สตีเฟน ฮอว์คิง Uploaded

ภาพประกอบ: antizeptic

แล้ววันนั้นก็มาถึง

14 มีนาคม 2561 สตีเฟน ฮอว์คิง อัจฉริยะรถเข็น เสียชีวิตด้วยวัย 76 ปี ทิ้งไว้เบี้องหลังเพียงความทรงจำ อดีตภรรยาสองคน ลูกชายหญิงสามคน กับผลงานวิจัยทางฟิสิกส์สาขาจักรวาลวิทยา (cosmology) ที่ยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับจักรวาลและเอกภพของเราขึ้นไปอีกถึงขั้นทะลุทะลวง รวมทั้งหนังสือ ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) ที่ขายดิบขายดี และอีกหลายเล่มที่ตามมา

อิทธิพลของฮอว์คิงที่มีต่อป๊อปคัลเจอร์ขยายกว้างไกล ไม่ว่าจะเป็นการปรากฏตัวในภาพยนตร์ Star Trek การ์ตูน The Simpsons เพลงของ Pink Floyd และหนังชีวประวัติของเขาหลายเรื่อง ล่าสุดคือ The Theory of Everything ที่ออกฉายเมื่อปี 2014

ฮอว์คิงกลายเป็น ‘เซเลบ’ ที่นานๆ ครั้งจะมาจากวงการวิทยาศาสตร์ แถมเพิ่มความขลังขึ้นไปอีกด้วยการทำสถิติตายในวันเดียวกับที่ไอน์สไตน์เกิด และเกิดในวันที่กาลิเลโอตายครบ 300 ปี

น่าแอบคิดว่า ผู้ใกล้ชิดในวาระสุดท้ายของฮอว์คิงจะได้พยายาม upload ความคิด สติปัญญา และบุคลิกภาพของเขาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์บ้างหรือไม่…

ชีวิตในวัยเด็ก

ชีวิตของ เด็กชายสตีเฟน ฮอว์คิง ไม่ได้มีสีสันมาก เขาเกิดที่ออกซ์ฟอร์ดในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ปีนั้นเด็กอังกฤษหลายคนมาชุมนุมกันเกิดที่ออกซ์ฟอร์ด เพราะนัยว่าเยอรมันสัญญาว่าจะไม่ทิ้งระเบิดเมืองออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ แลกกับที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะไม่ทิ้งระเบิดเมืองไฮเดลเบิร์กกับเมืองมหาวิทยาลัยอื่นอีกสองสามเมือง

พ่อของฮอว์คิงเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคเขตร้อน แม่ของเขาเป็นแม่บ้านหัวก้าวหน้าและมีอิทธิพลต่อความคิดของเขามาก ฮอว์คิงเริ่มฉายแววความเป็นเด็กฉลาดเมื่อถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนให้ชื่อเล่นว่า ‘ไอน์สไตน์’

เป็นเด็กที่ชอบสงสัยและตั้งคำถาม เด็กชายฮอว์คิงมักแกะอุปกรณ์โน่นนี่ออกมาดู เพื่อค้นหาว่าข้างในมันมีอะไร ทำงานได้อย่างไร จนถึงถามว่า “ทำไมจักรวาลนี้ถึงต้องมีสิ่งของบางสิ่งอยู่ แทนที่จะไม่มีอะไรเลย”

คำถามแบบเด็กๆ ที่พวกเราผู้ใหญ่ ‘โตพอ’ ที่จะเลิกถาม แต่ความขี้สงสัยไม่เลิก ได้นำพาให้เด็กชายฮอว์คิงสนใจคณิตศาสตร์ และใช้ทักษะ ความรู้ กับความพยายามอีกมากมหาศาล ‘แกะ’ ความลับของจักรวาลออกมาในเวลาไม่นาน

ข่าวร้ายในชีวิตมาถึงเมื่อตอนที่ฮอว์คิงอายุ 21 ปี ระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาล้มลงระหว่างเล่นสเก็ตน้ำแข็ง และพบว่าตัวเองไม่สามารถลุกขึ้นมาได้ อาการของเขาเลวร้ายลง จนหมอบอกว่าเขาป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเพราะประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อเสื่อมและค่อยๆ ตาย แม้ว่าสมองจะยังดีอยู่ และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกินสองปี

เขาเครียดมาก ตัดสินใจสู้ชีวิต และอยู่ต่อมาอีก 55 ปี

ฟิสิกส์ของฮอว์คิง

ผลงานของฮอว์คิงที่ทำให้เขามีชื่อเสียง เป็นเรื่องของการตั้งทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่พื้นผิวของหลุมดำ (black holes)

