สมัยก่อน, ปูเป็นระดับหัวโจก
พูดได้ว่าเกเรเอาเรื่อง เพื่อนฝูงเยอะ หัวรั้น เฮไหนเฮนั่น ตีรันฟันแทง กิจกรรมชกหน้าคนเป็นเรื่องพื้นๆ ยึดคุณธรรมน้ำมิตรตามสไตล์คนใต้ – ว่าอย่างนั้นเถอะ
ปัจจุบัน, ปูก็ยังเป็นระดับหัวโจก
เอาแบบเป็นเป้ป็นเป้นเปเนนงานเป็นการ ควรเรียกเขาว่า ‘นายกฯปู’ดูจะเหมาะสมกว่า
แม้มีคำนำหน้านามเพิ่ม แต่ความเป็นหัวโจกในตัว ปู-ธนาวุฒิ ถาวรพราห์ม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ดูเหมือนไม่ได้ลดลง
เขาเป็นเจ้าของไอเดียเจ็บๆ อย่างการนำเอาวัวนมสายพันธุ์ออสเตรเลียมาเลี้ยงในตำบล
ที่บอกว่าเจ็บ เพราะไม่มีชาวบ้านชาวช่องที่ไหนในนครฯ เขาเลี้ยงกัน
อากาศร้อน ฝนตกชุก สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม ไม่บ้าก็ต้องมีดีพอตัวที่คิดฝืนเสียงทัดทาน
“แรกๆ มีคนเป็นห่วงว่าจะเลี้ยงไม่ได้ ด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ โรงเรือน ซึ่งมันต้องลงทุนเยอะ ภูมิอากาศเองก็เป็นปัญหา อุปสรรคอีกอย่างคือเรื่องของอาหาร วัวนมต้องอาศัยข้าวโพด เปลือกสับปะรด หรืออาหารเม็ด โรงงานที่รับซื้อนมด้วย มีแต่ที่พัทลุง”
นายกฯปูมั่นใจว่าเขาทำได้ อาศัยลูกบ้าบิ่น ศึกษา จริงจัง จริงใจ
“เราเอาแม่พันธุ์มาผสมที่นี่ ลูกวัวรุ่นที่สองก็จะมีความคุ้นเคยกับสภาพอากาศ ส่วนเรื่องอาหาร เรามีที่ดินว่างเยอะ ทำวิกฤติให้เป็นโอกาสสิ จากนาร้างทำให้เป็นแปลงข้าวโพด แปลงหญ้า อีกอย่างเราไปเจอฟางแห้งๆ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว มันเหลือมาก ก็เอามาผสมทำเป็นอาหารที่มีคุณค่าได้”
เรื่องที่รับซื้อน้ำนม อบต.ปากพูนจัดการเองทั้งหมด เพื่อนำไปแจกจ่าย (ฟรี) กลับคืนให้เเก่คนในชุมชน
“เด็กๆ คนท้อง ผู้สูงอายุก็ได้ดื่มนม คนมาทำงานในฟาร์มก็มีรายได้ ขี้วัวเอามาทำปุ๋ยใส่ปาล์ม ทางปาล์มมาบดให้วัวกิน ลูกปาล์มเราเอามาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล กระบวนการผลิตเหลือกากปาล์ม ยังเอามาให้วัวกินได้อีก อบต. ยังรับซื้อน้ำมันพืชที่ทอดแล้วมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลไว้ใช้เติมรถไถในฟาร์ม หมุนเวียน ไม่มีสูญหายไปไหน”
วัวตัวเป็นๆ ลายขาวดำแบบที่เห็นในโฆษณานมทางโทรทัศน์และเล็มฟางแห้งอย่างสบายอารมณ์เอ-กมลชัย มากเอียด ผู้ช่วยสัตวแพทย์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของ อบต. บอกว่า วัวนมในตำบลปากพูนมีทั้งหมด 100 กว่าตัว แบ่งเป็นวัวพร้อมรีด 22 ตัว วัวท้อง 7-8 ตัว ที่เหลือเป็นลูกวัวและวัวสาว
“ดีนะ เพราะเราได้น้ำนมคุณภาพดี ผลิตเอง โปรตีนสูงกว่า ผมว่าคุ้ม น่าจะไประยะยาวได้ ถ้าจัดการดีๆ ”เขาว่า
คล้ายๆ กับเสียงของ กา-มัลลิกา เอกาพันธ์ ครูผู้ดูแลเด็กประจำ ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก’ – อีกหนึ่งผลผลิตของ อบต.ปากพูน
“นมสดๆ ดีกว่าอยู่แล้ว เด็กได้ดื่มเลย วันต่อวัน มันผิดกันนะ นมกล่องเด็กจะเบื่ออาหาร ทางศูนย์ฯ ได้รับมาทุกวัน เด็กทั้ง 88 คนได้ดื่มวันละแก้ว เจริญอาหารกันใหญ่ (หัวเราะ) ไม่ต้องเสียเงินด้วย”
“อยู่ในระดับพอใจมาก”นายกฯปูตอบพร้อมรอยยิ้มกวนๆ
“เมื่อก่อนคนในชุมชนมักตั้งความหวังไว้ที่ระบบราชการ ประมาณทุกอย่างต้องพึ่งเจ้านาย ผมว่าไม่ใช่ ควรเริ่มต้นที่ตัวเรา ต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก ถ้ารู้จักวางระบบในชุมชนให้ดี ชีวิตก็จะมีความสุข อย่างที่เราเรียกว่าสุขภาวะ”