Rational Choice กับ วารานุส

wayt-oct

ภาพประกอบ: พีรเวทย์ กระแสโสม

 

ไม่ได้กำลังจะแนะนำวิธีการเลือกผู้หญิงอย่างสมเหตุสมผล เพราะวารานุสที่ว่านี้มาจากคำว่า ‘Varanus’ ซึ่งเป็นชื่อในภาษาละตินที่ใช้เรียกสัตว์ในสายพันธุ์นี้ ซึ่งก็คือ ‘ตัวเหี้ย’ นั่นเอง

ที่เขียนเรื่อง Rational Choice กับ ตัวเหี้ย สืบเนื่องมาจากการอ่านข่าวเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองระดมกำลังไปจับเหี้ยที่สวนลุมฯ โดยตั้งเป้าว่าในเบื้องต้นต้องจับให้ได้สัก 40 ตัวก่อน เนื้อหาข่าวที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงไว้และสร้างแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องนี้มีคือ

ในช่วงแรกที่เจ้าหน้าที่ออกจับตัวเหี้ยนั้น เป็นไปด้วยความทุลักทุเล เพราะมีสื่อมวลชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศกว่า 100 คน รวมทั้งประชาชนที่มาออกกำลังกายในสวนลุมฯ ได้เฝ้ามองเกาะติดการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้แม้เจ้าหน้าที่จะใช้ปลาดุกตัวขนาดท่อนแขนคนเข้าไปล่อเพื่อให้ตัวเหี้ยเข้ามากัน ปรากฏว่าไม่มีเหี้ยตัวไหนกล้าออกมากิน จนกระทั่งเวลาผ่านไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง จึงสามารถจับเหี้ยตัวแรกได้สำเร็จ

หลังจากนั้นจึงมีการแยกย้าย กระจายกำลังออกไปจับตามจุดต่างๆ แต่ก็เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้เกิดความทุลักทุเลเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกระทั่งเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่สามารถจับตัวเหี้ยได้ 40 ตัวตามเป้าหมาย โดยจับได้ที่หอนาฬิกา 3 ตัว บริเวณสวนสุขภาพ 16 ตัว เกาะลอย 18 ตัว และประตูสามอีก 3 ตัว

สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะลองจินตนาการหาเหตุผลก็คือ ทำไมในเบื้องแรกเมื่อเจ้าหน้าที่เอาปลาดุกตัวขนาดท่อนแขนคนมาล่อ จึงไม่มีเหี้ยตัวไหนกล้าออกมากิน? เป็นไปได้ว่า หนึ่ง-ปลาดุกอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ เหี้ยทั้งหลายจึงไม่กล้าออกมากิน สอง-แม้เจ้าหน้าที่จะวางปลาดุกไว้ห่างจากตัวเจ้าหน้าที่ แต่ตัวเหี้ยทั้งหลายตื่นคนจำนวนมาก เพราะนอกจากตัวเจ้าหน้าที่แล้ว ยังมีบุคคลต่างๆ มุงดูกว่า 100 คน สาม-ตัวเหี้ยไม่ได้ตื่นคนมาก แต่ตัวเหี้ยมีสัญชาตญาณบางอย่างว่าอันตรายกำลังมาเยือน หรือพูดง่ายๆ ว่า ได้กลิ่นไม่ดี ไม่ชอบมาพากล ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะเคยเห็นเหี้ยออกมาคาบอะไรต่อมิอะไรไปกิน ในขณะที่มีคนจำนวนมากยืนอยู่ เพียงแต่คนเหล่านั้นไม่ได้สนใจมัน แล้วทำไมเมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมง จึงสามารถจับเหี้ยตัวแรกได้สำเร็จ?

ข้อความนี้ไม่ได้บอกอะไรชัดเจน สิ่งที่เป็นไปได้มีดังนี้คือ

ก. ท่ามกลางคนนับร้อย มีเหี้ยตัวหนึ่งตัดสินใจเดินออกมาเพื่อจะเอาปลาดุก

ข. ในที่สุด คนนับร้อยได้หายไป หรือเหลือน้อยเต็มที จนเหี้ยไม่ตื่นอีกต่อไป

ค. การจับเหี้ยตัวแรกไม่เกี่ยวกับปลาดุกที่วางล่อไว้ และไม่เกี่ยวกับคน 100 กว่าคนนั้น นั่นคือ เจ้าหน้าที่ไปจับเหี้ยตัวแรกได้จากบริเวณอื่น และด้วยวิธีอื่นที่ไม่เกี่ยวกับปลาดุกเจ้ากรรมตัวนั้น

สมมุติว่าเป็นข้อ ก. ก็น่าคิดว่า ท่ามกลางเงื่อนไขคงที่ นั่นคือ มีปลาดุกอยู่ มีคนนับร้อยมุงอยู่ มีเจ้าหน้าที่คอยท่าอยู่ ทำไมเหี้ยตัวนั้นจึงตัดสินใจออกมาเอาปลาดุก

ถ้าเงื่อนไขคงที่ แต่เหี้ยมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ดังนั้น สิ่งไม่คงที่ก็น่าจะอยู่ที่ใจของมัน เข้าทำนอง เงื่อนไขทางวัตถุไม่เปลี่ยน แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน ใจคน…เอ๊ย…ใจเหี้ยเปลี่ยน

ที่จริงการที่เงื่อนไขทางวัตถุ อันได้แก่ คน 100 กว่าคน เจ้าหน้าที่และปลาดุกไม่เปลี่ยนในขณะที่เวลาดำเนินไป เงื่อนไขทางวัตถุที่ต่างพากันนิ่งเฉยนับชั่วโมงต่างหาก ที่ทำให้เหี้ยมั่นใจว่าทุกอย่างมันจะนิ่งอย่างนั้นต่อไปอีกในยามที่เยื้องกรายออกไปเล่นปลาดุก

แต่อนิจจา…คนดูและเจ้าหน้าที่ต่างใจเย็นและนิ่งกว่า จนทำให้เหี้ยตายใจ…

อันที่จริง ถ้าคนดูและนักข่าวเป็นห่วงสวัสดิภาพเหี้ยจริงๆ ก็น่าจะร้องตะโกนให้มันตื่นตกใจ ตอนกำลังหลงกลเดินออกมาหาปลาดุก เอาเข้าจริงคนดูและนักข่าวก็คงอยากจะดู action scene ซาดิสต์หน่อยๆ ว่างั้น

แต่สูตรนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อนักข่าวคนดูและเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นบริบทแวดล้อมขณะนั้น จะต้อง ‘นิ่ง’ จริงๆ เพราะที่ผ่านมาในอดีต ผู้เขียนเคยสังเกตเห็นเด็กน้อยพยายามจะให้อาหารกระรอกหรือนกพิราบด้วยใจโอบอ้อมอารี ไม่ได้มีเจตนาเคลือบแฝงแต่อย่างใด ก็ยังยากที่กระรอกหรือนกพิราบจะมากินอาหารจากมือ นอกจากวางไว้ในระยะห่างพอที่กระรอกและนกพิราบคำนวณแล้วว่า ‘safe’ นั่นคือ สามารถวิ่งหรือบินหนีไปทันก่อนที่เด็กจะเดินมาใกล้

ดังนั้น ถ้าสูตรข้อ ก. จะเป็นไปได้ ปลาดุกจะต้องถูกวางไว้ในระยะห่างจากผู้คนพอสมควรที่จะทำให้เหี้ยตายใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องมั่นใจว่าจะวิ่งมาชาร์จเหี้ยได้ทัน หรือไม่ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบแอบพรางอยู่ในรูปของต้นไม้หรืออะไรสักอย่าง มิฉะนั้น หมากเกมนี้ก็จะเสียปลาดุกให้เหี้ยไปฟรีๆ

หรือถ้าเป็นข้อ ข. ก็น่าจะเป็นไปได้มากว่า เมื่อเหี้ยสังเกตหรือรับรู้ได้ว่า สิ่งมีชีวิตที่คล้ายๆ กันจำนวนมาก (คนดู) หายหน้าไป คงเหลือแต่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง (ซึ่งน่าจะแอบซ่อนอยู่) เมื่อมีคนน้อยลง อันตรายก็น่าจะน้อยลง เหี้ยจึงเริ่มคิดคำนวณคาดคะเนถึงความคุ้มค่ากับการเสี่ยงออกมาเอาปลา

แต่ถ้าเป็น ค. อันนี้ก็ไม่รู้ เพราะไม่มีข้อมูลว่าอะไรคือเงื่อนไขแวดล้อมในขณะที่จับเหี้ยตัวแรกได้ แต่ไม่ว่าจะเป็น ข้อ ก. หรือ ข้อ ข. ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ นั่นคือ ความหิวของเหี้ยมีมากแค่ไหนถึงจะทำให้มันสุ่มเสี่ยงเดินออกไปเอาปลามากิน เพราะไม่ว่าจะเป็น ก. หรือ ข. ล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น เพราะในเงื่อนไข ก. คนยังอยู่มากเท่าเดิม เพียงแต่นิ่งเฉย และ ข. คนน้อยลง และก็นิ่ง ถ้าเหี้ยหิวไม่มากและยังมีคนอยู่มาก แม้จะนิ่ง เหี้ยก็ไม่น่าเสี่ยงออกไป เพราะมากคนก็มากความเสี่ยง เหี้ยคงไม่สามารถแยกแยะได้ว่า คนไหนเหี้ย คนไหนดี…เอ๊ย คนไหนจะมาจับ คนไหนมาทำข่าว คนไหนยืนดูเฉยๆ (แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่มีใครคิดจะช่วยมันแน่นอน!) ถ้าหิวไม่มาก และคนน้อยลง ความกล้าเสี่ยงก็มีมากขึ้น

น่าคิดว่า ถ้าเหี้ยตัวนั้นอิ่มพอประมาณ มันก็ไม่น่าจะเสี่ยงออกไปเอาปลาดุกมาเก็บไว้เพื่อเป็นอาหารมื้อหน้า หรือตอนแรกมันยังอิ่มอยู่ แต่เมื่อชั่วโมงหนึ่งผ่านไป มันเริ่มหิว (ซึ่งต้องไปถามนักสัตววิทยาว่าพฤติกรรมการกินของเหี้ยเป็นอย่างไร) ถ้าไม่หิวเลย แต่ออกไปเอาปลามาเก็บสะสมไว้ทั้งที่ไม่ได้หิวโหยอะไร ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไข ข้อ ก. หรือ ข้อ ข. เหี้ยก็คงไม่ต่างไปจากคน

สรุปคือ ได้สมมุติฐานชั่วคราวขึ้นมาว่า ถ้าเหี้ยไม่ได้มีวิธีคิดตัดสินใจเลือกกระทำการบางอย่างด้วยเหตุด้วยผลเหมือนมนุษย์ มนุษย์ก็อาจไม่ได้มีวิธีคิดตัดสินใจเลือกกระทำการบางอย่างด้วยเหตุด้วยผลเฉกเช่นเดียวกันกับเหี้ย

 

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า