‘Project Censored’ โครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท (Sonoma State University) สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นคัดเลือกออกมาเป็น 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม
กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์ และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา มีประมาณ 700-1,000 ข่าวต่อปี จากนั้นคณาจารย์ นักศึกษา และสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือ ของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ
นี่คือ 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวในปี 2016-2017 ลำดับที่ 10-6
10. 2016 คือปีแห่งการ shutdown อินเทอร์เน็ตทั่วโลก
ลินดัล โรวแลนส์ (Lyndal Rowlands) จากสำนักข่าว IPS รายงานเมื่อธันวาคมปี 2016 ว่า ตลอดปีที่แล้ว หลายประเทศทั่วโลกตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไปกว่า 50 ครั้ง จำกัด รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการพูด/แสดงความคิดเห็น เลื่อนการจัดการเลือกตั้ง และทำเศรษฐกิจดิ่งเหว
นอกจากตัดสัญญาณ ยังมีการแทรกแซงหรือสกัดกั้นความเร็วอินเทอร์เน็ตทำให้ใช้งานไม่ปกติ หรือไม่ก็บล็อกไปเลย โดยโรวแลนส์รายงานจากการเก็บ 53 ตัวอย่างการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตของปี 2016 ซึ่งเพิ่มสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2015 ที่มีการตรวจพบเพียง 15 ครั้ง
ใน 53 เคสนี้ หลายๆ ประเทศปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตระหว่างการจัดการเลือกตั้งเพื่อป้องกันการประท้วงต่อต้านจากผู้ไม่เห็นด้วย โรวแลนส์ยังรายงานอีกว่า การชัตดาวน์เหล่านี้ไม่เพียงจำกัดเสรีภาพการพูดและแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่ยังส่งผลเสียด้านเศรษฐกิจทั่วโลก
สำนักข่าว TechCrunch, IPS และสำนักข่าวอิสระต่างๆ รายงานผลการศึกษาของสถาบัน Brookings ที่พบว่า การปิดอินเทอร์เน็ตช่วงปี 2015-2016 สร้างความเสียหายให้หลายประเทศรวมแล้วประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 7,939,000 ล้านบาท) โดยความเสียหายก้อนใหญ่ที่สุดอยู่ที่อินเดีย ประมาณ 968 ล้านดอลลาร์ (32,021 ล้านบาท) รองลงมาคือซาอุดีอาระเบีย 465 ล้านดอลลาร์ (15,382 ล้านบาท) และโมร็อคโค 320 ล้านดอลลาร์ (10,585 ล้านบาท)
ดาร์เรล เวสต์ (Darrell West) จากสถาบัน Brookings ผู้เขียนงานศึกษาชิ้นนี้ ย้ำว่านี่เป็นแค่ตัวเลขคร่าวๆ แต่มูลค่าเสียหายทางเศรษฐกิจของจริงนั้นสูงกว่านี้ เพราะยังไม่รวมภาษีรายได้ต่างๆ ที่เกิดจากการถูกบล็อกอินเทอร์เน็ต ไหนจะผลกระทบต่อศักยภาพการเพิ่มผลผลิต การปิดกั้นการเติบโตทางธุรกิจ การสูญเสียความมั่นใจและปริมาณของนักลงทุน ผู้บริโภค ฯลฯ
ผลการศึกษายังสรุปว่า ตราบเท่าที่อำนาจการเมืองเข้ามาแทรกแซงอินเทอร์เน็ต การคาดหวังผลประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิตอลก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น
เสรีภาพอินเทอร์เน็ตทั่วโลกในภาพรวมลดลง ส่วนหนึ่งเพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 2 ใน 3 อาศัยอยู่ในประเทศที่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กองทัพ หรือผู้มีอิทธิพล ถือเป็นเรื่องต้องห้าม
