เนื้อหาทำนองนี้ พูดเรื่องนี้ เล่นอย่างนี้ เขาปฏิเสธกันหมด กลัวเสียภาพ กลัวเสียอะไรต่อมิอะไร ซึ่งเราก็เห็นว่าไอ้หนังที่คุณไปเล่นๆ กัน มันโคตรจะได้ภาพเลย (หัวเราะ)”
รักแม่_ดราม่า
“โคตรดราม่านะมึง”
หมู อยากบอกคนดูอย่างนั้น ภาพของหน้าหนังที่ดูชวนซ่านขุมขน จึงถูกบิดมุมด้วยคำโปรยใหม่ “ความรัก ยิ่งจัดก็ยิ่งหนัก…ยิ่งจัดหนัก ยิ่งเจ็บหนัก” เพราะไม่อยากหลอกคนที่คาดหวังว่าอยากไปดูเรื่องตลกโปกฮา
“เราเปลี่ยนหน้าหนังกะทันหัน ทีแรกจะกวนตีน เซ็กส์ๆ หน่อย แต่ตอนหลังเราจะเล่นว่ามันเป็นเรื่องหนักๆ ไม่ใช่เรื่องตลกโปกฮา เพราะมีคนเข้าใจว่าทิศทางของหนังจะไปอย่างนั้นเยอะ แต่หนังของเราคนจำนวนหนึ่งบอกว่า โคตรดราม่า เราก็เลยว่า มึงดราม่า กูก็ดราม่า”
รักวัยรุ่นไม่ได้มีแค่ความโรแมนติก ซบแอบอิงพิงไหล่ กุมมือ ที่รักขา…หอมแก้ม เลิฟยู จูจุ๊บ…อย่าติดกับอุดมคติแบบนั้น เพราะความจริง เรื่องราวหลังจากนั้นยังมีอีกเพียบ…แต่ด้วยอะไรบางอย่าง เราต้องคุยเรื่องในมุ้งแบบกระซิบกระซาบ
“ประเด็นที่เกี่ยวกับวัยรุ่นที่มีอยู่เรื่องนึงแน่ๆ ก็คือเรื่องเพศ เราคุยกันว่าเรื่องไหนบ้างที่ควรเอามาพูด มันก็มีกรณีของเรื่องเพศซึ่งมีปลายทางคือ การท้อง การทำแท้ง การมีชีวิตครอบครัวที่ล้มเหลว ซึ่งต้นทางจริงๆ มันมาจากความไม่รู้ในเรื่องเพศนั่นแหละ”
ครั้งแรก…อาจจะเจ็บหน่อยนะ
เป็นปกติ ขนาดเป็นเรื่องสำคัญ ของเล็กก็ต้องพ่ายของใหญ่อยู่วันยันค่ำ หากใครจะคาดหวังกำไรมหาศาลกับ รักจัดหนัก จนถึงกับจะเอาไปวัดพลังกับหนังใหญ่ค่ายยักษ์…เก็งราคาทองอาจง่ายกว่า
“การฉายในโรง การจัดจำหน่ายที่ใช้กันมานาน เราไม่คิดว่าระบบอะไรมันจะอยู่ยั้งยืนยงไปได้ตลอด แต่ทุกวันนี้ทุกคนยังเชื่อว่ามันคือหนทางเดียว เราก็อยากจะพิสูจน์ให้เห็นว่ามันไม่ใช่”
ยังไม่ทันเข้าฉาย ก็มีใครบางคนกล่าวอวยพร “หนังเรื่องนี้ทำรายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทแน่นอน เนื่องจากนำเสนอที่ผิดศีลธรรม” ฟังสำเนียงแล้ว มีแนวโน้มว่าใครคนนั้นน่าจะเป็นคนใส่สูท
“เรื่องเงินไม่ได้สำคัญเท่าไหร่ วันที่ทำไบโอสโคปเราก็ไม่ได้มีสตางค์อะไร วันนึงเราสะสมเงินพอที่จะทำหนังได้ ถ้าเจ๊งก็เหมือนกลับไปเริ่มนับ 1 ใหม่ เงินวันหนึ่งมันมี แล้วมันก็หมด”
แหม…ใครเขาทำหนังก็ต้องหวังดอกไม้ ไม่เงินก็กล่อง แต่แค่ช่วงเริ่มมีกระแส หมู และรักจัดหนัก ก็เจอก้อนอิฐเข้าไปหลายโครม โดยเฉพาะข้อความที่คอมเมนท์ผ่านทางทวิตเตอร์…ทั้งที่ยังไม่ได้ดูหนังเลยแม้แต่นิด
“หนังเ_ยไร ‘รักจัดหนัก’ จาก ผกก. มักง่าย ไม่ได้แดรกเงินกูหรอก โหลดฟรียังเสียดายแผ่นเลย”
อูย…แข็ง และ เจ็บ
“มันเป็นเรื่องปกตินะ เมื่อก่อนอาจจะอารมณ์เสียกับเรื่องแบบนี้นะ แต่ตอนนี้เฉยๆ มองเป็นเรื่องน่าขันมากกว่า เพราะเราคิดว่าที่สุดแล้วเขาก็ไม่ไปดูหรอก เพราะฉะนั้นก็ไม่รู้จะฟังไปทำไมเหมือนกัน เมื่อไม่ดู แล้วตั้งธง ไม่รู้จะแลกเปลี่ยนกันตรงไหน แต่ถ้าคนดูแล้ว โอย…หนังมันเ_ยมากเลยพี่ เพราะว่าหนังมัน….มาคุยกันต่อได้ ต่อให้ใช้คำหยาบคายมากๆ ก็ยังคิดว่าคุยกันได้อยู่”
ไม่คุม…จะดีเหรอ?
