ล้างบางโฆษณาสินค้าสุขภาพ แฝงทีวีดาวเทียม-วิทยุ

KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA

 

 

ในสังคมบริโภค ปัจจุบันต้องยอมรับว่าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพยังคงครองอันดับต้นๆ ของสินค้าขายดีมาโดยตลอด เหตุเพราะผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น แต่นั่นก็กลายเป็นช่องทางที่ทำให้มีผลิตภัณฑ์หลอกลวงผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เพื่อตักตวงผลกำไรจากส่วนแบ่งการตลาดอันมหาศาลนี้

ปัญหาที่พบโดยทั่วไป ไม่เพียงแค่สินค้าปลอม สินค้าไม่มีประสิทธิภาพ ใช้ไม่ได้ผลจริงตามที่อวดอ้างสรรพคุณ ซ้ำร้ายกว่านั้นยังอาจมีการเจือปนของสารประกอบต้องห้ามที่ให้ผลกระทบในทางลบแก่ผู้บริโภค หรือมีผลข้างเคียงในระยะยาว ซึ่งยิ่งเป็นการทำลายสุขภาพแทนที่จะเป็นการเสริมสร้างสุขภาพอย่างที่ป่าวประกาศไว้

ผลิตภัณฑ์ลวงโลกเหล่านี้ยังมีการโฆษณากันอย่างโจ่งแจ้ง ไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านช่องทางทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีท้องถิ่น และวิทยุชุมชน ที่มีทั้งสิ้นกว่า 8,000 สถานีทั่วประเทศ กระทั่งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ต่างก็จับไม่ค่อยได้ ไล่ไม่ค่อยทัน ด้วยรูปแบบของสินค้าที่หลากหลาย และกลเม็ดการขายที่พลิกแพลงแยบยล ทำให้เล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าหน้าที่ไปได้ จนสุดท้ายผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

remote-2

 

+ มอมเมาทุกเช้าค่ำ

ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นกันก่อนว่า โดยธรรมชาติของ ‘โฆษณา’ นั้น ถือเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่สำคัญในการโน้มน้าวให้ผู้คนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการนั้นๆ ยิ่งหากมีการแข่งขันในทางธุรกิจมากเท่าใด เจ้าของผลิตภัณฑ์ก็ยิ่งต้องโหมกระพือโฆษณาสินค้าของตนให้มากขึ้นเท่านั้น โดยอาศัยช่องทางสื่อสารต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต

ในแง่กลไกของการโฆษณา เมื่อมีการฉายซ้ำๆ ให้ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ก็มีผลทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกคุ้นชินและอาจคล้อยตามได้ในที่สุด ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนอย่างเช่น การโปรโมทเพลงของค่ายเพลงที่สอดแทรกอยู่ตามสถานีวิทยุต่างๆ ตลอดเช้าสายบ่ายค่ำ แม้บทเพลงนั้นอาจมิได้มีความไพเราะเสนาะหู แต่เมื่อได้ยินได้ฟังบ่อยครั้งเข้า ไม่นานคนฟังก็สามารถร้องคลอไปตามท่วงทำนองของบทเพลงที่ว่านั้นได้โดยปริยาย

เช่นเดียวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถึงแม้สินค้าชนิดนั้นจะไม่ได้อยู่ในความสนใจส่วนตัวเป็นพิเศษ แต่ผู้บริโภคก็ยังสามารถจดจำสโลแกนหรือถ้อยคำโฆษณาของผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นได้

ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ หากผลิตขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพียงเพื่อหวังโกยกำไรจากผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ก็มักจะมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หรือพูดความจริงไม่หมด ซึ่งเป็นการจงใจบิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ให้แก่ผู้บริโภค

ผลิตภัณฑ์จำพวกนี้มักใช้คำโฆษณาในทำนองดื่มแล้วฉลาด ดื่มแล้วผอมเพรียวบางรูปร่างดี ทาแล้วผิวขาวกระจ่างใสอมชมพู ซึ่งส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าไปที่เหยื่อที่เป็นเด็กวัยรุ่นและผู้หญิง ไม่เว้นกระทั่งผู้ป่วยหรือคนเฒ่าคนแก่ก็มีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อสินค้าประเภทเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพทั้งหลายได้ง่าย

กรณีตัวอย่างที่สังคมไทยควรต้องจดจำให้ขึ้นใจก็คือ การใช้ถ้อยคำโฆษณา ‘เครื่องดื่มผสมรังนกแท้ 100 เปอร์เซ็นต์’ ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบกลับพบว่ามีส่วนผสมของรังนกแห้งเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งเมื่อเทียบคุณค่าทางสารอาหารแล้วพบว่า รังนก 1 ขวด ให้โปรตีนเท่ากับถั่วลิสงเพียง 2 เมล็ดเท่านั้น ซ้ำร้ายยังปั่นราคาไว้สูงลิบ แพงกว่าถั่วลิสงถึง 100 เท่า