จากรายงาน Freedom on the Net 2016 มี 34-65 ประเทศทั่วโลกที่อยู่ในสภาพดังกล่าว เช่น อูกันดา บังคลาเทศ กัมพูชา เอกวาดอร์ และลิเบีย ซึ่งตอนนี้การจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังลามไปถึงผู้ใช้แอพพลิเคชั่นแมสเซนเจอร์ โซเชียลมีเดีย ที่ถูกรัฐบาลเซนเซอร์เนื้อหา อันเป็นผลจากมาตรการความมั่นคง ส่งผลให้เกิดการประท้วงออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเป็นปรากฏการณ์
อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/10-2016-record-year-global-internet-shutdowns/
9. ตั๋วใบสุดท้ายไม่ขาวสะอาดของ ฮิลลารี คลินตัน
มิถุนายน 2016 บริษัทกฎหมาย Beck & Lee ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในไมอามี สหรัฐอเมริกา ยื่นฟ้องในนามของผู้สนับสนุน เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อคณะกรรมการใหญ่พรรคเดโมแครต (DNC) และ เด็บบี วาสเซอร์แมน ชูลท์ซ (Debbie Wasserman Schultz) ประธานกรรมการ DNC คนก่อน ที่ละเมิดข้อตกลงในที่ประชุมหยั่งเสียงเลือกตัวแทนพรรคขั้นต้น โดยการวางแผนให้ ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ก่อนการโหวตจะเสร็จสิ้นเสียอีก
การพิจารณาคดีนี้เกิดขึ้นที่ศาลในรัฐฟลอริดาเมื่อเมษายน 2017 ทนายของ DNC อ้างถึงบทหนึ่งในบทบัญญัติของพรรคเดโมแครต ที่บ่งชี้หน้าที่ของประธาน DNC และคณะกรรมการ ว่าจะต้องทำให้กระบวนการหยั่งเสียงเลือกตั้งขั้นต้นเป็นไปอย่างเป็นกลางนั้น ทั้งหมดให้ถือว่าอยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการและประธาน ไม่จำเป็นต้องนำหลักการมาใช้ทั้งหมด โดยประธานจะดูแลให้การดำเนินการเป็นไปอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม
ทนายฝั่ง DNC ยังยืนยันว่า แม้ในวันหยั่งเสียง กรรมการจะเดินกลับเข้าไปในห้อง สูบซิการ์ แล้วเลือกตัวแทนผู้สมัครของพรรคในตอนนั้น ก็เป็นสิทธิของ DNC ที่จะกระทำได้ “ถึงจะไม่ใช่วิธีที่ตามกระบวนการแต่คณะกรรมการและประธานฯ สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะเป็นสิทธิของพวกเขา” ยิ่งไปกว่านั้น ทนายฝั่ง DNC ยังถกเถียงในศาลเรื่องภาษาเฉพาะ โดยเฉพาะสองคีย์เวิร์ดสำคัญคือ ‘ยุติธรรม’ และ ‘ไม่เอนเอียง’ ในบทบัญญัติของ DNC ว่าไม่สามารถนำมาใช้ตีความในกฎหมายศาลได้
ด้าน จาเรด เบ็ค (Jared Beck) ทนายฝั่งผู้สนับสนุนแซนเดอร์ส ได้กล่าวในชั้นศาลว่า “ศาลที่เคารพ ผมรู้สึกตกใจที่ได้ยินว่าเราไม่สามารถให้ความหมายของคำว่า ‘ยุติธรรรม’ และ ‘ไม่เอนเอียง’ ได้ ถ้าเราอยู่ในบรรยากาศเช่นนั้นจริงๆ เราคงไม่ต้องมีศาลสำหรับพิจารณาคดี ผมหมายความว่า ภารกิจที่ศาลทำอยู่ทุกวัน มันก็คือหน้าที่การต่อสู่เพื่อความยุติธรรรมและไม่เอนเอียงอยู่แล้ว”
อีเมลกว่า 20,000 ฉบับของ DNC ตั้งแต่เดือนมกราคม 2015-พฤษภาคม 2016 ที่วิกิลีกส์เอามาเปิดเผยครั้งแรกเดือนกรกฎาคม 2016 ส่วนใหญ่มาจากสมาชิกพรรคเดโมแครตระดับบิ๊กเนม ซึ่งเผยเนื้อหาว่า แทนที่จะช่วยกันทำให้แซนเดอร์สได้ขึ้นไปเป็นตัวแทนของพรรคอย่างโปร่งใส แต่ DNC กลับทำทุกวิถีทาง กระทั่งละเมิดบทบัญญัติพรรคเพื่อต่อต้านแคมเปญของแซนเดอร์ส และเพื่อให้แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วฮิลลารีจะได้ตั๋วไปชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีของเดโมแครตจริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/9-dnc-claims-right-select-presidential-candidate/
8. ความตายอันมากมายของคุณแม่ในประเทศพัฒนาแล้ว
