น่ากลัวกว่าความไม่รู้ คือความไม่แคร์ ทำความรู้จัก Apolitical ที่เป็นมากกว่า Political Ignorance

ปฏิเสธได้ยากว่า หมุดหมายสำคัญของภูมิทัศน์การเมืองไทยร่วมสมัยคือ การยุบพรรคอนาคตใหม่ในปี 2563 ซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์การตื่นตัวทางการเมืองในสังคมไทย และผลักดันคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างคึกคักในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่ในขณะที่ผู้คนในสังคมตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ก็ย่อมมีผู้ที่ถูกมองว่าไม่ตื่นตัวทางการเมือง และคนเหล่านั้นได้รับการขนานนามในสังคมออนไลน์ว่าเป็น ‘พวกอิกนอร์’ 

คำศัพท์ที่ใช้อย่างแพร่หลายคำนี้มาจากคำว่า Ignorance หรือหากจะพูดแบบเต็มๆ ก็คือคำว่า Political ignorance ซึ่งถูกใช้เพื่ออธิบายคนที่ไม่สนใจหรือตื่นตัวทางการเมือง พวกอิกนอร์อาจเป็นได้ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ญาติสนิท มิตรสหาย ที่ไม่สนใจใยดีต่อปัญหาของบ้านเมือง หรือใช้อธิบายบุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะคนในวงการบันเทิงที่ออกตัวว่า จะไม่แสดงออกทางการเมืองใดๆ อย่างชัดแจ้ง 

คำว่าอิกนอร์ที่คนส่วนใหญ่ใช้กันมักแปลว่า เมินเฉย มากกว่าจะหมายถึงความโง่เขลา และบ่อยครั้งในสังคมไทย คำว่าอิกนอร์ก็ถูกใช้ผสมปนเปกับคำว่า สลิ่ม ซึ่งยังเป็นคำที่หาข้อสรุปไม่ได้ว่ามีความหมายอย่างไรบ้าง หรือคำว่าอนุรักษนิยม นั่นหมายความว่า หากใครถูกเรียกเป็นอิกนอร์ ก็จะต้องเป็นอนุรักษนิยมและสลิ่มด้วย ซึ่งการเหมารวมเช่นนี้อาจไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องนัก 

Ignorance คืออะไร

ในภาษาอังกฤษ The Encyclopedia of World Problems and Human Potential ให้ความหมายของ political ignorance ว่า Limited political know-how หรือการมีองค์ความรู้ทางการเมืองที่จำกัด นั่นคือพวกอิกนอร์ทางการเมืองไม่มีความรู้ในเรื่องโครงสร้าง สถาบัน หรือประวัติศาสตร์ทางการเมืองเลย ต่อให้มีก็น้อยมาก

เมื่อเทียบกันแล้ว การใช้คำว่าอิกนอร์ในโลกออนไลน์ไทยเพื่อหมายถึงคนที่เฉยชา ไม่สนใจการเมือง หรือ Not give a sh*t about politics จึงอาจไม่ตรงตัวเท่าไรนัก แม้อาจมีผู้ถกเถียงว่า การขาดความรู้และความเข้าใจทางการเมือง ก็เป็นสาเหตุของความเฉยชาหรือไม่สนใจการเมืองได้ แต่คำอธิบายเช่นนี้ไม่ครอบคลุมถึงกรณีเหล่าผู้มีการศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือผู้ที่จบรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ แต่กลับนิ่งเฉย ไม่สนใจทางการเมือง และยิ่งไม่อาจใช้อธิบายกรณีที่ชาวบ้านชนบทผู้ไม่ผ่านการศึกษาระดับสูง และเข้าไม่ถึงทฤษฎีทางการเมืองที่หรูหรา แต่กลับตื่นตัวทางการเมืองเป็นล่ำเป็นสัน

แน่นอนว่า การขาดองค์ความรู้ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะหากประชาชนตัดสินใจทางการเมืองโดยอิงความรู้สึกแทนที่จะเป็นความรู้ ก็อาจส่งผลต่อระบอบประชาธิปไตยได้ ตัวอย่างเช่นการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ในปี 2016 ที่เป็นศึกระหว่างผู้สนับสนุน ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) และ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จนนักวิชาการและสื่อมวลชนพากันวิเคราะห์ว่า ชัยชนะของทรัมป์เป็นชัยชนะของพวกลงคะแนนโดยไม่มีความรู้ทางการเมือง (political ignorance voter) 