จะเห็นว่ากรณีเครื่องดื่มผสมรังนกที่มีการโฆษณาอย่างเปิดเผยในสื่อสาธารณะยังกล้าโกหกพกลมได้ขนาดนี้ แล้วจะคาดหวังอะไรกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอีกสารพัดชนิดที่โฆษณากันเกลื่อนกลาดในทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีท้องถิ่น และวิทยุชุมชน ที่มีอยู่นับพันๆ ช่อง ซึ่งลำพังเจ้าหน้าที่ย่อมไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง

ที่ผ่านมาแม้จะมีการตรวจสอบ ติดตาม และกวาดล้าง แต่ก็ยังเป็นไปในลักษณะ ‘ล้อมคอก’ โดยที่ยังไม่สามารถขจัดขบวนการลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซากไปได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

 

megaphone-1

 

+ จี้ กสทช. ปราบโฆษณาลวงโลก

จากบทเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2557 ตัวแทนคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค บุกยื่นข้อเสนอต่อ กสทช. ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่มีการโฆษณาผิดกฎหมายในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ก่อนที่จะลุกลามบานปลายจนยากที่จะควบคุม โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล

ชลดา บุญเกษม หนึ่งในกรรมการองค์การอิสระฯ ภาคประชาชน เสนอว่า กสทช. ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเคร่งครัดกับผู้ประกอบการที่กระทำการผิดกฎหมาย เช่น ไม่ขออนุญาตในการโฆษณา มีการโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ เกินจริง หรือปกปิดข้อมูล จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสินค้าและบริการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการปรับ การเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกาศวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนการระงับการออกอากาศ การปิดรายการ และการเพิกถอนใบอนุญาต

ขณะที่ กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับรับผิดชอบโดยตรง เริ่มมีท่าทีกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย หลังก่อนหน้านี้เกิดปัญหาเรื้อรังมานาน โดยประกาศว่าจะร่วมมือกับ อย. ในการติดตามสอดส่องโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในทีวีดาวเทียมและวิทยุกระจายเสียง

25 กุมภาพันธ์ 2557 สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมหารือกับ อย. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบสื่อที่จงใจโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในทีวีดาวเทียม โดยในเดือนมีนาคม 2557 จะมีช่องรายการที่กำลังจะหมดอายุใบอนุญาตราว 200 ช่อง ซึ่ง กสทช. จะนำประวัติการร้องเรียนมาพิจารณาประกอบการให้ใบอนุญาตด้วย รวมทั้งช่องที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตไปแล้วจำนวน 178 ช่อง ที่ต้องติดตามตรวจสอบเนื้อหาอย่างใกล้ชิด

“หากสำนักงาน กสทช. ทำหนังสือเตือนไปแล้ว และยังพบการกระทำผิดจะปรับวันละ 20,000 บาท แต่หากยังคงฝ่าฝืนจะนำไปกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 100,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง” สุภิญญากล่าว

ทั้งนี้ สุภิญญาระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบเนื้อหาในขณะนี้พบว่า ช่องดาวเทียมเกี่ยวกับการเมืองแทบทุกช่องล้วนมีเนื้อหาและโฆษณาที่ผิดกฎหมาย อย. ซึ่งมีโอกาสทำให้ผู้บริโภคอาจหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่าย

นอกจากทีวีดาวเทียมแล้ว กสทช. และ อย. จะตรวจสอบเนื้อหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในวิทยุกระจายเสียงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยจะทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงาน กสทช.เขต ซึ่งจะเริ่มดำเนินการนำร่องในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น

 

remote-1

 

+ ปลุกพลังผู้บริโภคร่วมเป็นตาสับปะรด

หากเปรียบเทียบปริมาณของสินค้าด้านสุขภาพแต่ละยี่ห้อที่ผลิตกันขึ้นมา รวมถึงช่องทางการโฆษณาเผยแพร่และจัดจำหน่าย เมื่อเทียบกับสรรพกำลังของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่าย่อมไม่สามารถกำกับควบคุมได้ทั่วถึง