แต่ละปี สตรีมีครรภ์ในสหรัฐมากกว่า 65,000 คน ได้รับความทุกร์ทรมานจากภาวะแทรกซ้อน รวมถึงภาวะทั้งร่างกายและจิตใจที่ย่ำแย่ลงจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ในจำนวนนี้มีมากกว่า 600 คนที่เสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องจากการตั้งครรภ์ สาเหตุสำคัญของวิกฤติสุขภาพคุณแม่มาจากระบบประกันสุขภาพที่ไม่เพียงพอในพื้นที่ชนบท และการเลือกปฏิบัติ
คุณแม่เชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน มีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่าคุณแม่อเมริกันผิวขาว 3-4 เท่า และอัตราส่วนนี้ยิ่งสูงขึ้นเมื่ออยู่ในกลุ่มพื้นที่ที่ประเด็นเหยียดสีผิวค่อนข้างเข้มข้น เช่น จอร์เจีย ซึ่งมีอัตราแม่ตั้งครรภ์เสียชีวิตมากถึง 28.7 คนต่อ 100,000 ประชากร ในปี 2011
Women’s Policy Inc องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านนโยบายสาธารณะด้านสตรี เผยว่าสหรัฐเป็นชาติเดียวในประเทศพัฒนาแล้ว ที่ยอดเสียชีวิตของแม่ตั้งครรภ์สูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก การขาดแคลนระบบประกันสุขภาพ การเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ด้อยโอกาสทางการศึกษา ยากจน เข้าไม่ถึงโภชนาการที่ดี ความรุนแรง และความเครียดจากสภาพแวดล้อม
นอกจากปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพที่ดีแล้ว ในขั้นตอนการฝากท้องและคลอด แพทย์มักไม่แนะนำหรือเตือนเรื่องอาการบาดเจ็บร้ายแรง หรืออาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการคลอด ทั้งที่คนไข้มีสิทธิได้รับข้อมูลทั้งหมดเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายและภาวะทางการแพทย์ที่มีผลถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลานั้นมาถึงจริงๆ แพทย์มักไม่ให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา แม้กฎหมายในหลายๆ รัฐ จะเรียกร้องให้หมอแจ้งข้อมูลและภาวะแทรกซ้อน อันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายฉบับใดเลยที่เรียกร้องให้หมอแจ้งถึงผลกระทบระยะยาวหลังการคลอด กระทั่งแจ้งข้อเท็จจริงเรื่องโรคแทรกซ้อนต่างๆ จากการคลอดธรรมชาติ
จำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่มีปัญหาการควบคุมกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานคือคนเป็นแม่ และผู้หญิงที่คลอดธรรมชาติมีโอกาสเป็นมากกว่าแม่ที่ผ่าคลอดหรือผู้หญิงที่ไม่ผ่านการมีบุตร เช่น สตรีที่คลอดบุตร 50-80 เปอร์เซ็นต์ เกิดการฉีกขาดที่ผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน และมากกว่า 1 ใน 10 ของผู้หญิงที่คลอดลูก อาการบาดเจ็บเหล่านี้มีความรุนแรงมากพอที่จะทำลายกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการควบคุมการขับถ่าย พฤติกรรมทางเพศบกพร่อง กลั้นปัสสาวะไมได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด
“ค่าใช้จ่ายของการผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอดเพื่อแก้ปัญหามดลูกย้อยอยู่ที่ประมาณ 14,400 ดอลลาร์ (ราว 476,352 บาท) และ การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะอยู่ที่ 28,000 ดอลลาร์ (ราว 926,240 บาท) สำหรับคนที่ไม่เข้ารับการผ่าตัด ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่อย่างผ้าอ้อมผู้ใหญ่คือคำตอบ ซึ่งกินเงินจำนวนมากในระยะยาว เป็นคำตอบว่าทำไมอุตสาหกรรมผ้าอ้อมผู้ใหญ่จึงเติบโตขึ้นมา เดิมอยู่ที่ 1,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 คาดว่าจะไปแตะที่ 2,700 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2020 และคาดการณ์ว่าจะไล่ตามมูลค่าทางการตลาดผ้าอ้อมสำเร็จรูปของเด็กๆ ได้ทันภายใน 10 ปีนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/8-maternal-mortality-growing-threat-us/
