‘อภิสิทธิ์ชน’ ความเดือดดาลผ่านบทเพลงจากศิลปินผู้ไม่ยอมจำนน

…แด่ศิลปินทุกท่านที่ใช้บทเพลงสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลง 

การบอกเล่าเรื่องราวความคับข้องใจของประชาชนผ่านบทเพลง เป็นอีกหนึ่งภารกิจของศิลปินนักดนตรี ผู้ทำหน้าที่สะท้อนความรู้สึกของสังคม เมื่อผู้คนมีสุข ดนตรีจะเป็นตัวช่วยในการเฉลิมฉลองให้ความสุขได้แผ่กระจายออกไป เมื่อผู้คนมีทุกข์ ดนตรีก็จะช่วยเค้นเอาความทุกข์ออกมาให้ดังก้องกังวาน โดยเฉพาะเมื่อสังคมทุกข์หนัก หรือเรียกได้ว่า ‘สาธารณะไม่สุข’ อีกต่อไป บทเพลงที่สังคมขับร้องจึงเป็นบทเพลงแห่งความเดือดดาล ในแง่นี้ การประพันธ์บทเพลงเปรียบเสมือนการจดบันทึกอารมณ์ของสังคม ผ่านไปหลายสิบปี ประวัติศาสตร์ย่อมถูกลบและเขียนใหม่ 

แต่ความจริงในบทเพลงจะยังคงอยู่ บอกเล่าเรื่องราวต่อไปตราบนานเท่าที่ศิลปิน หรือค่ายเพลงไม่กลับมาลบสมุดบันทึกเหล่านี้ออกจาก Youtube 

บทเพลงที่ชื่อ อภิสิทธิ์ชน ของวง COCKTAIL ถูกปล่อยมาออกมาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศที่น่าหดหู่ของการบริหารจัดการประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤติโควิด-19 COKTAIL หยิบเอาความอยุติธรรมที่สะท้อนสภาพสังคมชนชั้นของไทยออกมาประกอบทำนองได้อย่างตรงจังหวะ 

แม้สังคมไทยจะคุ้นเคยกับเหล่าบรรดาอภิสิทธิ์ชนเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่วิกฤติโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้แผลที่สามัญชนได้รับจากอภิสิทธิ์ชนนั้นบาดลึกลงไปอีกหลายเท่า เพราะครั้งนี้มันอาจอันตรายถึงขั้นตัดขั้วหัวใจของผู้คนที่กำลังรอต่อคิวรับวัคซีน นอกจากความเป็นความตายของผู้คนทั้งประเทศจะถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่บางเฉียบพอๆ กับความสามารถของรัฐบาลแล้ว ชีวิตของพวกเขายังถูกเบียดเบียนจากอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้อีก สามัญชนอย่างเราๆ ก็ได้แต่เฝ้าถามตามเนื้อร้องที่ว่า 

“ฉันอยากรู้เขาเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เขาไปเล่าเรียนมาจากไหน ทำไมใจเขาถึงมืดบอด อภิสิทธิ์ชนเป็นคนมาจากไหน คุณสมบัติเป็นอย่างไร ใครรู้ก็วานให้เขาบอก” 

ท่อนนี้ของเพลง อภิสิทธิ์ชน ได้โปรยคำถามที่ชักนำให้เราคิดถึงอีกคำถามที่ใหญ่กว่า นั่นก็คือ สังคมไทยนี่มันเป็นแบบไหน ถึงได้ทำให้เกิดอภิสิทธิ์เหล่านี้ขึ้นมา มันทำงานอย่างไรถึงเอื้อให้คนเหล่านี้มีชีวิตที่ดีกว่าคนอื่นๆ อภิสิทธิ์ชนเหล่านี้คือใครบ้าง อาจไม่สำคัญเท่ากับการที่เราตอบได้ว่า สังคมนี้มันไม่เคยมีหลักการเรื่องคุณสมบัติที่เท่าเทียมตั้งแต่แรก นี่เป็นอีกครั้งที่ลักษณะทางชนชั้นของสังคมไทยถูกเปิดโปงออกมาผ่านบทเพลงที่สุดแสนจะธรรมดาสามัญของสามัญชนที่กำลังโกรธแค้น 

