โลกของคนช่างฝันย่อมดีกว่าฝันของคนช่างโลก

yendee 42

 

ถ้าไม่นับกรณีอนันดา เอเวอริ่งแฮม ตอบรับเย็นดีเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ค (เธอ ‘รอการตอบรับ’ จากพระเอกมีไฝมาตั้งแต่ปีที่แล้ว) ดูเหมือนว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีแต่ข่าวร้ายมาเยือน นับตั้งแต่ภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น น้ำท่วมภาคใต้ แผ่นดินไหวที่สเปน (ไหนจะคางคกที่ออกมารวมตัวกันข้างถนนในประเทศจีน) ไหนจะข่าวการตายของบิน ลาเดน

เย็นดีเศร้าใจประสาเด็กใจอารีที่ชาวอเมริกันพากันออกมาเต้นระบำไปกับความตายของชายเครายาวผู้นี้…ที่เศร้า เพราะชาวอเมริกันเหล่านั้นลืมไปแล้วหรือว่าการโจมตีด้วยเครื่องบินในปากีสถานมีคนถูกฆ่าตายไปราว 1,900 คน ไหนจะการใช้กำลังทั้งทางตรงและอ้อมของสหรัฐ บนดินแดนต่างๆ บนโลกที่ (คาดว่าน่าจะ) มีผลประโยชน์ (แอบแฝงอยู่)

ถ้าทฤษฎีที่ใครต่อใครบอกว่าเหตุของการสวมบทฮีโร่ของรัฐบาลทำเนียบขาวหลายต่อหลายสมัยคือผลประโยชน์ที่อยู่ใต้ดินเป็นเรื่องจริง เย็นดีคิดว่าเหตุใดประเทศฉลาดๆ อย่างอเมริกาจึงไม่คิดค้นหาวิถีวิธีที่มนุษย์สามารถอยู่บนโลกนี้ได้ต่อไป โดยเฉพาะหากว่านั่นคือวิธีที่จะทำให้มนุษย์กับมนุษย์ขัดแย้งกันน้อยลง

ช่างอเมริกา! เย็นดีค้นพบว่าท่ามกลางข่าวร้ายยังมีข่าวดีเกิดขึ้นอยู่รอบโลก

นอกจากความรัก, โลกต้องขับเคลื่อนด้วยแรงบันดาลใจ

 

จงส่งเสียงดังช่วยโลก

ดร.ซอง-วู คิม หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันนาโนเทคโนโลยี แห่ง Sungkyunkwan University ณ กรุงโซล กำลังจะเปลี่ยนเสียง ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า!

ทีมวิจัยจากดินแดนแห่งการขอโทษ (Sorry, Sorry-Super junior) ค้นพบว่า พลังงานจากเสียงนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากรูปแบบ โดยไม่เพียงจะทำให้โทรศัพท์มือถือสามารถชาร์จแบตเตอรีขณะรับเสียงสนทนา แต่ยังสามารถชาร์จเมื่อได้รับเสียงจากสถานการณ์หนวกหูอื่นๆ ด้วย

การชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือด้วยการส่งเสียงลงไปในโทรศัพท์เป็นกระบวนการแปลงพลังงานเสียงเป็นพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ดร.คิม ระบุว่า พลังงานเสียงที่แวดล้อมหรือเสียงรบกวน (Noise) สามารถนำมาใช้เพื่อการชาร์จแบตเตอรีได้ด้วย

ไม่หยุดแค่นั้น ดร.คิม ปรารถนาให้เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปสร้างเป็น ‘ผนังฉนวนเสียง’ แล้วติดตั้งบริเวณริมทางหลวง เพื่อนำเสียงยานยนต์ที่วิ่งผ่านไปมามาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ด้วย

แม้ทีมวิจัยยังไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาการพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ววันนี้ เนื่องจากยังต้องใช้เวลาในการพัฒนากระบวนการแปลงเสียงเป็นไฟฟ้า โดยขณะนี้ ประสิทธิภาพของกระแสไฟฟ้าที่ได้จากระบบของเกาหลีใต้สามารถนำไปใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้พลังงานต่ำเท่านั้น เช่น ระบบเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ถูกปลูกถ่ายในร่างกาย ซึ่งต้องมีระบบการชาร์จพลังงานด้วยตัวเอง