7. US Navy นักฆ่าแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก
ภารกิจของกองทัพเรือสหรัฐคือการปกป้องน่านน้ำของประเทศ แต่การฝึกทหารที่มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือไม่ได้มีแค่การป้องกัน แต่เป็นการฆ่า และชีวิตที่สูญเสียไปคือบรรดาสัตว์ทะเลทั้งหลายที่บางชนิดใกล้สูญพันธุ์
จากรายงาน Truthout โดย ดาห์ร จามาอิล (Dahr Jamail) จาก The West Coast Action Alliance (WCAA) สหพันธ์ที่รวมตัวกันเพื่อปกป้องผืนป่า น้ำ และอากาศ ตลอดชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ระบุว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา สัตว์ทะเล เช่น วาฬ โลมา สิงโตทะเล ได้รับผลกระทบจากการฝึกของกองทัพเรือสหรัฐ ทั้งสังหาร ทำให้บาดเจ็บ คุกคาม มากถึง 11.8 ล้านครั้ง
ตัวเลขดังกล่าวของ WCAA มาจากข้อมูลผลกระทบจาก US Navy Northwest Training and Testing (NWTT) และองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ออกหนังสืออย่างเป็นทางการว่า ตัวเลขของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่สูญเสียไปเนื่องจากการฝึกของกองทัพเรือ โดย ‘การสูญเสีย’ หมายถึงการทำร้ายสัตว์ ซึ่งผลกระทบของการคุกคามคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต
คาเรน ซัลลิแวน (Karen Sullivan) โฆษกของ WCAA และอดีตนักชีววิทยาผู้ศึกษาสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ของ US Fish and Wildlife Service บอกว่าตอนนี้สถานการณ์ของสิ่งมีชีวิตอยู่ในสภาพ “ร่อแร่” ยิ่งไปกว่านั้นกองทัพเรือก็ยังไม่ยินยอมยอมให้ผู้เชี่ยวชาญพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ US Fish and Wildlife เข้าไปสังเกตการณ์ช่วงการฝึก แน่นอนว่าการเอาผิดด้านกฎหมายแทบเป็นไปไม่ได้
เอมิลี สโตลาร์ซิค (Emily Stolarcyk) จาก Eyak Preservation Council ในคอร์โดวา (Cordova) รัฐอลาสกา ให้ข้อมูลกับ Truthout ว่า กิจกรรมของกองทัพเรือเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำขนาดใหญ่ และสิ่งมีชีวิตนับล้านที่สูญเสียไปจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงนกทะเล ปลา เต่าทะเล และสิ่งมีชีวิตตามชายฝั่งอีกมากมาย
จากรายงานของจามาอิล ผลกระทบของการฝึกทหารเรือในเดือนตุลาคม 2015 แสดงให้เห็นการฝึกที่ก่อความเสียหายมากมาย เช่น การยิงตอร์ปิโดเพิ่มขึ้นกว่าที่ยิงในแหล่งน้ำผิวดิน (inland waters) ถึง 778 เปอร์เซ็นต์ ยิงขีปนาวุธจากอากาศสู่พื้นมากกว่า 400 เปอร์เซ็นต์ และการทดสอบคลื่นโซนาร์รบกวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่หาอาหารโดยใช้คลื่นความถี่ ทำให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้สับสน เสี่ยงต่อการขาดอาหาร และอดตาย
อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/7-toll-us-navy-training-wildlife-north-pacific/
http://www.truth-out.org/news/item/36037-the-us-navy-s-mass-destruction-of-marine-life
6. Superbugs เชื้อร้ายรอวันล้างโลก
