25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2016-2017 (2)

‘Project Censored’ โครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท (Sonoma State University) สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นคัดเลือกออกมาเป็น 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม

กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์ และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา มีประมาณ 700-1,000 ข่าวต่อปี จากนั้นคณาจารย์ นักศึกษา และสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือ ของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ

นี่คือ 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวในปี 2016-2017 ลำดับที่ 20-16


20. Block the Bunker กลุ่มนักกิจกรรมที่สามารถถอนงบตำรวจได้สำเร็จ

เพื่อลดสถิติอาชญากรรมในซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน สภาตัดสินใจที่จะเพิ่มงบประมาณให้กับตำรวจและเพิ่มสถานีตำรวจให้มากขึ้น แน่นอนว่าประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า ‘ตำรวจมากขึ้น สังคมจะปลอดภัยมากขึ้น’

กันยายนปี 2016 ‘Block the Bunker’ กลุ่มนักเคลื่อนไหวในซีแอตเติลจึงออกมาเรียกร้องและโน้มน้าวให้ภาครัฐยุติแผนการสร้างสถานีตำรวจเพิ่ม และเสนอว่างบประมาณ 150 ล้านดอลลาร์ที่จะใช้กับโครงการตำรวจควรนำไปจัดสรรให้กับหน่วยบริการชุมชนเพิ่มขึ้นจะดีกว่า

แน่นอนว่าพวกเขาทำสำเร็จ และเป็นนักกิจกรรมกลุ่มแรกในสหรัฐที่ทำสำเร็จ แต่น่าเสียดายที่สำนักข่าวท้องถิ่นอย่าง KING5 ของ NBC และ The Seattle Times กลับรายงานเรื่องเกี่ยวกับ Block the Bunker เพียงน้อยนิด กับภาพการเข้าขัดขวางการประชุมของสภา รวมถึงไม่ได้กล่าวถึงความสำเร็จที่พวกเขาสามารถหยุดยั้งการเพิ่มเม็ดเงินให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

‘Block the Bunker’ กลุ่มนักกิจกรรมในซีแอตเติลเป็นการรวมตัวของทุกเชื้อชาติ ทั้งชาวผิวดำ ชาวเอเชีย หรือแม้แต่อเมริกันพื้นเมือง โดยมีเป้าหมายเรียกร้องให้ชาวซีแอตเติลมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ผ่านการร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งในชุมชนด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาตำรวจมากเกินความจำเป็น ความน่าสนใจของกลุ่มดังกล่าวยังไม่หมดเพียงเท่านั้น Block the Bunker ยังถือเป็นขบวนการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติที่สำคัญและเข้มแข็งที่สุดในสหรัฐอีกด้วย  

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/20-seattle-activist-group-leads-first-successful-campaign-defund-police/

 

19. นักโทษประท้วงการใช้แก๊สน้ำตาและอาวุธเคมีในเรือนจำสหรัฐ

สองนักข่าว เดเนียล โมตตาร์ (Daniel Moattar) จาก The Nation และ ซาราห์ ลาซาร์ (Sarah Lazare) แห่ง AlterNet ทำข่าวสืบสวนเปิดโปงการทำงานของเจ้าหน้าที่ในสถานควบคุมและเรือนจำทั่วประเทศสหรัฐ ทั้งจากการสัมภาษณ์นักโทษและรวบรวมจดหมายจากชาวคุกที่ส่งไปยัง War Resisters League องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสหรัฐ ต่อสู้และต่อต้านการกระทำที่ทำให้เกิดสงครามทุกรูปแบบ และเริ่มทำข้อมูลเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2013

