มันคือเรื่องราวของการสูญเสีย ความตาย และความเปราะบางของชุมชนที่ถูกนายทุนเข้ามากระทุ้งชีวิตส่วนตัว ขณะเดียวกันก็เผยความแข็งแรงในกิจวัตร ความสัมพันธ์ในละแวกบ้าน และการเปิดใจก้าวข้ามตนเอง
A Man Called Otto (2022) ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง A Man Called Ove หรือ ชายชื่ออูเว่ ผลงานเขียนของเฟรียดริก บั๊กมัน (Fredrik Backman) คอลัมนิสต์ชาวสวีเดน โดยในปี 2015 นิยายเล่มนี้เคยสร้างเป็นหนังสวีเดนในชื่อเรื่องเดียวกัน
สำหรับ A Man Called Otto ฉบับอเมริกัน กำกับโดยมาร์ค ฟอสเตอร์ (Marc Forster) นำแสดงโดย ทอม แฮงค์ (Tom Hanks) ในบท ‘อ๊อตโต’ ชายแก่ฉุนเฉียววัย 59 ปี ผู้เบือนหน้าหนีใส่เด็กยุคโซเชียล และมาเรียนา เทรวิโน (Mariana Treviño) รับบท ‘มาริซอล’ คุณแม่ลูกสามที่เป็นเพื่อนบ้านใหม่
(*ข้อเขียนชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์)
-1-
หาก ‘มนุษย์ลุง’ คือนิยามของผู้ชายรุ่นใหญ่ซึ่งมีอารมณ์ฉุนเฉียว จิตใจคับแคบ หน้านิ่วคิ้วขมวด เห็นแก่ตัวเอง ทำท่าทำทางใส่สูททำงานไปวันๆ ทว่าอ๊อตโตกลับไม่เฉียดใกล้กับคำนิยามดังกล่าวสักนิด แต่หากมองที่บุคลิกภายนอก และรู้จักเพียงผิวเผิน ก็ยากจะปฏิเสธว่า อ๊อตโตเป็นเพียงมนุษย์ลุงบึ้งตึงคนหนึ่ง
รอยขยุกขยักบนหน้าผากอ๊อตโตเกิดจากความยึดติดกับอดีตที่หอมหวาน โดยพลั้งเผลอคิดไปว่า ความสุขและชีวิตที่ดีหายวับไปพร้อมกับซอนย่า อดีตภรรยาที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุพร้อมลูกในครรภ์
ความเศร้าหมอง เจ็บปวด และทุกข์ทรมาน หลังเหตุโศกนาฏกรรม ค่อยๆ เปลี่ยนชายหนุ่มจิตใจอารีและรุ่มรวยมิตรสหาย กลายเป็นชายชราผมหงอกเจ้าระเบียบ เคร่งกิจวัตร ไม่ยี่หระกับเทคโนโลยี และค่อนข้างดูแคลน ‘เด็กสมัยนี้’
เขาใช้ชีวิตราบเรียบอยู่หลายปี จนกระทั่งถูกบีบออกจากงานก่อนวัยเกษียณ อ๊อตโตได้รับเงินก้อนโต แต่นั่นหมายถึงเวลาว่างมหาศาลและเป้าหมายประจำวันที่ขาดหายไป ชีวิตจึงโดดเดี่ยวและกลายเป็นสถาปัตยกรรมรกร้าง
เช้าแรกในวัยเกษียณ อ๊อตโตตัดสินใจจบชีวิตตนเอง แต่ขณะที่ประตูหลังความตายกำลังเปิด เพื่อนบ้านหน้าใหม่ก็บังเอิญขับรถเข้ามา เสียงรถเก๋งพ่วงท้ายเทียบจอดอย่างงกๆ เงิ่นๆ พร้อมเสียงหญิงสาวท้องแก่ที่พูดอังกฤษผสมสเปนดังเจื้อยแจ้ว มลภาวะรูปแบบใหม่ทำให้หนุ่มใหญ่ที่พร้อมลาโลกต้องผลุนผลันออกจากบ้าน เพื่อสั่งสอนเด็กสมัยนี้ให้จอดรถอย่างถูกวิธี
ครอบครัวคนรุ่นใหม่ชาวเม็กซิกัน-อเมริกัน ประกอบด้วย ทอมมี่-สามีผู้ทำงานด้านไอที แต่ทักษะงานช่างติดลบ มาริซอล-ภรรยาผู้มีอัธยาศัยดี พูดจาฉะฉาน ชอบทำอาหาร และลูกสาวน่ารัก 2 คน ลูน่าและแอบบี้
เย็นวันนั้น มาริซอลทำอาหารไปให้อ๊อตโตเพื่อเป็นการขอบคุณ และชวนชายขี้โมโหคุยจ้อตามนิสัย อย่างไรก็ตาม อ๊อตโตยังคงพยายามจบชีวิตตัวเองต่อไป
ทุกครั้งที่เขาพยายามฆ่าตัวตาย ต้องมีเหตุให้เรื่องงี่เง่าของเพื่อนมนุษย์กวนใจอ๊อตโตอยู่ร่ำไป โดยเหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินไปตลอดระยะเวลา 126 นาที ของภาพยนตร์ และทุกครั้งที่อ๊อตโตช่วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือกระทั่งบทสนทนาสั้นๆ กับเด็กส่งหนังสือพิมพ์ ความหมองเศร้าทุกข์ทนจากอดีตก็แปรเปลี่ยนเป็นความปรารถนาดีต่อทุกคนในชีวิต
“ผมมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับความสูญเสียของตัวเอง จนลืมไปว่าทุกคนก็มีปัญหาชีวิตเหมือนกัน”
อ๊อตโตกล่าวกับอนิตา เพื่อนบ้านสาว หลังจากรู้ว่า คริส ลูกชายของเธอที่ออกจากบ้านไปนับสิบปีขายบ้านให้กับ Dyne&Merika บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่กว้านซื้อบ้านในละแวกนั้น มากไปกว่านั้น คริสยังตัดสินใจให้รูเบน พ่อของตนผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ย้ายไปบ้านพักคนชรา
โดยไม่รอช้า อ๊อตโตใช้ความสามารถทั้งหมดที่ตนมี รักษาบ้านของอนิตาและรูเบนเอาไว้ได้
A Man Called Otto จึงเป็นหนังที่สะท้อนอารมณ์ของชายแก่ผู้หมดอาลัยตายอยาก นำเสนอประเด็นช่องว่างระหว่างวัย (generation gap) ความตาย รวมถึงความเป็นชุมชนได้อย่างดิบดี อีกทั้งยังพิสูจน์ว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนบ้าน เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตเราเปี่ยมความหมายได้
ความตลกร้ายคือ ในหลายฉากหลายตอน อ๊อตโตพยายามแสดงให้เห็นว่าทักษะงานช่างเป็นสิ่งจำเป็น ตราบใดที่มนุษย์เรายังต้องพึ่งพาเครื่องจักรกลไกดำเนินชีวิต
“ถ้านายดูแลเครื่องใช้ดี สุดท้ายมันก็จะดูแลเรา”
เขากล่าวกับเด็กส่งหนังสือพิมพ์หลังจากได้ยินเสียงโซ่จักรยานร้องผิดทำนอง แต่สุดท้ายแล้ว แม้อ๊อตโตจะค่อยๆ ดูแลตัวเอง ช่วยเหลือผู้อื่น และทะนุถนอมข้าวของเครื่องใช้เพียงไร สุดท้ายเขาก็เสียชีวิตในตอนจบด้วยโรค ‘หัวใจโตผิดปกติ’
ชีวิตของอ๊อตโตไม่ได้สั่งสอนเราว่า การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งผิดบาป หรือต้องหัดก้าวข้ามความเลวร้ายไปให้ได้ แต่หนังกำลังจะบอกว่า สังคมที่เชื่อมโยงกันด้วยความปรารถนาดี ร้อยรัดด้วยความเป็นห่วงเป็นใย และมีความหวังอยู่ในอากาศที่ใช้หายใจ ย่อมเป็นสังคมที่ทุกชีวิตจะไม่มีวันอยู่อย่างโดดเดี่ยวและไม่มีใครถูกทอดทิ้ง
-2-
วันหนึ่ง ณ แยกไฟแดง เสียงแตรรถกระบะบีบเต็มแรงจากด้านหลัง มาริซอลในที่นั่งคนขับกำลังสติแตก เธอเพิ่งหัดขับรถ อ๊อตโตซึ่งนั่งด้านข้างรีบดึงเบรคมือและพูดว่า
“ฟังนะ คุณให้กำเนิดลูก 2 คน และจะเป็น 3 คนในไม่ช้า คุณจากบ้านมาไกลมากๆ เพื่อมาอยู่ในประเทศนี้ คุณเรียนภาษาใหม่ คุณมีการศึกษา คุณมีสามีที่ฉลาด คุณยึดโยงทั้งครอบครัวไว้ คุณไม่มีปัญหากับการขับรถหรอก โธ่ พระเจ้า โลกนี้เต็มไปด้วยพวกงี่เง่า และคุณไม่ใช่คนพวกนั้นโดยสิ้นเชิง”
บทสนทนาของชายแก่วัยเกษียณผิวขาวกับหญิงสาวผู้อพยพท้องแก่ ในรถเชฟโรเลตเกียร์กระปุก ได้เผยคำปลอบประโลมที่ไม่เพียงสะท้อนความเข้าอกเข้าใจ แต่ยังชี้ว่า เราจะเข้าใจกันหรือไม่ อาจไม่เกี่ยวกับปีเกิดนัก เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคนล้วนมีความเปราะบางเหมือนกัน
หากเราอยู่ในสังคมที่บีบคั้นให้เจ็บปวด การเปิดอกสนทนาเป็นสิ่งที่ควรค่าอย่างยิ่ง