‘แท้ง’ อาจเป็นปลายทางที่ใครบางคนอยากได้นักหนา แต่กับ รักจัดหนัก ในฐานะคนอยากดู ‘ของ’ ย่อมใจเต้นระส่ำ ด้วยความหวาดเสียวว่าจะมี ‘มือดี’ จากมุมมืดมาคุมกำเนิดหนังเรื่องนี้ไม่ให้ออกฉาย
“ถ้าเป็นในตัวเรื่องหลักๆ ไม่กลัว เพราะเราพูดเรื่องเพศ ไม่ได้นำเสนอภาพเรื่องเพศ คือ บางเรื่องมันทำให้รู้สึกได้โดยไม่ต้องเห็นภาพ วันก่อนคุยกับผู้กำกับคนหนึ่ง เขาอยากดูมาก เขาบอกวัยรุ่นกับเรื่องเพศมันน่าตื่นเต้น เราก็บอกไม่มีอะไร เขายกตัวอย่างว่า มีอันหนึ่งที่เขาชอบมาก จากเรื่อง เสียดาย มันไม่ได้เป็นภาพ เป็นแค่ตัวละตัวนึงพูดว่า “เฮ้ย…กูให้มึงเอาทีนึง” เขาบอก โห…โคตรเลย ภาพไม่ต้องมีอะไรหรอก แต่ว่าคำพูดที่มันออกมาจากตัวละครมันตอบสนองได้ มันคือเรื่องนี้แหละที่น่าตื่นเต้น”
เมื่อผู้ใหญ่ เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ถูดเชิญชวนโดยตรงให้มาดูหนังเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อพฤติกรรมอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลก แต่บางเสียงก็ยังคงคัดค้านว่า ‘ความแรง’ เป็นสิ่งที่คนรุ่นลายครามรับกันได้ยาก
“สังคมเรามันอะไรๆ ก็ต้องผู้ใหญ่แนะนำ โดยที่ผู้ใหญ่ก็ไม่เคยรู้เลยว่า โลกมันเปลี่ยนไปยังไง บางคนนะ พอไม่รู้ ก็เอาการมองเห็นโลกในยุคของตัวเองมาตัดสิน ถ้าจะมาดูหนังเรื่องนี้ก็อาจจะขัดตาก็ได้ ก็ฟังลูก ว่านี่มันคือเรื่องจริง คือสิ่งที่เกิดกับเขาจริงๆ”
เหยดดด
จากการที่บ้านเราพัฒนาไปจนถึงขั้นมาการจัดเรตภาพยนตร์ ‘น15+’ คือตราประทับที่ รักจัดหนัก ได้ หมายถึง เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่เนื่องจากบ้านเรามีความเคร่งครัดจนถึงขั้นต้องมีโครงการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ไว้เป็นคู่มือคัดกรองการเสพของเยาวชน หนังเรื่องนี้ล่อแหลมทั้งประเด็นและชื่อเรื่อง ต้องเป็นข้อถกเถียงกันในหมู่ผู้มีวัฒนธรรมดีงามแน่ๆ
“อย่าง Love, Not Yet จริงๆ แล้วเราก็อยากจะเล่นกับความคิดของคนในสังคมเหมือนกันนะ ว่าคุณจะกล้าพูดไหม เพราะมันคือภาษาอังกฤษไง ถ้าคุณไม่กล้าพูด แสดงว่าคุณคิดว่ามันคือภาษาไทย แสดงว่าคุณมีปัญหากับเรื่องนี้แล้วล่ะ ไม่ต้องมากระมิดกระเมี้ยน ก็หนังมันชื่อ Love, Not Yet ก็ Love, Not Yet ไปสิ แสดงว่าสังคมไทยมีปัญหาเรื่องเพศจริงๆ”
หรือจริงๆ ที่เน้นการใช้ภาษา ภาพ และเนื้อเรื่องที่วิ่งเข้าชนเส้นกึ่งกลางของวัฒนธรรม พูดง่ายๆ ‘ล่อแหลม’ เพียงเพราะเป็นความสนุก มันปาก ซึ่งตรงใจวัยรุ่นอยู่แล้ว