แม้จะมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่นักข่าวทั้งคู่เริ่มตีประเด็นอย่างจริงจังราวปีที่แล้ว หลังผู้ต้องขังคนหนึ่งตายจากการถูกรมด้วยแก๊สน้ำตาในคุก ข้อมูลที่ทยอยเผยแพร่มีประเด็นว่า มีการใช้แก๊สน้ำตาและอาวุธทางเคมีอื่นๆ จริงในคุกสหรัฐ แม้อนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีปี 1997 จะระบุห้ามใช้อาวุธที่ว่าอย่างจริงจัง หากคำถามคือ อุปกรณ์และวัตถุดิบใช้ทำแก๊สและสเปรย์พริกไทยนำเข้ามาจากไหน และบริษัทใดเป็นผู้ขายให้

Sabre, Combined Tactical Systems (CTS), Sage และ Safariland คือรายนามบริษัทขายวัตถุดิบทำแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยที่มีชื่อในรายงานของ War Resisters League โดยระบุในสัญญาซื้อขายว่า designed specifically for ‘enclosed spaces’ หรือ สินค้าที่ถูกออกแบบพิเศษสำหรับใช้ในพื้นที่อับอากาศ ขณะที่บทความหนึ่งของโมตตาร์วิเคราะห์ว่า ผู้ผลิตแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยเหล่านี้ กังวลแค่การหาคู่ค้ารายยักษ์รายใหม่มากกว่าทำตามกฎหมาย

ต้นเดือนมกราคม 2017 ก่อนรัฐบาลชุด โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้าสาบานตน เครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรได้รวบรวมลายเซ็นจำนวน 13,000 ชื่อต่อกระทรวงยุติธรรม (Department of Justice) และขณะที่จดหมายจากผู้ต้องขังยังส่งถึง War Resisters League เรื่อยๆ นักข่าวและนักเคลื่อนไหวยังคงทำข่าวสืบสวนเพื่อเปิดโปง แต่ข่าวนี้ก็ยังคงติดอยู่ในอันดับที่ 19 ของข่าวที่ไม่เป็นข่าวประจำปี 2017 อยู่ดี

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/19-inmates-activists-protest-chemical-weapons-us-prisons-jails/

 

18. ทรานส์เจนเดอร์ถูกฆาตกรรมเพราะเรื่องเพศและสีผิวเพิ่มมากขึ้น

นี่คือการทำข่าวสืบสวนอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2016 ของ เมอเรดิธ ทาลูซาน (Meredith Talusan) สำนักข่าว Mic ในประเด็นใหญ่ ‘ทำไมชีวิตของทรานส์จึงไม่ถูกพูดถึง และเราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อจะหยุดความรุนแรงเหล่านี้’ หากประเด็นที่ติดชาร์ตอันดับที่ 18 คือประเด็นว่า ตัวเลขทรานส์เจนเดอร์สัญชาติอเมริกันถูกฆาตกรรมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ตัวเลขบุคคลทั่วไปที่เสียชีวิตจากการฆาตกรรมคือทุกๆ 1 ใน 19,000 คน ต่อปี

ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆาตกรรมที่มีอายุระหว่าง 15-34 ปี คือทุกๆ 1 ใน 12,000 คน ต่อปี

ตัวเลขทรานส์เจนเดอร์ผิวสีที่เสียชีวิตจากการฆาตกรรมคือทุกๆ 1 ใน 2,600 คน ต่อปี

ในตัวเลขดังกล่าว แม้ตัวเลขของทรานส์เจนเดอร์และเป็นคนผิวสีจะถูกฆาตกรรมในอัตราส่วนที่น้อยกว่าบุคคลโดยทั่วไป แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะมูลเหตุเรื่องการเป็น ‘ทรานส์’ มันกลับบอกความเสี่ยงที่ทรานส์เจนเดอร์จะถูกกระทำความรุนแรงเกินกว่าบุคคลทั่วไป

ปัญหาซับซ้อนมากกว่านั้นคือขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อระบุเพศ ครอบครัวไม่ยอมรับ ‘เพศที่ผู้ตายเลือกเป็น’ นั่นหมายถึงอาจมีทรานส์เจนเดอร์ที่ถูกฆ่าเพราะการเลือกเพศมากกว่ารายงานจากทางการด้วย