ควรอธิบายด้วยว่า ความเข้าใจในกฎธรรมชาติของเราทุกวันนี้ยังแยกเป็นส่วนๆ อยู่ สองทฤษฎีใหญ่ทางฟิสิกส์ของศตวรรษที่ 20 ก็คือทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ที่สามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติในระดับใหญ่ เช่น การเคลื่อนที่ของดวงดาวและวัตถุอื่นในจักรวาล และกลศาสตร์ควอนตัมที่อธิบายโดย นีลส์ บอร์ ที่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ในระดับเล็กจิ๋วระดับอะตอม

สองทฤษฎีนี้ได้รับการยอมรับแล้วทั้งคู่ ปัญหาก็คือ ทั้งสองไม่สามารถอยู่ร่วมกัน ใช้อธิบายปรากฏการณ์เดียวกันพร้อมกันไม่ได้ อันนี้เป็นความขัดอกขัดใจของนักวิทยาศาสตร์อย่างมาก และเป็นความบังเอิญที่โชคร้ายที่การพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้พาเรามาถึงจุดนี้

ถ้าใครจับสองทฤษฎีนี้มารวมกันได้และพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง และยิ่งถ้าเอากฎเรื่องแรงโน้มถ่วงของนิวตันมารวมได้ด้วย ก็จะถือว่าสามารถบรรลุ The Theory of Everything ได้อย่างแท้จริง วันนั้นคงจะได้ฉลองรางวัล ‘ซูเปอร์โนเบล’ กันทั่วโลก

ฮอว์คิงได้พยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่พื้นผิวของหลุมดำโดยการดึงเอาสองทฤษฎีใหญ่มาอธิบายร่วมกันได้ (อย่างน้อยส่วนหนึ่ง) แล้วสรุปว่า หลุมดำที่เคยเชื่อกันว่าดูดทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่แสงเข้าไปหมดนั้น ที่แท้ไม่ได้ดำสนิท หากแต่ยังน่าจะแผ่รังสีออกมาด้วย ภายหลังการแผ่รังสีนี้จึงได้รับการเรียกชื่อว่า รังสีฮอว์คิง (Hawking Radiation)

ฮอว์คิงยังระบุต่อมาด้วยว่า เมื่อหลุมดำปล่อยรังสีออกมาเรื่อยๆ ในที่สุดมันก็จะยุบตัวและสูญหายไปจากเอกภพ คำอธิบายนี้ถึงกับช็อกวงการฟิสิกส์ เพราะเป็นสิ่งท้าทายและย้อนแย้งกับความรู้ในปัจจุบันที่ว่าข้อมูลจะไม่มีวันหายไปจากเอกภพ ปัจจุบันนี้ลูกศิษย์ลูกหาและนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งยังศึกษากันอยู่ว่าจะแก้ปัญหาความย้อนแย้งนี้ได้อย่างไร

“แล้วเหตุใดฮอว์คิงถึงไม่ได้รับรางวัลโนเบล?” หลายคนอาจจะถามเช่นนี้

ถ้าลองพลิกดูประวัติศาสตร์โลก ศาสตร์ของฟิสิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจักรวาลวิทยา เป็นหนึ่งในไม่กี่ศาสตร์ที่นำโดยการคิดค้นทฤษฎีด้วยคณิตศาสตร์ ก่อนที่จะมีการค้นพบร่องรอยหรือหลักฐานที่เข้ามารองรับสนับสนุนทฤษฎีได้

ยากที่นักฟิสิกส์ทฤษฎีจะได้รับรางวัลโนเบล ถ้าไม่ได้มีการค้นพบหรือผลการทดลองที่พิสูจน์ยืนยันได้จริง นี่ยังไม่นับแนวโน้มการให้รางวัลโนเบลที่ระยะหลังคณะกรรมการหันมาเน้นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของชาวโลกเป็นสำคัญ โอกาสของนักฟิสิกส์ทฤษฎี โดยเฉพาะนักจักรวาลวิทยาก็ยิ่งน้อยลง

กรณีของฮอว์คิงเป็นอย่างนั้น

อนิจจา ฮอว์คิงไม่ได้ติดอันดับแม้แต่ 1 ใน 10 นักฟิสิกส์ที่เป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์โลกในฐานะที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับว่า ‘เปลี่ยนโลก’ โดย 10 คนแรกนั้นก็มี กาลิเลโอ, นิวตัน, แมกซ์เวลล์, ไอน์สไตน์, บอร์, ไฮเซนเบิร์ก, ดีแรก, ชโรดิงเกอร์ และรัทเธอร์ฟอร์ด น่าเห็นใจฮอว์คิงเพราะว่าทฤษฎีของเขายากที่จะทดสอบ