Superbugs เป็นข่าวมานานหลายปี ว่าเป็นเชื้อที่ดื้อและทนทานต่อยาปฏิชีวนะ และที่มาของมันก็ไม่ใช่ที่ไหนไกล เพราะ superbugs กำเนิดจากบริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์นั่นเอง
แมดเลน เดวีส์ (Madlen Davies) จาก The Bureau of Investigative Journalism รายงานเมื่อกันยายน 2016 ว่า โรงงานเวชภัณฑ์ในอินเดียและจีนซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทสัญชาติอเมริกัน แหล่งผลิตใหญ่ของยาปฏิชีวนะ ได้ปล่อย ‘ของเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด’ สู่พื้นดินและแหล่งน้ำ ทำให้เกิดแบคทีเรียที่ทนทานต่อยาปฏิชีวนะ เกิดภาวะดื้อยา ซึ่งจะส่งผลต่อการแพทย์ปัจจุบัน
จากข้อมูลของสหพันธ์สาธารณสุขยุโรป (European Public Health Alliance: EPHA) ระบุว่า เมื่อแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมเริ่มดื้อยา มันสามารถเปลี่ยนพันธุกรรมของตัวเอง แพร่การดื้อยาไปยังจุลชีพอื่นๆ ทั่วโลก เดวีส์จาก The Bureau of Investigative Journalism อธิบายถึงกรณี superbugs ที่มาจากอินเดียปี 2014 ต่อมาถูกพบในอีก 70 ประเทศทั่วโลก
superbugs ที่แพร่มาจากของเสียในการผลิตยาฆ่าคนไปแล้วกว่า 25,000 รายในยุโรป แซลลี เดวีส์ (Sally Davies) จากองค์การสาธารณสุขอังกฤษกล่าวว่า นี่คือ “การกระทำของการก่อการร้ายครั้งใหญ่”
ในรายงานเมื่อพฤษภาคม 2014 มาร์ติน คอร์ (Martin Khor) อ้างคำพูดของ นายแพทย์เคนจิ ฟุกุดะ ซึ่งทำงานร่วมกับ WHO เรื่องเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะระหว่างปี 2010-2016 ว่า ”ยุคหลังยาปฏิชีวนะ การติดเชื้อทั่วๆ ไป หรือการติดเชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถฆ่าคนได้” ฟุกุดะว่ามันไกลจากการเกิดวันล้างโลก แต่มัน “มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นแทบจะจริงในศตวรรษที่ 21”
ปี 2015 ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก มาร์กาเร็ต ชาน (Margaret Chan) บอกว่า เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ superbugs อาจเป็นสัญญาณของ “การจบสิ้นของการแพทย์สมัยใหม่ที่เราเคยรู้จัก” เพราะไม่มีที่ไหนปลอดภัยจาก superbugs แม้แต่สถานที่ที่ควรจะปลอดภัยอย่างโรงพยาบาล ชานบอกต่อว่า ถ้าสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปแบบนี้ “จะเกิดการแทรกแซงที่ซับซ้อนมาก” ทั้งการปลูกถ่ายอวัยวะ เปลี่ยนข้อต่อ การทำเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงแผนกสูตินรีเวช และการติดเชื้อจะแพร่ไปเรื่อยๆ โดยไม่มียาชนิดใดกำจัดได้
เคที มอร์ลีย์ (Katie Morley) และ แมดเลน เดวีส์ บอกกับสำนักข่าว Telegraph ของอังกฤษเมื่อธันวาคม 2016 ว่า จากการวิเคราะห์ของ UK Sepsis Trust ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจาก superbugs แซงหน้าผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งไปแล้ว โดย UK Sepsis trust ประมาณว่า ในแต่ละปีชาวอังกฤษ 12,000 รายเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา ซึ่งในปี 2014 ผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมในอังกฤษมีจำนวน 11,433 ราย
อ้างอิงข้อมูลจาก:
http://projectcensored.org/6-antibiotic-resistant-superbugs-threaten-health-foundations-modern-medicine/
ที่มา: projectcensored.org
ติดตาม 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าวแห่งปี 2016-2017 ห้าอันดับสุดท้ายได้ เร็วๆ นี้