ทาลูซานสัมภาษณ์ตำรวจคนหนึ่งซึ่งเป็นทรานส์หญิง ซึ่งระบุว่า ในชีวิตการทำงาน ถ้าผู้ตายเป็นทรานส์ เธอจะไม่ระบุเพศ อย่างน้อยก็ต้องไม่ใช่ในการรับรองเอกสารตำรวจ

ข้อมูลจาก National Coalition of Anti-Violence Programs (NCAVP) องค์กรติดตามเฉพาะคดีฆาตกรรมของทรานส์เจนเดอร์ เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2010 ถึงปัจจุบัน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2010 มีทรานส์เจนเดอร์ ‘อย่างน้อย’ 111 รายที่ถูกฆาตกรรมเพราะการเป็นทรานส์ และที่ว่า ‘อย่างน้อย’ เป็นเพราะนั่นคือข้อมูลที่เป็นทางการ หรือครอบครัวยืนยันหลักฐานให้ และในบรรดากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ไม่มีกลุ่มใดเผชิญหน้ากับความรุนแรงถึงแก่ความตายมากเท่าทรานส์เจนเดอร์อีกแล้ว หรือคิดเป็นตัวเลขอยู่ที่ราว 67 เปอร์เซ็นต์ของคดีฆาตกรรมเพราะความเกลียดชัง

ที่มากไปกว่านั้น คดีฆาตกรรมเพราะความเกลียดชังอันเนื่องมาจากการเป็น LGBTQ ญาติของผู้ตายส่วนใหญ่มักลังเลที่จะไปแจ้งความ หรือขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้ถึงที่สุด และมีรายงานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งระบุว่า ผู้ทำการฆาตกรรมทรานส์ที่เป็นคนผิวดำหรือผู้หญิงผิวดำ มักถูกตั้งข้อหารุนแรงน้อยกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับโทษคดีฆาตกรรมทั่วไป คือต้องโทษระดับเดียวกับการข่มขืน หรือการฆ่าโดยไม่เจตนา

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/18-rise-number-transgender-people-murdered/

 

17. เยาวชนฟ้องรัฐบาลสหรัฐ ฐานเพิกเฉยไม่ยับยั้งความเสียหายจากปัญหาโลกร้อน

กันยายน 2015 เยาวชนจำนวน 21 คน อายุตั้งแต่ 8-19 ปี ยื่นหนังสือต่อศาลประจำเมืองยูจีน (Eugene) รัฐโอเรกอน แสดงความจำนงขอเป็น ‘โจทก์’ ฟ้องรัฐบาลกลางสหรัฐ และบริษัทผู้ผลิตพลังงานเชื้อเพลิง ว่าเพิกเฉย ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายต่อปรากฏการณ์โลกร้อน ทั้งที่รัฐควรทำหน้าที่พิทักษ์และปกป้องทรัพยากรโดยรวม หรือยึดหลักการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ (Public Trust Doctrine) ซึ่งเป็นกฎหมายสหพันธรัฐ (federal law) มาตั้งแต่ปี 1892 

หมุดหมายการต่อสู้ครั้งนี้เริ่มขึ้นในปี 2010 หลัง จูเลีย โอลสัน (Julia Olson) ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้อำนวยการ Our Children’s Trust องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่มีพันธกิจเป็นปากเป็นเสียงแทนเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งแต่เดิมตั้งใจจะยื่นหนังสือฟ้องร้องรัฐบาลกลางสหรัฐในประเด็นดังกล่าว หากต้องการรวบรวมสมาชิกซึ่งเป็นเด็กๆ ให้ร่วมขบวนกับเธอ ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่โอลสันได้รู้จักกับ อเล็ค ลูร์ซ (Alec Loorz) ซึ่งขณะนั้นอายุราว 14 ปี อเล็คตกใจกับความจริงที่ทำให้อึดอัดจากสารคดี An Inconvenient Truth ของ อัล กอร์ และผ่านโปรแกรมพัฒนาผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมของ อัล กอร์ ด้วยเช่นกัน อเล็คจึงตกลงเข้าร่วมโครงการด้วยภายใต้เงื่อนไขว่า ‘เขาจะขอเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอง’