ถ้าจะมีใครสามารถทดสอบทฤษฎีของฮอว์คิงได้ ก็คงจะเป็นกลุ่มที่ศึกษาหลุมดำและค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง (gravitational waves) ที่ได้รางวัลโนเบลไปเมื่อปีที่แล้ว อันนี้ก็อยู่ที่ว่าเครื่องตรวจจับในอนาคตจะมีความรับรู้ที่ไวมากขึ้นเพียงพอหรือไม่ แต่ดูทีท่าแล้ว แม้ว่าต่อไปข้างหน้าจะมีหลักฐานมาพิสูจน์ทฤษฎีของฮอว์คิงได้ ก็คงยากที่จะเบียดเข้าไปนั่งในเก้าอี้ 10 คนแรกนี้ได้

ถึงฮอว์คิงจะไม่ติดโผ 10 ยอดนักฟิสิกส์ของโลก แต่เขาอยู่ในอันดับต้นๆ ของสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ (รวมทุกสาขา) ของโลกที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เสียดายที่เขาเสียชีวิตไป ก็เลยหลุดจากโผนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

หนังสือและการสร้างความรู้สาธารณะ

ความมหัศจรรย์ที่แท้จริงของฮอว์คิงอยู่ตรงความสำเร็จที่ท่วมท้นในการสื่อสารวิทยาศาสตร์กับประชาชนทั่วไป เพราะปกติคนเรามักจะเก่งแค่ด้านเดียว อาจจะเป็นสุดยอดนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ หรือไม่ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับกลางๆ แต่มีพรสวรรค์ในการถ่ายทอดและสื่อสารกับคนทั่วไป

ฮอว์คิงทำได้ยอดเยี่ยมทั้งสองอย่าง

A Brief History of Time ติดอันดับสุดยอดหนังสือขายดีของโลก ขายไปได้ 10 ล้านเล่ม ทั้งๆ ที่แทบไม่มีพูดถึงมนุษย์เลย แต่กลับฉายภาพจักรวาลวิทยาและอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ จากงานวิจัยของฮอว์คิงถึงขั้นลงลึก จนทำให้หนังสือเล่มต่อๆ มาของเขาขายไม่ดีเท่าเล่มแรก พูดแบบขำๆ คือคนส่วนใหญ่ยังอ่านเล่มแรกไม่จบ

ใครที่ได้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คงจะเห็นด้วยว่าสำนวนของฮอว์คิงเป็นแบบตรงตัว ชัดเจนและเรียบง่าย หลายคนเชื่อว่าเขาจำเป็นต้องใช้วิธีแบบนี้เพราะอาการป่วยของเขากำเริบ และผลจากการผ่าตัดหลอดลมทำให้เขาไม่สามารถออกเสียงได้ ต้องพึ่งเทคโนโลยีสังเคราะห์เสียงพูด ความจำกัดในการสื่อสารทำให้เขาต้องเลือกคำพูด และใช้วิธีการที่กระชับที่สุด

แต่อีกด้านหนึ่งที่คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยรู้คือ ฮอว์คิงต้องเขียนหนังสือขายเพราะเขาจำเป็นต้องหาเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาลและเลี้ยงตัวเองด้วย ค่าใช้จ่ายส่วนนี้มหึมาไม่ใช่น้อย เพราะต้องจ้างกองทัพแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมงและทุกสถานที่ ในขณะที่ร่างกายก็เสื่อมลงทุกขณะ ไหนจะค่ายาและเครื่องมือราคาแพงที่ต้องใช้ค้ำจุนชีวิตและช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ (เขาได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด)

ซึ่งก็เกือบเหมือนคนปกติ หรือบางครั้งก็ยิ่งกว่า เขาชอบเดินทางไปยังที่ต่างๆ และพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แปลกๆ อย่างขั้วโลกใต้ หรือบางทีก็ขึ้นไปลอยตัวอยู่บนท้องฟ้าในสภาพไร้น้ำหนัก

บทส่งท้าย

ในช่วงชีวิตของฮอว์คิง ความรู้ของมนุษย์ได้พัฒนาไปไกลมาก ตอนที่เขาเป็นหนุ่ม ความรู้กระแสหลักของมนุษย์ยังอยู่แค่เชื่อว่าเอกภพเป็นสภาพคงตัว (steady state) คือมีมวลสารถูกสร้างเพิ่มพร้อมกับขยายตัวไปเรื่อยๆ ด้วยความหนาแน่นที่สม่ำเสมอ และหลุมดำก็ยังเป็นทฤษฎีที่สร้างขึ้นจากคณิตศาสตร์

แต่มาถึงบั้นปลายชีวิตของเขา เรามีหลักฐานพอจะเชื่อได้แล้วว่าเอกภพและกาลเวลามีจุดเริ่มต้น คือ ‘บิ๊กแบง’ และบรรดาก้อนมวลสารกำลังกระจายตัวออกไปอย่างมีอัตราเร่ง เรารู้แล้วว่าเอกภพมีอายุประมาณ 15,000 ล้านปี และถึงวันนี้เรามีทฤษฎีว่าด้วยหลายเอกภพ (multiverse) เอกภพที่เป็นเส้น (string) เป็นฟองสบู่ (bubble) และอีกหลายทฤษฎี