จากปรากฏการณ์ของ อภิสิทธิ์ชน ทำให้เราต้องทบทวนบันทึกของมหากาพย์โรคระบาดครั้งนี้ผ่านบทเพลงกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เห็นถึงอารมณ์ทางสังคมที่ดำเนินเรื่อยมา จนตอนนี้ก็ยังมองไม่เห็นจุดจบ และนี่คือบันทึกของสังคมไทยในยุคโควิด-19 ฉบับเสียงเพลง 

ดนตรีและจิตวิญญาณขบถ 

ก่อนจะยกตัวอย่างเพลงต่างๆ ที่ถูกปล่อยออกมาบอกเล่าเรื่องราวท่ามกลางโควิด-19 จำเป็นต้องที่จะชี้ให้เห็นชัดเสียก่อนว่า ทำไมบทเพลงจึงสำคัญต่อสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อทางสังคมเช่นนี้ เพราะบทเพลงคือเครื่องมือหนึ่งที่มนุษย์ใช้บรรยายความรู้สึกคับข้องใจที่พวกเขามี และความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างที่ Ian Cross ผู้เขียนบทความ ‘Music as a Biocultural Phenomenon’ ได้เสนอไว้ว่า “Music is sonic, embodied, and interactive, simultaneously deriving and conferring meaning on the variable contexts in which it occurs.” ดนตรีคือคลื่นเสียงสื่อความหมายได้มากกว่าตัวมันเอง มากกว่าที่เราได้ยิน แต่มันสะท้อนให้ผู้ฟังได้รับรู้ถึงบริบททางสังคมต่างๆ ที่ล้อมรอบเพลงๆ หนึ่งนั่นเอง 

ในแง่นี้ บทเพลงที่นำเสนอความต้องการในการเปลี่ยนแปลงจึงดำเนินควบคู่ไปกับลักษณะเฉพาะทางสังคมอื่นๆ ที่กำลังถูกขับเคลื่อนไปในเวลานั้นๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ อเมริกาในยุค 60s ในฐานะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่บทเพลงมีพลังอำนาจอย่างมหาศาล 60s  คือยุคสมัยแห่งการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนหนุ่มสาว ซึ่งในอเมริกาจะมีทั้ง Civil Rights Movement, the Free Speech Movement, the New Left, the Anti-war Movement, the Anti-nuclear Movement, Feminism, Environmentalism, the Gay Liberation Movement และอีกมากมาย 

การเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นจากสภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในเวลานั้น ที่ถูกกำหนดโดยเหตุการณ์ต่างๆ อย่างสงครามเวียดนาม ความรุนแรงจากการต่อต้านการรักร่วมเพศ (homophobic violence) ความรุนแรงจากการเหยียดสีผิว และอีกหลายอาการของสังคมแบบชนชั้น เราอาจมองได้ว่า องค์ประกอบทางดนตรีในเวลานั้นเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในการเร่งเครื่องการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมเหล่านี้ 

พัฒนาการของระบบทุนนิยมในอเมริกาที่เริ่มมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมความบันเทิงก่อนหน้านั้น ซึ่งให้กำเนิดองค์ประกอบต่างๆ อย่างวิทยุ แผ่นเสียงไวนิล เพลงโฟล์ค electric rock, blues, gospel และ jazz สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานให้กับวิวัฒนาการทางดนตรีที่เกิดขึ้นในยุค 60s และอย่างที่ Ron Eyerman และ Andrew Jamison ผู้เขียนบทความเรื่อง ‘Social movements and cultural transformation: popular music in the 1960’ ให้ข้อสังเกตไว้ว่า บทเพลงในสังคมอเมริกันยุค 60s มีส่วนในการปลุกจิตสำนึกความเป็นขบถของคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก จวบจนปัจจุบัน มดรกของมันก็ยังคงอยู่

ความรู้สึกของเสรีชนคนหนุ่มสาวที่อยากลุกขึ้นมาประท้วง ส่วนมากถูกถ่ายทอดผ่านรูปแบบของเสียงเพลงอย่าง The Times They Are A-Changing ของ Bob Dylan ที่ถูกปล่อยออกมาในปี 1964 ยังคงกึกก้องในหัวใจเสรีชนแห่งยุคสมัยนั้น ดังในท่อนหนึ่งที่ร้องว่า 