นอกจากคำว่า อิกนอร์ ในภาษากรีกโบราณยังมีการใช้คำว่า ἰδιώτης หรือ Idiot เพื่อบรรยายเหล่าคนที่ไม่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองใดๆ และยังหมายถึงพวกมีโลกส่วนตัวสูง (private person) ด้วย เพราะการเป็นปัจเจกชนที่อยู่เพียงลำพังในนครรัฐกรีกโบราณที่เน้นประชาธิปไตยทางตรง ก็ย่อมเป็นอะไรที่ Idiot ไม่น้อย

แต่ทั้งคำว่า Idiot และ Ignorance ที่หมายถึงพวกโง่เขลาเบาปัญญาในความหมายปัจจุบัน ไม่ครอบคลุมความหมายของพวกอิกนอร์อย่างที่ชาวเน็ตไทยบรรยายเสียแล้ว หากจะมีคำนิยามใดที่เหมาะเจาะ คำนั้นน่าจะเป็นคำว่า Apolitical 

“พี่เลิกยุ่งการเมืองแล้ว” ประโยคฮิตของพวก Apolitical 

“not interested in or connected with politics

คือคำนิยามความของคำว่า Apolitical ใน Cambridge Dictionary ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ไม่มีความสนใจหรือไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการเมือง และความหมายดังกล่าวน่าจะตรงกับลักษณะของพวกอิกนอร์ในสังคมไทยมากกว่าคำว่า Ignorance เสียอีก

ในขณะที่ Politcal ignorance หมายถึงพวกขาดองค์ความรู้ทางการเมือง แต่คำว่า Apolitical จะหมายถึงพวกที่ตัดตัวเองออกจากเรื่องการเมือง ทั้งที่อาจมีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองเป็นอย่างดี

หากจะให้นิยามง่ายๆ Political ignorance คือพวกไม่รู้เรื่องการเมือง และ Apolitical คือพวกไม่ (อยาก) ยุ่งการเมืองนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น แอนดรูว์ เทต (Andrew Tate) อินฟลูเอนเซอร์เชื้อสายอังกฤษ-อเมริกัน ที่ประกาศตัวว่าเป็น apolitical ในคลิป This Is Why Andrew Tate Became Apolitical | Interview ทางช่องของเขา เทตอธิบายจุดยืน apolitical ของตนว่า เขาไม่มีความเห็นหรือมุมมองใดๆ เกี่ยวกับการเมืองสหรัฐ เขาไม่ศรัทธาหรือสนับสนุนพรรคหรือขั้วทางการเมืองใด เพราะคิดว่าไม่ว่าจะฝักฝ่ายใดก็แทบไม่ต่างกัน แต่ในวิดีโอเดียวกัน เทตยังพูดคุยกับพิธีกรถึงเรื่องโครงสร้างอำนาจของประธานาธิบดี อำนาจของ วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ในสนามการเมืองโลก หรือประเด็นการเมืองอื่นๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว 

กรณีของเทตจึงสะท้อนให้เห็นว่า การนิยามตนเองเป็นพวกไม่การเมืองของเขา คือคนละเรื่องกับการไม่มีความรู้ทางการเมือง 

พื้นที่ปลอดการเมือง

มีข้อถกเถียงว่า หลายพื้นที่ควรเป็นพื้นที่ไม่การเมืองหรือพื้นที่ปลอดการเมือง เช่น โรงเรียน บุคลากรจะต้องไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองใดๆ ครูไม่ต้องการให้นักเรียนแสดงออกทางการเมือง หรือแม้แต่ตัวครูเองยังถูกสั่งห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองจากฝ่ายบริหาร 

เดือนมกราคม ปี 2021 หลังจากความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้ง กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ประท้วงด้วยการบุกอาคารรัฐสภา ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี จนเกิดเหตุวุ่นวายครั้งใหญ่ หลังจากเหตุการณ์นั้น ซาแมนธา พาลู (Samantha Palu) ครูโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งในเซาท์ดาโคตา (South Dakota) พยายามถอดบทเรียนเหตุการณ์ดังกล่าว แล้วเล่าให้นักเรียนฟัง แต่เธอกลับได้รับคำสั่งห้ามพูดเรื่องการเมืองในห้องเรียน 