เมษายน 2016 โธมัส คอฟฟิน (Thomas Coffin) ผู้พิพากษาศาลแขวงรับคำฟ้องของเยาวชนในชื่อคดีความว่า ‘Juliana v. United States’ ด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลกลางสหรัฐทำลายความไว้วางใจจากสาธารณะ (public trust) ด้วยการสนับสนุนและปล่อยปละละเลยให้บริษัทน้ำมันยังคงดำเนินการข้ามเส้นกฎหมาย ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกไม่มั่นคง

เจมส์ คอนคา (James Conca) คอลัมนิสต์ผู้สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมเขียนวิเคราะห์ลงนิตยสาร Forbes ถึงคำตัดสินดังกล่าวว่า เฉพาะชื่อหรือหัวข้อคำฟ้องร้อง ก็ได้สอบสวนการกระทำของรัฐด้วยตัวมันเองแล้ว และการที่ศาลตัดสินดำเนินเรื่องต่อ ก็ชัดเจนว่าจำเลยคือรัฐบาลกลางสหรัฐได้ทำลายความไว้วางใจจากสาธารณะ ซึ่งเขาได้อธิบายคำว่า ‘ความไว้วางใจจากสาธารณะ’ ไว้ว่า รัฐบาลต้องเป็นผู้ยืนยัน หรือเป็นผู้ที่ทุกคนมอบหมายงานให้จัดการดูแลกับทรัพยากรส่วนรวม ซึ่งประชาชนต้องพึ่งพาในการดำรงชีวิต อิสรภาพ และความร่มเย็นของชีวิต

พฤศจิกายน 2016 แอนน์ ไอเคน (Ann Aiken) ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น (US District Court) ยืนยันคำตัดสินของผู้พิพากษาศาลแขวง ซึ่งทำให้คดี Juliana v. United States เตรียมเข้าสู่กระบวนการต่อไป “คดีนี้แตกต่างจากคดีเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือคดีฟ้องร้องทั่วไป เพราะรัฐบาลในฐานะจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่า การกระทำของจำเลย ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็มีส่วนทำให้เกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อมอยู่ดี” ไอเคนกล่าว

กุมภาพันธ์ 2017 โจทก์ทั้ง 21 คนได้ยื่นเรื่องเปลี่ยนจำเลยจากรัฐบาลชุด บารัก โอบามา เป็นรัฐบาลของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันการพิจารณาคดีออกไปก่อน ซึ่งขณะที่โปรเจ็คท์ ‘ข่าวที่ไม่เป็นข่าวปี 2018’ กำลังติดตามคดีและดำเนินไป โจทก์เยาวชนกลุ่มนี้ก็มีแผนจะเปิดโปง เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) อดีตผู้อำนวยการเอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) บริษัทด้านพลังงานสัญชาติอเมริกัน และผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ

แม้เรื่องทางกฎหมายดูจะดำเนินไปได้ด้วยดีในความเห็นของโจทก์ และดูจะเป็นคดีตัวอย่างในแง่การฟ้องร้องที่ไม่ได้มีผู้เสียหายให้เห็นซึ่งหน้า แต่คือความไว้วางใจสาธารณะ และการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณชน หากก็เป็นอีกเรื่องที่สื่อกระแสหลักในประเทศเล่นข่าวนี้ในปริมาณที่น้อยมาก

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/17-young-plaintiffs-invoke-constitutional-grounds-climate-protection/
https://www.newyorker.com/tech/elements/the-teen-agers-suing-over-climate-change

 