แต่ทีมวิจัยเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างระบบแปลงพลังงานเสียงเป็นไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ในขณะนี้ต้นแบบระบบแปลงเสียงเป็นไฟฟ้าของทีมวิจัยสามารถแปลงเสียง 100 เดซิเบล ให้เป็นไฟฟ้าขนาด 50 มิลลิโวลต์

ความคิดเห็นของเย็นดี : “ถ้าเป็นอย่างนั้น…โลกคงต้องเตรียมหาคำนิยามให้กับเสียงอึกทึกครึกโครมที่มีอยู่อย่างรกโลก…เสียใหม่แล้ว”

 

ยืนขึ้นเถิด…สาวเอ๋ย

Shanxi Normal University อาจจะประหยัดน้ำได้วันละ 160 ตัน ถ้าหากว่า…ถ้าหากว่านักศึกษาหญิงแต่ละคนยืนฉี่…ย้ำ ยืนฉี่!

มหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองซีอาน มณฑลส่านซีแห่งนี้ติดตั้งโถปัสสาวะไว้ที่ผนังสำหรับนักศึกษาหญิงยืนถ่ายเบา หากนักศึกษาหญิงคนใดยืนต่อหน้าโถนี้แล้วเงยหน้าขึ้นมองผนังจะพบข้อความ “มหาวิทยาลัยของเราสามารถประหยัดน้ำได้วันละ 160 ตัน ถ้านักศึกษาหญิงแต่ละคนยืนปัสสาวะ” พร้อมฮาว-ทูสำหรับการยืนปัสสาวะสำหรับผู้หญิง ด้านล่างของป้ายรณรงค์มีตะแกรงใส่อุปกรณ์คล้ายกรวยกระดาษสำหรับรองปัสสาวะของผู้หญิงขณะยืนฉี่

จากการคำนวณของผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ผู้หญิงปัสสาวะแต่ละครั้ง มีน้ำปัสสาวะออกมา ราว 300 มิลลิลิตร และต้องใช้น้ำถึง 6 ลิตร ในการล้างทำความสะอาดน้ำปัสสาวะ ขณะที่ผู้ชายซึ่งโดยทั่วไปใช้โถปัสสาวะ ใช้น้ำล้างปัสสาวะอย่างมากที่สุดเพียง 3 ลิตร

จากข้อมูลแปรเปลี่ยนเป็นไอเดียเช่นนี้แล

ความคิดเห็นของเย็นดี : “ทั้งหนักทั้งเบาเลยนะ…ประเทศจีน”

พลาสติกแช่น้ำปลา

มันเริ่มจากการที่พวกเขาและเธอสังเกตเจลาติน หรือวุ้นจากขนมเยลลี ที่มีลักษณะยืดหยุ่นคล้ายพลาสติก แล้วค้นคว้าหางานวิจัยประกอบ พบว่าเจลาตินสามารถทำได้จากวัตถุดิบหลายชนิด หนึ่งในตัวเลือกหลากหลายนั้นคือ ‘เกล็ดปลา’ พวกเขาและเธอในที่นี้หมายถึงนักเรียนมัธยมปลายแห่งโรงเรียนจากสุราษฎร์พิทยา จึงเลือกเกล็ดปลา เนื่องจากหาง่ายและเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากครัวเรือน

อารดา สังขนิตย์ นักเรียนจากสุราษฎร์พิทยา อธิบายว่า พวกเธอได้เลือกเกล็ดปลากะพงมาใช้ เนื่องจากได้มวลและความแข็งแรงสูง เมื่อนำมาผลิตเป็นเจลาตินและใช้ภาชนะเป็นแบบ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใส่อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถย่อยสลายได้ภายใน 28 วัน ต้นทุนการผลิตก็ถูกกว่าโฟมอีกด้วย

พรวสุ พงศ์ธีระวรรณ สมาชิกในทีมอีกคนยังบอกอีกว่า หลังจากนี้จะพัฒนาและทดลองให้พลาสติกจากเกล็ดปลาสามารถนำไปใช้ในเตาไมโครเวฟได้ต่อไป

พลาสติกจากเกล็ดปลา (Bio-based Packaging Plastics from Fish Scale) เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ของกลุ่มนักเรียนกลุ่มนี้ที่เพิ่งไปคว้ารางวัลทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ความคิดเห็นของเย็นดี : “พวกผู้ใหญ่ชอบบ่นว่าพวกเขาแบกภาระไว้เต็มสองบ่า แต่วัยหนุ่มสาวมักแบกความหวังไว้บนนั้น”

 

***************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์โลกร้อน เย็นดี พฤษภาคม 2554)

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า