ล้มร่าง พ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์การวิจัยฯ หยุดปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ เปิดพื้นที่อารยะถกเถียง

หลักสำคัญหนึ่งของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือเสรีภาพ ซึ่งหมายรวมถึง ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ด้วยเช่นกัน หากมีการปิดกั้นเสรีภาพดังกล่าว แน่นอนว่าย่อมสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเข้าถึงความรู้ของคนทั้งสังคม สิ่งนั้นคือ ร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. … 

วงเสวนา ‘เสรีภาพทางวิชาการภายใต้ร่าง พ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์การวิจัย ซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี’ ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหลักคือ มาตรา 33(2) ใน พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ที่ให้อำนาจในการตรา พ.ร.ฎ. ซึ่งมีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น

ในวงเสวนายังชี้ว่ากระบวนการตรวจสอบงานวิจัยที่มีอยู่เดิมเพียงพออยู่แล้ว หนำซ้ำยังทำงานก้าวล่วงถึงวิธีการวิจัยเสียด้วยซ้ำ การนำศาสนามาใช้เป็นข้ออ้างในการกำหนดหลักเกณฑ์การวิจัย อาจกลายเป็นเครื่องมือฉุดรั้งการสร้างองค์ความรู้ รังแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้ศาสนากลายเป็นเรื่องที่ห้ามถกเถียง ทั้งที่การเกิดขึ้นของศาสนาหลักในโลกล้วนมาจากการวิพากษ์ศาสนาที่มีอยู่เดิม

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัญชา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เสรีภาพทางวิชาการคืออะไร?

โสรัจจ์ อธิบายว่า เสรีภาพทางวิชาการก็คือเสรีภาพของอาจารย์ นักศึกษา และสถาบันการศึกษาในการแสวงหาและถ่ายทอดความรู้ โดยปราศจากการแทรกแซงจาก ‘อำนาจภายนอก’

ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดและเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจอย่างรวดเร็ว เช่น สหภาพโซเวียตกำหนดให้ต้องส่งแผนการสอนไปให้รัฐอนุมัติก่อนที่จะนำไปสอนหรือให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ซึ่งสำหรับประเทศไทยโสรัจจ์กล่าวว่าไม่ได้ถูกทำให้โฉ่งฉ่างขนาดนั้น

เสรีภาพทางวิชาการประกอบไปด้วย เสรีภาพในการสอน อาจารย์ต้องมีอิสระในการเลือกเนื้อหา การพูดอภิปรายเรื่องต่างๆ ในห้องเรียนโดยไม่ถูกปิดกั้น เสรีภาพในการสอนยังรวมไปถึงการวัดและประเมินผล ซึ่งไม่อาจให้อำนาจภายนอกเข้ามามีอิทธิพลได้

“เพราะความรู้เป็นสิ่งสำคัญมากต่อสังคมและทุกคน ในเมื่อเป็นสิ่งสำคัญขนาดนี้ การไปปิดกั้นหรือการกระทำการใดๆ เพื่อไม่ให้ความรู้งอกงามตามที่ควรจะเป็น มันส่งผลเสียหายต่อสังคมโดยรวม อันนี้เป็นเหตุผลง่ายๆ ว่าทำไมเราต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ”

ต่อมาคือเสรีภาพในการวิจัย ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับหัวข้อเสวนาโดยตรง เพราะ พ.ร.ฎ. ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงนั้นว่าด้วยเรื่องการวิจัยเป็นหลัก โดยโสรัจจ์เน้นย้ำว่าหัวใจของเสรีภาพในการวิจัย คือการเลือกหัวข้อ เพราะอาจารย์หรือใครก็ตามที่ทำงานวิจัยควรมีพื้นที่สำหรับการศึกษาหาความรู้ในเรื่องอะไรก็ได้ที่สนใจ เมื่อเลือกหัวข้อเสร็จแล้วก็ต้องมีเสรีภาพในการแสวงหาคำตอบและเผยแพร่ผลการวิจัย โดยไม่ถูกปิดกั้นจาก ‘อำนาจภายนอก’ 

โดยทั่วไปจะถือว่าภายในมหาวิทยาลัยด้วยกันเองไม่ใช่อำนาจภายนอก เพราะเป็นนักวิชาการด้วยกัน ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับเรื่องขอบเขตของเสรีภาพทางวิชาการที่จะมีขั้นตอนการตรวจสอบทางวิชาการ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาประเมินคุณภาพหรือให้ความเห็นในงานชิ้นนั้นๆ (peer review) และยังมีเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพที่เป็นหนึ่งในการลากเส้นขอบเขตของเสรีภาพทางวิชาการคอยกำกับไว้แล้ว

โสรัจจ์สรุปให้เห็นถึงเหตุผลของการมีเสรีภาพทางวิชาการ 2 ข้อสำคัญ คือ 

หนึ่ง – การแสวงหาความรู้เป็นสิ่งจำเป็น และยืนยันว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งหมดต้องใช้ความรู้เป็นฐาน ดังนั้นการแทรกแซงจากคนที่ไม่รู้เรื่องทางวิชาการคือการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ และทำให้การแสวงหาความรู้นั้นเสียไป

สอง – อาชีพอาจารย์เป็นอาชีพที่สังคมให้การยอมรับว่าเป็นแหล่งความรู้ แน่นอนว่าอาจารย์ก็ต้องทำตัวเป็นแหล่งความรู้ที่เป็นที่ยอมรับด้วย และอาจารย์ยังเป็น ‘จิตสำนึก’ ของสังคม ดังนั้นการปิดกั้นไม่ให้อาจารย์ได้พูด หรือปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ จึงเป็นการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ และยังปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจระดับสาธารณะ ซึ่งทั้งหมดเป็นหัวใจของประชาธิปไตย

ต้นตอปัญหาคือกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น

การที่ ครม. มีมติเพิกถอนร่าง พ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์การวิจัยฯ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสรีภาพทางวิชาการนับเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตามจุดเริ่มต้นของปัญหานี้คือมาตรา 33(2) ของ พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) มีอำนาจในการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม 2 เรื่องด้วยกัน คือมาตรา 33(1) หลักจริยธรรมการวิจัยทั่วไป ซึ่งต่อพงศ์ระบุว่า ส่วนนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะพูดในเรื่องทั่วไป ไม่เกี่ยวกับข้องกับอิสระในการทำวิจัย

แต่ในมาตรา 33(2) หลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยที่มีปัญหากับหลักศาสนา จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งบังคับให้ตราเป็น พ.ร.ฎ. แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีเนื้อหาอะไรบ้าง

ต่อพงศ์กล่าวว่า ถ้าพูดให้แฟร์กับรัฐบาล การรับหลักการร่าง พ.ร.ฎ. เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นการทำตามขั้นตอนปกติของการออก พ.ร.ฎ. ซึ่งหากจะวิจารณ์เรื่องนี้อาจต้องจำกัดการวิจารณ์ให้อยู่ที่ตัวเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ ว่าหากร่างกฎหมายฉบับนี้หลุดไปและมีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอย่างไรบ้าง ซึ่งร่างฉบับนี้มีเนื้อหาขัดกับเสรีภาพทางวิชาการจริง 

ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ เป็นการโยนให้รัฐบาลใช้อำนาจตัดสินใจทางการเมืองว่า เนื้อหาของการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการจะเป็นอย่างไร ซึ่งการมอบอำนาจลักษณะนี้ถือเป็นการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการตั้งแต่ต้น ซ้ำร้ายร่าง พ.ร.ฎ. ที่เป็นปัญหาก็ไม่ได้ระบุขอบเขตการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการเช่นกัน แต่โยนต่อไปให้กับคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่

คณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นมาตามร่าง พ.ร.ฎ. ให้อำนาจคน 9 คน เป็นผู้กำหนดนิยามจริยธรรมวิจัย กำหนดว่างานวิชาการเรื่องไหนทำได้หรือไม่ได้ รวมถึงกำหนดบทลงโทษ ซึ่งทั้งหมดไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

“คณะกรรมการ 9 คนนี้ ผมเรียกว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมทางวิชาการ” ต่อพงศ์กล่าว

ที่มาของคณะกรรมการ 9 คน สะท้อนว่านี่ไม่ใช่การควบคุมภายในทางวิชาการ แต่ปล่อยให้องค์กรที่อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือในการกำกับดูแลของรัฐเป็นผู้ตัดสินใจแทนว่า ต่อไปนี้คุณจะวิจัยอะไรได้บ้าง

ต่อพงศ์ยกตัวอย่างกรณีของประเทศเยอรมนีประมาณปี 1970 มีการเสนอกฎหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเป็นเสียงข้างมากในสภามหาวิทยาลัย ซึ่งท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากฎหมายลักษณะนี้ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะให้คนที่อยู่นอกมหาวิทยาลัยหรือคนที่ไม่ใช่นักวิชาการเป็นผู้ชี้ขาดได้ ว่ากันง่ายๆ คือเอาคนนอกมาครอบงำกำกับทิศทางของมหาวิทยาลัย

โดยสรุปตามความเห็นของต่อพงศ์ ร่าง พ.ร.ฎ. ฉบับนี้มีลักษณะที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นคือแม้ร่างฉบับนี้ตกไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังอยู่คือมาตรา 33(2) ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ที่เขียนกว้างๆ ให้รัฐบาลสามารถออก พ.ร.ฎ. และกำหนดหลักเกณฑ์ได้เองว่า ต่อไปนี้ไม่ว่านักวิชาการจะพูดเรื่องอะไรต้องขออนุมัติก่อน ซึ่งมาตรานี้ขัดรัฐธรรมนูญด้วยตัวมันเอง หากตรา พ.ร.ฎ. ออกมาอีก ก็ย่อมขัดรัฐธรรมนูญตามไปด้วย

“เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลยอมถอย แต่มันยังมีมาตรา 33(2) อยู่ อันนี้คือสิ่งที่พวกเราอยากจะขอร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลจะกรุณาทำให้ปัญหาเรื่องนี้หมดไป จะต้องมีการเสนอให้แก้ไขมาตรานี้ด้วย หรือพูดง่ายๆ คือเอาออกไป แล้วให้เหลือเพียงแค่การกำหนดจริยธรรมทั่วไปเท่านั้น แต่เรื่องการแก้ไขกฎหมายใช้เวลาค่อนข้างนาน ฉะนั้นอาจต้องมาคุยกันก่อนว่าคุณจะออก พ.ร.ฎ. อย่างไรให้ส่งกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการน้อยที่สุด” ต่อพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

ผลกระทบของ พ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์การวิจัยฯ หากบังคับใช้จริง

ในฐานะที่ทำงานด้านการดูแลจริยธรรมการวิจัยในคน อนุสรณ์เอ่ยว่าเพราะต้องการกำกับดูแลสิทธิของผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัย และสิ่งสำคัญคือไม่ต้องการให้เรื่องจริยธรรมมาเป็นอุปสรรคต่อการสร้างองค์ความรู้ผ่านงานวิจัย จึงเลือกที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้านนี้ ซึ่งรู้สึกยินดีที่ร่าง พ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์การวิจัยฯ ถูกตีตกไป แต่อย่างไรก็ยังคงต้องทบทวนที่มา เนื้อหา การบังคับใช้ เพื่อหาวิถีทางที่จะออกจากหล่มปัญหานี้

อนุสรณ์เท้าความถึงที่มาของร่าง พ.ร.ฎ. ที่ได้อารัมภบทเอาไว้ว่า ถึงอย่างไรก็ต้องร่างโดยอ้างถึง พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ ที่เรียกว่าเป็นกฎหมายแม่ โดยอนุสรณ์กล่าวเสริมถึงเรื่องหลักการการวิจัย ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะร่าง พ.ร.ฎ. กล่าวถึงเรื่องนี้โดยบอกว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหลักการอย่างเฉพาะเจาะจง มีความกระจัดกระจาย

การกำหนดให้มีหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ที่เป็นหลักสากล เป็นผลพวงจากการทดลองในเฉลยศึกโดยนาซี ซึ่งภายหลังนายพลชาวเยอรมันถูกลงโทษประหารชีวิต นักกฎหมาย หมอ พยาบาล ถูกไต่สวนและดำเนินคดี จึงต้องกำหนดให้มีหลักการวิจัยเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำเดิม

“แต่ปัจจุบันในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนที่มีกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมศาสนา อย่างเก่งก็มีไกด์ไลน์ หรือแนวปฏิบัติให้เอาไปประยุกต์ใช้”

อนุสรณ์ยกตัวอย่างการวิจัยที่เกี่ยวกับศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีการกำหนดไกด์ไลน์ว่า ถ้าจะทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับศาสนามีอะไรที่ควรปฏิบัติบ้าง แต่ไม่เคยมีการออกเป็นกฎหมาย

ในทางกลับกัน หากอยากจะดับไฟเสียตั้งแต่ต้นลม ไม่ต้องรอให้เรื่องไม่ดีเกิดแล้วค่อยตามแก้ไข อนุสรณ์เน้นย้ำว่าปัจจุบันเรามีหน่วยงานดูแลเรื่องจริยธรรมมากมายในทุกวงการ ไม่ใช่เฉพาะจริยธรรมการวิจัยทั่วไป แต่ยังมีจริยธรรมการวิจัยในวิชาชีพอีกด้วย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2549 ที่สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกาศให้มีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มีการจัดตั้งขึ้นผสมผสานกับคณะกรรมการชุดอื่นๆ อนุสรณ์ระบุว่า “แค่นี้ก็กลั่นกรองแทบจะไม่หมด หายใจแทบจะไม่ออกแล้ว” ซึ่งในทางปฏิบัติแทบจะไม่มีโครงการวิจัยใดเลยที่หลุดรอดออกไปแล้วก่อให้เกิดการละเมิดได้ ดังนั้นจึงเน้นย้ำว่าในเชิงหลักการไม่มีความจำเป็นอันใดเลยที่ต้องกำหนดจริยธรรมการวิจัยที่ว่าด้วยหลักศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ

“ในการวินิจฉัย (ตาม พ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์การวิจัยฯ) จะระบุว่าโครงการวิจัยแบบไหนที่มีลักษณะขัดกับหลักศาสนา จารีตประเพณี วัฒนธรรม และศีลธรรมอันดีงาม หลักศาสนาไหนจะถูกใช้และกำหนดให้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ปัญหาที่ตามมาคือถ้าคุณยึดเอาหลักศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นตัวตั้ง แล้วบอกว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง แต่ว่าสังคมยังมีความเชื่อชุดอื่นๆ ไง เอาเข้าจริงมันก็จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมด้วยซ้ำไป”

ในด้านการบังคับใช้ คณะกรรมการที่จะต้องจัดตั้งขึ้นตามร่าง พ.ร.ฎ. มีอำนาจหน้าที่กว้างขวางมากโดยที่ตัวเองไม่มีแม้แต่ศักยภาพที่จะทำได้ด้วยซ้ำ ทั้งต้องสอดส่อง วินิจฉัย บังคับใช้คำวินิจฉัย สิ่งนี้จะทำให้เกิดปรากฏการณ์คอขวดตามมา

ข้อเสนอของอนุสรณ์ คือ เรามีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้วว่าประเทศอื่นเขาทำกันอย่างไร ทำไกด์ไลน์ ทำ SOP (Standard Operating Procedure) ซึ่งควรตัดแนวคิดการตั้งคณะกรรมการออกไปได้เลย

สร้างสังคมแห่งการถกเถียง หยุดแช่แข็งความรู้ 

ในฐานะที่เป็นนักมานุษยวิทยา ปิ่นแก้วสะท้อนความเห็นว่า ร่าง พ.ร.ฎ. ฉบับนี้มีปัญหาอย่างมาก เพราะมีความพยายามที่จะเอาอำนาจของศาสนาในเชิงสถาบันเข้ามาควบคุมกำกับงานวิจัย

ปิ่นแก้วกล่าวว่า ความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี ที่มีอยู่ในตัวร่าง พ.ร.ฎ. นี้เป็นสิ่งที่ผิดและอันตรายอย่างมาก เพราะทำให้หลักศาสนากลายเป็นสิ่งที่โต้แย้งไม่ได้ ซึ่งร่างนี้เน้นศาสนาเป็นตัวหลัก 

“การที่บอกว่าหลักศาสนาเป็นสิ่งที่โต้แย้งไม่ได้ ไม่ว่าผู้ที่ร่างประกาศนี้จะเป็นใคร ดิฉันคิดว่าเราคงต้องคุยกันหน่อย ผู้ที่ร่างกฎหมายนี้ไม่เพียงแต่ไม่เข้าใจหลักการสำคัญของศาสนา แต่ผู้ซึ่งเป็นนักวิชาการในสายสังคมศาสตร์ย่อมทราบดีว่า ศาสนาหลักในโลกทุกศาสนาล้วนกำเนิดขึ้นจากการละเมิดหรือการวิพากษ์หลักการสำคัญของศาสนาที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านี้แล้วทั้งสิ้น”

ทุกศาสนาบรรจุไว้ด้วยมิติของการวิพากษ์ การถกเถียง การที่พร้อมจะละเมิดอยู่ในตัวเอง เพราะคุณลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้ศาสนามีชีวิต มีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการพยายามแช่แข็งให้ศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนาเสียเอง

“ข้อความใน พ.ร.ฎ. ที่ว่า ‘งานวิจัยที่ละเมิด ขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานทางศาสนา’ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ดิฉันอยากจะบอกว่ากฎหมายฉบับนี้แหละที่ทำลายศาสนา ไม่ใช่งานวิจัยที่ไหนหรอก ผู้ที่ร่างกฎหมายฉบับนี้น่าจะไม่ทราบหรือเปล่าว่าการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาเป็นสิ่งที่เขาทำกันโดยทั่วไปในวงการวิชาการ ไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดใดๆ”

นอกจากนี้ ปิ่นแก้วยังฉายภาพเพิ่มเติมว่าการออกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการโดยเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือ ไม่เพียงแค่จำกัดเสรีภาพของนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ หรือศิลปะเท่านั้น นักวิชาการสายวิทยาศาสตร์เองก็กระทบด้วยเช่นกัน เช่น หากอยากวิจัยตั้งคำถามกับความเชื่อและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผูกติดอยู่กับความเชื่อ จารีตประเพณีของคนอีสาน ก็จะทำไม่ได้ ปิ่นแก้วย้ำว่าหากเป็นเช่นนี้ ‘วิทยาศาสตร์ตาย’ แน่นอน

หากปิดกั้นลักษณะนี้สังคมจะไม่มีที่ทางในการถกเถียงอย่างมีอารยะ ถูกบังคับให้เชื่อในจารีตเดิม ไม่ว่าจารีตนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม ไม่อนุญาตให้มีการสร้างปัญญาใหม่ๆ ไม่สามารถตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์ได้ ซึ่งรัฐไทยกำลังสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘งานวิจัยต้องห้าม’ เพื่อปิดกั้นเสรีภาพทางปัญญา ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่รัฐประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้าม ปิดกั้นความรู้ของคน ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีปัญหานี้อยู่

ข้อกังวลอีกหนึ่งข้อสำหรับร่าง พ.ร.ฎ. คือข้อความที่ว่า ‘งานวิจัยในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด’ ข้อความนี้เป็นปัญหามาก เพราะหากอยู่ในช่วงที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลต้องการใช้อำนาจในการควบคุมสังคม ก็จะสามารถทำอะไรก็ได้ เพราะกฎหมายระบุไว้กว้างมาก ร่างกฎหมายนี้จะทำลายระบบการวิจัย นักวิชาการจะไม่สามารถผลิตงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ได้ หรืออาจไกลถึงขั้นเกิดภาวะสมองไหล

ปิ่นแก้วระบุว่า เห็นด้วยกับอาจารย์หลายท่านที่กล่าวว่ากลไกที่มีอยู่เพียงพอแล้ว และทุกวันนี้หน่วยงานที่มีอยู่ก็ทำงานก้าวล่วงล้ำเส้นกันมากพออยู่แล้ว

สุดท้าย ปิ่นแก้วเสนอว่า แทนที่จะมองจริยธรรมเป็นเช็กลิสต์ ควรมองว่าเป็นสิ่งที่แชร์กันได้ ถกเถียงกันได้ ไม่ใช่ทำให้เป็นแนวทางการไต่สวนตรวจสอบ ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาวงการวิจัยอย่างแท้จริง

เพราะสังคมตื่นตัว จึงต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วม

ช่วงท้ายของวงเสวนา กนกรัตน์ ผู้ดำเนินรายการ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์ และให้ความสนใจกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 

กนกรัตน์เน้นย้ำอย่างมากถึงความจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วม เนื่องจากสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ผู้คนตื่นตัว ให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้ เห็นได้จากการร่วมวิพากษ์วิจารณ์ร่าง พ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์การวิจัยฯ เป็นวงกว้าง

การตั้งต้นกำหนดหลักเกณฑ์การวิจัยด้วยการตราเป็น พ.ร.ฎ. ซึ่งตามหลักการไม่จำเป็นต้องผ่านสภาเหมือนกฎหมายทั่วไป เป็นจุดเริ่มต้นที่พลาดและทำให้คนไม่พอใจตามมา

“สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่ผู้คน คนธรรมดา เชื่อว่าเราในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นการออกกฎหมายหนึ่งฉบับ โดยไม่ผ่านสภาเลย แล้วเลือกที่จะออกเป็น พ.ร.ฎ. ตั้งแต่ต้น เป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาซึ่งความไม่พอใจอย่างไม่ต้องสงสัย” กนกรัตน์กล่าว

ด้านความขัดแย้งทางการเมือง เป็นอีกเรื่องที่กนกรัตน์แสดงความกังวล เนื่องจากปัจจุบันความขัดแย้งแบ่งเป็นหลายปีก การเมืองปัจจุบันนี้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง และกฎหมายฉบับนี้อาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือการกลั่นแกล้งทางการเมืองได้เช่นเดียวกัน 

ท้ายที่สุดหากมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจริงจะนำไปสู่การจำกัดสิทธิการวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยที่ต้องเท่าทันต่อสถานการณ์ ถ้าต้องผ่านการกลั่นกรองที่มากมายหลายขั้นตอน ดังที่ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนด นักวิจัยอาจไม่สามารถทำงานวิจัยประเภทนี้ได้ กฎหมายนี้จึงเป็นการตัดตอนงานวิจัยตั้งแต่ต้น

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า