พาลูเห็นว่าการถอดบทเรียนเหตุการณ์ทางการเมือง โดยไม่พูดถึงการเมือง เป็นเรื่องยาก เธอจึงตัดสินใจที่จะเล่ากับนักเรียน “นี่ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพวกสนับสนุนพรรครีพับลิกันกับผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตอีกแล้ว แต่เป็นการก่อการร้ายภายในประเทศต่างหาก” ระหว่างคาบเรียน มีนักเรียนบางคนเดินออกจากห้อง และหลังจากนั้น ทางโรงเรียนได้รับโทรศัพท์ร้องเรียนจากผู้ปกครองของเด็ก ซึ่งกังวลว่า พาลูกำลังยัดเยียดอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเองแก่นักเรียน แม้ผู้บริหารโรงเรียนจะสนับสนุนเธอ แต่พาลูก็ยังวิตกกังวลอย่างมาก

อีกหนึ่งพื้นที่ปลอดการเมือง ได้แก่ วงการพุทธศาสนาในไทย ซึ่งมีการห้ามภิกษุสามเณรยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง อย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีของ สหรัฐ สุขคำหล้า หรืออดีตสามเณรโฟล์ค ที่นอกจากจะถูกดำเนินคดีตาม ม.112 แล้ว ยังถูกสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติสั่งตรวจสอบอย่างหนักหลังเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดคำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องห้ามภิกษุสามเณรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนต้องสึกออกมาในภายหลัง

ทว่าแม้พยายามแยกการเมืองออกไปมากแค่ไหน แต่พื้นที่ที่เกี่ยวพันกับภาครัฐ ทั้งระบบการศึกษาและองค์กรศาสนา ย่อมไม่อาจสลัดความเป็นการเมืองออกไปได้ อลิสซา ดันน์ (Alyssa Dunn) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน กล่าวว่า “การศึกษาโดยตัวมันเองเป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ใครเป็นคนตัดสินใจเลือกตำราเรียน ใครให้เงินทุนแก่โรงเรียน หรือโรงเรียนได้รับทุนสนับสนุนอย่างไรบ้าง” และหากเรานำคำถามชุดเดียวกันนี้มาใช้ถามองค์กรทางศาสนา ก็น่าจะได้คำตอบไม่ยากว่า พื้นที่ที่พยายามปลอดการเมืองเหล่านี้ต่างก็เต็มไปด้วยความเป็นการเมืองทั้งนั้น

ไม่เว้นแม้กระทั่งภาคธุรกิจที่พยายามแสดงตนว่า ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีจุดยืนทางการเมืองใดๆ เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบในแง่ลบ เช่น กรณีพนักงานสวมเครื่องแบบของแบรนด์ไปแสดงจุดยืนทางการเมือง แล้วแบรนด์ต้นสังกัดโดนชาวอินเทอร์เน็ตรวมใจแบน หรือกรณีที่ผู้บริโภคแห่กันเอารองเท้ายี่ห้อ New Balance มาเผา เพราะทางแบรนด์แสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบายด้านการค้าของทรัมป์

อย่างไรก็ดี ในบางครั้ง การแสดงจุดยืนทางการเมืองก็สร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่แบรนด์ได้ เช่น ในปี 2016 โคลิน เคเปอร์นิก (Colin Kaepernick) นักอเมริกันฟุตบอล ไม่ยอมยืนเคารพเพลงชาติ แต่กลับนั่งคุกเข่า เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการเหยียดผิว จนทำให้เขาต้องตกงานและไม่สามารถเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลได้อีกต่อไป เพราะ NFL ลีกอเมริกันฟุตบอลระดับอาชีพมีกฎว่า ผู้เล่นทุกคนต้องยืนเคารพเพลงชาติ 

แต่ในปี 2018 Nike จับเคเปอร์นิกมาเป็นพรีเซนเตอร์ และออกโฆษณาภาพนิ่งของเขา พร้อมประโยค “Believe in something, even if it means sacrificing everything.” (จงเชื่อในบางสิ่ง แม้ว่านั่นหมายถึงการเสียสละทุกสิ่ง) หลังปล่อยโฆษณาที่แสดงจุดยืนทางการเมืองครั้งนี้ ยอดขายออนไลน์ของ Nike กลับโตขึ้นถึง 31 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า หากภาคธุรกิจแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างเหมาะสม บางครั้งก็อาจช่วยสร้างทั้งภาพลักษณ์และกำไรไปพร้อมกันได้

ส่วนพื้นที่ที่ควรปลอดการเมืองมากที่สุดในทัศนะของผู้คนในโลกประชาธิปไตย น่าจะเป็นกองทัพ ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันประเทศ และไม่ควรแสดงจุดยืนทางการเมืองใดๆ ในที่สาธารณะ เพราะหากกองทัพมีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง ก็อาจทำงานร่วมกับนักการเมืองหรือผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่ได้ จนเกิดปัญหาและเข้ามาแทรกแซงการเมืองอย่างที่เราเห็นในบางประเทศแถบเอเชียตะวันออกเชียงใต้

ไม่การเมืองคือการเมืองแบบหนึ่ง?