16. วิกฤติโลกร้อนกำลังจะกลืน ‘ซันดาร์บานส์’ ลงน้ำ

ซันดาร์บานส์ (Sundarbans) ในภาษาพื้นเมืองแปลว่า ‘ป่าที่สวยงาม’ คือพื้นที่ดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเชื่อมระหว่างประเทศอินเดียและบังคลาเทศ และเป็นพื้นที่ที่ UNESCO ยกให้เป็นมรดกโลก แต่รายงานอีกด้านของ อนุราธา เซนกัปตา (Anuradha Sengupta) สื่อมวลชนที่ทำตั้งแต่งานเขียนจนถึงสารคดีรายการโทรทัศน์ในอินเดีย ติดตามประเด็นคนชายขอบทุกเรื่อง ทั้งประเด็นเด็กและเยาวชน แรงงานและสิทธิสตรี เขียนบทความเรื่องTired of Running from the River: Adapting to Climate Change on India’s Disappearing Islands (ความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องวิ่งหนีสายน้ำ: วิถีชีวิตที่ต้องกลับตัวหลังวิกฤติโลกร้อนกำลังจะกลืนกินเกาะที่เคยอาศัยอยู่ไป) ไว้ใน Yes Magazine ใจความว่า…

การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในแม่น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในซันดาร์บานส์ ได้ทำลายวิถีชีวิตและการหาอยู่หากินของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ทำการเกษตร ประมง และจับผึ้ง ท่ามกลางการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ว่าซันดาร์บานส์จะจมตัวหรือถูกแม่น้ำกลืนกินภายใน 15-25 ปี แต่ระหว่างรอคอยการเปลี่ยนแปลงนี้ วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นคือน้ำท่วมใหญ่และบ่อยครั้ง ฤดูกาลเปลี่ยนไม่ต้องตรงตามเดิม ฝนตกหนัก มีพายุไซโคลน ซ้ำในพื้นที่ยังมีปัญหาดินเค็มทำให้ทำการเกษตรได้ยากลำบาก

ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลง ผู้ชายในหมู่บ้านเข้าเมืองไปทำงาน ขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ปักหลักอยู่บ้านเกิด และปรับเปลี่ยนวิถีในการทำเกษตรกรรมแทน เช่น ผู้หญิงในหมู่บ้านเริ่มกลับมาปลูกพืชท้องถิ่นซึ่งเคยหายาก ทำแปลงผสมผสาน และทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ แต่ผู้คนที่ปรับตัวเพื่อไปสู่ความยั่งยืนทางการเกษตรนี้ก็ยังเป็นตัวเลขที่น้อยอยู่ดี

งานวิจัยของ อทิตยา โกช (Aditya Ghosh) สื่อมวลชนในซันดาร์บานส์และนักวิจัยที่สถาบันเอเชียใต้ มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก (University of Heidelberg’s South Asia Institute) ชี้ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเฉพาะช่วงปี 2010-2015 นอกจากสร้างความลำบากด้านอาชีพอย่างที่กล่าวไปแล้วยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างน้อย 500 ราย เฉพาะช่วงที่เก็บข้อมูล 1991-2012 การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนี้กระทบในเชิงเศรษฐกิจอย่างน้อยหกเท่า ต่อแรงงานกลุ่มน้อย เช่น เกษตรกรรายย่อย หรือเกษตรกรที่ทำงานได้น้อยกว่าหกเดือนต่อปี

ซึ่งหากคำคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ว่า ซันดาร์บานส์กำลังจะถูกกลืนลงแม่น้ำภายใน 15-25 ปีเป็นจริง ก็หมายความว่าชาวซันดาร์บานส์กว่า 13 ล้านคนจะต้องสูญเสียบ้านและที่ดินของตัวเองไป  

อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/16-resilient-indian-communities-struggle-cope-impacts-climate-change/
http://www.yesmagazine.org/planet/tired-of-running-from-the-river-adapting-to-climate-change-on-indias-disappearing-islands-20160602

ที่มา: projectcensored.org

 

ติดตาม 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2016-2017 (3) เร็วๆ นี้

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า