ฮอว์คิงไม่ใช่คนเดียวที่ยืนแนวหน้า แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนรุ่นใหม่ๆ ไปไกลมากแล้ว พิสดารลึกล้ำยิ่งกว่าฮอว์คิง แต่เกือบทุกเรื่องยังรอวันพิสูจน์

ทุกวันนี้ทฤษฎีของเขาก็ไม่ได้เป็นที่นิยมชมชอบมากที่สุดในบรรดานักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน แต่ลูกศิษย์ของฮอว์คิงหลายคนกำลังขยับเข้าไปอยู่ในแนวหน้าของงานวิจัยจักรวาลวิทยายุคใหม่ โดยเฉพาะการพิสูจน์การมีอยู่จริงของหลายๆ เอกภพ ซึ่งแต่ละเอกภพ (แต่ละมิติ) ล้วนมีกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์รวมทั้งการเคลื่อนที่ของเวลาที่แตกต่างกัน เมื่อไหร่ที่สามารถทดสอบหรือพิสูจน์เรื่องนี้ได้ในทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีหลายเอกภพก็จะเปลี่ยนจากศาสตร์ที่คล้ายอภิปรัชญา มาเป็นวิทยาศาสตร์เต็มตัว

ด้านชีวิตส่วนตัว ความมุ่งมั่นของฮอว์คิงที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง แม้ว่ากล้ามเนื้อของเขาจะไม่ยอมฟังคำสั่งและอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อของเขาต้องถูกใช้งาน ร่างกายจึงเสื่อมช้าลงกว่าที่คาดกัน

กระนั้นก็ตาม ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต เขาต้องใช้มือควบคุมอุปกรณ์สังเคราะห์ข้อความและเสียง ถ้าเคยฟังฮอว์คิงบรรยายก็จะทราบว่าเสียงพูดของเขาที่เป็นคนอังกฤษ จะเป็นเสียงสังเคราะห์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสำเนียงอเมริกัน แต่เมื่อได้รับเชิญไปที่ไหน ฮอว์คิงก็จะไปบรรยายสดเอง ไม่มีลิปซิงค์ (ปากเขาไม่ขยับ)

ไม่นานกล้ามเนื้อมือที่เคยขยับได้ก็หยุดไป เหลือเพียงกล้ามเนื้อที่แก้มที่พอขยับได้ และเขาใช้ส่วนนี้ผสมผสานกับกล้องอ่านสีหน้า และซอฟท์แวร์ทำนายคำพูด ที่บริษัทชื่อดังอย่างอินเทลและกูเกิลเข้ามาช่วยทำให้เขายังพูดและบรรยายต่อได้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

วันนี้เราสูญเสียฮอว์คิงไปแล้ว แต่งานของเขายังไม่จบ ความเข้าใจของวงการวิทยาศาสตร์ต่อจักรวาลวิทยายังต้องคืบหน้าต่อ และรออัจฉริยะคนต่อไปที่จะขึ้นมาเหยียบบ่าของฮอว์คิง และปีนขึ้นไปพิสูจน์ในสิ่งที่ฮอว์คิงไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการทดลอง

เคยมีคนถามฮอว์คิงว่า ถ้าสามารถ upload ความคิดและจิตวิญญาณของเขาไปไว้ในคอมพิวเตอร์ ช่วยให้เขาอยู่ยงคงกระพันไปตลอด เขาจะชอบไหม เพราะเทคโนโลยีในวันนี้เกือบเป็นไปได้แล้ว จิตวิญญาณก็คือข้อมูลละเอียด และเคยมีคนทดลองทำสำเร็จส่วนหนึ่งกับลิง

ฮอว์คิงตอบว่า “เอา” แน่ๆ เพราะที่ผ่านมาสำหรับเขา ร่างกายก็ไม่ได้มีความหมายอยู่แล้ว

นั่นคือฮอว์คิง เด็กขี้สงสัยที่กำลังจะเป็นอมตะ

Author

นเรศ ดำรงชัย
นักคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยี ผ่านงานในสายวิทยาศาสตร์หลายแขนง ทั้งศึกษาวิจัยและบริหาร ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ นเรศ ดำรงชัย รักที่จะหยิบเรื่องราวของงานวิจัยล่าสุดมาแบ่งปันในคอลัมน์ Dualism เสน่ห์ที่เป็นจุดเด่นคือการแบ่งปันมุมมองที่เปี่ยมอารมณ์ในทุกตัวอักษร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า