5 สิ่งที่ไม่น่ามีอยู่ในอาหาร

แม้อเมริกาจะเป็นผู้นำของโลกในหลายๆ ด้าน แต่สำหรับปัญหาภายในโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับผู้บริโภค นับว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ ตั้งแต่ระบบประกันสุขภาพ ยา วัคซีน จนถึงเรื่องปากท้องในชีวิตประจำวันอย่างอาหาร

pink slime

ราว 2 ปีก่อน มีการตรวจพบผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อ ‘Pink Slime’ ว่ามาจากการนำเศษเนื้อที่ใช้เป็นอาหารสัตว์มาผ่านกระบวนการเติมสารฆ่าเชื้อ และแปรรูปใหม่ให้เป็นก้อนเนื้อเหลวๆ นุ่มๆ ซึ่งรวมถึงเนื้อบดในเบอร์เกอร์ โดยมีปลายน้ำอยู่ที่โครงการอาหารมื้อกลางวันของโรงเรียน (National School Lunch Program) – ไม่มีใครล่วงรู้ว่าอาหารที่หน้าตาเหมือนวัตถุนอกโลกนี่ทำมาจากอะไร

แต่เมื่อมีคนสงสัยใคร่รู้มากขึ้น ความจริงก็เปิดเผย เจ้าของผลิตภัณฑ์ Beef Products, Inc. ประกาศหยุดการผลิตสินค้าชนิดนี้

นั่นแค่ตัวอย่างเดียว ปัจจุบันยังมีอาหารหลายๆ ประเภทที่ถูกส่งเข้าปากคนอเมริกันโดยที่ยังไม่เคยถูกตรวจสอบว่ามีที่มาอย่างไร ทำจากอะไร และผ่านกระบวนการประเภทไหนมาบ้าง

ส่วนผสมในอาหารหลายชนิดที่ถูกจัดเป็นสารต้องห้ามในยุโรป แต่ในอเมริกายังไม่มีมาตรการควบคุมทั่วถึง แม้ว่าบางกรณีจะยังไม่มีการฟันธงว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การที่ผู้บริโภคควรจะรู้จักอาหารให้มากขึ้น เป็นเรื่องสำคัญต่อการเลือกที่จะกิน เลือกแนวทางการบริโภค เลือกแนวทางการใช้ชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

และนี่คือตัวอย่างสารอันตราย 5 ชนิดที่คนอเมริกันยังต้องพบมันอยู่ในจานอาหารที่พวกเขารับประทานเกือบทุกวัน

Azodicarbonamide

1. อะโซไดคาร์โบนาไมด์ (Azodicarbonamide) ในขนมปัง

เราจะพบว่า ขนมปังที่อบใหม่รายวันจากเบเกอรีจะมีความหยาบกระด้าง แข็ง เคี้ยวไม่สนุก แต่กับขนมปังบางประเภท จะมีการใส่สารที่บางครั้งเรียกกันว่า สารทำให้แป้ง (dough) นุ่ม ทำให้ขนมปังมีความยืดหยุ่นและเหนียวนุ่ม นี่คือสารที่เคยสร้างกรณีอื้อฉาวในวงการอาหาร เพราะมีการกล่าวกันว่าเป็นการนำส่วนผสมของการทำเสื่อโยคะ รองเท้า และผลิตภัณฑ์ยางยืด…ที่มาอยู่ในอาหาร

วานี ฮารี บล็อกเกอร์ผู้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ต่อสู้กดดันฟาสต์ฟูดแบรนด์ดังให้เอาสารตัวนี้ออกจากอาหารประเภทขนมอบ จนทางฟาสต์ฟูดเจ้าดังกล่าวต้องประกาศปรับปรุงสูตรอาหารใหม่ ฮารีให้เหตุผลว่า ขณะที่อะโซไดคาร์โบนาไมด์ถูกอบไปพร้อมขนม คาร์ซิโนเจน ยูรีเธน (carcinogen urethane) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งจะถูกผลิตออกมาด้วย