แอริสตอเติล (Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ เห็นว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง (political animal) โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม และต้องต่อรอง ประนีประนอมผลประโยชน์ด้านต่างๆ ดังนั้น การเมืองจึงแฝงอยู่ในแทบทุกมิติของชีวิตมนุษย์

กล่าวได้ว่า หากนับจากครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน อาจไม่มีช่วงเวลาใดเลยที่ชีวิตมนุษย์จะปราศจากการเมือง คำถามพื้นฐานในชีวิตของมนุษย์ อาทิ รัฐให้สิทธิพ่อแม่ลาหยุดเพื่อดูแลลูกแค่ไหน รัฐสนับสนุนเด็กๆ ให้เข้าถึงการศึกษาที่จำเป็นอย่างทั่วถึงไหม เรามีพื้นที่สาธารณะหรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเพียงพอหรือยัง การเดินทางจากบ้านไปทำงานมีความสะดวกไหม ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการเมือง

ในเมื่อการเมืองอยู่ในทุกมิติของชีวิต แล้วเราจะสามารถเป็นพวก Apolitical ได้จริงหรือ? 

บางคนเชื่อว่า แท้จริงแล้ว การไม่ยุ่ง ไม่สนใจการเมือง ก็คือความเป็นการเมืองประเภทหนึ่ง เช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่เคยทวีตข้อความว่า 

“ไม่การเมือง (apolitical) ก็คือ การเมือง (political) แบบหนึ่ง คือการเมืองแห่งการกีดกัน ตั้งข้อรังเกียจการเมืองแบบอื่น และเลือกรับเลือกทำเฉพาะการเมืองที่ตนต้องการ ผู้ที่อ้างไม่การเมือง แท้จริงแล้ว เขาก็ปฏิบัติการทางการเมืองอยู่ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม”

เราจะสื่อสารอย่างไร ให้ Apolitical กลับใจ

การเป็น Ignorance ที่ขลาดเขลาและมืดบอด ยังสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำงานทางความคิดและป้อนข้อมูลให้เขารับรู้ เพื่อจะได้ตาสว่างในสักวัน แต่กับพวก  Apolitical นั้นต่างออกไป เพราะเงื่อนไขของการเป็น Apolitical ไม่ใช่ความไม่รู้ แต่คือการเลือก และสำหรับคนที่เลือกแล้วว่าจะไม่ยุ่ง ไม่สนใจ ไม่ข้องเกี่ยวใดๆ กับการเมืองอีก การป้อนข้อเท็จจริงแก่เขาจึงไม่ใช่วิธีการโน้มน้าวจิตใจที่ได้ผลนัก

คำถามคือ เราจะสื่อสารอย่างไรกับพวก Apolitical เพื่อดึงพลังและศักยภาพ (ทางการเมือง) ของพวกเขา ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากพอสมควร มาร่วมต่อสู้กับความอยุติธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม

แน่นอนว่า การทำให้คนที่ไม่สนใจ เบื่อ หรือขยาดการเมือง เปลี่ยนใจมาเข้าร่วมในการต่อสู้ทางการเมืองเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย และบ่อยครั้งที่การสื่อสารของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองกลับยิ่งผลักดันพวกเขาออกไป ทำให้พวกเขาไม่อยากเข้าร่วมขบวนการต่อสู้อีกต่อไป

แม้ปัญหาและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมจะเกี่ยวพันกับการเมือง 100 เปอร์เซ็นต์ ชนิดที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่เมื่อต้องสื่อสารกับพวก Apolitical ประเด็นสำคัญอาจไม่ใช่การเรียกร้องให้พวกเขาหันมาสนใจการเมือง แต่คือการเรียกร้องให้สนใจอย่างอื่นที่สำคัญกว่านั้น

ขอยกเอาท่อนหนึ่งจากเพลง ‘It’s Not About Politics, It’s About Life’ ของวง A//Political ที่ร้องว่า

It’s not about politics

It’s about f*cking life

Simply giving a f*ck is our greatest fight

เพราะสุดท้ายแล้ว นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่คือชีวิต คือความเป็นความตายของมนุษย์ด้วยกัน

ที่มา

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า