ประเด็นใหญ่ในคำถามเล็กๆ เรื่องเอ็นทรานซ์ระบบใหม่

จากข่าวที่ว่า

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผยข้อสรุปจากการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เรื่องการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาว่า
จะทำการปรับระบบรับนักเรียนเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาใหม่ ซึ่งจะเริ่มในปีการศึกษา 2561 โดยปรับให้นักเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อน และเปิดให้สอบพร้อมกัน ‘ครั้งเดียว’ ในช่วงกลางเดือนมีนาคม คือ สอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) สอบวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) การสอบวิชาสามัญเก้าวิชา คาดว่าจะใช้เวลาจัดสอบประมาณสองเดือน จากนั้นจะมีการประกาศคะแนน เพื่อให้เลือกคณะได้สี่อันดับ โดยระบบใหม่เปิดโอกาสให้เด็กยื่นคะแนนเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ได้สองครั้ง ซึ่งในระหว่างนี้มหาวิทยาลัยจะไม่สามารถเปิดรับตรงได้ คิดว่าจะสามารถรับเด็กเข้าเรียนได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ก็สามารถไปสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ยังมีที่นั่งว่างได้โดยตรงอีกครั้งหนึ่ง

 

2016-08-29 admission

ประเด็นเรื่องการสอบเข้าระดับอุดมศึกษาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำว่า ‘เอ็นทรานซ์’ คือคำติดหูของหลายคน จากนั้นก็เปลี่ยนเป็น ‘แอดมิชชั่น’ บวกระบบการสอบหลายแบบจนจำชื่อแทบไม่ได้ และล่าสุด มีข่าวแว่วมาว่า จะมีการเริ่มใช้ระบบเอ็นทรานซ์ใหม่ในปี 2561 ซึ่งคล้ายระบบเอ็นทรานซ์เก่า คือ สอบรอบเดียวจบ

ในเบื้องต้น โดม-ภราดร เทพสุภา บล็อกเกอร์การศึกษา และวิทยากรรับตรงและแอดมิชชั่น Admission Premium (admissionpremium.com) บรรณาธิการและวิทยากรรับตรง-แอดมิชชั่น Eduzones (eduzones.com) ได้ให้ความเห็นถึงข้อดีข้อเสียของระบบเอ็นทรานซ์เก่าและใหม่ไว้ดังนี้

ข้อดีของระบบเอ็นทรานซ์แบบใหม่หรือเคลียริงเฮาส์ใหม่คืออะไร

ระบบเคลียริงเฮาส์นี้มันต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องความเครียดที่เด็กๆ ต้องสอบหลายๆ ที่ หลายๆ ครั้ง และต้องเตรียมตัวสอบตั้งแต่อยู่ ม.4 เดี๋ยวนี้เขาต้องเตรียมกันตั้งแต่ตอนนั้นแล้วนะครับ เพราะพอคุณขึ้น ม.6 ปุ๊บ คุณต้องไปไล่สอบตั้งแต่ GAT/PAT สอบตรงของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ระบบนี้คือไปสอบกลางครั้งเดียวเลย ช่วงปิดเทอมหลายๆ เดือน

แล้วข้อเสียล่ะ?

สิ่งที่เกิดขึ้น ข้อแรก – มันคือการกลับไปเป็นระบบแพ้คัดออกอีกครั้ง ต่างจากแอดมิชชั่นที่เด็กๆ จะมีโอกาสค่อยๆ สอบไปและประเมินคะแนนของตัวเอง เอาไปเทียบกับคะแนนรวม และเทียบกับคะแนนของคณะที่ตัวเองมุ่งจะไปได้ แต่ตอนนี้การสอบตรงของมหาวิทยาลัยเองจะหายไป

มันนำไปสู่การที่มหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคจะถูกมองข้าม เช่น ข้อเสียของแอดมิชชั่นคือการทำให้เด็กๆ ต้องสอบมาก สอบหลายครั้ง มหาวิทยาลัยเองเปิดรับตรงหลายที่ และมันจะเป็นช่วงเวลาที่รู้กันว่า โอเค มหาวิทยาลัยนี้ คณะนี้จะเปิดที่แรก หลังคะแนน GAT/PAT ประกาศรอบแรกเลยนะ ฉะนั้นเด็กๆ อยากจะเข้าที่นี่ และเขาไม่อยากจะเครียด ตระเวนสอบต่อไปแล้ว เขาก็ตัดสินใจเลือกไปเลย คือมันอาจจะเป็นผลทางจิตวิทยาที่เลือกที่ตัวเองติดไปก่อน แต่มันก็ทำให้เกิดการกระจายค่านิยมไปเลือกมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยตัวท็อปๆ ของประเทศ

มหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคยังมีโอกาสได้เด็กที่เหมาะสมกับความต้องการของสาขาตัวเองไปหล่อหลอมพัฒนาต่อบ้าง ฉะนั้นระบบนี้มันเหมือนผลักให้เด็กๆ หันหน้ากลับไปแย่งชิงเก้าอี้ในมหาวิทยาลัยดังๆ แทน

สรุปแล้วระบบใหม่ดีหรือไม่ดีกันแน่

ระบบใหม่นี้ทำให้เกิดความเท่าเทียมจริงๆ ครับ เพราะเด็กไม่ต้องเสียตังค์สอบหลายรอบและหลายที่ แต่มันเป็นเท่าเทียมที่จำกัดโอกาส เพราะมันเป็นระบบแพ้คัดออก

จำกัดอย่างไร เพราะเด็กๆ จะไม่มีโอกาสประเมินคะแนน หรือได้แก้ตัวได้ สมมุติว่าสอบครั้งนี้คุณป่วย คุณเกิดอุบัติเหตุอะไรสักอย่างที่มันบั่นทอนสมรรถภาพในการสอบครั้งนั้น และมันเกิดขึ้นได้นะครับ ฉะนั้น มันเลยไม่ได้เป็นการรับประกันว่า จะลดปัญหาเรื่องความเครียดที่เกิดจากการตระเวนสอบจริงๆ

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า