อะโซไดคาร์โบนาไมด์ถูกแบนในออสเตรเลีย ยุโรป และผู้ฝ่าฝืนในสิงคโปร์มีโทษหนัก แต่ในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟูดสัญชาติอเมริกันหลายๆ แบรนด์ ร้านอาหารและร้านขนมหลายๆ เจ้า ก็ยังคงใช้สารตัวนี้กันอยู่ตามปกติ

Microbeads

2. เม็ดพลาสติก (Microbeads) ในปลา

มีการใช้เม็ดพลาสติก (plastic microbeads) ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอย่างยาสีฟัน สบู่ โฟมล้างหน้า มานานหลายปี ซึ่งว่ากันว่า เม็ดพลาสติกเล็กๆ ที่ช่วยขัดสิ่งสกปรกบนร่างกายได้กลายเป็นพิษต่อทะเล โดยเฉพาะเมื่อสัตว์น้ำกินมันเข้าไป ขณะที่อีกฝ่ายก็งัดข้ออ้างมาคานกันอีกชั้นว่า ระบบบำบัดน้ำเสียสามารถกำจัดเม็ดพลาสติกเหล่านี้ออกได้หมดก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

แม้จะเริ่มมีการห้ามการใช้เม็ดพลาสติกนี้ในบางพื้นที่ แต่ปีที่ผ่านมา microbeads ก็ยังถูกพบในตัวอย่างน้ำจากทะเลสาบใหญ่ 3 แห่งของอเมริกา (จากทั้งหมด 5 แห่ง – Great Lakes) ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า ระบบบำบัดน้ำเสียไม่สามารถกำจัดเม็ดพลาสติกนี้ออกไปได้หมด เท่ากับว่าสัตว์น้ำหลายชนิดที่มนุษย์จับเป็นอาหารจะมีส่วนผสมของสารสังเคราะห์ที่มาจากเม็ดพลาสติกนี้สะสมอยู่

BVO

3. การเติมโบรไมด์ (Brominated) ในเครื่องดื่ม

ไม่ต่างจากกรณีอะโซไดคาร์โบนาไมด์ เพราะเป็นการนำเอาสารที่ไม่น่าจะกินได้มาผสมในวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร น้ำมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีเติมโบรไมด์ (brominated vegetable oil: BVO) ถูกทำขึ้นเพื่อปรับความหนาแน่นให้น้ำมันมีความข้น ให้คงรสชาติและความขุ่นในน้ำผลไม้ แต่ในความเป็นจริง โบรไมด์คือสารที่ใช้เพื่อลดปฏิกริยาการติดไฟในสิ่งทอและพรม

โบรไมด์จัดเป็นสารพิษต้องห้าม ที่จะสามารถส่งต่อได้ทางน้ำนม ส่งผลต่อระบบประสาท ความจำเสื่อม ฮอร์โมน และกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว

ในปี 2012 ซาราห์ คาวานาฟ ออฟ แฮททีส์เบิร์ก เด็กหญิงวัย 15 ได้เริ่มการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ chang.org เพื่อส่งเสียงไปถึงผู้ผลิตเครื่องดื่มโคล่ายี่ห้อดัง ให้เอากระบวนการเติมโบรไมด์ออกไปจากสายการผลิต เพียง 1 เดือนถัดมา ทางผู้ผลิตรายนั้นก็ประกาศยุติบทบาทของโบรไมด์ในเครื่องดื่มบางประเภท เช่น เกลือแร่ ขณะที่เครื่องดื่มอีกหลายชนิดภายใต้เชนเดียวกันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะน้ำอัดลมแบรนด์ที่ขายดิบขายดีในเอมริกา

corn syrup

4. น้ำตาลข้าวโพด (Corn Syrup) และสารเสริมความหวานสังเคราะห์ในเครื่องดื่ม

เป็นข้อถกเถียงในหมู่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการว่า น้ำตาลข้าวโพดที่มีความเข้มข้นฟรุกโตสสูง (high fructose corn syrup: HFCS) กับสารแต่งความหวานสังเคราะห์ อะไรมีอันตรายต่อสุขภาพมากกว่ากัน

HFCS ซึ่งราคาถูกกว่าน้ำตาลจริงๆ ถูกบ่งชี้ว่าส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ เป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคหัวใจ ขณะที่กลุ่มสารสังเคราะห์อย่าง แอสปาแทม (aspartame) ซัคคารีน (saccharin) และ อเซซัลเฟม โปแตสเซียม (acesulfame potassium) ถูกโยงไปถึงสาเหตุของมะเร็ง

ผลการศึกษาในปี 2011ของวิทยาลัยแพทย์มิลเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยไมอามี (University of Miami) พบว่า ผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมไดเอ็ตทุกวัน มีโอกาสถึงร้อยละ 61 ที่จะเกิดอาการหัวใจวาย ออทิสติก นอกจากนี้ อัลไซเมอร์และพาร์กินสันก็อาจจะตามมา แถมยังมีผลการศึกษาบางชิ้นบอกด้วยว่า การดื่มน้ำอัดลมที่ผสมน้ำตาลสังเคราะห์เหล่านี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนักสำหรับการควบคุมน้ำหนัก

ในปี 2012 การวิจัยของฮาวาร์ด (Havard University) พบว่าทั้ง HFCS และสารแต่งความหวานสังเคราะห์ ทำให้ผู้ที่บริโภคเป็นประจำทุกวันมีความเสี่ยงร้อยละ 20 ที่จะพบกับโรคหัวใจ ซึ่งทีมของฮาวาร์ดระบุด้วยว่า สารแต่งความหวานทั้งหมดข้างต้นควรถูกจัดไว้ในหมวดหมู่เดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ

Transglutaminase         

5. เอ็นไซม์ทรานส์กลูตามิเนตส์ (Transglutaminase)

คล้ายๆ กับกรณี Pink Slime ชื่อที่คนอเมริกันเรียกกันว่า ‘Meat Glue’ คือการเติมทรานส์กลูตามิเนตส์ ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดโครงสร้างโปรตีน ใช้ในการทำให้เนื้อสัตว์ติดแน่นเป็นก้อน และลดการแยกชั้นของน้ำในอาหารประเภทนม มีลักษณะเป็นผงแป้ง สมัยก่อนทำจากเลือดสัตว์ แต่ระยะหลังมักใช้แบคทีเรียที่ได้จากการหมัก เพราะราคาถูกกว่า  

กระบวนการนี้เป็นลูกเล่นของการผลิตเนื้อสัตว์ โดยการเอาเนื้อคุณภาพต่ำมาติดกัน จับใส่กระบวนการแช่แข็ง ก็จะได้ออกมาเป็นฟิเลมิยองปลอมๆ สำหรับอาหารจานสเต็ก โดยที่ผู้บริโภคไม่ทันเอะใจ ว่ากันว่า ผลิตภัณฑ์อาหารถึงร้อยละ 35 มีส่วนผสมของกาวเนื้อชนิดนี้ ทั้งเนื้อสัตว์ เต้าหู้ นม โยเกิร์ต และซีเรียล

มีข้อมูลระบุว่า กาวเนื้อที่มาจากโปรตีนสัตว์จะส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือดในมนุษย์ โดยเฉพาะเอ็นไซม์จากวัว ส่วนกาวเนื้อที่ผลิตจากแบคทีเรีย เมื่อถูกประกบอยู่ในชิ้นเนื้อ แบคทีเรียนี้จะไม่ถูกทำลายไปด้วยตอนที่ชิ้นเนื้อสุก นักจุลชีววิทยา เกล็นน์ พีนอร์ บอกว่า จำนวนแบคทีเรียของชิ้นเนื้อสเต็กที่ถูกเชื่อมต่อกันจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นร้อยเท่า

 

อ้างอิงข้อมูลจาก : alternet.org

salon.com

foodnetworksolution.com

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า