ได้ยินได้ฟังกันมานานแล้วว่า กล่องโฟมบรรจุอาหารที่เรารับประทานกันเป็นประจำนั้นมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์อย่างไร แต่ทุกวันนี้เราก็ยังเผลอไผลปล่อยตัวปล่อยใจไปกับอาหารในกล่องโฟม เพราะวิถีชีวิตประจำวันมักไม่เปิดโอกาสให้มีทางเลือกมากนัก การจะหาของกินดีๆ ที่ปลอดภัยไร้สารเจือปนจึงเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญสำหรับคนยุคนี้
เมื่อสถานการณ์บีบบังคับ ผู้บริโภคทั้งหลายจึงต้องจำใจยอมรับและในที่สุดก็เกิดพฤติกรรมเคยชิน หรือบางครั้งก็ต้องแกล้งปิดตาข้างหนึ่งก่อนจะกลืนข้าวลงคอ
เรื่องแบบนี้จึงต้องพูดซ้ำๆ ย้ำกันให้มาก เพื่อกระตุกให้ผู้บริโภคตื่นตัวอยู่เสมอว่า วิกฤติสารพิษในอาหารกำลังโอบล้อมอยู่รอบตัวเราทุกทิศทาง ถ้าแข็งใจสักนิด ย้ำเตือนกับตัวเองบ่อยๆ อย่าเพิ่งเหนื่อยหน่ายถอดใจไปเสียก่อน อย่างน้อยก็ช่วยยืดลมหายใจให้กับตัวเราเองและลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายลงได้บ้าง
ขาว-สวย-ดุ
กล่องโฟมบรรจุอาหารได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่แม่ค้าร้านตลาดทั่วไปก็เพราะมันใช้ง่าย ราคาถูก ใส่อาหารได้สารพัดชนิด แถมยังดูสวยงามน่ารับประทานกว่าการยัดใส่ในถุงแกงธรรมดาๆ ช่วยอัพเกรดสินค้าขึ้นมาอีกระดับ แม้ผู้ค้าจำนวนหนึ่งอาจมีสำนึกดีด้วยการใช้ถุงแกงใสๆ รองใต้อาหารอีกชั้นหนึ่ง แต่นั่นก็ยังไม่ดีพอ
ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อธิบายถึงพิษภัยจากกล่องโฟมไว้ว่า โฟมเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีสไตรีน (Polystyrene: PS) ก่อนนำมาเติมสารเร่งเพื่อช่วยให้เกิดการพองตัวและเกิดการแทรกตัวของก๊าซในเนื้อพลาสติก ทำให้ได้พลาสติกที่มีน้ำหนักเบา สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุอาหารในรูปแบบต่างๆ ได้ตามต้องการ แต่เมื่อถูกนำไปใช้บรรจุอาหารที่ร้อนจัดและอาหารทอดที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ จะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้สารอันตรายแตกตัวออกมาจากภาชนะโฟมได้
สารพิษที่ไหลออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ได้แก่ สไตรีน (Styrene) เบนซีน (Benzene) โดยที่สารสไตรีนจะส่งผลต่อร่างกายเมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาจะทำให้ระคายเคือง หากสูดเข้าไปจะมีอาการไอ หายใจลำบาก ปวดศีรษะ ง่วงซึม เป็นต้น
ส่วนอันตรายจากสารเบนซีนสำหรับผู้ที่ได้รับสารเข้าไปในระยะแรกจะเกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ถ้าดื่มหรือกินอาหารที่มีสารเบนซีนปนเปื้อนสูงจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง เนื่องจากกระเพาะถูกกัดกร่อน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน ชัก หัวใจเต้นแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
มีมะเร็งมาฝาก
จากการติดตามศึกษาถึงผลกระทบและอันตรายในกล่องโฟม ภก.ณรงค์ชัย จันทร์พร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า โดยทั่วไปแล้วกล่องโฟมจะทนความร้อนได้เพียง 70 องศาเซลเซียส หากสัมผัสอุณหภูมิที่สูงกว่านั้นหรือนำเข้าเตาอบไมโครเวฟ กล่องโฟมจะเสียรูปและอาจทำให้สารเคมีที่อยู่ในเนื้อโฟมแพร่กระจายออกมาปนเปื้อนสู่อาหารได้ง่ายและเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้
“สารเบนซีนเป็นสารที่หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีความเป็นพิษสูงและเป็นสารก่อมะเร็ง ถ้ากินอาหารที่มีสารเบนซีนปนเปื้อนสูงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือด (ลูคิเมีย) โรคโลหิตจาง เนื่องจากเบนซีนจะเข้าไปทำลายไขกระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลงและทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้” ภก.ณรงค์ชัย ระบุ