“ได้หมดแหละครับ วัยรุ่นจะชอบดูเรื่องของเราที่อยู่บนจอหนัง โห…นี่โคตรเหมือนกูเลย เหมือนแฟน เหมือนเพื่อนเรา ถ้าพ่อแม่ดูก็เป็นเรื่องดี เพราะสิ่งที่เราต้องการให้เกิด คือการพูดคุยกันในครอบครัวกับเรื่องเหล่านี้ ถ้าไม่คุยกัน คนหนึ่งก็ปิด คนหนึ่งก็พยายามจะหาทางออก ผมรู้สึกว่ามันเล่นแมวจับหนู มันไม่สนุกหรอก”
ออกัสซั่ม
เมื่อหนังคือการเล่าเรื่อง พูดได้ว่าประเด็นที่ใช้กระตุ้นจน ‘เสร็จกิจ’ นั้น เป็นของร้อนจานใหญ่ที่ถูกเสิร์ฟสู่สังคม ภาพความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่รอบตัวยืนยันได้ว่า ปัญหาเรื่องเพศ โดยเฉพาะการท้องโดยไม่พร้อม เป็นเรื่องจริงเสียยิ่งกว่าจริง
“สิ่งที่หนังกำลังพูดทั้งหมดคือ การคลี่คลาย ตัวละครทุกตัวในเรื่องต้องหาหนทางเอาตัวรอดเพื่อจะมีที่ยืนในสังคมด้วยตัวเองทั้งสิ้น ตอนเราเป็นเด็กเท่ากับพวกเขา เราก็เจอเรื่องทำนองนี้ ซึ่งเวลาที่มันผ่านไปเกิน 10-20 ปี แสดงว่า สังคมเรายังไม่ได้จัดการกับเรื่องพวกนี้เลย เราปล่อยให้มันเกิดขึ้นรุ่นแล้วรุ่นเล่า แล้วก็มีคำพูดซ้ำๆ เดิมๆ เซ็กส์เป็นเรื่องน่ากลัว เซ็กส์เป็นเรื่องผิดศีลธรรม แต่ว่าเราไม่เคยออกแบบสังคมให้กับคนซึ่งเป็นมนุษย์ปกติ กิน ขี้ ปี้ นอน เขาสามารถใช้ชีวิตอย่างที่มนุษย์พึงจะเป็นได้ เราไม่มีเลย”
เมื่อสารที่ว่าถูกปล่อยใส่คนดู จบ…เหรอ? ไม่ต่างจากเซ็กส์ที่ใครๆ คิดว่า เสร็จบนเตียงก็จบ รักจัดหนัก เป็นแค่ส่วนประกอบระหว่างทางของชีวิต และกำลังทำหน้าที่กระตุ้นเตือนสังคม ไม่ปล่อยให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงการสำเร็จความใคร่จนเสร็จแค่ในจอ
“เราไม่คิดว่าหนังเรื่องนี้มันจะฉายโรงแล้วจบ เราคิดว่ามันเคลื่อนต่อ ด้วยกระบวนการภาคสังคม ภาคประชาชนด้วยได้ยิ่งดี อย่างที่เห็นอยู่ตอนนี้ พ.ร.บ.อนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งผ่าน ครม. ที่แล้ว กำลังอยู่ในขั้นกฤษฎีกา แล้วเราก็พบว่าพวกกฎหมายที่ผ่านกฤษฎีกา มันจะออกมาเป็นมนุษย์หน้าตาประหลาดยังไงก็ไม่รู้ ถ้าเกิดเราไม่รับรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ปล่อยให้คนทำหน้าที่เชิงกลไกทำไป ปรากฏว่าสุดท้ายเราต้องยอมรับชะตากรรมตามกฎหมายนั้น ที่ไม่ได้เอื้อต่อการมีชีวิตปกติสุขของมนุษย์ มันไม่แฟร์”
********************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ กันยายน 2554)