ดังข้อมูลที่สุภิญญาระบุว่า กสทช. ได้พยายามติดตามแก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและยาทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมายในทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันปัญหาการหลอกลวงผู้บริโภค แต่เนื่องจากช่องทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีท้องถิ่น และวิทยุชุมชนที่มีอยู่กว่า 8,000 สถานีทั่วประเทศ ทำให้ติดตามตรวจสอบได้ยาก เพราะมีเพียงไม่ถึง 3,000 สถานีเท่านั้นที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการ กสทช. จึงต้องขยายแนวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันสอดส่องดูแล รวมทั้งหาวิธีลดขั้นตอนการดำเนินงานตรวจสอบและเอาผิดผู้ฝ่าฝืน

“ที่ผ่านมาแม้ กสทช. จะร่วมมือกับ อย. ในการตรวจสอบโฆษณาในช่องดาวเทียมและวิทยุกระจายเสียงแล้ว แต่เนื่องจากมีการโฆษณาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาเกินจริง เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค ให้ช่วยกันแจ้งเบาะแส โดยแจ้งไปที่สายด่วน กสทช. โทร.1200 และสายด่วน อย. โทร.1556 และหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่ามีการกระทำจริง อาจสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตได้”

ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า การเอาผิดโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมายเหล่านี้ แม้ทาง อย.จะสั่งปรับแล้ว แต่ก็ยังคงมีการฝ่าฝืนออกอากาศอีก เพราะกฎหมาย อย. มีโทษปรับน้อยมากเมื่อเทียบกับผลกำไรจากการขายผลิตภัณฑ์ ซึ่งหลังจากร่วมมือกับ กสทช. แล้ว คาดว่าการทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ในปี 2557 อย. ได้ทำโครงการตรวจสอบเนื้อหาการโฆษณาในวิทยุกระจายเสียง 1 อำเภอ 1 คลื่น และจะประเมินผลการทำงานในปลายปีนี้ด้วย ส่วนงานด้านการปราบปราม จับกุม และการรณรงค์ให้ความรู้ผู้ประกอบการ จะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ อย. ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมาย 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารและยา ได้แก่ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2512 และ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 โดยจะเพิ่มโทษปรับผู้ประกอบการที่โฆษณาเกินจริงและไม่ได้รับอนุญาต จากเดิม 5,000 บาท เป็น 100,000 บาท

 

drinks-2

 

+ เส้นแบ่งระหว่างยา-อาหาร-เครื่องสำอาง

การโฆษณาอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ผู้บริโภคควรรู้เท่าทันด้วยว่า ผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทมีเงื่อนไขข้อจำกัดในการโฆษณาที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานของข้อมูลที่ไม่หลอกลวงหรือโอ้อวดเกินจริง

  • ‘ยา’ หากผลิตภัณฑ์นั้นจัดอยู่ในประเภทยา หมายถึง ของที่ใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์ ซึ่งจะต้องบ่งบอกสรรพคุณที่ชัดเจน ไม่ใช่โฆษณาว่าเป็นยาครอบจักรวาล
  • ‘อาหาร’ หมายถึง ของกิน ดื่ม อม ไม่สามารถอ้างว่าใช้บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้ หากจะบ่งบอกสรรพคุณว่ารักษาโรคได้ ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เป็นยาเท่านั้น
  • ‘เครื่องสำอาง’ คือ ของที่ใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ ต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเพื่อความสะอาดสวยงาม ไม่สามารถอ้างว่าใช้บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้ และหากจะมีการแสดงสถิติใดก็ต้องมีผลการศึกษารองรับ

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ดูเหมือนว่าประชาชนยังไม่อาจฝากผีฝากไข้ไว้กับหน่วยงานภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวได้ มีข้อแนะนำจาก ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชกรชนบท ว่า สิ่งที่ผู้บริโภคพึงกระทำคือ ต้องลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์และร่วมกันขจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านั้น โดยมี 4 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ตรวจสอบว่าโฆษณาชิ้นนั้นมีเลขโฆษณาหรือไม่
  2. ตรวจสอบว่าเนื้อหาของโฆษณาชิ้นนั้นตรงกับชนิดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรือไม่
  3. ตรวจสอบว่าเนื้อหาโฆษณานั้นโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่
  4. หากตรวจสอบแล้ว แต่ยังสงสัยหรือไม่แน่ใจ ให้สอบถามได้ที่ อย. หรือสาธารณสุขจังหวัด

“โปรดอย่าลืมว่า ข้าราชการมีหน้าที่รับใช้ประชาชน ฉะนั้นอย่ากลัวว่าข้าราชการจะเหนื่อย ขอให้ประชาชนช่วยกันแจ้งเบาะแสเถิดครับ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ลงไปขยี้ปัญหาให้ตรงจุด” ประธานชมรมเภสัชกรชนบท ขอร้อง

 

logo

 

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า