อย่างไรก็ตาม สำหรับสารสไตรีนยังไม่มีข้อมูลระบุชัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ด้วยหรือไม่ แต่พบว่าทำให้เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลอง จึงจัดเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B (Possibly Carcinogen) โดยปริมาณของสารสไตรีนที่แพร่กระจายเข้าสู่อาหารจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ อุณหภูมิของอาหารที่บรรจุ ปริมาณไขมันในอาหาร และระยะเวลาที่ภาชนะโฟมสัมผัสกับอาหาร
ภก.ณรงค์ชัย ย้ำอีกว่า “นอกจากสารสไตรีนและเบนซีนแล้ว ยังมีสารทาเลท (Phthalate) ซึ่งเป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ผู้ชายเป็นหมัน ส่วนหญิงมีครรภ์อาจให้กำเนิดลูกที่มีอาการดาวน์ซินโดรมหรือปัญญาอ่อน”
ภก.ณรงค์ชัย ยืนยันข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาพิษวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ของ ชุมาพร รถสีดา ปี 2552 เรื่อง ‘การประเมินความเสี่ยงจากสไตลีนโมโนเมอร์ที่เคลื่อนย้ายจากภาชนะบรรจุอาหารชนิดโฟมโพลีสไตรีนเข้าสู่อาหาร’ ผู้วิจัยได้ทดสอบปริมาณสไตรีนที่เคลื่อนย้ายจากอาหารที่บรรจุอยู่ในกล่องโฟม ภายใต้อุณหภูมิห้องและอุณหภูมิร้อน การใส่เครื่องปรุง ได้แก่ มะนาว น้ำปลา น้ำเกลือ น้ำพริก น้ำเชื่อม น้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ น้ำกลั่น การแช่ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง รวมถึงการอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ
ผลวิจัยพบว่า “การแพร่กระจายของสไตรีนปนเปื้อนสู่อาหาร มีความสัมพันธ์กับปริมาณความเข้มข้นของสไตรีนและสารเคมีในกล่องโฟม อาหารที่ร้อน มีความเป็นกรด เค็ม หวาน เผ็ด มัน และระยะเวลาที่อาหารสัมผัสกับกล่องโฟม รวมทั้งการอุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟ”
กฎหมายตามไม่ทัน
ปัจจุบันกฎหมายที่ควบคุมมาตรฐานและการแสดงฉลากของกล่องโฟมมี 3 ฉบับคือ
1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 (พ.ศ. 2548) เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ซึ่งได้กำหนดปริมาณสไตรีน ตะกั่ว และสารเคมีอื่นที่ให้มีได้ในเนื้อโฟมสูงสุด
2. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4225 (พ.ศ. 2553) เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร ตามมาตรฐานเลขที่ มอก.655 เล่ม 1-2553 โดยได้กำหนดประเภทภาชนะพลาสติกที่ทนความร้อน ธรรมดา ทนความเย็น และกำหนดปริมาณสไตรีน ตะกั่ว และสารเคมีอื่นที่ให้มีได้ในเนื้อโฟมสูงสุด
3. ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2544) เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งต้องแสดงคำเตือน ‘ห้ามใช้บรรจุของร้อน’ และ ‘ไม่ควรใช้บรรจุอาหารที่กำลังร้อนจัด โดยเฉพาะอาหารทอดด้วยน้ำมัน‘ สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทนความร้อนได้ไม่เกิน 95 องศาเซลเซียส
ภก.ณรงค์ชัย ตั้งข้อสังเกตต่อกฎหมายทั้ง 3 ฉบับว่า “จะเห็นได้ว่ายังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการแพร่กระจายของสารเบนซีนและทาเลทในภาชนะกล่องโฟม และไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจังด้านคุณภาพ มาตรฐาน และการแสดงฉลากให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะคำแนะนำไม่ให้ใช้ภาชนะกล่องโฟมในการบรรจุอาหารที่ร้อนเกิน 70 องศาเซลเซียส หรืออาหารที่มีไขมัน หรือนำเข้าไปอุ่นในเตาไมโครเวฟ ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งและสารพิษจากกล่องโฟม”
ตัวใครตัวมัน
แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานการผลิตกล่องโฟมในระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการพยายามพัฒนากระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้ภาชนะโฟมที่ไม่เหมาะสม เช่น นำชามโฟมไปใส่ก๋วยเตี๋ยวที่ร้อนจัด หรือนำไปใส่อาหารที่เพิ่งทอดเสร็จใหม่ๆ ซึ่งสไตรีนจะละลายตัวได้ดีในน้ำมัน ทำให้ผสมปนเปกับอาหารได้ง่าย หรือแม้กระทั่งมีการนำอาหารในกล่องโฟมไปอุ่นในเตาไมโครเวฟ ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายอย่างยิ่ง
ในเมื่อยังไม่สามารถควบคุมการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารอย่างถูกสุขลักษณะได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้แนะนำให้ผู้บริโภคตระหนักและเพิ่มความระมัดระวังในการใช้กล่องโฟม ก่อนนำมาใช้ควรกำจัดเศษโฟมที่หลงเหลืออยู่ตามผิวภาชนะออกก่อน หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้กล่องโฟม ถึงขั้นแนะนำให้พกพาภาชนะส่วนตัวเมื่อไปซื้ออาหารตามร้านอาหารทั่วไป เพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมีสะสมในร่างกายในระยะยาวจนก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
ขณะเดียวกัน หากจะออกมาตรการบังคับให้ผู้ผลิตภาชนะติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ให้ชัดๆ ว่า ‘กล่องโฟมนี้มีสารก่อมะเร็ง’ หรือแม้กระทั่งมาตรการเพิ่มภาษีในผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารที่ทำจากโฟม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะภาครัฐกลัวถูกภาคเอกชนฟ้องร้องเอาได้ ในข้อหากีดกันการค้า
สรุปง่ายๆ ว่า ถ้ายังไม่อยากตายผ่อนส่ง ผู้บริโภคก็ควรระแวดระวังกันเอาเอง เพราะในเวลานี้ยังไม่สามารถพึ่งพาหรือฝากความหวังให้กับหน่วยงานรัฐได้
ทางเลือกราคาแพง
กล่องโฟมที่ผลิตขึ้นในวันนี้จะใช้เวลาในการย่อยสลายอีก 450 ปีข้างหน้า ภก.ณรงค์ชัย ให้ข้อมูลว่า บางประเทศอย่างสวีเดนถึงกับกำหนดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะกล่องโฟมใบละ 6 บาท สูงกว่าราคากล่องโฟมซึ่งขายกันราคาใบละ 1 บาท เพราะหากเทียบกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและพิษต่อร่างกายแล้ว ราคานี้ถือว่าสาสม
เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ฝรั่งเศส แคนาดา สหรัฐอเมริกาในบางรัฐ ซึ่งตระหนักถึงปัญหาการใช้กล่องโฟม โดยได้ยกเลิกการใช้กล่องโฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหาร และส่งเสริมการใช้กล่องบรรจุอาหารที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เช่น กล่องโฟมจากมันสำปะหลัง ข้าวโพด ชานอ้อย ฯลฯ ซึ่งใช้เวลาเพียง 45 วัน ก็ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยในดิน
“จากการตรวจสอบราคาภาชนะทดแทนกล่องโฟมที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า พบว่า กล่องบรรจุอาหารที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ ขนาด 600 ซีซี มีราคาสูงกว่ากล่องโฟมขนาดเท่ากันใบละ 30 สตางค์ (ราคาใบละ 2 บาท และ 1.70 บาท) ส่วนชามไบโอชานอ้อย ขนาด 6 นิ้ว มีราคาสูงกว่าชามโฟมในขนาดเท่ากันใบละ 1 บาท (ราคาใบละ 3.90 บาท และ 2.90 บาท)” ภก.ณรงค์ชัย ระบุ
หันกลับมามองประเทศไทย ยังไร้วี่แววว่าหน่วยงานรัฐจะหันกลับมาคิดทบทวนถึงปัญหาเหล่านี้อย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งมาตรการสนับสนุนราคาของวัสดุทดแทนโฟมให้ถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ การบังคับให้แสดงฉลากที่ชัดเจน และการรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้วัสดุย่อยสลายได้ อีกส่วนหนึ่งย่อมต้องอาศัยพลังจากผู้บริโภคเองที่จะต้องตื่นรู้และร่วมมือกันงดใช้ภาชนะโฟม ไม่เช่นนั้นก็รับประทานเมนู ‘ข้าวคลุกสไตรีน’ กันต่อไป