“If your time to you
Is worth savin’
Then you better start swimmin’
Or you’ll sink like a stone
For the times they are a-changin’ ”

หรือเพลง All You Need Is Love ของ The Beatles ในปี 1967 เพลง Give Peace a Chance ของ John Lennon ในปี 1696 และเพลง War (What is it good for?) ของ Edwin Starr 

เหล่านี้คือตัวอย่างเพลงในยุคสมัยนั้นที่มีส่วนในการสร้างจิตสำนึกต่อต้านความโหดร้ายของสงครามและความอยุติธรรมต่างๆ ของคนหนุ่มสาวให้มีความเป็นปึกแผ่น และการขับร้องบทเพลงเหล่านี้ยังเป็นมากกว่ากิจกรรมยามว่างส่วนบุคคล แต่มันคือกิจกรรมร่วมทางสังคมที่มีเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลง เพลงอย่าง Keep Your Eyes on the Prize ได้ถูกขนานนามให้เป็นเพลงชาติของ Civil Rights Movement และนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของประวัติศาสตร์อเมริกาอย่าง Martin Luther King Jr. ยังเคยสะท้อนไว้ว่า ดนตรีในยุคสมัยของเขาช่วยสร้างความเป็นหนึ่งให้ขบวนการการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยยะสำคัญ

เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเห็นได้ว่าบทเพลงที่มีเนื้อหาเชิงการประท้วงทางสังคม ไม่ได้มีอยู่แค่ในทศวรรษ 60s และ 70s เท่านั้น ในยุคสมัยใหม่ขึ้นมาหน่อย อย่าง 90s และ 2000s เราก็ยังเห็นเพลงจำพวกคล้ายๆ กันอยู่มาก ที่เด่นชัดก็คือเพลงแนวฮิปฮอปที่เป็นเครื่องมือของ African Americans ในการป่าวประกาศถึงความไม่เท่าเทียม อย่าง Fuck Tha Police ของ N.W.A, Fight The Power ของ Public Enemy หรือ Where Is The Love ของ Black Eyed Peas เป็นต้น เพลงเหล่านี้ยังคงมีออกมาเรื่อยๆ สิ่งที่พวกมันแตกต่างจากยุค 60s อยู่ตรงที่ว่า มันอาจไม่ได้ถูกขับร้องร่วมกันโดยคนจำนวนนับแสนนับล้านในขบวนการเคลื่อนไหวอีกต่อไป 

เมื่อพัฒนาการของทุนนิยมในอเมริกาสามารถทำให้สินค้าทางดนตรีเหล่านี้มีเนื้อหาต่อต้านสังคม และรับใช้ชีวิตประจำของปัจเจกบุคคลที่สอดรับกับระบบทุนนิยมได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ คุณสามารถขับร้องเพลงแห่งการปฏิวัติได้โดยไม่ได้รู้สึกถึงการมีอยู่ของจิตสำนึกแห่งการรวมหมู่เพื่อกระทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างที่ Ron Eyerman และ Andrew Jamison กล่าวว่า “With newfound attention and financial support from record companies, musicians began to focus more on their individual artistic identities than on any collective aim or cause.” ด้วยพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ศิลปินในยุคปัจจุบันหันมาโฟกัสกับสร้างอัตลักษณ์ส่วนบุคคลมากกว่าการอุทิศศิลปะของพวกเขาเพื่อกิจกรรมส่วนรวมทางสังคม 

นี่เป็นพัฒนาการจากอเมริกาที่สะท้อนความคล้ายคลึงของวงการเพลงเมืองไทยในปัจจุบัน การร้องรำทำเพลงเป็นเรื่องความบันเทิงส่วนบุคคล แม้แต่ดนตรีเพื่อชีวิตเองก็ตาม 

ในคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การรวมตัวของปัจเจกชนเพื่อเสพความสุขส่วนบุคคล ไม่ใช่การรวมตัวเพื่อปฏิบัติการทางสังคม อย่างไรก็ตาม ในยามวิกฤติอย่างที่เรากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ความแตกต่างจึงเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

ผลักปัญหาเชิงโครงสร้างไปสู่ภาระของปัจเจก เพลงเพื่อชีวิต (ใครกันแน่)

