ในทวีปแอฟริกา ทวีปที่เคยประสบปัญหา ‘ความหิว’ หลังจากเวลาผ่านไป ปัญหาสุขภาพใหม่ที่กำลังเข้ามาแทนที่โรคร้ายแรงอื่นๆ คือ ‘โรคอ้วน’
เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคอ้วนเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ โดยเฉพาะในเด็กที่มีน้ำหนักเกิน หรือ ‘เด็กอ้วน’ ยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับโรคเบาหวานและโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อยมีเพิ่มขึ้น รวมไปถึงโรคต่างๆ ที่มีความอ้วนเป็นบันไดขั้นแรกเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
รายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า โรคอ้วนในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพิ่มจำนวนมากขึ้นระหว่างปี 1990-2014 จาก 4.8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 6.1 เปอร์เซ็นต์ หรือจากจำนวน 31 ล้านคน เป็น 41 ล้านคน เฉพาะในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง มีจำนวนเด็กอ้วนเพิ่มเป็นสองเท่า จาก 7.5 ล้านคน เป็น 15.5 ล้านคน ทั้งนี้ WHO คาดการณ์ว่า จำนวนเด็กอ้วนทั่วโลกจะพุ่งขึ้นถึง 70 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า
ข้อสังเกตสำคัญคือ จำนวนของเด็กอ้วนที่เพิ่มขึ้นมักมาจากกลุ่มประเทศรายได้น้อยจนถึงปานกลาง ในปี 2014 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่มีน้ำหนักเกิน 48 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในเอเชีย 25 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในแอฟริกา ซึ่งในแอฟริกานั้น จำนวนเด็กอ้วนได้เพิ่มจำนวนจาก 5.4 ล้านคนเป็น 10.3 ล้านคน ภายในเวลาประมาณ 25 ปี
ไม่ต่างจากในประเทศอื่นๆ โรคอ้วนเกิดจากวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะมีการเปลี่ยนเขตที่อยู่อาศัยจากชนบทเป็นชุมชนเมือง กิจกรรมของเด็กจะน้อยลง แต่โอกาสเข้าถึงอาหาร ‘อ้วนๆ’ จะเพิ่มขึ้น รวมถึงสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ภาวะขาดสารอาหาร หรือการได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม หากสารอาหารบางตัวที่มากหรือน้อยเกินไป ก็สามารถทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินได้ง่าย
แอฟริกาใต้คือหนึ่งในประเทศที่มีคนอ้วนมากที่สุดในทวีป จนทางการต้องวางแผนที่จะลดภาวะน้ำหนักเกินให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ภายในสี่ปี มีการเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างโครงการอาหารเพื่อสุขภาพ สนับสนุนการออกกำลังกาย ลดการบริโภคอาหารจานด่วน ไปจนถึงการปรับโครงสร้างภาษีของเครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน