เซียนพนันเฮลั่น ปลัด มท. ปลดล็อกพนันสัตว์ต่อสู้ สั่งผู้ว่าฯ ปล่อยเสรีบ่อนไก่-วัวชน-ปลากัด-แข่งม้า

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด อนุญาตให้มีการเล่นพนันประเภทสัตว์ต่อสู้กันได้

หนังสือราชการเลขที่ มท. 0307.10/ว 1443 ระบุสาเหตุของการอนุญาตครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น สร้างรายได้ให้ชุมชน และสร้างอาชีพสุจริต หนังสือราชการฉบับดังกล่าวพูดถึงแนวทางการพนันสัตว์ต่อสู้ไว้ 4 ชนิด ดังนี้

  1. การจัดให้มีการเล่นพนันชนโค 

ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตการจัดพนันชนโค ใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบและเหมาะสม เพื่อป้องกันการทรมานหรือทารุณกรรมสัตว์ และให้นำระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ. 2552 มาบังคับใช้โดยอนุโลม อนุญาตในจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง หนึ่งบ่อนเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนจังหวัดอื่นบ่อนหนึ่งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เดือนละไม่เกิน 4 ครั้ง

  1. การจัดให้มีการพนันชนไก่และกัดปลา

ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 คือ สถานที่เล่นต้องเป็นที่ปิดมิดชิด ห้ามบุคคลภายนอกและเยาวชนเห็น ห้ามทำให้เกิดการทรมานสัตว์ เช่น เอามีดหรือหนามมาผูก อนุญาตให้จัดเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 วัน เดือนหนึ่งห้ามเกิน 3 วัน และต้องไม่ตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา

  1. การจัดให้มีการเล่นการพนันแข่งขันวัวลาน 

อนุญาตตามสภาพท้องที่หรือประเพณีท้องถิ่นนั้นๆ ห้ามตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา และห้ามให้มีการทรมานสัตว์โดยเด็ดขาด รวมไปถึงห้ามมิให้ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้าสู่บริเวณสนาม

  1. การจัดให้มีการเล่นพนันแข่งม้า

จัดได้ต่อเมื่อ รมว.กระทรวงมหาดไทยอนุญาตแล้วเท่านั้น โดยอนุญาตให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันแข่งม้า พ.ศ. 2524 แต่ห้ามมิให้อนุญาตจัดให้มีการเล่นพนันแข่งม้านัดพิเศษในโอกาสต่างๆ หากผู้จัดต้องการจะหารายได้เพื่อนำไปบริจาคในกิจการสาธารณกุศล ควรดำเนินในการจัดแข่งม้านัดปกติประจำสัปดาห์ และห้ามเด็กหรือเยาวชนเข้าไปพัวพันกับการพนันแข่งม้าโดยเด็ดขาด รวมถึงห้ามพกอาวุธปืนเข้าสู่บริเวณสนาม

หนังสือราชการฉบับดังกล่าวเซ็นลงนามโดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเคยตกเป็นข่าวร้อนแรงจากกรณีดุด่าผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยถ้อยคำหยาบคาย และประโยคที่เหยียดสถาบันการศึกษา 

อย่างไรก็ตาม นายสุทธิพงษ์ได้ออกมาขอโทษต่อกรณีดังกล่าวเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่าน พร้อมอธิบายว่า ตนเป็นคนชนบทแต่กำเนิด จึงอาจพูดจาสไตล์ลูกทุ่งและชินกับการพูดจาเสียงดัง

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า