ถ้าหากเรามองเพลง อภิสิทธิ์ชน ว่าเป็นเพลงที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในวิกฤติโควิด เราอาจต้องมองย้อนกลับไปประมาณ 1 ปีกว่าๆ เพื่อฟังอีกเพลงหนึ่ง นั่นก็คือเพลง รวมใจไทยข้ามโควิด-19 ของ แอ๊ด คาราบาว ที่ฟังดูแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า เพลงนี้คืองานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลดีๆ นี่เอง เพราะเนื้อเพลงนั้นเหมือนกับการเอามาตราการของกระทรวงสาธารณสุขออกมากาง แล้วใส่ท่วงทำนองใหม่ให้เข้าใจง่ายๆ ซึ่งถ้าหากมองอย่างผิวเผินมันก็ดูเหมือนจะมีประโยชน์ในแง่หนึ่ง แต่เบื้องลึกของบทเพลงนี้ก็ทำให้เราได้เห็นว่า ผู้แต่งมองสภาพสังคมไทยในห้วงเวลานี้ด้วยสายตาอย่างไร เป็นมโนทัศน์ที่แตกต่างเหมือนอยู่กันคนละประเทศกับ COKTAIL เลยก็ว่าได้ เริ่มด้วยท่อนที่ร้องว่า

“เกิดมาบนโลกใบนี้ ล้วนมีชะตากรรมร่วมกัน
ทุกคนคือหนึ่งในนั้น ในสนามรบ สงครามโควิด
ให้ดูแลระวังตนเอง ช่วยลดสะกดเชื้อสู่คนใกล้ชิด
คนไทยพร้อมใจฝ่าวิกฤติ โควิด-19 อย่างรู้เท่าทัน” 

ในแง่นี้เรามองเห็นความเสมอภาคที่บิดเบือนเอามากๆ กับการบอกว่าโควิดคือชะตากรรมที่เราทุกคนต้องเจอ แม้จะมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคี แต่มันก็คือการผลักให้ประชาชนต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฟ้าดินกำหนดไว้แล้ว ซึ่งแท้จริงแล้วส่วนสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐบาลเอง 

“หน้ากากนั้นมีไม่พอ สำหรับคุณหมอ พยาบาลและผู้ป่วย
ใครมีขอจงมาช่วย มาบริจาคให้ โรงพยาบาล
ใครมีขอจงมาช่วย มาบริจาคให้ โรงพยาบาล
… จงร่วมมือ ร่วมใจกันฝ่าฟัน
ไม่เห็นแก่ตัวในภาวะที่คับขัน
ข้ามโรคร้ายไปด้วยกัน สามัคคีเถิดผองไทย”

สำหรับแอ๊ด ทางออกของปัญหาไม่ได้อยู่ที่การแก้ไขเชิงโครงสร้างหรือการบริหารงานของรัฐบาลเลย แต่กลับอยู่ที่จิตสำนึกของผู้คนที่หากรู้จักแบ่งปัน และไม่เห็นแก่ตัวก็จะสามารถผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไปได้ เสมือนกับว่าปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยไม่ใช่ความบกพร่องของรัฐบาล เห็นได้ชัดว่า ถ้านี่เป็นไม่ใช่การประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล แอ๊ด คาราบาว ก็ได้แต่งเพลงเพื่อชีวิต ที่เพื่อชีวิตของใครก็ไม่แน่ใจ ที่แน่ๆ คือไม่น่าจะเพื่อชีวิตของประชาชนคนไทยในความเป็นจริง 

โปรเจกต์สร้างความสมัครสมานสามัคคีไม่ได้หยุดแต่เพียงเท่านี้ เพราะยังมีอีกเพลงแนวเพื่อชีวิตที่ถูกปล่อยออกมาในวันถัดไปหลังจากที่ แอ๊ด คาราบาว ปล่อย รวมใจไทยข้ามโควิด-19 นั่นก็คือเพลง วันใหม่ ของ ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ที่ดูเหมือนว่าจะมีจุดประสงค์เดียวกัน แต่ขับร้องในทำนองที่ลากเสียงสะอื้นเพื่อดึงเอาความรู้สึกหมองหม่นออกมา เปลี่ยนเป็นกำลังใจตามสไตล์ที่น้าปูถนัด 

“วันนี้สายลม ยังโบยพัดมา
วันนี้น้ำตา อาจจะยังไหล
ปล่อยให้ไหลหลั่ง จนเหือดแห้งไป
รอให้หัวใจ กลับแกร่งเช่นเดิม
วันนี้ฟ้าหม่น รออาทิตย์มา
วันนี้ท้องฟ้า อาจไม่สดใส
รอแสงสว่าง เบิกทางนำชัย
เพื่อเริ่มวันใหม่ สดใสเช่นเดิม” 

เห็นได้ชัดว่าเพลงนี้แตกต่างจากแอ๊ด เพราะมันไม่ได้พูดถึงมาตรการการป้องกันใดๆ แต่เน้นสร้างความหวัง ปลุกกำลังใจเสียมากกว่า แต่สิ่งที่ขาดหายไปในฐานะเพลงเพื่อชีวิตก็คือ ความ Subversive หรือเรียกว่า เป็นอารมณ์ของการลุกขึ้นสู้โดยไม่จำยอม อย่างที่เราเคยได้ยินในเพลงเพื่อชีวิตอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่บทเพลงนี้กลับบอกให้พวกเราอดทนและรอคอยความหวังว่า วันหนึ่งชีวิตที่ปกติและเป็นสุขจะกลับคืนมา ไม่ต่างกับนโยบาย ‘คืนความสุขให้ประชาชน’ ที่บอกจะใช้เวลาไม่นานอะไรทำนองนั้น

แต่ถึงอย่างไร เพลงนี้ก็ดูเหมือนจะไปไม่ถึงหมุดหมาย เพราะความหวังและกำลังใจของผู้คนไม่สามารถฟื้นคืนมาได้ ในเมื่อสภาพความเป็นจริงมันสวนทางกัน สภาพที่การจัดหาวัคซีนล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ การควบคุมการแพร่ระบาดที่ล้มเหลว และแผนการเปิดประเทศที่ดำเนินไปพร้อมๆ กับมาตรการ ‘ควบคุมอย่างเคร่งครัด’ ที่หลีกเลี่ยงคำว่า Lockdown เต็มปาก สิ่งเหล่านี้ไม่อาจหักห้ามคนไทยไม่ให้อยู่ในสภาพจิตใจที่ถดถอยได้ 

ในแง่นี้ถือว่าเพลงเพื่อชีวิตของทั้งสองศิลปิน ‘สอบตก’ ในแง่ของการสะท้อนสภาพความเป็นจริงของสังคม และความรู้สึกของคนหมู่มากออกมาได้ 

เมื่อปลุกความหวังไม่ขึ้น ผู้ทุกข์ตรมจึงร่ำร้อง 

คราวนี้เราลองย้อนมาดูเพลงลูกทุ่งจาก มนต์แคน แก่นคูน ศิลปินมหาชนที่ได้รับยอดวิวสูงสุดใน Youtube ในปี 2020 ที่สร้างยอดไว้ถึง 976 ล้านวิว นำห่างศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปอย่าง Blackpink ที่คว้าอันดับสองไว้ที่ 749 ล้านวิว 

ตัวอย่างผลงานเพลงของมนต์แคนที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในยุคโควิดได้ดี อย่างเช่น เพลง ร่มใจไร่ขิง ที่ถ่ายทอดความทุกข์ตรมของประชาชนในเวลานี้ออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา และแสดงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผย ดังท่อนที่ร้องว่า 

“หลวงพ่อไร่ขิง ลูกมาขอพักพิงหัวใจ
โรคโควิดคุกคามเมืองไทย คนล้มตายเป็นข่าวทุกวัน
รัฐต้อง lockdown เพื่อควบคุมสถานการณ์
เศรษฐกิจปิดกระทันหัน รับมือไม่ทัน…ล้มพัง
กลัวโรคก็กลัว กลัวไม่มีจะกิน หนักกว่า
ยื่นคำขอห้าพันเยียวยา ผลตอบมาไร้สิทธิ์รับตังค์
ยืนต่อคิวยาวรอรับถุงยังชีพประทัง
กระเป๋าไม่มีสตางค์ มันคว้าง มันพังไปหมด”

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาโควิดในบทเพลงของมนต์แคน ผูกติดกับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น และสื่อสารออกมาได้อย่างไม่อ้อมค้อม ทำให้ผู้ฟังกระจ่างได้ว่า สมรภูมิของวิกฤติโควิดเป็นมากกว่าเรื่องทางการแพทย์ แต่ยังอยู่ที่การบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของรัฐด้วย 

นอกจากปัญหาทางเศรษกิจ ความรักก็ได้ผลกระทบเช่นกัน ซึ่งเพลงลูกทุ่งแนวเพลงรัก อย่างเพลง โควิดกะย่าน คนอยู่บ้านกะอยากกอด ของ กระต่าย พรรณนิภา Feat. เนม สุรพงศ์ บอกเล่าเรื่องราวนี้ได้เป็นอย่างดี อย่างที่กระต่ายร้องว่า 

“กะอยากไปหาหละเนาะ กะอยากไปกอดไปหละหนอ
ฮู้บ่ คนอยู่ไกลมันเหงา
บ่กล้าออกไปไส เปิดมือถือเบิ่งข่าว ในห้องเช่า
ติดตาม สถานการณ์
อยากคืนเมือบ้าน อยากไปกอดแม่
คำคิงให้แหน่ อิพ่อหล่าย่าน
แต่ทางการเพิ่นให้กักโต บ่ให้เดินทาง
โควิดกะย่าน คนอยู่บ้านกะอยากเมือกอด
เงินกะช๊อต งานบ่เดิน ขาดเขินซุอย่าง
บ่ได้ติดเชื่อ บ่ได้เป็นไข้ แต่ใจมันอุกอั่ง
ถ่าอีกจักวาง ทางใจสองเฮา จั่งค่อยเว้ากัน” 

คำว่า ‘ขาดเขินซุอย่าง’ ในที่นี้ ดูเหมือนสรุปรวบยอดความรู้สึกของผู้คนหมู่มากในวิกฤตินี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีเพลงลูกทุ่งอีกมากมายที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ยากลำบากของประชาชนท่ามกลางการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เหล่านี่คือความทุกข์ตรมของประชาชนผ่านเพลงลูกทุ่ง 

ความทุกข์ตรมนี้ได้แปรมาเป็นความโกรธแค้นที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นในดนตรีแนวหมอลำของ กู่แคน ในเพลง ลำใส่แคน – โควิด19 vs รัฐบาลส้นตีน ที่ถูกปล่อยออกมาในวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพียงแค่ชื่อก็บอกแล้วว่าเต็มไปด้วยอารมณ์ความคับข้องใจและขุ่นเคือง 

อย่างที่กู่แคนร้องว่า “กูบ่ติดโควิด ก็ติดหนี้แปตาย” ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรายวัน กับตัวเลขของผู้คนที่กำลังล้มตายจากพิษโควิดที่ทำลายเศรษฐกิจยังคำนวณไม่ได้ 

กู่แคนยังได้ใส่คำเตือนเอาไว้ก่อนเข้าเพลงว่า “กลอนลำนี้ไม่เหมาะกับสลิ่ม สลิ่มควรได้รับคำแนะนำ” เผยให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่แค่ความขุ่นเคืองที่เขามีต่อรัฐบาลเท่านั้น แต่รวมถึงผู้คนที่สนับสนุนรัฐบาลอีกด้วย นี่คือความขัดแย้งทางสังคมที่ดำเนินไปพร้อมบริบททางการเมืองที่กำลังเข้มข้นในปัจจุบัน 

อภิสิทธิ์ชน เป็นคนไม่ตั้งแถว 
เขาไม่ต้องยืนให้ตรงแนว อะไรๆ ต้องได้ก่อน 

วิกฤติโควิด-19 แสดงความเลวร้ายของมันออกมาผ่านหลายๆ อาการ 1 ในนั้นคือ อาการอภิสิทธิ์ชนคนไม่ตั้งแถว ที่ตอกย้ำสังคมไทยอีกครั้งว่า การแก้ไขปัญหาโควิด-19 เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโครงสร้างทางสังคมแบบชนชั้นที่อยู่คู่พวกเรามานาน เพลง อภิสิทธิ์ชน มีนัยยะทางสังคมที่สำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้อย่างหนึ่งคือ มันเป็นเพลงจากวง Rock กระแสหลักของค่ายดังในเมืองไทย เพราะการที่ดารา นักร้อง ศิลปินกระแสหลัก ออกมาแสดงท่าทีวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างตรงไปตรงมานั้น เป็นเรื่องที่ไม่ได้พบเห็นกันบ่อยนัก และเมื่อมันเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเช่นนี้ จึงบ่งบอกถึงชีพจรของความเดือดดาลที่กำลังเต้นแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งชีพจรนี้ดูเหมือนจะดำเนินสวนทางกับชีพจรของรัฐบาล ที่นับวันจะต่ำลงไปเรื่อยๆ ผนวกกับปรากฏการณ์ที่ศิลปิน นักดนตรีกำลังได้รับผลกระทบอย่างเต็มเหนี่ยวจากการบริหารจัดการของรัฐบาล บาดแผลนี้ถูกย่ำยีลงไปอย่างร้าวลึกเมื่อเกิดเหตุการณ์การฆ่าตัวตายของนักร้องสาว Youtuber ยิ่งทำให้บรรยากาศทางสังคมหดหู่ลง และเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจต่อศิลปินนักร้องคนอื่นๆ เป็นอย่างมาก 

ปฏิกิริยาของศิลปินกระแสหลักคนอื่นๆ ต่อจากนี้ไป คือสิ่งที่ประชาชนต้องจับตามอง เพราะแม้บทเพลงจะมีส่วนในการหล่อเลี้ยงความคับข้องใจทางสังคม ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีสำหรับการเปลี่ยนแปลง ลำพังแค่บทเพลงมิอาจนำไปสู่จุดเปลี่ยนนั้นได้ จำนวนของผู้คนที่เข้าร่วมต่อสู้จะต้องเพิ่มมากขึ้น หากเราอยากจะเข้าใกล้การเปลี่ยนแปลงให้ได้จริงๆ เพราะวันนี้ชัดแล้วว่าอภิสิทธิ์ชนหมายถึงอะไร โจทย์คือ เราจะเปลี่ยนการขับร้องให้เป็นการขับเคลื่อนอย่างไรกันต่อ 

แด่ศิลปินผู้กล้า จงขับร้อง จงบันทึกเรื่องราวครั้งนี้เพื่อประชาชน 

สิ่งหนึ่งที่บทเพลงเหล่านี้ยืนยันกับเราก็คือ ในยามที่อำนาจรัฐถูกผูกขาดอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มคนที่ไม่แยแสชีวิตของประชาชน สิ่งที่พวกเรามีคือ บทเพลงที่สะท้อนความโกรธแค้นและความต้องการที่จะปลดแอก บทเพลงคือหนทางที่เราบอกกับผู้มีอำนาจว่า ประชาชน อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ อย่างในเพลงของวงสามัญชน และนี่คืออาวุธที่คนธรรมดาสามัญใช้ในการต่อสู้ ดังที่ Bob Marley ร้องไว้ในเพลง Redemption songs ว่า 

“Won’t you help to sing
These songs of freedom?
‘Cause all I ever have
Redemption songs” 

สังคมไทยจะสั่นสะเทือน หากศิลปินผู้มีฐานแฟนเพลงนับล้านออกมาขับร้องในทำนองเดียวกัน อย่างน้อยๆ มันก็คือแนวทางหนึ่งในการต่อสู้และการจดบันทึกทางประวัติศาสตร์ แม้วันนี้ดูเหมือนว่า คลื่นเสียงจากบทเพลงของประชาชนจะไปไม่ถึงหูของผู้มีอำนาจและชนชั้นนำ ประดุจว่าพวกเขาไม่เคยตอบรับคำถาม “Do you hear the people sing?” ประชาชนก็ยังจำเป็นที่จะต้องขับร้อง “the song of angry men” กันต่อไป 

โอมาร์ หนุนอนันต์
นักศึกษาสาขาการเมืองระหว่างประเทศผู้สนใจในความคิด อุดมการณ์ และอำนาจการครอบงำที่อยู่ในสิ่งสามัญรอบตัว หลงใหลในภาษาและการสื่อสาร ที่มักซ่อนเร้นความจริงบางอย่างที่มนุษย์ผู้ใช้ภาษาไม่เคยควบคุมมันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า